จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ขบวนชุมชนสงขลา โซน 1 เร่งขยับงานสภาองค์กรชุมชนเน้นสร้างประชาธิปไตยชุมชน เพื่อปฏิรูปจากฐานล่าง

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา กลุ่มอำเภอควนเนียง บางกล่ำ รัตภูมิ และคลองหอยโข่ง (โซน 1) ได้จัดการประชุมแกนนำชุมชน ทั้ง 4 อำเภอ ขึ้นที่ห้องประชุมสถานีอนามัยตำบลโคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา โดยมีแกนนำองค์กรชุมชนเข้าร่วมประมาณ 40 คน

ทั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของพื้นที่ซึ่งมีความก้าวหน้าทุกพื้นที่ โดยการจัดขบวนองค์กรชุมชน งานสวัสดิการชุมชน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตำบล

โดยการประชุมครั้งนี้เน้นให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนฐานล่าง ทั้งนี้ ใน 4 อำเภอดังกล่าวมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้วจำนวน 10 สภาฯ และอยู่ระหว่างการจัดตั้งอีก 10 ตำบล นอกจากนี้ มีการออกแบบกลไกการขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ร่วมกับคณะทำงานการเมืองภาคพลเมืองประจำอำเภอ โดยเน้นให้สภาองค์กรชุมชนเป็นฐานหลักในการพัฒนาที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคมจากฐานล่าง

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งขมิ้นปรับแผนเน้นพัฒนาตนเองควบคู่พัฒนาท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ศาลาการเปรียญวัดมงคลพิพัฒน์สมาธิ (ปลักพ้อ) ต.ทุ่งขมิ้น อ.นาหม่อม จ.สงขลา มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งขมิ้น โดยมีนายกิตติวัฒน์ ธีราพรหมเพชร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งขมิ้นเป็นประธานที่ประชุม

ทั้งนี้โดยภาพรวมของสภาองค์กรชุมชนทุ่งขมิ้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าสมาชิกยังขาดความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะในการใช้ประโยชน์จากสภาองค์กรชุมชน ดังนั้นจึงได้กำหนดให้มีการปรับแผนการดำเนินงาน โดยเน้นพัฒนาศักยภาพของแกนนำสภา ซึ่งกำหนดให้มีแผนการศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบที่สภาองค์กรชุมชนตำบลลำสินธ์ จังหวัดพัทลุง และตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนจำนวน 16 คน ในทุกวันที่ 20 ของเดือน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตำบลทุ่งขมิ้นผ่านกระบวนการทำแผนชุมชนโดยสภาฯ เป็นแกนหลัก

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นายทุนเย้ย แค่เดือนเดียว พรุควนเคร็งจากสีเขียวกลายเป็นเถ้าถ่านกว่า 12,000 ไร่

เพียงแค่เดือนเดียว ที่คนร้ายลอบวางเพลิงเผาป่าพรุควนเคร็ง ได้เปลี่ยนป่าต้นเสม็ดขาวที่เขียวขจี กลายเป็นทุ่งเพลิงแดงฉานเสียหายกว่า 12,000 ไร่ อาจเป็นการดับฝันการเสนอชื่อป่าพรุควนเคร็งที่เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางนิเวศวัฒนธรรม หากยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างเด็ดขาด

แต่ที่แน่นอนที่สุด ผลกระทบในขณะนี้เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นการทำลายความสมดุลทางระบบนิเวศ ซึ่งป่าชุ่มน้ำผืนนี้เป็นแหล่งรับน้ำ และบำบัดน้ำเสียก่อนไหลสู่ทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลาแล้ว ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวบ้านที่สูญเสียแหล่งกระจูดขนาดที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าโอทอปของชาวบ้าน ต.เคร็ง ที่กว่า 90% ยึดอาชีพสานกระจูด และส่งวัตถุดิบให้กับจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงจะมีกระจูดใหม่ให้ตัดใช้ได้

นั่นคือภาระทางการเงินและปัญหาสังคมที่อาจจะตามมาจากการไร้รายได้ อีกทั้งยังต้องเผชิญปัญหามลพิษจากการสูดดมควันไฟเป็นระยะเวลานาน ตลอดจนสภาพจิตใจที่ต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแล
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

งาน “ตันหยงบุหงา” เปิดพื้นที่สืบสานวัฒนธรรมมลายูปาตานี

แถลงข่าว งาน“ตันหยงบุหงา...อุทยานศิลปวัฒนธรรมมลายูปาตานี” ระหว่างวันที่ 25–27 มิ.ย.นี้ ที่หอประชุมและแสดงนิทรรศการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

