จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เครือข่ายชาวบ้านภาคใต้ จัดเวทีวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้

วันพฤหัสบดี ที่ 25 มิถุนายน 2552 ที่ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการที่ 12 (สสว.12) อ.เมือง จ.สงขลา คณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ จัดเวทีสัมมนาวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของรัฐด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเน้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทั้งการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก ท่อส่งกาซ ปิโตรเคมี เขื่อน รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการระดมความคิดเห็นจากวงสัมมนาต่อท่าทีของเครือข่ายชุมชนในภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นแกนนำชุมชนจากทุกจังหวัดในภาคใต้ ร่วม 100 คน

นายจินดา บุญจันทร์ กรรมการคณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ทุกรัฐบาลพยายามที่จะผลักดันแผนพัฒนาภาคใต้มาตลอด โดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งได้ประกาศนโยบายชัดเจนในคำแถลงนโยบาย ข้อที่ 4.2.2.5 ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม และ ข้อที่ 4.2.2.6 ที่จะเดินหน้าจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลเหล่านี้น้อยมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผน ชาวบ้านมารู้ตัวอีกทีก็เกิดปัญหาในพื้นที่แล้ว

นางศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ได้นำเสนอ“ภาพรวมแผนพัฒนาภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” โดยได้ชี้ให้เห็นว่า
การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่งตามแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเน้น ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกด้านในปัจจุบัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษ มลภาวะ ปัญหาสังคมวิถีชีวิตวัฒนธรรม อาชีพ รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องน้ำ ระหว่างอุตสาหกรรม และด้านการเกษตร จึงทำให้เกิดขบวนการชาวบ้าน ที่ต่อต้านอย่างหนักเพื่อรักษาฐานของชุมชน ดังนั้นการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกจึงค่อนข้างจะทำได้ยากในปัจจุบัน


พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีศักยภาพ จึงถูกวางให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการวางแผนเป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากมีทั้งท่าเรือ(ทะเล) และแหล่งน้ำดิบ ซึ่งภาคอื่นๆไม่มี ไล่มาตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงชายแดนภาคใต้ ทั้งท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน ก๊าซ น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา EIA (ซึ่งไม่ค่อยน่าเชื่อถือ) บางพื้นที่อยู่หว่างการประชาพิจารณ์ และบางส่วนก็เริ่มลงมือก่อสร้างไปบ้างแล้ว

ด้านนายทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช ได้นำเสนอว่า ตนเป็นนักศึกษาปริญญาโท อยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตนซึ่งเป็นคนอำเภอท่าศาลา พอรู้ว่าจะมีเขตนิคมอุสาหกรรมในพื้นที่บ้านเกิดก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มาตลอด เกาะติดสถานการณ์อย่างไกล้ชิด ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกปกปิดมากมาย ดังนั้นตนจึงได้เอาข้อมูลเหล่านี้ไปบอกกล่าวหารือกับคนในชุมชนเพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่การรวมกลุ่มต่อต้านแผนการก่อตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ ซึ่งหากปล่อยให้มีการเดินหน้าก่อสร้างจะส่งผลกระทบกับชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงในวงกว้าง
ทั้งนี้วิทยากรที่มาให้ข้อมูลในการสัมมนามีความเห็นตรงกันว่าสิ่งที่สำคัญมากก็คือการให้ข้อมูลความรู้กับชาวบ้าน รวมทั้งเก็บข้อมูลในพื้นที่ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้มาก เช่นกรณีการฟ้องร้องกันภายหลัง และที่สำคัญคนในพื้นที่ต้องเป็นเจ้าของเรื่องและลุกขึ้นมา ยิ่งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายได้ก็จะยิ่งทำให้ภาคประชาชนมีพลังมากยิ่งขึ้น


นายขนิฐ คงทอง ผู้แทนชุมชนจากจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้นี้หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องทุกคน จึงเป็นเรื่องที่พวกเราภาคชุมชนในทุกพื้นที่ควรที่จะร่วมกันปกป้องไม่ให้ภาคใต้ของเรา ลูกหลานของเราได้รับผลกระทบ สูญเสียวิถีชีวิตที่ดี พวกเราภาคประชาชนก็มี 3 มาตรการที่จะใช้ได้คือ มาตรการชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมทุกระดับและทุกด้านของการดำเนินโครงการ มาตรการด้านกฎหมาย ซึ่งเราต้องเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังไม่ใช่เหมือนกับที่เกิดกับพี่น้องจังหวัดระยอง และสุดท้านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

นายประยุทธ วรรณพรหม ผู้แทนชุมชนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันนี้โครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด มาแล้ว แต่ฝ่ายราชการจังหวัดบอกว่าไม่รู้เรื่อง ยังเป็นแค่กระแสข่าว แต่ที่จริงแล้วมีกระบวนการขับเคลื่อนโครงการแล้วในพื้นที่ ตนจึงอยากให้มีการทำสื่อ ทำประชาสัมพันธ์ข้อมูลเหล่านี้ เช่น หนังสือพิมพ์ ฅนปากใต้ เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พี่น้องในชุมชนได้รับรู้ และส่งถึงอบต.ด้วยยิ่งดี

นอกจากนี้ได้มีการอภิปรายแลก ในวงสัมมนา ซึ่งส่วนใหญ่แสดงท่าที ไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาภาคใต้ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยในการสัมมนาได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะให้มีกลไกร่วมกันในการเชื่อมประสานข้อมูล โดยมีผู้เสนอตัวเป็นผู้ประสานงานในระดับจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้มีการตกลงให้มีการประชุมพบปะร่วมกันในอีกสองเดือนข้างหน้าที่จังหวัดสตูล โดยจะเชิญแกนนำพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบและอยู่ระหว่างกระบวนการต่อสู้ในพื้นที่ มาร่วมการประชุมด้วย


ทั้งนี้คณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ จะได้สรุปเนื้อหา รวมทั้งข้อเสนอจากเวทีสัมมนา มาประมวลสังเคราะห์ เพื่อที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านทางคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น (ชุดคุณหญิงสุพัตรา) และอนุกรรมการประสาน และติดตามนโยบาย (ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ)ต่อไป

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาและรายละเอียดการนำเสนอจากวิทยากร


เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้อง

http://www.souththai.org/index.php?option=com_content&task=view&id=176&Itemid=38

http://taiklang.blogspot.com/2009/06/blog-post_04.html


โดย : สามารถ สุขบรรจง

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

น้ำมันเหลือใช้กับไขมันหมู ?? ที่ สภ.รัตภูมิ

ในภาวะที่พลังงานฟอสซิล เริ่มหมดลงไปเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายคิดจะหัน ไปพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์ กลับปรากฏโรงเรือนเล็กๆหลังสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีป้ายเขียนตรงประตูทางเข้าว่า สถานีผลิตไบโอดีเซล ภายในเต็มไปด้วยอุปกรณ์การผลิตไบโอดีเซล ที่ริเริ่มมาจากโครงการอนุรักษ์พลังงานการใช้พลังงานทดแทน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ดาบตำรวจมนัส จันทร์ณรงค์ ผู้ปฏิบัติงานของสถานีผลิตไบโอดีเซล สถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ เล่าให้ฟังว่า การจัดทำโครงการนี้ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับข้าราชการตำรวจและประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากการนำน้ำมันพืชใช้แล้ว แทนที่จะเททิ้งให้เกิดมลพิษ ก็นำมาใช้ผลิตพลังงานเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

“โครงการนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 มี 80 สถานีตำรวจทั่วประเทศเข้าร่วม ในส่วนของ สภ.รัตภูมิ ทำกันแค่ 14 คน เป็นเพียงโรงพักเดียวโรงพักแรกที่ได้รับการคัดเลือกจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ให้เป็นสถานีนำร่องผลิตไบโอดีเซล จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยผลิตในอัตรา150 ลิตรต่อวัน นำไปใช้กับรถยนต์สายตรวจในโรงพักรัตภูมิ” ดาบมนัสอธิบาย

ถึงแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะส่งวิทยากรมาให้ความรู้ถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล พร้อมทั้งชุดอุปกรณ์การผลิต

ทว่า ในเบื้องแรกกลับประสบความล้มเหลว เพราะค่าสารปนเปื้อนมีมากกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว พ.ต.ท.โชติ ชัยชมภู ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ จึงเชิญ รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร จากสถานวิชาการไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ

“ตอนที่คณะของรศ.ดร.ชาคริตมาดูเขาบอกว่า อุปกรณ์ชุดนี้มีคุณภาพ สามารถผลิตได้เดือนละ 3,000 ลิตร แต่สูตรการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลไม่ค่อยดี หลังจากทีมของรศ.ดร.ชาคริตมาดูแล และช่วยกันคิดสูตรที่มีส่วนผสมของสารเคมีและวัตถุดิบแตกต่างกันออกไป ทดลองทำและวิเคราะห์ร่วมกันประมาณ 24 ครั้ง จึงได้สูตรผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ที่มีคุณภาพดีค่าของสารปนเปื้อนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน”

เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อชุมชน หลังจากทดลองจนมีคุณภาพ สามารถนำไปเติมรถยนต์และใช้งานได้จริง ก็เริ่มมีชาวบ้านให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานตำรวจที่อยู่ในโรงพักให้ความสนใจ จนเด็กแต่ละคนสามารถวิเคราะห์ค่าต่างๆ ของวัตถุดิบและการผลิตได้ตอนแรกเด็กมาดูเฉยๆ ดาบตำรวจมนัสเรียกการมาของเด็กๆ ว่า โครงการมาม่า
เพราะหลังเลิกเรียน เด็กจะมากินมาม่ากันที่นี่

“ช่วงที่เราผลิตน้ำมันเองได้แล้ว ทีมงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ถามว่า ต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า ผมเสนอว่า อยากได้ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงไบโอดีเซล ตอนนี้ได้มาแล้ว ส่วนอีกเรื่อง คือ การทำการตลาด เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่า น้ำมันไบโอดีเซลใช้ได้จริง”

ขณะนี้ ทางสถานีผลิตไบโอดีเซล ได้มอบน้ำมันไบโอดีเซลให้กับโรงงานอุตสาหกรรม 44 แห่ง นำไปทดลองใช้กับรถโฟล์คลิฟท์มากว่าสองเดือนแล้ว แต่ละที่ได้ไป 800 ลิตร พนักงานที่ใช้รถสะท้อนกลับมายังผู้ผลิตว่า ใช้ดีมาก ยกของได้ดีกว่าเดิม ที่สำคัญไม่มีควัน ทางผู้ใช้บอกว่าประหยัดน้ำมันได้มากกว่าเดิม

ในส่วนของชาวบ้านและเกษตรกร สามารถขอใช้น้ำมันได้ฟรี ขณะนี้มีเพียงรถไถนา 4 คันเท่านั้น ที่ทดลองใช้อยู่ อีกหนึ่งที่พระวัดบนเขานำไปใช้กับเครื่องจักรยกของขึ้นวัดบนภูเขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง การทดลองใช้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน ทางสถานีผลิตไบโอดีเซล แจกฟรี

สำหรับน้ำมันใช้แล้ว ดาบตำรวจมนัสบอกว่า ได้รับบริจาคจากร้านค้า นอกจากนี้ทางสถานีผลิตไบโอดีเซล ยังได้ทดลองผลิตน้ำมันจากไขมันหมู ซึ่งประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

การทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของ สภ.รัตภูมิ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

ภายใต้ สภาวะโลกร้อน และโลกกำลังเข้าสู่ยุคขาดแคลนพลังงาน น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วและไขมันหมู นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจยิ่ง

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พอช.จับมือราชภัฎ ร่วมขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน

พอช.ภาคใต้ รุกสถาบันวิชาการ
จับมือราชภัฎนครศรีฯ ลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน





มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ จัดการเสวนาความร่วมมือทางวิชาการ “สภาองค์กรชุมชน : ก้าวสำคัญสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น” ณ ห้องประชุมพรหมโยธี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นแกนนำชุมชน กว่า 300 คน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากการนี้ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือในส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนด้วย


นายภานุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมาเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา และเป็นสักขีพยานในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ได้กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เห็นการร่วมมือของหน่วยงานสำคัญ ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในวันนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดใหญ่มีพื้นที่กว้างขวางมาก ตนอาจจะมีภารกิจมากจนบางครั้งรู้สึกมีปัญหาในการบริหารเวลา แต่ตนให้ความสำคัญมาก กับงานภาคชุมชน หรือภาคประชาชน ทั้งนี้ตนเต็มที่กับการสนับสนุนชุมชนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ พรบ.สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญ


นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง ได้กล่าวในการปาถกฐาพิเศษเรื่อง “สภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” โดยมีสาระสำคัญว่า บ้านเมืองเราวันนี้ตนไม่ค่อยแน่ใจว่ามีการปกครองในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ โดยดูได้จากข่าวคราวทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นรายวันในช่วงนี้ รวมทั้งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในพื้นที่ทุกระดับที่มีการซื้อเสียงแจกของ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายขั้นตอนของวงจรอุบาทว์ในวงการเมือง ดังนั้นภาคประชาชนจึงได้เสนอการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคชุมชนขึ้นมา โดยมีพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมืองและ พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก โดย พรบ.สภาองค์กรชุมชน เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการส่งเสริม ไม่ใช้กฎหมายให้ให้อำนาจ ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่สภาที่มีอำนาจ ที่จะไปแข่งขันกับ สภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น บทบาทก็แตกต่างกัน ซึ่งสามารถที่จะทำงานร่วมกันและหนุนเสริมชุมชนด้วยกันได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ ในการเสวนา “สภาองค์กรชุมชนกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า สภาพความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายที่ขาดความเป็นธรรม แม้กระทั่งการกระจายอำนาจการบริหารการปกครอง ที่ยังขาดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ระบบราชการมีอำนาจมากเกินไป หลายอย่างก็มีมีความซับซ้อน จนยากเกินกว่าที่จะใช้การเมืองแบบเก่ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นปัญหาของระบบประชาธิปไตยแบบเก่า ที่มีบทบาทอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการเมืองแบบใหม่ จะต้องเป็นการเมืองภาคชุมชน ให้บทบาทกับชุมชนในการลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา ชุมชนของตนเอง โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก และใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น นี่ถึงเรียกว่าการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคชุมชนที่แท้จริง


