จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ

หนึ่งปีแปดเดือนสภาองค์กรชุมชนจัดตั้งแล้วกว่า 1,500 แห่ง ตั้งเป้าหมายปี 2555 ตั้งครบทุกตำบลทั่วประเทศ

วันที่ 29 ตุลาคม 2552 สถาบันพัฒนาองค์กรุชมชน(องค์การมหาชน) จัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ 2 โดยมีเครือข่ายองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงาน ผู้แทนในระดับจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมประชุมประมาณ 250 คน ณ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน บางกะปิ กรุงเทพฯ

เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการส่งเสริมจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้ว ให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ และกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาด้านต่างๆ และข้อเสนอแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามบทบาทภารกิจที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 32 โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานในพิธีเปิดครั้งนี้

นายแฉล้ม ทรัพย์มูล ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ 2 ว่า เป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมในครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2552 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุม และครั้งนั้นขบวนองค์กรชุมชนเองก็ได้ยื่นข้อเสนอการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ อาทิ การปฎิรูปที่ดินโดยชุมชน การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน การคุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร เป็นต้น รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งรัฐบาลได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาเป็นแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาล คลิ้กอ่านต่อ

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สัมมนาวิทยากร"แม่ไก่"ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขที่อยู่อาศัย 5 จังหวัด

ประธานบอร์ด พอช.เปิดสัมมนาวิทยากรกระบวนการ เชิญ 300 ผู้แทนชุมชน ทำความเข้าใจโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนกระบวนการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งระดมความคิดจัดทำแผนขับเคลื่อนงาน

วันที่ 21-22 ตุลาคม 2552 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดสัมมนาวิทยากรกระบวนการภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุม โรงแรม หาดใหญ่ พาราไดส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีผู้แทนชุมชนเข้าร่วม 300 คน ซึ่งพร้อมที่จะเป็นวิทยากรกระบวนการขับเคลื่อนโครงการฯในพื้นที่เป้าหมาย หรือ "วิทยากรแม่ไก่” โดยมีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เป็นประธานเปิดการสัมมนา

โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตามนโยบายไทยเข้มแข็ง ของรัฐบาล และมีแนวทางการดำเนินโครงการที่เน้นให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

โครงการนี้กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการในปี 2553 ประกอบด้วยเป้าหมายตามโครงการฯจำนวน 120 ตำบล และหมู่บ้านเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดจำนวน 696 หมู่บ้าน

ทั้งนี้กระบวนการดำเนินงานในส่วนของการซ่อมแซม หรือสร้างบ้าน เน้นการให้ชุมชนเป็นแกนหลัก โดยคณะทำงานในระดับชุมชน จัดเวทีทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจข้อมูล จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านตรวจสอบข้อมูล กำหนดเกณฑ์การคัดเลือก เกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณ แนวทางการดำเนินการ และคัดเลือกผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการซ่อมแซม หรือสร้างบ้าน ตลอดจนการจัดตั้งกองทุนชุมชนรองรับการจ่ายเงินคืนจากสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำเงินกองทุนไปใช้พัฒนาหมู่บ้านในด้านอื่นๆต่อไปตามความประสงค์ของชุมชน

ด้านกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน สนับสนุนกระบวนการจัดตั้งคณะทำงานรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนในระดับตำบล และระดับอำเภอ จัดทำข้อมูล หลักฐานการครอบครองที่ดิน สำรวจรังวัดการถือครองที่ดิน จัดทำแผนที่ทำมือ จัดทำแผนที่GIS 1:4000 แล้วจึงจัดทำประชาคมหมู่บ้านตรวจสอบข้อมูล และรับรองข้อมูล ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขการบุกรุกที่ของรัฐระดับจังหวัด(กบร.จังหวัด) หรือคณะกรรมการร่วมระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด หากได้ข้อยุติก็จะจัดทำแผนพัฒนาด้านต่างๆที่ต่อเนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ดิน หากไม่ได้ข้อยุติก็นำเข้าสู่กระบวนการพิสูจนสิทธิ์ตามกฎหมายต่อไป

ในการสัมนาครั้งนี้ยังได้แบ่งกลุ่มเป็นรายจังหวัด เพื่อร่วมกันระดมความคิดในการจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนโครงการในแต่ละพื้นที่ ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ต่อไป.

โดย : สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์ http:// souththai.org

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ขบวนองค์กรชุมชนกับการพัฒนาประเทศในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดงานสมัชชาองค์กรชุมชนระดับชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ “พลังชุมชน เข้มแข็ง เปลี่ยนแปลงสังคมไทย” ณ ห้องประชุมวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งคณะประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ.)ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมจัดประชุม โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงาน สถาบันวิชาการ ประมาณ ๙๐๐ คน เข้าร่วมงาน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน คือ การทำงานเคียงคู่กับภาคประชาชน นโยบายที่ประกาศจึงสอดคล้องกับแนวทางที่ประชาชนเรียกร้อง ทั้งเรื่องสวัสดิการ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน สื่อ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยรัฐบาลเป็นผู้หนุนเสริมภาคประชาชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จึงมีการตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติด้วย

รัฐบาลพยายามแปลงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนแนวทางการทำงานร่วมกับประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคประชาชนขึ้นเพื่อรับเรื่องของประชาชน ซึ่งจะมีการประชุมเรื่องมาตรา 67 กรณีมาบตาพุด ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน เรื่องแผนชุมชนที่เราเคยคิดมานานแล้ว ก็จะนำมาพิจารณาเพื่อนำงบประมาณจากผู้ว่าซีอีโอมาสนับสนุนด้วย

“ผมยอมรับว่า ภาคชุมชนได้ก้าวหน้าไปมากกว่าภาครัฐ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องปรับในหลายเรื่องเพื่อทำงานร่วมกัน ถ้ารัฐบาลนี้มีอันเป็นไป รัฐบาลที่เข้ามาจะเปลี่ยนแนวทางนี้ไปหรือไม่ รัฐบาลชุดนี้ก็คิดเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน เพื่อให้เรื่องต่าง ๆ ของชุมชนไห้อยู่ถาวร เช่น เรื่องบ้านมั่นคง โฉนดชุมชน สภาองค์กรชุมชน สื่อชุมชน เป็นต้น และอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องนำไปคิด” นายสาทิตย์ กล่าว

หลังจากพิธีเปิดได้มีการเสวนา “ขบวนองค์กรชุมชน กับการพัฒนาประเทศในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นายนาวิน สินธุสอาด จากสำนักบริหารปกครองท้องที่ กระทรวงมหาดไทย ,นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ,นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สำนักสุขภาพแห่งชาติ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการ พอช. และอาจารย์ประภาส ปิ่นตกแต่ง นักวิชาการจากจุฬาวงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ กล่าวว่า สุขภาพในมิติการพัฒนาไม่ใช่เพียงแต่ความเจ็บป่วย และยาเพียงเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราต้องพูดถึงสุขภาวะ ที่มีเรื่องของสุขภาพรวมอยู่ในโครงสร้างของชุมชน คือรากฐานสำคัญทางสังคม การพัฒนาประเทศต้องทำให้เกิดความสมดุลของอำนาจ จึงได้เสนอ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ๔ ยุทธศาสตร์ คือ

หนึ่ง ยุทธศาสตร์ชุมชน ที่ให้องค์กรชุมชน เครือข่าย และการมีส่วนร่วม เช่น การพัฒนานโยบายสาธารณะเป็นฐาน
สอง ยุทธศาสตร์ปัญญา ใช้ความรู้เป็นฐาน (ความรู้ใหม่/ภูมิปัญญาท้องถิ่น) และการจัดการความรู้
สาม ยุทธศาสตร์วัฒนธรรม คือ จุดแข็งของขบวนองค์กรชุมชนที่เกิดจากความภาคภูมิใจของคนในชุมชน อันมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาชุมชน และจิตวิญญาณชุมชน
สี่ ยุทธศาสตร์การสื่อสารทางสังคม ที่เน้นพื้นที่ทางสังคม และการสื่อสารให้ทั่วถึง เป็นกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง ทั่วถึงิดจากความภาคภูมิใจของคนในชุมชนื่อมโยงแนวทางการดำเนินงานร่วมกัเกาะเกี่ยวกันให้เหนี่ยวแน่น

นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน กล่าวว่า เป้าหมายของเรา คือ ทำให้ข้างล่างเข้มแข็ง และขยายเรื่องที่ดีออกไป เชื่อมโยงเพื่อน ๆ ที่มีอยู่มาทำงานด้วยกัน ใช้ประเด็นต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ เป็นตัวบอกทิศทางการพัฒนาได้ เราจะสร้างโอกาสนี้อย่างไร เพื่อให้คนอื่นมาร่วมกับเราให้ได้ โดยได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และการให้สถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกัน ใช้สภาองค์กรุชมชน เป็นเรื่องที่ทุกคนนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน พูดคุยกันเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราไม่สามารถทิ้งเรือได้ แต่เราต้องคุยกัน ต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาคุยกัน สุดท้ายอยู่ที่เราจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงาน ถ้าเราเข้มแข็งจริง ๆ หน่วยงานเขาก็รับฟังเอง

ในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย ห้องเรียนรู้ออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ ขบวนองค์กรชุมชนกับระบบเศรษฐกิจ ,ขบวนองค์กรชุมชนกับวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม/การศึกษา , ขบวนองค์กรชุมชนกับการเมืองภาคพลเมือง, ขบวนองค์กรชุมชนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, ขบวนองค์กรชุมชนกับสื่อสร้างสรรค์ และขบวนองค์กรชุมชนกับภาคีสนับสนุน

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก :
http://www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=2777&Itemid=2

สัมภาษณ์พิเศษ "พี่ทิพย์" ผอ.พอช.

จาก หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2552
สัมภาษณ์พิเศษ

ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์

ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

“สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน”


“ในโอกาสที่ พอช.จะย่างเข้าสู่ปีที่ 10 เราจะเน้นในการใช้ยุทธศาสตร์พื้นที่เป็นตัวตั้งและจะเน้นในเรื่องการพัฒนาเชิงคุณภาพมากขึ้น ยกระดับให้เกิดการทำงานที่เป็นเชิงคุณภาพ ทำให้องค์กรชุมชนมีอิสระ สามารถวางแผนตัวเองได้”

การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าองค์กรชุมชน ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน นอกจากจะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนในการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์การชุมชน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) บอกว่า พอช.เกิดขึ้นจากการรวมกองทุน 2 กองทุนเข้าด้วยกัน คือสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง และกองทุนพัฒนาชนบท ภายใต้ พรบ.องค์การมหาชน ตั้งแต่ปี 2543 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543

“หน้าที่หลักๆ คือการสนับสนุน สร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน มีภาระกิจทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สนับสนุนความช่วยเหลือต่อองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชนเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการ บนหลักการที่สมาชิกชุมชนต้องมีส่วนร่วมสำคัญ เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและประชาสังคม การส่งเสริมของ พอช.สนับสนุนในทุกๆ เรื่องทีชุมชนรวมตัวกันแล้วมีวัตถุประสงค์ เรื่องที่ 2.สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยใช้ตัวเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา 3.สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชน ตลอดจนประสานความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้แก่องค์กรชุมชนอีกที และเรื่องทที่ 4. ส่งเสริม สนับสนุน สร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ โดยการหนุนให้เกิดเครือข่ายไล่มาตั้งแต่ระดับชุมชน ถึงระดับประเทศ”

ผอ.พอช. บอกว่า มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่พอช.ทำอยู่ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน โดยขณะนี้ในเรื่องของที่อยู่อาศัยก็จะเป็นเรื่องของบ้านมั่นคงที่เป็นการแก้ปัญหา และพัฒนาความมั่นคงของที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก และผู้มีรายได้น้อยในเมือง โดยมีเป้าหมายว่าว่าจะทำอย่างไรให้เขามีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งเราเรียกกันโดยย่อๆ ว่า “โครงการบ้านมั่นคง” โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ทำโครงการนำร่อง 10 โครงการ ต่อมาในปี 2547 ตอนที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้มีรายได้น้อยในเมือง ก็ได้เสนอต่อรัฐบาลและได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการมา โดยครม.มีมติอนุมัติให้ทำ 200,218 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี

“โครงการนี้จะมีจุดเน้นคือให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเป็นหลักในการทำงาน เป็นทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของตัวเอง โดยความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพยายามให้แก้ปัญหาในแต่ละเมืองอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละเมืองจะหนุนให้เขาเกิดคณะทำงานเมือง”

นางทิพย์รัตน์ บอกว่า ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง แต่ละเมืองจะมีการสำรวจข้อมูลของตัวอง ดูว่ามีกี่ชุมชน ชุมชนนั้นอยู่ในที่ดินของใคร และต้องมีการวางแผนว่าใน 1 ปี 2 ปี 3 ปี จะมีการแก้ปัญหาชุมชนอย่างไร จะต้องมีรายการที่เริ่มดูว่าจะคุยกับเจ้าของที่ดินอย่างไร จะขอเช่า หรือจะขอซื้อ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวในการพัฒนาโครงการ

โดยในเบื้องต้นจะมีการทำความเข้าใจว่าโครงการบ้านมั่นคงมีวัตถุประสงค์อย่างไร หลังจากนั้นแต่ละเมืองเขาจะขับเคลื่อนของเขาเองได้ โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ พอช.ลงไป แต่จะเป็นการทำงานในระดับเมืองของแต่ละเมืองเองได้ ส่วนรัฐบาลสนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยบางส่วน แต่หากชาวบ้านจะต้องการสร้างบ้านใหม่ หรือซื้อที่ดินใหม่ก็จะต้องรับภาระ โดยใช้เงินจากกองทุนให้สินเชื่อ ซึ่งตอนนี้ พอช.ทำอยู่ 260 เมือง ทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่า 1,400 ชุมชน 86,000 กว่าครัวเรือน ถ้าคิดเป็นคนก็มากกว่า 400,000 คน แล้วที่ได้รับการแก้ปัญหาภายใต้โครงการนี้ โดยมีงบประมาณที่สนับสนุนจากรัฐประมาณ 3,000 กว่าล้าน ที่ลงไปในเรื่องระบบสาธารณูปโภคทั่วประเทศ สำหรับ พอช.สนับสนุนเงินกองทุนเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน และสร้างที่อยู่อาศัยแล้วกว่า 2,900 ล้านบาท

ในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมไปถึง สงขลาและสตูล ผอ.พอช.บอกว่า ส่วนนี้จะเป็นโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้โดยเป็นโครงการซ่อมแซมและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะให้กับครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเดิมทีเสนอไปที่รัฐบาลจะทำใน 120 ตำบล ซึ่งรวมการแก้ไขปัญหาที่ดินใน 20 พื้นที่ แต่ขณะนี้รัฐบาลอยากให้เราให้ความสำคัญกับ 696 หมู่บ้านที่ยากจนก่อน

นางทิพย์รัตน์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ก็จะมีการทำเรื่องสภาองค์กรชุมชน เนื่องจากว่า พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ออกเมื่อเดือนมกราคม 2551 และให้ พอช.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุน สภาองค์กรชุมชนระดับตำบล คือจะทำอย่างไรให้องค์กรชุมชนระดับตำบลมีการรวมตัวกัน มีเวที เกิดเป็นสภา ที่จะสามารถมาพูดคุยปัญหา วางแผนแก้ปัญหาตัวเองและบูรณาการแผนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือว่ามีส่วนที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญโครงการต่างๆ หรือแผนของอปท.ในพื้นที่ หรือจะทำอย่างไรให้สภาองค์กรชุมชน หนุนเสริมองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืนขึ้น พึ่งตนเองได้ เราก็มีหน้าที่สนับสนุนการจดแจ้ง การจัด ตั้งสภา รวมทั้งการจัดเวทีประชุม ระดับจังหวัด ระดับชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่ พอช.ทำ

