จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข ที่ธารคีรี

จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นอีกโซนหนึ่งที่ถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคง

คนภายนอกหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่อยากเฉียดกลายถ้าไม่จำเป็น แต่ดวงพร อุทัยสุริ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย เลือกพื้นที่ดังกล่าวเคลื่อนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม
“คนธารคีรีมีน้ำใจ เราได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมากที่สุด ทั้งที่บางหน่วยงานไม่กล้าเข้ามาที่นี่ แต่เรามาไม่หยุดเลยและมาด้วยใจเสมอ”

ดวงพรเล่าระหว่างนั่งรถเดินทางเข้าไปอีกครั้ง บนทางลาดยางสลับถนนดินแดง ต้องผ่านเครื่องกีดขวางกองกำลังเฉพาะกิจหลายจุด แม้ว่าไม่มีเหตุอะไร แต่ทุกฝีก้าวต้องระมัดระวัง ภายใต้ผืนฟ้าใส แนวภูเขาทอดตัวอย่างสงบ และสีเขียวสดแห่งหมู่ไม้ริมทางอาจเกิดบางอย่างที่ไม่คาด

กิจกรรมของชุมชนคนรักษ์มะโย่ง ความร่วมมือระหว่างสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย สภาวัฒนธรรมอำเภอสะบ้าย้อย สภาวัฒนธรรมตำบลธารคีรี และโรงเรียนบ้านสุโสะ กำหนดจัดขึ้นที่โรงเรียนสุโสะ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กรรมการไทยเข้มแข็ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ อนุมัติงบช่วย 3,029 ครัวเรือน

ประชุมอนุกรรมการโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน 5 จังหวัดชายแดนใต้ อนุมัติเพิ่ม 100 ล้าน ช่วย 3,029 ครัวเรือน ประธานบอร์ด พอช.เน้นย้ำทำข้อมูลชุมชนให้ชัดเจนพร้อมรับการตรวจสอบ ด้านแก้ปัญหาที่ดินใช้บทเรียนกรณีอ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำข้อมูลและปลูกไม้ทำแนวเขต เสนอฝ่ายปกครองร่วมแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ห้องประชุมโรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ จ.สงขลา โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่น 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3/2553 เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนพื้นที่ โดยอนุมัติงบประมาณรวม 100,803,181 บาท เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 25 ตำบล 104 หมู่บ้าน 3,029 ครัวเรือน

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ในฐานะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานพัฒนาไม่ควรมีการแบ่งกลุ่ม แบ่งสี ว่าเป็นหมู่บ้านยากจน หมู่บ้านพัฒนาเร่งด่วน หรือหมู่บ้านเป้าหมาย แต่ให้ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน แล้วเราต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะการทำงานพัฒนาไม่ควรมีการแบ่งสีในการขับเคลื่อนงานนอกจากการสร้างบ้านแล้วอยากให้เกิดองค์กรชุมชนทุกหมู่บ้าน เพราะพอช. มีหน้าที่จัดขบวนการให้เกิดการเชื่อมโยงของชุมชนให้เข้มแข็ง ไม่ใช่เข้มแข็งเฉพาะผู้นำชุมชนที่เราไปทำงานด้วย และโครงการนี้เป็นที่จับตามองจากหลายฝ่าย
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สองปีสภาองค์กรชุมชน กับอนาคต การเมืองภาคพลเมือง

โดย สุวัฒน์ คงแป้น : ผู้ชำนาญการประจำ พอช.ภาคใต้

31 มกราคม 2551 พรบ.สภาพัฒนาการเมือง มีผลบังคับใช้ และ 9 กุมภาพันธ์ 2551 พรบ. สภาองค์กรชุมชนมีผลบังคับใช้ ซึ่งคนในวงการเรียกพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับว่าเป็น “กฎหมายคู่แฝด” หรือ “กฎหมายพี่กฎหมายน้อง” ทั้งนี้เพราะต่างให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งการเมืองภาคพลเมืองด้วยกันทั้งสองฉบับ

กล่าวคืออำนาจและหน้าที่ของ พรบ. สภาพัฒนาการเมือง หนึ่งใน 3 ข้อ ก็คือการส่งเสริมให้การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข้ง (มาตรา 5 และ6 ) ส่วน พรบ. สภาองค์กรชุมชน มาตรา 21 ซึ่งเป็นภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบลมีเป้าหมายชัดเจนคือ ให้ภาคประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ด้วยการร่วมกันวางแผนในการแก้ปัญหาของตนเอง โดยการประสานร่วมมือกับภาคีการพัฒนาทั้งหลายในท้องถิ่น (ตำบล) แล้วนำปัญหาที่กินอาณาเขตกว้างกว่าตำบลไปสู่การแก้ปัญหาระดับจังหวัด (มาตรา 27 ) และจากระดับจังหวัดก็นำไปสู่การแก้ปัญหาของคนทั้งประเทศ (มาตรา 32 )

นั่นแสดงว่า ตาม พรบ. สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาชนสามารถร่วมกันกำหนดนโยบายงานพัฒนาได้ในทุกระดับ ซึ่งก็คือทิศทางในการสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมืองนั่นเอง

กุมภาพันธ์ 2553 พรบ. ทั้ง 2 ฉบับ มีอายุครบ 2 ปี ซึ่งเวลาที่ผ่านมา สำหรับคนวงในแล้ว ต่างก็จับตาความเคลื่อนไหว และทิศทางการเติบโตของภาคประชาชนอย่างสนใจยิ่ง ว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้หนุนเสริมให้ประชาชนกำหนดอนาคตของตนเองได้มากน้อยเพียงไร ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการเมืองภาคพลเมืองมีความเข็มแข็งขึ้นหรือไม่เพียงไร อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ลดการปล่อยคาร์บอน 10% ภายในปี 2010

