จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บ้านวังลุงกับบทเรียนจากกติกาชุมชน



ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้กลับเข้าไปบ้านวังลุง อีกครั้ง เมื่อได้รับทราบข่าวจากพี่สวัสดิ์ สมัครพงศ์ ว่าจะมีการจัดประชุม เพื่อจัดทำแผน “การวิจัยเพื่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน กลุ่ม เครือข่าย เทือกเขาหลวง .. นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี” หลังจากที่เคยเข้าไปกินข้าวบ้านพี่เฉลิม กาญจนพิทักษ์ เมื่อหลายปีก่อน



โดยส่วนตัว ผมมีความสนใจเรื่องพลังงานทางเลือกกับการบริหารจัดการโดยชุมชนอยู่แล้ว ยิ่งทราบว่ามีการจัดประชุมที่บ้านวังลุง ก็เลยคิดว่างานนี้ยิ่งพลาดไม่ได้


ผมขับรถออกจาก สำนักงาน ที่พัทลุง ไปแวะที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อไปรับน้อง”ชุ” ชุลีพร ราชเวช ทีมงานกองเลขาฯของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีฯ ซึ่งจะเข้าร่วมเวทีการประชุมที่ว่าด้วย



ขับรถไปคุยไปเรื่องบ้านวังลุง ซึ่งน้องชุบอกว่า เธอเคยเข้าไปศึกษาชุมชนที่นี่กับเพื่อนๆ ตอนที่เรียนปริญญาโท และอีกครั้งหนึ่งเธอติดรถไปกับคณะหามวลสารเพื่อนำมาจัดสร้างรูปบูชาองค์พ่อจตุคาม รามเทพ ในยุคสมัยที่คนไทยขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จนต้องหันหน้ามาพึ่งเทพ ส่งผลให้ทุกวัดจัดสร้างกันสารพัดรุ่น ปลุกเสกกันจนฐานพระธาตุแทบทรุด



คุยไปก็นึกถึงหน้าผู้ใหญ่เฉลิม กาญจนพิทักษ์ ผมยังพอจำหน้าแกได้ แต่แกคงจำผมไม่ได้แล้วแหล่ะ เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีคณะมากหน้าหลายตา ที่ขึ้นไปเยี่ยมชมกิจกรรมชุมชน และให้กำลังใจพี่ผู้ใหญ่เฉลิม นึกถึงกิจกรรมของชาวบ้านที่นั่น กับบทเรียน ที่น่าศึกษา และก็หวนนึกไปถึงบทความ ของอัฎธิชัย ศิริเทศ ที่เขียนลงเวปไทยเอ็นจีโอ สมัยที่เปิดเวปใหม่ๆ เมื่อราวปี 47


อัฎธิชัย เป็นทีมข่าวภาคสนามของ ไทยเอ็นจีโอ ได้เข้าไปทำสกู๊ปบทเรียน ของชุมชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากร และการใช้กติกาในการักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน และได้เรียบเรียงออกมาอย่างน่าสนใจ

ผมกลับจากบ้านวังลุง ก็พยายามที่จะค้นหาบทความชิ้นนี้ และก็เจอ..!!


ผมอยากเอาบทความของอัฎธิชัย ศิริเทศ มาให้พวกเราได้อ่านกันอีกครั้ง ซึ่งต่อไปนี้ เป็นบทเรียนของชุมชนบ้านวังลุง ณ ปี 2547



...................................................................................

บ้านวังลุง ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี นครศรีธรรม เป็นพื้นที่สีแดงอีกพื้นที่หนึ่งในอดีต ซึ่งหมายถึงเป็นเขตคุ้มครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้แกนนำในหมู่บ้านวังลุงในอดีตก็คือทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาก็กลับใจเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำไร่ทำสวน

ปี 2531 เกิดพายุใหญ่สร้างความเสียหายแก่หมู่บ้านและชุมชนในเทือกเขาหลวงอย่างมาก เป็นความเสียหายที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งสิ้น ทำให้ชุมชนเริ่มพูดคุยกันเรื่องรักษาป่า จนปี 2540 ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านวังลุงก็เกิดขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง และ 8 ปีให้หลังจากนั้น ชมรมอนุรักษ์บ้านวังลุงเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างมาก ถึงความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง ความสามัคคี ความเคารพกฎเกณฑ์ร่วมกันและความคิดที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

