จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มาฟังทัศนะของ "พิภพ ธงไชย" กับแผนพัฒนาภาคใต้

นาทีนี้ พูดถึงพิภพ ธงไชย คงไม่มีใครไม่รู้จัก

นับแต่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชื่อของเขาก็กลายเป็น “เซเล็บ” ไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ชื่นชมบ้าง นินทาบ้าง กระทั่งแม้แต่เห็นด้วยหรือ ขัดแย้งต่อสิ่งที่เขาคิดเขาทำบ้าง ก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ของบุคคลที่เข้าไปยืนอยู่ในวงสปอร์ตไลท์ของสังคม

แต่เอาล่ะ อันนั้นไม่ใช่ประเด็น

ขนาด “หัวมันขี้หนู” ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในภาคใต้ทั่วหน้า ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะปล่อยให้มันแห้งขอดอยู่กับถ้วยแกงส้ม

เรื่องของเรื่องก็คือ ท่ามกลางการพยายามผลักดันแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ให้กลายเป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมนับหมื่นนับแสนไร่
เมื่อหลายวันก่อน ณ ห้องบรรยาย 3305 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พิภพ ธงไชย ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเอาไว้ ท่ามกลางผู้ร่วมฟังแน่นขนัดห้อง

“กลุ่มทุนกับนักการเมืองมันร่วมมือกัน แล้วกำหนดทิศทางการพัฒนาให้เป็นทุนนิยมแบบประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นทุนนิยมที่เริ่มต้นอย่างสามานย์ เป็นทุนนิยมที่ไม่สะอาด เพราะต้องการกำไรอย่างเดียว”

พิภพเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงที่ไปที่มาของแผนพัฒนาที่กำลังจะดำเนินการในภาคใต้ ก่อนจะยกตัวอย่างการพัฒนาลักษณะเดียวกันที่กำลังก่อปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่ ร้างผลร้ายให้กับผู้คน กระทั่งต้องหาฐานที่ตั้งใหม่

“นักการเมืองญี่ปุ่นมันก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรเลย ถึงแม้จะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว มันก็ร่วมมือกับกลุ่มทุน กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อที่จะเอาเปรียบประชาชน พอมีบทเรียนที่มินามาตะ ชาวบ้าน นักวิชาการ ต่อสู้หนักเข้า แพ้บ้างชนะบ้าง แต่สุดท้ายก็ขับไล่อุตสาหกรรมที่ไม่สะอาดออกจากญี่ปุ่นหมด แล้วมันก็ย้ายฝุ่นย้ายโรงงานมาตั้งที่เมืองไทย

“อุตสาหกรรมพวกนี้มันไม่คิดอะไรมาก มันเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ถูกที่สุด ที่ถูกที่สุดก็คือ ไม่ต้องดูแล สิ่งแวดล้อม ไม่ต้องดูแลประชาชน หรือผลักภาระไปให้ตกอยู่กับประเทศอื่น อย่างตอนนี้บาปกรรมก็มาตกอยู่ที่เรา ต่อไปถ้าเราขับไล่กันแบบนี้ ก็จะไปตกที่เวียดนาม”

พิภพสาธยายเป็นฉากๆ จนทำให้ใครต่อใครที่อยู่ในห้องประชุมคลายข้อสงสัยว่า ทำไมในการดำเนินศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆตามแผนพัฒนาฯ จึงมักจะมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเป็นโต้โผใหญ่

“ทางญี่ปุ่นนี่เขามีบทเรียนที่รุนแรงกว่าเรา ทั้งง่อยเปลี้ยเสียขา ของพี่น้องเราที่มาบตาพุด อาการยังอยู่ภายในร่างกาย ยังมองภายนอกไม่ค่อยเห็น

“ที่เป็นแบบนี้ก็อย่างที่พูดในตอนแรก คือนักการเมืองกับกลุ่มทุนมันร่วมมือกัน ผมเคยไปอภิปรายที่เวทีจะนะ ทางสภาพัฒน์ฯก็มา ทาง ปตท.ก็มา ตอนนั้นตัวแทนปตท.บอกว่า มีทางเลือกที่จะสร้างโรงแยกแก๊สนอกจากจะนะอยู่ 5-6 ทาง ถ้าจะนะไม่เอา ปัตตานี
ยะลา ก็จะเอา ไม่มีปัญหาอะไร แต่สุดท้ายก็กดดันจะเอาที่จะนะจนได้ ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะนักการเมือง ทหาร ข้าราชการ ไปกว้านซื้อที่ดินไว้ก่อนแล้ว ยิ่งตอนนี้กลุ่มทุนกับนักการเมืองมันเล่นกันหนักเกิน เล่นกันตลอดฝั่งอ่าวไทย”

จากญี่ปุ่น พิภพโยงประเด็นมาถึงจะนะ เพื่อฉายภาพให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่างของแผนพัฒนา ที่มีนักการเมืองและกลุ่มทุนพยายามผลักดันอยู่เบื้องหลัง ก่อนจะเสนอทางแก้

“แม้บางพื้นที่พี่น้องของเราจะยันโครงการต่างๆเอาไว้ได้ แต่ยังไงๆสุดท้าย มันก็ต้องไปแก้ที่การเมืองอยู่ดี เราต้องทำให้การเมืองสะอาด

“ถึงแม้พี่น้องจะรักนายหัวชวนมาก รักประชาธิปัตย์มาก แต่ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าคนที่เซ็นสัญญาโรงแยกแก๊สก็นายหัวชวน ผมจำได้ ตอนคุณทักษิณ ก็มาหลอกลวงพวกเราที่ลานหอยเสียบว่าจะมีอะไรใหม่ ซึ่งมันก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการเมืองแบบนี้ไม่ใช่ทางเดินที่เราต้องการ เราต้องทำ ให้เกิดการเมืองใหม่”

แม้จะไม่ได้ลงลึกว่า การเมืองใหม่ที่จะแก้ไขปัญหานักการเมืองร่วมมือกับกลุ่มทุนกำหนดแนวทางการพัฒนามาตลอดมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แต่พิภพก็ยกวาทะของท่านพุทธทา ขึ้นกล่าวอ้าง เสมือนหนึ่งเป็นวิสัยทัศน์รวบยอดของแนวทางดังกล่าว

“ผมไปอิหร่านมา จึงนึกถึงสัจธรรมที่ท่านพุทธทาสพูดว่า การเมืองกับธรรมะต้องอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน ที่อิหร่านนี่พวกอิหม่ามต่างๆที่ศึกษาธรรมะเป็นนักการเมือง แล้วออกกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักศาสนา

“เราต้องทำกฎหมายกับธรรมะให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้นักการเมือง ปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ประเทศอิหร่าน ผมถามว่า มีคนขัดข้องอะไรไหมเพราะต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของศาสนาที่เคร่งครัด แต่ไปๆมาๆที่อิหร่านคนหนีออกนอกประเทศไม่ถึง 1 % ด้วยซ้ำ”

พิภพยกตัวอย่าง ก่อนจะสรุปในประเด็นนี้ “แม้สถานการณ์โลกจะเปลี่ยน แม้ประเทศไทยอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่เราต้องเปิดประเทศ แต่เราก็ต้องเปิดประเทศอย่างสะอาด ระบบทุนของเราต้องสะอาด ระบบเศรษฐกิจต้องไม่มีระบบเดียวที่สามานย์ ต้องมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างด้วย เช่น ปฎิบัติตามหลักศาสนา มรรค 8 อริยสัจ 4 หรือสรุปก็คือต้องประกาศพื้นที่พัฒนาตามหลักศาสนา”


จาก: ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกษตรกร-เอ็นจีโอ ชูประเด็นเน้นสิทธิเกษตรกรรายย่อย...ผวาทุนต่างชาติดึงคนไทย

เกษตรกร-เอ็นจีโอ ชูประเด็นเน้นสิทธิเกษตรกรรายย่อย เพิ่มอิสระใส่ร่างพ.ร.บ.สภาฯ ผวาทุนต่างชาติดึงคนไทย

กลายเป็นประเด็นร้อนไปแล้วสำหรับการไล่ล่าเช่าซื้อที่ดินของนายทุนต่างชาติ โดยเมื่อไม่กี่วันก่อน ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น วิภาวดี กรุงเทพฯ ภาคีคณะทำงานติดตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ 11องค์กร อาทิ สมัชชาคนจน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สภาเครือข่ายองค์กรประชาชน ร่วมสัมมนานโยบายสาธารณะในเรื่อง “การปฏิรูประบบเกษตรกรรมและพัฒนาสิทธิเกษตรกร” โดยนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรฯ กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์ของเกษตรกรในขณะนี้ว่า เกษตรกรยังประสบปัญหาในรูปแบบเดิมคือโครงสร้างพื้นฐานในภาคเกษตรที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงปัจจัยผลิตถูกแทรกแซงโดยนายทุน รวมไปถึงปัญหาที่ดิน ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องเสียค่าเช่าที่ทำการเกษตรในอัตราที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

นางกิมอัง กล่าวว่า การแฝงตัวเข้าซื้อที่นาของกลุ่มทุนต่างชาติมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆโดยกรณีดังกล่าวนี้แม้จะไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์เพื่อนำไปสู่การจับกุม แต่มีข้อมูลจากเครือข่ายเพื่อนเกษตรกรที่ระบุว่าขณะนี้ถูกยึดที่นาเช่าคืน ทำให้ไม่มีที่ทำกิน ทั้งนี้กลวิธีของกลุ่มทุนข้ามชาติมีความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่อาศัยเพียงตัวกลางประสานขอซื้อที่นา แต่ปัจจุบันมีการตั้งผู้จัดการซึ่งเป็นคนไทยควบคุมบริหารทั้งหมด มีการแบ่งหน้าที่เป็นลำดับซับซ้อนขึ้นโดยที่เชื่อว่าทั้งหมดมีกลุ่มทุนต่างชาติอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตามเห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรที่เรื้อรังมานานวิธีหนึ่งคือการมีตัวแทนเกษตรกรรายย่อยหรือกลุ่มสมัชชาเข้าไปทำหน้าที่ร่วมกำหนดนโยบายร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นที่มาของการผลักดันร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร ฉบับภาคประชาชน

นางกิมอัง กล่าวต่อว่า ภาคีฯเห็นร่วมกันว่าร่างกฎหมายในประเด็นดังกล่าวที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในกระบวนของรัฐสภาซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้เสนอนั้น มีเนื้อหาที่ยังไม่สอดคล้องกับการสนับสนุนด้านสิทธิของเกษตรกร ทั้งการกำหนดนโยบายยังขึ้นตรงกับกระทรวงฯซึ่งส่อให้เห็นว่ามีแนวทางที่ไม่ต่างจากเดิมที่เคยมีมาแล้วก่อนหน้านี้ในภาคราชการ อาจเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา84(8) ที่ระบุให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเกษตรกรได้

นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะคณะยกร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า ร่างข้อกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ดำเนินการขึ้นเพื่อนำไปประกบกับร่างของครม.นั้นได้เน้นประเด็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบของสภาเกษตรกร การมีสมัชชาเกษตรกร จากร่างเดิมที่พบว่ายังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา84(4) อาทิ แนวทางในการคัดเลือกสรรหาสมาชิกสภาฯ ที่มีแนวโน้มว่าเอื้อประโยชน์กับตัวแทนกลุ่มธุรกิจและเกษตรกรรายใหญ่มากกว่ารายย่อย โครงสร้างการบริหารยังมีลักษณะที่ไม่เป็นอิสระจากระบบราชการ รวมถึงบทบาทที่ระบุไว้ยังไม่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการเกษตรกร

ด้านนายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะยกร่าง กล่าวว่า สิทธิเกษตรกรที่ระบุไว้ในร่างดังกล่าวต้องประกอบไปด้วยหลักสำคัญ4ประการ ได้แก่ 1.การถือครองปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างมั่นคง 2.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างเพียงพอ อาทิ การปฏิรูปที่ดินชุมชน 3.การรับประกันความมั่นคงในผลตอบแทนที่ควรได้รับ โดยไม่ใช่การประกันราคา 4.การรักษาวิธีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่เน้นหลักในการดำรงชีวิต ให้เกษตรกรมีอาหารบริโภค สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตเรื่องอาหารได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความเห็นได้มีการพูดคุยกันหลายหลายจากกลุ่มตัวแทนเกษตรกร โดยประเด็นส่วนใหญ่ยังเน้นที่สิทธิที่เกษตรกรจะได้รับ ทั้งการจัดระบบประกันความเสี่ยงของผลผลิตการเกษตร การควบคุมราคาของปัจจัยการผลิต การจัดระบบที่ดินและยุทธศาสตร์ทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติต่ออาชีพเกษตรกรของสังคมส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรกรยังมองว่าอาจไม่จำเป็นต้องส่งร่างภาคประชาชนไปประกบ แต่จะยึดตามร่างของกระทรวงฯก็ได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องตามที่เครือข่ายต้องการ โดยจะส่งตัวแทนไปร่วมในชั้นคณะกรรมาธิการ

จาก : โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลเมืองคอนประชุมสรุปผลการดำเนินงาน



เครือสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี


เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประชุมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้วเข้าร่วม 10 ตำบล ประกอบด้วย ต.กะปาง ต.นาสาร ต.ท่าดี ต.ท่าซัก ต.บางนพ ต.โมคลาน ต.ไชยมนตรี ต.ร่อนพิบูลย์ ต.นาทราย และ ต.ท่าเรือ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รวมประมาณ 40 คน โดยมีนายช่วน ยอดวิจารณ์ สมาชิกที่ประชุมระดับชาติ ฯ และอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ดำเนินการประชุม