คลิ้กที่ภาพเพื่อชมวิดีทัศน์

สัมภาษณ์พิเศษ: Sikke Hempenius "ยิ่งสร้างเขื่อนยิ่งสะเทือนชายหาด"

ทำไมถึงสนใจชายหาดประเทศไทย
ผมเป็นคนเนเธอร์แลนด์อยู่ติดทะเล เรียนทางด้านฟิสิกส์ เลยมีความรู้เรื่องชายหาด ทะเล และตะกอนทราย ทะเลเนเธอร์แลนด์คลื่นลมแรง เราจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องทะเล งานของผมทำให้มีโอกาสไปประเทศโน้นประเทศนี้ประมาณ 50 ประเทศ ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งแต่ละประเทศ ผมเลยสนใจพฤติกรรมของชายฝั่งว่าเป็นอย่างไร

หลังจากเกษียณผมมาอยู่เมืองไทย สิ่งแรกที่เห็นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วคือ ชายฝั่งอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบ้านพังลงไปในทะเล แปลว่าชายฝั่งของไทยป่วยแล้ว จากนั้นผมก็เริ่มไล่ดูตั้งแต่นราธิวาส ปัตตานี สงขลา เพราะมันต้องมีอะไรผิดปกติกับชายฝั่งของไทยแน่ๆ

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ก่อนหน้านี้มีต้นมะพร้าวอยู่ตามแนวชายฝั่ง อยู่ๆ มันก็ล้มลง ตอนนี้ตรงที่เคยเป็นดงมะพร้าว กลายเป็นทะเล นี่คือสิ่งที่ผมเห็น

ผมเกิดความสงสัย เลยขอร่วมมือจาก Delft University of Technology ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ผมเคยสอน เขาให้ความร่วมมือ ด้วยการส่งนักศึกษา 5 คนมาทำวิจัย ผมได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ได้รู้ปัญหาการพังทลายของชายฝั่งจากเด็กพวกนั้น

การศึกษาของนักศึกษาจากเนเธอร์แลนด์ได้ข้อสรุปชัดเจน การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งไทย มาจาก...
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์พิเศษ นิติภูมิ นวรัตน์ : ตอบโจทย์ชายแดนใต้

“ทางออก”ของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่พูดกันมานาน แต่ก็ยังมองไม่เห็นแนวทางที่ลงตัว “ไฟใต้” จึงเปรียบเสมือนการบ้านข้อยากที่สังคมไทยต้องช่วยกันตอบโจทย์ว่าจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร

แต่ปัญหาที่ดูจะซ้อนอยู่ใต้ปัญหาก็คือ เราเข้าใจปัญหาดีพอหรือยัง และแก้ปัญหาถูกจุดหรือยัง?

ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้มีประสบการณ์เดินทางมาแล้วทั่วโลก ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา ยังเป็นการแก้ปัญหาเป็นจุดๆ และบางครั้งก็ไม่ถูกจุดเสียด้วย

“เท่าที่ผมติดตามดู...ไม่ทราบเหมือนกันว่าผมจะถูกหรือผิด แต่ผมว่าถ้าพูดถึงเรื่องของการก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบ ผู้ที่ก่อการน่าจะมีอยู่หลายกลุ่มและหลายจุดมุ่งหมาย อาจจะเป็น ก. ข. ค. ง. ตามลำดับ ทีนี้รัฐบาลก็ไปมุ่งแก้ตามจุดมุ่งหมายเหล่านั้น ผมยกตัวอย่างประเทศศรีลังกา มีการสรุปออกมาแล้วว่ากลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลมีทั้งหมด 38 กลุ่ม ดังนั้นผมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังแก้อยู่ บางครั้งก็ยังไม่ถูกจุด และไม่มียุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในภาพรวม”

ในฐานะด็อกเตอร์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งเคยไปสัมผัสและเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ บอกว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบนั้น ไม่สามารถแก้ไขโดยใช้กำลังทหารเข้าไปปราบปรามได้ และส่วนตัวสนับสนุนเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ”

“ผมชอบในเรื่องเขตการปกครองพิเศษ เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรปกครองตนเอง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่นมีความแตกต่างกับประชาชนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ความแตกต่างในเรื่องของศาสนา ภาษา วัฒนธรรม แม้แต่อาหารยังแตกต่าง ภาษาพูดก็แตกต่างกัน”
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

ร่าง พรบ. ศอ.บต.เกาไม่ถูกที่คัน

ร่าง พรบ. ศอ.บต.เกาไม่ถูกที่คัน : ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

"ร่างพระราชบัญญัติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือร่างพ.ร.บ.ศอ.บต.นับเป็นความพยายามขายฝันเก่าๆ ของพรรคประชาธิปัตย์

"ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี"นักวิชาการจากคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ มองการแก้ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนใต้ว่า จนถึงบัดนนี้การใช้งบประมาณแก้ปัญหาไฟใต้ ยังไม่ตรงความจริง จึงไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้

ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี กล่าวถึงที่มาของร่างพระราชบัญญัติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีว่า นอกจากองค์กรแก้ไขปัญหาภาคใต้ในภาคพลเรือน ไม่ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือสบ.ชต. แล้ว เดิมทีมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่สภา 4 ฉบับ

หนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่เสนอโดยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลปัญหาภาคใต้
สอง ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่เสนอโดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีการขึ้นมาพิจารณา
สาม ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่เสนอโดยนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ
สี่ ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญราชการจังหวัดชายแดนใต้ ที่เสนอโดยนายนัจมุดดีน อูมา จากพรรคมาตุภูมิ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ขอเชิญเข้าร่วมเวทีรับฟัง "โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตาม รธน.มาตรา 67

ขอเชิญประชาชนเข้าร่วมเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงรายการ “โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ”

โดย คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุงรายการ
“โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ”

คณะกรรมการแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย)

ดูรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมเวทีได้โดย คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"วธ." ชูบ้านทรายขาว จ.ปัตตานี ต้นแบบชุมชนพุทธ-มุสลิม พร้อมขยายสู่ทุกตำบล 3 จชต.