กิจกรรมภายในงานจะเน้นเชิงวัฒนธรรม อาทิ การสาธิตวาดลายเรือกอและ การทำกริช หมอพื้นบ้าน โต๊ะบีแด ครัวมลายู เป็นต้น อันเป็นแง่งามที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวมลายูปัตตานี ทั้งสิละ มะโย่ง วายังกูเละ โนรา ดิเกร์ฮูลู รองเง็ง พร้อมรื่นรมย์กับเสียงไวโอลินโดย อาจารย์ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงพื้นบ้าน

ในภาควิชาการจะมีการนำเสนอผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชาวมลายู โดยนักวิชาการชั้นนำของประเทศ อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง) ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) ชุลีพร วิรุณหะ (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) นิติ ภวัครพันธุ์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ทวีศักดิ์ เผือกสม (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) ฯลฯ โดยมีผลงานนำเสนอในหลากมิติ เช่น ด้านวิถีชีวิตและศิลปะการแสดง ด้านสุนทรียภาพและศิลปะร่วมสมัย ด้านภาษาและวรรณกรรมมลายูปาตานี ด้านวัฒนธรรมการศึกษามลายูปาตานี และด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มลายูปาตานี อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หมอพลเดช : กระจายอำนาจเทียม! คือปัญหาชายแดนใต้

“การพัฒนาต้องควบคู่ไปกับศีลธรรม จิตสำนึก และความดีงามเสมอ ต้องทำกลุ่มให้เข้มแข็ง สมาชิกต้องยกระดับความสำนึกดีงาม เป็นคนดี จึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” เป็นคำกล่าวของ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ปัจจุบัน หมอพลเดช นั่งทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute) และคณะกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. องค์กรแม่ของสถานีโทรทัศน์ “ทีวีไทย” โดยหมอพลเดช ได้นำเสนอ “แนวคิดว่าด้วยประชาสังคมในสถานการณ์ความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในการประชุมเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและอาชีพแก่ชายและหญิงที่เปราะบางในภาคใต้ของประเทศไทย (Enhanced Food and Livelihoods Security for Vulnerable Men and Women in the South of Thailand) ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

หมอพลเดช กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องให้หลุดพ้นจากวงจรทุนนิยม ก้าวไปในทิศทางที่มีการพัฒนาชุมชน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง โดยการพัฒนาต้องควบคู่ไปกับศีลธรรม จิตสำนึกและความดีงามเสมอ จึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

“ก่อนหน้านี้การพัฒนาของประเทศไทยเน้นในเรื่องทุนนิยม ทิศทางของประเทศถูกนำพาไปผิดทาง การพัฒนาที่ถูกคือต้องเอาชุมชน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง ต้องให้ผู้มีอำนาจได้ยินและเข้าใจ ด้วยเหตุนี้สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างองค์ความรู้ โดยมีประเทศแคนาดาเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งกองทุนประเดิมจำนวน 100 ล้านบาท และเป็นปฐมบทของการก่อตั้งกองทุนอื่นๆ ในระยะหลัง เป็นอุดมการณ์ทางสังคมที่เป็นที่ยอมรับในการพัฒนา”

ผมอยากเน้นย้ำว่า ความคิดของชุมชนเข้มแข็งเป็นหลักและเป็นทางเลือกในการพัฒนา แนวคิดของวัฒนธรรมชุมชนคือ ชุมชนเป็นหมู่บ้านไม่ใช่ท้องถิ่น การพัฒนาต้องอยู่บนฐานคิดของชุมชน ต้องปลดปล่อยชุมชนจากทุนนิยม ซึ่งเป็นแนวทางที่สวนทางกับโลกาภิวัตน์ ชุมชนต้องมีสิทธิ์ในทรัพยากร ถือเป็นรูปธรรมของการกระจายอำนาจที่แท้จริง ที่ผ่านมามีการกระจายอำนาจไม่แท้ ส่วนหนึ่งของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการกระจายอำนาจเทียม และวันนี้อำนาจหยุดแค่การปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ เรื่องของสิทธิชุมชนเป็นเรื่องสำคัญของชุมชนที่มีมานานและยังคงอยู่ ซึ่ง หมอพลเดช ชี้ว่า เป็นวาทกรรมที่ชุมชนใช้ต่อสู้ทางความคิดกับทุนนิยม
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บนความอ่อนไหวจากนิยาม "จังหวัดชายแดนภาคใต้" บทเรียนกระทบใจ"คนสตูล"ที่รัฐห้ามละเลย

แม้สภาผู้แทนราษฎรจะโหวตผ่านมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.... หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.” ไปแล้วเมื่อวันพุธที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยให้กลับไปใช้นิยามของ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ว่าหมายถึง 5 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ดังเดิมแล้วก็ตาม