นายจินดา บุญจันทร์ แกนนำชาวบ้านคนสำคัญของภาคใต้ และเป็นเลขานุการที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ เห็นว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโจทย์ชุมชนท้องถิ่นฐานล่าง ค่านิยมของสังคมก็ไม่ได้คิดที่จะส่งลูกไปเรียนเพื่อที่จะกลับมารับใช้ชุมชน ในขณะเดียวกันเราเลือกผู้แทนเพื่อไปทำหน้าที่บริหาร ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันได้อะไรกลับมาสู่ท้องถิ่น ถึงขนาดที่บางคนคิดว่ากำขี้ดีกว่ากำตด ยอมรับเงินซื้อเสียงก่อนลงคะแนน ยังดีว่าเลือกแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ไม่ได้อะไรกลับมา
จากสภาพดังกล่าว ทำให้หลากหลายชุมชนคิดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยชุมชนเอง โดยใช้เวทีของชาวบ้านในชุมชนเป็นเวทีในการถกปัญหา และระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออก รวมทั้งแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เวทีชุมชนเหล่านี้ไม่ค่อยถูกยอมรับในทางสถานะ นี่จึงเป็นที่มาของการที่เครือข่ายชุมชนได้เสนอกฎหมายสภาชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชน เพื่อที่จะทำการเมืองจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน หรือที่เรียกกันว่า “การเมืองกินได้”
สิ่งที่สำคัญที่อยากฝากไว้คือ “สภาองค์กรชุมชนเป็นความหวังหนึ่งที่ชุมชนสามารถสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด” หลักคิดก็คือ “เราจะคิดเองทำเอง” และเป็นการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีความเชื่อว่า สถาบันฯหากมีเจ้าหน้าที่มากก็จะปิดโอกาสของพี่น้อง จึงใช้อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้น้อย เพราะเราเชื่อว่าประชาชนจะเข้มแข็งได้ เพราะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการรวมตัวจดแจ้ง จดตั้งแล้ว ประมาณ 18-19 สภาองค์กรชุมชน และยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกมาก
บทบาทของ พอช.ในฐานะกองเลขา สภาองค์กรชุมชน ตาม พรบ. จะร่วมือกับพี่น้องชุมชนและภาคีความร่วมมือในการจะยกระดับและพัฒนาสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้วให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการขยายการจดแจ้งจัดตั้งเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็คิดว่าภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ก็จะต้องหารือกันต่อในการที่จะร่วมกันส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ทาง พอช.ภาคใต้ ยังมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาควิชาการโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภาคใต้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี สงขลา ตรัง ภูเก็ต และมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ภาควิชาการเหล่านี้ เข้ามาบทบาทในการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก


อาจารย์สมปอง รักษาธรรม ประธานหลักสูตรการพัฒนาชุมชน และผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่จะให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎเข้าไปมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัย ก็พยายามที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยส่งเสริมให้ผู้บริหาร และผู้ปกครองท้องถิ่นเข้ามาศึกษา เพื่อยกระดับวิทยฐานะและนำความรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชน การบันทึกความร่วมมือในวันนี้ก็จะเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในการส่งเสริมชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาชวนคิดชวยคุยเรื่องการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน กับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสุวัฒน์ คงแป้น จาก พอช. ภาคใต้ ทั้งนี้ นายถัน จุลนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้นำเสนอ กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมของชุมชนควนรูว่า ตำบลควนรูนั้นขับเคลื่อนงานด้วยการใช้องค์กรชาวบ้าน เป็นหลัก มีกลุ่มองค์กรชุมชนมากมาย ช่วงหลังมีการรวมตัวเป็นเครือข่าย ภายใต้ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบลควนรู (ศอ.ชต.) ส่วนด้านการบริหารท้องถิ่นนั้นมีการแข่งขันสูง มีการขัดแย้งกันทุกสมัยของการเลือกตั้ง ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของตำบล ซึ่งในภายหลังได้ใช้เวทีเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งมีที่มาที่เป็นตัวแทนโดยธรรมชาติของชุมชนที่หลากหลายในพื้นที่หารือเพื่อคลี่คลายปัญหา รวมทั้งผู้อาวุโสในตำบล ก็เข้ามาบทบาทสำคัญ จนในไปสู่การสร้างการเมืองสมานฉันท์ ไม่มีการแข่งขันโดยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เป็นการเสนอนโยบาย และหารือในที่ประชุมเครือข่ายชุมชน แล้วแบ่งบทหน้าที่กันไปทำ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น

คลิ้กอ่านรายละเอียดการเมืองใหม่ที่ควนรู http://taiklang.blogspot.com/2009/06/blog-post_14.html


นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ รองประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลน้ำพุ มีกลุ่มองค์กรชาวบ้านมากมายคล้ายๆควนรู เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาขาดการหารือกัน อยู่แบบกลุ่มใครกลุ่มมัน เป็นปัจเจก โดยส่วนตัวนั้นตนคิดว่าควรที่จะมีการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายชาวบ้านอยู่แล้ว พอพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนประกาศใช้ ตนเลยถือโอกาส สร้างการเรียนรู้ให้กับแกนนำองค์กรชุมชนต่างๆ ในตำบล และได้จดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุในที่สุด พอจัดตั้งแล้วเสร็จ ก็จัดการประชุมสภาองค์กรชุมชน โดยเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่เข้าร่วม ทั้ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครู เจ้าอาวาส หัวหน้าสถานีอนามัย รวมทั้ง ผู้อาวุโสในพื้นที่ ระดมความคิดเห็นกัน โดยเฉพาะการระดมปัญหาของชุมชนกับแนวทางแก้ไข ซึ่งเรื่องที่สำคัญคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองฉวางเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากแหล่งน้ำสำคัญของตำบล รวมทั้งระดับอำเภอด้วย จนนำไปสู่การจัดเวทีสาธารณะ ที่เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับเป็นบาทที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุ และอยากฝากว่า เวทีประชุมสภาองค์กรชุมชน ควรเป็นวงที่คุยกันแบบพี่น้อง แบบสมานฉันท์ แล้วเรื่องดีๆก็จะเกิดในวงประชุมสภาองค์กรชุมชน


คณพัฒน์ ทองคำ รองนายก อบต.บางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช แสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะของผู้บริหารท้องถิ่น ตนมองว่าปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของชุมชนคือการแก่งแย่งแข่งขันกันในทางการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งส่งเหล่านี้ ตนเห็นว่าตำบลควนรูสามารถแก้ไขได้ถูกจุด คือใช้องค์กรชุมชนต่างๆมานั่งหารือ ตกลงกันเพราะตัวแทนองค์กรชุมชนในตำบล ค่อนข้างจะหลากหลายครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล ซึ่งนับเป็นตัวแทนของพี่น้องได้รวมทั้งการปรึกษาหารือกับผู้อาวุโสในท้องถิ่นเป็นเวทีเพื่อคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านที่จะไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น
ในฐานะของคนขับเคลื่อนงานชุมชนอยู่ด้วย ตนมองว่าสภาองค์กรชุมชนมีประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างมาก หากแต่พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดค่อนข้างใหญ่ มีถึง 165 ตำบล ดังนั้นเราจึงน่าจะขายความคิด ให้มีการขยายผลการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนให้ได้อย่างน้อยสักครึ่งของตำบลที่มีอยู่ในจังหวัด แล้วเราจะเรียกที่ประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัดว่า ที่ประชุมภาคประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อย่างเต็มภาคภูมิ


ด้านนายประยงค์ หนูบุญคง อดีต นายก อบต.ขอนหาด และประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ถ้าดูพัฒนาการของภาคประชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว นับว่ามีพัฒนาการมาตลอด ในขณะเดียวกันก็มีปัญหา อุปสรรคอยู่บ้างเช่นกัน ขบวนชาวบ้านจังหวัดนครศรีฯ เริ่มเด่นชัดขึ้น เมื่อคราวที่ คุณลุงประยงค์ รณรงค์ แกนนำชุมชนตำบลไม้เรียง ขยายแนวคิดงานชุมชนไปสู่ตำบลอื่นๆ ในจังหวัด นำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย ภายใต้ชื่อเครือ “ยมนา” จากนั้นก็เริ่มขับเคลื่อนงานการจัดทำแผนชุมชน จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดนครศรีฯ เติบโต เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานภาคประชาชนภายใต้ชื่อ “ศูนย์ประสานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช” ส่วนตัว ตนมองว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น่าจะยังมีบทบาทนำในการพัฒนาท้องถิ่น แต่อาจจะต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการของท้องถิ่นนั้นๆด้วยแบบตำบลควนรู ขณะเดียวกัน สภาองค์กรชุมชน ก็จะเป็นเวทีที่ช่วยเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นเวทีของภาคองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในชุมชนที่ไม่ได้หวังผลตำแหน่งทางการเมือง แต่มีความปรารถนาที่เห็นอยากจะเห็นชุมชนเข้มแข็งได้เข้ามาช่วยคิด ช่วยทำ เพื่อพัฒนาชุมชน
ประเด็นสำคัญตนอยากฝากว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้ว ควรที่จะต้องเน้นย้ำ ทำความเข้าใจกรอบคิด และบทบาทของสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งต้องไม่แข็งตัวมากเกินไป เพื่อที่จะได้ช่วยให้การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกิดขึ้นได้จริง รวมทั้งมีบทบาทในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง


ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้ว 18 แห่ง และคาดว่าภายในปี 2552 นี้จะมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรตำบลชุมชนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 แห่ง (ตำบล)


..............................................................................................

โดย : สามารถ สุขบรรจง

..............................................................................................

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ขบวนองค์กรชุมชนสงขลาประชุมปรับกระบวนการดำเนินงาน

ขบวนองค์กรชุมชนสงขลาประชุมปรับกระบวนการดำเนินงาน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา จัดการประชุมคณะทำงานเครือข่ายฯ ขึ้น ณ ที่โรงแรมกรีนเวิลด์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนกระบวนการบริหารจัดการและการดำเนินงานของเครือข่ายในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับขบวน ออกแบบวิธีการดำเนินงานของเครือข่ายในช่วงต่อไป โดยมีคณะทำงานที่เป็นตัวแทนองค์กรชุมชนในระดับตำบลเข้าร่วมประมาณ 30 คน นอกจากนี้ยังมี ที่ปรึกษา อาทิ ครูชบ ยอดแก้ว ปราชน์ชาวบ้านและเป็นแกนนำอาวุโสในจังหวัด นายสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ เข้าร่วม


โดยที่ประชุมได้หยิบยกปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานในช่วงที่ผ่าน อาทิ ความไม่ชัดเจนในเรื่องทิศทาง เป้าหมาย ในการดำเนินงานของคณะทำงาน กระบวนการบริหารจัดการที่ยังไม่เป็นระบบ ความไม่เข้าใจระหว่างเครือข่ายอื่นๆที่เป็นภาคีพัฒนาในจังหวัด รวมทั้งปัจจัยอื่นๆที่เข้ามาบทบาทในช่วงที่ผ่านมาเช่น สภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีข้อตกลงร่วมกันในที่ประชุมว่าให้เปิดออก ถอดหัวใจมาคุยกัน เพื่อก้าวไปข้างหน้า ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ผู้ที่ถูกพาดพิงว่ามีจุดอ่อนก็ยอมรับ และพร้อมที่จะปรับปรุงตัวเอง


ข้อสรุปจากที่ประชุมคือ มีการกำหนดวิสัยทัศน์/เป้าหมายขบวนจังหวัด “ ชุมชนพึ่งตนเองได้บนฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง สังคมมีความเอื้ออาทรและสมานฉันท์ โดยยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม”


ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน
1.การเชื่อมโยงการและการบริหารจัดการ
2. ความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน
3. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. ฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น
5.พัฒนาระบบเศรษฐกิจ
6.การศึกษาเรียนรู้/การจัดการองค์ความรู้


แนวทางการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน
1.ใช้ขบวนงานพัฒนาทุกประเด็นงานเป็นเครื่องมือในการวางแผนพัฒนาองค์กรชุมชนในตำบลและใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงองค์กรชุมชนและดูแลการพัฒนาตามแผนงานของขบวนองค์กรชุมชนในตำบล
2. พัฒนาแผนยุทธศาสตร์ของขบวนองค์กรชุมชนซึ่งเชื่อมโยงงานทุกประเด็นในทุกระดับ
3 พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อกระบวนการพัฒนาและการบริการจัดการ
4 สนับสนุนส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชุมชน
5 บูรณาการกลุ่มองค์กรโดยใช้พื้นที่เทศบาล/ตำบลเป็นฐานในการปฏิบัติฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ



วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มารู้จักเยาวชนคนเก่งหัวใจชุมชน แห่งจะนะ


‘น้องเคลียร์’ สื่อรุ่นใหม่หัวใจชุมชน


เคลียร์ สาวน้อยทายาทหนังสือพิมพ์ ไทยราษฎร์ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ตอนนี้กำลังเดินตามรอยเท้าของพ่อมาติดๆด้วยเหตุที่เกิดและเติบโตมากับโรงพิมพ์ไทยราษฎร์ของผู้เป็นพ่อ เลยทำให้น้องเคลียร์สนใจที่จะเรียนรู้ในเรื่องสื่อ และการผลิตสื่อ ในรูปแบบต่างๆ

เคลียร์ หรือ ตวิษา ธรรมดี อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ อำเภอจะนะ เคลียร์เป็นเด็กที่ทำกิจกรรม ทั้งในและนอกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นตัวแทนนักเรียนในการ แข่งขันทักษะต่างๆ ทำโครงงานด้านคุณธรรม ผ่านการอบรม นักข่าวพลเมืองและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการจัดค่ายโหมฺเรารักษ์จะนะ

หลังจากนั้น เคลียร์ก็ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ทำสื่อชุมชน เพื่อผลักดัน ให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมทั้งเรื่องของแผนพัฒนาภาคใต้ เรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ฯลฯ ด้วยการใช้สื่อ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และช่องทางอื่นๆ ที่สามารถทำได้ โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มมีดหม้อสีขาว

เคลียร์บอกว่า "ที่มาทำกิจกกรมในวันนี้ได้ก็เป็น เพราะพ่อแม่ คือ นายคนึง ธรรมดี และนางพวงทิพย์ ธรรมดี จัดการเรียนศิลปะให้กับเด็กๆ ในอำเภอจะนะ ทำให้ตัวเอง พี่ชาย และน้องสาวอีก 2 คน ได้ทำกิจกรรมด้วย"

การทำกิจกรรมทำให้เคลียร์ มีความคิดโตเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ และยังฝึกให้มีความรับผิดชอบ รู้จักแบ่งเวลาในการเรียน และทำกิจกรรม ส่งผลให้เป็นคนที่กล้าแสดงออกในทางที่ดีมากขึ้น

นอกจากร่วมทำสื่อแล้ว ตอนนี้เคลียร์ยังเตรียมตัวที่จะเรียนการแสดง เพื่อกลับมาทำละคร อันเป็นอีกสื่อหนึ่งที่เข้าถึงคนในชุมชน

เคลียร์อยากเรียนคณะนิเทศศาสตร์ เพราะต้องการที่จะกลับมาช่วยงาน พ่อ ดูแลธุรกิจของครอบครัว และจะได้กลับมาอยู่บ้านเกิดด้วย..
.......................................................................................

