จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปล่อยเต่าทะเล คืนสู่ทะเล กิจกรรมดีๆที่จังหวัดตรัง


ที่ตรัง มีการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อทำกิจกรรมฟื้นฟูดูแลทะเล( ที่กำลังเสื่อมโทรมอย่างหนัก) มานมนานแล้วครับ

อย่างตอนนี้ที่อ่าวเกาะมุกด์ อำเภอกันตัง ก็มีชาวบ้านสี่หมู่บ้านรวมตัวกัน กำหนดแนวเขตทะเลหน้าบ้านเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในบริเวณนั้น แนวเขตทะเลที่ว่า เรียกภาษาชาวบ้านว่า “เขตเลเสบ้าน” ครับ (ในภาษาใต้ เล =ทะเล,เส =สี่ )

กินอาณาเขตนับ สองหมื่นเจ็ดพันกว่าไร่ (หรือ 40 กว่าตารางกิโลเมตร)

ในเขตทะเลดังกล่าวนี้มีการกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการออกตรวจจับประมงที่กระการผิดกฎหมาย ร่วมถึงมีกิจกรรมอะไรต่อมิอะไรที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอีกมากมาย

เมื่อเดือนที่แล้ว ชาวบ้านได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจจับเรือที่เข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย 1 ลำครับ

ในเรือค้นพบแรงงานผิดกฎหมาย และมีการใช้เบ็ดราไวย์ (ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ในบริเวณดังกล่าว)

ที่สำคัญ มีเต่าทะเลขนาดใหญ่ ติดเบ็ดราไวย์ขึ้นมาด้วย !!

เบื้องต้น ชาวบ้านได้ยึดเรือส่งดำเนินคดี ส่วนเต่าทะเลชาวบ้านได้นำส่งศูนย์ชีวะทางทะเล จังหวัดภูเก็ต เพื่อทำการอนุบาลรักษาให้เต่าฟื้นคืนสภาพปกติเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ เต่าทะเลตัวดังกล่าวก็กลับมาสมบูรณ์ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงจัดกิจกรรมปล่อยเต่ากลับคืนสู่ทะเลขึ้น

โดย : ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

'ซือเลาะ' ใช้โครงการแก้ที่อยู่อาศัยฯ สร้างกระบวนการพัฒนาชุมชน

ชาวซือเลาะ ปลื้ม!! โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เหตุชาวบ้านยากจน มีรายได้ 5 เดือนจากรับจ้างกรีดยาง ไม่มีหน่วยงานเหลียวแล วางแผนตั้งกลุ่มออมทรัพย์พัฒนากลุ่มอาชีพผลิตกริช สร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชนต่อไป

นายสะมาแอ ฮามะ ผู้ใหญ่บ้านซือเลาะ ม.4 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก เข้ามาช่วยเหลือผู้ยากจนในชุมชน สร้างความดีใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือด้านนี้ มีชาวบ้านหลายครัวเรือนที่อยู่ในบ้านที่มีสภาพบ้านที่แย่ บางหลังน่าจะเรียกกระท่อมมากกว่า เพราะชาวบ้านที่นี่จน ส่วนใหญ่รับจ้างกรีดยาง ซึ่งจะมีรายได้เพียงช่วง 5 เดือน บางครั้งชุมชนประสบภัยพิบัติ เช่น พายุลดพัด ฝนตกหนัก ก็ได้รับการช่วยเหลือครั้งละ 5,000 บาท จากอบต.ซึ่งก็ไม่ช่วยให้มีบ้านที่ดีขึ้นได้
ผลจากการดำเนินการตามโครงการ ด้วยการทำประชาคมหมู่บ้าน 3 ครั้ง ทำให้เราคัดเลือกผู้เดือดร้อนได้ 156 หลังคาเรือน แต่ก็จะเสนอขอรับความช่วยเหลือก่อน 50 หลัง สร้างใหม่ 5 หลัง ซ่อมแซม 35 หลัง และต่อเติม 10 หลัง ส่วนที่เหลือก็ให้รอเงินทุนหมุนเวียนจากกลุ่ม 50 หลังแรกที่ส่งเงินคืนเป็นกองทุนของหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ก็ได้รับการพิจารณาอนุมัติงบสนับสนุนแล้ว 1,500,000 บาทจากโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก
ผู้ใหญ่บ้านซือเลาะ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ชุมชนดำเนินโครงการนี้ ช่วยทำให้ชาวบ้านเกิดความตืนตัวมากยิ่งขึ้นต่อการคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยการรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ซึ่งหลังจากนี้ชุมชนวางแผนไว้ว่าจะตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนมาให้กลุ่มทำกริชได้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านต่อไป

ทั้งนี้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งมีแนวทางดำเนินโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา ตั้งแต่การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน คัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ตลอดจนการบริหารงบประมาณในการซ่อมสร้างบ้าน และการกำหนดกติกาการให้ผู้ได้รับการสนับสนุนส่งเงินคืนสู่ชุมชน โดยตั้งเป็นกองทุนของชุมชนเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่น หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆต่อไป.


