จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

เตรียมประกาศ 19 พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่คุ้มครอง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์จัดระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 11 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เป็นต้นมา เพื่อพิจารณคัดเลือกพื้นที่ที่สมควรประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการยับยั้งปัญหา และหรือส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในขั้นต้นได้เสนอ 19 พื้นที่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้อยู่ในรายการพื้นที่ที่อาจพิจารณากำหนดเป็น เขตพื้นที่คุ้มครอง ประกอบด้วย

1. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง
2. พื้นที่ป่าต้นน้ำเขตเทือกเขาบรรทัดในเขต 4 อำเภอ อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอกงหราและ อำเภอศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
3. แหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดี
4. ป่าต้นน้ำ ป่าผาดำ อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง จ.สงขลา
5. ป่าต้นน้ำ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา
6. ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
7. ลำคลองรัตภูมิ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
8. ลำคลองปากประ จ.พัทลุง
9. พื้นที่เกษตรกรรมที่ทำนาข้าวสังข์หยดในพื้นที่อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
10. เขาคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
11. เกาะหมาก จ.พัทลุง
12. คาบสมุทรสทิงพระ
13. ชุมชนโบราณคลองแดน ระหว่างจ.นครศรีธรรมราช และจ.สงขลา
14. วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
15. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณสถาน จ.สงขลา
16. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณคลองรี (วัดท่าคุระ) อ.สทิงพระ จ.สงขลา
17. เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมท่านางหอม สทิงหม้อและปะโอ จ.สงขลา
18. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเมืองเก่าชัยบุรี
19. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณลำปำ จ.พัทลุง

ในการพิจารณาพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะทำการคัดเลือกตาม เงื่อนไขของมาตรา 43 และ 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 กล่าวคือ

มาตรา 43 พื้นที่ใดมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่ แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือน จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์และ พื้นที่นั้นยังมิได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

มาตรา 45 ในพื้นที่ใดที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัตินี้ไว้แล้ว แต่ปรากฏว่ามีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตซึ่งจำเป็นต้อง ได้รับการแก้ไขโดยทันที ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอต่อคณะ รัฐมนตรีขออนุมัติเข้าดำเนินการเพื่อใช้มาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้กฎกระทรวงภายใต้พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างสำหรับพื้นที่เขตคุ้มครอง คือ
1. กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อ รักษาสภาพธรรมชาติหรือมิให้กระทบกระเทือน ต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่ง แวดล้อมศิลปกรรม
2. ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของ พื้นที่นั้นจากลักษณะ ตามธรรมชาติ หรือผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
3. กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการในพื้นที่นั้น ให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
4. กำหนดวิธีการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้น รวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและประสานงานให้เกิด ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรักษาสภาพ คุณค่าของสิ่งแวด
5. กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น

ผลการศึกษาล่าสุดสรุปว่า ในปี พ.ศ. 2553 สมควรคัดเลือก 2 พื้นที่ ได้แก่ ทะเลน้อย และคาบสมุทรสทิงพระ ให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อดำเนินการยกร่างประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่ง แวดล้อมต่อไป

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

สมัชชาคนใต้..สู่การปฏิรูปประเทศไทย

ขอเชิญร่วมงาน...
สมัชชาคนใต้
“ สู่การปฏิรูปประเทศไทย “

วันศุกร์-เสาร์ที่ 1-2 ตุลาคม 2553
ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

องค์กรร่วมจัด
o สภาพัฒนาการเมืองภาคใต้
o มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลาและวิทยาเขตจังหวัดพัทลุง
o สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน )
o โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สสส.)
o มูลนิธิชุมชนไท
o คณะกรรมการพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้ )
o สภาองค์กรชุมชนภาคใต้
o เครือข่ายประชาสังคมภาคใต้
o เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้
อ่านรายละเอียด คลิ้กที่นี่