กระนั้น ก็ตามมีบางด้านที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึง หรือกล่าวถึงน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นบทเรียนที่สำคัญ เป็นอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการประชาชน นั้นคือการเผชิญปัญหา ความเจ็บปวด ความล้มเหลวและกระบวนการสร้างจิตใจที่ไม่ย้อท้อ ในการขับเคลื่อนชุมชนและชมรมอนุรักษ์
ชัยชนะ ทวีเมือง เลขานุการชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านวังลุง ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีมากมาย รวมทั้งตัวอย่างการจัดสรรทรัพยากรและการกำหนดข้อตกลงในการขอใช้ทรัพยากร ว่า “ กิจกรรมที่น่าสนใจตอนนี้คือ กลุ่มออมทรัพย์แรงงาน คือกลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงานกัน ต้นคิดเกิดมาจากความขาดแคลนแรงงาน เพราะการทำงานคนเดียวนั้นลำบาก ไม่สนุก ดังนั้น ถ้าเรามาแลกเปลี่ยนแรงงานงานกันขึ้น การทำงานของเราจะสนุกสนานมากขึ้น เบาแรงมากขึ้นด้วย มีความคิดเห็นมากขึ้นด้วย และส่วนมากในบ้านวังลุง ล้วน
แต่เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติกันทั้งสิ้น

อีกอย่างชาวบ้านที่นี่ไม่ค่อยมีที่ทำกินของตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นผม เนื่องจากคนรุ่นพ่อเขาหยุด เขาไม่บุกเบิกป่าแก่ หรือป่าถางที่ทำกินเพิ่มอีกแล้ว มาถึงคนรุ่นผมก็ไม่มีที่ทำกิน จึงต้องรวมตัวกันทำกลุ่มอาชีพอื่นๆ ขึ้น ซึ่งเราไม่อยากให้ชาวบ้านของเรากลายสภาพเป็นคนจนเหมือนกับคนจนอื่นๆ ในประเทศนี้

ที่นี่อาจจะให้สมาชิกบุกเบิกที่ดินเพาะปลูกทำกินได้ แต่ต้องเป็นป่าใส คือป่าที่เคยถูกบุกเบิกทำกินแล้วเท่านั้น และเน้นการทำเป็นสวนสมรม อาจจะสวนยางพาราได้ แต่ไม่เน้นวิธีการถางจนโล่งเลี่ยน ซึ่งแบบนี้ไม่ได้ เราจะปลูกแบบขุดเป็นร่องปลูกยางพารา จนไม้ยางโต จึงค่อยๆ โค่นไม้อื่นๆ ไปได้บ้าง สภาพป่าต้องอยู่ตลอด นี่คือรูปแบบที่ชาวบ้านเขาคุยกันเองนะครับ

เราเคยไปคุยกับทางอุทยานฯ เหมือนกันว่าขอชาวบ้านเขาทำกินไปเถอะ ในพื้นที่ป่าใส ที่เขาเคยทำกินอยู่แล้วแล้ว ยกเว้นแต่ป่าแก่ ตรงนี้เราห้ามกันเด็ดขาดเลย แล้วเราทำแค่พออยู่พอกินได้ ไม่เน้นรวย ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อดี อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว ชาวบ้านได้วางข้อกำหนดกฎระเบียบในการทำกินในพื้นที่ป่า มีทั้งหมด 9 ข้อ เริ่มตั้งแต่ การถางปลูก ว่าห้ามบุกรุกป่าแก่ เป็นต้น การจะเข้าไปทำได้ ต้องผ่านคณะกรรมการถึง 2 ชุด คือกรรมการเฉพาะโซน กับกรรมการกลางของหมู่บ้าน ซึ่งเป็น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนั้นผู้ขอทำกินต้องมีการระบุพันธุ์ไม้บางชนิดที่ต้องยกเว้น ห้ามตัด ระบุผลอาสิน แล้วก็ปักหมุดเขตทำกินว่ามีกี่ไร่ ที่สำคัญห้ามแผ้วถางเกินที่แจ้งไว้โดยเด็ดขาด เช่น ถ้าแจ้งไว้ 1 ไร่ 2 งาน ก็ต้องเท่านั้น เพราะมีกรรมการตรวจสอบ

ก็เคยมีบ้างที่ละเมิดข้อตกลง อย่างมีครอบครัวหนึ่งมีลูก 3 คน มีอยู่ 1 ไร่ กว่า แล้วไปถางเพิ่ม มีคณะกรรมการไปตรวจสอบ ก็อนุญาตให้เพิ่มเนื่องจากมันไม่พอกินจริงๆ กรีดยางได้ไม่มาก หาของป่าขายก็ได้วันละไม่มาก ไม่แน่นอน แบบนี้แม้จะผิดก็ต้องช่วยกัน เราทำงานบนพื้นฐานเข้าใจกัน ช่วยเหลือกันมากกว่า