โดย : สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์ http://www.souththai.org

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พอช. จัดเวทีสร้างความเข้าใจโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน

ประชุมสร้างความเข้าใจโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน เน้นตั้งกองทุนอย่างมีคุณภาพ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบนโยบายในการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี โดยมีผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด คณะอนุกรรมการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้าร่วมประชุมประมาณ ๔๕๐คน

นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แนวคิดการทำงานการจัดสวัสดิการชุมชนได้ให้ภาคประชาชนเป็นหลัก ซึ่งความสำเร็จอยู่ที่ภาคประชาชนทุกคนในฐานะเป็นผู้นำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดประสานงานอำนวยความสะดวก ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งถือได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน สำหรับบทบาทการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทยนั้น เบื้องต้นจะเป็นการทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัด และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและแก้บทบัญญัติท้องถิ่นในการสมทบกองทุน ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน

อ่านต่อ คลิ้กที่นี่ครับ

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างไร ?

การประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ได้อนุมัติแผนงานงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำนวน 12 ตำบล 68 หมู่บ้าน เพื่อสร้างและซ่อมแซมบ้านให้กับครอบครัวที่ยากจน 3,109 หลังคาเรือน รวมงบประมาณที่อนุมัติ 142.8 ล้านบาท

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติแผนงานและงบประมาณโครงการซ่อมแซมและก่อสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ จ. นราธิวาส จ.ปัตตานี และจ.สตูล รวม 3,109 หลัง ซึ่งมีทั้งบ้านที่สร้างใหม่และการซ่อมแซมต่อเติมที่ได้ผ่านการกลั่นกรองทั้งเวทีประชาคมในหมู่บ้าน ตำบลและคณะทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัยในระดับจังหวัดมาแล้ว รวมผู้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 3,109 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล 68 หมู่บ้าน ภายใต้กรอบงบประมาณ 142.8 ล้านบาท โดยให้มีการเบิกจ่ายระยะที่ 1 ไม่เกินหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และเมื่อรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจึงจะมีการเบิกจ่ายได้เต็มจำนวนตามที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่ครับ

คนควนรู ‘งานเข้า’ โรงงานบรรจุนมเด็ก ตอกเสาเข็มก่อนการอนุญาต


ชุมชนตำบลควนรู เป็นชุมชนไม่ใหญ่นัก มีสภาพกึ่งเมืองกึ่งชนบท โดยเฉพาะหมู่ 1,7 ที่มีความเป็นอยู่กึ่งเมืองมากกว่าหมู่อื่น ๆ ใน 9 หมู่บ้าน แต่การทำงานพัฒนาในพื้นที่ มีมุมน่ารัก ๆ ยากจะบอกว่า มีเรื่องควรรู้ที่ควนรูให้ได้ทราบกัน คือว่า ในชุมชน ได้เกิดสภาองค์กรชุมชนขึ้นมา เมื่อไม่นาน มีการเคลื่อนไหวตลอด เริ่มตั้งแต่การประชุมร่วมกันของ 2 สภา คือสภาองค์กรชุมชนกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในเรื่องของการจัดงานย้อยรอยเสด็จ 50 ปี ของในหลวงและสมเด็จฯ เป็นความร่วมมือกัน มีการออกแบบกิจกรรม ขบวนต่าง ๆ ในความเป็นคนควนรูแต่แรก

กระบวนการถ่ายทอดความเป็นชุมชนคนควนรู ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น เวียง วัง คลัง นา เก่าของอำเภอรัตภูมินั้น เป็นครั้งแรกของการทำงานร่วมกันของ 2 สภา ต่อมายังมีงานมหกรรมภูมิปัญญาชุมชนครั้งที่ 6 เพิ่งผ่านมาได้ไม่นานนัก ครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ตำบล โดยใช้ชื่อร่วมกันว่า “ มหกรรมภูมิปัญญา สุขภาวะชุมชนคนควนรู-คูหาใต้”

และเร็ว ๆ นี้ กำลังมีสถานการณ์ใหม่เกิดขึ้นในชุมชน ในกรณีการก่อสร้างโรงผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ที่ดำเนินการก่อสร้างโดยยังไม่ขออนุญาตก่อสร้าง

องค์การบริหารส่วนตำบล จึงได้ร่วมกับกับสภาองค์กรชุมชน ตั้งให้มีคณะศึกษาและเตรียมเวทีประชาคมขึ้น โดยอาศัย พรบ.สภาองค์กรชุมชน มาตรา 21(6) ในการซึ่งตามกฎหมาย พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 21 (6) ได้ให้มีภารกิจ การจัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการ ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่มีผล หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการดังกล่าว ต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู จึงได้ปรึกษาหารือร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล มีความเห็นร่วมกันในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชน กำหนดจัดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ณ วัดไทรใหญ่ ซึ่งผู้เข้าร่วมคือคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ หมู่ 4,5,6,9 ตำบลควนรู