ส่วนยุทธศาสตร์ข้างหน้าของ พอช. นางทิพย์รัตน์ บอกว่า ยุทธศาสตร์ของพอช.ข้างหน้าที่สำคัญคือ การพัฒนาโดยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยที่ตำบลจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่จะทำอย่างไรให้ระดับตำบลสามารถวางแผนตัวเองได้ มีแผนการพัฒนาของตัวเอง ที่เกิดการมีส่วนร่วมทั้งของชาวบ้านและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูการจัดการที่ดิน การจัดการทรัพยากร แก้ปัญหาต่างๆ ของคนในชุมชน ในระดับตำบลแล้วยกขึ้นมาระดับจังหวัด เกิดการบูรณาการแผนกับจังหวัด นี่คือทิศทางข้างหน้าที่ พอช.ให้ความสำคัญ

“ปัจจุบันเรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรชุมชนระดับล่าง เรื่องความไม่มั่นคงของที่ดิน อันนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่เราจะให้การสนับสนุน ในการสร้างความเข้มแข็ง ในเรื่องการจัดการที่ดิน ทำอย่างไรให้องค์กรชุมชนในพื้นที่สามารถจัดการเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ทุนของตัวเอง โดยการบูรณาการทุนของตัวเอง และเกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้”

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า ในโอกาสที่ พอช.จะย่างเข้าสู่ปีที่ 10 เราจะเน้นในการใช้ยุทธศาสตร์พื้นที่เป็นตัวตั้ง และจะเน้นในเรื่องการพัฒนาเชิงคุณภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราได้ทำงานในเชิงปริมาณมามากแล้ว ต่อไปก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะยกระดับ ให้เกิดการทำงานที่เป็นเชิงคุณภาพ ทำให้องค์กรชุมชนมีอิสระ สามารถวางแผนตัวเองได้ และต่อไปข้างหน้าเขาก็จะเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ ได้ สามารถที่จะเชื่อมโยงโดยตรง โน้มน้าวแผนงานของหน่วยงานอื่น ปรับมาสู่แผนของชุมชน

เรื่องของสวัสดิการชุมชน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ พอช.สนับสนุนชุมชนให้ทำเรื่องสวัสดิกการของตัวเอง โดยมีการออมทรัพย์เพื่อจัดสวัสดิการดูแลคนในชุมชน ในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญ และได้ให้การสนับสนุน อย่างเช่น 3,100 ตำบลที่ทำสวัสดิการชุมชนมาแล้ว รัฐบาลก็จะสมทบให้ รวมทั้งจะมีการขยาย เรื่องของสวัสดิการชุมชนไปอีก 2,000 ตำบล ก็เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ระบบสวัสดิการชุมชน มีการจัดการที่ดี และสามารถดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตายได้ในพื้นที่ของตัวเอง

“พอช.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน โดยชุมชนเป็นตัวหลักในการทำงาน ในการพัฒนา ถ้าเป็นคำจำกัดความ พอช.คงเป็นเพื่อนกับองค์กรชุมชน” นางทิพย์รัตน์ กล่าว

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

‘กาแลตาแป’ ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง

โดย : ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20/10/2552 หน้าที่ 7 หัวข้อข่าว “คอลัมน์ : เกาะติดวิกฤติไฟใต้ : กาแลตาแป


“เมื่อสักครู่เองที่ชาวบ้านบอกว่ามีเจ้าหน้าที่มาเก็บกู้ระเบิดที่ตลาดเช้า”

“มีการยิงถล่มกันอีกแล้วเมื่อคืนตั้งหลายที่ ไม่รู้ว่ามีคนเสียชีวิตบ้างหรือเปล่า”

“ยาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนออกมาพูดว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเลย แสดงว่าเขากำลังโกหก”


เรื่องเล่า ข้อสงสัย หรือประเด็นคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงหรือสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ข้างต้น อาจกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยามนี้ จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า เช้าไม่กี่วันที่ผ่านมาที่ผู้เขียนเดินไปสัมผัสวิถีชีวิตยามเช้าในตลาดกลางเมืองนราธิวาส พบว่าผู้คนยังคงเดินกันพลุกพล่านล้นหลาม ทั้งที่ไม่กี่นาทีที่ผ่านมาเพิ่งเกิดเหตุระทึกขวัญด้วยมีข่าวการวางระเบิดในตลาด หรือไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถจับกุมขบวนการขนยาเสพติดได้เป็นระยะๆ แต่ที่เล็ดลอดผ่านเข้าสู่พื้นที่ได้นั้น ประชาชนในพื้นที่บอกว่า “มันจะมากมายมหาศาลเพียงใด”

ทุกวันนี้นอกจากเรื่องของการ ‘ทำใจ’ แล้ว ประชาชนจึงต่างต้องพยายามหันมาพึ่งตนเองอย่างสุดๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และที่น่าสนใจคือการช่วยกันสอดส่องเหตุผิดปกติในชุมชน หรือไม่ก็ร่วมกันสร้างชุมชนให้เข็มแข็งเพื่อเป็นเสมือนป้อมปราการที่จะสกัดสิ่งเลวร้ายเข้าสู่ชุมชน แทนที่จะรอแต่ความช่วยเหลือจากภายนอกซึ่งมักจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ต้องแลกเปลี่ยนเสมอ

ห้วงขณะเกิดสถานการณ์ไฟใต้ในพื้นที่ มีความพยายามผลักดันให้ชุมชนเกิดความเข็มแข็งเพื่อจะลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มกันตัวเอง โดยไม่กี่ปีมานี้มีหลากหลายพื้นที่ที่ถูกหยิบยกมาเป็น ‘ชุมชนต้นแบบ’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง หนึ่งในชุมชนที่น่าสนใจก็คือ ‘ชุมชนกาแลตาแป’
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่ครับ

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รองนายกฯ สุเทพ ลงพื้นที่ “บ้านซือเลาะ” เดินหน้าไทยเข้มแข็ง

รองนายกฯ สุเทพ ลงพื้นที่ “บ้านซือเลาะ” เดินหน้าไทยเข้มแข็ง ตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน “ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” ตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และคณะผู้ติดตาม ในพื้นที่หมู่ 4 บ้านซือเลาะ ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเข้าร่วมเวทีประชาคมบ้านซือเลาะ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 180 ครัวเรือน 768 คน มี นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนบ้านซือเลาะให้การต้อนรับ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวชื่นชมและเป็นกำลังใจให้แก่ ผู้นำชุมชน และข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงความต้องการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ทางราชการสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง และประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ครัวเรือนละ 120,000 บาทต่อปี ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายมีความร่วมมือร่วมใจกัน

รองนายกฯกล่าวต่อว่า รัฐบาล ได้จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จจะทำให้เกิดความรัก สามัคคี เกิดความสันติสุขในพื้นที่

นายสะมะแอ หะมะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านซือเลาะ กล่าวว่า รู้สึกดีใจ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดเวทีประชาคมระดับหมู่บ้าน จะได้ทราบความต้องการและความเดือดร้อนที่แท้จริงของประชาชน อันจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด

นางพาสนา ศรีศรัทธา ผู้แทนเครือข่ายโครงการบ้านมั่นคงจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนมาก ซึ่งทางเครือข่ายได้ดำเนินการจัดกระบวนการให้เกิดความร่วมมือกันของชุมชน เริ่มด้วยการรวมกลุ่มกันออมทรัพย์ สำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดแผนงานโครงการตามแนวนโยบายของรัฐบาล


ข่าวโดย : รุสดี ยาเซ็ง

“รองฯสุเทพ” ลั่นกลอง เดินเครื่องแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จชต.