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เราไม่เอาเขื่อน ! เราไม่เอาเขื่อน ! ไม่เอาเขื่อน !!!???


เราไม่เอาเขื่อน !!
กลุ่มอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมบ้านคลองลำแชง


รถวิ่งผ่านสวนลำไยขนาดใหญ่ลึกเข้าไปในหมู่บ้านคลองลำแชงเพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร บรรยากาศร่มครึ้มของสวนยางเริ่มปรากฏให้เห็น ลักษณะภูมิประเทศแถบนี้ เป็นดินร่วนปนทราย มีเขาแก้วเป็นฉากหลัง และเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่มีน้ำตกสวยงาม รวมทั้งคลองเล็กๆ อีกหลายสาย จึงไม่แปลกที่หน่วยงานราชการเลือกเอาพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านบนควน ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา สร้างเขื่อนดิน กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์

หมีด บิลอะหลี หรือยีหมีด แกนนำหลักในการคัดค้านการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่ง ที่จะสร้างขึ้นที่ตำบลเขาพระ คือ เขื่อนลำแชง กั้นคลองลำแชง ที่บริเวณเขาแก้ว บ้านลำแชง หมู่ที่ 6 และเขื่อนลำขัน หรือเขื่อนคลองหิน กั้นคลองหิน ที่บ้านคลองหิน หมู่ 12 ตำบลเขาพระ สายคลองทั้งสอง ไหลสู่คลองรัตภูมิ ลงทะเลสาบสงขลา ที่บ้านปากบางภูมี อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

“ทางการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534 เริ่มจากกำนันหมาด เส็นหละ เป็นตัวแทนชาวบ้านส่งเรื่องให้ทางอำเภอและจังหวัดขอท่อส่งน้ำประปาภูเขา ให้กับชาวบ้านหมู่ที่ 6 แต่ถูกแปรเจตนาผิด กลายเป็นว่าองค์การบริหารส่วนตำบลสมัยนั้นแนบบัญชีรายชื่อผู้ประสงค์จะใช้น้ำ 935 คน ให้นายอำเภอรัตภูมิ ขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำลำขัน และอ่างเก็บน้ำลำแชง เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร” ยีหมีดเล่าที่มาที่ไปของเขื่อนทั้งสองแห่ง

ยีหมีดเล่าให้ฟังต่อว่า รายชื่อทั้ง 935 คนนั้น ไม่มีรายชื่อของคนในหมู่ 6 สักคน ไม่รู้เป็นชื่อใครเอามาจากไหน การดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง ถูกปกปิดไม่ให้ชาวบ้านทราบ ชาวบ้านเพิ่งมาทราบเรื่องนี้ตอนปี 2543 ขณะที่หน่วยงานราชการเข้ามาเจาะตรวจสภาพดิน

ยีหมีดยอมรับว่า การเข้ามาดำเนินการของเจ้าหน้าที่ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตัวเองเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการหาคนงานให้ เพราะตอนนั้นยังไม่ทราบข้อมูลอะไร เมื่อเห็นว่ามีการว่าจ้าง ก็หางานให้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านได้มีรายได้ แต่หลังจากเริ่มรู้ข้อมูล ตอนที่เอาหลักมาปักแนวเขต ก็ไล่ให้เจ้าหน้าที่กลับไป เพราะชาวบ้านยืนยันว่า ไม่เอาเขื่อนและไม่ยอมให้สร้างแน่นอน

กระทั่งปี 2547 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงมาประชุมในพื้นที่ เสนอให้ยกเลิกสร้างเขื่อน เพราะชาวบ้านสามารถอยู่กันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน ทุกอย่างก็เงียบไป แต่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ และอำเภอรัตภูมิ ยังพยายามผลักดันต่อ โดยเฉพาะเขื่อนคลองหิน

ยีหมีดบอกว่า ปัจจุบันชาวบ้านรวมตัวทำกิจกรรมในนาม “กลุ่มรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมบ้านคลองลำแชง” หมู่ 6 โดยมีกิจกรรมฝึกอบรมชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรธาตุสี่ปีละ 50 รุ่น รุ่นละ50 คน ที่ศูนย์ปราชญ์เก้าภูมิปัญญาเกษตรธาตุสี่ ตำบลเขาพระ พร้อมกับขยับขึ้นไปทำงานกับเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำภูมี

“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เขาก็พยายามสร้างให้ได้ ปัญหาจะตกอยู่กับชาวบ้าน ยีถูกไล่ที่มาตั้งแต่สร้างคลองร. 1 แล้ว ทำท่าจะถูกไล่อีกเป็นครั้งที่ 2 ถ้าเป็นแบบนี้ไปตรงไหนเราก็โดนไล่ตลอด ถ้าต้องย้ายที่อีก ยอมตายดีกว่า ได้เงินก็จริง แต่เราไปอยู่ที่อื่น เราสร้างชุมชนไม่ได้ อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน จะมีความสุขได้ยังไง”

เป็นความรู้สึกร่วมของชาวบ้าน ผ่านริมฝีปากของ “ยีหมีด” ในวันที่เราเข้าไปเยี่ยมเยียน
...............................................................................
จาก : KONPAKTAI (รายปักษ์ ฉบับที่ 3 ปีที่ 1)

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเมืองใหม่ที่ควนรู


การจะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการเมืองใหม่คืออะไร? ฟังดูแล้วเป็นคำถามง่าย ๆ และไม่ยากจนเกินไปที่จะอธิบายความให้เข้าใจกันได้ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีผู้รู้ นักต่อสู้ทางประชาธิปไตย และนักรัฐศาสตร์หลายท่าน ได้มีการขยายความของการเมืองใหม่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีสาระสำคัญที่ตรงกัน นั่นก็คือเป็นการเมืองที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าไปกำหนดชีวิตของเขาได้โดยไม่ใช่ผ่านตัวแทนเพียงทางเดียวเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งสามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของตัวแทนพวกเขาได้

นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยของไทยใช้ระบบการเลือก “ผู้แทน” เข้าไปทำหน้าที่หรือใช้ “อำนาจอธิปไตย” แทนปวงชนชาวไทย โดยให้เหตุผลว่าประชาชนทุกคนไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยพร้อม ๆ กันได้ จำต้องเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ประวัติศาสตร์ตลอด 76 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏเลยว่ามียุคไหนสมัยไหนที่ประชาชนได้มีโอกาสใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางผู้แทนของเขาได้ หรือแม้จะมีโอกาสได้ใช้อำนาจนั้น แต่ผู้แทนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น

ที่ว่าประชาชนไม่มีโอกาสได้ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตัวแทนนั้น เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยตัวแทนของไทยถูกทำให้เป็นหมันโดยระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบอบอำมาตย์ทหารที่มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดินมาทุกยุคทุกสมัย ความจริงประจักรแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยตัวแทนบอดสนิทในสมัยที่จอมพลป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษณ์ ธณะรัตน์ และต่อเนื่องมาถึงยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกสุจินดา คราประยูรและพรรคพวก นี่ย่อมประจักรแล้วว่าเวลาส่วนใหญ่ของประเทศนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจหาได้อยู่ในมือประชาชนไม่ แต่กลับอยู่ในมือระบบอำมาตย์ที่มีฝังรากลึกอยู่ในระบอบการเมืองไทยและถูกทำให้ยิ่งใหญ่โดยอำมาตย์ที่เป็นทหาร แม้ทุกวันนี้ ระบบอำมาตย์ที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นหัวเรือใหญ่ จะมีความสุขุมลุ่มลึก ไม่ใช้อำนาจและรถถัง แต่ด้วยบารมีที่ซึมลึกในระบบการเมืองไทยจึงยังมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างสูงยิ่ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบอบประชาธิปไตยตัวแทน ภายใต้การกดทับของระบบอำมาตย์จึงมีโอกาสโผล่ขึ้นมาหายใจได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เช่น ช่วงปี 2512, 2518, 2522, 2528, 2535 เป็นต้น ซึ่งช่วงที่ผุดขึ้นมาหายใจได้ยาวนานที่สุด ก็ไม่น่าจะเกิน 8 ปี คือตั้งแต่ปี 2535-2543

ส่วนที่พูดว่า “แม้จะมีโอกาสได้ใช้ แต่ผู้แทนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองบ้านเมืองของพรรคการเมือง มาจากตัวชี้วัดที่ว่าใครได้ผู้แทนมากกว่ากันผู้นั้นก็ได้อำนาจ จึงเป็นที่มาของการลงทุนและตามมาด้วยการถอนทุนคืน ซึ่งความจริงข้อนี้เป็นที่ชัดเจนและประเจิดประเจ้อมากขึ้น นับแต่ปี 2544 เป็นต้น เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2548 ทำให้ประชาชนเข้าใจได้มากขึ้นว่า ใครมีเงินมากก็จะได้ผู้แทนมากและเข้าไปจัดการกับอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนได้ หรือที่หลายคนพูดว่า “ใครมีเงินมากก็สามารถเทคโอเวอร์ประเทศไทยได้” เงินคือปัจจัยหลัก ส่วนนโยบายของพรรคเป็นเพียงตัวหลอกล่อเท่านั้น ประชาธิปไตยยุคนี้จึงไม่ต่างไปจากยุคที่ถูกระบบอำมาตย์กดทับ เพียงแต่เครื่องมือได้เปลี่ยนจากอำนาจและอาวุธเป็นใหญ่ มาเป็น “เงิน” เป็นใหญ่เท่านั้น ท้ายที่สุดเงินก็คือ กุญแจสำคัญที่ทำให้ได้มาซึ่งอำนาจ

ในหมู่พวกเราทั้งที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนต่างก็สรุปเป็นเอกฉันท์ว่า ทั้งระบบอำมาตยาธิปไตยที่ทหหารใช้อยู่ และระบอบทุนนิยมสามาญย์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวเรือใหญ่ต่างก็เป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย และยังมีความเห็นร่วมกันอีกว่าลำพังประชาธิปไตยตัวแทนก็ไม่ใช่ความหวังของประเทศชาติเพราะประชาธิปไตยตัวแทน ถูกรังแกได้โดยง่ายทั้งจากอำนาจและเงินตรา

ศ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส พูดไว้ว่า การสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างจากยอดโดยไม่พังลงมาเสียก่อน ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างระบอบประชาธิปไตยต้องสร้างจากฐานให้เข้มแข็ง ที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยบ้านเราพังไม่เป็นท่าและถูกแทรกแซงถูกยึดกุมโดยอำนาจและเงินตรามาโดยตลอดเพราะมัวแต่สร้างประชาธิปไตยจากยอด พูดแต่การเลือกผู้แทน และการจัดสรรให้ผู้แทนไปใช้อำนาจต่าง ๆ ทั้งอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงการเดินทางเข้าคูหาหย่อนบัตรเท่านั้น
ในภาคชุมชนและประชาสังคมเราเข้าใจร่วมกันว่าทุกกลุ่มทุกองค์กรของภาคชุมชนและประชาสังคมไม่ว่าจะเป็นการก่อตัวในรูปแบบใด เป็นเสมือนก้อนอิฐจำนวนมากที่ถูกเผาจนสุก แล้วนำมาก่อต่อกันเป็นฐานของเจดีย์ ด้วยความเชื่อที่ว่าหากฐานไม่แข็งแรง ประชาธิปไตยไม่มีวันมั่นคงไปได้เลย ฐานที่เข้มแข็งเท่านั้นคือ อาวุธที่จะใช้ต่อสู้กับอำนาจและเงินตราที่เป็นศัตรูของประชาธิปไตยได้

วันก่อนผมเดินทางไปดูงานที่ ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งในวงการองค์กรชุมชนต่างก็ยกให้เป็นหนึ่งในหลายตำบลรูปธรรมด้าน “การเมืองใหม่” โดย นายศักดิ์ชัย พูลผล กำนันตำบลควนรูได้เล่าให้ฟังว่า การเลือกตั้งระดับชาติได้บอกให้คนควนรูรู้ว่า การเมืองระบบเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประชาธิปไตย การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ สร้างความแตกแยกไม่เฉพาะในระดับชาติเท่านั้นแต่ยังลามมาถึงในชุมชนอีกด้วย และที่ใกล้ตัวที่สุดคือการเลือกตั้ง อบต. เมื่อปี 2542 ทำให้เห็นชัดว่าคนควนรู ซึ่งเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติสนิท เริ่มผิดใจกันเพราะถือหางคนละฝ่าย “ผมเป็นญาติสนิทแท้ ๆ ทำไมยังไปเลือกคนอื่น” อะไรทำนองนี้