...งานนี้ต้องติดตาม

เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดสงขลา

รวมใจกู้วิกฤติหลังน้ำท่วม

103 โฟกัส เรดิโอ ร่วมกับ เครือข่ายวิทยุท้องถิ่น วิทยุเครื่องแดงภาคประชาชนช่อง12ศูนย์คอหงส์ สโมสรฟุตบอลหาดใหญ่และเครือข่ายคนรักกีฬา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรวมใจกู้วิกฤติหลังน้ำท่วม ออกหน่วยซ่อมบ้าน ซ่อมรถ มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า

วันศุกร์ที่ 27 ถึง อาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน นี้

ขอให้พี่น้องประชาชนที่ประสบภัยได้รับความเสียหาย สามารถไปขอรับบริการได้ตามเวลาและสถานที่ดังต่อไป

กำหนดการ
ศุกร์ที่ 27 พ.ย. 52 วัดท่าช้าง บางกล่ำ
เสาร์ที่ 28 พ.ย. 52 เทศบาลตำบลโคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง
อาทิตย์ที่ 29 พย. 52 รอกำหนดสถานที่

เวลา 09.00 ถึง 15.00 น.
หรือแจ้งความประสงค์ได้ที่ 074-368103 , 074-368522-3

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผู้ว่าฯคนใหม่ 'ไมตรี อินทุสุต' ได้ใจคนตรัง

@@ นับเป็นการเปิดตัวงานแรกๆ อย่างได้ใจชาวตรัง เมื่อ ผู้ว่าฯคนใหม่ ไมตรี อินทุสุต ปรับเปลี่ยน ‘งานเหลิม’ เพื่ออนุรักษ์งานเทศกาลสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรัง ตั้งแต่ให้กลับไปใช้ชื่อเดิม คืองาน ‘เฉลิมพระชนมพรรษา ฉลองรัฐธรรมนูญ และงานกาชาดจังหวัดตรัง’ ประจำปี 2552 และเป็นปีแรกที่จะไม่เก็บค่าผ่านประตู ส่วนเนื้อหาสาระของงานจะเป็นอย่างไร จะปรับเปลี่ยนให้ดูดีขึ้นกว่าแค่มหกรรมขายของ ไก่ทอด ขนมปอดควาย ได้ทันหรือไม่ และการจับจองเอาสองข้างถนนมาเป็นที่รับฝากรถ จะคลี่คลายไปด้วยแค่ไหน จะได้คอยดูกันครับ อ่านเปิดใจผู้ว่าตรัง คลิ้กที่นี่ครับ

@@ นางภาวิณี อินทุสุต นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เหล่ากาชาดจังหวัดตรังร่วมกับจังหวัดตรัง กำหนดจัดงาน ‘เฉลิมพระชนมพรรษา ฉลองรัฐธรรมนูญ และงานกาชาดจังหวัดตรัง’ ประจำปี 2552 ระหว่างวันที่ 5-15 ธันวาคม ณ สนามกีฬาเทศบาล (ทุ่งแจ้ง) จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตเป็นกุศล ได้แบ่งปันน้ำใจด้วยการร่วมกันบริจาค เงิน และ/หรือ สิ่งของ เพื่อใช้เป็นรางวัลในร้านนาวากาชาด ในวันรวมน้ำใจช่วยกาชาด วันศุกร์ที่ 27 พ.ย. นี้ เวลา 09.00-15.00 น. ณ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง (หลังใหม่) ตรงข้ามสนามบินตรัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง โทรศัพท์ 075-501095 และ 075-218043

จากหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ปีที่ 4 ฉบับที่ 92 ประจำวันที่ 16-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คอลัมน์ ‘4แยก หอนาฬิกา’รายงานความคิด ความเคลื่อนไหว ของคนจังหวัดตรัง โดย... ‘นกเสียบไส้’

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

น้ำท่วมพัทลุงน่าห่วง..ยะลาฝนตกหนัก..นราธิวาสแม่น้ำสายหลักเอ่อท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดพัทลุง ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ได้ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอกงหรา อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอเขาสน อำเภอเมือง และ อำเภอควนขนุน บ้านเรือนราษฎรน้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ถนนหลายสายไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ โดยเฉพาะที่ บ้านด่านโลด เขตเทศบาล ตำบลควนเสาธง อำเภอตะโหมด ชาวบ้านกว่า 150 ครัวเรือน ต้องอพยพสิ่งของขึ้นที่สูงเป็นการด่วนหลังจากน้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว และต่างขนย้ายสิ่งของไม่ทันต้องจมอยู่ใต้น้ำ และบางรายต้องพาครอบครัวเดินลุยน้ำไปพักบ้านญาติ เนื่องจากน้ำท่วม นอนพักไม่ได้ ในขณะที่ฝนยังตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าไหลท่วม ถนน สายเพชรเกษม - พัทลุง- ตรัง เป็นช่วงๆ ในเขต อำเภอศรีนครินทร์ สูงประมาณ 50 - 70 ซ.ม. และจนถึงขณะนี้ ประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 1,500 ครัวเรือน แล้ว