คณะฑูต 17 ประเทศ ผบ.ทบ. ข้าราชการ และ 4 เสาหลักชุมชน ร่วมประชุมขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัด รองฯสุเทพ แจง รัฐตั้งใจเทงบ 6.3 หมื่นล้านบาท พัฒนารอบด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ครัวเรือนมีรายได้ทะลุ 120,000 บาทต่อปี อาศัย 4 เสาหลักแกนขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตีกลองเปิดประชุมการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก คณะฑูตจาก 17 ประเทศ ประกอบด้วย คณะฑูตกลุ่มประเทศโอไอซี(องค์กรมุสลิมโลก) คณะฑูตกลุ่มประเทศอาเซียน และผู้แทนชุมชน 4 เสาหลัก(ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำธรรมชาติ) จากหมู่บ้านเป้าหมาย 696 หมู่บ้าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม

นายสุเทพ กล่าววว่า รัฐบาลมีความตั้งใจและมั่นใจว่า ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของผู้นำ 4 เสาหลัก จะทำงานร่วมกับกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่างๆ จนสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาอย่างจริงจัง

รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณพิเศษ 63,319 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านถนน โรงพยาบาล การศึกษา โรงเรียน ระบบชลประทาน เศรษฐกิจครัวเรือน อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ตลอด 3 ปี และเราได้ให้หน่วยงานช่วยกันเลือกพื้นที่เป้าหมายไว้ชัดเจนคือ 696 หมู่บ้าน และกำหนดรายได้เป้าหมายให้ครอบครัวละ 120,000 บาทต่อปี

“ผมขอให้ทุกคนจำตัวเลขนี้ไว้ เราจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จวัดกันที่เลขนี้” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เราต้องมาปรึกษาหารือท่าน 4 เสาหลักที่ต้องอำนวยความยุติธรรม ในการคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายเพื่อที่จะได้รับโครงการอย่างแท้จริง และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งท่านต้องเลือกครัวเรือนให้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม เพราะความจำเป็นในแต่ละอาชีพใช้เงินไม่เท่ากัน มีการลงทุนที่แตกต่างกันไป หากมีกฎ ระเบียบราชการที่เคร่งครัดมากเกินไปให้แจ้งกับ ศอ.บต. แม่ทัพ นายอำเภอ เพื่อหาแนวทางแก้ไขระเบียบเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 120,000 บาทต่อปี สำหรับปีนี้ทำใน 696 หมู่บ้าน และปีต่อไปจะกำหนดพื้นที่เป้าหมายใหม่อีกครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สงขลาจัดเวทีเหลียวหลัง..แลหน้า..จัดทัพ เพื่อขยับงานพัฒนาฯ


เครือข่ายองค์กรชุมชน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสงขลาจัดเวทีสัมมนา “เหลียวหลัง..แลหน้า..จัดทัพ ปรับขบวนชุมชนสงขลา” เพื่อกำหนดทิศทางงานพัฒนาชุมชน

เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ฝึกอบรม สำนักงานด่านกักกันสัตว์สงขลา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายองค์กรชุมชน , ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบล หน่วยงานภาคีสนับสนุน นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ร่วมกันจัดการสัมมนาเพื่อทบทวนสรุปบทเรียน ผลการดำเนินงาน และกำหนดทิศทางงานพัฒนาชุมชน รวมทั้งการจัดกลไกการดำเนินงานของภาคประชาชนในจังหวัดสงขลา ภายใต้ชื่องาน “เหลียวหลัง..แลหน้า..จัดทัพ ปรับขบวนชุมชนสงขลา” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ (พอช.)

สำหรับเนื้อหาการสัมมนา เริ่มจากการนำเสนอภาพรวมงานพัฒนาในจังหวัดสงขลาแล้ว มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสรุปผลการดำเนินงานของขบวนงานพัฒนาของเครือข่ายต่างๆในจังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย
1) เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ที่มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก ซึ่งมีประเด็นงานพัฒนาในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน การจัดการทรัพยากรและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน การป้องกันและรับมือภัยพิบัติของชุมชน การพัฒนาแผนแม่บทชุมชน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน การส่งเสริมบทบาทผู้หญิง การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้,ศูนย์ข้อมูลชุมชน และการพัฒนาสื่อชุมชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการสรุปผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจัดตั้งในปี 2551 จำนวน 18 ตำบล และจัดตั้งในปี 2552 จำนวน 18 รวมเป็น 36 ตำบล รวมทั้งการสรุปบทเรียนการดำเนินงาน ทั้งปัญหา อุปสรรค และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินงาน
2.) เครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ซึ่งขับเคลื่อนงานโดยนักพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การสนับสนุนจาก สช. , สปสช. , สจรส. , สกว. อบจ.สงขลา ฯลฯ ซึ่งมีการดำเนินงานเน้นที่การสร้างสุขภาพ และการสร้างสุขในชุมชน โดยมีเนื้องานย่อย 14 ประเด็นงาน
จากนั้นมีการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย การอภิปรายเพิ่มเติม และระดมความคิดเห็นเรื่องทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสงขลาในปี 2553 แต่ละตำบลได้จัดทำแผนการพัฒนาของตำบลมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งสรุปทิศทางสำคัญๆได้ดังนี้
1.การพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่าย
- การพัฒนาศักยภาพสภาองค์กรชุมชนตำบล
- การขยายพื้นที่การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล
- การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชน
- การบริหารจัดการที่ดี
2.การพัฒนาชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
- งานพัฒนา (ตามประเด็นงานพัฒนาของพื้นที่) ภายใต้สภาองค์กรชุมชนตำบล และเครือข่ายเชิงภูมินิเวศ
3.การประสานภาคี และการผลักดันเชิงนโยบาย
- การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับ
- การบูรณาการแผนการทำงานกับภาคีทุกระดับ
- การรณรงค์และการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย

สุดท้ายเป็นการหารือเพื่อจัดกลไกการดำเนินงาน โดยในวงสัมมนามีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งยึดหลักการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยแบ่งการขับเคลื่อนงานพัฒนาออกเป็นกลุ่มอำเภอ มี 4 กลุ่มๆละ 4 อำเภอ และมีกองเลขากลางเป็นผู้ประสานงานในระดับจังหวัด ทั้งนี้จะมีคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดจะเป็นผู้ดูภาพรวม และคอยกำกับ ติดตามหนุนช่วย ซึ่งคณะทำงานฯดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนองค์กรชุมชน นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และตัวแทนหน่วยงาน รวมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นปราชน์ชาวบ้านและนักวิชาการที่คลุกคลีกับงานชุมชนเป็นที่ปรึกษา

ทั้งนี้ผลจากการสัมมนา ได้ก่อให้เกิดมติใหม่ในการพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ เกิดแนวทางการบูรณาการแผนงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ โดยยึดเอาประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้งและใช้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เตรียมจัดเวทีทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้


เครือข่ายภาคีประชาสังคมภาคใต้ ตั้งวงหารือเตรียมจัดเวทีระดับจังหวัดเพื่อระดมความคิดเห็นในการวางแผนพัฒนาภาคใต้

เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552 ที่ห้องประชุม A301 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.หาดใหญ่) มีการประชุมของเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ตัวแทนชุมชน และตัวแทนองค์กรสนับสนุน อาทิ พอช.ภาคใต้ สสส. เพื่อหารือวางแผนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการกำหนดแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคใต้