การลงพื้นที่ตรวจสอบ เราลงกันจริงๆ เลย มีการทำบันทึก ถ่ายรูปไม้ แปลงที่ดินไว้ด้วยเลย อีกอย่างเราเองก็ให้เกียรติอุทยานฯ เราเชิญอุทยานฯ เข้ามาร่วมตรวจสอบตรงนี้ด้วย ซึ่งงทางอุทยานฯ ก็มาบ่อยครับ ทั้งๆ ที่ โดยปกติ ทางอุทยานฯ ไม่ต้องมาร่วมเลยก็ได้ เราก็สามารถจัดการกันเองได้ และทำได้ดีกว่าอุทยานฯ ด้วย เพราะอุทยานฯ บ่าย 3 บ่าย 4 โมงก็เลิกงานแล้วและก็มีเพียง 4 คนเท่านั้นเองในหน่วยนี้ ในขณะที่พื้นที่ต้องดูแลนั้นกว้างมาก แต่ชาวบ้านนั้น เรามีเยอะมาก และทำงานตลอดถ้ามีใครแจ้งมา เราดูแลผืนป่าเฉพาะความกว้างก็ประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร แต่โชคดีที่มีทางเข้าออกน้อย อาจจะมีเส้นบ้านวังลุง เส้นเดียว ดังนั้น ใครทำผิด ตัดไม้ ล่าสัตว์ ใครเข้าออก เราจะรู้หมด

ตั้งแต่ชมรมอนุรักษ์ตั้งมา 7 ปีมาแล้ว ยังไม่มีการลักลอบตัดไม้เลย แต่ก่อนตั้งชมรมนั้น ทำไม้เถื่อนกันเยอะมาก แบบใครมีอิทธิพลหน่อยทำได้เลย แต่ต่อๆ มาคนที่ไม่ได้อะไรคือไม่ได้ทำมันเริ่มไม่ยอม ไม่ให้ทำ จึงเริ่มมีการตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้น

สาเหตุหนึ่งของการหยุดตัดไม้ จุดเริ่มที่สำคัญมาจากเหตุการณ์พายุหนักปี 2531 น้ำป่าทะลักและพาท่อนซุงลงมาด้วยจำนวนมาก ชาวบ้านนั้นรู้มานานแล้ว แต่เหตุการณ์นั้นทำให้รัฐเองรู้ด้วย และสังคมไทยรู้ ก็เริ่มเพ่งเล็ง เพราะตัดกันเยอะมาก ผู้ใหญ่บ้านที่นี่ในอดีตยังเคยทำไม้เลย แต่แกเลิกแล้ว และหันมาอนุรักษ์ไม่ยอมให้ใครตัดอีกแล้ว

แต่ถึงจะเข้มงวดยังไง เราก็ยังให้ชาวบ้านใช้ไม้ สร้างบ้าน อย่างบ้านไหนจะสร้างบ้านใหม่ แต่ไม่มีไม้ ไม่มีเงินซื้ออิฐ ขอไม้มาทำบ้าน ทำวงกบ ก็ไปขออนุญาตกรรมการชมรมและผู้ใหญ่บ้าน ถ้าได้รับอนุญาต ชาวบ้านก็ไปช่วยกัน เลือกไม้ ตัดออกมา ตามกำหนดที่แจ้งไว้ และเกินไม่ได้ด้วย ซึ่งก็ขอได้พอที่จะทำบ้านพออยู่ได้ ไม่ใหญ่เกินไป

ความขัดแย้งในเรื่องการใช้ทรัพยากรของที่นี่ไม่มี กับทางอุทยานฯเองก็ไม่เคยมายุ่งกิจกรรมของชาวบ้านเลย ถ้ามีก็เล็กๆ อย่างมีครั้งหนึ่งผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานชมรมอนุรักษ์ด้วย ๆ ได้อนุญาตให้ชาวบ้านคนหนึ่งเข้าไปตัดไม้มาทำบ้านได้ แล้วอุทยานฯ และป่าไม้อำเภอทราบ ก็ยกกำลังมาที่บ้านผู้ใหญ่ แต่ก็พูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ซึ่งก็เห็นแล้ว ทางรัฐเองก็ยอมให้โอกาสชาวบ้านในการจัดการ หรืออีกกรณี หนึ่งเป็นชาวบ้านจากที่อื่น เข้ามายิงสัตว์ป่า ชาวบ้านได้ยินเสียงปืน ชาวบ้านก็รวมตัวกันเลย ร้อยกว่าคนได้ ปิดล้อม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็จับได้เลยในวันนั้น ก็นำมาทำทัณฑ์บนแล้วก็ส่งให้ฝ่ายบ้านเมืองดำเนินคดี

มาตรการอื่นๆ ของชาวบ้านก็มีตั้งแต่การเตือน เตือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งสองขอร้อง แต่ถ้ามีครั้งสามก็ยึดเลย ซึ่งกรณีนี้ก็มี ปัจจุบันประธานชมรมยังขึ้นศาลไม่เสร็จเลยครับ ซึ่งก็มีขัดใจ ทะเลาะ ขัด
แย้งกันบ้าง ก็ต้องเข้าใจว่า โลกนี้มันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับ แต่กระนั้น เราก็ค่อนข้างเข้าใจกันถึงความสำคัญ กับการรักษาป่าเอาไว้