ขณะที่ จังหวัดยะลา ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เนื่องจาก มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ ภาคใต้ มีฝนตกหนัก ถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขา หรือ ที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลของ จังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทย มีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลภาคใต้ ฝั่งตะวันออก ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กในอ่าวไทยตอนล่าง ควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 22 - 23 พฤศจิกายน นี้ ทางด้าน นายเวโรจน์ สายทองแท้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะ เรือท้องแบน และประสานหน่วยกำลังในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ และ อาสาสมัคร เตรียมความพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือราษฎร และสัตว์เลี้ยง ขึ้นไว้ในที่สูงทันที หากเกิดน้ำใน แม่น้ำสายบุรี และ แม่น้ำปัตตานี ล้นตลิ่งในวันนี้

ด้านจังหวัดนราธิวาส นายประดิษฐ์ ปิ่นกระจาย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนราธิวาส เปิดเผยถึงแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านในพื้นที่ว่า ล่าสุดยังน่าเป็นห่วงเพราะปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแม่น้ำสุไหงโก-ลก ล้นตลิ่งท่วมเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และพื้นที่ลุ่ม ต.ปาเสมัส

ขณะที่แม่น้ำบางนราขึ้นสูงเช่นกัน เพราะมีน้ำจาก อ.ระแงะ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำไหลมาสมทบ ทำให้พื้นที่บางส่วนของ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.เมือง มีน้ำท่วมขัง ส่วน อ.ศรีสาคร แม่น้ำสายบุรี แม้ระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่ง แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้ามีฝนตกอีกอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

อย่างไรก็ดีขณะนี้ นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นำเจ้าหน้าที่ศูนย์เฉพาะกิจป้องกัน อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่ ต.บาตง อ.รือเสาะ และแจกเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นกว่า 100 ครัวเรือน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมถนนสายหลัก ไม่สามารถสัญจรได้

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สงขลา /สั่งปิดน้ำตกทั้ง 4 แห่งในจ.สงขลาและสตูล หลังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น



สงขลา / สั่งปิดน้ำตกทั้ง 4 แห่งในจ.สงขลาและสตูล หลังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก หวั่นน้ำป่าไหลทะลักลงมา เพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2552 จากภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในวันนี้ ล่าสุดได้มีการสั่งปิดน้ำตกจำนวน 4 แห่งที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างอย่างไม่มีกำหนดแล้ว ประกอบด้วยในพื้นที่จ.สงขลา 3 แห่ง คือ น้ำตกโตนงาช้าง น้ำนกโตนปลิว และน้ำตกบริพัทธ์ และในพื้นที่จ.สตูล 1 แห่งคือ น้ำตกปาหนัน เนื่องจากปริมาณน้ำของน้ำตกทั้ง4 แห่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไหลแรงจนไม่สามารถลงเล่นน้ำได้เกรงว่าจะเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยว และอาจเกิดน้ำป่าไหลทะลักลงมา จึงจำเป็นต้องปิดอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในจ.สงขลา ล่าสุด นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจ.สงขลา เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้มีการประกาศให้พื้นที่ทั้ง 16 อำเภอของจ.สงขลา เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้วพร้อมกับตั้งงบประมาณให้ทั้ง 16 อำเภอ ๆ ละ1 ล้านบาทเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะเครื่องยังชีพในเบื้องต้น

โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดิน 5 จังหวัด อนุมัติแล้ว 142 ล้านบาท

สงขลา/ประชุมอนุกรรมการฯพัฒนาที่อยู่อาศัย ไทยเข้มแข็ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ อนุมัติกรอบงบประมาณรายตำบล รวม 3,110 หลังคาเรือน ในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส และสตูล พร้อมแจงทุกโครงการผ่านการกลั่นกรองจากตำบลถึงจังหวัด โดยผวจ.ลงนามแต่งตั้งคณะกลั่นกรอง พร้อมขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องประชุมสมิหลา 1 โรงแรมบีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา คณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดประชุมครั้งที่ 3/2552