ในช่วงแรกของการประชุมเป็นเรื่องการชี้แจงเป้าหมายของการนัดประชุมซึ่งมีเรื่องหลักเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานและการจัดทำผลการดำเนินงานประจำปีของสภาองค์กรชุมชน และการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานในช่วงต่อไปทั้งในระดับตำบล และระดับจังหวัด

ช่วงที่สอง เป็นการทบทวนเนื้อหา ภารกิจของสภาองค์กรชุมชน โดยนายสามารถ สุขบรรจง และนายสุวัฒน์ คงแป้น เจ้าหน้าที่ จาก พอช.ภาคใต้ ซึ่งได้เน้นย้ำเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไก และเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลมีเจตนารมณ์ให้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือ ทำเรื่องที่สร้างสรรค์ เช่นการระดมปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข การประสานความร่วมมือของคนในชุมชน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาตำบลของพี่น้องในชุมชน เป็นต้น ดังนั้น พรบ.สภาองค์กรชุมชนจึงไม่เน้นอำนาจ และไม่มีอำนาจ แต่มีภารกิจที่บัญญัติไว้ เป็นกฎหมายที่เน้นการส่งเสริม และรับรองสถานะของที่ประชุมเครือข่ายองค์กรชุมชน


จากนั้นเป็นการรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนในแต่ละตำบล ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินงานได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ มีการจัดทำแผน การบูรณาการ ประสานงานกับภาคีในพื้นที่ การจัดกิจกรรม และมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เช่นตำบลร่อนพิบูลย์ ตำบลท่าดี ตำบลท่าเรือ และบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินงานได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญคือความไม่เข้าใจเนื้อหาภารกิจของ พรบ.สภาองค์กรชุมชน รวมทั้งความไม่ลงตัวของการจัดขบวนนำในระดับจังหวัด


ทั้งนี้ในที่ประชุมได้กำหนดให้มีแผนงานเบื้องต้นเป็นการเร่งด่วนคือการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนให้เข้าใจ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้างมากขึ้น สำหรับการประสานงานและรวบรวมเอกสารรายงานผลการดำเนินงานนั้นได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมาชุดหนึ่งมาเป็นคณะทำงานชั่วคราว

ในขณะที่มีรายงานข่าวว่าขณะนี้มีองค์กรชุมชนอย่างน้อย 15 ตำบล ที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังยื่นเอกสารเพื่อขอจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และมีแผนที่จะประชุมสร้างความเข้าใจและนัดหมายจังหวะก้าวด้วยกันในช่วงต้นเดือนหน้านี้
โดยคาดหมายว่าทั้งสองเครือข่ายดังกล่าวจะมีวงประชุมร่วมกันในกลางเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าจะเป็นจังหวะก้าวและจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สภาองค์กรชุมชนฯ สงขลาจัดประชุมสรุปผลการดำเนินงาน

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาจัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานในรอบปี และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงาน
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการที่ 12 จังหวัดสงขลา (สสว.12) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาจัดการประชุมตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้วจำนวน 24 ตำบล มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 50 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสรุปผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลในรอบปีที่ผ่านมา และกำหนดแผนงานร่วมกันในการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

สำหรับบรรยากาศของการประชุม เริ่มจากการชี้แจงวัตถุประสงค์ การชมวิดีทัศน์กรณีสภาองค์กรชุมชนตำบลต้นแบบของสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู จากนั้นมีการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานพัฒนาของขบวนภาคประชาชนจังหวัดสงขลา และทบทวนเนื้อหา ภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

ช่วงบ่ายมีการรายงานสถานการณ์การดำเนินงานในระดับพื้นที่
(รายละเอียดสามารถดาวน์โหลดได้ โดยคลิ้กที่นี่ครับ)

โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี มีการซักถามแลกเปลี่ยนกันอย่างทั่วถึง
จากนั้นได้มีการกำหนดการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 กันยายน 2552 โดยให้มีคณะทำงานเตรียมการ ประกอบด้วย คุณปาฎิหารย์ , คุณประพาส , คุณระนอง , คุณอานิตย์ , คุณเมธาเมธา และทีมกองเลขาฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบและการประสานงานการประชุม

นอกจากนี้ยังมีการวางแผน แบ่งทีมรับชอบการสำรวจข้อมูลองค์กรชุมชน เพื่อการรับรองสถานภาพ และการติ
ดตามองค์กรชุมชนที่เคยรับรองสถานภาพเกิน 2 ปี เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาองค์กรชุมชน โดยทุกทีมนัดหมายมาสรุปข้อมูลร่วมกัน ทั้งข้อมูลจดแจ้งจัดตั้งสภา
องค์กรชุมชน และข้อมูลองค์กรชุมชนที่จะรับรองสถานภาพในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ณ สมาคมสวัสดิการภาคประชาชน
ทั้งนี้จังหวัดสงขลา มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล แล้วจำนวน 24 ตำบล โดยตั้งเป้าจะจัดตั้งในปี 2552 ให้ได้ จำนวน 30 ตำบล

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สงขลาติวเข้มทีมขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล

คณะทำงานส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทีมวิทยากรขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชน

เมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม 2551 คณะทำงานส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลา จัดเวทีฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพวิทยากรและแกนนำขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานสนับสนุนและส่งเสริมวิชาการที่ 12 สงขลา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ร่วมการฝึกอบรม สามารถกลับไปดำเนินการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคุณพิชญา แก้วขาว นักพัฒนาเอกชนอาวุโส และคุณปาฎิหาริย์ บุญรัตน์ สมาชิกที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนฯ และเป็นคณะทำงานส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดสงขลาเป็นวิทยากรหลัก ซึ่งผู้เข้าร่วมเป็นแกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนที่อาสาเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนเข้าร่วมประมาณ 30 คน

เนื้อหาสาระสำคัญของการอบรมประกอบด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องพัฒนาการที่มา เจตนารมณ์ และเนื้อหาภารกิจของพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.สภาพัฒนาการเมือง นอกจากนี้มีการให้ฝึกปฏิบัติการกระบวนการจัดตั้งตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ตั้งแต่การจัดเวทีสร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ การทำความเข้าใจเรื่องเอกสารการจดแจ้งชุมชน วิธีการในการได้มาของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล กระบวนการในการจัดการประชุมเพื่อการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล รวมทั้งการเชื่อมโยงกับภาคีในทุกระดับ

ทั้งนี้จังหวัดสงขลามีสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้ว 24 ตำบล และมีเป้าหมายที่จะขยายการจัดตั้งเพิ่มในปี 2552 จำนวน 30 ตำบล โดยมีการแบ่งภารกิจการขับเคลื่อนออกเป็น 4 ทีม (4 โซน)

โซนที่ 1 อ. ควนเนียง อ. รัตภูมิ อ. คลองหอยโข่ง และ อ. บางกล่ำ
ผู้รับผิดชอบ นายประพาส บัวแก้ว ,นางวันเพ็ญ นิลวงศ์ ,นายเจือ ธรรมชาติ,นายควง บุญโท,นายชวน แก้วอุทัย,นายสุจิน แก้วบุญส่ง
โซนที่ 2 อ. เมือง อ. หาดใหญ่ อ. นาหม่อม และ อ. สะเดา
ผู้รับผิดชอบ นายปาฎิหาริย์ บุญรัตน์, น.ส พรชนก รัชโนชา ,นางใจดี สว่างอารมณ์ ,นายอุดม แก้วประดิษฐ์
โซนที่ 3 อ. เทพา อ. สะบ้าย้อย อ. นาทวี และ อ. จะนะ
ผู้รับผิดชอบ นางจรรยา แก้วจันทร์ ,นายโมกขศักดิ์ ยอดแก้ว ,นางอำไพ อินทร์ขาว ,นายอุดม ขวัญประสงค์ ,นายสัมพันธ์ อนุสาร
โซนที่ 4 อ.ระโนด อ. กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ. สิงหนคร
ผู้รับผิดชอบ นายอานิตย์ พันธุ์คง ,นายระนอง ซุ้นสุวรรณ ,นางลลิตา บุญช่วย ,น.ส สุรีย์รัตน์ ไชยเชื้อ ,นายเรืองวิทย์ ศรีสุวรรณ

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรชุมชนไปแล้วทั้ง 4 โซน และอยู่ระหว่างการดำเนินการจดแจ้ง จัดตั้งในตำบล โดยทางคณะทำงานฯ นัดหมายสรุปผลการดำเนินงานในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ที่สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา


ดาวน์โหลดเอกสารสภาองค์กรชุมชน..คลิ้กที่นี่ครับ

โดย : บ่าวนุ้ย

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พลังนักต่อสู้ของคน"ลำสินธุ์"จาก"ถังแดง"สู่ "ศูนย์การเรียนรู้"

เหตุการณ์ "ถีบลงเขา เผาลงถัง" หรือ "ถังแดง" ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2513-2516 หลายคนยังคงจำกันได้ดี เกิดขึ้นใน จ.พัทลุง รัฐบาลขณะนั้นส่งทหารมาตั้งค่ายที่บริเวณบ้านเกาะหลุง หมู่ที่ 1 ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เพื่อปราบปรามกองกำลังคอมมิวนิสต์ สาขาภาคใต้ และมีการจับตัวสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือบุคคลที่ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ มาสอบปากคำที่ค่ายแห่งนี้

หากคนไหนให้การไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ยอมพูดก็จะถูกซ้อมอย่างทรมาน จนไปถึงการผูกผ้าปิดตานำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แล้วก็จะบินต่ำก่อนถีบตกลงมา หากยังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ ก็จะจับตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์อีกครั้งแล้วถีบให้ตกลงมาอีก และไม่ว่าจะตายหรือไม่ตายก็จะถูกนำไปยัดใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แล้วจุดไฟเผา

กระทั่งรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำนโยบาย 66/23 "การเมืองนำการทหาร" เข้ามาใช้ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2534 กลายเป็นวันดับไฟใต้ ที่ จ.พัทลุง

กล่าวสำหรับ ต.ลำสินธุ์ ในปัจจุบัน มีพื้นที่ทั้งหมด 36,239ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 17,154 ไร่ อาชีพหลักของชาวบ้านคือ เกษตรกรรม

จากพื้นที่ "ถังแดง" ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การจัดการที่เข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายสินธุ์แพรทอง

อุทัย บุญดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง กล่าวว่า หลังเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ภาครัฐบาลประกาศใช้นโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าป่าไปเป็นสหาย เป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็กลับมายังหมู่บ้านหันมาประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกผักขาย ทำไร่ ทำสวนยางพารา เลี้ยงสัตว์ และคนในชุมชนเริ่มรวมตัวกันทำมาหากินมากขึ้น

"ความสามัคคีเมื่อครั้งต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย ทำให้คนชุมชนรวมตัวแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เอื้ออาทรต่อกัน แกนนำชาวบ้านในชุมชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์การต่อสู่ภาคประชาชน กลายเป็นอุดมการณ์ที่หล่อหลอมความคิดการอยู่ในสังคมด้วยการช่วยเหลือตนเอง การพึ่งพาชุมชน และการให้ความสำคัญกับมวลชนและผู้ใช้แรงงาน"

อุทัยกล่าวต่อว่า ต่อมารัฐบาลเข้ามาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มพัฒนาชุมชน กลุ่มสาธารณสุข แต่ด้วยความไม่พร้อมของชุมชนในการบริหารจัดการกลุ่ม ในช่วงปีเดียวกลุ่มต่างๆ ก็ล้มลง คงเหลือเพียงกลุ่มออมทรัพย์ที่พอจะบริหารจัดการอยู่ได้ แต่ยังมีจุดอ่อนคือ การขาดความรู้ทางบัญชี

"จากจุดอ่อนนี้ทำให้แกนนำเริ่มนำปัญหามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น และศึกษาปัญหาจากกลุ่มอื่นๆ มาพัฒนากลุ่มของตนเอง ทำให้แต่ละกลุ่มเริ่มพัฒนากลุ่มของตนเองอีกครั้ง จนนำมาซึ่งความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายสินธุ์แพรทอง เมื่อปี 2544 เพื่อที่จะร่วมพัฒนายกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้นตามแนวทางการพึ่งพาตนเอง"

นายอุทัยกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่เครือข่ายได้ให้ความสำคัญคือ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานแต่ละกลุ่ม โดยได้รับงบประมาณเสริมความเข้มแข็งจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มาจัดเวทีเรียนรู้ของคนภายในชุมชน

จากเวทีการเรียนรู้ในครั้งนั้น ทำให้ชุมชนค้นพบตนเอง มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็งของชุมชน จับมาเป็นแผนแม่บทชุมชน เรียกกันว่า แผนแม่บทเครือข่ายที่รวมคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งได้พบปัญหาที่แท้จริงหลายอย่าง โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำการเกษตรที่เน้นการปลูกผลไม้อย่างเดียว แต่ไม่รู้วิธีการขาย ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาและราคาผลผลิตไม่ดี จึงนำมาซึ่งการแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาสู่การเกษตรที่ใช้สารชีวภาพมากขึ้น จนประสบความสำเร็จผลผลิตที่จะขายได้ราคาเพราะเป็นผลผลิตปลอดสารพิษ