โถ ทุ่งหวังหรือ นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรูให้แง่คิดว่า การเมืองแบบเลือกตั้งเหมือนกับแร้วที่ใช้ดักนก ประชาชนก็คือนก นกที่ติดแร้วย่อมรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวด ไร้อิสรภาพ การเลือกตั้งก็เช่นกันพอเขาได้เป็นผู้แทนแล้ว การตัดสินใจทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเขา ประชาชนไร้อิสรภาพทางความคิด เราจึงต้องจำบทเรียนนี้ไว้อย่าไปเผลอติดแร้วซ้ำสอง

ครั่นมาถึงการเลือกตั้ง ปี 2545 คนควนรูก็ได้คิดใหม่โดยทุกคนต้องมีส่วนในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัคร อบต. ชาวบ้านรู้ว่าใครเป็นอย่างไร เหมาะที่จะเป็นนายก อบต.หรือไม่ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ใครควรสมัคร แต่หากผู้ประสงค์จะสมัครคนใดไม่ฟังมติของชาวบ้าน ก็ลงสมัครได้แต่พอลงคะแนนเสียง ทุกคนจะเทคะแนนให้กับคนที่ตนเห็นสมควรและมีฉันทามติไปแล้วที่สำคัญผู้สมัครทุกคนต้องเขียนใบลาออกไว้เรียกว่า “ตายก่อนเกิด” เพราะถ้าทำอะไรมิถูกมิควรใบลาออกที่เขียนไว้จะถูกนำมาใช้ทันที
แนวทางเช่นนี้ ทำให้ควนรูได้ทีม อบต. ที่ตรงกับใจชาวบ้านมีความรู้และจิตอาสาที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมจริง ๆ ครั้นครบ 4 ปี เลือกตั้งใหม่ในปี 2548 พบว่าทีมเดิมได้รับฉันทามติให้ลงสมัครอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่มีใครกล้าลงสมัครแข่ง เพราะต่างก็รู้ถึงพลังของประชาชนแล้วว่ามีอานุภาพเช่นไร

นายถัน จุลนวล นายก อบต.ควนรู เผยว่าที่ตำบลควนรูสามารถสร้างการเมืองในระบบเลือกตั้งในมิติใหม่ได้น่าจะมีเหตุผลอยู่ 3 ประการ อย่างแรกคือคนควนรูต่างเป็นญาติพี่น้องกัน หากสืบสาวราวเรื่องแล้วมีอยู่เพียง 5-6 ตระกูลเท่านั้น มีการแต่งงานข้ามกันไปมา ทั้งหมดจึงเหมือนญาติกัน มีความผูกพันกันค่อนข้างเหนียวแน่น ประการที่สอง แกนนำในตำบลที่มีบทบาทอยู่ในขณะนี้ ล้วนเป็นผู้มีการศึกษาหรือเป็นลูกหลานของคนควนรูที่มีความรู้ เห็นโลกภายนอกมาพอสมควรต่างก็เป็นนกที่ติดแร้วตระหนักถึงความเจ็บปวดที่ได้รับจากการเมืองระบบเลือกตั้ง ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน (ครูสอนหนังสือระดับประถม) จึงมีความผูกพันต่อกัน

ประการสุดท้ายน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุด ก็คือการเมืองใหม่ที่ควนรูมีฐานที่เข้มแข็ง คือความเข้มแข็งขบวนองค์กรชุมชนในควนรู ซึ่งใช้เวลาในการบ่มเพาะมาไม่น้อยกว่า 20 ปี เริ่มจากการมีกลุ่มออมทรัพย์ พัฒนาไปสู่การทำสวัสดิการ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย มีการนำแผนแม่บทชุมขนเข้ามาเป็นเครื่องมือในการวางแผนและพัฒนาชุมชน ซึ่งในระยะต่อมากลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลายนี้ได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนควนรู พัฒนาไปสู่ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลควนรู และท้ายที่สุดได้จดแจ้งจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ปี 2551 ในที่สุด จึงพูดได้เต็มปากว่าการเมืองใหม่ ที่ควนรูเกิดจากการมีฐานของการเมืองอันหมายถึง องค์กรชุมชนที่เข้มแข็งนั่นเอง

เป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้วที่คนควนรูทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. และภาคประชาชนต่างประสานพลังทำงานบนเป้าหมายเดียวกันอย่างแท้จริง นั่นคือ ความอยู่ดีมีสุขของคนควนรูทั้งตำบล นี่ต่างหากคือความหมายของการเมืองใหม่ การเมืองที่มีฐานของประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สามารถเข้าไปมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น

การเมืองใหม่นี้ปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะที่ควนรูเท่านั้น แต่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ตำบล เช่นที่ตำบลเสียว อำเภอโพธิศรีสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่น้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน ที่ศิลาลอย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น จึงเห็นว่าการจะสร้างการเมืองใหม่ให้เห็นจริงเป็นรูปธรรมต้องเริ่มจากการสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งสร้างฐานของประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง แล้วใช้ความเข้มแข็งนี้ผลักดันให้ยอดพระเจดีย์สวยงามมั่นคงตามไปด้วย ไม่ใช่คิดกันง่าย ๆ ว่าการสร้างการเมืองใหม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ ฯลฯ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เร็ว ๆ นี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ชื่อว่า “พรรคการเมืองใหม่” ฟังจากชื่อแล้วเป็นการเมืองใหม่จริง ๆ ส่วนเนื้อหายังเป็นที่น่าสงสัยและต้องติดตามกันต่อไป โดยส่วนตัวแล้วความเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นั่นคือความพยายามในการสร้างฐานประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่การก้าวอีกขั้นไปสู่พรรคการเมืองหวังเข้าไปทำยอดเจดีย์ให้สวยงาม จึงน่าเป็นห่วงว่าฐานของเจดีย์นี้ คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้มแข็งพอหรือยัง 2 ปีแห่งการบ่มเพาะพลังมันมากพอหรือยังที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเมืองเลือกตั้งระดับชาติได้ ควรจะสร้างฐานเจดีย์ต่อไปดีหรือไม่

แม้จะเป็นห่วงแต่ก็เอาใจช่วยด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งพลังการเมืองใหม่เฉกเช่นที่ควนรู จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อประสานกับพลังอื่น ๆ ในสังคม สู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพใหม่ นั่นคือ การเกิดการเมืองใหม่อย่างแท้จริง



โดย : สุวัฒน์ คงแป้น
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

และกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองประจำภาคใต้ (สภาพัฒนาการเมือง)
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.souththai.org/
.

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ขอเชิญเข้าร่วมการสัมมนาวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้




กำหนดการสัมมนาวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้
วันพฤหัสบดี ที่ 25 มิถุนายน 2552
ณ ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการที่ 12 (สสว.12) อ.เมือง จ.สงขลา




08.00 – 09.00 ลงทะเบียน
09.00 – 09.30 ชี้แจงวัตถุประสงค์ และเปิดการสัมมนา
โดย คุณจินดา บุญจันทร์ ประธานคณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้
09.30 – 10.20 นำเสนอ “ภาพรวมแผนพัฒนาภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคตะวันออก นิคม
อุตสาหกรรมมาบตาพุด”
วิทยากร โดย คุณศยามล ไกยูรวงศ์ : โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
10.20 – 10.30 รับประทานอาหารว่าง
10.30 – 11.30 นำเสนอ “สถานการณ์พื้นที่ และกระบวนการขับเคลื่อนของชุมชน”
วิทยากร โดยคุณทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว : กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช
11.30 – 12.00 แลกเปลี่ยนร่วมกัน
12.00 – 13.00 รับประทานอาหารกลางวัน
13.00 – 15.00 แบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น
15.00 – 15.30 นำเสนอผลกลุ่มย่อย
15.30 – 16.30 อภิปรายร่วมวงใหญ่ กำหนดทิศทางร่วม และประมวลสรุป
16.30 ปิดการสัมมนา



หมายเหตุ : กำหนดการอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
สอบถามเพิ่มเติม : คุณสามารถ สุขบรรจง 084-0575826 อีเมล์ samart_net@hotmail.com







ที่มาของการสัมมนา


แผนพัฒนาภาคใต้ นับวันจะกลายเป็นเรื่องร้อนแรงขึ้นมาทุกที พูดคุยกันวงไหน ก็กลายเป็นเรื่องฮือฮาของวงนั้น ด้วยแทบทุกพื้นที่ในภาคใต้ ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เมื่อมองไปถึงเบื้องหลังแนวคิดแผนพัฒนาภาคใต้ ที่มาจากการศึกษาและจัดทำของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2518 พบว่าเป็นการวางแผนการใช้ทรัพยากรในภาคใต้ ที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนา “สะพานเศรษฐกิจ” เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ด้วยระบบคมนาคมขนส่งร่วมแบบผสมผสานในปี 2532 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ตพังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทิศทางการพัฒนาดังกล่าว ต้องมีการวางแผนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การจัดหาแหล่งน้ำดิบ การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน (Strategic Energy Landbridge) เพื่อเพิ่มทางเลือกเส้นทางการขนส่งน้ำมันแทนช่องแคบมะละกา การพัฒนาตลาดน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเลียมต่อเนื่องของภูมิภาคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และพื้นที่ภาคใต้


สศช. ยังได้วิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาที่ส่งผลต่อการพัฒนาภาคใต้ จากฐานข้อมูลของโอกาสที่ภาคใต้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีลักษณะภูมิประเทศ ติดชายฝั่งทะเล สะดวกต่อการคมนาคมขนส่งสินค้าในการส่งออกในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับวิเคราะห์ของอุตสาหกรรมรายสาขา ที่มีแนวโน้มของการสร้างรายได้ประชาชาติ ตัวอย่างเช่นในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทย มีความจำเป็น ต้องลงทุนขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเหล็ก ขณะที่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าประเภทอื่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงขาขึ้นตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งติดทะเล มีพื้นที่ผืนใหญ่สามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายวิสาหกิจ และนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเหล็ก ด้านการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านการขยายพื้นที่และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กประมาณ 12.5 ล้านตันต่อปี ต้องนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ สนใจที่จะลงทุนตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและต้องการน้ำในปริมาณมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ด้วย





คณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ ซึ่งเป็นคณะทำงานภาคประชาชน ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรโดยองค์กรชุมชน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตระหนักและกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแผนพัฒนาดังกล่าว และได้ติดตามสถานการณ์ตลอดมา จึงได้จัดให้มีการสัมมนาวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้ โดยมุ่งหวังให้เกิดการกระจายข้อมูลในวงกว้าง เพื่อที่ชุมชนจะได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการวางแผนการพัฒนาของรัฐต่อไป

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พอช.จัดการสัมมนา “การจัดการข้อมูลท้องถิ่น” ภาคใต้

พอช.ภาคใต้ จัดการสัมมนา “การจัดการข้อมูลท้องถิ่น” ภาคใต้
เมื่อวันที่ ๙-๑๐ มิถุนายน ๕๒ ขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ ร่วมกับ พอช.สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ จัดสัมมนา “การจัดการข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้” ที่ ลำปำรีสอร์ท จังหวัดพัทลุง โดยมีตัวแทนศูนย์ข้อมูลตำบล ๒๓ ศูนย์ และศูนย์ประสานงานข้อมูลจังหวัด ๑๔ จังหวัด เข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน เนื้อหาการพูดคุยในเวทีเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ ทิศทาง และรูปแบบการจัดทำศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ที่สามารถจัดระบบข้อมูลสนับสนุนการทำงานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชน โดยได้ศูนย์นำร่อง ๓ พื้นที่ คือศูนย์ข้อมูลตำบลคูหาใต้ จังหวัดสงขลา ศูนย์ข้อมูลตำบลขอนหาด จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลนิคมพัฒนา จังหวัดสตูล ร่วมนำเสนอประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ก่อนที่จะร่วมกันระดมความคิด ๔ เรื่องด้วยกัน คือ
๑. ศูนย์ข้อมูลในฝันเป็นอย่างไร
๒.องค์ประกอบของศูนย์ข้อมูลมีอะไรบ้าง
๓. จะใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนได้อย่างไร
๔. ใช้ศูนย์ข้อมูลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนได้อย่างไร
ซึ่งผลจากการระดมความคิด
ข้อที่ ๑ เรื่อง ศูนย์ข้อมูลในฝัน คือ
มีระบบข้อมูลที่ใช้ได้จริงและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน
มีรูปแบบ/เครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล
มีสื่อ ที่ให้ข้อมูลได้ชัดเจนเช่น แผ่นพับ,แผ่นชาร์ด,แผนที่และจะต้องเป็นปัจจุบันทันต่อเหตุการณ์เสมอ
มีบุคลากรประจำศูนย์และสามารถให้บริการในระบบมัลติมิเดีย
มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทุกระดับ
มีคณะกรรมการศูนย์

ข้อที่ ๒ องค์ประกอบของศูนย์ข้อมูล
มีสถานที่ที่สะดวกและเหมาะสม เข้าถึงได้ง่าย ปลอดภัย
มีเครื่องมือที่สนับสนุนงานข้อมูล เช่น คอมพิวเตอร์ โปรแกรม อินเตอร์เนต และอุปกรณ์อื่นๆที่เหมาะสม
มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและหลากหลายครอบคลุมในทุกมิติ และทำงานต่อเนื่อง
มีงบประมาณสนับสนุน อย่างต่อเนื่อง ด้วยทุนของชุมชนเอง และภาคีสนับสนุน
มีแผนการดำเนินงาน ทั้งการรวบรวม วิเคราะห์ จัดเก็บ รักษาความปลอดภัย นำไปใช้ และเผยแพร่
มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูล รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
มีข้อมูลพร้อมใช้ในการดำเนินงาน ที่มีความถูกต้อง และปรับปรุงเป็นปัจจุบัน