รมช.ถาวร แจกโฉนดชาวบ้านรอบเขาบูโด ผลชาวบ้านกันเขตป่าอุทยาน

รัฐแจกโฉนดเพิ่มอีก 483 แปลง รวม 420 ไร่ แก่ชาวบาเจาะ เผยเป็นผลจากรัฐร่วมราษฎร์แปลงเขตป่าในแผนที่สู่พื้นที่จริง ทำให้เจ้าหน้าที่ดินมาสำรวจ รังวัด พิสูจน์สิทธิที่ดิน เมื่อแบ่งเขตป่าอุทยาน – ที่ดินชาวบ้านชัดเจน สกย.ก็สนับสนุนการปลูกสวนยาง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พิธีมอบโฉนดที่ดินแก่ประชาชน ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายบุญเชิด คิดเห็น รองอธิบดีกรมที่ดิน นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นำคณะข้าราชการจังหวัดนราธิวาส พนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ มอบโฉนดที่ดินให้แก่ชาวบ้านหมู่ที่ 1 และ 5 ต.ลุโบะสาวอ จำนวน 254 ราย 392 แปลง ชาวบ้านหมู่ที่ 5 และ 8 ต.ปะลุกาสาเมาะ จำนวน61 ราย 91 แปลง รวมจำนวนเนื้อที่ดิน 420 ไร่ 12 ตารางวา

นายอาหามะ ลีเฮ็ง ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กล่าวว่า การแจกโฉนดในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโดยร่วมกับภาครัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน มาร่วมกันทำความเข้าใจต่อชาวบ้านถึงขั้นตอนกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จัดทำข้อมูล ทำแผนที่ทำมือ แผนที่จีไอเอส และเดินสำรวจและกันแนวเขตป่าอุทยาน แบ่งเขตพื้นที่เขตป่ากับนอกเขตป่า ทำให้พนักงานที่ดินสามารถทำการรังวัดที่ดินที่อยู่นอกเขตป่าอุทยานเพื่อออกโฉนดได้

การเดินสำรวจกันแนวเขตป่าอุทยานทำให้แนวเขตป่าอุทยานที่มีอยู่แต่ในแผนที่ มาอยู่บนผืนดิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ดินมาออกโฉนดได้ หรือแม้จะไม่ได้ออกโฉนด ก็ทำให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือให้เงินทุนแก่ชาวบ้านเพื่อลงทุนทำสวนยางได้

จาก : souththai.org

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ขบวนชุมชนจังหวัดนราธิวาสโชว์ผลงานในวันของดีเมืองนราฯ


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนราธิวาส ร่วมแสดงนิทรรศการผลงานด้านการพัฒนาชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ในงานวันของดีเมืองนรา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน 2553 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

นางพาสนา ศรีศรัทธา คณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เพื่อเป็นเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในงานและกิจกรรมที่ขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดได้ดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับนิทรรศการที่ขบวนองค์กรชุมชนได้นำมาแสดงในครั้งนี้ เน้นการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นหลัก และการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก

นับเป็นโอกาสดีที่ องค์กรชุมชน และ พอช. จะได้นำเสนอผลการดำเนินงานของภาคประชาชน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ทั้งในเขตเมืองและชนบท ที่ พอช.ให้การสนับสนุนในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสนี้ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้ามาร่วมชมนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย
จาก : souththai.org

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

สัมมนาขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ “สู่การปฏิรูปประเทศไทย”

ขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ร่วมสัมมนาทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และวางแนวทางสนับสนุนชุมชนจัดการตัวเองสู่การปฎิรูปประเทศไทย



เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2553 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ หรือ พอช.ภาคใต้ จัดสัมมนาขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ ณ บ้านหน้าเกาะรีสอร์ท อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง โดยมีผู้แทนจากองค์กรชุมชน คณะทำงานขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนจากทั้ง 14 จังหวัด และคณะทำงานโครงการบ้านมั่นคงภาคใต้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินภาคใต้ คณะกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคใต้ รวม 114 คน อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ป่าต้นน้ำตรังถูกทำลาย วิบัติการณ์ ในรอบ 30 ปี


