จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเมืองใหม่ที่ควนรู


การจะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการเมืองใหม่คืออะไร? ฟังดูแล้วเป็นคำถามง่าย ๆ และไม่ยากจนเกินไปที่จะอธิบายความให้เข้าใจกันได้ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีผู้รู้ นักต่อสู้ทางประชาธิปไตย และนักรัฐศาสตร์หลายท่าน ได้มีการขยายความของการเมืองใหม่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีสาระสำคัญที่ตรงกัน นั่นก็คือเป็นการเมืองที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าไปกำหนดชีวิตของเขาได้โดยไม่ใช่ผ่านตัวแทนเพียงทางเดียวเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งสามารถเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของตัวแทนพวกเขาได้

นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยของไทยใช้ระบบการเลือก “ผู้แทน” เข้าไปทำหน้าที่หรือใช้ “อำนาจอธิปไตย” แทนปวงชนชาวไทย โดยให้เหตุผลว่าประชาชนทุกคนไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยพร้อม ๆ กันได้ จำต้องเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ประวัติศาสตร์ตลอด 76 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏเลยว่ามียุคไหนสมัยไหนที่ประชาชนได้มีโอกาสใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางผู้แทนของเขาได้ หรือแม้จะมีโอกาสได้ใช้อำนาจนั้น แต่ผู้แทนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น

ที่ว่าประชาชนไม่มีโอกาสได้ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตัวแทนนั้น เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยตัวแทนของไทยถูกทำให้เป็นหมันโดยระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบอบอำมาตย์ทหารที่มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดินมาทุกยุคทุกสมัย ความจริงประจักรแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยตัวแทนบอดสนิทในสมัยที่จอมพลป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษณ์ ธณะรัตน์ และต่อเนื่องมาถึงยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกสุจินดา คราประยูรและพรรคพวก นี่ย่อมประจักรแล้วว่าเวลาส่วนใหญ่ของประเทศนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจหาได้อยู่ในมือประชาชนไม่ แต่กลับอยู่ในมือระบบอำมาตย์ที่มีฝังรากลึกอยู่ในระบอบการเมืองไทยและถูกทำให้ยิ่งใหญ่โดยอำมาตย์ที่เป็นทหาร แม้ทุกวันนี้ ระบบอำมาตย์ที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นหัวเรือใหญ่ จะมีความสุขุมลุ่มลึก ไม่ใช้อำนาจและรถถัง แต่ด้วยบารมีที่ซึมลึกในระบบการเมืองไทยจึงยังมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างสูงยิ่ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบอบประชาธิปไตยตัวแทน ภายใต้การกดทับของระบบอำมาตย์จึงมีโอกาสโผล่ขึ้นมาหายใจได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เช่น ช่วงปี 2512, 2518, 2522, 2528, 2535 เป็นต้น ซึ่งช่วงที่ผุดขึ้นมาหายใจได้ยาวนานที่สุด ก็ไม่น่าจะเกิน 8 ปี คือตั้งแต่ปี 2535-2543

ส่วนที่พูดว่า “แม้จะมีโอกาสได้ใช้ แต่ผู้แทนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองบ้านเมืองของพรรคการเมือง มาจากตัวชี้วัดที่ว่าใครได้ผู้แทนมากกว่ากันผู้นั้นก็ได้อำนาจ จึงเป็นที่มาของการลงทุนและตามมาด้วยการถอนทุนคืน ซึ่งความจริงข้อนี้เป็นที่ชัดเจนและประเจิดประเจ้อมากขึ้น นับแต่ปี 2544 เป็นต้น เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2548 ทำให้ประชาชนเข้าใจได้มากขึ้นว่า ใครมีเงินมากก็จะได้ผู้แทนมากและเข้าไปจัดการกับอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนได้ หรือที่หลายคนพูดว่า “ใครมีเงินมากก็สามารถเทคโอเวอร์ประเทศไทยได้” เงินคือปัจจัยหลัก ส่วนนโยบายของพรรคเป็นเพียงตัวหลอกล่อเท่านั้น ประชาธิปไตยยุคนี้จึงไม่ต่างไปจากยุคที่ถูกระบบอำมาตย์กดทับ เพียงแต่เครื่องมือได้เปลี่ยนจากอำนาจและอาวุธเป็นใหญ่ มาเป็น “เงิน” เป็นใหญ่เท่านั้น ท้ายที่สุดเงินก็คือ กุญแจสำคัญที่ทำให้ได้มาซึ่งอำนาจ

