จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แลก..แบ่ง.. ปัน ... พันธ์ข้าวพื้นเมืองของชาวนาภาคใต้


ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ชุมชนชาวนาทางเลือกภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และองค์กรร่วมจัดอีกหลายองค์กร ได้จัดงาน “แลกแบ่งปันพันธ์ข้าวแต่แรก (ข้าวพื้นเมือง)" มีผู้แทนหน่วยงานและเกษตรกรกว่า 200 คนร่วมงาน

การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งพันธ์ข้าวพื้นเมืองของชาวนาในภาคใต้ ให้เกิดการกระจาย อนุรักษ์ และพัฒนาพันธ์ข้าวไปยังชาวนาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำเสนอกองทุนเมล็ดเมล็ดพันธ์ข้าวพื้นเมืองของเครือข่ายชาวนาทางเลือกในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณอุบล อยู่หว้า ดร.บุญรัตน์ และคุณเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญยั่งยืนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและปาฐกถานำ

คุณเดชา ศิริภัทร ได้ระบุไว้ในช่วงหนึ่งของการปาฐกถาว่า ก่อนหน้านี้มีการยกย่อง สามอาชีพของคนไทยคือทหารเป็นรั้วของชาติ ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ และชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีการนับถือแม่โพสพ (ข้าว) มากว่า สองพันปี แต่ตอนนี้ชาวนาเหมือนเด็กกำพร้า เพราะแม่โพสพถูกฆ่าไปแล้ว เช่นเดียวกับแม่ธรณี แม่คงคา สำหรับพื้นที่ภาคใต้ข้าวเริ่มไม่พอกิน อันเนื่องมาจากเอาที่นาไปทำอย่างอื่น นาร้างมีมากขึ้น สิ่งที่น่าภูมิใจในพื้นที่ จ.พัทลุง คือมีข้าวสังหยด ซึ่งเป็นพื้นที่บ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประโยชน์ทางโภชนาการสูง หรือข้าวหนวยเขือซึ่งมีทั้งประโยชน์และวิตามินอีสูงก็อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา น่าเสียดายว่าในพื้นที่นี้มีการปลูกข้าวน้อยลง

นายประพัฒน์ จันทร์อักษร ตัวแทนเครือข่ายชาวนาทางเลือภาคใต้ ระบุว่า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ได้เริ่มทำงานด้านพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองในในช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ด้วยโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยและดำเนินกิจกรรมด้านพันธุกรรมพันธุ์ข้าวเรื่อยมา ทำให้มีการพัฒนาพันธ์ข้าวพื้นเมือง ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมการผลิตที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชาวนา กิจกรรมสำคัญได้แก่เช่นการจัดการเรื่องกองทุนพันธ์ข้าวช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ๆขาดแคลน การสร้างความตื่นตัวเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สายพันธ์ข้าวพื้นเมือง ส่งการรวมกลุ่มของชาวนา ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ

ในช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒ เครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรต่างๆมากขึ้นเช่นศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งทุกฝ่ายได้สนับสนุนการพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองอย่างจริงจัง มีการศึกษาดูงานแลเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ๔ ภาค นายสำเริง แซ่เจีย นักวิชาการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงระบุว่า ศูนย์วิจัยได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการทำนาข้าว ๑๐ สายพันธ์เป็นแปลงนารวมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงบนพื้นที่ ๑๐ ไร่ มีเป้าหมายเพื่อขยายพันธ์ข้าวพื้นเมืองสู่ชุมชนและแปลงนาของเกษตรกร เสมือน “กองทุนเมล็ดข้าวพื้นบ้านทางเลือกภาคใต้ ” รวมทั้งสนับสนุนการขยายผลไปสู่ชาวนาและกลุ่มองค์กรต่างๆในฤดูการเพาะปลูกของทุกๆปี

การจัดงานในครั้งนี้ กลุ่ม เครือข่ายที่ร่วมงาน ต่างก็ได้รับพันธ์ข้าวจากแปลงนารวมของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงรวม ๘ สายพันธ์คือ ข้าวช่อจังหวัด ข้าวเล็บนก ข้าวเข็มทอง ข้าวไข่มดริ้น ข้าวหอมจันทร์ ข้าวนางกลาย ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวตอก รวมกับพันธ์ข้าวที่กลุ่มต่างๆนำมาแบ่งปันกัน เช่นข้าวอุเด็นจากพัทลุง ข้าวนางพญาจากสงขลา ข้าวหนวยเขือจากนครศรีธรรมราชเป็นต้น