และเมื่อเทียบกับเขตอื่นๆ ยังหนักกว่าเรามาก ปัจจุบันนี้มีการเผาป่า ล่าสัตว์อยู่เลย อย่างเช่น ทางเขตพิปูน เป็นต้น การบุกรุกป่าก็หนักอยู่มาก แถบนี้ก็มีบ้างแบบท้าทายกัน บางวันนั่งๆ ก็อาจจะได้ยินปืน แต่ก็เบาลงไปมาก หากเทียบเมื่อก่อน และดีกว่าให้อุทยานฯ ดูแลฝ่ายเดียวแน่นอน เฉพาะปืนแก้ปที่ชาวบ้านเอามามอบให้ชมรมก็กว่า 40 กระบอก และประกาศยกเลิกการล่าสัตว์เลย เมื่อปีที่แล้ว

เรื่องที่ดินที่กำหนดให้ชาวบ้านขอแผ้วถางป่าใสทำกินได้นั้น กำหนดไว้ว่าครอบครัวหนึ่งเฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่ และเป็นที่ดินที่ครอบครัวนั้นแหละทำกินมาแล้วแต่บรรพบุรุษเขา คือทางชมรมเข้าไปควบคุมการใช้ที่ดินเดิมที่มีอยู่ ไม่ใช่เรื่องการจัดสรรที่ดินใหม่นะครับ ปีที่แล้วก็จัดสรรไป 1 ราย ก่อนหน้านั้นก็ 2 ราย ซึ่งลำบากจริงๆ แล้วก็ขอมา

อีกอย่างชมรมพยายามเข้ามาดูแลการใช้ทรัพยากรป่าจำพวกหาของป่าด้วย เช่น สะตอ ลูกเหรียง ลูกประ น้ำผึ้ง เป็นต้น รายได้ของพวกนี้ต่อปีที่ชาวบ้านหามาได้ปีหนึ่งหลายล้านบาทนะครับ ดังนั้น ทำยังไงไม่ให้มันหมดนี่คือภารกิจของชมรม

อีกกิจกรรมหนึ่งก็คงเป็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนะครับ ที่ทางชมรมทำขึ้นเพื่อหารายได้ มี 2 รูปแบบ คือการดูแลรายได้จากคนที่มาเที่ยวน้ำตกวังลุง คือที่นี่ เป็นรายได้หลัก กับท่องเที่ยวเดินป่า ซึ่งอันหลังนี้เรามีข้อจำกัด เช่นเที่ยวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 แต่ไม่เกิน 15 คน เที่ยวละ 2 คืน 3 วัน และก็สามารถทำได้ปีละ 4 เดือนเท่านั้น คือตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม นอกนั้นเป็นฤดูพายุเข้าไปไม่ได้แล้ว อย่างรายได้เราก็แบ่งอุทยานฯ และค่าแรงลูกหาบซึ่งเป็นชาวบ้านที่นี่ด้วย ที่เหลือจึงเป็นของชมรมครับ”

เฉลิม กาญจนพิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน และประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านวังลุง กล่าวถึงอุปสรรค สภาพปัญหาหารเกิดขึ้นของชมรมและกระบวนการอื่นๆ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนว่า “มันหลายปีมาแล้ว ที่เราพยายามทำ เบื้องต้นก็เพื่อให้ทางอำเภอ ทางโรงพักเขาเชื่อถือเรา หลายฝ่ายเชื่อถือเรา

มันเหนื่อยยากมาก ที่เรามาพยายามทำสิ่งเหล่านี้ รายได้ที่ต้องหามาจุนเจือครอบครัวก็ไม่ได้ทำเต็มที่ บางวันต้องไปตรวจ ไปล้อมจับ ไปเฝ้าคนที่แอบเข้ามายิ่งเม่น หรือยิงสัตว์สักตัว สองตัวก็เฝ้ากันเป็นอาทิตย์เลย ครอบครัวลำบาก เพราะเขาก็ไม่เข้าใจเราทำอะไรกัน ก็ทะเลาะกัน มันก็เดือดร้อนน่ะ แต่เราก็ต้องทำ และก็พยายามคิดกิจกรรมต่างๆ ออกมาหารายได้ เช่น อยากจะร่วมกันเลี้ยงวัว แล้วเอาขี้วัวมาทำปุ๋ยขาย เนื่องจากพวกเราทำสวนกันเป็นส่วนใหญ่ซื้อปุ๋ยปีหนึ่งๆ ค่อนข้างมากก็อยากจะทำกัน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา การแลกเปลี่ยนแรงงาน ก็พยายามคิดกันเพื่อมาชดเชยรายได้ ไม่ต้องทะเลาะกับครอบครัว

หากเล่าย้อนๆ ไปก็ค่อนข้างมั่วๆ วุ่นๆ เหมือนกัน เพราะไม่รู้มาถึงตรงนี้ได้อย่างไร ทั้งเหนื่อย ทั้งยุ่งยาก แต่พยายามทำกันมาเกือบ 10 ปีได้ มันทำท่าจะแตก ทำท่าจะพัง ทำท่าจะดี จะเข้มแข็ง ปะปนกันมาเรื่อยๆ มันก็เดินมาอย่างนี้ตลอดนะ ก็แก้ปัญหามาเรื่อยๆ แก้ทุกๆ ด้าน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นทุกเดือนเหมือนกัน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ปัญหาคนข้างนอกจะเข้ามาโน้นทำนี่ ทำรีสอร์ท มันเยอะน่ะ ตั้งแต่ปี 2540 ที่เกิดชมรมอนุรักษ์