"ธีระ"ชมบ้านทรายขาว จ.ปัตตานี เป็นต้นแบบสายใยชุมชนพุทธ- มุสลิมอยู่อย่างสันติ เตรียมผลักดันขยายสู่ทุกตำบลใน 3 จว.ชายแดนใต้

นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า จากการที่ตนไปตรวจเยี่ยมโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ต.ทรายขาว ประสบผลสำเร็จ โดยมีการดำเนินการด้านภูมิปัญญา ผสมผสานกับการสร้างอาชีพ คือ การทำขนม การทอผ้าเป็นอาชีพเสริมนอกจากการเกษตร นอกจากนี้ยังมีมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั้งที่วัดและมัสยิด มีการสืบทอดการสานต่อโครงการให้แก่คนรุ่นใหม่ๆ ในขณะเดียวกันยังพบว่า ชุมชนแห่งนี้ อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขถึงแม้จะต่างศาสนามีชาวไทยพุทธ ร้อยละ 40 ชาวไทยมุสลิม ร้อยละ 60 พระสงฆ์มาช่วยเหลือมัสยิด โต๊ะอิหม่ามไปช่วยเหลือวัด ประชาชนก็จะร่วมกันทำกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ รวมทั้งชื่นชมแนวคิดของชาวบ้าน เกี่ยวกับ การเลือกผู้นำชุมชน คือ สลับสับเปลี่ยนกันเป็น ปีนี้เป็นผู้นำศาสนาอิสลาม ครั้งหน้าจะเป็นผู้นำศาสนาพุทธ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยไม่ต้องมีลายลักษณ์อักษร และไม่เกิดการแบ่งแยกขึ้น "ผมเห็นโครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชนตำบลทรายขาวแล้ว ชื่นชม กับความสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน และชอบวิธีคิดของพวกเขา เพราะเมื่อครั้งรัฐมนตรี อนุสรณ์ วงศ์วรรณ ทางตำบลได้จัดให้ไปเยี่ยมชมที่วัดทรายขาว ส่วนครั้งนี้จัดให้ผมได้มาชมที่มัสยิดนัจมุดดิน ดังนั้น ผมจะพยายามผลักดันโครงการนี้ให้มีทุกตำบลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ชาวบ้านร่วมคิดร่วมทำ โดยหน่วยงานภาครัฐแปลสภาพจากผู้สั่งการมาเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ หากแต่ละตำบลทำได้อย่างตำบลทรายขาว ก็จะสร้างความสมานฉันท์ ให้ชุมชนประชาชนในพื้นที่อยู่ได้อย่างสงบสุข พร้อมทั้งให้ตำบลทรายขาวเป็นต้นแบบการศึกษาดูงานของตำบลอื่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนจะได้เห็นว่า โครงการนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ โครงการระดับชุมชน แต่เป็นโครงการสำคัญระดับประเทศ"รมว.วัฒนธรรม กล่าว

ตามต้นกล้าไปนาข้าว “ต้นข้าวเต้นระบำ”

“นาหมื่นศรี” ที่มาของชื่อนี้สอดคล้องกับเรื่องราวหลายๆ เรื่องในตำบล เคยเป็นนาของท่านหมื่น ที่มีภรรยาชื่อศรี เป็นแหล่งทอผ้าหลากสีสัน หลากลวดลายของชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปี เป็นท้องทุ่งนากว้างใหญ่ที่ยังคงทำนาเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ตามสภาพ ตามฤดูกาล ก็ล้วนแต่เป็นที่มาของคำว่า “นาหมื่นศรี” ได้ทั้งนั้น

แต่หน้านาปีนี้ไม่เหมือนปีก่อน เพราะมีนักเรียนตัวน้อยๆ ลงไปใช้แปลงนาที่ชาวบ้านยกให้เป็น “แปลงเรียนรู้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ตามต้นกล้าไปนาข้าว” หัวข้อวิจัยของชั้น ป.2 ของโรงเรียนไทรงาม ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง

เด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่รู้จักพันธุ์ข้าวในท้องถิ่น การทำนาสมัยก่อน การใช้ควายช่วยทำนา ขั้นตอนการทำนา โดยการพากันไปถามย่า–ยายที่อยู่ไม่ไกลโรงเรียน เรียนรู้จากการบอกเล่า ซักถาม สังเกต ก่อนจะพากันไปฝึก ทดลอง ลงมือทำด้วยตัวเองในทุ่งนาตั้งแต่ต้นจนครบกระบวนการ

เข้าหน้าฝน ช่วงนี้เป็นช่วงดำนา ชาวบ้านเลิกตัดยางลงไปอยู่ในทุ่งนากันเป็นส่วนใหญ่ เพราะการทำนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนที่นี่
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผู้จัดการ พอช.ใต้ เน้นขบวนชุมชนบริหารโปร่งใส หนุนพื้นที่ ใจกว้าง

