จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จากแนวคิด “น้ำมันข้ามโลก” ยก ‘ESB’ ไปไว้ใต้กลายเป็น ‘SSB’ (1)

การผลักดันให้สร้าง “สะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล” หรือ “Land Bridge (แลนด์บริดจ์)” อย่างเร่งรีบของรัฐบาลในเวลานี้ มีเรื่องให้ต้องจับตาใกล้ชิดอยู่ไม่น้อย เพราะได้สร้างผลกระทบให้ปรากฏแล้วต่อประชาชนในวงกว้าง ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานรัฐก็เป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น ไม่ค่อยจะมีความชัดเจน แถมมีความพยายามที่จะแยกส่วนโครงการเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วนำไปเสนอต่อประชาชน จนสร้างความสับสนให้แก่ผู้คนจำนวนมาก

แท้ที่จริงแล้ว แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ถือเป็นเพียงโครงสร้างพื้นฐานหลัก อันประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึกรองรับผลผลิตทางอุตสาหกรรมทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แล้วเชื่อมกันด้วยถนน เส้นทางรถไฟ ท่อน้ำมันและท่อก๊าซ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” หรือที่เรียกกันว่า “โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern Seaboard : SSB)” อย่างเต็มระบบนั่นเอง

การเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลภาคใต้ของไทยคือ อ่าวไทยกับอันดามัน มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ต้องการขุดคลองเชื่อมกันด้วยยุทธศาสตร์ทางการทหารเป็นหลัก แต่สุดท้ายก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการสร้างแลนด์บริดจ์เพื่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแทนที่ในเวลานี้

ความที่ภูมิประเทศทางภาคใต้ของไทยเราเป็นลักษณะด้ามขวานยื่นออกไปกางกั้น ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือกับมหาสมุทรอินเดีย ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามซีกโลกต้องไปใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดาและช่องแคบลอมบอก แต่ที่เป็นที่นิยมและมีระยะทางสั้นสุดคือ ช่องแคบมะละกา ซึ่งต้องผ่านน่านน้ำทางทะเลของสิงคโปร์และมาเลเซีย

หลายทศวรรษมาแล้วที่ “น้ำมัน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก อีกทั้งทุกประเทศในโลกก็ถือเป็นยุทธปัจจัยทางการทหารที่สำคัญยิ่ง
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จากอาชีพสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู 'บ้านปากรอ' พ้นความจน

ตำบลปากรอ อำเภอ สิงหนคร จังหวัดสงขลา จัดเป็นพื้นที่ระดับตำบลที่ยากจนที่สุดของจังหวัดสงขลา ซึ่งในอดีต ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือ ทำประมง แต่เนื่องจากปัญหาเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้กระทบกระเทือนต่ออาชีพประมงจนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลุกขึ้นมาช่วย กันคิดหาหนทางแก้ไข ซึ่งนี่เองคือจุดเริ่มต้นของโครงการ “จากอาชีพสู่การอนุรักษ์”

ทวีวุฒิ สังข์ศิริ นายอำเภอสิงหนคร เล่าประวัติความเป็นมาของโครงการพัฒนาอาชีพฯ ว่า เริ่มแรกเน้นรูปแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่การทำเกษตรผสมผสาน เช่น การเลี้ยงปลากะพงขาวและปลาทับทิม การปลูกผักปลอดสารพิษ ฯลฯ แต่ต้องประสบปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน ได้แก่ สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินเปรี้ยว PH 4.5, การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลามีคุณภาพน้ำเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทำให้ทรัพยากรน้ำชนิดต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ตกต่ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2548 ทำให้การประกอบอาชีพ ของชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก ชาวปากรอจึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงจากการเน้นด้านอาชีพมา สู่การอนุรักษ์สร้างชุมชนให้น่าอยู่ด้วยการริเริ่ม “โครงการจากอาชีพสู่การอนุรักษ์” ในปี 2551 โดยมีหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาช่วยหาทางแก้ไข จนปัจจุบันประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ จากการติดตามผลสำเร็จพบว่าไม่มีชาวตำบลปากรอครัวเรือนใดตกเกณฑ์ความจำเป็น ขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) หรือเกณฑ์ความยากจนเลย
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หนึ่งในกระบวนแก้ปัญหาชายแดนใต้

ปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มิใช่มีเพียงแค่ปัญหาของความรุนแรง ความขัดแย้ง ทางภาษา หรือวัฒนธรรม ยังมีปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้รัฐช่วยแก้ไขอย่างเร่งด่วนอีกหลายอย่าง เช่น ความเป็นอยู่ อาชีพ อาหารการกิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และอีกปัจจัยที่เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ และทั่วประเทศ คือ บ้านที่อยู่อาศัย

โครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน โดยชุมชน ที่ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นโครงการที่ให้ครัวเรือนที่ยากจนที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถที่จะขจัดปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินได้

แต่โครงการนี้มีเป้าหมายปัญหาเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในส่วนของที่อยู่อาศัยจำนวนทั้งสิน 100,000 ครัวเรือน ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 53-55 โดยเฉพาะในปีนี้เป้าหมายในการสร้างที่อยู่อาศัยตั้งไว้ที่จำนวน 24,000 ครัวเรือน