ข้อที่ ๓. การใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน
ประกอบอาชีพ
เรื่องสุขภาพ
ทรัพยากร/ดิน/ทะเล/ป่าเขา/น้ำ
การจัดการทุน การบริหารจัดการทุนชุมชนแบบบูรณาการร่วม
การจัดสวัสดิการ
มีการเชื่อมโยงหน่วยงาน/ภาคีและมีอำนาจต่อรองในด้านต่างๆ เช่น การคัดค้านกฎหมายบางฉบับที่ส่ งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของชุมชน
พัฒนาบุคลากร/องค์กร
นำไปสู่แผนงานพัฒนาชุมชน หรือผลักดันเข้าสู่แผนนโยบายของท้องถิ่น
กำหนดแนวทางการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนเช่น ภัยพิบัติ โรคระบาด ยาเสพติด อาชญากรรม เป็นต้น

ข้อที่ ๔. ใช้ศูนย์ข้อมูลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนได้อย่างไร
ให้สภาองค์กรนำฐานข้อมูลผลักดันในส่วนท้องถิ่น
ใช้ฐานข้อมูลขยายพื้นที่การจดแจ้ง
รับรองและจัดระบบฐานข้อมูลกลุ่มองค์กร
ประสานงานสภาองค์กรชุมชน
เป็นฐานข้อมูลของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่เป็นปัจจุบัน
เป็นฐานในการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน
เป็นฐานในการจัดท าแผนปฏิบัติการของสภาฯ
นำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์/สังเคราะห์กลับสู่ชุมชน
สร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทภาระกิจของสภาองค์กรชุมชน
สามารถกำหนดทิศทาง วิถีชีวิต ของคนในชุมชนตำบลนั้น ๆ

นอกจากนี้ยังมีการเติมเต็มการจัดการข้อมูล โดย คุณอัมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ซึ่งได้ให้บั ญญัติ ๑๐ ประการของการทำงานข้อมูล คือ
๑. ไม่มีข้อมูลองค์กรบริหารไม่ได้
๒. ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทันทีที่เราเก็บข้อมูล มันจะล้าสมัย จึงต้องมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
๓. คนเก็บข้อมูลมักต้องการข้อมูลเยอะ ครบถ้วน แต่คนให้ข้อมูลต้องการให้ข้อมูลน้อยที่สุด ยิ่งเก็บข้อมูลเยอะ คนให้ข้อมูลจะยิ่งให้ข้อมูลน้อยและให้ข้อมูลเท็จ จึงควรเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
๔. ข้อมูลดิบ แม้มากมายแค่ไหน ถูกต้องแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีการวิเคราะห์และนำเสนอต่อคนที่ใช้ข้อมูล
๕. หัวใจของการพัฒนาระบบงานข้อมูลคือการพัฒนาคนที่จัดทำข้อมูล เครื่องมือที่ทันสมัยทุกอย่างไม่สามารถทำงานได้ถ้าไม่มีคนอยู่เบื้องหลัง
๖. ข้อมูลที่ดีต้องถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย ทันเวลา
๗. ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของเขา ไม่ใช่ของคนที่เก็บข้อมูล ห้ามเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต การเผยแพร่โดยไม่ระวังอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหาย
๘. ข้อมูลมีมากมายมหาศาลและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถทำข้อมูลได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ เก็บข้อมูลที่ตนเองถนัดแล้วมาแลกเปลี่ยนกัน
๙. คนที่เก็บข้อมูลมักคิดว่าข้อมูลเป็นสมบัติของตนเอง หวงแหน ไม่ให้คนอื่นใช้
๑๐. เป้าหมายของการพัฒนาระบบข้อมูลก็คือเก็บเพื่อใช้ประโยชน์ ยิ่งใช้ประโยชน์มากยิ่งคุ้มค่ากับการจัดเก็บจัดระบบทั้งหลายทั้งปวงต้องเพื่อการใช้ ไม่ใช่เพื่อเก็บ

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ได้มีการทำแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชื่อมโยงทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบลไปสู่ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัดไปสู่ระดับภาค ซึ่งแต่ละพื้นที่จะต้องกลับไปทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดการข้อมูลขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ร่วมกัน

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แลก..แบ่ง.. ปัน ... พันธ์ข้าวพื้นเมืองของชาวนาภาคใต้


ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ชุมชนชาวนาทางเลือกภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และองค์กรร่วมจัดอีกหลายองค์กร ได้จัดงาน “แลกแบ่งปันพันธ์ข้าวแต่แรก (ข้าวพื้นเมือง)" มีผู้แทนหน่วยงานและเกษตรกรกว่า 200 คนร่วมงาน

การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งพันธ์ข้าวพื้นเมืองของชาวนาในภาคใต้ ให้เกิดการกระจาย อนุรักษ์ และพัฒนาพันธ์ข้าวไปยังชาวนาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำเสนอกองทุนเมล็ดเมล็ดพันธ์ข้าวพื้นเมืองของเครือข่ายชาวนาทางเลือกในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณอุบล อยู่หว้า ดร.บุญรัตน์ และคุณเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญยั่งยืนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและปาฐกถานำ

คุณเดชา ศิริภัทร ได้ระบุไว้ในช่วงหนึ่งของการปาฐกถาว่า ก่อนหน้านี้มีการยกย่อง สามอาชีพของคนไทยคือทหารเป็นรั้วของชาติ ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ และชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีการนับถือแม่โพสพ (ข้าว) มากว่า สองพันปี แต่ตอนนี้ชาวนาเหมือนเด็กกำพร้า เพราะแม่โพสพถูกฆ่าไปแล้ว เช่นเดียวกับแม่ธรณี แม่คงคา สำหรับพื้นที่ภาคใต้ข้าวเริ่มไม่พอกิน อันเนื่องมาจากเอาที่นาไปทำอย่างอื่น นาร้างมีมากขึ้น สิ่งที่น่าภูมิใจในพื้นที่ จ.พัทลุง คือมีข้าวสังหยด ซึ่งเป็นพื้นที่บ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประโยชน์ทางโภชนาการสูง หรือข้าวหนวยเขือซึ่งมีทั้งประโยชน์และวิตามินอีสูงก็อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา น่าเสียดายว่าในพื้นที่นี้มีการปลูกข้าวน้อยลง

นายประพัฒน์ จันทร์อักษร ตัวแทนเครือข่ายชาวนาทางเลือภาคใต้ ระบุว่า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ได้เริ่มทำงานด้านพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองในในช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ด้วยโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยและดำเนินกิจกรรมด้านพันธุกรรมพันธุ์ข้าวเรื่อยมา ทำให้มีการพัฒนาพันธ์ข้าวพื้นเมือง ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมการผลิตที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชาวนา กิจกรรมสำคัญได้แก่เช่นการจัดการเรื่องกองทุนพันธ์ข้าวช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ๆขาดแคลน การสร้างความตื่นตัวเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สายพันธ์ข้าวพื้นเมือง ส่งการรวมกลุ่มของชาวนา ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ

ในช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒ เครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรต่างๆมากขึ้นเช่นศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งทุกฝ่ายได้สนับสนุนการพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองอย่างจริงจัง มีการศึกษาดูงานแลเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ๔ ภาค นายสำเริง แซ่เจีย นักวิชาการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงระบุว่า ศูนย์วิจัยได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการทำนาข้าว ๑๐ สายพันธ์เป็นแปลงนารวมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงบนพื้นที่ ๑๐ ไร่ มีเป้าหมายเพื่อขยายพันธ์ข้าวพื้นเมืองสู่ชุมชนและแปลงนาของเกษตรกร เสมือน “กองทุนเมล็ดข้าวพื้นบ้านทางเลือกภาคใต้ ” รวมทั้งสนับสนุนการขยายผลไปสู่ชาวนาและกลุ่มองค์กรต่างๆในฤดูการเพาะปลูกของทุกๆปี

การจัดงานในครั้งนี้ กลุ่ม เครือข่ายที่ร่วมงาน ต่างก็ได้รับพันธ์ข้าวจากแปลงนารวมของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงรวม ๘ สายพันธ์คือ ข้าวช่อจังหวัด ข้าวเล็บนก ข้าวเข็มทอง ข้าวไข่มดริ้น ข้าวหอมจันทร์ ข้าวนางกลาย ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวตอก รวมกับพันธ์ข้าวที่กลุ่มต่างๆนำมาแบ่งปันกัน เช่นข้าวอุเด็นจากพัทลุง ข้าวนางพญาจากสงขลา ข้าวหนวยเขือจากนครศรีธรรมราชเป็นต้น

ผู้เข้าร่วมการสัมมนามีความหวังว่า ชาวนาจะต้องปรับทิศทางการทำนา ที่ไม่ทำให้วัวหาย ความหาย หรือคนหายไปจากพื้นที่ ข้าวพื้นเมืองจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้สังคมอยู่ได้ วัฒนธรรมอยู่ได้ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขอเพียงในแต่ละครอบครัวมีลูกหลานสักคนหนึ่งที่ยังทำนาข้าว มาช่วยกันผลิตเพื่อการบริโภค เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชาวนาในภาคใต้และประเทศไทย

โดยในช่วงท้ายได้มีพิธีทำขวัญข้าว บูชาแม่โพสพ และการประกาศปฎิญญาร่วมกัน ดังนี้


......................................................................................................................


ปฏิญญาชาวนาทางเลือกภาคใต้
“ฟื้นคืนข้าวพื้นบ้าน ปกปักษ์วิถีชาวนา”

พวกเรา ขบวนการชาวนาทางเลือกจากภาคใต้ ซึ่งมารวมตัวกัน ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บัดนี้พวกเราได้ตระหนักร่วมกันถึงปัญหาที่มาจากการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลักที่มุ่งเน้นเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินตรา ที่กลับมาส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อวิถีชีวิตและสังคมไทย ในด้านการเกษตรก็มุ่งเน้นแต่ความทันสมัย ต้องการผลผลิตต่อไร่สูง สนับสนุนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว จนเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางภาคเกษตรอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในส่วนของพันธุ์ข้าวก็มีการส่งเสริมให้ใช้พันธ์ข้าวปรับปรุงแทนพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่หลากหลาย เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี ขณะเดียวกันก็ทำให้ข้าวพันธุ์พื้นบ้านเริ่มสูญหายไป

ขบวนการชาวนาทางเลือกภาคใต้ ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพื้นบ้านที่สอดรับนิเวศที่หลากหลายและสอดคล้องกับวิถีชุมชน จนเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านภาคใต้ที่ผสมผสานกันไประหว่างการพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างกลไกรวมกลุ่มเพื่อหนุนเสริมพลังการเปลี่ยนแปลงและสร้างการยอมรับทั้งในระดับพื้นที่ไปจนถึงนโยบาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของชาวนาเป็นสำคัญ จากความคิดของการพึ่งพาภายนอกมาสู่การพึ่งตนเองระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม

วันนี้พวกเรามีข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ทางเลือก ทางรอดสำหรับไปให้พ้นชะตากรรมอันแลวร้าย คือการปรับเปลี่ยนสู่วิถีการพึ่งตนเอง ด้วนระบบการผลิตที่สมดุล ยั่งยืน ใช้พันธุกรรมท้องถิ่นและปัจจัยการผลิตภายในชุมชน เคารพต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อม บนฐานวิถีวัฒนธรรมชุมชนที่สืบทอดกันมาดังนั้นพวกเราขอประกาศว่า

1.)เกษตรกรต้องช่วยกันพลิกฟื้นวิถีอุดมการณ์ชาวนาภาคใต้ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และสร้างให้ศักดิ์ศรีชาวนาหวนกับคืนมา
2.)สังคมไทยต้องเป็นสังคมที่เคารพในวัฒนธรรมข้าว ตระหนักถึงคุณค่าของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านและชาวนารายย่อย รวมทั้งมีมาตรการในการปกป้องรักษาวิถีชุมชนชาวนาให้ดำรงอยู่สืบไป
3.)รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชนในการรักษาพันธุกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมถึงวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
4.)ต้องมีสวัสดิการให้กับชาวนารายย่อย โดยเฉพาะการให้มีกองทุนสำหรับการรักษาฐานทรัพยากร อาหารชุมชน และป้องกันการบุกรุกจากนายทุนและทุนข้ามชาติ
5.)ต้องปฏิเสธพืชจีเอ็มโอและมีมาตรการในการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด

วันนี้ เราจะหล่อหลอม รวมจิตใจ ผนึกกำลังความร่วมมือ ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสรรค์วิถีชีวิตของเกษตรกรที่สมดุลยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สร้างสังคมแห่งความสุข และสมานฉันท์ต่อไป

ขบวนการชาวนาทางเลือกภาคใต้
ประกาศ ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง
6 มิถุนายน 2552


โดย : อุดมศรี ศิริลักษณาพร http://www.codi.or.th/

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เตรียมจดทะเบียนสวัสดิการชุมชนรับนโยบายรัฐฯ

เตรียมจดทะเบียนสวัสดิการชุมชนรับนโยบายรัฐฯ คาดปี 53 ได้งบสมทบ

นายชบ ยอดแก้ว ปราชญ์ชาวบ้านด้านเศรษฐศาสตร์ชุมชน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุม ‘เตรียมความพร้อมผนึกกำลังสร้างสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น’ ซึ่งมีเครือข่ายขบวนชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมหารือเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมต่างสนับสนุนที่จะขับเคลื่อนการจัดตั้งสวัสดิการชุมชนด้วยวิธีสัจจะการออมทรัพย์ต่อไป


โดยจากนี้ไปกองทุนที่มีอยู่เดิมแล้วต้องจดทะเบียนรับรองกับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ก่อนให้จังหวัดรับทราบต่อไปเพื่อให้การทำงานมีความน่าเชื่อถือ เกิดเครือข่ายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แทนจากเดิมที่มีการตั้งกองทุนจริงแต่เป็นเพียงการรับรู้เฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีนี้จะมีชุมชนเข้าจดทะเบียนมากกว่า3,000แห่งทั่วประเทศและพัฒนายกระดับศักยภาพไปพร้อมกัน