ทว่าประเด็นอันสืบเนื่องมาจากถ้อยคำในกฎหมายเพียงไม่กี่พยางค์นี้ สะท้อนถึงความอ่อนไหวของดินแดนปลายด้ามขวานอย่างที่หลายฝ่ายควรตระหนักและบันทึกไว้เป็นอุทาหรณ์

ในช่วงการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (วาระ 2) กรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติให้ตัด จ.สตูล ออกจากนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” และให้ จ.สงขลา เฉพาะ 4 อำเภอเท่านั้นที่นับเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงตัดอำนาจคณะรัฐมนตรีในการกำหนดพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคตด้วย

ทั้งๆ ที่ร่างเดิมของรัฐบาลซึ่งส่งเข้าสภา กำหนดนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” เอาไว้ว่าหมายถึง 5 จังหวัดรวม “สตูล”

ประเด็นจากถ้อยคำในกฎหมาย สร้างปมปัญหาทางความรู้สึก เพราะเครือข่ายองค์กรประชาชนจังหวัดสตูล ซึ่งประกอบด้วยสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดสตูล คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล ชมรมอิหม่ามจังหวัดสตูล ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถาบันเกษตรจังหวัด หอการค้า สื่อมวลชน และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ รวม 99 องค์กร ได้เคลื่อนไหวยื่นแถลงการณ์ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการตัด จ.สตูล ออกจากนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความเคลื่อนไหวบานปลายขยายวงไปถึงขั้นมีการจัดชุมนุมใหญ่ของชาวสตูลที่หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา!..
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หนึ่งปีไอร์ปาแย (2) สำรวจรอยร้าวชุมชนมุสลิมกับไทยพุทธบ้านป่าไผ่

ในวาระ 1 ปีเหตุการณ์ร้ายที่บ้านไอร์ปาแย สัมพันธ์ของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย

ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่รายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกเล่าถึงความสัมพันธ์เมื่อครั้งอดีตของชุมชนทั้งสองแห่งว่า สมัยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ ชาวไทยพุทธที่หมู่บ้านป่าไผ่กับชาวไทยมุสลิมที่บ้านไอร์ปาแยล้วนเป็นเพื่อนกัน ไปมาหาสู่กันตามประสาบ้านใกล้เรือนเคียง มีการค้าขายกัน และเมื่อมีงานรื่นเริงของแต่ละหมู่บ้าน โดยเฉพาะงานแต่งงาน ก็จะไปเชิญเพื่อนจากอีกหมู่บ้านมาร่วมงานกันอย่างครึกครื้น

ทว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลายครั้งในท้องที่บ้านป่าไผ่ มีชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิตหลายราย ทำให้เกิดความกลัวและหวาดระแวง

“ก็เป็นธรรมดาที่ทุกคนจะต้องกลัว สุดท้ายก็ไม่กล้าไปมาหาสู่กันเหมือนในอดีต ไม่ใช่ว่ากลัวกันเองนะ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านล้วนถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง”

ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่ เล่าต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสับสน ชาวบ้านไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงทำให้การไปมาหาสู่กันระหว่างสองชุมชนยุติลง ความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมเริ่มห่างหาย

“แม้คนในบ้านบ้านไผ่จะเสียชีวิตหลายราย แต่เราก็ไม่เคยโทษใคร เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าคนที่ก่อเหตุเป็นใคร แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่าคนที่ทำต้องการสร้างความแตกแยกให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมที่เคยดีๆ กันนั่นแหละ”
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หนึ่งปีไอร์ปาแย (1) เรื่องร้ายๆ ที่ชาวบ้านอยากจะลืม

ไม่รู้ว่าโลกนี้หมุนเร็วขึ้นหรือเมืองไทยมีแต่เรื่องวุ่นๆ กันแน่ จึงทำให้ระยะเวลา 1 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก แทบไม่อยากเชื่อว่าโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจพี่น้องชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุดอย่างเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน หมู่บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ได้เวียนมาบรรจบครบ 1 ปีแล้ว

เหตุการณ์ร้ายในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย.2552 เมื่อมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงชาวบ้านไอร์ปาแยขณะกำลังละหมาดอยู่ในมัสยิด จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 12 คน

หลายคนบอกว่านี่คือเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุรุนแรงต่อเนื่องมากว่า 6 ปี และส่งผลสะเทือนไม่เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น แต่ส่งผลกระทบทางจิตใจไปถึงพี่น้องมุสลิมทั่วโลก

ในแง่ของคดี...1 ปีที่ผ่านมาตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหาไป 2 ราย และเข้ามอบตัว 1 ราย คือ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ แต่ก็ไปมอบตัวถึงกรุงเทพฯ และยังให้การปฏิเสธ ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ อยู่ในภาวะ “เงียบกริบ”

หลายคนอาจจะอยากทราบว่าวันนี้ที่ไอร์ปาแยเป็นอย่างไร หลังจากผ่านเรื่องราวร้ายๆ มา 1 ปีเต็ม...


หากใครมีโอกาสเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านไอร์ปาแยช่วงหลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดใหม่ๆ คงได้เห็นภาพรถรานานาชนิดจอดอยู่สองข้างทางจากหน้ามัสยิดยาวเป็นกิโลฯ เพราะผู้คนจากทุกสารทิศพากันไปดูเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้

ทว่าบนถนนสายเดียวกัน ณ วันนี้ บรรยากาศมีแต่ความเงียบสงบ รถราแล่นผ่านไปมานานๆ คัน ไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนที่หน้ามัสยิดอัลฟุรกอน หากใครที่ไม่เคยได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยือน คงแทบไม่รู้เลยว่าเคยเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นในมัสยิดแห่งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมัสยิดได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนเสร็จเรียบร้อย ทั้งทาสีใหม่ และมีรั้วรอบขอบชิด จากงบประมาณที่หน่วยงานภาครัฐทุ่มเทลงมาเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน

แต่ที่ดูแปลกตาไปจากมัสยิดอื่นๆ ก็ตรงที่มี.... อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาวหัวไทร ผนึกกำลังต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

กลุ่มประชาชนชาวอำเภอหัวไทรกว่า 200 คน ได้ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน นักตรวจสอบทางสังคมหลายส่วนร่วมกันตั้งเวทีสาธารณะที่บริเวณลานปั๊มน้ำมันบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมกันต่อต้านโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กำลังริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (ถ่านหิน) ในพื้นที่เป้าหมาย จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเลือกในพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา เป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (ถ่านหิน) ขนาด 700 เมกกะวัตถ์

โดยความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพบว่าได้มีการแบ่งคณะเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ออกเป็น 3 ทีมคือทีม อ.ท่าศาลา อ.หัวไทร และทีมงานประชาสัมพันธ์ ได้กระจายกันลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ก่อสร้าง โดยที่ประชาชนและนักตรวจสอบเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว แกนนำกลุ่มศึกษาผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ เปิดเผยว่า ตรวจสอบและติดตามข้อมูลที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังไม่มีการแจ้งกับประชาชนนั้นพบว่า พื้นที่นครศรีธรรมราช ที่ถูกการไฟฟ้าเลือกนั้นมีอยู่ 2 พื้นที่คือ 1.อำเภอท่าศาลา โดยมีตำบลเป้าหมายคือ ต.กลาย ต.ท่าขึ้น ต.สระแก้ว และ 2.อำเภอหัวไทร มีตำบลเป้าหมายคือ ตำบลเกาะเพชร และตำบลหน้าสตน สาเหตุที่มีการเลือกเอาพื้นที่ชายฝั่งเช่นนี้เนื่องจากต้องมีพื้นที่สำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่านหินจากต่างประเทศนั่นเอง

“ พบข้อมูลว่ามีการติดต่อถ่านหินจากต่างประเทศเช่นถ่านหินประเภทบิทูบินัส จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปริมาณการใช้ต่อโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้นสูงถึง 4 พันตันต่อวัน คนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ลงพื้นที่แบบเงียบๆเข้าหาแกนนำชาวบ้าน จัดตั้ง แจกเครื่องอุปโภคบริโภค ไปขอใช้เวทีประชาชนของ อบต.บ้าง เทศบาล ประชาสัมพันธ์ถึงโครงการโรงไฟฟ้า กิจกรรมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยมีทีมโฆษกเข้าปฏิบัติการด้วยซึ่งประชาชนหลายส่วนเห็นว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นในสภาพการณ์เช่นนี้ ”

แกนนำกลุ่มศึกษาผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ประชาชนชาวอำเภอหัวไทร ในพื้นที่นี้ได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนังขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว และได้ประสานงานในการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนอย่างเต็มที่ถึงเรื่องของมลพิษจากถ่านหิน ด้วยการเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้มาให้ข้อมูล และถ่านหินนั้นได้ชื่อว่าเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุดในโลก ทั้งยังมีผู้ที่มีประสบการณ์ผลกระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง และจาก อ.จะนะ สงขลา มาร่วมให้ความร่วมรู้ความเข้าใจอีกด้วย