ความกังวล และความห่วงใยของผู้ร่วมวงสนทนาเริ่มพรั่งพรูหลั่งไหลถ้อยคำบอกเล่าเรื่องราวบาดแผลและความปวดเร้าของชุมชนสู่กันและกันอีกครั้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการส่งเสียงครั้งที่เท่าไหร่กันแน่ อาจนับร้อยๆ ครั้งแล้วก็อาจเป็นได้ สำหรับความรันทดในความสูญเสียที่ไม่อาจกลับคืน


“การบุกรุกตัดโค่นป่าไม้แหล่งต้นน้ำ นับจากทางเหนือ อ.วังวิเศษ คลองชี คลองปาง คลองท่างิ้ว คลองในเตา คลองปากแจ่ม คลองเขาหลัก คลองลำภูรา คลองบ้านเหมก คลองละมอ คลองเขาช่อง ฯลฯ ไปถึงคลองหินแดง คลองลิพัง คลองถ้ำไผ่ตง สุดแดน อ.ปะเหลียน รอยต่อ อ.ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ป่าธรรมชาตินับหมื่นๆ ไร่ ไม้นับแสนๆ ต้น ถูกบุกรุกตัดโค่น อำนาจและอิทธิพลคนไทยหลายหมู่พวกเว้นแต่หมู่ชนซาไก (มันนิ) อ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองสารพัดสารเพ ทั้งร่ำรวยและยากจน ทั้งที่มีการศึกษาสูงและการศึกษาต่ำ ทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ ทั้งที่เป็นคนเมืองและชนบท ทั้งที่เป็นผู้นำทางการปกครอง และไม่ใช่ ถึงที่สุดอาจกล่าวได้ว่า ทั้งคนดี คนมีหน้ามีตาทางสังคมและคนชั่วคนเลวในความรู้สึกของคนทั่วไป จำนวนไม่น้อยบนแผ่นดินนี้ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกตัดโค่นป่าไม้แหล่งต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด และเทือกใหญ่น้อยอื่น กว่ายี่สิบสามสิบปีมานี้ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ภายในอุดมการณ์ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเพื่อประชาชน มิใยจะมีเสียงทัดทานผู้คนกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิใยจะมีเสียงอ้อนวอน ทัดทาน จากเด็กเยาวชนและผู้เฒ่าผู้แก่ ขบวนการบุกรุกตัดโค่นทำลายแหล่งป่าต้นน้ำก็ยังคงเดินหน้าสร้างความวิบัติฉิบหายแก่ป่าแหล่งต้นน้ำอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง แน่นอนว่าการยึดครองไม้ยึดครองที่ดิน ซึ่งหมายถึงการแปรทรัพย์สินสาธารณะมรดกลูกหลานเป็นทุน ตามนโยบายทุนนิยมสามานย์ มือใครยาวสาวได้สาวเอานั่นเอง และ มิเพียงป่าต้นน้ำเทือกเขาบรรทัดฯ ป่าบกอื่นๆ ป่าสาคู ป่าชายเลน ป่าสองฝั่งแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน คลองนางน้อย คลองน้ำเจ็ดฯลฯ ล้วนถูกบุกรุกทำลายทั้งสิ้น”

เสียงการสนทนาบอกเล่าถึงความปวดร้าวของแผ่นดิน ความเศร้าสลดของการเคารพกฎหมายและการละเมิดย่ำยีกฎหมาย รวมถึงการทุ่มเทเอาใจใส่และการปล่อยปละละเลยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจบลง ความเงียบและเสียงทอดถอนใจก็ร่ายรำห้อมล้อมกระชับพื้นที่เข้ามาร่วมวง พร้อมเสียงกระซิบในสายลมว่า

ความฉ้อฉล ความไร้ประสิทธิภาพและความไร้สาระของศูนย์กลางอำนาจรัฐบางกอกใช่หรือไม่ คือต้นธารแห่งความวิบัติในวันนี้ จงตรึกตรองใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนเถิด!