นายชบ กล่าวด้วยว่า การเร่งจดทะเบียนกองทุนฯยังเป็นไปเพื่อรองรับนโยบายจากรัฐบาลที่กำลังจะประกาศสนับสนุนกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนได้เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ ซึ่งคาดกันว่าหากรัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอจะกำหนดงบประมาณอุดหนุนภายในปี53นี้ สำหรับในพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนด้วยวิธีสัจจะฯคงจะไปบังคับให้เข้าร่วมตามแนวทางทั้งหมดไม่ได้แต่จะสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านว่าการตั้งกองทุนด้วยวิธีดังกล่าวสามารถทำควบคู่กับกองทุนที่มีอยู่เดิมแล้วได้ ไม่จำเป็นต้องยุบรวมกันรวมถึงชี้ให้เห็นว่าวิธีนี้ใช้จำนวนเงินที่ไม่มากแต่ยั่งยืน


บทความที่เกี่ยวข้อง http://taiklang.blogspot.com/2009/06/blog-post_07.html


.
ขอบคุณข้อมูลจาก โต๊ะข่าวชุมชน สถาบันอิสรา

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ผู้ว่าเมืองคอน พร้อมถือธงนำ..เพื่อสานต่อโครงการความร่วมมือฯ เฟส 2

เครือข่ายความร่วมมือการพัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมศูนย์โอทอป เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนการพัฒนาสังคมและสุขภาวะจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดงานพัฒนาที่สำคัญ จากโครงการช่วงแรก จากฐานงานเดิมคือการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน-ตำบล การยกระดับแผนแม่บทระดับตำบลเป็นแผนระดับอำเภอ และระดับจังหวัดเต็มทั้งจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำแผนงบประมาณของจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งการจัดการระบบสารสนเทศให้มีความเชื่อมโยงเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารระดับอำเภอและจังหวัด โดยงานนี้ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการเกือบทุกหน่วยงานในจังหวัด และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานปกครองจังหวัดฯ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฯ ภายใต้กองทุนสวัสดิการสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน (พอช.) ซึ่งสนับสนุนงานพัฒนาเชิงประเด็น และสนับสนุนงบประมาณการเชื่อมโยงขบวนในช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการเฉียดสิบล้านบาท

ทั้งนี้โครงการความร่วมมือ ฯ มีจุดแข็งที่สำคัญคือ มีความหลากหลายของภาคีส่วนต่างๆ มีโครงสร้างคณะทำงานหลายระดับ มีการเชื่อมโยงกับกิจกรรมหลากหลาย มีทีมยุทธศาสตร์ที่มีประสบการณ์ และมีการพบปะกันสม่ำเสมอ มีการปรับกลยุทธ์การทำงาน มีศูนย์ประสานงานของเครือข่ายองค์กรชุมชน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่พอสมควร ซึ่งทางด้านพื้นที่ก็มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง ทั้งด้านข้อมูล และกิจกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้อมูลและใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือ ใช้โอกาสที่สำคัญของโครงการความร่วมมือ ฯ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายจังหวัดและรัฐบาล เป็นตัวประสาน การใช้ฐานทุนเดิมของพื้นที่ในการเคลื่อนงาน ได้แก่ ข้อมูล/ความรู้คนทำงาน และมีพื้นที่ซึ่งดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนราชการโดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาชุมชนใช้คณะทำงานชุดเดียวกับโครงการความร่วมมือ ฯ และเน้นการจัดทำแผนแม่บทชุมชน นอกจากนั้นภาคีการพัฒนาได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงงานกับองค์กรภายนอกได้ ดีในระดับหนึ่ง


ทว่าเมื่อวิเคราะห์จุดอ่อนการดำเนินโครงการความร่วมมือ ฯ ในระยะที่ 1 ยังพบว่า ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น การสื่อสารกับพื้นที่ ยังมีความถี่น้อย บางพื้นที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเชื่อมโยงและบูรณาการกับส่วนราชการ คณะทำงานโครงการในบางพื้นที่มีข้อจำกัดด้านการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานในระยะหลังของโครงการทำให้พื้นที่เกิดความสับสน คณะทำงานมีความเข้าใจในยุทธศาสตร์ไม่เท่าเทียม มีข้อจำกัดในการติดตามงานในระยะเวลาที่เหมาะสม การไม่ไห้ความสำคัญกับการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายครัวเรือนของคนในชุมชน แบบฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลมีความซับซ้อน คนทำงานเต็มเวลามีเพียง 1 คน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการประสานงานและการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องนำข้อด้อยเหล่านี้มาปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงานในช่วงต่อไป



สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 นั้นเป็นการนำแผนจากระยะแรกสู่การปฏิบัติ เพื่อนำร่อง เป็นหลัก


ส่วนบรรยากาศการประชุม นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาโครงการ เป็นประธานในที่ประชุม โดยนายประยงค์ หนูบุญคง ประธานกรรมการบริหารโครงการ(ร่วม) ได้นำเสนอความเป็นมาและผลการดำเนินงาน ในระยะที่ 1 ให้ที่ประชุมรับทราบ สำหรับผลที่เกิดในภาพรวมได้แก่ 1)เกิดกลไกคณะทำงาน 4 ระดับที่มีองค์ประกอบของบุคคลหลากหลาย ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะทำงานระดับจังหวัด คณะทำงานระดับโซนพื้นที่ และคณะทำงานระดับตำบล 2) เกิดแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน 1550 หมู่บ้าน มีการปรับปรุงแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้านจำนวน 1000 หมู่บ้าน และระดับตำบล 132 ตำบล 3) เกิดยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การบริหารจัดการและเชื่อมโยง 2. ความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน 3.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4. วัฒนธรรมประเพณี 5. เศรษฐกิจ 4) เกิดการเชื่อมประสานแผนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จำนวน 64 พื้นที่ 1037 โครงการ งบประมาณ 257 ล้านบาท 5) มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ อบต.จำนวน 29 พื้นที่ 6) มีความพร้อมเสนอโครงการที่เกินศักยภาพไปขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกจำนวน 54 ตำบล ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจำนวน 1.6 ล้านบาท และงบประมาณภายใต้นโยบายภาครัฐ จำนวน 165 ตำบล 7) เกิดความร่วมมือระดับพื้นที่ในการพัฒนาให้เป็นไปตามแผนแม่บทชุมชน 8.)ชุมชนสามารถปฏิบัติการได้ตามแผนแม่บทชุมชน ซึ่งน่าสนใจว่ามีบทเรียนสำคัญของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าผู้ปฏิบัติงานโครงการยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่ได้ทำความเข้าใจกับภาคีพัฒนา รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงยังให้ความสำคัญกับโครงการน้อย ซึ่งมีข้อเสนอว่าต้องประชาสัมพันธ์และสร้างความกับทุกภาคส่วน รวมทั้งการประสานกับทางผู้บริหารในจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น


นายคณพัฒน์ ทองคำ ประธานกรรมการ(ร่วม)อีกท่านหนึ่ง ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายนำร่อง 60 ตำบล โดยใช้พื้นที่ที่จัดสวัสดิการชุมชนซึ่งดำเนินงานร่วมกับ พอช. ด้านเนื้อหาในการดำเนินงาน ประกอบด้วย
1.การพัฒนาศักยภาพ (สร้างกระบวนการเรียนรู้ประเด็นต่างๆ , สร้างโอกาสการพัฒนาตนเอง, สร้างกลุ่มองค์กรต้นแบบ ,สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ,การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนกระบวนการพัฒนา และการจัดการความรู้ )
2.ความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน (การพัฒนาคนและผู้นำ,พัฒนาศูนย์เรียนรู้,การจัดระบบสวัสดิการชุมชน, การส่งเสริมการเมืองภาคชุมชน, ส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว , การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด , ส่งเสริมองค์กรการเงินชุมชน ,และให้บทบาทเด็ก สตรี เยาวชน)
3.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การส่งสริมพลังงานทดแทน , การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชุมชน ,การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ )
4.วัฒนธรรมประเพณี (ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณี ,การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม)
5.เศรษฐกิจ (อาชีพหลัก ,พัฒนาอาชีพเสริม ,ลดรายจ่าย ส่งเสริมการออม)

ด้านกลไกและวิธีการดำเนินงาน ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 กลุ่มอำเภอ โดยมีผู้ประสานงานในทุกกลุ่มอำเภอ คอยจัดเก็บข้อมูล และประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน ผู้บริหารท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายสุชาติ สุวรรณกาศ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “นับเป็นความโชคดีของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีทีมงานจากหลากหลายภาคส่วนมาผนึกกำลังกันทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยตนเห็นว่าการทำงานหลังจากนี้อาจต้องกลับไปดูเรื่องกระบวนการทำแผนชุมชนระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลกันใหม่ในพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งหมายถึงกลไกผู้รับผิดชอบในระดับอำเภอด้วย ซึ่งทางสำนักปลัดฯ มีแผนที่จะสร้างความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของปลัดอำเภอ ปลัดเทศบาลและปลัด อบต.ที่รับผิดชอบทุกพื้นที่ ในการดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งตนได้สั่งการไปแล้ว”
ด้านนายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ กล่าวว่า “อยากฝากให้ทีมดำเนินงานโครงการนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน และการนำพลังงานในชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นให้กับผู้บริหารท้องถิ่นได้ตระหนักด้วย”


นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ตนเพิ่งมารับตำแหน่งที่นครศรีฯ เพียง 7 เดือน ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้มากนัก แต่อยากให้มั่นใจว่าตนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการดำเนินงานเพื่อบูรณาการความร่วมมือ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ตนพร้อมที่จะถือธงนำ ถ้าเป็นได้ ตนอยากให้ขยายเต็มพื้นที่ หรือนำร่องซัก 100 พื้นที่ แต่เบื้องต้นก็เห็นด้วยที่จะทำให้ชัดๆเด่น นำร่องก่อนตามแผนที่เสนอคือ 60 ตำบล และพร้อมที่จะลงเรือลำเดียวกัน”
นายภานุ ยังเสนอต่ออีกว่า ฐานข้อมูลที่จัดเก็บและมีรูปธรรมที่น่าสนใจ ควรจะจัดทำเป็นวีดิทัศน์เพื่อมานำเสนอความสัก 10-12 นาที เพื่อนำเสนอกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดีเหมือนการดำเนินงานในช่วงแรก


โดยโครงการนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 18 เดือน มีกรรมการบริหารโครงการ จำนวน 51 คนจากตัวแทนชุมชน ตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนภาคีสนับสนุน เช่น พอช. สกว. เป็นต้น


ด้านการบูรณาการงบประมาณ ในระยะที่ 2
ที่ทำการปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช 2,950,000 บาท
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 9,301,000 บาท (ทุกประเด็นงานปี 51-52)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 4,347,000 บาท
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช 1,460,000 บาท
องค์การบริหารส่วนตำบลเป้าหมาย 9,120,000 บาท
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,000,000 บาท
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 1,600,000 บาท
กองทุนสวัสดิการสังคม 4,200,000 บาท
รวมงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน และสนับสนุนพื้นที่ในช่วงการดำเนินโครงการ 35,978,000 บาท

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมิถุนายนนี้ มีดังนี้
- การสัมมนาคณะทำงานระดับตำบล
- จัดเก็บข้อมูลอื่นที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวไปหนุนการเรียนรู้และวางแผนการตัดสินใจของชุมชน
- ขับเคลื่อนงานตามประเด็นปัญหาหลักที่ชุมชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
- พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อหนุนให้ อปท. สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดเก็บมาแล้วได้อย่างเป็นระบบ
- ติดตามและหนุนเสริมการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการช่วยให้ชุมชนมีวิธีคิด มุมมอง และข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการโครงการ/จัดการพื้นที่ของตนเองได้ โดยชุมชนอาจเลือกโครงการในแผนชุมชน จำนวนไม่เกิน 1-2 โครงการต่อตำบล ที่จะให้ทีมจังหวัดเข้าไปหนุนเสริม
- วิเคราะห์ศักยภาพตนเองของพื้นที่เป้าหมาย (หลังการดำเนินงาน)
- การสื่อสารสาธารณะ
- จัดสัมมนาสรุปบทเรียนการทำงาน 3 เดือน

.

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ฟังครู(ชบ) สอนวิธีทำกองทุนชุมชนของแท้ ในกระแสเงินทุนรัฐท่วมหมู่บ้าน

ท่ามกลางการจัดตั้งกองทุนที่หลากหลายตามนโยบายพัฒนาจากภาครัฐ มีใครรู้บ้างว่ากองทุนรูปแบบใดสร้างผลดีกับ'ชุมชน'มากที่สุด
มองแบบสำเร็จรูปคำตอบที่ได้คงไม่พ้นชื่อกองทุนที่มากความนิยม มีเงินหมุนเวียนจำนวนหลายหลัก กู้ง่าย ใช้คล่อง อย่างที่คนบางกลุ่มชอบ

ขณะที่หลายคนอาจส่ายหน้า ค่าที่ว่าเปล่าประโยชน์หากจะตอบ ถึงอย่างไรเราควรให้ความสำคัญที่ผลบวกกับชุมชนเท่านั้นเป็นพอ ไม่ต้องยึดติดกับกองทุนใดให้มากความ