ผู้จัดการพอช.ภาคใต้เสนอแนวคิดทำขบวนชุมชนจัดทำระบบบัญชีโปร่งใส หนุนสภาองค์กรชุมชนเคลื่อนงาน พร้อมเปิดใจรับสมาชิกใหม่ และย้ำงบประมาณจากพอช.เพื่อส่งเสริมการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆมาร่วมพัฒนาชุมชน ในการฝึกอบรมแกนนำขบวนจังหวัด ว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดี

เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2553 เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดเวทีอบรมการบริหารงานขบวนจังหวัด ให้แก่กองเลขาของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุม โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

นายธีรพล สุววรณรุ่งเรือง
ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขบวนจังหวัดคืออะไร คือใคร ความเข้าใจทั่วไปคือ ตัวแทนจากแต่ละอำเภอมารวมกันเป็นคณะทำงานเรียกว่า ขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัด บ้างก็ว่า ขบวนจังหวัด กลไกจังหวัด หรือ กองเลขาฯ จังหวัดหนึ่งก็ราวๆ 30 คน แต่ที่จริงนั้นควรที่จะต้องพิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีใครทำอะไรอยู่บ้าง มีแกนนำสำคัญในพื้นที่เป็นใคร และคณะทำงานนี้ก็จะทำหน้าที่ช่วยประสานงานกับพื้นที่ต่างๆในพื้นที่
แต่ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้งบประมาณจากพอช. เพราะงบประมาณจาก พอช.มีจำนวนเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงเพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการสนับสนุนพื้นที่ หรือเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ได้รับงบประมาณจากหน่วยงานราชการ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประมวลภาพงานฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวนาคูหาใต้

ผ่านไปอย่างครึกครื้นและเรียบร้อย สำหรับงาน "งานทิ่มเม่า หุงข้าวหม้อดิน กินนาวาน สืบสานวัฒนธรรม" ของชุมชนตำบลคูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เป็นเจ้าภาพจัด ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีคุณป้าสุดา วรรณจาโร ประธานสภาองค์กรฯ เป็นแม่งาน เพื่อฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวนา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา คุณณัฑฐวรรณ อิสระทะ หรือพี่แมว ได้เก็บภาพบรรยากาศมาฝากให้ชมกัน ชมประมวลภาพกิจกรรม คลิ้กที่นี่

พัทลุง เตรียมจัดงานดูนกน้ำ "ทะเลน้อย" ปี 53

นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุง เตรียมจัดงานเทศกาลล่องเรือแลนกทะเลน้อย ประจำปี 2553 ครั้งที่ 13 ที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 31 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง โดยภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น

นายวินัยกล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมในช่วงเวลา 3 เดือน ที่เปิดเทศกาลล่องเรือแลนกทะเลน้อย จะมีการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการชมทะเลล้านบัว และนกนานาๆ ชนิด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ตลอดจนที่พักและความปลอดภัย นอกจากนั้นในช่วงเทศกาล จะมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส อาทิ มหกรรมอาหารพื้นบ้าน การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแข่งขันวิ่งทะเลน้อยมินิ-มาราธอน การแข่งขันนกกรงหัวจุก การจัดเส้นทางท่องเที่ยวพิเศษพื้นที่แรมซาร์ไซด์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งแรกของไทย และการแข่งขันยกยอยักษ์อีกด้วย

พะยูน สัญลักษณ์แห่งท้องทะเลตรัง เราให้ความสำคัญกันจริงหรือ ?

by : อภิรักษ์ สงรักษ์

ผลจากการจัดเวทีเสวนาเรื่อง "วิกฤตหอยชักตีน ปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข" ณ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เมื่อปี 2552 มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวทีการประชุมเสวนา และเป็นประเด็นปัญหาที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับขบวนการลักลอบจับพะยูนในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดตรัง

ผู้เขียนเชื่อว่าคนตรังและอีกหลายคนทราบแน่นอนว่าในประเทศไทยนั้น พื้นที่ชายฝั่งจังหวัดตรังเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมแห่งสุดท้ายสำหรับฝูงพะยูน การสำรวจจำนวนพะยูนในจังหวัดตรังระหว่างปี 2549-2550 พบประมาณ 100-120 ตัว ถ้ามองย้อนหลังกลับไปประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนพะยูนในจังหวัดตรังถูกรบกวนจากเครื่องมือประมงประเภทอวนรุน อวนลาก เป็นอันมาก การพัฒนาและก่อเกิดรูปความเคลื่อนไหวของการอนุรักษ์พะยูน ได้ริเริ่มขึ้นโดยการต่อสู้ของชุมชนประมงชายฝั่ง, NGO และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนอย่างเอาจริงเอาจัง จนจังหวัดตรังได้รับการยอมรับและผลักดันโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งเพิ่มขึ้นมากมาย

มาถึงปัจจุบันนี้กลับพบว่าพะยูนถูกคุกคามจากมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การตั้งใจล่าเพื่อนำพะยูนมาจำหน่าย ข้อมูลจากชุมชนที่ไม่ยืนยันว่าราคาซื้อขายพะยูนตัวละประมาณ 50,000 บาท เฉพาะเขี้ยวพะยูนราคาคู่ละ 20,000-30,000 บาท เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติในแถบมาเลเชียและสิงคโปร์ ถ้าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริงแล้ว ผู้เขียนคิดว่ามีความน่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาก เนื่องจากความต้องการที่สูงบวกกับการทุ่มเงินเพื่อการแสวงหาให้ได้มาครอบครองนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดขบวนการลักลอบค้าพะยูนมากขึ้น สาเหตุต่อมาคือการที่พะยูนติดเครื่องมือประมงของชาวประมง ที่เข้ามาทำประมงในพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทะเลสาบสงขลาวิกฤติ หอยกะพงเทศระบาด