ในหมู่พวกเราทั้งที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนต่างก็สรุปเป็นเอกฉันท์ว่า ทั้งระบบอำมาตยาธิปไตยที่ทหหารใช้อยู่ และระบอบทุนนิยมสามาญย์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวเรือใหญ่ต่างก็เป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย และยังมีความเห็นร่วมกันอีกว่าลำพังประชาธิปไตยตัวแทนก็ไม่ใช่ความหวังของประเทศชาติเพราะประชาธิปไตยตัวแทน ถูกรังแกได้โดยง่ายทั้งจากอำนาจและเงินตรา

ศ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส พูดไว้ว่า การสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างจากยอดโดยไม่พังลงมาเสียก่อน ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างระบอบประชาธิปไตยต้องสร้างจากฐานให้เข้มแข็ง ที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยบ้านเราพังไม่เป็นท่าและถูกแทรกแซงถูกยึดกุมโดยอำนาจและเงินตรามาโดยตลอดเพราะมัวแต่สร้างประชาธิปไตยจากยอด พูดแต่การเลือกผู้แทน และการจัดสรรให้ผู้แทนไปใช้อำนาจต่าง ๆ ทั้งอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงการเดินทางเข้าคูหาหย่อนบัตรเท่านั้น
ในภาคชุมชนและประชาสังคมเราเข้าใจร่วมกันว่าทุกกลุ่มทุกองค์กรของภาคชุมชนและประชาสังคมไม่ว่าจะเป็นการก่อตัวในรูปแบบใด เป็นเสมือนก้อนอิฐจำนวนมากที่ถูกเผาจนสุก แล้วนำมาก่อต่อกันเป็นฐานของเจดีย์ ด้วยความเชื่อที่ว่าหากฐานไม่แข็งแรง ประชาธิปไตยไม่มีวันมั่นคงไปได้เลย ฐานที่เข้มแข็งเท่านั้นคือ อาวุธที่จะใช้ต่อสู้กับอำนาจและเงินตราที่เป็นศัตรูของประชาธิปไตยได้

วันก่อนผมเดินทางไปดูงานที่ ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งในวงการองค์กรชุมชนต่างก็ยกให้เป็นหนึ่งในหลายตำบลรูปธรรมด้าน “การเมืองใหม่” โดย นายศักดิ์ชัย พูลผล กำนันตำบลควนรูได้เล่าให้ฟังว่า การเลือกตั้งระดับชาติได้บอกให้คนควนรูรู้ว่า การเมืองระบบเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประชาธิปไตย การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ สร้างความแตกแยกไม่เฉพาะในระดับชาติเท่านั้นแต่ยังลามมาถึงในชุมชนอีกด้วย และที่ใกล้ตัวที่สุดคือการเลือกตั้ง อบต. เมื่อปี 2542 ทำให้เห็นชัดว่าคนควนรู ซึ่งเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติสนิท เริ่มผิดใจกันเพราะถือหางคนละฝ่าย “ผมเป็นญาติสนิทแท้ ๆ ทำไมยังไปเลือกคนอื่น” อะไรทำนองนี้

โถ ทุ่งหวังหรือ นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรูให้แง่คิดว่า การเมืองแบบเลือกตั้งเหมือนกับแร้วที่ใช้ดักนก ประชาชนก็คือนก นกที่ติดแร้วย่อมรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวด ไร้อิสรภาพ การเลือกตั้งก็เช่นกันพอเขาได้เป็นผู้แทนแล้ว การตัดสินใจทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเขา ประชาชนไร้อิสรภาพทางความคิด เราจึงต้องจำบทเรียนนี้ไว้อย่าไปเผลอติดแร้วซ้ำสอง

ครั่นมาถึงการเลือกตั้ง ปี 2545 คนควนรูก็ได้คิดใหม่โดยทุกคนต้องมีส่วนในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัคร อบต. ชาวบ้านรู้ว่าใครเป็นอย่างไร เหมาะที่จะเป็นนายก อบต.หรือไม่ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ใครควรสมัคร แต่หากผู้ประสงค์จะสมัครคนใดไม่ฟังมติของชาวบ้าน ก็ลงสมัครได้แต่พอลงคะแนนเสียง ทุกคนจะเทคะแนนให้กับคนที่ตนเห็นสมควรและมีฉันทามติไปแล้วที่สำคัญผู้สมัครทุกคนต้องเขียนใบลาออกไว้เรียกว่า “ตายก่อนเกิด” เพราะถ้าทำอะไรมิถูกมิควรใบลาออกที่เขียนไว้จะถูกนำมาใช้ทันที
แนวทางเช่นนี้ ทำให้ควนรูได้ทีม อบต. ที่ตรงกับใจชาวบ้านมีความรู้และจิตอาสาที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมจริง ๆ ครั้นครบ 4 ปี เลือกตั้งใหม่ในปี 2548 พบว่าทีมเดิมได้รับฉันทามติให้ลงสมัครอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่มีใครกล้าลงสมัครแข่ง เพราะต่างก็รู้ถึงพลังของประชาชนแล้วว่ามีอานุภาพเช่นไร