ในการประชุมครั้งนี้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณรวม 142,860,000 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัด 9 อำเภอ 13 ตำบล 68 หมู่บ้าน แบ่งเป็นสนับสนุนงบประมาณด้านซ่อมแซมบ้าน 2,350 หลังคาเรือน ต่อเติม 10 หลังคาเรือน และสร้าง 750 หลังคาเรือน รวมทั้งสิ้น 3,110 หลังคาเรือนประกอบด้วย
พื้นที่จ.ปัตตานี ประกอบด้วย ต.พ่อมิ่ง อ.ปานาเระ ต.สะนอ ต.เขาตูม อ.ยะรัง ต.ตะโละ ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง ต.บางเก่า อ.สายบุรี อนุมัติรวม 70,680,000 บาท
พื้นที่จ.นราธิวาส ประกอบด้วย บ้านซือเลาะ ต.เรียง อ.รือเสาะ อนุมัติ 1,500,000 บาท ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ อนุมัติ 11,780,000 บาท
พื้นที่จ.สตูล ประกอบด้วย ต.เกตรี ต.เจ๊ะบิลัง ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า ต.ปากน้า อ.ละงู อนุมัติรวม 58,900,000 บาท

อ่านต่อ คลิ้กที่นี่ครับ

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชุมชนยะลาเสนอภาครัฐหนุนสวัสดิการชุมชน

ยะลา/ผู้ว่าฯยะลาให้เกียรติเป็นประธานเปิดสมัชชาสวัสดิการสังคม เปิดเวทีเรียนรู้ด้านการรวมกลุ่มออมทรัพย์ช่วยเหลือกันเองภายในชุมชน พร้อมสรุปบทเรียน จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐให้ อปท. หน่วยงานรัฐระดับจังหวัด รัฐบาลกลาง ร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการ และเน้นชุมชนเป็นหลักจัดสวัสดิการดูแลกันเอง

เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เครือข่ายองค์กรชุมชน จ.ยะลา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ยะลา และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ จัดประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคม จ.ยะลา ณ อาคารศรีนิบง อ.เมือง จ.ยะลา มีประชาชนเข้าร่วม ๕๐๐ คน ในโอกาสนี้นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดการประชุม และมอบเงินสวัสดิการแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ

การจัดงานครั้งนี้มีการเสวนาการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมไทยกับการเป็นสังคมสวัสดิการ เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม และมีการระดมความคิดเพื่อสรุปบทเรียนการจัดสวัสดิการสังคมที่ผ่านมาและข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน

อ่านต่อ คลิ้กที่นี่ครับ

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครในสถานการณ์ภัยพิบัติ" ภาพสะท้อนการจัดการพิบัติโดยชุมชน

ในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงของโลกมีมากขึ้น ทำให้โลกสูญเสียสมดุลของธรรมชาติ ได้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดในรูปแบบของภัยพิบัติต่างๆ ที่ยากจะคาดเดาว่า จะเกิดเมื่อไร? จะเกิดที่ไหน? ความรับผิดชอบต่อธรรมชาติที่มนุษย์พึ่งจะเริ่มตระหนัก ก็อาจจะสายเกินกว่าจะเยียวยาได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักวิธีการจัดการภัยพิบัติ ย่อมจะมีประโยชน์มากกว่าการโทษตัวเอง

สภาพการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นสิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักถึงคือ การเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบเหตุ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งองค์กรระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ในการสร้างภาคีร่วมระหว่างองค์กรรัฐและภาคประชาสังคม เพื่อจัดการภัยพิบัติ ซึ่งนับเป็นวิธีการลดความสูญเสียที่น่าสนใจมาก จึงมีการจัดการประชุมเพื่อหาแนวร่วมในการเข้าจัดการปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ภายในภาคีสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ

ในระดับอาเซียน (ASEAN) ก็มีเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการภัยพิบัติที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาสังคม อาเซียนให้ความสำคัญกับประเด็นภัยพิบัติ คือ เมื่อต้นปีได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียน และมีมติจากการประชุมครั้งนั้น ให้มีการจัดตั้งการร่วมมือระหว่างทหารกับภาคประชาสังคม เรื่องความมั่นคงที่ไม่เป็นทางการ เขามองว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับภูมิภาคหลายครั้ง และมีการผลักดันของประชาสังคมค่อนข้างสูงว่าควรจะให้มีการแก้ปัญหาร่วมกันของทหาร ดังนั้น กระทรวงกลาโหมไทยและมาเลเซีย ก็ได้เป็นเจ้าภาพร่วม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียน เรื่องกลาโหมอาเซียนและภาคประชาสังคม ความช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์เนื่องจากภัยพิบัติ วัตถุประสงค์คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ต่อการกำหนดแนวทางและกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมาก แต่การมองแบบรัฐก็ไม่ได้เห็นบริบทของปัญหาทั้งหมด และบางครั้งการเข้าไปประชุมร่วมกันกับภาคประชาสังคมก็มีการไม่ลงตัวตามกรอบของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอีกมาก"

อ่านต่อ คลิ้กที่นี่ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คนยาลอ เสนอภาครัฐหนุนชุมชนจัดสวัสดิการเพื่อชุมชน

สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้

ผู้ว่าฯยะลา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดสมัชชาสวัสดิการสังคม เปิดเวทีเรียนรู้ด้านการรวมกลุ่มออมทรัพย์ช่วยเหลือกันเองภายในชุมชน พร้อมสรุปบทเรียน จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ ให้ อปท.หน่วยงานรัฐระดับจังหวัด รัฐบาลกลาง ร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการ และเน้นส่งเสริมชุมชนเป็นหลักจัดสวัสดิการดูแลกันเอง

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 เครือข่ายองค์กรชุมชนจ.ยะลา ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดงานประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคม จ.ยะลา ณ อาคารศรีนิบง อ.เมือง จ.ยะลา มีประชาชนเข้าร่วม 500 คน ในโอกาสนี้นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดการประชุม และมอบสวัสดิการแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ

การจัดงานครั้งนี้มีการเสวนาการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมไทยกับการเป็นสังคมสวัสดิการ เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม และมีการระดมความคิดเห็นเพื่อสรุปบทเรียนการจัดสวัสดิการชุมชนที่ผ่านมา และข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน

นายสุไลมาน วอโตะแม ประธานกรรมการกองทุนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ต.กาลูปัง อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ชาวบ้านไม่มีสวัสดิการอะไรเหมือนอย่างที่ข้าราชการมี ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็ไม่ได้คิดที่จะรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันเอง ขาดความรู้เรื่องการรวมกลุ่มเพื่อออมทรัพย์ แล้วนำมาเป็นทุนหมุนเวียนช่วยเหลือกัน

รัฐมนตรีฯ ศึกษา แถลงนโยบาย เอาใจเด็ก 3 จังหวัดใต้

โดย : มัยยีดะห์ มะมิง (11/11/2009)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ประชุมแถลงนโยบายการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักของ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ผู้บริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูทั้งรัฐและเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน ถึงปัญหาด้านการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอใน จ.สงขลามีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาคุณภาพ ปัญหาโอกาส และสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู

นายจุรินทร์ กล่าวว่าด้วยเหตุนี้ ศธ. จึงได้ตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายนิวัตร นาคะเวช รองปลัด( ศธ.)เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กอ่อนด้านการศึกษา สาเหตุแรกที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของผลการสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกกันว่า O-NET ซึ่งเด็กภาคใต้มีคะแนนต่ำอยู่ที่อันดับสุดท้ายของประเทศ จากผลการประเมิน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการยกระดับคุณภาพการศึกษา สาเหตุที่สอง เนื่องจากเด็กมุ่งเน้นการศึกษาในเรื่องศาสนามากเกิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องให้ความสำคัญในด้านวิชาสามัญและวิชาชีพด้วย เพราะ เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับจะสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงมีปัญหาครูขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

อ่านรายละเอียดของข่าว คลิ้กที่นี่ครับ

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

น้ำเริ่มลดแต่ชาวบ้านยังไม่คลายทุกข์

น้ำเริ่มลดแต่ชาวบ้านยังไม่คลายทุกข์ ครวญรัฐช่วยเหลือไม่ทั่วถึง
แวลีเมาะ ปูซู
นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


แม้สถานการณ์ฝนถล่มและอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ยังไม่หมดไป เพราะจนถึงขณะนี้ความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเข้าไม่ถึงอย่างครอบคลุม

จังหวัดที่หนักที่สุดในห้วงเวลานี้คือ จ.ปัตตานี เนื่องจากที่ตั้งของเมืองอยู่ปากแม่น้ำปัตตานี จึงเป็นจุดรับน้ำของทั้ง จ.ยะลา และนราธิวาส อีกทั้งแม่น้ำปัตตานียังไหลผ่านใจกลางเมืองด้วย แม้หลายวันที่ผ่านมาทุกหน่วยงานรวมทั้งทหารจากหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จะพยายามเข้าให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ โดยเฉพาะน้ำดื่มและข้าวสารที่ชาวบ้านต้องการอย่างมาก

จากการนั่งเรือเข้าไปสำรวจพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" และพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ปรากฏว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ต้องการน้ำดื่ม บางส่วนที่เป็นมุสลิมฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า หากนำอาหารมาแจกจ่าย ขอให้เป็นอาหารที่อิสลามทานได้ เพราะช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา อาหารที่นำมาแจก มุสลิมไม่สามารถรับประทานได้ จึงต้องทิ้ง เสียดายของ

อ่านรายละเอียดของข่าว คลิ้กที่นี่ครับ

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คนสงขลาร่วมกำหนดอนาคต “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน”

โดย : Cha na News

เครือข่ายชุมชนสงขลา จัดเวทีชวนคิด ร่วมคุย เพื่อกำหนดอนาคตคนสงขลาด้วยแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทำลายฐานทรัพยากร และวิถีชีวิตของคนสงขลา

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ที่ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ ศูนย์การประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดเวทีสัมมนา ร่วมกำหนดอนาคตคนสงขลา “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน” มีผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจาก หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา สมาคม กลุ่มองค์กรชุมชน และองค์กรภาคประชน รวมทั้งองค์กรสาธาธระประโยชน์ต่างๆในพื้นที่จังหวัดสงขลา