หอยกะพงเทศ สัตว์ต่างถิ่นจากทวีปอเมริกากำลังระบาดในทะเลสาบสงขลา หาดแก้วลากูน ท่าเรือน้ำลึก หากไม่มีมาตรการป้องกันและกำจัด อาจส่งผลเสียมหาศาล

นางสาวกริ่งผกา วังกุลางกูร นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาวิจัยการแพร่ระบาดของหอยกะพงเทศในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ปี 2544 โดยได้สำรวจพบหอยสองฝาชนิดหนึ่งเกาะกลุ่มหนาแน่นบริเวณหาดแก้วลากูน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับปากทะเลสาบสงขลา และ ท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา

โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

หอยกะพงเทศ (Mytilopsis adamsi Morrison, 1946) เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีแหล่งกำเนิดในตอนกลางของทวีปอเมริกาด้านฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค เป็นหอยสองฝาที่มีต้นกำเนิดในตอนกลางของทวีปอเมริกา แต่มีการแพร่กระจายพันธุ์ รุกรานไปในหลายประเทศ เช่น เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น

สำหรับการแพร่กระจายนั้น คาดว่าน่าจะติดมากับน้ำในถังอับเฉาเรือเดินสมุทร ที่มีตัวอ่อนของหอยกะพงเทศเจริญเติบโตอยู่ หรือจากตัวเต็มวัยที่เกาะติดมากับตัวเรือ และได้มาแพร่พันธุ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณหาดแก้วลากูน เป็นบริเวณอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึก
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง เตรียมจัดงานมหกรรมฟื้นฟูสายน้ำคลองชี


นางอริยา แก้วสามดวง แกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า คณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง ร่วมกับคณะทำงานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำคลองชี เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชน 7 ป่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมแรลลี่แคนู ฟื้นฟูสายน้ำคลองชี” ขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2553 ณ ลานกีฬาเทศบาลตำบลวังวิเศษ ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และร่วมโครงการ “ภูมิใจรัก พิทักษ์ สายน้ำ” ตามนโยบาย ของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และเพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสายน้ำคลอง ฟื้นฟู ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดยกิจกรรมในงานจะประกอบด้วย ในช่วงเช้ามีการบวชป่า ทำบุญสายน้ำ ปล่อยปลา โดยทำพิธีทางศาสนา การแข่งขันเรือแคนู คยัคในสายน้ำคลองชี ชิงถ้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และถ้วยรางวัลผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำหรับในช่วงบ่ายมีการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันแทงขนมต้ม ลากเรือบก พ่อ แม่ ลูก การแข่งขันวาดภาพสิ่งแวดล้อมของเยาวชน การตีกลองยาวของแม่บ้านเทศบาล การแสดงรำมโนราห์ของเยาวชน รำวงย้อนยุค จัดบู๊ทนวดแผนไทยของกลุ่มแม่บ้าน และการแสดงนิทรรศการความรู้เรื่องทรัพยากรท้องถิ่นได้แก่ ภูมิปัญญา ลุ่มน้ำ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สายน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 089-4730026

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อภิมหาโปรเจ็ค “ท่าเรือปากบารา” กับชาวประมงพื้นบ้าน

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ดูเหมือนจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เสียแล้ว หลังจากโครงการดังกล่าวพยายามผลักดันให้มีการปรับปรุงขยายท่าเรือน้ำลึก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เป็นประตูสู่การค้าฝั่งทะเลอันดามัน และยังเป็นการขนส่งทางเรือไปสู่ประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปอีกด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics Master Plan) ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท เจ้าของโครงการอภิมหายักษ์นี้ คือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราดังกล่าว ทำให้ชาวบ้าน จ.สตูล รู้สึกเป็นกังวลอีกระลอก เมื่อนายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ออกมาบอกว่า ขณะนี้ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ได้ทำสัญญาการก่อสร้างกับผู้รับจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยงบประมาณการก่อสร้างมากกว่า 371 ล้านบาท โดยโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงท่าเทียบเรือท่องเที่ยวปากบาราจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ซึ่งบริเวณการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ต่อเนื่องกับท่าเรือปากบาราเดิม ซึ่งแม้จะเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มันจะกลายเป็นโครงการนำร่อง หรือการช่วยปูพื้นให้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือไม่ เพราะโครงการซ่อมแซมปรับปรุงท่าเทียบเรือท่องเที่ยวปากบารา ที่เพิ่งทำสัญญาการก่อสร้างไปสด ๆ ร้อน ๆ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

สภาองค์กรชุมชนพัทลุง ติวเข้มแกนนำเพื่อหนุนการขับเคลื่อนงานชุมชน

สภาองค์กรชุมชนพัทลุง จัดเวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำ เน้นการสร้างความเข้าใจกระบวนการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนให้ขับเคลื่อนงานได้ พร้อมทั้งทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลเมืองพัทลุง คณะทำงานดำเนินการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพัทลุงจัดเวทีอบรมและทำแผนปฏิบัติการหนุนเสริมงานสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้น โดย มีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลๆ 2-3 คน จำนวน 30 ตำบล รวมทั้งคณะทำงานและตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้าร่วม รวมประมาณ 80 คน

นายวิวัฒน์ หนูมาก ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า “การจัดเวทีในวันนี้ก็เพื่อให้แกนนำสภาองค์กรชุมชนมีความเข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญของสภาองค์กรชุมชน และกระบวนการส่งเสริมการขับเคลื่อนให้สภาองค์กรชุมชนตำบลให้เข้มแข็งและแก้ปัญหาชุมชนได้จริงอ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชาวใต้ร่วมใจขอบคุณนายกฯอภิสิทธิ์ ร่วมสร้างบ้านมั่นคง