แต่สำหรับ‘ครูชบ’ (ชบ ยอดแก้ว) ปราชญ์ชาวบ้าน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหมู่ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน ไม่ได้มองเพียงมิติของ’ผล’ที่ต้องเกิดกับสมาชิกเท่านั้น
นิยามกองทุนแบบครูชบ-ออมเงิน ออมสัจจะ
นักเศรษฐศาสตร์ชุมชนรายนี้ยังให้ความสำคัญทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่มาของเงิน การบริหารควบคุม จนถึงขั้นตอนการใช้ เพื่อให้แน่ใจว่ากองทุนเหล่านั้นเป็นของชุมชนจริงๆ
“กองทุนที่ผมเสนอเกิดจากการออมของสมาชิกโดยลดจากรายจ่ายประจำวัน วันละ1บาทให้มารวมกัน จากในชุมชนเป็นตำบล จากตำบลเป็นจังหวัดจนเกิดเครือข่ายที่มั่นคง มีคณะกรรมการที่แต่ละชุมชนส่งตัวแทนมาเป็นทอดๆ เพื่อกำหนดโครงสร้างการบริหารและจดทะเบียนเป็นสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนในแต่ละจังหวัด” ครูชบอธิบายกว้างๆ
เขาอธิบายอีกว่า กองทุนที่ได้จากการ ออมในแต่ละปีจะแบ่งกองทุนออกเป็น2ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการปันผลเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป แต่เปลี่ยนวิธีคิดที่ไม่ยึดจำนวนเงินเป็นตัวตั้ง ยึดอัตราส่วนจากวินัยในการออมว่าใครมีความสม่ำเสมอแทน ส่วนอีกครึ่งจะนำไปจ่ายเป็นสวัสดิการชุมชนอีก9อย่าง ที่เรียกว่าออมทรัพย์แบบพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ให้สวัสดิการตั้งแต่การเกิดจนเสียชีวิต เป็นสวัสดิการของชาวบ้านเช่นเดียวกับสวัสดิการของข้าราชการ
“เราไม่เน้นที่จำนวนเงินที่ฝากมากได้มาก มิเช่นนั้นจะคล้ายกับระบบทุน เราต้องการเพียงวันละบาทเท่านั้น สิ่งสำคัญคือสัจจะ ความซื่อสัตย์ เราใช้เงินเป็นเพียงเครื่องมือพัฒนาคนให้มีคุณธรรม ก่อให้เกิดความเท่าเทียมทั้งคนจนและรวย”
แบ่งเกรดประเมินผล ค้นทุนชุมชน
ครูชบ ให้ข้อมูลว่า จนถึงปัจจุบันมีกว่า3,000 ชุมชนทั่วประเทศ ที่เห็นความสำคัญและเลือกจะเดินตามแนวทางนี้ เช่นเดียวกับยอดคงเหลืออีกราว4,000 แห่งที่ต้องผลักดันต่อไป
“ที่ยังไม่ทำเขาอาจยังไม่รู้หรือไม่คิดว่าจะมีประโยชน์ เราไปบังคับไม่ได้ ส่วนในจำนวนที่ทำอยู่แล้วนั้นมันก็ทั้งดีและไม่ดี หากเทียบเป็นเกรดคงมีทั้งเอ บี และซีตามลำดับ ซึ่งมาตรฐานชี้วัดมีหลายประการ ทั้งการมีจำนวนสมาชิกและการจัดโครงสร้างบริหารที่ชัดเจน เช่น กลุ่มเอที่ดีที่สุดนั้นจะต้องมีสมาชิกมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด มีคณะกรรมการที่สามารถแจงแจงยอดเงินที่แน่นอน ยกตัวอย่างจ.สงขลาบ้านผม มีที่ทำแล้วทั้งหมด131ราย จาก140ชุมชน มีเงินหมุนเวียนประมาณ52ล้าน และได้จัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียมแก่ชาวบ้านในทุกระดับหรือถ้าเกรดบีอาจจะเป็นพื้นที่ที่มีการออมดีแล้วแต่ยังขาดการเชื่อมโยงที่เป็นเครือข่าย ส่วนเกรดซีอาจจะมีการรวมกลุ่มกันจริง แต่ยังไม่เข้าใจว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินที่นำมารวมกันนั้นคือเงินที่หักจากรายจ่ายในแต่ละวัน เช่นวันหนึ่งคุณใช้เงิน50บาท ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่สิ้นเปลืองเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง1บาทให้เหลือ49บาทหรือมากกว่านั้น”
“ที่มาของแนวคิดนี้เกิดจากความต้องการให้ชุมชนเห็นความสำคัญของทุนต่างๆที่มีอยู่เดิมในชุมชน ทั้งทุนที่เป็นคน เงินตรา วัฒนธรรม ธรรมชาติ แรงงาน ภูมิปัญญา และเวลา ที่มีความสำคัญเท่าๆกัน แต่เมื่อทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับเงินเป็นอย่างแรก จึงเห็นว่าต้องใช้ทุนประเภทนี้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างคน ให้เกิดคุณธรรม เกิดความซื่อสัตย์ รู้จักข่มใจตนเอง อดทน อดกลั้น อดออม รู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนรวม”ครูชบพูดเน้นถึงหัวใจหลัก
ครูชบ ให้ความเห็นว่า กองทุนดังกล่าวกับกองทุนชุมชนที่รัฐจัดสรรให้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องด้วยกองทุนที่รัฐมอบให้นั้นมีเพื่อใช้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กำหนดตามนโยบายเท่านั้น แต่มิได้มีการพัฒนาศักยภาพของ'คน'ที่เป็นทุนที่สำคัญที่สุดของชุมชน ทั้งนี้กองทุนจากผู้มีอำนาจหาใช่กองทุนชุมชนที่เกิดจากชุมชนอย่างแท้จริง แต่เมื่อชุมชนยังได้ประโยชน์กับโครงการของรัฐ มิจำเป็นต้องปฏิเสธ

ก้าวต่อไป มุ่งเพิ่มเกรด ส่งใจช่วย(ร่าง)สวัสดิการ
หากกับกองทุนในรูปแบบที่ปั้นมากับมือนี้ เขามองว่า ต้องพัฒนายกระดับให้ชุมชนในแต่ละกลุ่มเป็นเกรดเอทั้งหมดให้ได้ พร้อมไปกับการเสนอให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและสมทบในอัตราส่วน1ต่อ1 เพื่อให้กองทุนนี้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ’ร่างโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน’ ที่คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ครูชบกล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนเพราะนี่คือกองทุนที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชนอย่างแท้จริง ใช้จำนวนเงินไม่มากและเป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องการ
อดีตสนช.รายนี้ยังมองว่า เมื่อแนวทางดังกล่าวเกิดเป็นกฎหมายจริง จะเป็นชนวนที่ให้พื้นที่ที่ยังไม่มีการก่อตั้งกองทุนฯได้รับแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกันเมื่อได้กำหนดเป็นนโยบายจากรัฐบาลกลางแล้ว การให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนฯจะทำได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เกิดชุมชนที่เดินตามแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้น
“นี่ไม่ใช่การเพิ่มภาระให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลาง ที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้รวมถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ได้สนับสนุนงบประมาณอุดหนุนบ้างอยู่แล้ว แต่ที่เป็นอยู่ยังกระจัดกระจายตามวาระ เมื่อเป็นกฎหมายทุกอย่างจะถูกจัดเป็นระบบมากขึ้น”ครูชบกล่าว
และถึงแม้ร่างดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการถกเถียงเพิ่มเติมประเด็นสำคัญจากผู้เกี่ยวข้องก่อนส่งเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน2เดือนต่อจากนี้ แต่ผู้สันทัดกรณีหลายคนต่างมองว่า นอกจากจะมีข่าวดีที่ร่างฯจะได้ลืมตาดูโลกอย่างแน่นอนแล้ว เงินสมทบก้อนแรกที่ยังไม่ทราบจำนวนจากรัฐมีแนวโน้มจะได้มากกว่าที่ขอไป กล่าวคือนอกจากจะสมทบในอัตราส่วน1ต่อ1ต่อ1 ระหว่าง ชุมชน-รัฐบาล-อปท.ให้ตามจำนวนเงินที่มีอยู่เดิมแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลอาจให้มากเกินกว่าที่ขอไปด้วยซ้ำ
โดยไม่ต้องอธิบายนี่คือข่าวดีอย่างแน่นอน ถึงกระนั้นครูชบ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามชาวบ้านต้องเข้าใจหลักที่แท้จริงของกองทุนสัจจะออมทรัพย์จริงๆก่อน มิเช่นนั้นหากปฏิบัติโดยไม่รู้จริงจะเสี่ยงต่อความล้มเหลว อาจทำให้กองทุนชุมชนแบบแท้ๆเช่นนี้ต้องกลายเป็นอื่น กองทุนที่เป็นของชุมชนจริงๆตลอดทั้งกระบวนการจะหมดไป คงเหลือแต่งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาให้
ถึงเวลานั้น ความภูมิใจอยู่ที่ไหนใครรู้บ้าง
.
จาก // โต๊ะข่าวชุมชน สถาบันอิสรา

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิเคราะห์ปัญหา-กำหนดเป้าหมาย , ตัวชี้วัด เพื่อพัฒนาชุมชน


“การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ต้องวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม เพื่อกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดรูปธรรมความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”

กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา หลายสิบปี อาจจะกล่าวได้ว่า ชุมชนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ขาดการกำหนดเป้าหมาย ความไฝ่ฝันที่จะไปถึง แม้ว่า หลายชุมชนท้องถิ่น ในขณะนี้ ได้พยายามที่จะใช้กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน เป็นการค้นหาตนเอง และกำหนดทางออกร่วมกันในชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชน ท้องถิ่นส่วนใหญ่ ยังให้ความสนใจอยู่กับประเด็นปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) และทางออกของปัญหา (มรรค) มากกว่าที่จะมากำหนดเป้าหมาย สิ่งที่จะไปให้ถึง ให้สำเร็จ (นิโรธ) ซึ่งมีชุมชนส่วนน้อยเท่านั้นที่กำหนดเรื่องนี้


เมื่อเปรียบเทียบกับหลักความจริงในพระพุทธศาสนา คือหลักอริยสัจ ที่พูดถึงหลักการแก้ไขปัญหาที่เป็นความจริง 4 ประการ สิ่งที่เกิดกับชุมชนท้องถิ่นในขณะนี้ เรียกได้ว่า ชุมชนดำเนินตามหลักอริยสัจที่ยังไม่ครบองค์ประกอบ เพราะขาดการกำหนดเป้าหมาย ที่จะไปให้ถึง


ดังนั้น เมื่อขาดเป้าหมาย ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ก็คือ ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ จะบอกไม่ได้ว่าตนเอง ทำอะไรไปเพื่ออะไร กิจกรรมที่ทำก็จะไม่มีทิศทาง เข้าลักษณะ ทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายชุมชนท้องถิ่น มีเงินก็ทำ ไม่มีเงิน ก็ไม่ทำ หรือทำให้กิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์ก็เลิกกันไป ไม่สามารถจะเทียบวัดความสำเร็จได้ ว่าตนเองเดินทางมาถึงไหน และจะไปสู่เป้าหมายใด หรือไม่ก็เดินไปคนละทิศละทาง ตามความสนใจของกลุ่ม องค์กรต่างๆ นอกจากนี้ การคิดถึงเป้าหมาย หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น มักมาจากคนไม่กี่คน ที่มองเห็นโอกาส แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มีการถ่ายทอดหรือได้ทำให้เกิดเป็นความคาดหวังด้วยกันกับคนในชุมชนท้องถิ่น ทำให้ความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงตกอยู่กับผู้นำชุมชน ไม่กี่คน ขาดพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ ในขณะที่หน่วยงานภายนอกหรือคนอื่นๆที่จะเข้ามาเสริมช่วย ก็ไม่สามารถจะเข้ามาเสริมช่วยให้ตรงจุดที่ชาวบ้านต้องการ ดังนั้น การพัฒนาที่ผ่านมา จึงเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสียมากต่อมาก เพราะองค์กรเหล่านั้น เข้าไม่ถึงสิ่งที่ชุมชนต้องการจริงๆ

ในส่วนของภาครัฐนั้น ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะศึกษาและสร้างต้นแบบการพัฒนา เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ได้เห็นและยึดเป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดมาตรฐานชุมชน ในมิติต่างๆ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความดีความชอบ หรือสนับสนุน อย่างไรก็ดี เกณฑ์ต่างๆเหล่านั้น ที่กำหนดกันมา ก็ไม่สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จได้ทุกท้องถิ่น เพราะปัจจัยต่างๆ และบริบทของชุมชน มีความหลากหลายแตกต่างกันไปมาก ทั้งด้านสภาพท้องถิ่น ภาษา วัฒนธรรม และค่านิยมทางสังคม นอกจากนี้ การใช้เกณฑ์กลาง ที่กำหนดจากภายนอก ไม่ได้ไปทำให้ชุมชนท้องถิ่น เกิดความรู้สึกที่จะรับผิดชอบผลในระยะยาว เข้าลักษณะคนทำมาไม่ได้ใช้ ส่วนคนใช้ไม่ได้ทำ

อย่างไรก็ดี ยังมีความสนใจของชุมชน ในหลายพื้นที่ ที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกันเองจากภายใน โดยการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาตนเอง ซึ่งบางแห่งเรียกตัวชี้วัดความสุข บางแห่งเรียกตัวชี้วัดการพัฒนา โดยได้คิดและจัดทำกันเองบ้าง อาศัยนักพัฒนาหรือหน่วยงานภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาจัดทำบ้าง สิ่งเหล่านี้ ได้สร้างให้ชุมชนท้องถิ่น เกิดผลดีตามมา คือ เป็นชุมชนที่มีกิจกรรมการพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย เกิดการบูรณาการกิจกรรมและแผนงานในชุมชน สามารถประสานให้ภาคส่วน หน่วยต่างๆ เข้ามาสนับสนุนได้ตรงกับความต้องกันมากขึ้น และบริหารทรัพยากรที่ลงมาสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น ตำบลลำสินธุ์ จังหวัดพัทลุง ตำบลควนรู จังหวัดสงขลา ตำบลปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งตำบลเหล่านี้ ได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาด้วยตนเอง

การจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับชุมชน ท้องถิ่น เป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชน ที่จะสร้างให้ชุมชนสามารถจะเป็นแกนหลักในการพัฒนาได้ ตามแนวทางการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับสภาองค์กรชุมชน ในการสร้างเสริมบทบาท หน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับในท้องถิ่น ซึ่งถ้าประเทศไทยเราสร้างให้ชุมชนรู้เครื่องมือนี้ ก็จะช่วยให้ทุกท้องถิ่นมีบทบาทในการกำหนดการพัฒนาอย่างแท้จริง และจะเกิดการบูรณาการแผนงานจากหน่วยงานไปโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแนวคิดนี้ ได้ขึ้นลูกก่อร่างแล้วในบางพื้นที่ และมีกิจกรรมขยายตัวไปในทางที่ดีดังที่กล่าวมาข้างต้น สภาองค์กรชุมชนตำบลหลายตำบลในจังหวัดสงขลา ก็ได้เกิดความสนใจในแนวทางนี้เพิ่มขึ้น และมีแผนการจัดกิจกรรมสัมมนาแกนนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาตำบลขึ้น สร้างให้เครื่องมือนี้ เป็นที่รู้จักในวงการของสภาองค์กรชุมชนมากขึ้น ประจวบกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลายหน่วยงาน ของภาครัฐ ประสบปัญหาขาดแคลนด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมชุมชน จึงต้องแสวงหาเครื่องมือในการทำงานใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้น การจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับชุมชน ท้องถิ่น จึงเป็นสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสถาบันฯ ในปี 2552 นี้ ได้มีเป้าหมายในการสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน ให้มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นเกณฑ์สำคัญในการสนับสนุนการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

โดย : ออกัส



.