นราธิวาส เป็นจังหวัดที่ได้รับการนำเสนอจากสื่อเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทาง พอช. รับผิดชอบ นายอารีย์ เจ๊ะโซ๊ะ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. จังหวัดนราธิวาส ได้บอกเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการว่า

เราเห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ มันเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญที่สุด การที่จะมีบ้านสักหลังโดยเฉพาะคนยากคนจนมันเป็นเรื่องที่ยากมาก เราเลยผลักดันโครงการนี้ไปยังรัฐบาล ซึ่งเราดูจากโครงการของรัฐบาลแต่ละโครงการที่ลงมาเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนที่ยกระดับคุณภาพชีวิตยังมีน้อย....
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

ตรัง..ลงพื้นที่ร่วมกันเรียนรู้ สู่การพัฒนาหลักสูตรพัฒนาวิทยากรชุมชน ที่กระบี่

เมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2553 คณะทำงานพัฒนาชุมชนอย่างประณีตจังหวัดตรัง ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำเครือข่ายองค์กรชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และตัวแทนหน่วยงาน อาทิ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตรจังหวัด ธกส. ตัวแทนท้องถิ่น สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมดูงานพื้นที่จัดการตนเองที่ตำบลตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยมีผู้นำเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกระบี่และ นากยก อบต.ตลิ่งชันให้การต้อนรับ และบรรยาย

ในการนี้คณะทำงานฯ จังหวัดตรังได้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและยกร่างหลักสูตรการพัฒนาวิทยากรกระบวนการชุมชน เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชน รวมทั้งได้กำหนดแผนการดำเนินงานในระดับพื้นที่

ภาพบรรยากาศ
ณ ห้องประชุม อบต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ..หลังจากฟังกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกระบี่ มีการถกเพื่อปรับจูนความเข้าใจระหว่างกัน ระหว่าง ภาคประชาชน หน่วยงาน และภาคประชาสังคม

ประเด็นที่ถกกันคือ .. เป้าหมายของการพัฒนา .. ความหมายของชุมชนเข้มแข็ง ..บทบาทของแต่ละภาคส่วน และบทเรียนการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา
ค่ำวันที่ 23 ก.ค. ณ ร้านอาหารริมเลซีฟูด หลังอาหารเย็น และหลังจากที่ถกกันพอสมควร มีการแบ่งกลุ่มย่อยกันระดมความคิดเห็น ถกกันอย่างออกรสชาด

และก็มีการนำเสนอผลกลุ่มย่อย ได้เนื้อหาที่น่าพอใจ...ก่อนจะประมวล และระดมเพิ่มเติมในวันรุ่งขึ้น.

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปิดค่ายยุวชนธรรมาธิปไตยรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนหัวเขา

ศูนย์บูรณาการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดค่ายยุวชนธรรมาธิปไตยรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนหัวเขา เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนรักถิ่นและร่วมพัฒนาธรรมาธิปไตยชุมชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนบ้านหัวเขา หมู่ที่ 6 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา พลตรี กิตติพันธ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้(ศพชต.) เป็นประธานเปิดค่ายยุวชนธรรมาธิปไตยรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนหัวเขา ซึ่งศูนย์บูรณาการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย เครือข่ายผู้นำเยาวชนภาคใต้และโรงเรียนบ้านหัวเขา จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกรักถิ่นและร่วมพัฒนาธรรมาธิปไตยชุมชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเด็กและเยาวชนในตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง คุณครูและสมาชิกชุมชน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เขื่อนนาปรัง-ท่วมอุทยานเขาน้ำค้าง-ท่วมบ้านนาปรัง สงขลา เพื่อแผนพัฒนาภาคใต้

โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนกว่า 2,000 ไร่ จะท่วมเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง และอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ ท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้านนาปรัง ปรากฏเป็นข่าวดังขึ้นมาเพราะเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 มีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรังกว่า 70 คน เดินทางไปยังสำนักงานชลประทานที่ 16 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถือป้าย “ชาวนาปรังไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำ” “โปรดช่วยกันรักษาอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง”คนตำบลคลองกวาง โดยเฉพาะชาวบ้านนาปรังมีความเห็นอย่างไรต่อโครงการนี้ โปรดติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้โดยพลัน อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กรณ์ จาติกวนิช บอกไม่เอาอุตสาหกรรมมาแทนที่การท่องเที่ยวในภาคใต้

เราจะได้ยินได้ฟังข่าวทุกๆ ปีว่า ชาวนาประท้วงเพราะราคาข้าวตกต่ำ อ้อยขายไม่ออก ข้าวโพดถูกกดราคา มันสำปะหลังไม่ประกันราคาตามที่รับปาก ฯลฯ คนไทยส่วนใหญ่พึ่งพาภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นนา สวน พืชไร่ หรือประมง ทุกฤดูกาลขายผลผลิต พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่แน่นอน รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อพวกเขาออกมาชุมนุมเรียกร้อง เอาพืชผลมาเทกองอยู่บนท้องถนน ข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี

นอกจากรัฐเพิกเฉยไม่ดูแลเท่าที่ควรแล้วยังมีนโยบายทำลายการพึ่งตนเองของชุมชน ทำลายฐานทรัพยากรในรูปของโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก โครงการเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่น ที่ส่งผลกระทบกับชายหาดและอาชีพประมง การสร้างเขื่อนที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร การทำเหมืองแร่ เช่น เหมืองโปรแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะส่งผลกับชาวนาในวงกว้าง ทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ทำกิน เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรถูกทำลาย ก็ผลักดันให้คนชนบทต้องบ่ายหน้าเข้าสู่โรงงาน ผจญชีวิตในเมือง

เรื่องราวที่เกษตรกรต้องกลายมาเป็นสาวโรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลจากนโยบายรัฐที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยอาศัยคำพูดเดียวที่เราไม่กล้าเถียงว่า "มันคือการพัฒนาประเทศ"
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เครือข่ายติดตามแผนฯ สตูล แถลงโต้ รัฐมนตรี "อย่าทำตัวเป็นศรีธนนชัย"

เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลแถลงโต้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อย่าทำตัวเป็น ศรีธนนชัย กรณีท่าเทียบเรือปากบารา

วันที่ 18 กรกฎคม 2553 ที่ศาลาประชุมหมู่ที่ 8 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลเปิดแถลงข่าวโต้ เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม อย่าทำตัวเป็น ศรีธนนชัย

โดยนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า “จากกรณีที่นายเกื้อกูล รมช.คมนาคม แถลงผ่านสื่อมวลชนว่า ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ตามข่าวหลายๆสำนัก ระบุว่า “ห่วงว่าประชาชนได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องจากกลุ่มต่อต้านโครงการ ทั้งยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่ระเบิดภูเขา โครงการนี้ไม่ใช้พื้นที่ทำปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมหนัก และจะเร่งทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ ภายในเดือนสิงหาคม นี้ ” นายวิโชคศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นนี้ชัดเจนว่าโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราจะไม่ระเบิดภูเขาเอง จะไม่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมเองอยู่แล้ว เพราะหน่วยงานอื่นๆเป็นผู้รับผิดชอบ เจ้าของโครงการท่าเรือแค่ไปซื้อหินมาถมทะเลเท่านั้น ไม่ได้ระเบิดเอง สรุปคือต้องใช้หินภูเขาอยู่ดี ส่วนอุตสาหกรรมหนักหน่วยงานอื่นเป็นคนรับผิดชอบ สรุปคืออาจเกิดขึ้นก็ได้ หรือถ้าไม่มีแหล่งผลิตสินค้าในพื้นที่เองด้วย นายกรัฐมนตรี ก็เคยบอกว่าไม่คุ้มทุน ไม่ควรสร้าง นายเกื้อกูลจะชี้แจงอย่างไร

ทั้งข้อมูลที่เครือข่ายฯใช้ในการให้ข้อมูลชาวบ้านก็ได้จาก สนข. กระทรวงคมนาคม และรายงานการวิเคระห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของกรมเจ้าท่าฯ เอง ถ้าเป็นข้อมูลไม่เป็นจริง ที่นายเกื้อกูลเข้าใจ กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีก็ต้องยกเลิก จะเอามาเป็นฐานข้อมูลใช้อนุมัติโครงการได้อย่างไร
ทั้งยังบอกว่าจะเร่งให้ข้อมูลประชาชนในพื้นที่ให้เข้าใจโครงการ อยากถามว่า นายเกื้อกูล และ ครม.เศรษฐกิจ ยอมรับว่าประชาชนคนสตูลยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องใช่หรือไม่ ถ้าใช่ แสดงว่าก่อนหน้านี้ ข้อมูลที่ว่า คนสตูลเข้าใจ และเห็นด้วยกับโครงการนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจอนุมัติโครงการก็เป็นข้อมูลเท็จ

นอกจากนั้น นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวเสริมว่า เครือข่ายจะประสานงานกับองค์กรต่างๆเพื่อตั้งทีม ทนายความของเครือข่ายขึ้น หากมีการอนุมัติโครงการโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ กระทบต่อประชาชน เครือข่ายก็พร้อมจะฟ้องร้องต่อศาลต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รักษ์ป่าต้นน้ำทุ่งนุ้ย

บ่าวนุ้ย ณ คอดี้

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 15 ก.ค. ที่ผานมา มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำทุ่งนุ้ย บริเวณบ่อน้ำร้อน ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าต้นน้ำทุ่งนุ้ย ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งนุ้ย ร่วมกันจัดขึ้น โดยการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาตลอดวัน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและคนรุ่นใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วย นักเรียน จาก 5 โรงเรียนในละแวกไกล้เคียง หน่วยงานต่างๆ ทั้งใน อ.ควนกาหลง และจังหวัดสตูล ผู้นำองค์กรชุมชน ผู้นำศาสนา และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการเสวนาแนวทางการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำทุ่งนุ้ย , การละเล่นของนักเรียน ,การปลูกต้นไม้ , การแสดงดนตรีของศิลปินเพื่อชีวิตท้องถิ่น ท่ามกลางบรรยากาศอันชื่นมื่น และชุมฉ่ำ โดยในช่วงท้าย มีนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเดินทางเข้ามาร่วมงานด้วย นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ของชุมชนครับ.