สมาชิกโครงการบ้านมั่นคงภาคใต้ร่วมถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมถึงทำเนียบรัฐบาล ผู้แทนชุมชนกล่าวแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี และยืนยันโครงการบ้านมั่นคงร่วมสร้างสันติสุข พร้อมเชิญชวนเยี่ยมพื้นที่

ภายหลังจากรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบสินเชื่อบ้านมั่นคงไทยเข้มแข็ง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 ประชาชนจากพื้นที่ต่างๆทั่วภาคใต้ผู้เป็นสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงจำนวนกว่า 500 คน มาร่วมกันแสดงความขอบคุณต่อนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลในการประชุมผ่านระบบ teleconferrence ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมทางสถานีโทรทัศน์ NBT กรมประชาสัมพันธ์ ณ โครงการบ้านมั่นคงศรีอามาน เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยมีนายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และนางสุชาดา พันธุ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ร่วมแสดงความขอบคุณ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

คิดถึง...พี่ยิ้ว

โดย: ปราณี วุ่นฝ้าย

ขึ้นเขาลงห้วย...หรือมีกิจกรรมดีๆที่ไหนถ้าพี่ยิ้วรู้ก็จะไปด้วยกับเรา ข้าพเจ้ารู้จักพี่ยิ้วตั้งแต่ปี 2550 ในคราวที่ไปร่วมเดินสำรวจป่าเขาแก้วด้วยกัน การเดินป่าครั้งนั้นหฤโหดมากสำหรับข้าพเจ้าแม้ว่าจะเป็นป่าระแวกบ้านก็ตาม เนื่องด้วยหนทางที่ไม่ค่อยมีผู้คนได้สัญจรหรือใช้ประโยชน์ ทำให้ทีมบุกเบิกอย่างพี่ยิ้ว พี่ไฉ พี่คล่อง น้องหมู และทีมงานอีกหลายท่านที่มิได้เอ่ยนาม ต้องทำการบุกเบิกถากถางทางใหม่ หนึ่งในทีมข้าพเจ้ายังจดจำได้ดีคือ “พี่ยิ้ว” ชายผู้มากด้วยประสบการณ์ในการเดินป่า และมีบุคลิกพูดน้อย พี่ยิ้วเล่าให้ทีมฟังว่าป่าแถบนี้เป็นแหล่งที่อยู่ของกล้วยไม้ป่ารองเท้านารีม่วงสงขลา โดยพี่ยิ้วเป็นประธานกลุ่มฯ มีภารกิจหลักในการนำกล้วยไม้ป่าฯ มาขยายพันธุ์ และนำต้นกล้ากลับคืนสู่ป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีของกลุ่มที่ดำเนินเช่นนี้มาต่อเนื่อง ด้วยหวังไว้ว่าวันหนึ่งป่าแถบนี้จะมีกล้วยไม้ป่าฯเติบโตแต่งแต้มเต็มผืนป่า กลุ่มฯกล้วยไม้ป่ารองเท้านารี ได้มาร่วมเชื่อมร้อยกับเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมีในปี 2550 นั่นหมายความว่า เรามีภารกิจร่วมในการฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำคลองภูมีร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ สร้างวิถีที่สมดุลระหว่างคนกับป่าให้อยู่ร่วมกันได้ แม้กิจกรรมของเราเพิ่งได้เริ่มถักทอให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน...คงเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่อยู่ๆ พวกเราชาวเครือข่ายฯก็ต้องตกใจและแสนเสียดายกับข่าวการจากไปของพี่ยิ้ว ด้วยพี่ยิ้วคือพลังคนรุ่นใหม่ความหวังหนึ่งแห่งการเปลี่ยนแปลงลุ่มน้ำคลองภูมี จากนี้ไปแม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินเสียง แต่นามเรียกชายชื่อ “ยิ้ว”ยังประทับอยู่ในความทรงจำพวกเราตลอดไป
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชาวนราฯถามหาความจริงใจรัฐ อ้างย้ายข้าราชการทำพิสูจน์สิทธิ์อุทยานแห่งชาติบูโดไม่คืบ

ผู้นำชุมชนนราธิวาสเผย ผลการประชุมติดตามแก้ไขปัญหาประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินชาวบ้าน กรมอุทยานแห่งชาติ ถ่วงพิสูจน์สิทธิ์ชาวบ้านนานร่วม 2 ปี ทั้งที่คณะกรรมการร่วมราษฎร์-รัฐ ได้กลั่นกรองมาแล้ว ประชาชนกว่า 4,000 รายตั้งคำถามหาความจริงใจจากราชการ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีเร่งรัดการแก้ไขปัญหา

นายศิวโรตม์ แวปาโอะ ผู้แทนชุมชนอ.บาเจาะ คณะทำงานการแก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดีทับที่ดินของชาวบ้าน กล่าวว่า ผลจากการประชุมติดตามความคืบหน้าการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินในเขตอุทยานเพื่อกันที่ดินของชาวบ้านที่ครอบครองมาก่อนออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2553 ที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ที่ผ่านมาทำให้ตนและชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง

เนื่องจากคณะทำงานพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติ แจ้งว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดิน ในส่วนของพื้นที่นำร่อง 15 หมู่บ้าน 5 ตำบล ในอ.บาเจาะ ครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนจำนวน 4,080 ราย โดยอ้างว่าเกิดการโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง กรม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่ชาวบ้านเองก็ไม่สามารถเข้าไปทำสวน ตัดโค่นต้นยางพาราเก่าเพื่อลงทุนปลูกใหม่ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อนุกรรมการไทยเข้มแข็ง 5 จังหวัดอนุมัติเพิ่มกว่า 188 ล้านบาท