“ ที่สำคัญนั้นจากข้อมูลของกำลังไฟฟ้าสำรองในภาคใต้นั้นเราเชื่อว่ามีเพียงพอ แต่โครงการโรงไฟฟ้าเช่นนี้ที่กำลังลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เราเชื่อว่าเตรียมไว้เพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาร์เทิร์นซีบอร์ดนั่นเอง ซึ่งต่างมีความเห็นสอดคล้องว่าพื้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกวงเป็นพื้นที่โครงการนั้นจะต้องเป็นพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเท่านั้น ” (จากสำนักข่าวเนชั่น)

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผู้นำศาสนาชื่นชมรัฐบาล ให้ชุมชนเป็นหลักดับไฟใต้

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2553 คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลจอเบาะ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) พร้อมด้วยผู้นำชุมชน(สี่เสาหลัก) และหน่วยงานราชการในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมลงเสาเอกโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย(ไทยเข้มแข็ง) ที่บ้านพงปือเระ หมู่ที่ 4 ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

นายมูฮำหมัด สันหมาน ผู้นำศานาและประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลจอเบาะกล่าวชื่นชมรัฐบาลที่ให้โอกาสประชาชนได้แก้ไขปัญหาด้วยตนเองการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลต้องกล้าที่จะให้ชาวบ้านเป็นแกนนำหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ งบประมาณต่างๆสนุบสนุนโดยตรงให้กับชุมชนเหมือนที่ พอช.ทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และเชื่อมั่นว่าตอนนี้รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว และในระยะยาวเชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่คงจะดีขึ้น

ตำบลจอเบาะเป็นพื้นที่นำร่องของ โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก จำนวน 9 หมู่บ้านได้รับงบประมาณจำนวน 9 ล้านบาท มีผู้เดือดร้อนที่เข้าร่วมโครงการระยะแรก 202 ครัวเรือน และขณะนี้รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอีกหมู่บ้านละ 450,000 บาท รวมแล้วตำบลจอเบาะคาดว่าจะได้รับงบเพิ่มอีกประมาณ 4,050,000 บาท โดยคณะทำงานระดับตำบลต้องคัดเลือกผู้เดือดร้อนตามความเป็นจริง และใช้รูปถ่ายบ้านครัวเรือนผู้เดือดร้อนในการพิจารณา และให้อำเภอมีส่วนร่วมในการกลั่นกรองผู้เดือดก่อนนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาระดับจังหวัด จนสุดท้ายเสนอคณะกรรมการโครงการ -(สี่ล้านห้าหมื่นบาท)

นายมูฮำหมัด กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานตำบลจอเบาะตั้งเป้าช่วยเหลือช่วยเหลือผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 100 ครัวเรือน ซึ่งรวมงบประมาณทั้งตำบลจอเบาะประมาณ 13,050,000 บาท ในระยะยาวจะตั้งเป็นกองทุนพัฒนาตำบลจอเบาะโดยจะพัฒนาในทุกๆเรื่องในตำบลเช่น ที่อยู่อาศัย อาชีพ สวัสดิการชุมชน โดยใช้เวทีปรึกษาหารือแบบสภาซูรอหรือสภาองค์กรชุมชนเป้นเวทีแก้ไขและพัฒนาชุมชน

นายมานุ มะบายะ ชาวบ้านพงปือเระ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากที่ได้ช่วยเหลือคนจน ตนและครอบครัวได้รับการสนับสนุนในการสร้างบ้านใหม่(ให้เปล่า)จากมติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน และขอขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคุญของคนจนที่ด้อยโอกาสใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและอยากให้รัฐบาลขยายทุกหมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับโครงการเพราะคนจนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยมีเป็นจำนวนมาก

นายมานุ กล่าวอีกต่อไปว่านอกจากเรื่องบ้านแล้ว ตอนนี้ตนมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา ลูกเรียนหนังสือ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยเหลือด้านอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

อารีย์ เจ๊ะโซ๊ะ รายงาน : จาก htp://souththai.org

ปลัดจังหวัดนราฯ เปิดอบรมจีไอเอส ให้ผู้นำองค์กรชุมชน

พอช.จัดอบรมจีไอเอสแก่ปลัดอำเภอ ผู้แทนชุมชน รอบอุทยานฯบูโด ปลัดจังหวัดหวังผู้เข้าร่วมอบรมนำความรู้ไปใช้ทำข้อมูลพิสูจน์สิทธิ์ เป็นกำลังหนึ่งในการสร้างสันติสุขสู่สามจังหวัดชายแดนใต้