ธรรมนูญลุ่มน้ำรัตภูมี เรื่องดี ดี ของคนลุ่มน้ำ

ลุ่มน้ำรัตภูมี ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอคือ อำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ และอำเภอหาดใหญ่บางส่วน ปัจจุบันกำอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จากการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรโดยส่งเสริมระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่เกษตรผสมผสาน ที่นา ไม้ผล แทนที่ด้วยยางพารา ปาล์มน้ำมันและพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ผลกระทบที่ตามมาคือ การใช้สารเคมีอย่างหนักในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อชุมชน นอกจากนี้ระบบเกษตรเชิงเดี่ยวได้ทำลายฐานอาหารซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญด้านอาหารระดับครอบครัวของชุมชนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองภูมีกำลังได้รับผลกระทบจากแนวทางการพัฒนาในพื้นที่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าต้นน้ำ จากแรงจูงใจที่จะสร้างเขื่อนในพื้นที่ แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ในการสัมปทานบ่อทรายซึ่งมีมากกว่า 10 แห่งในพื้นที่ การเปิดสัมปทานเหมืองหิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชน โดยที่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือการคลี่คลายจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนำซ้ำยังทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งทิศทางการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองภูมีในอนาคต คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจปากบารา-ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาในระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมีได้ดำเนินการในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องภายใต้ขีดความสามารถที่มี

กระบวนการหนึ่งที่คนลุ่มน้ำพยายามผลักดันให้เกิดก็คือการจัดทำข้อตกลง กติการ่วม ในการอยู่ร่วมกันและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ มีการจัดตั้งคณะทำงาน แบ่งบทบาท และการตระเวนจัดเวทีไปตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ สำรวจข้อมูล ระดมความเห็นจนนำไปสู่การยกร่างธรรมนูญลุ่มน้ำรัตภูมี ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา คณะงานได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างธรรมนูญลุ่มน้ำรัตภูมี ณ หอประชุมพุทธบารมี (สำนักสงฆ์เกาะบก) โดยผู้เข้าร่วมมี ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน 9 ตำบล ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองภูมี ประกอบด้วย ต.เขาพระ ต.คูหาใต้ ต.ควนรู ต.กำแพงเพชร ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ , ต.รัตภูมิ ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง , ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ และ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ ตัวแทนเครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายสื่อเพื่อการพัฒนา เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังมีตัวแทนหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รัฐบาลปลื้ม พอช.แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-ที่ดินชายแดนใต้


รัฐบาลปลื้ม พอช.เตรียมถอดบทเรียนโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขยายสู่พื้นที่อื่นทั่วประเทศ ด้าน ผอ.ศพชต.แนะ กอ.รมน.ภาค 4 รุกทำประชาคมแก้ปัญหาคนยากจนไร้บ้านให้รวดเร็ว

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 6/2553 ณ โรงแรมสิงห์โกลเดนท์เพลซ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

นายวรรณธรรม กล่าวเปิดประชุมว่า การดำเนินงานของ พอช.ที่ผ่านมา ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชม เพราะทำให้ชาวบ้านรู้สึกดีว่าการให้ความช่วยเหลือมุ่งหวังถึงการพัฒนาคน ซึ่งรัฐบาลถือว่าการทำงานของ พอช.ถือเป็นตัวแบบอันดับหนึ่งในบรรดาหน่วยงานต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท ในการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้

“วันนี้รัฐบาลมอง พอช.ว่า เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างชัดเจนและโดดเด่น การเบิกจ่ายงบประมาณก็เป็นที่น่าพอใจ รัฐบาลกำลังคิดไปไกลว่า จะนำรูปแบบนี้ คือ การใช้แนวทางการร่วมมือแบบ พอช.การประชาคมผ่าน 4 เสาหลัก ซึ่งเรากำลังถอดบทเรียนเรื่องนี้เพื่อนำไปขยายทั่วประเทศ” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เวทีปฏิรูปใต้แนะชะลอแผนพัฒนาพื้นที่

อยากให้ภาครัฐเอาภาคประชาชนเป็นทัพหน้า ไม่ใช่เอาทหารเข้ามาอย่างเดียว เพราะการทำงานของภาคประชาชนอยู่บนฐานความเป็นจริงและเคารพซึ่งกันและกัน

เปิดเวทีปฎิรูปภาคใต้ ชาวบ้านแนะชะลอแผนพัฒนาภาคใต้ ชี้ทำลายวิถีวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม หลายจังหวัดติงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐสร้างความแตกแยกให้ชุมชน เสนอตัดเงินเดือนส.ส.ลงครึ่งหนึ่งและตั้งสภาประชาชนเป็นสภาที่ 3

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2553 ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง ได้มีการจัดเวที “คนใต้กับแผนปฎิรูปแผ่นดิน” โดยมีผู้แทนเครือข่ายชาวบ้านจาก 14 จังหวัดภาคใต้ นักวิชาการ กรรมการสมัชชาปฏิรูปและผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คนเข้าร่วม

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้แทนเครือข่ายปฎิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.)กล่าวว่าเครือข่ายต่างๆในภาคใต้ได้ทำงานกันมานานแต่เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองจึงมีการพูดถึงเรื่องปฎิรูปประเทศไทยและมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฎิรูปและสมัชชาปฎิรูปขึ้นมา ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะสรุปประเด็นต่างๆว่าคนใต้คิดอย่างไร อยากให้ปฏิรูปในเรื่องใดและหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะได้เสนอให้จัดสมัชชาคนใต้เพื่อยกระดับจากคน 200 คนเป็นคน 5,000 คนในครั้งหน้า

ผู้แทนจากชุมชนศรัทธาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ในระดับใหญ่ของการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการละเลยมิติเรื่องของศาสนาและชาติพันธุ์ซึ่งเมื่อหยิบยกขึ้นมาทีไรก็มักถูกหวาดระแวง ทั้งๆที่ฐานที่มั่นของคนในพื้นที่คือทั้งสองเรื่องนี้

“เราอยากให้ภาครัฐเอาภาคประชาชนเป็นทัพหน้า ไม่ใช่เอาทหารเข้ามาอย่างเดียว เพราะการทำงานของภาคประชาชนอยู่บนฐานความเป็นจริงและเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้นควรส่งเสริมให้จัดระบบชุมชนหมู่บ้านใหม่โดยใช้หลักศาสนาเป็นร่มเงาใหญ่ ผมคิดว่าถ้าทำอย่างนี้จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น”
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปลื้ม รองนายกฯสุเทพ ยกเสาเอกสร้างบ้านไทยเข้มแข็ง ที่บ้านบางมะรวด

ปัตตานี/ชาวบ้านบางมะรวดปลื้ม ได้รับบ้านหลังใหม่ด้วยงบ 110,000 บาท พร้อมขอบคุณรัฐบาลและชุมชนที่มอบบ้านหลังใหม่ โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณ 2,999,900 บาท แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย 78 หลังคาเรือนในตำบลบ้านกลาง อ.ปะนาเระ

วันที่ 12 กรกฎาคม 2553 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะข้าราชการลงพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านบางมะรวด ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้งบประมาณไทยเข้มแข็ง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

ในโอกาสนี้นายสุเทพ ได้ยกเสาเอกสร้างบ้านหลังใหม่ และมอบสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันให้แก่ นางปีอ๊ะ กูโน วัย 50 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีบ้านของตัวเอง อาศัยอยู่กับผู้อื่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 110,000 บาท สำหรับสร้างบ้านหลังใหม่

นางสาวซูไฮนี มามะ บุตรสาวนางปีอ๊ะ วัย 23 ปี กล่าวว่า ครอบครัวของตนเองมีความเป็นอยู่ที่ยากจน ย้ายบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง ตอนนี้อาศัยอยู่ในบ้านของนายกอบต.บ้านกลาง ซึ่งไม่ได้เป็นญาติกันโดยตรง เมื่อได้บ้านหลังนี้ ตนและแม่มีความรู้สึกดีใจมาก ชาวบ้านทำประชาคมหมู่บ้านและเลือกให้เราได้บ้านเพราะเรายากจนจริงๆ แม่ก็พยายามที่จะทำงานรับจ้างทุกอย่าง ที่ทำเป็นหลักคือรับจ้างเย็บผ้า
“อยากขอบคุณรัฐบาล และคณะทำงานหมู่บ้าน และชาวบ้านทุกคนที่เลือกให้ครอบครัวเราได้มีบ้านหลังใหม่ที่แข็งแรง ” นางสาวซูไฮนี กล่าว
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รองเลขาฯนายกฯ ยกเสาเอกบ้านหลังใหม่สตูล โครงการไทยเข้มแข็ง

สตูล/เจ้าของบ้านปลื้มได้รับบ้านเป็นของตัวเอง เพราะรายได้เดือนละ 4,200 บาท ส่งลูกเรียน พร้อมส่งเงินเข้ากองทุนของหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนต่อไป ตำบลละงูใช้งบกว่า 15 ล้านบาทช่วย 228 ครัวเรือนมีบ้านที่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2553 นายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมด้วย นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด เดินทางไปยังพื้นที่ ม. 2 บ้านปากบาง ต. ละงู อ.ละงู เพื่อตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้งบประมาณไทยเข้มแข็ง โดยมีหน่วยงานต่างๆจัดแสดงผลการดำเนินงาน และมีชาวบ้านนับร้อยให้การต้อนรับ

นายวรรณธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตร ไม่ว่า การส่งเสริมด้านเกษตรพอเพียง การให้พันธุ์ปลา แพะ และนอกภาคการเกษตร ส่งเสริมอาชีพ อบรมความรู้พัฒนาฝีมือแรงงาน ช่วยสร้างบ้านที่อยู่อาศัย โดยการผ่านกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดประกาย "ชุมชนต้นแบบสมานฉันท์” กู้วิกฤติไฟใต้

แบบฝึกหัดชีวิตของ "เด็กนอกห้อง (เรียน)" จุดประกาย "ชุมชนต้นแบบสมานฉันท์” กู้วิกฤติไฟใต้

“เด็กในโรงเรียน เรียนเก่ง ว่านอนสอนง่าย แต่จบแล้วไม่อยู่ช่วยพัฒนาพื้นที่ หนีไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ คงต้องฝากความหวังไว้กับ ‘เด็กนอกห้อง (เรียน)’ เพราะเด็กพวกนี้เรียนจบแล้วจะอยู่ในพื้นที่ตลอด” เป็นคำกล่าวของ ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง กับแนวคิด "แหวกแนว" ว่าด้วยการสร้างสันติสุขโดย "เด็กนอกห้อง (เรียน)"