นายถัน จุลนวล นายก อบต.ควนรู เผยว่าที่ตำบลควนรูสามารถสร้างการเมืองในระบบเลือกตั้งในมิติใหม่ได้น่าจะมีเหตุผลอยู่ 3 ประการ อย่างแรกคือคนควนรูต่างเป็นญาติพี่น้องกัน หากสืบสาวราวเรื่องแล้วมีอยู่เพียง 5-6 ตระกูลเท่านั้น มีการแต่งงานข้ามกันไปมา ทั้งหมดจึงเหมือนญาติกัน มีความผูกพันกันค่อนข้างเหนียวแน่น ประการที่สอง แกนนำในตำบลที่มีบทบาทอยู่ในขณะนี้ ล้วนเป็นผู้มีการศึกษาหรือเป็นลูกหลานของคนควนรูที่มีความรู้ เห็นโลกภายนอกมาพอสมควรต่างก็เป็นนกที่ติดแร้วตระหนักถึงความเจ็บปวดที่ได้รับจากการเมืองระบบเลือกตั้ง ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน (ครูสอนหนังสือระดับประถม) จึงมีความผูกพันต่อกัน

ประการสุดท้ายน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุด ก็คือการเมืองใหม่ที่ควนรูมีฐานที่เข้มแข็ง คือความเข้มแข็งขบวนองค์กรชุมชนในควนรู ซึ่งใช้เวลาในการบ่มเพาะมาไม่น้อยกว่า 20 ปี เริ่มจากการมีกลุ่มออมทรัพย์ พัฒนาไปสู่การทำสวัสดิการ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย มีการนำแผนแม่บทชุมขนเข้ามาเป็นเครื่องมือในการวางแผนและพัฒนาชุมชน ซึ่งในระยะต่อมากลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลายนี้ได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนควนรู พัฒนาไปสู่ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลควนรู และท้ายที่สุดได้จดแจ้งจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ปี 2551 ในที่สุด จึงพูดได้เต็มปากว่าการเมืองใหม่ ที่ควนรูเกิดจากการมีฐานของการเมืองอันหมายถึง องค์กรชุมชนที่เข้มแข็งนั่นเอง

เป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้วที่คนควนรูทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. และภาคประชาชนต่างประสานพลังทำงานบนเป้าหมายเดียวกันอย่างแท้จริง นั่นคือ ความอยู่ดีมีสุขของคนควนรูทั้งตำบล นี่ต่างหากคือความหมายของการเมืองใหม่ การเมืองที่มีฐานของประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สามารถเข้าไปมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น

การเมืองใหม่นี้ปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะที่ควนรูเท่านั้น แต่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ตำบล เช่นที่ตำบลเสียว อำเภอโพธิศรีสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่น้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน ที่ศิลาลอย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น จึงเห็นว่าการจะสร้างการเมืองใหม่ให้เห็นจริงเป็นรูปธรรมต้องเริ่มจากการสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งสร้างฐานของประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง แล้วใช้ความเข้มแข็งนี้ผลักดันให้ยอดพระเจดีย์สวยงามมั่นคงตามไปด้วย ไม่ใช่คิดกันง่าย ๆ ว่าการสร้างการเมืองใหม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ ฯลฯ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เร็ว ๆ นี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ชื่อว่า “พรรคการเมืองใหม่” ฟังจากชื่อแล้วเป็นการเมืองใหม่จริง ๆ ส่วนเนื้อหายังเป็นที่น่าสงสัยและต้องติดตามกันต่อไป โดยส่วนตัวแล้วความเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นั่นคือความพยายามในการสร้างฐานประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่การก้าวอีกขั้นไปสู่พรรคการเมืองหวังเข้าไปทำยอดเจดีย์ให้สวยงาม จึงน่าเป็นห่วงว่าฐานของเจดีย์นี้ คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้มแข็งพอหรือยัง 2 ปีแห่งการบ่มเพาะพลังมันมากพอหรือยังที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเมืองเลือกตั้งระดับชาติได้ ควรจะสร้างฐานเจดีย์ต่อไปดีหรือไม่

แม้จะเป็นห่วงแต่ก็เอาใจช่วยด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งพลังการเมืองใหม่เฉกเช่นที่ควนรู จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อประสานกับพลังอื่น ๆ ในสังคม สู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพใหม่ นั่นคือ การเกิดการเมืองใหม่อย่างแท้จริง



โดย : สุวัฒน์ คงแป้น
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

และกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองประจำภาคใต้ (สภาพัฒนาการเมือง)
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.souththai.org/
.