สนับสนุนงบ 36 ตำบล ใน 4 จังหวัด ช่วยแก้ที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินให้ 8,809 ครัวเรือน พร้อมยกกรณีบ้านซือเลาะ เห็นผลการพัฒนาที่ชุมชนเป็นหลัก หน่วยงานต่างๆมาศึกษาดูงาน ขยายผลสู่หมู่บ้านใกล้เคียงในตำบล

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 ณ ห้องประชุมน้ำพราว โรงแรม ซี เอส ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี คณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบท โดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพิจารณาโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งนำเสนอมาจากแต่ละตำบลรวม 36 ตำบลจาก 4 จังหวัด และมีมติอนุมัติโครงการรวม 192,879,314 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล

นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง เลขาอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบท กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการให้ผู้แทนระดับจังหวัดของแต่ละจังหวัดนำเสนอโครงการของแต่ละตำบลภายในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอโครงการ 2 ประเภท คือ โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งสิ้น 36 ตำบล
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชิงโค-ชงโค ป่าชุมชนเปิดประวัติท้องถิ่น

แม้ขณะนี้ชายทะเลไทยกำลังเจอปัญหาการกัดเซาะ แต่ที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนครกลับมีทรายมาทับถมงอกยาวกว่าเดิม ปัญหาใหม่คือพื้นที่ซึ่งธรรมชาติหยิบยื่นให้ชุมชนกลับถูกนายทุนบุกรุกออกเอกสารสิทธิ์ เป็นคดีฟ้องร้องยังไม่ถึงที่สุด

“ทุกวันนี้ตำบลชิงโคเหลือพื้นที่ป่าชุมชนที่คนจะใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ถึง 10 ไร่ นับน้อยมากและหากท้องถิ่นคิดจะซื้อที่เพิ่มก็ไม่ได้อีกเพราะไม่มีเลย ”

เรืองวิทย์ ศรีสุวรรณ ผู้ประสานงานโครงการ อนุรักษ์ ป้องกัน พัฒนา สิ่งแวดล้อม (ปลูกป่าชุมชน) ตำบลชิงโค เล่าระหว่างกิจกรรมปลูกป่าชุมชน ที่ สำนักสงฆ์บางหอย บริเวณเนินสันทรายหาดเพชร ลีลาศ มีนายอำเภอสิงหนครเดินทางมาเป็นประธาน ผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน กิจกรรมสำคัญร่วมกันปลูกป่า

งานนี้มีเจ้าภาพหลักคือสภาองค์กรชุมชนตำบลชิงโค และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชิงโค บริเวณจัดกิจกรรมคือพื้นที่ป่าจำนวนน้อยนิดที่หลงเหลืออยู่ ดังที่กล่าวข้างต้น
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางความรุนแรง: ตอนที่ 1

วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งแสดงความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือลักษณะประจำชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคม ดังนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งไทยและเทศหรือแม้กระทั่งผู้คนในประเทศเดียวกันจึงมีความแตกต่างทางด้านทางวัฒนธรรม

จากความหมายดังกล่าวจึงทำให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และถ่ายทอดซึ่งกันและกันผ่านรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในขณะเดียวกันมันยังสามารถกำหนดปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย การแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่าง ในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำบางอย่างในสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง

ในสังคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกันหากมองในภาพรวมของประเทศไทยในเชิงพื้นที่ก็จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่หากมองเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพบว่าเขาจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีวิถีชีวิตซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในสังคมไทยและสามารถเชื่อมร้อยกับสังคมมลายูมุสลิมในภูมิภาคอาเซี่ยนอีกกว่า สองร้อยล้านคน อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

สภาฯ ติวเข้มยกระดับแกนนำสู่การเปลี่ยนแปลง

นายจินดา บุญจันทร์ แกนนำสภาองค์กรชุมชน ภาคใต้ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20 – 23 มีนาคม 2553 สภาองค์กรชุมชนจะจัดให้มีการพัฒนาแกนนำสู่การเปลี่ยนแปลง โดยผู้เข้าร่วมจะประกอบด้วยแกนนำสำคัญ ๆ ของแต่ละภาค ได้แก่ กรรมการดำเนินการที่ประชุมในระดับชาติ ฯ ที่ปรึกษา ตัวแทนทีมวิจัย นักพัฒนาเอกชนที่สนใจ และดำเนินงานเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

สำหรับเนื้อหานั้นจะเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์สังคมโลก – สังคมไทย การวิเคราะห์ชุมชน โดยนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเข้าใจ และยกระดับความคิดไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม จากนั้นก็จะมีการร่วมกันค้นหาคำตอบในหัวข้อสภาองค์กรชุมชนเป็นทางออกของการเปลี่ยนแปลงสังคมและชุมชนได้เพียงไร รวมทั้งการกำหนดนโยบาย และทิศทางการขับเคลื่อนงานโครงสร้าง ตลอดจนการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

“เราใช้เวลาถึง 4 วัน เพราะต้องการให้แกนนำสำคัญได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาในทุกระดับ และร่วมกันค้นหาทางออกร่วมกันอย่างแท้จริง นายจินดา กล่าว”

สุวัฒน์ คงแป้น :รายงาน

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คูหาใต้กำหนดจัดงานฟื้นวัฒนาธรรมภูมิปัญญาชาวนา