สืบเนื่องมาจากรัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาภาคใต้ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และระบบการคมนาคมขนส่ง ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมทั้งเขื่อนต่างๆเพื่อนำน้ำดิบไปป้อนระบบอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนในภาคใต้ จึงเป็นเหตุให้ชุมชนและเครือข่ายประชาชนในภาคใต้ ประชาสังคมด้านสุขภาพ และองค์กรพัฒนาเอกชน มีความเห็นร่วมกันว่าควรนำเสนอประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนของคนใต้” ต่อรัฐบาล ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เอาเข้าสู่วาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือให้เป็นข้อเสนอของที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้คนใต้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้ที่สอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของคนใต้

จากกระบวนการยกร่างเอกสารหลักและมติเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้มีแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะประเด็น เพื่อทำหน้าที่ยกร่างเอกสารหลักและมติดังกล่าว พร้อมทั้งจัดทำเวทีที่ให้คนใต้เข้าถึงข้อมูลของแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยกร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และนำเสนอประเด็นที่ต้องทบทวนในแผนพัฒนาภาคใต้ และข้อเสนอของการกำหนดแผนอยู่เย็นเป็นสุขของภาคใต้ ทางคณะทำงานได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในการจัดเวทีภาคใต้มาแล้ว ในวันที่ 11-12 กันยายน 2552 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวมาเป็นแนวทางการยกร่างเอกสารหลักและมติ ซึ่งคณะทำงานได้ดำเนินการยกร่างแล้วในเบื้องต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นมีความคาดหวังว่าเสียงของคนใต้จะได้ถูกนำเสนอในระดับนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งเสนอผ่านที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้มีการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ และชะลอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบครบวงจรไว้ก่อน และให้รัฐบาลและ สศช. ทบทวนกระบวนการมีส่วนร่วมใหม่ ซึ่งคนใต้ต้องร่วมวางแผนและนำเสนอ

โดยผลของการหารือ ได้กำหนดให้มีการจัดเวทีระดับจังหวัด ซึ่งต้องออกแบบตามบริบทของพื้นที่ แต่เน้นที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ การเชื่อมต่อข้อมูล การทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ และระดมข้อเสนอแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนจากพื้นที่ โดยช่วงเวลาที่จัดส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2552

เป้าหมายจึงมิได้อยู่ที่เอกสารนำเสนอรัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้น แต่หวังว่ากระบวนการทำงานดังกล่าวจะทำให้คนใต้ได้เข้าใจการวางแผนการพัฒนาประเทศ และชุมชนทั้งระบบและครอบคลุมในหลายมิติ ขณะเดียวกันก็สามารถวางแผนการพัฒนาจากแผนของชุมชน เพื่อนำเสนอต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงแผนการพัฒนาประเทศ เช่น แผนฯ ที่ 11 ซึ่งควรจะมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นจากสำนึกของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เสนอรัฐบาล 6 ข้อ แก้ปัญหาที่ดินคนจน


เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ร่วมกับ พอช.ภาคใต้ จัดงาน สมัชชาการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ เสนอ 6 ข้อแก้ปัญหาที่ดิน ต่อรมต.สาทิตย์ ตั้งกก. ที่มีชุมชนเข้าร่วมในระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัด แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ จัดงานสมัชชาการจัดการที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินภาคใต้ โดยเชิญ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดงาน พร้อมรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเน้นการเคลื่อนผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนในพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัด พื้นที่สวนปาล์มใน จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิที่มีบทบาทแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน เครือข่ายองค์กรชุมชนคนจนเมืองภาคใต้ ได้ร่วมกันดำเนินการการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้

ด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ 46 เมือง 109 โครงการ ครอบคลุม 251 ชุมชน 12,253 ครัวเรือน คณะกรรมการเมืองมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชัดเจนมีเพียง 14 เมือง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมทั้งเมืองเริ่มนำร่องที่เมืองสงขลา ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินรัฐ (การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ กรมพานิชย์นาวี) โครงการส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งบ้านมั่นคงเมือง และบ้านมั่นคงชนบท

ด้านการแก้ไขปัญหาที่ดิน นับตั้งแต่การแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเน้นการใช้ข้อมูล แผนที่ และคณะทำงานร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ถือเป็นชุดประสบการณ์ที่กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ จากนั้นได้เริ่มการแก้ไขปัญหาที่ดินภายใต้ ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชน หรือ ศตจ.ปชช.ตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ขณะนี้มีพื้นที่ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินครบทั้ง 14 จังหวัด 60 อำเภอ 113 ตำบล 426 หมู่บ้าน

พื้นที่ที่มีการจัดทำข้อมูลแก้ไขปัญหาที่ดินและทำงานร่วมกับ อบต. เช่น ตำบลขอนหาด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมทั้งส่งผลให้อบต.หลายแห่งตื่นตัวในการจัดทำข้อมูลแผนที่ระดับตำบล นอกจากนั้นได้มีหลายพื้นที่ได้พัฒนาเอกสารรับรองสิทธิการครอบครองที่ดินที่เริ่มจาก “โฉนดช้างดำ” บ้านสระพัง การรับรองสิทธิ์ที่ดินและการปลูกต้นไม้ในเขตป่า ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ และล่าสุดได้มีการทำเอกสารรับรองสิทธิ์ โดยสภาองค์กรชุมชนที่ ต.ท่าตะโก จ.ชุมพร

ในช่วงปลายปี 2550 ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินในบริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเริ่มพื้นที่นำร่องที่อำเภอบาเจาะ ที่ได้มีการจัดทำข้อมูล แผนที่ทำมือ แผนที่ในระบบ GIS นำเสนอคณะอนุกรรมการที่ดิน ศจพ.และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจนได้มติ ครม. รองรับการแก้ไขปัญหา แต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้เกิดการหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง จากพื้นที่นำร่องอ.บาเจาะได้ขยายให้ครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอ 25 ตำบล โดยมีคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีที่ ผอ.ศอ.บต. เป็นประธาน

นายประยงค์ หนูบุญคง ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ กล่าวว่า เครือข่ายที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคใต้ มีข้อเสนอต่อนโยบายรัฐบาลสนับสนุนดังนี้

หนึ่ง ให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงแต่ละอำเภอ เพื่อให้นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระดับท้องถิ่น(อำเภอ/เมือง) ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกลุ่มผู้เดือดร้อน ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในสัดส่วนที่เท่ากัน


สอง ให้นายกรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาชนผู้เดือดร้อนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะทำงานทั้งหมด โดยให้ผู้แทนของภาคประชาชนเป็นเลขานุการร่วม


สาม ให้มีการปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎกระทรวง หรือระเบียบคำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ระเบียบว่าด้วยการเช่าที่ดินและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ


สี่ ออกกฎหมาย ที่ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องสิทธิในที่ดินร่วมกัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย


ห้า เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อสรุปในจังหวัดร่วมกับหน่วยงาน แต่ยังติดขัดข้อกฎหมายบางประการ เช่น กรณีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดีทับที่ดิน ของชุมชน กรณีทุ่งลานโย อ.ป่าพะยอม กรณีพื้นที่ชุมพล อ.ศรีนครินทร์ กรณีพื้นที่ ตำบลลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง พื้นที่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ต.ทุ่งมะพร้าว ต.ลำแก่น ต.ท้ายเหมือง จ.พังงา ต.ฉลุง ต.คูหาใต้ ต.เขาพระ จ.สงขลา ต.ตะเสะ ต.เขาไม้แก้ว ต.บ่อหิน ต.เกาะลิบง ต.ปะเลียน จ.ตรัง ต.ขอนหาด ต.ทางพูน จ.นครศรีธรรมราช ต.ตะโก จ.ชุมพร ต.เขานิเวศน์ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง กรณีขอเช่าที่ดินรถไฟ สายสงขลา-หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เทศบาลเมืองท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีขอเช่าที่ดินราชพัสดุเทศบาลเมืองท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีที่ดินสาธารณะประโยชน์พื้นที่รังนกออก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พื้นที่แหลมขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา


และประการสุดท้าย สนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นแกนหลัก สนับสนุนพื้นที่นำร่องกรณีโฉนดชุมชน หรือสิทธิถือครองร่วมกันของชุมชน และกองทุนที่ดินระดับพื้นที่

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสัญญาเช่าที่ดินให้ชุมชน

คลิ้กที่ลูกศรเพื่อดูวีดีโอ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในเขตเมือง และมอบโฉนดชุมชนให้กับตัวแทนเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยภาคใต้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 ตุลาคม 2552 ที่หอประชุมวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีมอบสัญญาเช่าที่ดินระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ใ ห้กับชุมชนเมืองสงขลา 5 ชุมชน เนื่องในโอกาสการจัดงานสมัชชาการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยขบวนการชุมชนและท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ร่วมกับเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยภาคใต้ จัดขึ้น เพื่อเป็นการนำร่องในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีตัวแทนชุมชนผู้เดือดร้อนใน 14 จังหวัดภาคใต้และส่วนราชการเข้าร่วมประมาณ 1,500 คน

โดย 5 ชุมชนในเขตพื้นที่เมืองสงขลา ซึ่งได้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังมีการยกเลิกการเดินรถไฟระหว่างสถานีรถไฟสงขลา-หาดใหญ่ ซึ่งมีปัญหาทั้งด้านคุณภาพชีวิต และความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ได้เข้ามาช่วยจัดกระบวนในชุมชนและประสานกับภาคส่วนต่างๆรวมทั้งสนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อในการพัฒนาเป็นโครงการบ้านมั่นคง

นอกจากนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบเอกสารรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ชุมชน ในเขตชนบทบทในลักษณะของโฉนดชุมชน หรือสิทธิถือครองร่วมกันของชุมชน เริ่มจาก “โฉนดช้างดำ” บ้านสระพัง จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นโฉนดชุมชนนำร่องแห่งแรก

โดยก่อนหน้าที่จะเดินทางมาที่หอประชุมวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดป้ายชุมชนบ้านมั่นคงที่ชุมชนเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา

สำหรับกระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ มีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงมีพื้นที่ 46 เมือง 109 โครงการ ครอบคลุม 251 ชุมชน 12,253 ครัวเรือน มีคณะกรรมการเมืองเป็นหลักในการบริหารจัดการ สำหรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่สามารถเช่าที่ดินของรัฐ โดยเฉพาะที่ดินของการรถไฟฯมีการนำร่องที่จังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก และกำลังจะขยายผลไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินชนบทในภาพรวมนั้น มีการจัดกระบวนการให้กับชุมชนโดยเฉพาะการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศด้านภูมิศาสตร์(GIS)เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหา การประสานและเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการออกกรรมสิทธิร่วมในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดระเบียบเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน ซึ่งมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่นการออกโฉนดชุมชนในลักษณะกรรมสิทธิร่วม การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของรัฐ หรือการเช่าที่ดินของรัฐ เช่นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ให้ชุมชนได้เช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันของชาวชุมชนในพื้นที่ โดยมีการปรับผังบ้านในชุมชนใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีระบบสาธารณูปโภคและน่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น และจะเร่งแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

นายกฯ ย้ำ อปท.ร่วมแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำบทบาท อปท.ร่วมแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการสัมมนาบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยครบวงจร

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2552 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และผู้นำชุมชนในพื้นที่จากท้องถิ่นทุกภาค 140 แห่ง กว่า 400 คน เข้าร่วม

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชนเมืองและชนบท ในคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวรายงานสรุปว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาสมัชชา “การจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยขบวนชุมชนและท้องถิ่น” ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-19 ตุลาคม 2552 โดยได้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อประมวลภาพรวมสู่การสัมมนาสมัชชาการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2552 ณ ห้องประชุมใหญ่ สหประชาชาติ โดยวัตถุประสงค์การจัดงานมุ่งเน้นให้เกิดการตื่นตัวตระหนักถึงความสำคัญ สร้างความเชื่อมั่นในการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัยและงานพัฒนาที่ต่อเนื่องในแนวทางโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีบทบาทสำคัญ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เห็นตัวอย่างรูปธรรม นำไปสู่การวางแนวทางที่ชุมชนท้องถิ่นจะทำร่วมกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินกระจายทั่วทุกจังหวัด โดยในเรื่องที่อยู่อาศัยนั้นดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดตามโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546 จนเดือนกันยายน 2552 เกิดผลการดำเนินการครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ใน 260 เมือง/เขต มีโครงการที่มีการอนุมัติทั้งสิ้น 745 โครงการ ครอบคลุม 1,319 ชุมชน ใน 80,201 ครัวเรือน จาก 76 จังหวัด ส่วนที่ดินทำกินนั้นได้มีการดำเนินการในพื้นที่ 556 ตำบล 2,349 หมู่บ้าน ประมาณ 64,000 ครัวเรือน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ เรื้อรังมานาน และเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในชุมชนแออัด ที่อยู่ในที่ของรัฐบ้าง เอกชนบ้าง และขาดความมั่นคง มั่นใจ รวมทั้งมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคมในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของปัญหาในชุมชนเมือง ที่มีปัญหาสังคมแทรกซ้อนเข้ามา ทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องเยาวชน ไปจนถึงปัญหาในชนบท ซึ่งเป็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับประชาชน

ในส่วนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโฉนดชุมชน เรื่องบ้านมั่นคง และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีประสบการณ์ความรู้ได้มาช่วยวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อได้ แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มักจะไม่ได้เชื่อมโยงกันในแง่ของท้องถิ่นกันส่วนกลาง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นถือว่ามีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราสามารถที่จะระดมให้ท้องถิ่นเข้ามาทำงานในเรื่องนี้ได้ ก็มั่นใจว่าจะทำให้การแก้ปัญหานี้มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด มากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่ผมคงจะต้องฝากไว้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยคือว่า ผมเองในฐานะที่สนับสนุนและผลักดันเรื่องของการกระจายอำนาจมาโดยตลอด อยากที่จะเห็นการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่เหมือนกับการทำงานของระบบราชการ เพราะว่าเราหวังที่จะเห็นว่าการกระจายอำนาจที่สุดแล้ว ไม่ได้กระจายไปอยู่ที่เพียงผู้บริหารหรือสมาชิกของสภาท้องถิ่น แต่อำนาจนั้นกระจายไปสู่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยผ่านการตัดสินใจจากตัวบุคคลก็ดี หรือจากการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรชุมชนก็ดี ซึ่งถ้าหากว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยึดถือการทำงานในลักษณะนี้ ผมมั่นใจว่าจะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาในเรื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลกับองค์กรชุมชนต่าง ๆ นั้นขณะนี้ครอบคลุมหลาย ๆ ด้าน อย่างเรื่องสวัสดิการชุมชน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ 700 กว่าล้านบาท เพื่อที่จะเป็นการสนับสนุนเรื่องของสวัสดิการชุมชน ซึ่งถือเป็นรูปธรรมของการทำงานที่รัฐบาลและท้องถิ่นกำลังเข้าไปจับมือกับองค์กรในชุมชนที่สามารถรวมตัวประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง มีวินัย มีระบบ ไม่เพียงเฉพาะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มองการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในแง่ของความมั่นคงและความยั่งยืนด้วย ซึ่งการขยายผลต่อยอดเรื่องของกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะได้ดำเนินการต่อไป