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชีวิตที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ "ชีวิตที่อันตรายทุกฝีก้าว" ดังเช่นทุกวันนี้ โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง หรือ "ปู่รุ่ง" ที่เด็กใต้เรียกกันอย่างสนิทปาก เล่าให้ฟังว่า ปัญหาแบ่งเขาแบ่งเราด้วยคำจำกัดความว่า “เด็กไทยพุทธ” กับ “เด็กไทยมุสลิม” นั้นไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมคนชายแดนใต้มาก่อน เหตุเพราะเรียนหนังสือด้วยกันในโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนสอนศาสนาขึ้น ก็ถึงจุดเปลี่ยน กลายเป็นการแยก "เด็กไทยพุทธ" กับ "เด็กไทยมุสลิม" ออกจากกัน เป็นปัญหาที่ขยายวงมาจนถึงปัจจุบันนี้

“เมื่อต่างคนต่างอยู่ ต่างเรียน ต่างมีสังคมที่เริ่มแตกแยกออกจากกัน การบอกว่าจะมาสมานฉันท์กัน คอยช่วยเหลือกัน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย” ดร.รุ่ง กล่าว

เมื่อประกอบกับธรรมชาติของเด็กชายแดนใต้ที่เด็กผู้ชายมักจะหยุดเรียน แล้วออกทำงานช่วยพ่อแม่ตั้งแต่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขณะที่เด็กผู้หญิงจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย การออกจากโรงเรียนกลางคันในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อจึงง่ายต่อการก้าวเข้าสู่ปัญหายาเสพติด กระทั่งขยายผลไปถึงปัญหาทางสังคมอื่นๆ และเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยากของภูมิภาคนี้ในที่สุด

และนี่คือที่มาของ “โครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเยาวชนระดับ อบต. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างสันติสุข” เป็นโครงการที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง นำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมก็ตาม
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพรวมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

ตามที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้มีกลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยร่วมกับรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ สามารถประมวลภาพรวมและบทเรียนได้ดังต่อไปนี้

1. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนราชการภายใต้การกำกับดูแลของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น
• การมีคำสั่งตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตรชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
• การฟ้องร้องคดีความเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ข้อหาทำให้โลกร้อน กับชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคต่างๆ เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน ปักหมุดขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย

เครือข่ายขบวนเศรษฐกิจและทุนชุมชน ร่วมสานพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิรูปประเทศด้วยทุนชุมชนในทุกภาคส่วน นำพาชีวิต ชุมชน ท้องถิ่น สังคม ไปสู่ความสันติสุขอย่างมั่นคงและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2553 ขบวนเศรษฐกิจและชุนชุมชน 5 ภาค คณะประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จัดงานการสัมมนาเชิงวิชาการ “ทุนชุมชนกับการขับเคลื่อนประเทศไทย” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี โดยมีคณะประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 650 คน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า ขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนของขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภาค ได้ดำเนินการมาในระยะหนึ่งจนเกิดพื้นที่รูปธรรมทั่วทั้งประเทศ และจากการได้ลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริง ทำให้ขบวนองค์กรชุมชนเกิดความแข็งแกร่ง เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ สามารถสร้างปัจจัยเกื้อหนุนขยายผลไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ โยงใยเป็นเครือข่ายประสานความร่วมมือชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการประสานงานร่วมกับภาคีต่างๆ

สำหรับการจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วทั้งประเทศได้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เชื่อมโยง เศรษฐกิจและทุนชุมชน ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ปฎิรูปสังคมไทย
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สภาองค์กรชุมชน กับบทบาทการฟื้นฟูประเทศจากฐานรากของสังคม

วิดีทัศน์ประกอบการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ณ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สตูล-สงขลาตื่นต้านแผนมัดมือชก-เร่งสร้าง SSB ใช้โมเดล “มาบตาพุด”

เปิดแผนพัฒนาเมกะโปเจกต์ยักษ์ “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ที่รัฐกำลังเร่งดันให้เกิด “แลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา” ด้วยการเดินหน้าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อึ้งหน่วยงานรัฐซิกแซ็กเลี่ยงทำ EIA เพื่อเปิดประตูเมืองรับอุตฯ-ปิโตรเคมีสุดลิ่มภายใต้แนวคิดซอยโครงการให้เป็น ขนาดเล็กแล้วแยกกันทำ และมีการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ล่าสุด ส่ง จนท.สำรวจทรัพย์สินชาวบ้านเพื่อรอการเวนคืนแล้ว ด้านชาวประมงลั่นตายลูกเดียวถ้าไม่มีทะเล และไม่มีที่อยู่เพราะรถไฟรางคู่ผ่ากลางชุมชน แถมด้วยตั้งคลังน้ำมันและนิคมอุตสาหกรรมรวมกว่า 1.5 แสนไร่ ที่เหมือนไล่คนทั้งอำเภอให้นายทุนเข้ากอบโกย

