จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ฟังครู(ชบ) สอนวิธีทำกองทุนชุมชนของแท้ ในกระแสเงินทุนรัฐท่วมหมู่บ้าน

ท่ามกลางการจัดตั้งกองทุนที่หลากหลายตามนโยบายพัฒนาจากภาครัฐ มีใครรู้บ้างว่ากองทุนรูปแบบใดสร้างผลดีกับ'ชุมชน'มากที่สุด
มองแบบสำเร็จรูปคำตอบที่ได้คงไม่พ้นชื่อกองทุนที่มากความนิยม มีเงินหมุนเวียนจำนวนหลายหลัก กู้ง่าย ใช้คล่อง อย่างที่คนบางกลุ่มชอบ

ขณะที่หลายคนอาจส่ายหน้า ค่าที่ว่าเปล่าประโยชน์หากจะตอบ ถึงอย่างไรเราควรให้ความสำคัญที่ผลบวกกับชุมชนเท่านั้นเป็นพอ ไม่ต้องยึดติดกับกองทุนใดให้มากความ

แต่สำหรับ‘ครูชบ’ (ชบ ยอดแก้ว) ปราชญ์ชาวบ้าน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหมู่ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน ไม่ได้มองเพียงมิติของ’ผล’ที่ต้องเกิดกับสมาชิกเท่านั้น
นิยามกองทุนแบบครูชบ-ออมเงิน ออมสัจจะ
นักเศรษฐศาสตร์ชุมชนรายนี้ยังให้ความสำคัญทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่มาของเงิน การบริหารควบคุม จนถึงขั้นตอนการใช้ เพื่อให้แน่ใจว่ากองทุนเหล่านั้นเป็นของชุมชนจริงๆ
“กองทุนที่ผมเสนอเกิดจากการออมของสมาชิกโดยลดจากรายจ่ายประจำวัน วันละ1บาทให้มารวมกัน จากในชุมชนเป็นตำบล จากตำบลเป็นจังหวัดจนเกิดเครือข่ายที่มั่นคง มีคณะกรรมการที่แต่ละชุมชนส่งตัวแทนมาเป็นทอดๆ เพื่อกำหนดโครงสร้างการบริหารและจดทะเบียนเป็นสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนในแต่ละจังหวัด” ครูชบอธิบายกว้างๆ
เขาอธิบายอีกว่า กองทุนที่ได้จากการ ออมในแต่ละปีจะแบ่งกองทุนออกเป็น2ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการปันผลเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป แต่เปลี่ยนวิธีคิดที่ไม่ยึดจำนวนเงินเป็นตัวตั้ง ยึดอัตราส่วนจากวินัยในการออมว่าใครมีความสม่ำเสมอแทน ส่วนอีกครึ่งจะนำไปจ่ายเป็นสวัสดิการชุมชนอีก9อย่าง ที่เรียกว่าออมทรัพย์แบบพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ให้สวัสดิการตั้งแต่การเกิดจนเสียชีวิต เป็นสวัสดิการของชาวบ้านเช่นเดียวกับสวัสดิการของข้าราชการ
“เราไม่เน้นที่จำนวนเงินที่ฝากมากได้มาก มิเช่นนั้นจะคล้ายกับระบบทุน เราต้องการเพียงวันละบาทเท่านั้น สิ่งสำคัญคือสัจจะ ความซื่อสัตย์ เราใช้เงินเป็นเพียงเครื่องมือพัฒนาคนให้มีคุณธรรม ก่อให้เกิดความเท่าเทียมทั้งคนจนและรวย”
แบ่งเกรดประเมินผล ค้นทุนชุมชน
ครูชบ ให้ข้อมูลว่า จนถึงปัจจุบันมีกว่า3,000 ชุมชนทั่วประเทศ ที่เห็นความสำคัญและเลือกจะเดินตามแนวทางนี้ เช่นเดียวกับยอดคงเหลืออีกราว4,000 แห่งที่ต้องผลักดันต่อไป
“ที่ยังไม่ทำเขาอาจยังไม่รู้หรือไม่คิดว่าจะมีประโยชน์ เราไปบังคับไม่ได้ ส่วนในจำนวนที่ทำอยู่แล้วนั้นมันก็ทั้งดีและไม่ดี หากเทียบเป็นเกรดคงมีทั้งเอ บี และซีตามลำดับ ซึ่งมาตรฐานชี้วัดมีหลายประการ ทั้งการมีจำนวนสมาชิกและการจัดโครงสร้างบริหารที่ชัดเจน เช่น กลุ่มเอที่ดีที่สุดนั้นจะต้องมีสมาชิกมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด มีคณะกรรมการที่สามารถแจงแจงยอดเงินที่แน่นอน ยกตัวอย่างจ.สงขลาบ้านผม มีที่ทำแล้วทั้งหมด131ราย จาก140ชุมชน มีเงินหมุนเวียนประมาณ52ล้าน และได้จัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียมแก่ชาวบ้านในทุกระดับหรือถ้าเกรดบีอาจจะเป็นพื้นที่ที่มีการออมดีแล้วแต่ยังขาดการเชื่อมโยงที่เป็นเครือข่าย ส่วนเกรดซีอาจจะมีการรวมกลุ่มกันจริง แต่ยังไม่เข้าใจว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินที่นำมารวมกันนั้นคือเงินที่หักจากรายจ่ายในแต่ละวัน เช่นวันหนึ่งคุณใช้เงิน50บาท ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่สิ้นเปลืองเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง1บาทให้เหลือ49บาทหรือมากกว่านั้น”
“ที่มาของแนวคิดนี้เกิดจากความต้องการให้ชุมชนเห็นความสำคัญของทุนต่างๆที่มีอยู่เดิมในชุมชน ทั้งทุนที่เป็นคน เงินตรา วัฒนธรรม ธรรมชาติ แรงงาน ภูมิปัญญา และเวลา ที่มีความสำคัญเท่าๆกัน แต่เมื่อทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับเงินเป็นอย่างแรก จึงเห็นว่าต้องใช้ทุนประเภทนี้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างคน ให้เกิดคุณธรรม เกิดความซื่อสัตย์ รู้จักข่มใจตนเอง อดทน อดกลั้น อดออม รู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนรวม”ครูชบพูดเน้นถึงหัวใจหลัก
ครูชบ ให้ความเห็นว่า กองทุนดังกล่าวกับกองทุนชุมชนที่รัฐจัดสรรให้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องด้วยกองทุนที่รัฐมอบให้นั้นมีเพื่อใช้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กำหนดตามนโยบายเท่านั้น แต่มิได้มีการพัฒนาศักยภาพของ'คน'ที่เป็นทุนที่สำคัญที่สุดของชุมชน ทั้งนี้กองทุนจากผู้มีอำนาจหาใช่กองทุนชุมชนที่เกิดจากชุมชนอย่างแท้จริง แต่เมื่อชุมชนยังได้ประโยชน์กับโครงการของรัฐ มิจำเป็นต้องปฏิเสธ