ในส่วนของที่อยู่อาศัยนั้น รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดตามโครงการบ้านมั่นคง และเพิ่มเงินจาก 68,000 บาท เป็น 80,000 บาทต่อครอบครัวซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะเป็นงบประมาณที่สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ สำหรับเรื่องสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคง ตั้งเป้าไว้ว่ายอดเงินทั้งหมดจะเป็น 5,000 ล้านบาท แต่จะมีการดำเนินการในการทยอยจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ คาดว่าวันที่ 13 ตุลาคมนี้จะสามารถอนุมัติงบประมาณก้อนแรกได้

ส่วนเรื่องที่ดินทำกิน รัฐบาลผลักดันในเรื่องโฉนดชุมชน ซึ่งขณะนี้การยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งกระทรวงการคลังก็อยู่ในระหว่างการที่จะปรับปรุงกฎหมายในเรื่องของภาษีทรัพย์สินและที่ดิน ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกองทุน เพื่อทำในเรื่องของธนาคารที่ดินขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ฝากข้อคิดว่า ท้องถิ่นน่าจะต้องมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในเรื่องของการจัดทำระบบข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลแผนที่ แผนการใช้ที่ดิน และแผนการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จะมารองรับในเรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัยที่จะทำให้ประชาชนนั้นมีความมั่นคงได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ครบวงจรได้อย่างแท้จริงต่อไป
---------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สงขลาประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย

เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินโดยท้องถิ่นเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ที่ห้องสมิหลา พูนทรัพย์ โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินโดยท้องถิ่นเป็นหลัก จังหวัดสงขลา โดยมีคณะทำงานและตัวแทนพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมประมาณ 40 คน

โดยการประชุมเป็นการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มีการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจไปแล้วทั้ง 19 ตำบลเป้าหมาย ใน 7 อำเภอ โดยแยกเป็นพื้นที่ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย 11 ตำบล และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน 8 ตำบล มีการตั้งคณะทำงานในระดับหมู่บ้าน และตำบล โดยส่วนใหญ่ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงระยะสองเดือนที่ผ่านมา มีข้อมูลที่สามารถจะประมวลเป็นแผนงานได้แล้วจำนวน 4 ตำบล ประกอบด้วย ท่าหิน กำแพงเพชร เขาพระ และสะกอม และ ซึ่งมีแผนจะจัดเวทีประชาคมเพื่อประชาพิจารย์แผนเร็วๆนี้ก่อนที่จะเสนอโครงการเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ต่อไป


นอกจากนี้เป็นการออกแบบกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งกลุ่มผู้เดือดร้อน แกนนำชุมชน ฝ่ายปกครอง อปท. ศอ.บต. กอ.รมน. และ พอช. รวมทั้งการเสนอรายชื่อคณะทำงานสนับสนุนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินโดยท้องถิ่นเป็นหลักจังหวัดสงขลา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีตัวแทนหน่วยงานและตัวแทนชุมชนเป็นกรรมการ โดยมี พมจ.สงขลา ตัวแทนชุมชนและ เจ้าหน้าที่ พอช.เป็นเลขานุการร่วม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง และนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ 2551

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

5 จังหวัดชายแดนใต้ประชุมบูรณาการแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย


ภาคี 5 จังหวัดชายแดนใต้ประชุมบูรณาการแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินโดยท้องถิ่นเป็นหลัก พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ที่โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ศอบต. กอ.รมน. พมจ. ผู้ว่าฯและตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พอช.ซึ่งนำโดยนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผช.ผู้อำนวยการฯ นายอัมพร แก้วหนู เจ้าหน้าบริหารอาวุโส นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผจก.สนง.ปฏิบัติการภาคใต้ และตัวแทนชุมชนในพื้นที่เป้าหมายโครงการฯ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายให้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินโดยท้องถิ่นเป็นหลัก ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงาน โดยยึดเอาชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

ดังนั้นเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน จึงได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกัน

โดยโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เป้าหมาย 5 จังหวัดประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล 696 หมู่บ้าน 100,000 ครัวเรือน และนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแบบบูรณาการ 20 ตำบล

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สภาองค์กรชุมชนฯ สงขลาจัดประชุมระดับจังหวัด


ที่ประชุมระดับจังหวัดสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาจัดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 1/2552 สรุปผลการดำเนินงานในรอบปี และนำเสนอแผนการพัฒนาต่อจังหวัด

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา สภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาจัดการประชุมระดับจังหวัดสมัยสามัญครั้งที่ 1/2552 โดยมีนายเมธี ณ นคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานการประชุม โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้วจำนวน 36 ตำบล และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งที่ปรึกษาเข้าร่วม ประมาณ 90 คน

นายประพาส บัวแก้ว ในฐานะตัวแทนที่ประชุมระดับจังหวัด ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจัดตั้งในปี 2551 จำนวน 18 ตำบล ว่า มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเกือบทุกสภาฯ มีการพัฒนาศักยภาพสภาองค์กรชุมชนตำบล การจัดทำแผนและบูรณาการแผนกับภาคีในระดับพื้นที่และมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี นอกจากนี้ในปี 2552 มีการขยายพื้นที่จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเพิ่มเติมอีก 18 ตำบล รวมเป็น 36 ตำบล โดยก่อนหน้านี้มีการประชุมเครือข่ายทั้ง36 ตำบล เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันในระดับจังหวัดแล้ว

ด้านนายเมธี ณ นคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าว ในการเปิดการประชุมว่า “ตนให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดสงขลามาโดยตลอด เพราะได้ยินชื่อเสียงตั้งแต่ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งที่นี่ และปัจจุบันตนเองก็ได้รับมอบหมายภารกิจด้านชุมชนจากผู้ว่าราชการจังหวัด จึงทำให้ใกล้ชิดกับพี่น้องชุมชนมากขึ้น จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง โดยดูได้จากเครือข่ายชุมชนที่ทำกิจกรรมลดรายจ่ายวันละบาทเพื่อจัดสวัสดิการชุมชน ซึ่งเหลืออีกไม่ถึงสิบตำบลก็จะครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว อีกอย่างหนึ่งตนเป็นประธานกรรมการรับรององค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชน ซึ่งเห็นได้ว่ามีองค์กรชุมชนจำนวนมากที่มาขอจดแจ้งรับรององค์กร และต้องให้เครดิตกับ พอช.ด้วย ที่ช่วยกันทำงานเพื่อพี่น้องชุมชน จนเรามีวันนี้
สภาองค์กรชุมชนตำบล คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพี่น้องขบวนชุมชนสงขลา แต่ใหม่ตรงที่มี พรบ.ซึ่งเป็นกฎหมายมารองรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะจะได้มาช่วยคิด ช่วยกันทำงาน คนที่รู้ปัญหาในชุมชนมากที่สุดก็ต้องเป็นคนในชุมชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็มีวิธีคิดแบบราชการ”


หลังจากนั้นนายระนอง ซุ้นสุวรรณ เป็นตัวแทนนำเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา
1. การเชื่อมโยงองค์กรชุมชนและการประสานภาคี
2. สร้างความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน
3. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
4. การรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน
6. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้
และข้อเสนอเชิงนโยบาย 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้รัฐแก้ปัญหาพื้นที่เกษตร(นา) ถูกรุกด้วยพืชพลังงานและทุนข้ามชาติ 2. ให้เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติด 3. แก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบ 4. แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมและ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการตื้นเขินของทะเลสาบ 6.ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกระดับ 7.ให้เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว

นอกจากนี้ได้ขอให้ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดได้เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือนของจังหวัดด้วย ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้รับปากที่จะรับไปดำเนินการ

จากนั้นเป็นการพิจารณาเรื่องกติกาการประชุมในระดับจังหวัด ซึ่ง อ.ปาฎิหารญ์ บุญรัตน์และคณะได้ไปยกร่าง โดยที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีการลงมติ และนัดให้นำไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีการนัดหมายให้มีการสัมมนาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลาทั้งหมด เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2552 ที่ สสว.12 จ.สงขลา