แต่ที่หนักๆ คือเราลุกขึ้นแก้ปัญหายาเสพติดกันเอง เราจับเอง ไม่ให้ตำรวจจับ เราจับเองแล้วส่งตัวให้ ใครพัวพันจับได้เราไม่ให้เข้าเป็นสมาชิกชมรม กับเรื่องบุกรุกป่า ล่าสัตว์เราไม่ให้อุทยานฯจับ เราจับเอง เราขอประณีประนอมเองก่อน ถ้าเกินเลยกว่านั้นก็ค่อยส่งตำรวจ และอุทยานฯ ก็ยอมให้โอกาสเรา ที่ต้องอย่างนี้ เพาะชาวบ้านเราจน ถ้าติดคุกติดตารางลูกเมียก็ยิ่งลำบาก เราขอแก้ปัญหากันเองก่อน

อย่างเรื่องที่ดินที่ชมรมพยายามเข้าไปดูแล ตรวจสอบการใช้ การบุกรุกแผ้วถางแล้วทำบันทึกไว้ จุดไหนทำกินบุกรุกก็สีแดง ไม่บุกรุกเลยก็สีเขียว ปรากฎว่า สีแดงมีน้อยมาก หากเปรียบกับที่อื่นๆ มีเจ้าหน้าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของอุทยานฯ บินตรวจทุกๆ เดือนเลย เราเองก็ได้ตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ และสรุปปัญหากันทุกๆเดือน

การดูแลรักษาป่าของเราเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ไม่เคยถูกตำหนิเลย เขาชมเลยว่าชาวบ้านรักษาดีกว่าเขารักษา ที่ทำได้เพราะเรามีสมาชิกร่วมดูแลตั้ง 200 กว่าคนใน 2 หมู่บ้าน เปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 4 คน ในเขตแถบนี้ เมื่อดูแลได้ดี ทำให้เราต่อรองได้ว่าไม้ที่ล้มลงเอง เราขอมาทำบ้านให้กับชาวบ้านที่ยากจนได้ไหม ซึ่งเราก็ยอม แต่เราจะต้องไม่เอาไม้นั้นไปขาย ก็เท่านั้น แต่กระนั้นเราก็ต้องยืนยันให้เขาเห็น ต้องไปถ่ายรูปไม้ต้นนั้นมาให้เขาพิจารณาด้วย โดยเราไปคุยกับทางอุทยานฯ และต้องเป็นไม้ยืนตายจริง ห้ามมีใครไปทำให้มันตายน่ะ

เรื่องใครจนจริงไม่จริง มันรู้กันทั้งนั้นแหละครับ ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านทำไมจะไม่รู้

ปัญหาคือรุ่นเรานั้นแก่แล้ว แต่รุ่นน้องๆ ยังไม่มีใครเข้ามาสืบสานดูแลกันต่อ ส่วนเรานั้นทำมาเป็นสิบปีแล้ว ตั้งแต่ 2537 เพียงแต่เพิ่งมาเป็นชมรมตอนปี 2540 เท่านั้นเอง เมื่อก่อนรวมตัวกันหลวมๆ เท่านั้น แต่สถานการณ์ชาวประมงต้องการไม้ทำเรือทำให้เกิดความต้องการไม้มาก และเกิดการบุกรุกตัดไม้กันมาก ซึ่งในขบวนการมีทั้งคนในท้องถิ่น นายทุนและข้าราชการแหละครับ

ในวันนี้ เรามาเหนื่อยแต่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของหมู่พวกเราเอง ซึ่งกำลังลำบาก มัวแต่ยุ่งกับการจัดการแหล่งท่องเที่ยวน้ำตก แต่ชาวบ้านไม่ได้อะไร ทำให้ตอนนี้มาเอาจริงเอาจังกับการเลี้ยงวัวร่วมกัน เอาทั้งเงินกองกลางและเงินส่วนตัวไปซื้อวัวมาเลี้ยงกัน เนื่องจากเลี้ยงร่วมกันมันดูแลง่ายกว่า อาจจะหาที่สักแปลงปลูกหญ้าได้ด้วย ตอนนี้กำลังหาทางกู้เงินวิสาหกิจชุมชนสัก 4-5 แสนบาท มาทำธุรกิจปุ๋ยชีวภาพด้วย เพราะบ้านเราซื้อปุ๋ยปีหนึ่งเกือบ 2 ล้านบาท อย่างน้อยถ้าทำใช้ในชุมชนได้ก็ลดต้นทุนเราไปได้มาก น่ะ ตอนนี้เราสั่งปุ๋ยขี้วัวมาจากราชบุรีอยู่ ถ้าเราเลี้ยงสัก100-200 ตัวก็น่าจะได้พอใช้ เราทำมา 2-3 ปีแล้ว เราทำกับจอบทำเอง ทำครั้งละ 20-25 ตัน ซึ่งตอนนี้อยากหาเงินมาซื้อเครื่องมืออยู่

