จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิเคราะห์ปัญหา-กำหนดเป้าหมาย , ตัวชี้วัด เพื่อพัฒนาชุมชน


“การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ต้องวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม เพื่อกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดรูปธรรมความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”

กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา หลายสิบปี อาจจะกล่าวได้ว่า ชุมชนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ขาดการกำหนดเป้าหมาย ความไฝ่ฝันที่จะไปถึง แม้ว่า หลายชุมชนท้องถิ่น ในขณะนี้ ได้พยายามที่จะใช้กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน เป็นการค้นหาตนเอง และกำหนดทางออกร่วมกันในชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชน ท้องถิ่นส่วนใหญ่ ยังให้ความสนใจอยู่กับประเด็นปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) และทางออกของปัญหา (มรรค) มากกว่าที่จะมากำหนดเป้าหมาย สิ่งที่จะไปให้ถึง ให้สำเร็จ (นิโรธ) ซึ่งมีชุมชนส่วนน้อยเท่านั้นที่กำหนดเรื่องนี้


เมื่อเปรียบเทียบกับหลักความจริงในพระพุทธศาสนา คือหลักอริยสัจ ที่พูดถึงหลักการแก้ไขปัญหาที่เป็นความจริง 4 ประการ สิ่งที่เกิดกับชุมชนท้องถิ่นในขณะนี้ เรียกได้ว่า ชุมชนดำเนินตามหลักอริยสัจที่ยังไม่ครบองค์ประกอบ เพราะขาดการกำหนดเป้าหมาย ที่จะไปให้ถึง


ดังนั้น เมื่อขาดเป้าหมาย ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ก็คือ ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ จะบอกไม่ได้ว่าตนเอง ทำอะไรไปเพื่ออะไร กิจกรรมที่ทำก็จะไม่มีทิศทาง เข้าลักษณะ ทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายชุมชนท้องถิ่น มีเงินก็ทำ ไม่มีเงิน ก็ไม่ทำ หรือทำให้กิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์ก็เลิกกันไป ไม่สามารถจะเทียบวัดความสำเร็จได้ ว่าตนเองเดินทางมาถึงไหน และจะไปสู่เป้าหมายใด หรือไม่ก็เดินไปคนละทิศละทาง ตามความสนใจของกลุ่ม องค์กรต่างๆ นอกจากนี้ การคิดถึงเป้าหมาย หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น มักมาจากคนไม่กี่คน ที่มองเห็นโอกาส แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มีการถ่ายทอดหรือได้ทำให้เกิดเป็นความคาดหวังด้วยกันกับคนในชุมชนท้องถิ่น ทำให้ความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงตกอยู่กับผู้นำชุมชน ไม่กี่คน ขาดพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ ในขณะที่หน่วยงานภายนอกหรือคนอื่นๆที่จะเข้ามาเสริมช่วย ก็ไม่สามารถจะเข้ามาเสริมช่วยให้ตรงจุดที่ชาวบ้านต้องการ ดังนั้น การพัฒนาที่ผ่านมา จึงเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสียมากต่อมาก เพราะองค์กรเหล่านั้น เข้าไม่ถึงสิ่งที่ชุมชนต้องการจริงๆ

ในส่วนของภาครัฐนั้น ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะศึกษาและสร้างต้นแบบการพัฒนา เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ได้เห็นและยึดเป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดมาตรฐานชุมชน ในมิติต่างๆ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความดีความชอบ หรือสนับสนุน อย่างไรก็ดี เกณฑ์ต่างๆเหล่านั้น ที่กำหนดกันมา ก็ไม่สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จได้ทุกท้องถิ่น เพราะปัจจัยต่างๆ และบริบทของชุมชน มีความหลากหลายแตกต่างกันไปมาก ทั้งด้านสภาพท้องถิ่น ภาษา วัฒนธรรม และค่านิยมทางสังคม นอกจากนี้ การใช้เกณฑ์กลาง ที่กำหนดจากภายนอก ไม่ได้ไปทำให้ชุมชนท้องถิ่น เกิดความรู้สึกที่จะรับผิดชอบผลในระยะยาว เข้าลักษณะคนทำมาไม่ได้ใช้ ส่วนคนใช้ไม่ได้ทำ

อย่างไรก็ดี ยังมีความสนใจของชุมชน ในหลายพื้นที่ ที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกันเองจากภายใน โดยการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาตนเอง ซึ่งบางแห่งเรียกตัวชี้วัดความสุข บางแห่งเรียกตัวชี้วัดการพัฒนา โดยได้คิดและจัดทำกันเองบ้าง อาศัยนักพัฒนาหรือหน่วยงานภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาจัดทำบ้าง สิ่งเหล่านี้ ได้สร้างให้ชุมชนท้องถิ่น เกิดผลดีตามมา คือ เป็นชุมชนที่มีกิจกรรมการพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย เกิดการบูรณาการกิจกรรมและแผนงานในชุมชน สามารถประสานให้ภาคส่วน หน่วยต่างๆ เข้ามาสนับสนุนได้ตรงกับความต้องกันมากขึ้น และบริหารทรัพยากรที่ลงมาสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น ตำบลลำสินธุ์ จังหวัดพัทลุง ตำบลควนรู จังหวัดสงขลา ตำบลปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งตำบลเหล่านี้ ได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาด้วยตนเอง

การจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับชุมชน ท้องถิ่น เป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชน ที่จะสร้างให้ชุมชนสามารถจะเป็นแกนหลักในการพัฒนาได้ ตามแนวทางการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับสภาองค์กรชุมชน ในการสร้างเสริมบทบาท หน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับในท้องถิ่น ซึ่งถ้าประเทศไทยเราสร้างให้ชุมชนรู้เครื่องมือนี้ ก็จะช่วยให้ทุกท้องถิ่นมีบทบาทในการกำหนดการพัฒนาอย่างแท้จริง และจะเกิดการบูรณาการแผนงานจากหน่วยงานไปโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแนวคิดนี้ ได้ขึ้นลูกก่อร่างแล้วในบางพื้นที่ และมีกิจกรรมขยายตัวไปในทางที่ดีดังที่กล่าวมาข้างต้น สภาองค์กรชุมชนตำบลหลายตำบลในจังหวัดสงขลา ก็ได้เกิดความสนใจในแนวทางนี้เพิ่มขึ้น และมีแผนการจัดกิจกรรมสัมมนาแกนนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาตำบลขึ้น สร้างให้เครื่องมือนี้ เป็นที่รู้จักในวงการของสภาองค์กรชุมชนมากขึ้น ประจวบกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลายหน่วยงาน ของภาครัฐ ประสบปัญหาขาดแคลนด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมชุมชน จึงต้องแสวงหาเครื่องมือในการทำงานใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้น การจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับชุมชน ท้องถิ่น จึงเป็นสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสถาบันฯ ในปี 2552 นี้ ได้มีเป้าหมายในการสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน ให้มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นเกณฑ์สำคัญในการสนับสนุนการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

โดย : ออกัส



.