ระหว่างวันที่ 2 - 4 มิถุนายน 2553 สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สารสนเทศทางภูมิศาสตร์(GIS) และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ” ให้กับผู้นำองค์กรชุมชนพื้นที่แก้ไขปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้มีจำนวน 40 คน ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ ผู้แทนชุมชนจาก อ.กระพ้อ จ.ปัคตานี อ.รามัน จ.ยะลา อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

นายสุรพล พนัสอำพน ปลัดจังหวัดนราธิวาส ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรม พร้อมกล่าวมอบโอวาทต่อผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมว่า ผมอยากให้ทุกคนตั้งใจฝึกอบรม เพื่อที่จะได้นำความรู้เรื่องนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยการจัดทำสข้อมูลชุมชน แผนที่ขอบเขตการถือครองที่ดิน เพื่อการพิสูจน์สิทธิ

ทั้งนี้ปัญหาทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาตินั้น ทางราชการกำลังให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะทางผู้อำนวยการ ศอ.บต.ก็ได้ประสานงานกับหน่วยงานทุกฝ่ายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งก็หวังว่าท่านทั้งหลายที่ได้เข้าอบรมความรู้ดด้านจีไอเอส นี้เป็นกำลังหนึ่งในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่

สำหรับปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี มีการประกาศเขตอุทยานตั้งแต่ปี 2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 9 อำเภอ 25 ตำบล เกิดปัญหาด้านการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับพื้นที่ของประชาชนในพื้นที่ประมาณ 17,000 คน ไม่สามารถเข้าไปทำสวนผลไม้ สวนยางได้ ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้เคียงแนวเขตอุทยานแห่งชาติก็ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิที่ดินได้
จาก htp://souththai.org

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ลบ "เขาคูหา" สัญลักษณ์รัตภูมิ-สงขลา ออกจากแผนที่โลก สังเวยแผนพัฒนาภาคใต้

ในช่วงตั้งแต่ 1 ปีที่ผ่านมา เรื่องหินๆ ดูจะเป็นปัญหาที่หนักหนาพอสมควร เนื่องจากแหล่งสัมปทานหรือประทานบัตรการทำเหมืองได้ทยอยสิ้นอายุ ทำให้ผู้ประกอบการต้องขอต่ออายุสัมปทานจากรัฐอีกครั้งเพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ อย่างน้อยก็สองรายที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เนื่องจากการทำเหมืองหินเป็นกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง จากการระเบิดหินแล้วนำไปโม่ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการในจำนวนที่มากพอ จึงย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย ไม่ว่าผลกระทบจากเสียงระเบิด แรงสั่นสะเทือน ฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่า ทำให้การต่ออายุประทานบัตรถูกต่อต้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย

เขาคูหาเป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านกลางทุ่งนาริมทางหลวงสายเอเชีย ในตำบลคูหาใต้ โดยมี “หลักโค” หรือเขาหินยอดแหลมมองเห็นเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านทิศตะวันออกติดกับเขาคูหา และเป็นที่มาของตำนานเขาโคหาย กับเขา 5 ลูก และควนอีก 3 ลูกตามตำนานโบราณ

ส่วนหนึ่งของเขาคูหาเป็นแหล่งประทานบัตรทำเหมืองหินของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด ที่ทำเหมืองระเบิดหินและโรงโม่หินมากว่า 30 ปี ส่วนอีกแหล่งเป็นแหล่งประทานบัตรของนายมนู เลขะกุล ดำเนินการโดยบริษัทแคลเซียมไทยอินเตอร์ จำกัด

เขาคูหาที่มีสภาพเว้าแหว่งแตกต่างไปจากอดีตลูกนี้ มีความสำคัญต่อประวัติ-ศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างมากปัจจุบันมีร่อยรอยของการะเบิดหินออกไป จนเรือนยอดเขาเดิมหายไปแล้ว แต่หลักโคยังอยู่เหมือนเดิมส่วนใต้เขาบริเวณทางเข้าก่อนถึงเขตประทานบัตรระเบิดหิน มีสายน้ำเล็กๆ ไหลออกมา ชาวบ้านเรียกว่า
คลองตะเคียน มีร่องรอยการปรับแต่งตลิ่งเพื่อให้น้ำไหลดีขึ้น จากเดิมที่ดินและหินจากการระเบิดหล่นทับปิดทับสายน้ำแห่งนี้มาก่อนหน้าแล้ว ขณะที่พื้นที่รอบๆ เขาคูหา ส่วนใหญ่เป็นเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน มีก้อนหินขนาดเท่าหน้าแข้งหล่นอยู่ประปราย เป็นไปได้ว่าเป็นหินที่กระเด็นออกมาเพราะแรงระเบิด จนกลายเป็นเหตุผลที่รถรับจ้างไถนา ปฏิเสธการรับจ้างไถนาในบริเวณนี้
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก

ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีนั้น เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นวันที่เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสภาพแวดล้อมของเราที่ย่ำแย่ลงทุกวัน สังเกตได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งหิมะขั้วโลกเหนือละลาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออากาศร้อนขึ้น ซึ่งผลเหล่านี้ล้วนมาจากการมนุษย์ที่เป็นคนทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อมดีๆ นั่นเอง ทำให้หน่วยงานของโลกจัดตั้งวันสิ่งแวดล้อมโลกขึ้น

สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้นจัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮลม์ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า "การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" หรือ "UN Conference on the Human Environment" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ จากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

โลกร้อน เกิดภัยพิบัติมากมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราจะร่วมช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมกันแบบจริง ๆ จัง ๆ เพื่อเก็บมันเอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เห็น

สภาองค์กรชุมชนกับการปฏิรูปประเทศไทย

ปฏิรูปจากฐานล่าง ปฏิรูปโดยประชาชน ต้นทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

เราจะสร้างสมานฉันท์ เราจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น คืนการตัดสินใจ เพิ่มอำนาจให้กับภาคประชาชน เราจะสร้างประชาธิปไตยชุมชนให้ประชาชนกินได้ สถานการณ์วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นมิคสัญญีกลียุค เป็นวิกฤติความรุนแรงที่ซ้ำรอย สร้างความสูญเสีย และบอบซ้ำให้กับสังคมไทยอย่างหนักหนาสาหัส ผู้คนแตกแยกแบ่งขั้วแยกฝ่าย และต่างพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันได้ทุกขณะ

ความเกลียดชังลุกลามขยายตัวลงไปถึงในระดับครอบครัว โรงเรียน ข้อเท็จจริงในเรื่องของความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวยจน การมีสองมาตรฐาน การเลือกปฏิบัติ การทุจริตคอร์รัปชั่น การเอาประโยชน์แค่พวกพ้อง ความไม่เป็นธรรมต่างๆ เหล่านี้ ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องกลับมาทบทวนอย่างขนานใหญ่

ในสถานการณ์เช่นนี้สภาองค์กรชุมชน จะมีบทบาทในการแก้วิกฤติปัญหาของสังคมในครั้งนี้อย่างไร คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน จึงได้จัดสัมมนาสภาองค์กรชุมชนกับการปฏิรูปประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จากคณะกรรมการดำเนินการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ แกนนำในแต่ละภาค รวมทั้งภาคประชาสังคม นักวิจัย และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กว่า ๙๐ คน มาหารือถึงทิศทางบทบาทของสภาองค์กรชุมชนในสถานการณ์การเมือง ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ขบวนองค์กรชุมชนกับการปฏิรูป เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากฐานราก

หากคำว่า “ปฏิรูปประเทศไทย” หมายถึง การผ่าตัดปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมือง เศรษฐกิจ และส้งคม เพื่อทำให้การพัฒนาประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยชนิดที่ประชาชนสามารถสัมผัส เข้าถึง และมีบทบาทมากขึ้น โดยยึดหลักความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ มีวุฒิภาวะในการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆได้อย่างสันติวิธี อย่างที่นักวิชาการหลายท่านว่าไว้นั้น การปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะทำให้ภาคส่วนทางสังคมต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว ซึ่งต้องมากกว่าที่แล้วมา

ที่ประชาธิปไตยเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยในระยะสั้นเพียงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน เป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนเรา ที่ต่อไปนี้จะไม่ขอฝากความหวังไว้กับท่านผู้แทน...อีกแล้ว

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็นปฎิรูปประเทศไทย วันพุธที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมชั้น ๑ พอช. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๗๐ คน จากผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการภาคทั้ง ๕ ภาค ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ). ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ผู้แทนเครือข่ายแผนชุมชน และคณะผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับฐานงานพัฒนาโดยชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จากเขาพับผ้า ถึงสภาวะการเมืองไทย

โดย : วานิช สุนทรนนท์

คนบ้านเราคงไม่มีใครไม่รู้จักเขาพับผ้า แต่น่าจะมีอีกมากมายที่คล้ายจะไม่เข้าใจการเมืองไทย...

