จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เราไม่เอาเขื่อน ! เราไม่เอาเขื่อน ! ไม่เอาเขื่อน !!!???


เราไม่เอาเขื่อน !!
กลุ่มอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมบ้านคลองลำแชง


รถวิ่งผ่านสวนลำไยขนาดใหญ่ลึกเข้าไปในหมู่บ้านคลองลำแชงเพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร บรรยากาศร่มครึ้มของสวนยางเริ่มปรากฏให้เห็น ลักษณะภูมิประเทศแถบนี้ เป็นดินร่วนปนทราย มีเขาแก้วเป็นฉากหลัง และเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่มีน้ำตกสวยงาม รวมทั้งคลองเล็กๆ อีกหลายสาย จึงไม่แปลกที่หน่วยงานราชการเลือกเอาพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านบนควน ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา สร้างเขื่อนดิน กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์

หมีด บิลอะหลี หรือยีหมีด แกนนำหลักในการคัดค้านการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่ง ที่จะสร้างขึ้นที่ตำบลเขาพระ คือ เขื่อนลำแชง กั้นคลองลำแชง ที่บริเวณเขาแก้ว บ้านลำแชง หมู่ที่ 6 และเขื่อนลำขัน หรือเขื่อนคลองหิน กั้นคลองหิน ที่บ้านคลองหิน หมู่ 12 ตำบลเขาพระ สายคลองทั้งสอง ไหลสู่คลองรัตภูมิ ลงทะเลสาบสงขลา ที่บ้านปากบางภูมี อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

“ทางการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534 เริ่มจากกำนันหมาด เส็นหละ เป็นตัวแทนชาวบ้านส่งเรื่องให้ทางอำเภอและจังหวัดขอท่อส่งน้ำประปาภูเขา ให้กับชาวบ้านหมู่ที่ 6 แต่ถูกแปรเจตนาผิด กลายเป็นว่าองค์การบริหารส่วนตำบลสมัยนั้นแนบบัญชีรายชื่อผู้ประสงค์จะใช้น้ำ 935 คน ให้นายอำเภอรัตภูมิ ขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำลำขัน และอ่างเก็บน้ำลำแชง เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร” ยีหมีดเล่าที่มาที่ไปของเขื่อนทั้งสองแห่ง

ยีหมีดเล่าให้ฟังต่อว่า รายชื่อทั้ง 935 คนนั้น ไม่มีรายชื่อของคนในหมู่ 6 สักคน ไม่รู้เป็นชื่อใครเอามาจากไหน การดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง ถูกปกปิดไม่ให้ชาวบ้านทราบ ชาวบ้านเพิ่งมาทราบเรื่องนี้ตอนปี 2543 ขณะที่หน่วยงานราชการเข้ามาเจาะตรวจสภาพดิน

ยีหมีดยอมรับว่า การเข้ามาดำเนินการของเจ้าหน้าที่ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตัวเองเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการหาคนงานให้ เพราะตอนนั้นยังไม่ทราบข้อมูลอะไร เมื่อเห็นว่ามีการว่าจ้าง ก็หางานให้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านได้มีรายได้ แต่หลังจากเริ่มรู้ข้อมูล ตอนที่เอาหลักมาปักแนวเขต ก็ไล่ให้เจ้าหน้าที่กลับไป เพราะชาวบ้านยืนยันว่า ไม่เอาเขื่อนและไม่ยอมให้สร้างแน่นอน

กระทั่งปี 2547 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงมาประชุมในพื้นที่ เสนอให้ยกเลิกสร้างเขื่อน เพราะชาวบ้านสามารถอยู่กันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน ทุกอย่างก็เงียบไป แต่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ และอำเภอรัตภูมิ ยังพยายามผลักดันต่อ โดยเฉพาะเขื่อนคลองหิน

ยีหมีดบอกว่า ปัจจุบันชาวบ้านรวมตัวทำกิจกรรมในนาม “กลุ่มรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมบ้านคลองลำแชง” หมู่ 6 โดยมีกิจกรรมฝึกอบรมชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรธาตุสี่ปีละ 50 รุ่น รุ่นละ50 คน ที่ศูนย์ปราชญ์เก้าภูมิปัญญาเกษตรธาตุสี่ ตำบลเขาพระ พร้อมกับขยับขึ้นไปทำงานกับเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำภูมี

“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เขาก็พยายามสร้างให้ได้ ปัญหาจะตกอยู่กับชาวบ้าน ยีถูกไล่ที่มาตั้งแต่สร้างคลองร. 1 แล้ว ทำท่าจะถูกไล่อีกเป็นครั้งที่ 2 ถ้าเป็นแบบนี้ไปตรงไหนเราก็โดนไล่ตลอด ถ้าต้องย้ายที่อีก ยอมตายดีกว่า ได้เงินก็จริง แต่เราไปอยู่ที่อื่น เราสร้างชุมชนไม่ได้ อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน จะมีความสุขได้ยังไง”

เป็นความรู้สึกร่วมของชาวบ้าน ผ่านริมฝีปากของ “ยีหมีด” ในวันที่เราเข้าไปเยี่ยมเยียน
...............................................................................
จาก : KONPAKTAI (รายปักษ์ ฉบับที่ 3 ปีที่ 1)