ปุ๋ยนี้มันดีแม้ว่าจะช้าเกือบเดือนกว่าใบจะเขียว ต่างจากปุ๋ยเคมี 4-5 วันเขียวแล้ว แต่ถึงช้ามันก็ดีกับระบบนิเวศ ดินไม่แข็ง น้ำไม่เสียด้วย

ความเข็มแข็งของที่นี่ หัวใจมันอยู่ที่คณะกรรมการ อย่างกรณีเรื่องปัญหายาเสพติด ถ้ากรรมการสั่งว่า ลูกนายนั่นให้มาตรวจเยี่ยวก็ต้องมา ขัดขืนไม่ได้ เพราะทุกคนต้องอยู่ในกรอบ กรอบคือมติของประชาคม จะลูกผู้ใหญ่ หลานกำนันก็ไม่เกี่ยว ทุกคนต้องอยู่ในกรอบเหมือนกันหมด ใครลักขโมยอะไรของใคร ต้องเสียเท่าไหร่ มีกำหนดไว้หมด และที่ผ่านๆ มาก็ไม่มีใครกล้าฝืนกรอบนี้ของชุมชนสักคน อย่างเมื่อก่อนมีเพื่อนบ้านเมาแล้วชอบยิงปืน ก็จับเอามาประจาน เดี๋ยวนี้ไม่มีใครยิงปืนเล่นอีกเลย เพราะอายชาวบ้าน

กรรมการหมู่บ้านมีอำนาจเรียกคนที่ทำผิดมาเฆี่ยนตีกับไม้หวายได้ ถ้าทำตัวไม่ดีไม่เหมาะสม พวกเกะกะระราน หรือคนที่มีพฤติกรรมแย่ที่สุด แบบไม่น่าให้อภัยเลย ในรอบปีหนึ่งกรรมการก็จะคัดเอามาทำโทษ ไม้ให้เป็นตัว กรรมการก็จะบอกให้มาหรือมาเสียค่าปรับก็ต้องมา

ไม่เคยมีใครฝ่าฝืนหรอกครับ เพราะมันเป็นข้อปฏิบัติร่วมกันของคนในสังคม และถ้าคณะกรรมการทำผิดก็ไม่ได้สิทธิพิเศษอะไร ต้องโดนเหมือนๆ กัน

กฎกติกาก็มีเป็นเรื่องๆ ไป อย่างที่นี่ออกกฎกติกาก็ใช้ร่วมกันแค่ 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 กับหมู่ 6 ในตำบลวังลุง … ออกแถลงการณ์ปีละ 1 ฉบับ

สาเหตุที่ยุ่งๆ ก็คงเพราะเราทำหลายอย่างมาก ทั้งเรื่องอนุรักษ์ป่า เรื่องยาเสพติด เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องปุ๋ย เรื่องเลี้ยงวัว มันเยอะมาก แต่ที่ทำมาได้ตลอดก็เพราะชาวบ้านเขาให้ความร่วมมือดี เอาแค่ผู้ใหญ่บ้านกับคณะกรรมการใช่ว่าจะทำได้ ตรงนี้ชาวบ้านเขาเอาด้วยเลยทำได้ ครับ

ทุกๆ เดือนเราจะมีการประชุมรายงาน ปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ประชุมทุกเรื่อง มีปัญหาข้อขัดแย้งอะไร ก็มานั่งประชุมกัน คนที่ถูกกล่าวหาก็แต่งตั้งทนาย (คนที่พูดเก่งๆ ในชุมชน) มาช่วยแก้ต่างหรือเถียงแทนได้ คณะกรรมการซักถามก็ซักไป อีกทั้งยังมีการอุทธรณ์ได้ภายใน 5 วัน หาหลักฐานมาหักล้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับเพราะส่วนใหญ่เรารู้จักกันดี รู้พฤติกรรมกันหมด ใครเอาอะไร ของใคร

ต้นแบบความคิดเหล่านี้มาจากป่า เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ติดป่า เป็นเขตคอมมิวนิสต์เก่าก็ได้รับแนวความคิดมาจากนั่น กฎนี้เพิ่งเริ่มใช้ตอนตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาตินี้แหละ พอตั้งชมรมเสร็จเราก็ตั้งกฎเกณฑ์กันขึ้นมาใช้ มาปฏิบัติร่วมกัน