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เดินมาตามแม่มาแต่เล็ก

(เล็กพริกขี้หนู)
จากเด็กสาวตัวน้อยที่ติดสอยห้อยตามแม่ไปทำงานอาสาพัฒนาเพื่อชุมชนมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา มาวันนี้ น้องแอม หรือ น.ส. จารุเนตร ศรีชู เติบโตเป็น “สาวมหา’ลัย” เต็มตัว

น้องแอม เป็นลูกสาวคนเก่งของคุณแม่รมย์ (พูนทรัพย์ ศรีชู) คุณแม่นักพัฒนาคนเก่งแห่งเครือข่ายชุมชนเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาทะเลสาบสงขลา และยังดำรงตำแหน่งสมาชิกที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน จากจังหวัดสงขลา

แอมเล่าว่าตัวเธอเองอาจไม่ใช่นักกิจกรรมตัวยง แต่ก็ทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยประถมศึกษา โดยเริ่มจากการติดตามแม่ไปเรื่อยๆ กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากงานที่แม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรมมัคคุเทศก์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วิถี โหนด นา เล ที่แม่ทำอยู่ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ที่แอมกับกลุ่มเพื่อนๆในมหาวิทยาลัยร่วมกันดำเนินการ ส่วนหนึ่งก็เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากการงานของแม่

แต่กระนั้น แอมก็บอกว่า สิ่งที่เธอทำมาทั้งหมด รวมๆกันแล้วยังไม่ได้เศษเสี้ยวของงานที่แม่เธอทำ

“แม่แอมเป็นคนเก่งค่ะ แม่ทำงานเก่ง แม่เป็นคนมีความรู้เยอะ เรียกว่าร็เกือบทุกเรื่อง สามารถตอบคำถามแอมและใครต่อใครได้ทุกเรื่อง” แอมพูดถึงแม่ด้วยน้ำเสียง และแววตาที่มีความสุข

ตอนนี้น้องแอมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา สาขาการจัดการผังเมือง ปีสุดท้าย ซึ่งนอกจากเรียนหนังสือแล้วแอมยังทำงานควบคู่ไปด้วย นั่นคืองานเขียนแบบแผนกบริการกลางของบริษัทคู่ธุรกิจกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย อ.ทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช

ที่เลือกเรียนสาขาสาขาการจัดการผังเมือง เธอบอกว่าเพราะต่อไปทุกหมู่บ้านทุกตำบลจะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับผังเมือง และที่สำคัญที่บ้านของแอมกำลังจะมีการจัดผังเมืองและการจัดผังการท่องเที่ยว จึงอยากเรียนเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านนี้เอาไว้ช่วยเหลืองาน สนับสนุนงานของแม่ที่ทำอยู่

“แม้จะรู้ว่าแม่เหนื่อยกับงานที่ทำเพียงใด แต่แอมก็รู้สึกภูมิใจในตัวแม่และภูมิใจ ในงานที่แม่ทำค่ะ” แอมบอกบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อคุณแม่ ก่อนจะเน้นย้ำถึงปณิธานของตัวเอง

“อนาคตแอมอยากกลับมาอยู่บ้าน อยากทำงานอาสาพัฒนาอย่างแม่ค่ะ”


จาก : ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ http://www. oknation.net/blog/STCC

พอช.ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนเตรียมจัดงานวันที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ ปี 2552


สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ กำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ประจำปี 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกระบวนการ การจัดการที่ดินทำกินและที่ดินเพื่ออยู่อาศัยโดยชุมชน ท้องถิ่น ภาคีพัฒนาอื่นๆในภาคเมืองและชนบท และนำเสนอรูปธรรมการแก้ปัญหาแต่ละประเภทที่ดิน รวมทั้งกลไกความร่วมมือในการจัดการระดับพื้นที่ อีกทั้งเพื่อเชื่อมโยงนโยบายเพื่อสนับสนุนการจัดการที่ดินโดยชุมชนท้องถิ่น ในระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2552

สำหรับรูปแบบการจัดงานในปีนี้จะแตกต่างกับปีก่อนๆ โดย ในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 จะแยกกันจัดกิจกรรมในพื้นที่รูปธรรม คือ พื้นที่รถไฟสงขลา(กรณีที่ดินที่อยู่อาศัยเมือง) ณ หอประชุมโรงเรียนมหาวชิราวุธ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

และกรณีการจัดการที่ดินทำกินในเขตชนบท (บ้านมั่นคงชนบท และโฉนดชุมชน) ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 7 ต.เสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะมี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นประธาน

ในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ การสัมมนาเพื่อนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จ การรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการที่ดิน การลงนามในบันทึกความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การมอบโฉนดที่ดินให้ชาวบ้าน และการลงไปดูกิจกรรมในพื้นที่รูปธรรมในพื้นที่บริเวณไกล้เคียง

ส่วนในวันที่ 9 ตุลาคม 2552 และจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน ณ หอประชุมโรงเรียนมหาวชิราวุธ อ.เมือง จ.สงขลา

โดยงานนี้จะเชิญหน่วยงาน และภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 14 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะมีตัวแทนองค์กรชุมชนในภาคใต้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ร่วมพันคน


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พอช. สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ โทรศัพท์ 074-611980

บทกวี "ในนามนิคมอุตสาหกรรม"


ส้มแดดแสดฟ้าสีผ้าอ้อม
แม่ผีย้อมสนธยาด้วยผ้าหม่น
น้ำทะเลสดเขียวก็เปรี้ยวปน
โยนดอกคลื่นขื่นข้นเป็นดวงดวง
เป็นดวงดวงในอ้อมผ้าย้อมสี
แม่ผีกล่อมเห่ทะเลหลวง
ประมงหนุ่มทอดถอนสะท้อนทรวง
เมื่อเห็นคลุ้มพวยยวงเป็นงวงดำ
งวงดำดำงำมืดทะมึนสาย
เรียงรายชายหาดอยู่คลาคล่ำ
ในนามนิคมอุตสาหกรรม
โจมบุกรุกล้ำมากล้ำกราย
กล้ำกรายรุกสู่ตัวหมู่บ้าน
สายพานความเจริญก็เดินสาย
กระเพื่อมน้ำฟ้าเฟือนกระเทือนทราย
โรงงานหลายหลายโรงโขมงดำ
โขมงดำครึ้มคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน
พวยม้วนแล้วหวนย้อนลงมาต่ำ
ในนามนิคมอุตสาหกรรม
เด็กน้อยตาดำดำสูดหายใจ
หายใจใจหายนานหลายปี
แม่ผียิ้มเหี้ยมฟ้าเกรียมไหม้
หวูดหวีดกรีดร้องท่ามปล่องไฟ
ลิกไนท์ไหม้เหม็นอยู่เป็นปี
เป็นปีปีหมู่บ้านชาวประมง
อัสดงแรฟ้าด้วยผ้าผี
ในนามความเจริญบรรดามี
หมู่บ้านกลับไร้ที่จะทำกิน


ทำกินให้เด็กน้อยได้เติบใหญ่
ผ่านไปกลับมีแต่หนี้สิน
ไม่มีแม้นางนวลจะหวนบิน
ปูปลาหมดสิ้นจากทะเล
ทะเลที่เค็มปร่าเบื้องหน้าโน้น
จรดโพ้นขอบฟ้าดูว้าเหว่
ประมงหนุ่มมองฟ้าคาดคะเน
รอลมเพออกเรือกันเมื่อนั้น
เมื่อนั้นเด็กน้อยก็ร้องไห้
ลำไส้บิดม้วนอยู่ป่วนปั่น
ร่ำไห้กอดลูกด้วยผูกพัน
ก่อนฝ่าควันโขมงเข้าโรงงาน.


โดย : มนตรี ศรียงค์ จากนิตยสาร เปลื้อง