"ขณะนี้หลายองค์กรเริ่มเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำงานของเครือข่ายสินธุ์แพรทองมากขึ้น ทำให้ปี 2551 ได้ทดลองเปิดโฮมสเตย์ รับนักท่องเที่ยวพักกับครอบครัวเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน"

นายอุทัยกล่าวต่อว่า กลุ่มที่จะเข้ามาต้องระบุว่าจะเข้ามาเรียนรู้ในด้านใด เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ได้จริง ตรงนี้เราไม่ได้หวังตัวเงินเป็นหลัก แต่หวังให้คนที่เข้ามาเรียนรู้สามารถนำความรู้แนวคิดการจัดการของกลุ่มเครือข่ายฯจากที่นี่นำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

"วันนี้คนตำบลลำสินธุ์อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการแบ่งแยกทางการเมือง และคิดไปข้างหน้าเพื่อทำมาหากิน พลังนักต่อสู้ในอดีตแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังในการพัฒนาวิถีชีวิตของชุมชน โดยผสมผสานความรู้ของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ดังเป้าหมายที่วางไว้สร้างชุมชนเข้มแข้ง ครอบครัวอบอุ่น สังคมน่าอยู่ ปลุกสำนึกรักถิ่น เข้าร่วมพัฒนา อย่างจริงจัง ที่จะสรรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกทุกคนในชุมชน"

จากคอลัมน์ ฅนของแผ่นดิน

โดย กันยา ขำนุรักษ์

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สำรวจชายฝั่งนคร ค้นบทเรียนการรุกล้ำชายฝั่ง ก่อนจะสายเกินไป

ท่ามกลางเปลวแดดอันร้อนแรง เรามุ่งหน้าจากตัวเมืองนครไปสู่อำเภอปากพนัง เป้าหมายของเราในวันนี้คือ ต้องการดูผลกระทบจากการกัดเซาะของชายหาดแถว ๆ อ.ปากพนังและหัวไทร

ก่อนหน้านี้เราได้รับรู้เรื่องราวของการกัดเซาะเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ใสใจอะไรมากนัก คิดว่าคงเป็นเพียงบางจุดเท่านั้น รวมทั้งได้ยินมาว่าพี่น้องชาวบ้านที่ อ. จะนะ และ อ. นาทับ จ. สงขลา ว่าได้ฟ้องกรมเจ้าท่าและพาณิชย์นาวีเนื่องจากได้สร้างท่าเรือและเขื่อนดักทราย จนทำให้ชายฝั่งหายไปหลายร้อยเมตรแล้ว จนชาวบ้านหวั่นเกรงว่าหากยังเดินหน้าต่อไปอาจไม่เหลือชายหาดแน่ ๆ และเราทราบว่าจะมีการก่อสร้างท่าเรือของบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งบริเวณชายหาดท่าศาลา เราก็เกรงว่าจะเป็นเหมือนชายฝั่งที่สงขลาหรือไม่


เราตั้งใจจะขับรถย้อนจากปลายแหลมตะลุมพุกขึ้นไปถึงหัวไทร จุดแรกของเราเริ่มที่ แหลมตะลุมพุก ขับรถไปถึงบ้านปลายทราย ผ่านวัดและโรงเรียน เลี้ยวขวาหน้า อบต. ตรงไปบริเวณชายหาด ชายหาดยังคงเงียบเหงาเพราะยังเช้าอยู่ แม่ค้าร้านอาหารทะเลเพิ่งเริ่มเปิดปัดกวาดร้าน ทะเลดูสงบระลอกคลื่นทยอยซัดชายหาดอย่างแผ่วเบา เด็กน้อยสองคนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน บริเวณนี้ยังมีชายหาดกว้างพอสมควร หาดสะอาดน่าเล่น เหลียวมองดูป้ายจัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวหาดนี้ได้รับการจัดอันดับไว้ ๓ ดาว

เราตรงต่อไปยังปลายแหลมที่มีถนนคอนกรีตประมาณ ๓๐๐ เมตร ที่เหลือเป็นหินคลุกไปจนสุดสภาพถนนดีมาก ระหว่างทางเราเห็นซากต้นสนล้มเป็นแนวยาว รากไม้โผล่ขึ้นมาระเกะระกะ เห็นได้ชัดว่าบริเวณนี้มีการกัดเซาะจนต้นสนใหญ่อายุหลายสิบปีล้มไปหลายต้น และยังเซาะเข้ามาถึงถนนบางช่วง เลยไปผ่านป่าสนใหญ่ร่มครึ้ม ใบสนที่หล่นลงมาค้างตามกิ่งและใบสน เหมือนปุยนุ่นแต่งแต้มก้านกิ่งดูอ่อนนุ่ม เป็นบรรยากาศป่าสนที่สวยงามแปลกตา

ถึงปลายแหลมเห็นแนวสันดอนทรายที่งอกงุ้มเข้ามาทางด้านอ่าวปากพนัง อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนตัวของทรายนั้น จะเคลื่อนจากทางทิศใต้และไปทิศเหนือจนเกิดการทับถมกันที่บริเวณปลายแหลม

ย้อนกลับออกมาแวะคุยกับชาวประมงที่บ้านแหลมตะลุมพุก ชาวบ้านบอกว่า ทะเลรุกเข้ามาทุกปี โดยเฉพาะปีหลัง ๆ ๔ - ๕ ปีนี้รุกเข้ามาเร็วมาก พร้อมชี้ให้ดูบ้านที่พังเหลือแต่ซาก และกำแพงวัดที่ก่อเป็นผนังปูนพังไปสองช่วง ทางวัดจึงเอาหินก้อนใหญ่มาวางกั้นตลอดแนว ชาวบ้านบ่นว่าคงต้องอพยพไปอยู่อีกฝั่งของถนน เพราะบ้านที่อยู่ปัจจุบันถูกทะเลรุกเข้ามาทุกที แม้จะรู้ดีว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน แต่ก็จำเป็นต้องอยู่เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เราสังเกตเห็นทรายมาทับถมถนนคอนกรีตในหมู่บ้านจนเกือบมิด และไปกองอยู่ใต้ถุนบ้านฝั่งตรงข้ามกับชายหาด ก่อนจากชาวบ้านบอกว่าเดี๋ยวนี้ในหมู่บ้านมีแต่ตัว "จ" กับตัว "ด" เราทำหน้างง ก่อนที่จะเฉลยว่า จ ก็คือ "จน" ด ก็คือ ดอกเบี้ย ไง

จุดต่อมาแวะที่สะพานปลาบ้านหัวถนน ถามชาวบ้านที่มาตกปลาตอนเที่ยง ๆ บอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีเรือมาจอดแล้ว เพราะน้ำตื้น ด้านทิศเหนือต่อจากสะพานไปเห็นแนวชายหาดเว้าเข้าไปอย่างชัดเจน เพราะทรายมาติดอยู่บริเวณใต้สะพาน ซึ่งแม้ว่าสะพานจะทำเสาโปร่งแต่ก็มีทรายทับถมจนเต็ม ดักทรายไว้ไม่ให้เคลื่อนตัวไปได้ เราคุยกันว่าหากสะพานไม่ใช้ประโยชน์แล้วควรจะมีการรื้อถอนเพื่อปรับสภาพชายหาดน่าจะดีกว่าปล่อยไว้แบบนี้

เรามุ่งหน้าไปตามถนนปากพนัง - หัวไทร ระหว่างทางเห็นการกัดเซาะหลายจุด ที่น่าตกใจเมื่อเห็นบางจุดนั้นเดิมเป็นบ่อกุ้งริมชายหาด พอคลื่นซัดจนคันนาพังลงไปน้ำก็ทะลักเข้ามาถึงขอบบ่ออีกด้านในทันที ทำให้เกิดการรุกของน้ำทะเลที่เร็วมาก

บริเวณทางระบายน้ำฉุกเฉินบริเวณบ้านท่าพญา มีการทำแนวคอนกรีตกั้น บริเวณปลายคลองแล้วโค้งเป็นมุมออกไปทั้งสองฝั่ง แต่พนังคอนกรีตโดยกัดเซาะจนแนวพังไปเกือบหมดแล้ว แม้ดินที่ถมไว้หลังแนวพนังก็โดนน้ำซะออกไปเกือบหมด


กำแพงคอนกรีตและทางเดินตัวหนอน

จากจุดนี้ไปจนถึงบ้านนำทรัพย์มีการสร้างกองหินเป็นรูปตัวทีเพื่อกันการกัดเซาะ มาถึงบริเวณ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ซึ่งเดิมคลื่นได้ซัดจนเข้ามาถึงถนน ตอนนี้ได้มีการสร้างกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่ ลึกประมาณ ๖ เมตร สูงขึ้นมาประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๒ - ๓ กิโลเมตร และถมหินหน้ากำแพงอีกทีหนึ่ง บริเวณด้านในของกำแพงมีการปูตัวหนอนอย่างสวยงาม แต่มีบางช่วงเริ่มทรุดลงไปแล้ว พวกเราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไม่ต้องปูตัวหนอนให้เปลืองงบประมาณด้วย เพราะทรายด้านใต้ที่รองรับตัวหนอนย่อมต้องมีโอกาสในการทรุดตัวสูง เพราะความลื่นไหลของทราย และอีกอย่างยังไม่แน่ว่ากำแพงจะกั้นคลื่นได้หรือเปล่า อีกทั้งชายหาดก็ไม่ใช้สถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้เปลืองงบประมาณทำไม (ทีชายหาดเดิมสวย ๆ ไม่รู้จักรักษาไว้) ไม่เข้าใจเลยจริง ๆ

บริเวณชายฝั่งที่ต่อเนื่องกันนอกจากจะมีการทำกำแพงคอนกรีตแล้ว ยังมีการทำกองหินรูปตัวทีด้านหน้าแนวกำแพงอีกชั้นหนึ่งด้วย เรียกว่าต้องทำปราการถึงสองชั้นเลยทีเดียว


ชาวประมงกับสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ต้องปรับตัว

มาถึงบ้านต้นสน ต. เกาะเพชร อ. หัวไทร ได้แวะคุยกับชาวประมงพื้นบ้าน เราเห็นร่องรอยการทำกองหินกันคลื่นเพิ่งเสร็จ มีรถแบ๊คโฮ ๒ คัน กำลังเกลี่ยทรายบริเวณชายหาด เพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม เด็ก ๆ กลุ่มใหญ่เล่นน้ำอยู่บนเว้าหาดเล็ก ๆ ระหว่างกองหินสองกอง ชาวบ้านบอกว่า ประมาณ ๔ ปีแล้วที่คลื่นกัดเซาะรุนแรง เพราะมีการทำเขื่อนกั้นทรายมากหลายที่ โดยเฉพาะคลองชะอวดแพรกเมือง มีเขื่อนยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ทำให้การกัดเซาะที่ชายหาดหัวไทรรุนแรง ชาวบ้านบอกว่าเมื่อก่อนการกัดเซาะเป็นไปตามธรรมชาติ บางปีก็กัดเข้ามา บางปีก็งอกออกไป แต่เดี๋ยวนี้กัดเข้ามาอย่างเดียว

ทางการจึงได้มีโครงการทำกองหินกันคลื่น ตลอดแนวชายหาด ตอนแรกบอกว่าจะทำออกไปจากฝั่งประมาณ ๑๐๐ เมตร ชาวบ้านจึงไม่ว่าอะไร เพราะถือว่าไกลพอแล้ว แต่พอทำจริงเหลือประมาณ ๕๐ เมตร ชาวบ้านเกรงว่าการแล่นเรือเข้าออกจะลำบาก หากคลื่นลมแรงเรืออาจเสียหลักไปชนกองหินได้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้ว เท่าทีประมาณดูกองหินน่าจะสูงประมาณ ๓ - ๔ เมตร ฐานกว้างประมาณ ๔ เมตร ด้านบนกว้างประมาณ ๒ เมตร ฐานยาวประมาณ ๓๐ เมตร ด้านบนยาว ๒๖ เมตร

ตามความเห็นของชาวบ้าน อยากให้กองหินมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมประมาณ ๒ เท่า โดยยุบสองกองเหลือกองเดียว และให้มีช่องว่างระหว่างกองมากขึ้นเรือจะได้แล่นเข้าออกไปสะดวก และให้ห่างออกไปจากฝั่งมากกว่านี้ ให้เรือสามารถวิ่งอ้อมได้ เมื่อถามว่าแล้วจะกันคลื่นได้หรือ ชาวบ้านบอกว่าสามารถกั้นคลื่นได้ แต่ทรายจะถูกซัดออกไปหมด

เมื่อเราถามว่าหลังกองหินสามารถเลี้ยงปลาได้หรือไม่ ชาวบ้านบอกว่าเลี้ยงไม่ได้เพราะมีเวลาช่วง ๖ เดือนจะเกิดมรสุม ปลาไม่ทันใหญ่ คลื่นจะซัดแรงจนเรือก็ต้องเอาขึ้นมาจอดบนหาด


ท่าเรือหัวไทร กำแพงกี่ชั้นถึงจะพอ

ผ่านมาถึงท่าเรืออำเภอหัวไทร มีการทำกำแพงคอนกรีตกันคลื่นถึงสองชั้น เพราะชั้นแรกนั้นพังไปแล้ว ด้วยแรงคลื่นกระแทกกำแพงแล้วเซาะทรายข้างล่างทำให้กำแพงทรุดตัวลงและพังในที่สุด ก็ไม่รู้ว่ากำแพงใหม่นี้พังและจะต้องสร้างกำแพงอีกชั้นหรือไม่ สิ่งที่เห็นนี้ได้พิสูจน์ว่า วิธีคิดในการเอาชนะธรรมชาติ ด้วยการเอาของแข็ง ไปกั้นคลื่นนั้นไม่ได้ผล เพราะคลื่นลมมีแรงมหาศาล และไหลซอกซอนกัดเซาะไปได้เรื่อย สิ่งก่อสร้างที่แข็งและปะทะกันแรงคลื่นตรง ๆ จึงไม่อาจจะทนทานได้

จากท่าเรือหัวไทรไปจนถึงคลองระบายน้ำแพรกเมือง บริเวณคลองระบายน้ำมีการทำกำแพงกันทรายยื่นออกไปในทะเลทั้งสองฝั่งยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี้คงจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการกัดเซาะตลอดทางที่เราผ่านมา มองไปทางด้านเหนือของปากน้ำเห็นกองหินเป็นแนวยาวสุดสายตา เพราะต้องทำไล่ไปเรื่อย ๆ หากหยุดบริเวณไหนจุดนั้นก็จะถูกัดเซาะ

จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมีแนวชายหาดประมาณ ๒๒๕ กิโลเมตร ปัจจุบันนี้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะและมีการสร้างกองหิน แนวกำแพงจนหมดสภาพเดิมไปแล้วกว่าครึ่ง จึงเป็นคำถามว่าเราจะรักษาชายหาดที่เหลืออยู่เอาไว้ได้อย่างไร

โดย มานะ ช่วยชู/ทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว/อุษาวดี ศรีมัง : จากเวป มอส.