นางสุดา วรรณจาโร ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ก.พ. 2553 สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ รวมกับ องค์กรชุมชนในตำบลคูหาใต้ จะร่วมกันจัดงานฟื้นภูมิปัญญา และวัฒนธรรมการทำนา เช่นการอนุรักษ์พันธ์ข้าว , การลงแขกเกี่ยวข้าว การตำข้าวเม่า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อต้องการอนุรักษ์ และพื้นฟูพันธุ์กรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของชาวนาอันเป็นอาชีพ ของคนคูหาใต้ให้คงอยู่ต่อไป ผู้สนใจสามารถเดินทางไปร่วมงานได้ในวันดังกล่าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 084-0678871

พอช.เห็นชอบแผนฯ สนับสนุนสภาองค์กรชุมชน

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 09.00 น.ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน ครั้งที่ 1/2553 ขึ้น ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการพิจารณา และเห็นชอบแผนงานสนับสนุนและส่งเสริมด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1)แผนการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนที่เป็นเรื่องการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้วให้เข้มแข็งสามารถปฏิบัติงานบรรลุภารกิจ 2) แผนงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาพัฒนาการเมือง และสถาบันทางวิชาการ

และ 3 แผนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในขบวนองค์กรชุมชนที่เน้นการใช้หลักสูตรอบรม ซึ่ง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อนุกรรมการให้ข้อสังเกตว่าในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยใช้หลักสูตรอบรมอาจทำได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอจึงเสนอให้มีการปรับใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกควรจัดทำเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพ และใช้เครื่องมือที่หลากหลายมิใช่เฉพาะการอบรมโดยหลักสูตรเท่านั้น เช่น เสริมด้วยการศึกษาดูงาน เป็นต้น ประเด็นที่ 2 ควรปรับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป็น “โครงการพัฒนาบุคลากร และองค์กรชุมชน” ทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับตามที่อนุกรรมการเสนอ

สุวัฒน์ คงแป้น :รายงาน

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เครือข่ายชาวนาภาคใต้ ประสานภาคีจัดวง Think tank เรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านภาคใต้

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เครือข่ายชาวนาภาคใต้ ประสานภาคี และหน่วยงานต่างๆ จัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง ความยั่งยืนและความอยู่รอดของชาวนาภาคใต้ โดยเน้นเรื่องการอนุรักษ์และจัดการพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ตัวแทนเครือข่ายชาวนา นักพัฒนาเอกชน ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงและนครศรีธรรมราช ตัวแทน พอช.ภาคใต้ ตัวแทน สกว. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และผู้สนใจ รวมประมาณ 40 คน ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

พื้นที่พิเศษชายแดนใต้ ชู ซากาต ร่วมผลักดันเชิงนโยบาย

นายยะโก๊ะ เบ็ญมะเซ็ง ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่พิเศษชายแดนภาคใต้ สภาองค์กรชุมชนเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2553 โดยมีมติสำคัญในเรื่องของการนำประเด็นสวัสดิการ “ซากาต” ไปสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบายสวัสดิการขององค์กรชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลามโดยที่ประชุมมอบหมายให้ ผส.อับดุลเลาะห์ ฮัมบรู เป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงาน

ผส.อับดุลเลาะห์ ฮัมบรู อนุกรรมการฯ เปิดเผยว่าในการขับเคลื่อนเรื่องซากาตได้กำหนดแผนงานหลักไว้ 4 แผนงาน โดยเริ่มจากการนำร่างกฎหมายซากาตที่ยกร่างโดยส่วนกลางมาย่อยให้เห็นประเด็นสำคัญพร้อมมีการตั้งข้อสังเกตของแต่ละประเด็นเพื่อให้อนุกรรมการฯ และแกนนำชุมชนมุสลิมพิจารณาร่วมพิจารณาจะนั้นการนำไปสู่การเรียนรู้กับผู้นำศาสนาก่อนที่จะจัดให้มีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในประเทศมาเลเซีย แล้วรวบรวมทุกความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเป็นฉบับของประชาชนก่อนที่ร่วมกันหาช่องทางเสนอเป็นกฎหมายต่อไป

นายสุวัฒน์ คงแป้น ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าในการดำเนินงานเรื่องนี้ต้องทำให้เกิดกระแส และมีการเรียนรู้กันอย่างกว้างขว้าง โดยการประสานงานกับสื่อมวลชนทุกแขนงในการเผยแพร่แนวคิดเรื่องซากาตออกสู่สาธารณชนด้วย

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สพม.ใต้ เลือก จ.ระนองนำร่องการเมืองภาคพลเมือง

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553 ได้มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองประจำภาคใต้ครั้งที่ 1/2553 โดยมีมติที่น่าสนใจหลายประการเช่นการอนุมัติแผนส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองของภาคใต้ 3 โครงการหลัก คือการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาเรื่องสิทธิการเมืองตามรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งวิทยาลัยป้องกันชุมชน (วปช.)และเรื่องสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบเลือกจังหวัดระนองให้เป็นจังหวัดนำร่องเรื่องการเมืองภาคพลเมือง โดยจะต้องพัฒนาให้เกิดเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็งประชาชนมีความเข้าใจและเข้าถึงการเมืองภาคพลเมือง มีสภาองค์กรชุมชนเป็นต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 รวมทั้งจะต้องร่วมกับภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาระบบการเมืองให้มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นเช่น ประชาชนรู้และเข้าใจถึงสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มีการขายเสียงน้อยลงเป็นต้น โดยทาง สพม.จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานแก่จังหวัดนำร่อง ประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งขณะที่ สพม. ภาคใต้ ได้มอบหมายให้มีคณะทำงานจำนวน 6 คน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ จ.ระนองแล้ว