ผู้เข้าร่วมการสัมมนามีความหวังว่า ชาวนาจะต้องปรับทิศทางการทำนา ที่ไม่ทำให้วัวหาย ความหาย หรือคนหายไปจากพื้นที่ ข้าวพื้นเมืองจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้สังคมอยู่ได้ วัฒนธรรมอยู่ได้ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขอเพียงในแต่ละครอบครัวมีลูกหลานสักคนหนึ่งที่ยังทำนาข้าว มาช่วยกันผลิตเพื่อการบริโภค เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชาวนาในภาคใต้และประเทศไทย

โดยในช่วงท้ายได้มีพิธีทำขวัญข้าว บูชาแม่โพสพ และการประกาศปฎิญญาร่วมกัน ดังนี้


......................................................................................................................


ปฏิญญาชาวนาทางเลือกภาคใต้
“ฟื้นคืนข้าวพื้นบ้าน ปกปักษ์วิถีชาวนา”

พวกเรา ขบวนการชาวนาทางเลือกจากภาคใต้ ซึ่งมารวมตัวกัน ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บัดนี้พวกเราได้ตระหนักร่วมกันถึงปัญหาที่มาจากการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลักที่มุ่งเน้นเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินตรา ที่กลับมาส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อวิถีชีวิตและสังคมไทย ในด้านการเกษตรก็มุ่งเน้นแต่ความทันสมัย ต้องการผลผลิตต่อไร่สูง สนับสนุนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว จนเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางภาคเกษตรอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในส่วนของพันธุ์ข้าวก็มีการส่งเสริมให้ใช้พันธ์ข้าวปรับปรุงแทนพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่หลากหลาย เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี ขณะเดียวกันก็ทำให้ข้าวพันธุ์พื้นบ้านเริ่มสูญหายไป

ขบวนการชาวนาทางเลือกภาคใต้ ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพื้นบ้านที่สอดรับนิเวศที่หลากหลายและสอดคล้องกับวิถีชุมชน จนเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านภาคใต้ที่ผสมผสานกันไประหว่างการพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างกลไกรวมกลุ่มเพื่อหนุนเสริมพลังการเปลี่ยนแปลงและสร้างการยอมรับทั้งในระดับพื้นที่ไปจนถึงนโยบาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของชาวนาเป็นสำคัญ จากความคิดของการพึ่งพาภายนอกมาสู่การพึ่งตนเองระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม

วันนี้พวกเรามีข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ทางเลือก ทางรอดสำหรับไปให้พ้นชะตากรรมอันแลวร้าย คือการปรับเปลี่ยนสู่วิถีการพึ่งตนเอง ด้วนระบบการผลิตที่สมดุล ยั่งยืน ใช้พันธุกรรมท้องถิ่นและปัจจัยการผลิตภายในชุมชน เคารพต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อม บนฐานวิถีวัฒนธรรมชุมชนที่สืบทอดกันมาดังนั้นพวกเราขอประกาศว่า

1.)เกษตรกรต้องช่วยกันพลิกฟื้นวิถีอุดมการณ์ชาวนาภาคใต้ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และสร้างให้ศักดิ์ศรีชาวนาหวนกับคืนมา
2.)สังคมไทยต้องเป็นสังคมที่เคารพในวัฒนธรรมข้าว ตระหนักถึงคุณค่าของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านและชาวนารายย่อย รวมทั้งมีมาตรการในการปกป้องรักษาวิถีชุมชนชาวนาให้ดำรงอยู่สืบไป
3.)รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชนในการรักษาพันธุกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมถึงวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
4.)ต้องมีสวัสดิการให้กับชาวนารายย่อย โดยเฉพาะการให้มีกองทุนสำหรับการรักษาฐานทรัพยากร อาหารชุมชน และป้องกันการบุกรุกจากนายทุนและทุนข้ามชาติ
5.)ต้องปฏิเสธพืชจีเอ็มโอและมีมาตรการในการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด

วันนี้ เราจะหล่อหลอม รวมจิตใจ ผนึกกำลังความร่วมมือ ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสรรค์วิถีชีวิตของเกษตรกรที่สมดุลยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สร้างสังคมแห่งความสุข และสมานฉันท์ต่อไป

ขบวนการชาวนาทางเลือกภาคใต้
ประกาศ ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง
6 มิถุนายน 2552


โดย : อุดมศรี ศิริลักษณาพร http://www.codi.or.th/