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลาได้นำเสนอถึงภาพรวมทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา ซึ่งตามกรอบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ได้ระบุให้จังหวัดสงขลาอยู่ในกลุ่มจังหวัดชายแดนซึ่งมีการระบุว่าเป็นพื้นที่กลุ่มเป้าหมายเหมาะที่จะพัฒนาพลังงานและปิโตรเคมี ปัจจุบันหลังจากที่มีการพัฒนาโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย- มาเลเซีย ตามด้วยโครงไฟฟ้าจะนะ ขณะกำลังมีโครงการที่จะขยายโรงไฟฟ้าจะนะ และกำลงจะมีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลาเพื่อการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา- สตูลและเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสงขลา การพัฒนาต้องเอาสุขภาพคนเป็นตัวตั้ง ซึ่งแม้การดำเนินโครงการจะพยายามบอกว่ามีการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งในความเป็นจริงค่ามาตรฐานการควบคุมของประเทศไทยต่ำกว่าต่างประเทศ และสุขภาพของคนจะกำหนดโดยค่ามาตรฐานไม่ได้ เพราะความแข็งแรงของร่างกายของมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน การได้รับมลพิษแล้วมีผลต่อร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน

อ่านรายละเอียดของข่าว คลิ้กที่นี่ครับ

ดับไฟใต้สไตล์ “ผู้ว่าฯกฤษฎา”

อาสาปลดชนวน "อยุติธรรม"

สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


เอ่ยชื่อ “กฤษฎา บุญราช” บางคนยังติดปากเรียกด้วยความเคยชินแบบเดิมๆ ว่า “ท่านรองฯกฤษฎา” เพราะเจ้าตัวเคยนั่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาอยู่หลายปี ทั้งๆ ที่วันนี้เขาก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเต็มตัวแล้ว

"ผู้ว่าฯกฤษฎา" สมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ เคยให้สัมภาษณ์แบบยาวๆ กับ “ทีมข่าวอิศรา” จนสร้างกระแสฮือฮามาแล้ว โดยเฉพาะการชำแหละ 6 ปัจจัยจุดไฟใต้ และการแก้ไขสถานการณ์ร้ายด้วยกฎของหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “ฮูกมปาก๊ะ”

วันนี้ "ผู้ว่าฯกฤษฎา" ทำหน้าที่เป็น “พ่อเมืองตัวจริง” เขาประกาศดูแลลูกบ้านให้ได้รับความเป็นธรรม เพื่อถอดชนวน “ความอยุติธรรม” ที่เป็นเงื่อนไขทำให้เกิดปัญหาในดินแดนแห่งนี้มาเนิ่นนาน

และเขาน่าจะเป็นผู้ว่าฯเพียงไม่กี่คนที่กล้าประกาศว่า จะสังคายนาคดี “คนหาย” และคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัด ตลอดจนสะสางปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะ “ใบกระท่อม” เป็นวาระเร่งด่วนในการทำงาน

ความน่าสนใจจากการพูดคุยกับ “ผู้ว่าฯกฤษฎา” ทุกครั้งก็คือ ทัศนะการมองปัญหาไฟใต้จากมุมที่หลากหลายและอิงกับความเป็นจริง พร้อมด้วยตัวอย่างจาก "เรื่องจริง" ที่ทำให้ฉายสถานการณ์ได้อย่างชัดแจ๋ว...

อ่านรายละเอียดของข่าว คลิ้กที่นี่ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

103 องค์กรประชาชน แถลงการณ์ค้านเปิดเสรีลงทุนอาเซียน

103 องค์กรประชาชน แถลงการณ์ค้านเปิดเสรีลงทุนอาเซียน ผลักดันรัฐสงวนอาชีพชุมชน

กลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชน 103 องค์กร แสดงจุดยืนคัดค้านข้อตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน(เอซีไอเอ) ในเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) 3 สาขา การเพาะและขยายพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า ชี้ชักศึกเข้าบ้านเอื้อประโยชน์ต่างชาติมากกว่าคนไทย ผลักดันรัฐบาลปกป้องทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อาหาร สงวนอาชีพให้เกษตรกรรายย่อย ท้องถิ่น และคนไทย มิเช่นนั้นจะยื่นฟ้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย), กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอว็อทช์), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 103 องค์กรภาคประชาชน จัดแถลงข่าว “รัฐบาล และ กนศ. ต้องทบทวนการยกเลิกข้อสงวนในการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน ในสาขาเกษตร ประมงและป่าไม้” ขณะที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ(กนศ.) กำลังเตรียมจัดประชุมเพื่อพิจารณาความตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน และจัดทำข้อเสนอและมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ ในเร็วๆนี้

อ่านรายละเอียดของข่าว คลิ้กที่นี่ครับ

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พอช.แจงผ่านทีวีไทย"โครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 5 จ.ใต้ล่าง"