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พัทลุง หวั่นพื้นที่เกษตรพัง หากเดินหน้าตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ประธานสภาอุตสาหกรรมพัทลุงผวา!! สนง.อุตสาหกรรมจ้าง ม.วลัยลักษณ์ ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตพื้นที่อุตสาหกรรม หวั่นเขตอุตสาหกรรมรุกพื้นที่เกษตรและขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่เหมาะเป็นเมืองเกษตรกรรม คอยป้อนวัตถุดิบให้โรงงานในจังหวัดข้างเคียง

นายปรีชา อภัยยานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กำลังดำเนินการหาความเหมาะสมในการประกาศเขตพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงซึ่งขณะนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะตามยุทธศาสตร์พัทลุงคือเมืองเกษตรกรรม เนื่องจากทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 1 ที่จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบและเข้มข้นมาก หากมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมหาไม่แล้วจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและการเพาะปลูกอย่างรุนแรง "พัทลุงเป็นเมืองต้นน้ำที่ซัปพอร์ตไปยังโรงงานอุตสาหกรรมเมืองอื่นๆ ขณะนี้ธุรกิจที่มีลงทุนกันมาก คือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพารา และตอนนี้ลงทุนอีก 1โรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัท เซ้าท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด เป็นบริษัทรับซื้อน้ำยาง แปรรูปอุตสาหกรรมยางแผ่น น้ำยางข้น ที่อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ส่วนพื้นที่ที่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางพารามาก คือพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.ป่าบอน, อ.แม่ขรีและ อ.ตะโหมด" นายปรีชากล่าว

นายวิวัฒน์ หนูมาก สมาชิกที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล จากจังหวัดพัทลุง แสดงความคิดเห็นว่า "การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครั้งนี้ ขาดความโปร่งใส ทั้งๆที่เป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบและทำให้คนมีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง แต่ที่ผ่านมาทำกันแบบเงียบเหลือเกิน มารู้อีกทีก็นำเสนอผลการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้น เห็นว่าต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ และจะเร่งผลักดันให้เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ขึ้นมาให้ได้ เพื่อใช้เป็นเวทีในการระดมความคิด และร่วมตัดสินใจ"
สำหรับโครงการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง สืบเนื่องจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง ได้รับการจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชน และตัวแทนผู้นำท้องถิ่น
โดย : บ่าวนุ้ย

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

12 สิงหา...บูชาแม่

..อุ้มรัก..

อุ่นใดเล่าอุ่นนักอุ่นรักเจ้า
อุ่นที่เฝ้าดูแลและถนอม
อุ่นสายใยผูกพันทุกวันยอม
อุ่นในอ้อมกอดรักฟูมฟักรอ

ให้เจ้าได้เติบใหญ่ในครรภ์น้อย
เก้าเดือนคอยหัวใจไม่เคยท้อ
เก็บความรักความหวังพลังพอ
เพียงแค่ขอให้เจ้าเฝ้าเติบโต

จะเก็บเกี่ยวความฝันทุกวันไว้
เจ้าเติบใหญ่รายล้อมพร้อมสุขโข
ให้สมบูรณ์แข็งแรงแกร่งกล้าโชว์
เป็นสายโซ่เกี่ยวรัดผูกมัดใจ

ให้เจ้าเป็นเด็กดีปรีดานัก
รักทอถักยืนยงอสงไขย
เป็นความหวังของพ่อแม่ต่อไป
อิ่มอุ่นใดอุ่นเท่ารักเจ้าเอย..

...................................................................................

...ด้วยรัก และบูชา แม่....

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สงขลาประชุมคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชน เดือนสิงหาคม


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ที่สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา โดยมีคณะทำงานและที่ปรึกษาเข้าร่วม 22 คน ทั้งนี้เป็นการประชุมสรุปผลการดำเนินงานในรอบเดือนกรกฎาคม และวางแผนการดำเนินงานในช่วงต่อไป ซึ่งในที่ประชุมมีการรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานแต่ละยุทธศาสตร์และประเด็นงาน ซึ่งมีการดำเนินงาน และมีความคืบหน้าในทุกกลุ่มงาน

วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการปรึกษาหารือเพื่อวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุตัวชี้วัด โดยเฉพาะการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบล และการรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้คณะทำงานเร่งการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้ว 24 ตำบลให้สามารถขับเคลื่อนงานได้จริง รวมทั้งการขยายผลจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจกับแกนนำชุมชนไปแล้ว 4 ครั้ง (4โซน) และอยู่ระหว่างการจดแจ้งองค์กรชุมชน ประมาณ 25 ตำบล นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบล และรายงานผลการดำเนินงานของที่ประชุมระดับจังหวัด ที่ประชุมจึงได้กำหนดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคณะทำงานส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ในระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2552 และประชุมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ที่ สสว.12 สงขลา

นอกจากนี้ยังมีการวางแผน แบ่งทีมรับชอบการสำรวจข้อมูลองค์กรชุมชน เพื่อการรับรองสถานภาพ และการติดตามองค์กรชุมชนที่เคยรับรองสถานภาพเกิน 2 ปี เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาองค์กรชุมชน โดยทุกทีมนัดหมายมาสรุปข้อมูลร่วมกัน ทั้งข้อมูลจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนและข้อมูลองค์กรชุมชนที่จะรับรองสถานภาพในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ณ สมาคมสวัสดิการภาคประชาชน

ทั้งนี้จังหวัดสงขลา สามารถจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ในปี 2551 จำนวน 18 ตำบล และจัดตั้งใหม่ในปี 2552 แล้วจำนวน 6 ตำบล โดยตั้งเป้าจะจัดตั้งในปี 2552 ให้ได้ อย่างน้อย 30 ตำบล

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมป่าชายเลนได้อย่างไร

สรุปย่อ : โครงงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชายฝั่ง โดยคุณครูนิกร แสนเดช

จากการกรณีการบุกรุกทำลายป่าชายเลนในบริเวณชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีการทำลายมากที่สุดคือในช่วงที่มีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เป็นผลให้สูญเสียป่าชายเลนเป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีการลดเลิกกันไปมากแล้ว แต่ที่ราบชายฝั่งที่ห่างจากป่าชายเลนขึ้นมา กลับมีการบุกรุกถากถางกันเพิ่มกันอีก

แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ก็ตาม แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศน์วิทยาครั้งใหญ่หลวงของลุ่มน้ำปากพนัง โดยเฉพาะการแผ้วป่าจากเพื่อการปลูกปาล์ม เป็นการทำลายป่า และทำลายระบบนิเวศน์ที่ทางราชการไม่ได้ห้ามปรามและกลับเป็นการส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ ซึ่งหากมองหน้าเหลียวหลังจะเห็นว่า "จาก"เป็นพืชที่เกิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ สามารถให้ผลผลิตได้ดีในสภาพพิ้นดินในแถบราบลุ่มน้ำปากพนัง แต่ทำไมจึงยังไม่เห็นคุณค่าของพื้ชชนิดนี้

ซึ่งพอจะวิเคราะห์ได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.อาชีพใหม่ที่มาสร้างขึ้นคาดว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำทำให้หลายคนร่ำรวย และมีไม่น้อยที่เป็นหนี้เป็นสิน ส่วนอาชีพปลูกปาล์มนั้นยังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีถึงจะรู้ว่าจะดีกว่าหรือแย่กว่าอาชีพเกี่ยวกับ "จาก"

2.อาชีพใหม่ใช้ต้นทุนทางเวลาที่น้อยกว่า อาชีพเลี้ยงกุ้งใช้เวลา 3 - 5 เดือนก็รู้ผลว่ากำไรหรือขาดทุน อาชีพปาล์ม ให้ผลผลิตทุก ๆ 20 วัน เกษตรกรก็ไม่เหนื่อยมากเช่นอาชีพเกี่ยวกับ"จาก " เพราะหากจะเอาน้ำหวานต้องปาดตาลทุกวัน และต้องมาเคี้ยวให้ได้เป็นน้ำผึ้งอีกครั้ง การเก็บเกี่ยวต้องลุยลงไปในป่าจาก ไม่สะดวกสบายเช่นปาล์ม และผลผลิตที่ได้ก็มีผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ไม่แพร่หลายขั้นอินเตอร์ได้

จากสภาพปัญหาดังกล่าวหากไม่มีการแก้ไข ป่าจากก็จะสูญหายไปจากพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพราะขณะนี้คนปากพนังมองต้นจากคือวัชพืชเสียแล้ว

เราจะทำอย่างไรดี

จากสภาพปัญหาเหล่านี้จึงเป็นโครงการฟื้นฟูอาชีพเกี่ยวกับป่าจาก เพื่อผลประโยชน์ที่ได้คือระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำปากพนังที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม ด้วยการพัฒนาดังนี้

1.ส่งเสริมพัฒนาผลผลิตที่ได้จากอาชีพที่เกี่ยวกับ "จาก"

2.จัดรูปแบบการปลูกจากให้ทันสมัยเช่นเดียวกับการปลูกปาล์มน้ำมัน ไม่ต้องลุยโคลนลงไปปาดตาลเช่นในอดีต เป็นการทำเกษตรป่าจากแผนพัฒนา

3.ประชาสัมพันธ์ชี้แจงชุมชนที่เกี่ยวข้องให้ทราบคุณประโยชน์ของอาชีพนี้

อย่างน้อยการปลูกจากเป็นการเกษตรที่ไม่พึ่งพายาปราบศัตรูพืช ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน สามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่นได้ ไม่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุรุนแรงก็ไม่ทำให้ต้นจากล้ม น้ำท่วมไม่ทำให้ต้นจากตาย ไฟป่าไม่เคยไหม้ในป่าจาก สามารถปลูกพืชที่ใช้บริโภคในครัวเรือนผสมผสานได้เช่น กล้วย พริก ข้าวโพด ตะไคร้ ขิง ข่า นานาชนิด สามารถอย๋ร่วมกับไม้ยืนต้นในท้องถิ่นได้ เช่นไม้สะแก เสม็ด โพเล เพราะจากเป็นพืชที่มีรากลึก จึงไม้มีผลกระทบหากมีการปลูกพืชล้มลุก พืชไร่ ปะปนไปด้วย และควรมีแปลงเกษตรตัวอย่างให้ชุมชนดู สักวันหนึ่ง ต้นจาก จะกลับมา และลูกปลาเล็กก็ได้อาศัยป่าจากเป็นที่อนุบาล ระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำปากพนังจะเป็นเช่นในอดีต ที่เป็นอู่ข้าว อู่ปลา ของภาคใต้ ด้วยการพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับ "ป่า"

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ภาคประชาชนจี้ทบทวนแผนฟื้นเลสาบสงขลา

ภาคประชาชนจี้ทบทวนแผนฟื้นเลสาบสงขลา รุดตั้งสภาลุ่มน้ำ–ชี้นโยบายรัฐแก้ปัญหาล้มเหลว

เวทีสภาลุ่มน้ำเลสาบสงขลา จี้รัฐทบทวนนโยบายและแผนฟื้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะเปิดคลองเชื่อมทะเลสาบ – อ่าวไทย รื้อเขื่อนกันคลื่นท่าเรือสงขลา กำหนดวาระประชาชนเสนอวุฒิสภา ผลักดันการแก้ปัญหา

นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ เลขาธิการสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า ในการจัดเวทีเสวนา เรื่องวาระประชาชนกับการจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบและการจัดการองค์กรประชาชนกับการจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบ (งานย้อนรอยพระพุทธเจ้าหลวง..รวมพล คนรักษ์เลสาบ) เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศาลาลำปำที่รัก หาดแสนสุขลำปำ จังหวัดพัทลุง มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน เป็นตัวแทนภาคประชาชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง 7 โซน มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงปัญหาต่างๆ ของแต่ละโซน ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน ป่าชุมชน การกำจัดขยะ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อกำหนดประเด็นที่จะจัดทำเป็นวาระประชาชนในที่ประชุมสภาลุ่มน้ำทะเลสาบในช่วงเดือนสิงหาคม 2552

นายนฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ข้อสรุปที่ได้จากการเสวนา ซึ่งได้กำหนดเป็นวาระประชาชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีทั้งหมด 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ทบทวน นโยบาย แผนงานของภาครัฐในการพัฒนาที่เสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ การจัดการขยะ เป็นต้น

2.ให้ขุดลอกเปิดคลองเชื่อมทะเลสาบ - อ่าวไทย ให้รื้อรอหินท่าเรือน้ำลึก และขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา 3.ธรรมนูญการพัฒนาลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นการสำรวจ ศึกษาและประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบที่มีความเสี่ยงทั้งหมด เป็นพื้นที่ควบคุมและจัดทำแผนปฏิบัติ 4.เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกัน และทำงานเชิงรุกในการดูแล เฝ้าระวัง การปล่อยมลพิษ การบุกรุกป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุมน้ำ ป่าพรุ และการทำประมงผิดกฎหมาย

5.ทบทวน ยุทธศาสตร์ มาตรการและการปฏิบัติการตามแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 6.สนับสนุนพลังภาคี ภาคส่วนต่างๆในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยเน้นให้ความสำคัญที่กลุ่มเด็ก เยาวชนในสถานศึกษาทุกระดับ และ 7.จัดตั้งองค์กรหรือสถาบันพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยทำงานคู่ขนานกับสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

นายนฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว จะนำเข้าที่ประชุมสภาลุ่มน้ำทะเลสาบในช่วงเดือนสิงหาคม 2552 นี้เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ แล้วเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามแก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบ วุฒิสภา ให้นำเข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อผลักดันให้นำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาต่อไป

นายนฤทธิ์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของภาคคประชาชนที่พบปัญหาแล้วมารวมกลุ่ม ต่อมาในปี 2546 รัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงได้มีการรวมตัวกันของภาคประชาชนในโซนต่างๆ ทั้ง 7 โซน ประกอบด้วย โซนพรุควนเคร็ง โซนทะเลน้อย โซนทะเลสาบฝั่งตะวันตก โซนป่าต้นน้ำ โซนเมือง โซนทะเลสาบตอนล่าง และโซนคาบสมุทรสทิงพระ

อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนะนำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบ วุฒิสภา นำไปผลักดันการแก้ปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จนในที่สุดมีการจัดตั้งสภาลุ่มน้ำทะเลสาบขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เมษายน 2552

ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง นำโดยนายเริงชัย ตันสกุล เป็นประธานคณะทำงานสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นายขุนทอง บุญประวิทย์ เป็นรองประธาน ส่วนคณะทำงานประกอบด้วย ตัวแทนของทั้ง 7 โซน โดยมีนักวิชาการคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กลุ่มนักธุรกิจและสื่อมวลชนร่วมเป็นคณะทำงานด้วย โดยมีคณะทำงานของสำนักเลขาธิการสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่ประสานงาน

นายนฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ต่อไปจะมีการขับเคลื่อนโดยการตั้งเป้าหมายให้มีการขยายเครือข่ายในคณะการทำงาน จะมีการจัดประชุมสมัชชาของประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาตามเป้าหมายของแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พร้อมทั้งมีการทำงานภาคนโยบาย รวมถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การจัดกิจกรรม การสื่อสารของเครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น

ผศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. เปิดเผยว่า สำหรับโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็น 1 ใน 7 ประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการและวิชาการ คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำสาขา สำนักงานคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะทำงานด้านแผนปฏิบัติการและแผนบูรณาการ คณะทำงานลุ่มน้ำระดับจังหวัด คณะทำงานด้านจัดทำแผนการจัดสรรน้ำ คณะทำงานลุ่มน้ำสาขา คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม คณะทำงานลุ่มน้ำระดับอำเภอ และคณะทำงานลุ่มน้ำระดับตำบล และในขณะนี้เครือข่ายองค์กรลุ่มน้ำมีทั้งหมดประมาณ 170,000 คน

ผศ.ดร.ปาริชาติ กล่าวว่า สภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องมีการแก้ไขกันทั้งในเรื่องนโยบายที่ขาดความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบาย เรื่ององค์กรที่มีความซ้ำซ้อน ขาดการประสานงานที่ดี ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรื่องกฎหมายและระเบียบที่ล้าสมัย เพราะมองเป็นเรื่องเฉพาะด้านไม่ได้มองในภาพรวม และเรื่องระบบข้อมูลที่ไม่มีฐานข้อมูลรวมและระบบเครือข่ายที่ชัดเจน

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรม โหนด นา เล ที่สงขลา


วิถีชีวิตชุมชน คาบสมุทรสทิงพระ ผืนแผ่นดินมหัศจรรย์ที่แต่เดิมเป็นเกาะ 2 เกาะ แต่ด้วยเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่เคลื่อนเข้ามาติดกันกลายเป็นคาบสมุทร ซึ่งประกอบด้วย 4 อำเภอ คือ อ.สทิงพระ สิงหนคร ระโนด และกระแสสินธุ์ ตั้งอยู่ระหว่างทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในคาบสมุทรสทิงพระของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรมอันดีงามเกี่ยวข้องกับตาลโตนด การทำนา และการทำประมงหรือหาเล โดยเฉพาะตาลโตนด นับเป็นอำเภอที่มีต้นตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย นำมาซึ่งอาชีพที่หลากหลาย และรายได้มาช่วยเหลือครอบครัว สามารถส่งลูกหลานให้เล่าเรียนได้

นอกจากนั้น การทำนาและหาเล ก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลานั้น มีทรัพยากรทางการประมง มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาที่อุดมสมบูรณ์มาก และยังสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของอำเภอสทิงพระ และมากมายด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้

เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนด นา เล มีพื้นที่นำร่องใน 3 ตำบลของอำเภอสทิงพระ ประกอบด้วย ตำบลท่าหิน ตำบลคูขุด และตำบลคลองรี

วิถีโหนด วิถีชีวิตเกี่ยวกับตาลโหนด ประกอบด้วยการขึ้นตาลโตนด เฉาะลูกตาล ลูกตาลเชื่อม การทำน้ำผึ้งแว่น น้ำผึ้งเหลว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด และการเพาะลูกโหนด



วิถีนา วิถีชีวิตการทำนา อาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน บนคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งการทำนาจะสลับกับอาชีพตาลโตนด บางบ้านเมื่อหมดหน้าตาลโตนดก็จะมาประกอบอาชีพทำนา

วิถีเล วิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เช่น การทำไซ-สุ่ม การทำกุ้งส้ม ปลาแห้ง ปลาต้มน้ำผึ้ง


สัมผัสอีกหนึ่งประสบการณ์ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่นี่ เรียนรู้การขึ้นต้นตาล การเคี่ยวน้ำตาล การ่วมหว่าน ไถ ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว และออกเรือหาปลา แหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานับเนื่อง แต่บรรพบุรุษและการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง


แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง
นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการเรียนรู้ วิถีโหนด นา เล แล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่สำคัญและน่าสนใจคือ เส้นทางตามรอยหลวงพ่อทวด ประกอบด้วย
- สำนักสงฆ์วัดต้นเลียบ สถานที่ฝังรกของหลวงพ่อทวด
- วัดดีหลวง สถานที่บรรพชาของหลวงพ่อทวด
- วัดสีหยัง สถานที่ศึกษาพระธรรมวินัย
- วัดพะโคะ สถานที่จำพรรษาของสมเด็จเจ้าพะโคะ เป็นต้น

* กรุณาติดต่อและสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของชุมชนก่อนการเดินทางในแต่ละพื้นที่ เพื่อสอบถามอัตราค่าบริการนำเยี่ยมชมและบริการเรือ

ตำบลท่าหิน ติดต่อคุณพูนทรัพย์ โทร. 08 1275 7156
ตำบลคูขุด ติดต่อคุณมาลา โทร. 08 9977 4696
ตำบลคลองรี ติดต่อคุณขนบ โทร. 08 1541 4439, 0 7448 6168

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ถอดเทป นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ

ถอดเทป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ในการมอบนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน
งานสมัชชาสวัสดิการชุมชนแห่งชาติ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พี่น้องที่เคารพรักทุกท่านครับ
ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณ พี่น้องที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ ท่านที่ปรึกษาผมคือคุณหญิงสุพัตรา เดินทางมาเมื่อค่ำวานนี้ ก็ได้รายงานให้ทราบว่า พี่น้องมีความตั้งใจที่จะมาร่วมงานกันอย่างมาก แล้วก็เตือนผมว่าต้องใส่เสื้อสีส้ม เพื่อที่จะได้มาเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้อง ผมต้องบอกนะครับว่า ก่อนที่ผมจะได้พูดถึงเรื่องของนโยบาย มีบุคคลและหน่วยงานสำคัญๆ ที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นการยืนยันเป็นอย่างดีว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างเต็มที่ มีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรมช.กระทรวงมหาดไทย ส่วนของการเมืองมีทั้งคณะทำงานของผมที่เดินทางมาจากกรุงเทพ แล้วก็มีท่าน ส.ส. ทั้งจากจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง มากันเยอะมาก และก็แน่นอนที่สุดนะครับ ผู้แทนของส่วนราชการต่างๆ ทั้งจากส่วนกลาง เช่นท่านปลัดกระทรวง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงบรรดานักวิชาการ คณาจารย์ และผู้แทนเครือข่ายของสวัสดิการชุมชน และผู้แทนของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผมอยากจะเรียนว่า เรื่องของงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการนั้น ใครที่ติดตามการทำงานของผมในฐานะนักการเมือง จะทราบว่าเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ผมต้องการที่จะให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศของเรา ความใฝ่ฝันของผมก็คืออยากจะเห็นพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญก็คือมีหลักประกัน ในอดีตเราได้มีการสร้างหลักประกันในเรื่องต่างๆ มาโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่ในเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งเราเริ่มตั้งแต่การให้การรักษาฟรี สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ต่อมาก็มีการขายบัตรประกันสุขภาพ ต่อมาก็ทำมาเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มต้นก็เก็บ ๓๐ บาท ต่อมาก็ไม่เก็บ ๓๐ บาท ซึ่งในตอนนี้ก็ถือว่าเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้นก็ครอบคลุมพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพียงแต่ว่าเราก็จะต้องทำงานหนักต่อไปในการปรับปรุงในเรื่องของคุณภาพ ในเรื่องของบริการ

ในส่วนของการศึกษาเช่นเดียวกันครับ เราก็พยายามผลักดันเรื่องของการศึกษาฟรี เริ่มต้นก็มีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดให้ฟรี ๖ ปี ต่อมาก็มาขยายโอกาสเป็น ๙ ปี ต่อมาก็มาทำการศึกษาฟรี ๑๒ ปี แล้วก็ในปัจจุบันรัฐบาลก็ได้ผลักดันนโยบายการเรียนฟรี ๑๕ ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้างในบางสถานศึกษา และก็ในเรื่องของคุณภาพการศึกษาก็จะต้องมีการดำเนินการต่อไป

แต่ว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศหรืออย่างน้อยที่สุดก็คือพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการมากไปกว่าการศึกษาและการรักษาพยาบาล ก็คือในเรื่องของสวัสดิการ เมื่อมีความจำเป็นในโอกาสต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชีวิตของคนเราทุกคนที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้ามองไปแล้วกลุ่มคนในสังคมซึ่งมีระบบที่รองรับดีที่สุดก็หนีไม่พ้นในส่วนของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ แล้วก็ต่อมาเมื่อเรามีระบบประกันสังคมก็คือพี่น้องประชาชนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งก็คือพี่น้องผู้ใช้แรงงาน แต่ถ้านับรวมพี่น้องประชาชนในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็เป็นเพียงประมาณ อาจจะซักประมาณ ๑๒ –๑๓ ล้านคน เท่านั้นเอง ในขณะที่พี่น้องประชาชนอีก ๔๐ กว่าล้านคนยังไม่มีระบบสวัสดิการหรือหลักประกันที่ชัดเจน นี่คือจุดที่ผมคิดว่ารัฐบาลชุดนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่ว่าระบบสวัสดิการสำหรับพี่น้องประชาชนทุกคนนั้นจะต้องเกิดขึ้น แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาเป็นอุปสรรค สำหรับการผลักดันเรื่องของสวัสดิการมาโดยตลอดก็คือว่า ถ้าหากว่าเราหวังที่จะให้ระบบสวัสดิการเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลจัดเงินงบประมาณมาทั้งหมด เราจะพบความเป็นจริงว่า ประเทศของเราคงไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอย่างนั้นได้ เพราะเข้ามาได้อย่างแน่นอนเป็นระบบเป็นลักษณะประจำก็ทำได้ยากก็เป็นข้อจำกัดในการขยายระบบสวัสดิการมาโดยตลอด แต่ว่าด้วยความเข้มแข็งของพี่น้องประชาชนเอง ด้วยภูมิปัญญาของไทย ด้วยผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์สิ่งที่ได้เกิดขึ้นก็คือว่าพี่น้องประชาชนในหลายชุมชนในหลายตำบลทั่วประเทศได้เป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำระบบสวัสดิการชุมชนขึ้นมา ซึ่งอย่างที่พวกเราได้รับทราบตลอดทั้งวันในวันนี้ก็คือ ขณะนี้ก็มีมากกว่า ๓,๑๐๐ ตำบลแล้วที่มีระบบเช่นนี้ แล้วก็เริ่มมีการขยายไปให้คลอบคลุมในทุกจังหวัด และเราก็คาดหวังว่าจะมีการคลอบคลุมไปทุกตำบลต่อไป อย่างที่จังหวัดสงขลาก็ทราบว่าขณะนี้ขาดอยู่เพียง ๘ ตำบลเท่านั้นเอง ซึ่งผมก็หวังว่าหลังจากการแสดงท่าที และการประกาศนโยบายของรัฐบาลในวันนี้ก็จะเป็นอีกแรงกระตุ้นหนึ่งให้เกิดระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมไปทุกตำบลเต็มพื้นที่ได้อย่างน้อยๆที่สุดก็คือในระยะเวลา ๒-๓ ปีข้างหน้า