เมื่อวันที่ 2-3 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และคณะสื่อมวลชน ได้สำรวจพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์นซีบอร์ด (SSB) ซึ่งจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์ ในพื้นที่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งล่าสุด กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีกำลังขอใช้พื้นที่ราว 5,000 ไร่ ต่ออุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อก่อสร้างในปี 2554 โดยระยะแรกใช้งบ 12,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการย่อยอื่นๆ มีการเตรียมความพร้อม โดยส่งเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ทำสัญลักษณ์เวนคืนที่ดิน ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ขบวนชุมชนพัทลุงจับมือ พอช.เดินหน้าขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน

เครือข่ายองค์กรชุมชนพัทลุงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสภาองค์กรชุมชน
เมื่อวันที่ 2-3 กรกฎาคม ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนและภาคีจังหวัดพัทลุงร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน ณ วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน (มหาวิทยาลัยทักษิณ) ตำบลทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยมีแกนนำองค์กรชุมชนในจังหวัดพัทลุง 60 คนเข้าร่วม

นายแก้ว สังข์ชู ประธานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนและภาคีจังหวัดพัทลุง ระบุวัตถุประสงค์ในการจัดการสัมมนาครั้งนี้ว่าเพื่อให้ผู้นำองค์กรชุมชนซึ่งดำเนินกิจกรรมการพัฒนาอยู่ในพื้นที่มีความเข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญของสภาองค์กรชุมชน เพื่อที่จะไปดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และวางแผนงานการขับเคลื่อนในจังหวัดพัทลุง

ด้านนายสุวัฒน์ คงแป้น ผู้ชำนาญการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฎิบัติการภาคใต้ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ชุมชนและสังคมไทย โดยระบุว่า สังคมไทยถูกรุกจากวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้วิถีความเป็นไทย และบริบทของสังคมไทยเปลี่ยน ยิ่งการรุกของกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เข้าครอบงำอำนาจทางการเมืองการปกครอง ยิ่งทำให้ชุมชนรากหญ้าสูญสิ้นอำนาจ ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการคืนอำนาจให้กับชุมชน ให้สถานะชุมชนในการมีที่ยืน เพื่อร่วมกันคิด กำหนดทิศทางของชุมชน สู่อิสรภาพ เอกภาพ และภราดรภาพ

จากนั้นเป็นการเสวนานำเสนอกรณีพื้นที่ตัวอย่างที่ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น จากตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งมีนายประนอบ คงสม ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู และตำบลคูหาใต้ ซึ่งมีนายสุวรรณ อ่อนรักษ์ ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ และนางชัชชญา ไชยถาวร สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ โดยมีนายสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฎิบัติการภาคใต้ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญของทั้ง 2 พื้นที่ คือการที่ชุมชนมีสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ชุมชนพยายามหาทางจัดการตนเอง โดย ตำบลควนรูได้จัดให้มี ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน หรือ ศอช. ด้านตำบลคูหาใต้มีการจัดตั้งสภาร้อยแปด แต่ก็ยังไม่มีสถานะ และครอบคลุมชุมชนทั้งตำบล จึงได้จดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญ ทั้งด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล การสร้างระบบการเมืองสมานฉันท์ รวมทั้งการจัดเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกรณีบริษัทอุตสาหกรรมในพื้นที่

วันที่สองของการสัมมนาเป็นการฝึกอบรมกระบวนการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน โดยนายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ สมาชิกที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล จากจังหวัดสงขลา

ช่วงท้ายของการสัมมนา มีการระดมความคิดเห็น และวางแผนการขับเคลื่อนของขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดพัทลุง โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับสภาองค์กรชุมชนต้นแบบ 1 อำเภอ 1 สภาองค์กรชุมชนตำบล

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อบรม GIS แก้ปัญหาที่ดินรอบเทือกเขาบูโด

พอช.จัดอบรมจีไอเอสแก่ปลัดอำเภอ ผู้แทนชุมชน รอบอุทยานฯบูโด หวังผู้เข้าร่วมอบรมนำความรู้ไปใช้ทำข้อมูลแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชุมชนกับเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมีศอ.บต.หนุนแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 1 - 3 กรกฎาคม 2553 สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สารสนเทศทางภูมิศาสตร์(GIS) และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ” ให้กับผู้นำองค์กรชุมชนพื้นที่แก้ไขปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี ณ สำนักวิทยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา

ในโอกาสนี้ คุณสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้ช่วย ผอ. พอช. กล่าวเปิดการฝึกอบรม และนายประมุข ลมุล รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ฝ่ายบริหาร)เข้าเยี่ยมชมการฝึกอบรมครั้งนี้

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้คุณมิ่งขวัญ ยอดสุวรรณ พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ พอช.เป็นทีมวิทยากรฝึกอบรม เนื้อหาในการฝึกอบรมประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานด้านแผนที่ ข้อมูลภูมิศาสตร์ และภูมิศาสตร์สารสนเทศ และ การใช้โปรแกรม ArcView 3.3

วัตถุประสงค์สำคัญในการฝึกอบรมคือ ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำความรู้ที่ได้กลับไปจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่โดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชน ซึ่ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.) ให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหานี้

โดย สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชาวบ้านปากบารา จ.สตูล รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

ชาวบ้านร่วม 300 คน เดินทางจากปากบารา มาหน้าศาลากลาง จ.สตูล เพื่อหยุดโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแลนด์บริดด์ นิคมอุตสาหกรรม ต่อผู้ว่าฯ สตูล