ผู้จัดการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้แจงกระบวนการช่วยแก้ปัญหาที่อยู่-ที่ดินคนจนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นกระบวนการประชาคม สร้างฉันทามติ ความโปร่งใสลดความขัดแย้งในชุมชน ย้ำนี่คือโอกาสพิสูจน์ความเชื่อการบริหารงบประมาณที่ให้ชุมชนเป็นหลัก จะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 11.00 น. สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ออกอากาศรายการ ดีสลาตัน ณ แดนใต้ ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในครั้งนี้เชิญนายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้าร่วมรายการเพื่ออธิบายโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมนำเสนอกรณีพื้นที่ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

นายธีรพล อธิบายถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า รัฐบาลมอบงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งให้กับพอช.ในปีงบประมาณ 2553 จำนวน 1,228 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ 5 จังหวัด ให้แก่ประชาชนผู้มีฐานะยากจนมีรายได้น้อยกว่า 64,000 บาทต่อปี ในส่วนของที่อยู่อาศัยจะดำเนินการ 2 ลักษณะ ได้แก่ การสร้างใหม่ สนับสนุนงบประมาณ 80,000-120,000 บาท และการซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านเก่า สนับสนุนงบประมาณ 15,000-50,000 บาท ตามแต่สภาพความเป็นจริง

แนวทางการดำเนินโครงการจะเน้นการมีส่วนร่วม เริ่มจากการสำรวจรายชื่อผู้เดือดร้อน ซึ่งใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และการที่ชาวบ้านมาแจ้งเอง หลังจากได้ข้อมูลแล้วคณะทำงานระดับหมู่บ้านจะมาช่วยกันตรวจสอบ เป็นกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ ผู้นำศาสนา ผู้นำธรรมชาติ ผู้นำท้องถิ่นคือ อบต. ผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้รายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาแล้วก็จะส่งข้อมูลต่อไปยังระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พอช.เข้ามาช่วยชุมชนพัฒนาโครงการ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ โดยให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของโครงการ บริหารงบประมาณโครงการด้วยตนเอง และการให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วส่งเงินคืนกลับสู่ชุมชน เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชุมชนนำไปใช้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป

ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ ตอบคำถามเรื่องงบประมาณลงสู่ชุมชนอาจจะสร้างความขัดแย้งในชุมชน ว่า เรื่องนี้เป็นข้อกังวลของเรา เราจึงเน้นการสร้างกระบวนการภายในชุมชนในการดำเนินงาน ซึ่งโดยธรรมชาติพี่น้องในชุมชนย่อมต้องถกเถียงกันเองเพื่อหาผู้ที่เหมาะสมและเป็นฉันทานุมัติร่วมกัน ซึ่งตรงนี้มีความยากลำบาก แต่ก็คือกระบวนการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ซึ่งถ้าเอากฎเกณฑ์ต่างๆเข้าไปเทียบก็เชื่อว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน สาเหตุความขัดแย้งยังเกิดจาก การรับรู้ข้อมูลไม่ทั่วถึงกัน ซึ่งทางพอช.ก็พยายามเร่งการประชาสัมพันธ์ แต่ที่เราเป็นห่วงมากคือ ความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ตรงนี้เราพยายามที่จะมีกระบวนการตรวจสอบ สร้างการยอมรับร่วมกัน เพื่อให้เกิดเป็นฉันทามติร่วมกัน

ต่อคำถามเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ นายธีรพล กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่บริหารในระดับตำบล หมู่บ้าน ปัญหาความไม่โปร่งใสก็จะเกิดขึ้นในระดับตำบล หรือหมู่บ้าน ไม่ใช่เกิดที่ระดับไหนก็ไม่รู้เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าชาวบ้านจะสามารถตรวจสอบติดตามกันเอง เช่น เมื่อนำเงินไปให้นาย ก แล้ว คนอื่นๆที่เหลือและกำลังรอรับประโยชน์ก็ย่อมจะเฝ้าดูนาย ก ว่าจะทำอย่างไร นอกจากนี้เรายังมีระบบติดตามจากภายนอกคือ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะช่วยให้ภาคประชาชนบริหารงบประมาณได้อย่างโปร่งใส

นายธีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า พอช.เชื่อว่าหากให้โอกาสชาวบ้านขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง บริหารโครงการด้วยตนเองจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า ความเข้มแข็งของชุมชน ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตลอดจนความโปร่งใสในการบริหารโครงการ เป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และนี่คือด่านทดสอบความคิดความเชื่อที่ว่า ถ้าชุมชนเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาของตนเองจะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ เพราะนี่เป็นแนวทางที่แตกต่างกับอีกระบบหนึ่งซึ่งมีงบประมาณอีกมากมายในพื้นที่ 5 จังหวัด.
เนื้อหาข่าว จาก : http://www.souththai.org