ก้าวต่อไป มุ่งเพิ่มเกรด ส่งใจช่วย(ร่าง)สวัสดิการ
หากกับกองทุนในรูปแบบที่ปั้นมากับมือนี้ เขามองว่า ต้องพัฒนายกระดับให้ชุมชนในแต่ละกลุ่มเป็นเกรดเอทั้งหมดให้ได้ พร้อมไปกับการเสนอให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและสมทบในอัตราส่วน1ต่อ1 เพื่อให้กองทุนนี้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ’ร่างโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน’ ที่คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ครูชบกล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนเพราะนี่คือกองทุนที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชนอย่างแท้จริง ใช้จำนวนเงินไม่มากและเป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องการ
อดีตสนช.รายนี้ยังมองว่า เมื่อแนวทางดังกล่าวเกิดเป็นกฎหมายจริง จะเป็นชนวนที่ให้พื้นที่ที่ยังไม่มีการก่อตั้งกองทุนฯได้รับแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกันเมื่อได้กำหนดเป็นนโยบายจากรัฐบาลกลางแล้ว การให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนฯจะทำได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เกิดชุมชนที่เดินตามแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้น
“นี่ไม่ใช่การเพิ่มภาระให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลาง ที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้รวมถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ได้สนับสนุนงบประมาณอุดหนุนบ้างอยู่แล้ว แต่ที่เป็นอยู่ยังกระจัดกระจายตามวาระ เมื่อเป็นกฎหมายทุกอย่างจะถูกจัดเป็นระบบมากขึ้น”ครูชบกล่าว
และถึงแม้ร่างดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการถกเถียงเพิ่มเติมประเด็นสำคัญจากผู้เกี่ยวข้องก่อนส่งเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน2เดือนต่อจากนี้ แต่ผู้สันทัดกรณีหลายคนต่างมองว่า นอกจากจะมีข่าวดีที่ร่างฯจะได้ลืมตาดูโลกอย่างแน่นอนแล้ว เงินสมทบก้อนแรกที่ยังไม่ทราบจำนวนจากรัฐมีแนวโน้มจะได้มากกว่าที่ขอไป กล่าวคือนอกจากจะสมทบในอัตราส่วน1ต่อ1ต่อ1 ระหว่าง ชุมชน-รัฐบาล-อปท.ให้ตามจำนวนเงินที่มีอยู่เดิมแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลอาจให้มากเกินกว่าที่ขอไปด้วยซ้ำ
โดยไม่ต้องอธิบายนี่คือข่าวดีอย่างแน่นอน ถึงกระนั้นครูชบ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามชาวบ้านต้องเข้าใจหลักที่แท้จริงของกองทุนสัจจะออมทรัพย์จริงๆก่อน มิเช่นนั้นหากปฏิบัติโดยไม่รู้จริงจะเสี่ยงต่อความล้มเหลว อาจทำให้กองทุนชุมชนแบบแท้ๆเช่นนี้ต้องกลายเป็นอื่น กองทุนที่เป็นของชุมชนจริงๆตลอดทั้งกระบวนการจะหมดไป คงเหลือแต่งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาให้
ถึงเวลานั้น ความภูมิใจอยู่ที่ไหนใครรู้บ้าง
.
จาก // โต๊ะข่าวชุมชน สถาบันอิสรา