ปีสองปีมานี้ ผมมีภาระที่ต้องเดินทางไปหาดใหญ่บ่อยขึ้น อย่างน้อยก็เดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อร่วมประชุม

นานๆ สักทีหรอกที่ผมจะบุกบั่นดั้นด้นจากย่านตาขาวไปหาดใหญ่ทางสตูล ซึ่งไกลกว่าทางพัทลุงราวๆ ยี่สิบกว่ากิโลเมตร นั่นหมายความว่า เกือบจะทุกครั้งที่ไปหาดใหญ่ ผมจึงต้องใช้บริการถนนสายภูเขาพับผ้า

คนรุ่นสี่สิบห้าสิบปีขึ้นไปคงยังจำความเลี้ยวลดคดโค้งดั้งเดิมของถนนบนเขาแห่งนี้ได้ดี ว่าลักษณะอาการที่วกวนเช่นม้วนแห่งผ้าพับเป็นอย่างไร ทั้งขึ้นๆ ลงๆ ทั้งโค้งๆ คดๆ และทุกครั้งที่ต้องนั่งรถผ่านจะทรมานไปถึงลำไส้ใหญ่อย่างไร

เกือบสามสิบปีมานี้แหละที่มีการปรับปรุงเส้นทางกันใหม่หมด มีการลดจำนวนโค้งลงจากร้อยกว่าเหลือแค่ไม่กี่สิบ แต่เมื่อจำนวนรถเล็ก รถใหญ่ รถยาว ที่มีความจำเป็นต้องผ่านเส้นทางสายนี้เพิ่มขึ้น ความกว้างที่ว่าดีแล้วก็ชักจะไม่เพียงพอ อุบัติเหตุจึงมักจะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่ากับชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

ระยะหลังๆ จึงมีการพูดถึงการปรับปรุงถนนบนเขากันอีกครั้งด้วยโครงการสี่เลน ที่ต้องขยับหรือขยายให้ผิวจราจรมีมากพอกับความพลุกพล่านที่ต่างต้องสัญจรผ่านทางด้วยความจำเป็น แต่นั่นแหละ เหมือนความฝันที่ยังไม่กลายเป็นจริงเสียสักที เหมือน ‘เบอร์เฝ้า’ ที่ชาวบ้านร้านถิ่นได้แต่เฝ้าซื้อแล้วซื้อเล่าทุกงวด แต่ไม่รู้ว่าจะออกมาให้ชื่นชมได้จริงๆ เมื่อไหร่

ผมขับรถไปคิดไป เปรียบเทียบกับโน่น นี่ นั่น ไปเรื่อย ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นที่จะคิดไปเปรียบถึงเรื่องราวของเหตุบ้านการเมือง เปล่า ไม่ใช่เฉพาะปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนหรือสองเดือนนี้ที่เมืองหลวง ความจริงแล้ว การเมือง เรื่องของการบริหารความขัดแย้ง เรื่องของการจัดสรรอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับกันว่า นานแสนนานมาแล้วที่อย่างดีก็เป็นได้แค่ครึ่งเดียว

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ‘การเมือง’ ก็คล้ายหนทางสายหนึ่งที่จะนำเรา...คนทั้งประเทศ ไปยังจุดหมายปลายทางที่สวยงาม หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินมาว่า ถนนสายนี้ช่างคดเคี้ยวเลี้ยวลดเหลือกำลังรับ หรือถนนสายนี้ไม่เพียงแต่จะคดจะโค้งแต่มีคนคดโกงอยู่เต็มเส้นทาง หรือถนนสายนี้แคบและเก่า ไม่เหมาะ ไม่ไหว ไม่ควรแล้วที่จะปล่อยไว้ให้เกิดอุบัติเหตุครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และครั้งแล้วครั้งเล่าที่ ‘การเมืองแบบเดิม’ สร้างรอยแผลให้เกิดกับคนในชาติ ทั้งแผลเล็ก แผลใหญ่ และใช่หรือไม่ว่า บางเหตุการณ์ที่เพิ่งคลี่คลาย (และไม่ได้หมายความว่าจะจบลงแล้ว) คือร่องรอยล่าสุดของ ‘แผลเป็นแห่งชาติ’ ที่บาดลึกตรงหัวใจของทุกคน

บอกกันตามตรง ผมก็เคยได้ยินมาหลายๆ ครั้งเหมือนกันว่า เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหรือต้นทาง ด้วยการปฏิรูปการเมืองซึ่งคล้ายกับการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงถนนสักสายหนึ่ง เพื่อให้เป็นถนนสายสำหรับทุกคน ที่กว้าง ยาว สะดวก สบาย เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการนำไปสู่ประโยชน์สุขที่แท้จริงของทุกๆ คน

น่าเศร้า ที่ทุกอย่างยังเป็นเช่นความฝัน เป็นเช่น ‘เบอร์เฝ้า’ ให้ชาวบ้านเฝ้าหวัง รอแล้วรอเล่า ไม่ต่างกับเส้นทางบนภูเขาที่ชื่อ พับผ้า...