หลังจากใช้กฎเกณฑ์นี้ชุมชนที่นี่แตกต่างกันมากกับเมื่อก่อน ปัญหาลักเล็กขโมยน้อยนั้นมีมาก ยาบ้าติดยาเสพติดแทบทั้งหมู่บ้าน เพราะตัดยางทุกวันมีรายได้ทุกวัน ก็ซื้อยาได้ทุกวัน ชุมชนทะเลาะเบาะแว้งกัน ช่วงชมรมอนุรักษ์ลงมือแก้ปัญหานี้ในระยะแรกๆ ตึงเครียดกันมาก ทะเลาะกันตลอด กับคนขายยาบ้าง คนเสพยาบ้าง ออกแถลงการณ์บ้าง ทำพิธีสาปแช่งบ้าง แต่โชคดีที่ชาวบ้านเข้ามาร่วมมาก พอร่วมมากก็เข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งอะไรๆ มันก็พอจะทำได้ต่อไปอีก

ความจริงเราไม่ใช่คนของภาครัฐ เราไม่เกี่ยว ไม่แคร์กับทางอำเภอ ไม่ได้ทำเพื่อท่านนายกฯ ทักษิณ แต่เราเพื่อชุมชน เราคิดเรามองแค่นั้น เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับชุมชน

ก็เป็นผู้ใหญ่มาตั้งแต่ปี 2532 เรื่องที่เจ็บปวดที่สุด คือเรื่องแก้ปัญหายาเสพติดนี้แหละ เพราะมาวันหนึ่งเราถูกข้อกล่าวจาก ปปส.ว่าค้ายาเสพติด เป็นตราบาปที่มาจากข้าราชการ จนสาบานว่าไม่เอาอีกแล้ว ไม่ทำเรื่องนี้แล้ว ไม่ยุ่งอีกเลย ถ้ามันจะกลับมาระบาดอีก มันเจ็บปวดจนไม่อยากพูดถึง ชีวิตเราต่อต้านมาตลอดแต่มาเจอข้อหานี้ สาเหตุมาจากการที่เราสืบทราบมาว่าแหล่งที่ขายยาให้เด็กๆ มาจากปั้มใกล้หมู่บ้าน เราจึงล่อซื้อและยกกำลังไปจับและค้นเอาของกลาง และปรากฎว่า นั่นเป็นปั้มน้ำมันของ ส.ส. เมื่อปี 2544 ก่อนหน้านี้เราเคยแจ้งความตำรวจแล้ว แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้ หลังจากบุกจับเราต้องไปขอโทษ และหลังจากนั้นชีวิตผมก็ถูกร้องเรียนมาตลอด จนผมประกาศแล้วว่า ไม่เอาแล้ว ไม่สู้แล้ว ใครจะโดนอะไรยังไงก็ช่างไม่เอาแล้ว เจ็บปวดเปล่าๆ ถึงตอนนี้เราไม่มีค่าอะไรเลยในสายตาเจ้านาย ข้าราชการ เราต้องเป็นคนบาปจนถึงวันนี้

กรอบกติกาชุมชนก็ยกเลิกเรื่องนี้แล้ว เมื่อก่อนใครติดยาจับได้เขียนชื่อขึ้นไว้บนป้ายประจานที่สี่แยกหมู่บ้านเลย หรือปักป้ายบ้านไหนยุ่งเกี่ยวปักธงแดง ถ้าไม่ยุ่งปักธงเหลือง เอากันขนาดนั้น รุนแรงมากมีงานข่าวเหมือนข้าราชการ รายใหญ่เล็ก รายใหญ่จับหมด ตรวจเยี่ยวก็ตรวจเริ่มตั้งแต่ปี 2543-2544 ในตอนนั้น ปปส. ตชด.ก็มาสืบข่าวที่นี่มานอนที่บ้านเลย แล้วมาเป็นอย่างนี้ก็เลยผิดหวัง เดี๋ยวนี้ไม่เอา สู้ไม่ได้ สู้ไม่ไหว ภาครัฐทำกับเรามากเกินไป ทั้งจังหวัด ถูกเล่นงานหมู่บ้านเดียว ต้องรายงานตัวตลอด ที่สำคัญเราถูกเล่นจากหน่วยเหนือด้วย มันทำให้เราตกใจมาก มันนึกไม่ถึง และเราไม่ใช่คนกว้างขวางอะไรกับโลกภายกับเกิด เราโต เราอยู่และเราทำงาน เรารู้จักเฉพาะที่นี่ มันทำให้เราถูกกระทำ ถูกจัดการอะไรยังไงก็ได้จากข้างนอก ทำให้เป็นอุทธาหรณ์ อีกเรื่องหนึ่งว่าอย่าไปยุ่งกับมัน นะครับ

ขบวนการชาวบ้านที่นี่มันดูมั่วๆ เพราะมันไร้รูปแบบ เราคิดกันเอง ทำกันเอง ยังไม่เคยรู้จักหรอกครับเอ็นจีโอ ข้าราชการไม่ได้เข้ามายุ่ง เราไม่รู้เรื่องมาก่อน ไม่ได้ไปดูงานที่ไหน แต่ยอมรับว่าเราอ่านหนังสือ อย่างผมนี่อ่านหนังสือวรรณกรรมจีนมาเป็นสิบๆ ปี เคยเข้าป่าพักหนึ่งก็ออกมาอยู่ข้างล่างอีกพักหนึ่ง ก็ได้กรอบคิดบ้างน่ะ