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ก.ค. 53 นายอารีย์ ติงหวัง กรรมการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ และนาย เหลด เมงไซ กรรมการประมงพื้นบ้านสตูล ร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวปากบารา และบ่อเจ็ดลูก จำนวน ร่วม 300 คน ได้เดินทางมามอบหนังสือการคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราต่อนายแพทย์ สำรวม ด่านประชันกุล นายแพทย์สาธารณุข จ.สตูล ซึ่งรักษาการแทนผู้ว่าฯสตูล หน้าศาลากลาง จ.สตูล โดยการเดินทางจากปากบารามาที่หน้าศาลากลาง จ.สตูล ในวันนี้นั้น พี่น้องประชาชนคนปากบาราไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและนิคมอุตสาหกกรม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชอาชีวะ การยื่นหนังสือในครั้งนี้ แค่ต้องการผ่านผู้ว่าฯสตูล ไปยังนายกรัฐมนตรีโดยให้เวลา 15 วัน แล้วจะกลับมาร่วมกันที่หน้าศาลากลางสตูลอีกครั้งหนึ่ง โดยการมาจะมาร่วมกันเป็นขบวนใหญ่เพื่อต้องการมาทวงถามถึงความก้าวหน้าของการคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งการเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้าน ของพี่น้องดังกล่าว ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกแขนง พร้อมกันนี้ ได้มีสื่อมวลชนจากส่วนกลางเข้ามาร่วมทำข่าวในพื้นที่ จ.สตูล เป็นจำนวนมาก

นายอารีย์ ติงหวัง กรรมการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ สายทรัพยากรธรรมชาติ กล่าว่า การเดินทางจากปากบารามายัง หน้าศาลากลาง จ.สตูล ในวันนี้ นั้น ต้องการยื่นหนังสือการคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราถึง นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธ์ เวชอาชีวะ โดยผ่านทางผู้ว่าฯสตูล เพื่อให้ทำการหยุดโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการรถไฟ คลังน้ำมันที่บ้านปากบาง และโครงการแลนบิดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สตูล โดยเฉพาะ โครงการผุดนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 5 พันไร่ บริเวณ ใกล้ท่าเรือน้ำลึกปากบาราซึ่งชาวบ้านบริเวณดังกล่าวจำนวนนับพันคนต่างไม่พอใจในโครงการดังกล่าวซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นโครงการของจังหวัดหรือรัฐบาลกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านปากบารา ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนที่จะให้โครงการดังกล่าวผ่าน ดังนั้น จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านต่อกรมอุทยานฯ และผู้ว่าฯสตูล ตามลำดับ โดยผ่านถึงนายอภิสิทธ์ เวชอาชีวะ นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าพรรคประชาธิปัติย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะองค์กรชุมชนจัดสมัชชาผลักดันวาระสังคม

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2553 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) มีการประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานของสังคมที่ยังอ่อนแอเพราะระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐ ควรให้ท้องถิ่นจัดการตนเองทั้งเรื่องคน งาน และอำนาจทุกระดับโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยเข้าถึงดูแลชุมชนดีที่สุด แต่ที่ผ่านมากลับทำตามการเมืองระดับชาติที่ไม่พัฒนา แสวงหาผลประโยชน์ อำนาจ คอรัปชั่น ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทำรากให้เข้มแข็งสู่การปรับปรุงระบบราชการที่อ่อนด้อยและพัฒนาการเมืองใหม่

“บทบาทองค์กรชุมชนต่อการปฏิรูปประเทศ ต้องเริ่มจากทำองค์กรให้ดีและมีข้อเสนอที่ชัดเจนเหมาะสมแล้วค่อยเสนอให้คน อื่นทำ ส่วนสภาองค์กรชุมชนต้องปรับปรุงทั้งเรื่องคน โครงสร้าง เครือข่าย”

อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดปฏิรูปที่เกื้อกูลกันสามแบบ 1.กงล้อสู่ความเจริญสันติสุขที่ต้องเคลื่อนอย่างสมดุลระหว่างความดี-ความ สามารถ-ความสุข 2.สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาโดยใช้พลังเอื้อกันพลังสังคมหรือมวลชน-พลังปัญญา จากภาควิชาการ-พลังอำนาจรัฐ 3.แนวทางสามเส้าสันติวิธีป้องกันแก้ไขความขัดแย้งด้วยกระบวนการดี เช่น การจัดการพูดจา-ทัศนคติดี ทำให้เกิดความรู้สึกเอื้ออำนวยให้เจรจา-สาระดี
“การปฏิรูปประเทศไทยเหมือนการวิ่งมาราธอน ควรทำเลยและต้องทำแบบไม่มีวันจบเพราะสังคมอ่อนด้อยเรื่องความถูกต้องดีงาม แม้วันนี้ระดับชาติจะยังดูมืดมนแต่ระดับท้องถิ่นมีทุนเดิมมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไรแต่ขอให้ทำเพราะเป็นภารกิจร่วมกัน”

ด้านข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเชิงพื้นที่ เช่น การจัดการเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรมชาติ โครงการขนาดใหญ่ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผลักดันกระบวนการยุติธรรม ปรับระบบราชการ แก้ไขกฎหมาย ส่งเสริมกระบวนการสภาองค์กรชุมชนให้เป็นกำลังหลักในการปฏิรูป
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่