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะว่าผมมองเห็นประโยชน์ที่สำคัญที่เกิดขึ้น ๓ ข้อ
ข้อแรกก็คือเรื่องที่ผมได้กล่าวไปแล้วนั้นก็หมายความว่าเป็นเรื่องของการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนสามารถที่จะมีหลักประกันมีความมั่นใจในชีวิตของตัวเองมากยิ่งขึ้น ก็คือประโยชน์ในทางสวัสดิการ
ประโยชน์ข้อที่ ๒ ก็คือว่า ระบบของสวัสดิการชุมชนนั้นเป็นระบบที่ส่งเสริมในเรื่องของการออมซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการฝึกฝนนิสัยของพี่น้องประชาชนทุกคนให้รู้จักประหยัด อดออม รู้จักคิดถึงการวางแผนในเรื่องของการใช้จ่ายเงินในวันข้างหน้า และสำหรับระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นผลดี เพราะว่าเป็นการส่งเสริมรูปแบบของการออมในระยะยาวไปในตัวด้วย
และประโยชน์ข้อที่สาม ซึ่งมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือว่าการที่มีระบบสวัสดิการชุมชนเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดขึ้นจากที่คนในชุมชนเองนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างที่มีการพูดในคำขวัญว่า ให้ ก็เป็นการให้อย่างมีคุณค่า รับ ก็เป็นการรับอย่างมีศักดิ์ศรี ตรงนี้คือการสร้างสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ทุนทางสังคม” ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการที่จะให้บ้านเมืองของเรา ไม่เป็นเพียงแต่บ้านเมืองที่มีแต่หลักประกันที่ดี แต่เป็นบ้านเมืองที่มีความสงบสุขอีกด้วย
ด้วยเหตุผลนี้ ผมได้มีโอกาสพบกับครูชบ ได้มีโอกาสพบกับเครือข่ายที่ทำงานใน ภาคประชาชน สวัสดิการชุมชนมา ตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง แล้วก็ได้ยืนยันว่า รัฐบาลตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายนี้อย่างเต็มที่ ด้วยหลักคิดว่า ถ้าพี่น้องประชาชนสามารถสมทบเงินได้ ๑ บาท รัฐบาลก็จะสมทบให้อีกหนึ่งส่วน คือ ๑ บาท แล้วก็จะโน้มน้าวชักชวนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีความเป็นอิสระในการตัดสินในให้เข้ามาร่วมสมทบด้วยอีก ๑ บาท ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก แน่นอนที่สุด การจะทำเช่นนี้ก็ต้องมีการเตรียมการในเรื่องของงบประมาณ

วันที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ขณะนั้นปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะจัดงบประมาณเพิ่มได้มากนัก เพราะว่ามีปัญหาในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ แล้วก็มีเรื่องด่วนในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ว่าผมก็ได้บอกในวันนั้นครับว่าจะพยายามดำเนินการให้ทันในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ซึ่งในขณะนี้ก็ได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ก็ได้มาประเมินดูตัวเลขที่รัฐบาลจะต้องสมทบในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ คำนวณออกมาก็จะเป็นเงินประมาณ ๗๒๗ ล้านบาท ขณะนี้ทางกระทรวงก็ได้ทำเรื่องที่จะแปรญัตติเพื่อให้บรรจุอยู่ในพระราชบัญญัติงบประมาณ ปีงบประมาณ ๒๕๕๓ สอบถามล่าสุดจากท่านรัฐมนตรี ท่านก็บอกว่าได้มีการประสานงานกับทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณางบประมาณอยู่ในขณะนี้ มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันได้ และถ้าหากมีปัญหา ผมก็จะคุยกับทางกระทรวงการคลัง ในการดูในเรื่องเงินในส่วนของไทยเข้มแข็ง ว่าจะสามารถที่จะมาช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้หรือไม่ เป้าหมายก็คือว่าเราจะให้การสนับสนุนและให้การสมทบกับกองทุนสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว พิสูจน์แล้วว่าสามารถดำเนินงานได้อย่างมั่นคงระดับหนึ่ง แล้วก็จะใช้เงินก้อนนี้ เจ็ดร้อยกว่าล้านบาทนี้ เข้าสมทบ ส่วนอีก ๒ ปีข้างหน้า เราก็จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุน ในลักษณะนี้ เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งครอบคลุมทุกตำบลแล้วก็จะจัดให้มีงบประมาณสนับสนุน บนเงื่อนไขเช่นเดียวกันว่า จะต้องเป็นกองทุนซึ่ง ได้พิสูจน์การทำงานมาระยะเวลาหนึ่งให้เห็นถึงความมั่นคงในสถานะของกองทุนและความเข้มแข็งของคนและชุมชนนั้นๆ ว่าจะสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างมั่นคง ได้อย่างต่อเนื่องและได้อย่างยั่งยืน

ผมเรียนว่า อย่างไรก็ตามการทำงานในเรื่องนี้ก็จะต้องมีความระมัดระวัง ประการแรก ผมไม่ต้องการให้โครงการนี้ไปเร่งรัดแล้วในที่สุดทำให้สิ่งที่เริ่มต้นมาได้ดีมีความมั่นคงนั้นต้องไขว้เขว หรือมีปัญหา ถ้าเราเร่งรัดเกินไปพี่น้องที่อยู่ที่นี่จะทราบครับว่ากว่าท่านทั้งหลายจะนำสวัสดิการชุมชนของท่านมาถึงวันนี้ได้ ต้องใช้เวลา ต้องใช้กระบวนการ ต้องทำความเข้าใจและต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดีมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ถ้าเราเร่งโดยหวังปริมาณมากจนเกินไป แล้วเกิดปัญหาขึ้น ตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำลายสิ่งที่เราได้สั่งสมมา แล้วก็ทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นผมต้องย้ำว่า การสนับสนุนนั้นรัฐบาลทำแน่ เป้าหมายเราตั้งไว้ แต่ขณะเดียวกันเราต้องมีการประเมินความพร้อมของแต่ละกองทุนของแต่ละชุมชนอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ประการที่สองก็คือว่าในเรื่องของการให้สวัสดิการนั้น ตัวที่จะเป็นปัญหามาที่สุดในงาของการยั่งยืนของโครงการหรือของสวัสดิการชุมชน ก็คือเรื่องของ บำนาญ ถ้าเราคำนวณตรงนี้ไม่ดี แล้วเราเริ่มให้บำนาญหรือให้สวัสดิการด้านนี้สูงเกินไป เราจะพบว่าไม่ช้าไม่นาน เงินที่ไหลออก จะมากกว่าเงินที่สมทบเข้าไปจากทุกฝ่าย สุดท้ายกองทุนจะยืนอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นจุดหนึ่งซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล้วก็ให้การช่วยเหลือในการศึกษาอย่างเต็มที่ว่าระดับความช่วยเหลือหรือระดับของสวัสดิการที่จะให้ในลักษณะของบำนาญนั้นจะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ซึ่งแน่นอนที่สุดก็จะขึ้นอยู่กับการสมทบเงินและก็การบริหารจัดการกองทุนและก็รวมถึงเรื่องเวลาต่างๆ ด้วย ประการที่สามซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันก็คือว่า แม้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งหลาย จะครอบคลุมไปทุกพื้นที่ แต่ตัวเลขประชาการที่ครอบคลุมจริงๆนั้น ก็ยังเป็นจำนวนน้อย ผมและรัฐบาลต้องการให้ระบบสวัสดิการนั้นครอบคลุมประชาชนทุกคนจริงๆ
ขณะนี้กระทรวงการคลัง ก็จึงกำลังมีแนวคิดที่จะเสนอกฎหมาย ในลักษณะที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแต่ละคนสามารถออมในบัญชีของตัวเองแล้วรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าเป็นกองทุนการออมแล้วเอาเงินมารวมกันเพื่อบริหารจัดการแล้วก็มีระบบของสวัสดิการตอบแทนในยามชราภาพ ผมคิดว่างานของกระทรวงการคลัง นี้ก็จะสนับสนุนแต่สิ่งที่ได้ปรารภกับกระทรวงการคลังไปแล้วก็คือว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมาก อาจจะยังไม่สามารถที่จะออมเงินด้วยตัวเองแล้วเข้าสู่โครงการที่กระทรวงการคลังกำลังคิด เช่นว่า ต้องออมเดือนละกี่ร้อยบาทหรือหกเดือนจำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ แต่ผมได้บอกกับกระทรวงการคลังว่า ขณะนี้เรามีองค์กรที่ทำเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่แล้ว กำลังขอให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนตัวกฎหมายที่เค้าจะเสนอว่า นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้บุคคลแต่ละคนมาเป็นสมาชิกแล้ว จะรับสมาชิกที่เป็นลักษณะกองทุนสวัสดิการได้หรือไม่ ซึ่งถ้าสามารถทำตรงนี้ได้ ผมก็ถือว่าโอกาสของพี่น้องประชาชนจะได้หลายต่อ คือในระบบของสวัสดิการชุมชนนั้นพี่น้องใส่ ๑ บาท รัฐบาลก็จะใส่ให้ ๑ บาทอยู่แล้ว พอเอากองทุนนี้ไปเข้าระบบออมของกระทรวงการคลังก็อาจจะได้เงินสมทบเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย เข้ามาสนับสนุนกองทุน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมขอยืนยันว่าเราจะเดินหน้าด้วยกันต่อไปในการทำระบบนี้ให้เข้มแข็งขึ้นอย่างแท้จริง
ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นข้อเสนอที่ครูชบได้สรุปเมื่อสักครู่ ผมถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดำเนินการอยู่แล้ว มีการเรียกร้องบอกว่าให้ประกาศเรื่องนี้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เหมือนกับอีกหลายๆเรื่อง ซึ่งก็อยากจะบอกว่าหัวใจสำคัญที่สุดก็คือ การเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ หมายถึงการที่ทุกหน่วยงานนั้นจะต้องสนับสนุนแล้วก็ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าโครงการจะต้องมีลักษณะที่ยั่งยืนไม่ผันแปรไปตามสภาพทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมยืนยันว่าถ้าให้ความหมายเช่นนี้ ผมยินดีที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ และจะให้ทุกหน่วยงานได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเร่งเดินหน้าจัดวางพื้นฐานของระบบทุกอย่าง เพื่อให้สิ่งนี้อยู่คู่กับประเทศไทยไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อไปในทางการเมือง (ท่านรัฐมนตรีขอยืนยันอีกครั้งว่าจะได้เงินแน่นอน)

เพราะฉะนั้นพี่น้องที่เคารพครับวันนี้ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ผมถือว่าพี่น้องทุกคนที่ได้ร่วมทำสวัสดิการชุมชนขึ้นมา เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ วันนี้ผมมาร่วมกับกระบวนการการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ไม่ใช่เฉพาะที่อยู่ในห้องนี้ ไม่ใช่เฉพาะแม้แต่คนที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าเราทำระบบนี้สำเร็จนั้นหมายถึงอนาคตของลูกหลานของเราและคนรุ่นต่อๆไปตั้งแต่เกิดจนตาย จะมีหลักประกันที่ดีขึ้นซึ่งเป็นความใฝ่ฝันความปรารถนาที่ผมอยากจะเห็นเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ผมขอขอบคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมและเป็นพลังสำคัญในการสร้างสวัสดิการชุมชนให้เกิดขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้และจะได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลต่อไปในการขยายผลสู่ทุกชุมชนทุกท้องถิ่นแล้วก็เป็นกองทุนที่มีความเข้มแข็งมีความมั่นคงมีความยั่งยืนต่อไป ผม ครูชบ และคณะก็จะได้ไปลงพื้นที่ในการที่จะได้ดูการทำงานของสวัสดิการชุมชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาต่อไป

สุดท้าย ขออวยพรให้สมาชิกเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศได้ดำเนินการจัดระบบสวัสดิการชุมชนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามเจตนารมณ์ทุกประการและขอให้ท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งครับ

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นายกฯ ตรวจเยี่ยมกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ

เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางไปทำการตรวจเยี่ยมกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ท่ามกลางประชาชนที่มาคอยต้อนรับอย่างเนื่องแน่นร่วมห้าพันคนด้วยเสียงปรบมือต้อนรับตลอดเวลาด้วยความยินดี ที่ตำบลเขาพระ ได้มีนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้ามาเยี่ยม โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทักทายประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ที่มาตั้งแถวต้อนรับ หลังจากนั้นได้รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา จากนายไข่ นวลแก้ว ประธานกองทุนฯ ซึ่งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ กองทุนสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548 โดยมูลนิธิครูชบ – ปราณี ยอดแก้ว ปัจจุบันมีกองทุนฯมีสมาชิก 4,438 คน ใน 12 หมู่บ้าน ของตำบลเขาพระ มีกรรมการบริหารกองทุนฯ 43 คน สำหรับสวัสดิการที่สมาชิกจะได้รับจากกองทุนฯ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เงินสัจจะ 50% จ่ายสวัสดิการเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย สวัสดิการช่วยปลดหนี้ สวัสดิการช่วยเหลือเงินฝาก ส่วนที่ 2 เงินสัจจะ 30% จ่ายยืมการศึกษา/ทุนวิสาหกิจและส่วนที่ 3 เงินสัจจะ 20% เป็นกองทุนบำนาญ

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มอบเงินกองทุนสัจจะค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิก 2 รายและได้กล่าวปราศรัยกับประชาชนเกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาที่เคยสัญญากับประชาชนไว้ก็ได้ดำเนินการไปแล้วในเรื่องสวัสดิการต่างๆ และรับปากว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเงินสมทบทุนสัจจะออมทรัพย์วันละ 1 บาท รวมทั้งขอความร่วมมือจาก อบจ. เทศบาล และ อบต.ในพื้นที่ให้สมทบร่วมด้วย โดยตลอดระยะเวลาที่ปราศรัยพูดคุยกับประชาชน ก็ได้รับเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมและพึงพอใจอยู่ตลอดเวลา โดยนายกรัฐมนตรีใช้เวลาอยู่ที่นี่ประมาณ 30 นาที จึงได้เดินทางต่อไปยังตำบลควนลัง อ.หาดใหญ่ เพื่อเป็นประธานเปิดสำนักงานสหกรณ์แห่งใหม่ ที่ตำบลควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก คุณพี่สันติภาพ รามสุต : ทีมงานเนชั่น

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นายกรัฐมนตรีผลักดันสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรียันสนับสนุนเต็มที่กองทุนสวัสดิการชุมชน หวังสร้างความยั่งยืนและหลักประกันชีวิตให้ประชาชน พร้อมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าอีก 2 ปี จัดตั้งครอบคลุมทั่วประเทศ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนแห่งชาติ บ่ายวันที่ 2 สิงหาคม 2552 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดสงขลา เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กว่า 6,000 คน ให้การต้อนรับ ท่ามกลางการรักษาความปลอดอย่างเข้มงวด และมีการมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถืออยู่ครู่หนึ่ง

ครูชบ ยอดแก้ว หนึ่งในคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กล่าวต้อนรับนายกฯ และคณะว่า ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ทั้งสิ้น 3,156 ตำบล ครอบคลุม 25,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน เงินกองทุนรวม 601 ล้านบาทในจำนวนนี้ร้อยละ 73 มาจากการออม หรือการลดรายจ่ายของสมาชิกกองทุน โดย จ.สงขลามี 138 กองทุน มีสมาชิกกว่า 1.2 แสนคน เงินกองทุนคงเหลือประมาณ 56 ล้านบาท

"เครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้ทำข้อเสนอระดับนโยบายให้นายกฯประกาศเรื่อง สวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่สามารถจัดตั้งและพัฒนาคุณภาพสวัสดิการชุมชนอย่างทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน สนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งและสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการที่มีการจัดตั้งแล้ว และให้มีกลไกการประสานเชื่อมโยงของชุมชน ท้องถิ่นและภาครัฐในการจัดระบบสวัสดิการชุมชน" ครูชบกล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ทั้งงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ผ่านการพิสูจน์ถึงความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้หลักสมทบ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล องค์กรสวัสดิการชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันชีวิต ส่งเสริมการออม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยเบื้องต้นรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนงบประมาณกว่า 727 ล้านบาท ให้กับกองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งแล้ว 3,156 ตำบล และจะให้เกิดกองทุนฯ ครอบคลุมทั่วประเทศอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมเร่งผลักดันสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติตามที่เครือข่ายสวัสดิการชุมชนเสนอมา

ขณะเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นการมอบนโยบาย นางอัมพร รัศมีถูก ตัวแทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้เป็นตัวแทนอวยพรวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้า ให้แก่นายอภิสิทธิ์ ที่จะครบรอบวันเกิดปีที่ 45 ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ โดยขอให้บริหารประเทศโดยปราศจากอุปสรรค นำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤต และเป็นนายกฯในดวงใจของประชาชนตลอดไป จากนั้นนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบกระเช้าผลไม้เป็นของขวัญวันเกิดล่วงหน้า 1 วัน แก่นายกรัฐมนตรีก่อนจะออกเดินทางปฏิบัติภารกิจติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา

รัฐบาลเตรียมทุ่มงบสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน


เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2552 เวลา 09.00 น. ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 29 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งมี นายเจิมศักด์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในช่วงที่ 2 ของรายการ ได้มีการพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน ใว้ดังนี้




