จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เครือข่ายชาวบ้านภาคใต้ จัดเวทีวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้

วันพฤหัสบดี ที่ 25 มิถุนายน 2552 ที่ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการที่ 12 (สสว.12) อ.เมือง จ.สงขลา คณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ จัดเวทีสัมมนาวิเคราะห์แผนพัฒนาภาคใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของรัฐด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเน้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทั้งการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก ท่อส่งกาซ ปิโตรเคมี เขื่อน รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการระดมความคิดเห็นจากวงสัมมนาต่อท่าทีของเครือข่ายชุมชนในภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นแกนนำชุมชนจากทุกจังหวัดในภาคใต้ ร่วม 100 คน

นายจินดา บุญจันทร์ กรรมการคณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ทุกรัฐบาลพยายามที่จะผลักดันแผนพัฒนาภาคใต้มาตลอด โดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งได้ประกาศนโยบายชัดเจนในคำแถลงนโยบาย ข้อที่ 4.2.2.5 ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม และ ข้อที่ 4.2.2.6 ที่จะเดินหน้าจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลเหล่านี้น้อยมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผน ชาวบ้านมารู้ตัวอีกทีก็เกิดปัญหาในพื้นที่แล้ว

นางศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ได้นำเสนอ“ภาพรวมแผนพัฒนาภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” โดยได้ชี้ให้เห็นว่า
การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่งตามแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเน้น ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกด้านในปัจจุบัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษ มลภาวะ ปัญหาสังคมวิถีชีวิตวัฒนธรรม อาชีพ รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องน้ำ ระหว่างอุตสาหกรรม และด้านการเกษตร จึงทำให้เกิดขบวนการชาวบ้าน ที่ต่อต้านอย่างหนักเพื่อรักษาฐานของชุมชน ดังนั้นการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกจึงค่อนข้างจะทำได้ยากในปัจจุบัน


พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีศักยภาพ จึงถูกวางให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการวางแผนเป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากมีทั้งท่าเรือ(ทะเล) และแหล่งน้ำดิบ ซึ่งภาคอื่นๆไม่มี ไล่มาตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงชายแดนภาคใต้ ทั้งท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน ก๊าซ น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา EIA (ซึ่งไม่ค่อยน่าเชื่อถือ) บางพื้นที่อยู่หว่างการประชาพิจารณ์ และบางส่วนก็เริ่มลงมือก่อสร้างไปบ้างแล้ว

ด้านนายทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช ได้นำเสนอว่า ตนเป็นนักศึกษาปริญญาโท อยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตนซึ่งเป็นคนอำเภอท่าศาลา พอรู้ว่าจะมีเขตนิคมอุสาหกรรมในพื้นที่บ้านเกิดก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มาตลอด เกาะติดสถานการณ์อย่างไกล้ชิด ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกปกปิดมากมาย ดังนั้นตนจึงได้เอาข้อมูลเหล่านี้ไปบอกกล่าวหารือกับคนในชุมชนเพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่การรวมกลุ่มต่อต้านแผนการก่อตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ ซึ่งหากปล่อยให้มีการเดินหน้าก่อสร้างจะส่งผลกระทบกับชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงในวงกว้าง
ทั้งนี้วิทยากรที่มาให้ข้อมูลในการสัมมนามีความเห็นตรงกันว่าสิ่งที่สำคัญมากก็คือการให้ข้อมูลความรู้กับชาวบ้าน รวมทั้งเก็บข้อมูลในพื้นที่ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้มาก เช่นกรณีการฟ้องร้องกันภายหลัง และที่สำคัญคนในพื้นที่ต้องเป็นเจ้าของเรื่องและลุกขึ้นมา ยิ่งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายได้ก็จะยิ่งทำให้ภาคประชาชนมีพลังมากยิ่งขึ้น


นายขนิฐ คงทอง ผู้แทนชุมชนจากจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้นี้หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องทุกคน จึงเป็นเรื่องที่พวกเราภาคชุมชนในทุกพื้นที่ควรที่จะร่วมกันปกป้องไม่ให้ภาคใต้ของเรา ลูกหลานของเราได้รับผลกระทบ สูญเสียวิถีชีวิตที่ดี พวกเราภาคประชาชนก็มี 3 มาตรการที่จะใช้ได้คือ มาตรการชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมทุกระดับและทุกด้านของการดำเนินโครงการ มาตรการด้านกฎหมาย ซึ่งเราต้องเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังไม่ใช่เหมือนกับที่เกิดกับพี่น้องจังหวัดระยอง และสุดท้านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

นายประยุทธ วรรณพรหม ผู้แทนชุมชนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันนี้โครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด มาแล้ว แต่ฝ่ายราชการจังหวัดบอกว่าไม่รู้เรื่อง ยังเป็นแค่กระแสข่าว แต่ที่จริงแล้วมีกระบวนการขับเคลื่อนโครงการแล้วในพื้นที่ ตนจึงอยากให้มีการทำสื่อ ทำประชาสัมพันธ์ข้อมูลเหล่านี้ เช่น หนังสือพิมพ์ ฅนปากใต้ เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พี่น้องในชุมชนได้รับรู้ และส่งถึงอบต.ด้วยยิ่งดี

นอกจากนี้ได้มีการอภิปรายแลก ในวงสัมมนา ซึ่งส่วนใหญ่แสดงท่าที ไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาภาคใต้ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยในการสัมมนาได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะให้มีกลไกร่วมกันในการเชื่อมประสานข้อมูล โดยมีผู้เสนอตัวเป็นผู้ประสานงานในระดับจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้มีการตกลงให้มีการประชุมพบปะร่วมกันในอีกสองเดือนข้างหน้าที่จังหวัดสตูล โดยจะเชิญแกนนำพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบและอยู่ระหว่างกระบวนการต่อสู้ในพื้นที่ มาร่วมการประชุมด้วย


ทั้งนี้คณะทำงานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ จะได้สรุปเนื้อหา รวมทั้งข้อเสนอจากเวทีสัมมนา มาประมวลสังเคราะห์ เพื่อที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านทางคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น (ชุดคุณหญิงสุพัตรา) และอนุกรรมการประสาน และติดตามนโยบาย (ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ)ต่อไป

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาและรายละเอียดการนำเสนอจากวิทยากร


เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้อง

http://www.souththai.org/index.php?option=com_content&task=view&id=176&Itemid=38

http://taiklang.blogspot.com/2009/06/blog-post_04.html


โดย : สามารถ สุขบรรจง