มีนักวิชาการลงมาทำแผนพัฒนาชุมชน ทำรูปไข่เป็ดให้ดู 2-3 วง ออกมา แล้วบอกว่า นี้คือแนวทางแก้ปัญหาชุมชนได้ ผมไม่เชื่อหรอก ผมอยู่และทำงานกับชุมชนนี้มา 7-8 ปี ยังทำอะไรไม่ได้เลย หมายถึงมีปัญหาให้ต้องได้แก้กันนะครับ แล้วนักวิชาการเก่งมาจากไหน ถึงบอกได้ว่าชุมชนนี้แก้ปัญหาอย่างไร ตรงอยากให้ทั้งวิชาการ ทั้งข้าราชการ หรือเอ็นจีโอ เข้าใจ ว่าต้องลงมาดูชุมชนให้มากกว่านี้ด้วย อยากให้คนเหล่านี้มองและให้ข้อมูลอย่างเป็นกลาง วิเคราะห์อย่างเป็นกลาง เราไม่ได้มีด้านดีด้านเดียวหรือเสียอย่างเดียว แต่เรามีทั้งสองด้านเสมอ

ความฝันสุดท้ายของผมอยากสร้างพันธมิตรให้รอบเขาหลวงในการเข้ามาดูแลป่าและทรัพยากรธรรมชาติ เขาหลวงมันใหญ่มากมันดูแลแค่นี้ไม่ไหวหรอก อีกเรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็สำคัญที่เราพยายามเข้าไปจัดและร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่นี้ขึ้นมาสืบสานด้วย รายได้เราเอามาลงทุนกับกิจกรรมเหล่านี้มากที่สุด คือกิจกรรมสร้างพันมิตรกับหมู่บ้านใหม่ๆ ในการหันมาร่วมดูแลอนุรักษ์ป่ากับกิจกรรมสร้างสำนึกเด็กเยาวชนครับ”
กรกฏาคม 2547



.....................................................................................




พฤษภาคม 2552 ผ่านมา 5 ปี หลายอย่างเปลี่ยนไป สิ่งที่พี่เฉลิมและทีมงานในชุมชนทำ ได้สร้างผลสะเทือนในสังคม จ.นครศรีฯอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในช่วงที่ ท่านวิชม ทองสงค์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด กับนโยบายชุมชนอินทรีย์ พื้นที่ต้นแบบพื้นที่หนึ่งของนโยบายท่านผู้ว่าฯ ก็คือชุมชนบ้านวังลุง



วันนี้พี่เฉลิม กลับมาเป็นผู้ใหญ่เฉลิมคนเดิมที่เข้มแข็ง และเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่สั่งสม กฎ กติกาที่ดีของชุมชนถูกนำกลับมาใช้ เช่น การพิจารณาคดี (เล็กๆ) ในชุมชน โดยมีองค์คณะผู้พิพากษาชุมชนที่มาจากการเลือกของชาวบ้าน มี ทนายชุมชน คอยช่วยผดุงความยุติธรรม โดยไม่ต้องให้เรื่องราวไปรกศาลสถิตยุติธรรม และชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลาและค่ารถ ไปขึ้นศาลในเมือง



การใช้มาตรการทางสังคมมาจัดการคนที่แตกแถว หลงผิดในชุมชน โดยการขึ้นป้ายสีแดงขนาดใหญ่ตรงสี่แยกในชุมชน ประจานกันเห็นๆซึ่งหน้า ทั้งคน ซื้อขายเสพ ยาเสพติด คนชอบขโมย หรือแม้กระทั่งคนชอบเมาแล้วหาเรื่องชาวบ้านในงานพิธีต่างๆในชุมชน พี่เหลิมบอกว่า “ ยาเสพติด ใครขายเราขึ้นป้าย ใครแค้นจะมายิงเราก็หลบ ใครสำนึกกลับตัวเป็นคนดีก็ลบชื่อออก” โดยเคยถึงขนาดเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาทำพิธีลบป้าย เล่นเอาผู้ว่าฯเซอร์ไพรส์ มาแล้ว เพราะเคยเจอแต่พิธีเปิดป้าย



ทุกๆ ที่มีปัญหา ถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหา กว่าจะถึงฝันก็อาจเจออุปสรรค มันอยู่ที่เราว่าเลือกที่จะหนีปัญหา หรือแก้ปัญหา ฝ่าฟันอุปสรรค ซึ่งพี่เหลิมเลือกที่จะใช้อย่างหลัง



เราอยากเห็นทุกชุมชนแข็งแรง ผู้นำเข้มแข็ง แบบบ้านวังลุง




ไว้วันหลังจะมาต่อเรื่องเครือข่ายโรงไฟฟ้าชุมชน และพลังงานทางเลือกกันครับ



ออกัส.






.