ผู้ดำเนินรายการ
กลับไปถึงประเด็นที่ท่านนายกฯ พูดเมื่อตอนต้นของรายการ พูดถึงว่าจะต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ท่านนายกฯ บอกว่าวันนี้เป็นวันที่เราออกอากาศ ตอนบ่ายจะไปที่สงขลา แล้วจะไปฟังดูเรื่องชุมชนใช่ไหมครับ มีอันหนึ่งที่ชุมชนเคยทำกันไว้นานพอสมควร และได้ยินมาว่ามีถึง 3,000 กว่าชุมชนที่ทำ คือเรื่องการทำชุมชนให้เข้มแข็งโดยการมีสวัสดิการของชุมชน ครูชบ ยอดแก้ว ก็ดีที่สงขลา พระสุบิน ที่จังหวัดตราดก็ดี และมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่อื่นทำ รัฐบาลนี้เห็นอย่างไรในเรื่องสวัสดิการชุมชน
นายกรัฐมนตรี คือผมคิดว่าเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องที่ผมอยากสนับสนุน โดยเฉพาะระบบสวัสดิการที่ชุมชนทำ 3 เหตุผล เหตุผลแรกคือว่าผมอยากให้คนไทยทุกคนมีหลักประกัน
ผู้ดำเนินรายการ หมายความว่าขณะนี้ข้าราชการมีแล้ว
นายกรัฐมนตรี ข้าราชการมีแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ พนักงานบริษัทมีประกันสังคม
นายกรัฐมนตรี ประกันสังคมมี บางเรื่องทุกคนอาจจะมี เช่น เราบอกรักษาฟรีทุกคน แต่ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การมีเงินในยามชรา ตอนนี้เราให้ได้แค่ 500 บาท ซึ่งผมทราบดีว่าไม่พอ เพียงแค่ 500 บาทให้ทุกคนก็เป็นภาระภาษีอากรพอสมควร ผมอยากให้ทุกคนมีหลักประกัน
ผู้ดำเนินรายการ เกษตรกร และคนที่ทำงาน
นายกรัฐมนตรี อาจารย์ก็ทราบนะครับว่า มีความพยายามหลายครั้งแล้วที่จะขยายประกันสังคม บอกให้ไปถึงคนนอกระบบทั้งหลาย เกษตรกร อาชีพอิสระ ปรากฏทำยากมาก เหตุผลที่ทำยาก อาจารย์ก็คงทราบ คือประกันสังคมต้องหักเงินเดือน ปรากฏว่าคนอื่น ๆ ไม่ได้มีรายได้ประจำแน่นอนอย่างนั้น ไม่ได้มีนายจ้าง ปัญหาคือและอะไรจะทำให้เรามั่นใจว่าเขาใส่เงินเข้าทุกเดือนๆ อันนี้เป็นเรื่องก่อนนะครับ ผมอยากให้ทุกคนมีสวัสดิการ
อันที่ 2 เป็นการส่งเสริมการออม ในอดีตที่ผ่านมา มีแต่ว่าไปแก้ปัญหาโดยรัฐบาลเอาเงินไปให้กู้ ตอนนี้เรากำลังพยายามจะส่งเสริมว่าจริง ๆ เรื่องการออมเป็นเรื่องสำคัญ ระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นในชุมชนก็ดี ประกันสังคมก็ดี หรืออะไรก็ดี มันคือระบบเขาเรียกว่าบังคับออม แต่ละคนอยากจะมีหลักประกัน ก็ต้องยอมหักเงินจ่ายเงินสมทบเข้าไปในกองทุน อาจจะมีแรงจูงใจว่าคุณใส่ 1 รัฐบาลจะใส่ให้อีก 1 ท้องถิ่นจะใส่ให้อีก 1 สุดแล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดคือกระตุ้นให้คนมีความรู้สึกว่าได้เงินมาแล้ว อย่าใช้ให้หมด เก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนประโยชน์ในอนาคต อันนี้เหตุผลที่ 2
เหตุผลที่ 3 คือว่าโดยเฉพาะระบบสวัสดิการชุมชน คือการทำงานเพื่อเสริมความเข้มแข็งในแง่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าทุนทางสังคม คือระบบสวัสดิการชุมชนเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ใช่ไหมครับ ถ้ามาเบี้ยวกัน มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น 3 ส่วนนี้ มันเป็นสิ่งที่ผมถึงบอกว่าผมอยากส่งเสริมให้เกิดขึ้น ทีนี้ที่เขาทำมากันเอง 3,100 ตำบล หรืออะไร ตอนนี้เราก็จะมีแผนการว่าทำอย่างไรในที่สุดครอบคลุมทุกตำบล และเรามีแรงจูงใจเพิ่มคือว่า ถ้าทำกันเอง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะช่วยสมทบเงินให้ คือผมก็มองว่าทำไม ทีข้าราชการ ประกันสังคม รัฐบาลยังให้เงินได้ แต่ปรากฏว่าชาวบ้านซึ่งความจริงเขาอาจจะยากจนที่สุดด้วยซ้ำ ยอมเรียกว่าออมวันละบาทบ้าง อะไรบ้าง ทำไมเราสมทบให้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่จะต้องทำ
บังเอิญมันซ้อนกันอยู่นิดหนึ่งคือว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เสนอมาว่าให้ทำเรื่องการไปสมทบ และสนับสนุนให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็อยากขยายประกันสังคม กระทรวงการคลัง อาจารย์คงเห็นข่าว เขาก็ไปคิดมาแล้วว่าอยากจะมีระบบบำนาญประชาชน เงินออมภาคประชาชนขึ้นมาว่า ถ้าคนออมเงิน เขาจะสมทบให้เดือนละ 50 บาท 100 บาท อะไรต่าง ๆ ก็ไม่รู้เป็นเพราะวิกฤตหรือเปล่า มาพร้อมกันเลยตอนนี้ ผมก็กำลังดูว่าทำอย่างไรที่มันเดินไปได้ และไม่ซ้ำซ้อนกัน และมาสอดคล้องกัน
ผู้ดำเนินรายการ ขอดูประเด็นแรกก่อนที่ท่านนายกฯพูด คือว่าขณะนี้มีอยู่ประมาณ 3,100 ตำบล ที่เขามีวิธีการที่จะเอาเงินมารวมกันวันละบาท เดือนหนึ่งก็คนหนึ่ง 30 บาท ท่านนายกฯ บอกว่าโมเดลของมันก็คือว่าถ้าเขาลงได้เดือนละ 30 บาท รัฐก็จะออกให้อีก 30 บาท และจะขอให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเทศบาล ลงอีก 30 บาท ตกลงกองทุนในการที่จะเป็นสวัสดิการก็จะโตขึ้น 3 เท่า จากเดิมที่เขาทำอยู่
นายกรัฐมนตรี ลง 1 เลยงอกเป็น 3
ผู้ดำเนินรายการ อันนี้จากที่เขาทำดีอยู่แล้ว และไปเพิ่มเติมเขา หรือจะเอาเงินไปล่อให้ที่ใหม่ ที่ไม่เคยมี มันจะได้เกิดเหมือนกับสมัยที่เขาทำกองทุนหมู่บ้าน เขาก็หว่านไปพร้อมๆ กัน
นายกรัฐมนตรี กองทุนหมู่บ้านคงเทียบกันไม่ได้ นั่นเป็นระบบการให้สินเชื่อมากกว่า แต่ว่าหลักจะเป็นอย่างนี้ครับ คือว่าจะมาได้รับเงินสมทบ เขาต้องไปทำระบบของเขาให้ได้ก่อน มีการพิสูจน์ให้ได้
ผู้ดำเนินรายการ ระยะเวลาหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี ถูกต้องครับ ที่ผมพูดกับอาจารย์เมื่อสักครู่คือว่าระบบแบบนี้เกิดไม่ได้ ถ้าเขาไม่เข้มแข็งเอง และเราก็ไม่อยากจะเอาเงินไปใส่ ในจุดที่ในที่สุดหายไป ระบบล้ม เกิดปัญหาการทุจริตหรืออะไรขึ้นมา สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า โครงการดี ๆ ก็ล้มไป เสียชื่อเสียงด้วยที่สำคัญ จะทำให้คนอื่น ๆ ก็ไม่กล้าที่จะทำ เพราะฉะนั้น หลักคือว่าถามว่าเป็นแรงจูงใจไหม ใช่ บอกว่าถ้าเกิดทำได้อย่างนี้นะ รัฐบาลจะสมทบให้ แต่เขาต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน ก็จะไปวางหลักเกณฑ์ว่าต้องนานเท่าไหร่ที่เขาสามารถเก็บเงินดูแลบริหารจัดการเงิน มีระบบบัญชีอะไรต่าง ๆ ดีแล้ว รัฐบาลก็ถือว่าอันนี้ได้มาตรฐานที่จะเข้าไปสนับสนุนต่อ
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงโครงการแรกที่ควรจะทำต้องทำจากชุมชนที่เขามีระบบนี้อยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ และพิสูจน์ตัวเองอยู่แล้ว รัฐบาลกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็จะเริ่มเข้ามาที่จะช่วย ทีนี้บางคนก็เลยเริ่มตาโตว่าสวัสดิการที่ว่านี้มันช่วยอะไร ผมเคยเรียนรู้จากครูชบ และคนอื่น ๆ ในชุมชน เพราะผมชอบตระเวนชุมชนมาก่อน เขาก็บอกว่าง่าย ๆ ของชาวบ้านก็คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดก็คือช่วยเรื่องการคลอด และก็ช่วยให้ของขวัญกับเด็กคลอด แก่คือเงินสวัสดิการสำหรับคนสูงอายุ เจ็บคือเรื่องโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ต้องเสียค่ารักษา แต่จะมีคนไปเฝ้าไข้ ค่าเดินทาง เขาก็เอาเงินนี้มาช่วย และตายก็มีฌาปนกิจศพ และบางแห่งเริ่มมีทุนการศึกษาให้ยืมสำหรับเรียนต่อ อะไรทำนองนี้ก็เพิ่มมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี เกิดนี่ความจริงที่บอกของขวัญ เราจะได้ช่วยส่งเสริมนะครับ เรื่องไข่ เรื่องนม เรื่องโภชนาการที่ถูกต้องอะไรต่างๆ
ผู้ดำเนินรายการ ทีนี้คำถามก็คือว่าทีดีอาร์ไอก็มีความเป็นห่วงเรื่องบำนาญ คือถ้าผู้สูงอายุ แล้วขณะเดียวกันเราก็ให้กองทุนสวัสดิการนี้จ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุเป็นรายเดือน เกรงว่าชุมชนตำบลหนึ่ง ถ้าเกิดตำบลนั้นสัดส่วนผู้สูงอายุมาก มันจะอยู่ไม่ได้กับเรื่องกองทุนสวัสดิการ ถ้ารัฐไม่ผูกกองทุนเข้าด้วยกันในแต่ละตำบลมันจะไปไม่ได้
นายกรัฐมนตรี คืออย่างนี้นะครับคงต้องไปดูก่อนว่าแต่ละกองทุนที่เขาทำในแต่ละชุมชน เขามีกติกาอย่างไร แล้วจุดหนึ่งที่เราต้องไปดูแน่นอนคือต้องไปคำนวณดูว่า ถ้าเก็บเงินอย่างนี้ และให้สิทธิ์อย่างนี้ มันไปได้หรือเปล่า เพราะผมก็เข้าใจว่ามีหลายแห่งถ้าเข้าไปดูตรงนี้แล้วคงต้องปรับปรุงแก้ไข พูดง่าย ๆ คือว่าตอนนี้ไปได้ แต่ถ้าถึงวันหนึ่งปรากฏว่าจะมีแต่รายจ่ายออก รายได้เข้ามาไม่ทัน ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องระวัง และได้เตรียมการไว้ว่าต้องมีการไปทดสอบตรงนี้ดู
อันที่ 2 อาจารย์จะเห็นว่าในส่วนของกระทรวงการคลังก็เหมือนกับประกันสังคมคือว่า สิทธิ์ที่จะได้ที่เป็นบำนาญตอนหลัง มันจะผูกติดกับเงินที่เข้าไป คือเงินที่ตัวเองใส่ เงินที่คนอื่นสมทบ และไปหาดอกผลอะไรมา ที่ กบข.ก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ช่วงหนึ่ง อันนี้ก็จะเป็นหลักประกัน ผมเองใจผมกำลังจะดูว่าถ้าในกองทุนของชุมชนทำได้ระดับหนึ่ง รัฐบาลเข้าไปสมทบแล้ว ผมกำลังจะให้กระทรวงการคลังเขาไปลองดูว่า กระทรวงการคลังเดิมจะทำเป็นแบบรายบุคคล จะเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นกลุ่มได้ไหม อาจจะง่ายกว่า เพราะว่าในกลุ่มบางทีก็จะมีใช่ไหมครับ เพราะว่าในกลุ่มของเขาบางทีเงินของคนได้มา รายได้ไม่เท่ากัน ไม่พร้อมกันอะไร เขาจะมีวิธีช่วยเหลือเกื้อกูลกันเอง ขอให้เขามีความเข้มแข็งพอที่จะดูแลกันได้ ถ้าเขาดูแลได้ เรารับรองเขา แทนที่กำลังจะไปรับว่าเป็นรายบุคคล ทำเป็นรายกลุ่มได้ไหม ผมกำลังให้ไปดู จะได้เข้ามาเชื่อมโยงกันได้
ผู้ดำเนินรายการ หมายความคลังทำระบบที่จะให้กลุ่มทั้งหลาย เหมือนกับเป็นสมาชิกกลุ่ม
นายกรัฐมนตรี แต่แทนที่จะเป็นนายเจิมศักดิ์ นายอภิสิทธิ์ ก็อาจจะไปเป็นกลุ่มเข้ามา เป็นสหกรณ์หรืออะไรเข้ามา
ผู้ดำเนินรายการ ทีนี้ระบบที่ชาวบ้านเขาทำกันอยู่ เขาได้เอื้อเฟื้อกับคนด้อยโอกาส เช่น คนพิการ เด็กกำพร้า พวกนี้ เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะเอามาออมวันละบาท เขาเลยบอกว่าพวกนี้ไม่ต้อง แต่ได้สิทธิเหมือนกัน ทางรัฐบาลคิดว่าอันนี้จะพอทำเหมือนกับที่ชุมชนเขาทำได้ไหม
นายกรัฐมนตรี ก็ได้นะครับ แต่วิธีที่เราอยากให้ทำ หลักคือว่าถือว่าเก็บกันทุกคน แต่ยกเว้นให้บางคน ไม่ใช่ไม่เก็บ
ผู้ดำเนินรายการ เก็บจากทุกคนที่สมัครใจ
นายกรัฐมนตรี คือต้องเป็นสมาชิกเข้ามารวมกัน แต่บางคนเราอาจจะบอกว่าเป็นสมาชิกก็จริง แต่ยกเว้นว่าไม่เก็บ
ผู้ดำเนินรายการ แต่ถ้าคนไหนไม่ต้องการเป็นสมาชิก
นายกรัฐมนตรี ผมว่าอันนี้ไม่ควรนะครับ เพราะถ้าหากว่าเป็นกลุ่ม คือมันจะได้มีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นเพียงแต่ผู้รับจากตัวกองทุน ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรด้วยเลย
ผู้ดำเนินรายการ หมายความว่าถ้าเขาไม่ได้เป็นสมาชิก และเขาไม่ประสงค์ที่จะเป็นสมาชิก เขาถือว่าฐานะเขาดีแล้ว ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอยู่ในกองทุนนี้
นายกรัฐมนตรี อันนี้คือของชุมชน ทีนี้ของที่กระทรวงการคลังทำ ผมได้ให้ข้อสังเกตไปบอกว่าต้องระวังเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่พยายามทำให้ครอบคลุม กลายเป็นว่าคนที่พอมีกำลังก็ออมได้ ก็ได้ประโยชน์ แต่คนที่แย่ที่สุดอาจจะไม่มีเงินออมเลย ก็เลยไม่รู้จะเข้ามาอย่างไร ผมเลยคิดว่าถ้าเกิดเอาตัวกองทุนสวัสดิการชุมชนซึ่งเขาจะพยายามให้ครอบคลุมทุกคนเข้ามา และให้ตัวองค์กรมาเป็นสมาชิกได้ อย่างน้อยคนเหล่านี้จะได้รับการครอบคลุมด้วย กำลังให้กระทรวงการคลังดูอยู่
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯเชื่อหรือเปล่าว่าชุมชนเขารู้กันดี เพราะฉะนั้น เขาจะรู้ว่าใคร หรือชุมชนไหนมีพฤติกรรมอย่างไร ใครเป็นอย่างไร แล้วประสงค์ที่จะมีกิจกรรมอย่างไร และถ้าเกิดรวมตัวเป็นชุมชนแล้ว ต่อไปจะได้เดินไป อย่างเช่น ป่าชุมชนก็ดี การอนุรักษ์แหล่งน้ำก็ดี ชุมชนก็เกิดรวมตัวกันเอง
นายกรัฐมนตรี ผมเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะว่าผมไม่มีทางรู้ดีกว่าเขา ผมเอาง่าย ๆ นะครับ ผมเป็นคนที่บริหารงานในส่วนกลาง ผมจะไปรู้ดีกว่าเขาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะโยงกลับไป อาทิตย์ที่แล้วผมไม่ทราบว่าอาจารย์ได้ติดตามหรือเปล่า ที่ผมไปดูเรื่องบ้านมั่นคง ก็หลักการเดียวกัน เกิดขึ้นไม่ได้นะครับ ไม่ใช่ว่าผมไปชี้ที่ตรงนี้บอกเอามาทำบ้านมั่นคงและทำได้ ทำไม่ได้ถ้าชาวบ้านไม่มารวมกลุ่มกันก่อน และบอกว่าในชุมชนนี้มีกี่คน อยู่กันมานานเท่าไหร่ ต่อไปนี้มีที่ผืนนี้จะแบ่งกันอย่างไร ระหว่างก่อสร้างที่จะรื้อของคนนั้น เพื่อมาทำตรงนี้ จะอยู่กันอย่างไร ถ้าเขาไม่รู้กันเอง ไม่สามารถที่จะวางระบบได้ เราทำไม่ได้ล่ะครับโครงการ เพราะฉะนั้น อันนี้คือเหตุผลที่ผมบอกว่าความเข้มแข็งของชุมชน มันต้องเป็นพื้นฐานของโครงการเหล่านี้
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯ กลัวไหมว่า พอรัฐบาลเอาเงินเข้าไป องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเอาเงินเข้าไป เจ้าหน้าที่ก็มักจะไปบอกชาวบ้านว่าต้องทำอย่างนั้นสิ ต้องทำอย่างนี้สิ อันนี้กลัวไหมครับ
นายกรัฐมนตรี กลัว !! เพราะผมก็เห็นปัญหาชุมชนพอเพียงที่เกิดขึ้น ก็ยังมีลักษณะที่บางคนพยายามจะเอาโครงการไปให้ชาวบ้านอยู่ และพยายามพูดมาตลอดว่าต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ผมไม่รู้ใช้ถูกคำหรือเปล่า คำว่า “วัฒนธรรม” เอา “พฤติกรรม” ก็แล้วกัน ซึ่งยังมักเกิดอยู่ เราก็ต้องพยายามย้ำ แต่ว่ามันต้องอาศัยหน่วยงานที่เข้าใจการทำงานของชุมชน
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงจะประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายแห่งชาติ หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลไหมครับ
นายกรัฐมนตรี ผมบอกตรง ๆ นะครับ เวลาบอกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ คือประกาศไม่ประกาศไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอะไร และทุกคนเข้าใจและมาร่วมกันทำหรือเปล่า เรื่องนี้พรุ่งนี้ผมไป จริงๆ วันนี้ที่เราคุยกันอยู่กำลังเดินทางไปสงขลา ผมก็จะไปบอกอย่างนี้ล่ะครับว่าขณะนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงต่าง ๆ ทราบดีอยู่แล้ว เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ขอเวลาสักนิดหนึ่งที่จะมาเชื่อมเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต่างคนต่างทำมาต่อกันให้ติด ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะไปสนับสนุนเรื่องเงินสมทบ เรื่องอะไร เขาจะเดินต่ออยู่แล้ว แต่ผมยังคิดว่ามันไม่พอ ผมยังอยากให้มันมาโยงกับระบบการออมหลักของกระทรวงการคลังที่กำลังจะวางต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงภายในเดือนกันยายนนี้พอจะเห็นไหมครับ เริ่มสิงหาคม
นายกรัฐมนตรี คือการสมทบถ้าใช้เงินคงต้องไปรอประมาณตุลาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องแปรญัตติงบประมาณ
ผู้ดำเนินรายการ เท่าที่ผมลองดูตัวเลขปีนี้ ถ้าจะใช้ก็ใช้ประมาณ 700 กว่าล้าน
นายกรัฐมนตรี 700 กว่าล้าน ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ แล้วปีหน้าถ้าขยายออกไปอีก 2,000 ตำบลก็ใช้อีกประมาณ 1,600 ล้าน และอีกปีหนึ่งถ้าขยายออกไป 2,800 ตำบล ก็ใช้อีก 2,200 ล้าน มันก็ไม่หนักหนา
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามันไม่ได้เยอะมาก ผมคิดว่าอันนี้ตัดสินใจได้ง่ายที่จะเดิน


จินตนา-วิมลมาส : ถอดเทป

ดาวน์โหลดคลิปวีดีโอรายการ คลิ้กที่นี่ครับ