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โครงการขนาดยักษ์ บุกเมืองคอน 3 อำเภอชายฝั่งทะเล

จับตาโครงการขนาดใหญ่ ในนครศรีธรรมราช

เมืองคอน ส่อเค้าวุ่น เจอมรสุมแผนพัฒนาภาคใต้ เซาเทิร์นซีบอร์ด หรือ โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ปังธง 3 อำเภอ คือ อ.ขนอม สิชล และ ท่าศาลา เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมทั้งแหล่งน้ำดิบ และติดชายฝั่งทะเล ประกอบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เกิดปัญหามลพิษ จนยากที่จะขยายตัวได้อีก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไม่หวั่นผลกระทบต้องสร้างให้ได้ ภายในปี 2560

อันที่จริงโครงการนี้ มีการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2518 เรื่อยมา แต่มีปัญหาบางประการทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง ในที่สุดยุครัฐบาลที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร มีการรื้อฟื้นขนานใหญ่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกรัฐบาลต่างพุ่งเป้าให้โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจ็ค ของการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศและชายฝั่งทะเลภาคใต้

ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สศช.และ กนอ. จับมือเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ผลการศึกษาสุดท้ายระบุชัด คัดเลือก 3 พื้นที่ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ โดย ทางเลือกที่ 1 ใน ต.สิชล ต.ทุ่งปรัง อำเภอสิชลพื้นที่ 20,000 ไร่ ทางเลือกที่ 2 ต.กลาย ต.ตลิ่งชัน อ.ท่าศาลา พื้นที่ 19,000 ไร่ และพื้นที่ อ.นาบอน เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร สำหรับพื้นที่ อ.นาบอน ได้รับการขานรับจากพื้นที่พอสมควรเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตร

จากการเข้ามาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี่เอง ทำให้เกิดโครงการใหญ่ๆที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพื้นที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่าเรืออุตสาหกรรม เขื่อน การสำรวจขุดเจาะ และตั้งแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทย ไม่น้อยกว่า 3,000 หลุม และใกล้ฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น

รัฐบาลขานรับ ลุยนโยบายและงบประมาณ

จากการที่ กนอ. ได้ลงมือปฏิบัติโดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินงานทั้งการศึกษาและการทำงานในระดับพื้นที่ ตามแผนงานดำเนินการไว้ คือ พ.ศ. 2551 จะศึกษาความเป็นไปได้โดยเลือกพื้นที่เหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น พ.ศ.2552 - 2553 จะศึกษา อีไอเอ ประชาพิจารณ์ พ.ศ.2554 จะออกแบบรายละเอียด พ.ศ. 2555-2559เริ่มก่อสร้าง เมื่อถึงปี 2560 จะแล้วเสร็จทั้งหมด และโครงการนี้จะเดินเครื่องเต็มพิกัด จาก พ.ศ.2560 - 2590 เป็นต้นไป

โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ แม้ผ่านมาหลายปียังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่คำแถลงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ได้บรรจุไว้ในนโยบายข้อ 4.22.6 ว่า รัฐบาลนี้จะ "...จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้วยอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้..."

ล่าสุดเมื่อ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาให้ข่าวอย่างชัดเจนผ่านสื่อหลายฉบับว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังมอบนโยบายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.เศรษฐกิจพิจารณาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ วงเงินลงทุนกว่า 1แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ. ท่าศาลา อ.สิชล และ อ. นาบอน จ.นครศรีธรรมราช แบ่งเป็นพัฒนาพื้นที่และท่าเรือ 2 - 3 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการสร้างถนน ไฟฟ้า รถไฟ ประปา และสาธารณูปโภคอื่น เนื่องจากมีความสำคัญต่อภาคการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ทั้งนี้ จะหารือกับนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ภายใน 2 สัปดาห์..."

โครงการขนาดยักษ์ทุ่มเงินศึกษา รุกหนักในพื้นที่เมืองคอน

จากการที่ กนอ. ทุ่มเงิน 15 ล้านบาท ว่าจ้างทีมที่ปรึกษาให้มาดำเนินการในพื้นที่ โดยนายอเนก นาคะบุตร เปิดเผยในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ ศาลาประชาคมอำเภอสิชล เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมาว่า "กนอ.ได้แบ่งงบประมาณศึกษาความเป็นได้ 2 ส่วน คือ 2 ล้านบาท ให้ตนทำโครงการเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก ในพื้นที่ 13 ตำบล เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้น และ 13 ล้านบาทให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมแนจเมนต์ จำกัด ศึกษาทางด้านวิศวกรรม พื้นที่ และการลงทุน"

ผลของการศึกษานอกจากพื้นที่รองรับนิคมอุตสากกรรมปิโตเคมีแล้ว ยังระบุที่มาของแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลาย เขื่อนคลองท่าทน นอกจากนี้การศึกษาของบริษัทที่ปรึกษายังได้กล่าวถึงแหล่งน้ำอื่น เช่น อ่างเก็บน้ำคลองกระแดะ อ่างเก็บน้ำคลองลาไม อ่างเก็บน้ำห้วยปากหมาก รวมทั้งการจัดทำระบบท่อส่งน้ำจากแม่น้ำ พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย

สัญญาณอันตราย ! ไฟฟ้านิวเคลียร์ ผุดรองรับนิคมอุตสาหกรรม

ด้วยความจำเป็นด้านพลังงาน ทำให้กระทรวงพลังงานจึงได้มีแนวคิดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 4,000 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเข้าระบบในปี 2563 สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดพบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในหลายพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีสภาพพื้นที่เหมาะที่จะตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมีทำเลที่เหมาะสมอยู่ใกล้ทะเล และจะมีนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งการเตรียมงานขั้นตอนต่างๆ นั้นจะต้องใช้ระยะเวลา 6 ปี และทำการก่อสร้างอีก 7 ปี ซึ่งเป็นได้สูงว่าสอดรับช่วงเวลาการแล้วเสร็จของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมพอดี มีการดำเนินการสำรวจขุดเจาะในพื้นที่ 3 อำเภอ ชายฝั่งทะเล คือ ขนอม สิชล ท่าศาลา รวม 5 จุด ซึ่งในแต่ละจุดจะขุดเจาะเป็นหลุมเท่ากับบ่อน้ำบาดาล ลึก ๕๐ มตร โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 7 -10 วันต่อหลุม โดยมี พลอากาศเอก พิเนต ศุกรวรรณ เป็นหัวหน้าคณะทำงานสำรวจฯ และประชาสัมพันธ์ให้พื้นที่รับทราบ แต่ทั้งนี้การรับทราบข่าวของพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรรม

เชฟรอน ทุนข้ามชาติมาลงที่เมืองคอน กุญแจสำคัญในการเปิดประตูเมืองอุตสาหกรรม

เชฟรอนเป็นบริษัททางพลังงานที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมือง ซาน รามอน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา มีการดำเนินงานในประเทศต่างกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมด้านพลังงานครบวงจร แต่แต่สำรวจและผลิต กลั่น การตลาด ขนส่ง เคมีภัณฑ์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้า เมื่อสิงหาคม 2548 ผนวกกิจการของยูโนแคลทำให้เชฟรอนผงาดเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานระดับโลกอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน เชฟรอนเตรียมย้ายฐานปฏิบัติการ จากสงขลา และชลบุรี ปักหลักในเมืองคอน 2 พื้นที่ คือ ฐานปฏิบัติการขนส่งทางทะเล บนเนื้อที่ 300 ไร่ ของเอกชน ที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา และ ฐานขนส่งทางอากาศ โดยเช่าพื้นที่ของสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเครื่องบิน 30 เที่ยวต่อวัน หากนับขึ้น-ลง 60 เที่ยว และจะบินปกติในช่วงกลางวัน เฉลี่ย 10 นาทีต่อครั้ง

ถามว่าทำไมต้องมีทั้งท่าเรือ และเครื่องบิน เนื่องจากเชฟรอนเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของไทย มีแท่นผลิตปิโตรเลียมกว่า 180 แท่น (ข้อมูลเบื้องต้น) และใช้ก๊าซผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 1 ใน 3 ของความต้องการพลังงานทั้งหมดในประเทศ ปัจจุบันเชฟรอนมีแปลงสัมปทานคลอบคลุมพื้นที่กว่า 36,000 ตารางกิโลเมตร ในอ่าวไทย และปริมาณการผลิตมาจากพื้นที่ปิโตรเลียม 20 แห่ง เช่น เอราวัณ ปลาทอง โกมินทร์ มะลิวัลย์ ฯลฯ

ดังนั้นทุนข้ามชาติอย่างเชฟรอน จึงมองประเทศไทยเป็นแค่เมืองขึ้นทางด้านธุรกิจพลังงาน ในเวลาอันใกล้นี้ เชฟรอนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเปิดประตูเมืองอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะ เชฟรอนทุ่มงบประมาณมหาศาลด้านประชาสัมพันธ์ และงบประมาณพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวก แต่ปิดบังเรื่องธุรกิจพลังงานไว้เบื้องหลัง รวมทั้ง การเกิดนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย ดังนั้นทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องหัก กุญแจดอกสำคัญทิ้งเสีย และเร่งคืนประโยชน์ทรัพยากรทั้งหมดแก่ประเทศไทย


วงจรนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช

หากนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้นึกว่า เหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือใหญ่กว่าด้วยซ้ำ แล้วรวมกับ อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่อก๊าซไทย-มาเลย์ จะนะ จังหวัดสงขลา เพราะนี่ คือ อุตสาหกรรมยักษ์กินเมืองอย่างแท้จริง และบางส่วนเกิดขึ้นแล้ว กำลังจะเกิดขึ้น แต่หากโครงการนี้เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน จะเกิดอะไรขึ้นกับคนนครฯ.....?????



กลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย ลั่น ! ปิดตายโครงการนี้และพร้อมเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดยนายอเนก นาคบุตร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ณ ศาลาประชาคมประจำอำเภอสิชล โดยมีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมล้นห้องประชุม และคาดว่าไม่ต่ำกว่า 500 คน

จากการประชุมครั้งนี้ ทุกคนไม่ได้รับทราบและเชิญประชุมอย่างเป็นทางการจากการนิคมอุตสาหกรรมแต่ประการใด แต่รับทราบจากการเคลื่อนไหวของพี่น้องในนาม "กลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง" ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรมทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เมื่อรับทราบว่า จะมีเวทีที่จัดโดยการนิคมอุตสาหกรรม ต่างคนต่างช่วยกันบอก และต่างช่วยกันมาจนแน่นห้องประชุม นอกจากนี้ยังมีพี่น้องจากเครือข่ายต่างพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยอย่างคับคั่ง

บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปค่อนข้างตึงเครียด และทางการนิคมอุตสาหกรรมพยายามสรุปเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้รับความพอใจของชาวบ้านแต่อย่างใด เนื่องจากการสรุป ยังคงเป็น "ข้อห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม การย้านถิ่นฐาน ข้อห่วงใยว่าโครงการนี้ยังมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ยังไม่รับรู้ข้อมูลอย่างเต็มที่" สุดท้ายชาวบ้านขอให้สรุปมติใหม่ เพียงข้อเดียว คือ "หยุดนิคมอุตสาหกรรม หยุดการศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ" และได้ยกมือสนับสนุนทั่วห้องประชุม ถือเป็นมติสุดท้ายอย่างเด็ดขาดของเวทีรับฟังความคิดเห็น

เมื่อการนิคมอุตสาหกรรมหมดทางดิ้น และไม่สามารถต่อรองเงื่อนไขใดๆ กับชาวบ้านอีกต่อไปได้ อเนก นาคะบุตร ได้ประกาศลั่น กลางเวที "ผมรับทราบมติของชาวบ้านแล้ว เพราะฉะนั้นผมยืนยันกับท่านว่า ผมจะหยุดภารกิจการเปิดเวทีทั้งหมดโดยสิ้นเชิง และจะรายงาน กนอ. ให้รับทราบสถานการณ์ด้วยตัวเองต่อผู้บริหาร กนอ. ว่าวันนี้ไม่ใช่แต่พี่น้องตำบลทุ่งปรัง แต่พี่น้องตำบลอื่นก็มีความเห็นคล้ายกันที่ต้องการให้หยุดโครงการนี้" และกล่าวยืนยันอีกว่า จะคืนเงินส่วนที่เหลือเกือบล้านบาทที่ได้รับมาเพื่อจัดเวทีฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ๑๓ ตำบลให้แก่การนิคมอีกด้วย

แม้เวทีรับฟังความคิดเห็นจะถูกปิดลง แต่ชาวบ้านก็คงยังห่วง เพราะหวั่นว่า เสียงนี้จะไม่สะท้อนถึงรัฐบาล เนื่องจาก กนอ.จะสรุปข้อมูลให้ รมว.อุตสาหกรรม เสนอ ครม. ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อขออนุมัติงบประมาณนับแสนล้านบาทเพื่อลุยโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดต่อ ในพื้นที่ อ.สิชล อ.ท่าศาลา และ อ.นาบอน แต่ทั้งนี้แกนนำกลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย ลั่น พร้อมสู้ต่อ ตายเป็นตาย เพื่อรักษาแผ่นดินเกิดสุดชีวิต



โดย : กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช

หมายเหตุ: ติดต่อ-สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
๓๐/๑ หมู่บ้านราชพฤกษ์ ๒ ซอย ๒ ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๗๕-๓๑๘๖๒๓ โทรสาร ๐๗๕-๓๑๘๖๒๔ อีเมล์ rakpaktai2006@hotmail.com