จาก :คนตรัง

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

คนใต้ห่วงใยต่อสัญญาการค้าเสรีไทย-อียู

คนใต้ยันการค้าเสรีต้องไม่ละเมิดสิทธิชุมชนในการปกป้องพันธุกรรม ฐานทรัพยากรชีวิต สร้างความมั่นคงด้านอาหาร เตือนภัยทำลายทรัพยากรชายฝั่งเหตุส่งออกอาหารทะเล เจรจาเปิดเสรีค้ายากติกาสากลเรื่องสิทธิบัตร จัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมเตรียมรับวิจัยต่อยอดจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช-สัตว์

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ณ โรงแรมวังมโนราห์ อ.เมือง จ.พัทลุง เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีประชาชนในพื้นที่จ.พัทลุง และใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนประมาณ 200 คน โดยมีดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดำเนินการจัดเสวนา

นายกำราบ พานทอง ตัวแทนภาคประชาสังคมจ.สงขลา แสดงความเห็นว่า ภาคใต้อยู่ในเขตภูมินิเวศป่าเขตร้อน จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อีกทั้งมีพื้นที่ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ด้วยความหลากหลายทางชีวิภาพเหล่านี้ทำให้ภาคใต้เป็นแหล่งอาหาร และสมุนไพรยา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้นับเป็นทรัพยากรฐานชีวิต การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หากมีการเปิดให้ต่างชาติเข้าถึงพันธุกรรมพืช พันธุกรรมสัตว์เหล่านี้ และนำไปพัฒนาแล้วจดสิทธิบัตร แล้วจะกระทบต่อสิทธิชาวบ้าน นั่นคือ เราจะปกป้องฐานชีวิตเราอย่างไร แล้วเราเตรียมตัวป้องกันเรื่องนี้อย่างไร ฐานข้อมูลในการสำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มีแล้วหรือ ในขณะที่พวกเรามีสิทธิชุมชนในการปกป้องพันธุกรรมตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

นายกำราบ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เรายังมีข้อเป็นห่วงถึงการเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้มีแผนพัฒนา Southern Seaboard ซึ่งนักลงทุนจากยุโรปเค้ามีความพร้อมที่จะมาลงทุนและก็เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน ตลอดจนการเข้ามาลงทุนด้านธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม สปา ซึ่งกระทบต่อคนไทยจำนวนมาก

นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดการค้าเสรีอาจจะนำชาวบ้านเข้าสู่สงครามแย่งชิงทรัพยากร ซึ่ง ณ วันนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่ประสบปัญหานี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบมักจะถูกบอกให้ต้องเสียสละ เราจะปกป้องทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ทะเล ของชาวบ้านอย่างไรเมื่อมีการเปิดเสรี นอกจากนี้คำถามสำคัญที่เราต้องร่วมกันตอบว่า ขณะนี้ภาคใต้เรามีความมั่นคงด้านอาหารแล้วหรือไม่ สวนปาล์ม สวนยางจำนวนมากที่เป็นของชาวต่างชาติกำลังรุกไล่พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แล้วการเปิดการค้าเสรีกับอียูจะทำให้ชาวบ้านในภาคใต้เกิดความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้นหรือไม่

ผศ.ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ นักวิชาการด้านประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ กล่าวถึงประเด็นด้านการประมงว่า สินค้าประมงของไทยที่สำคัญคือ อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคคอเรลกระป๋อง ซึ่งเหล่านี้จะได้จากเรือประมงขนาดใหญ่ หรือนำเข้ามาแปรรูป และสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งคือ กุ้งแช่แข็ง หอยกระป๋อง ปูแกะเนื้อกระป๋อง ซึ่งกลุ่มนี้ชาวบ้านจะเกี่ยวข้องมาก และเป็นทรัพยากรชายฝั่งทะเล หากมีการเปิดเสรีการค้า สิ่งที่ควรระวังคือ การทำลายทรัพยากรชายฝั่ง ป่าชายเลน เมื่อตลาดอียูมีความต้องการกุ้งแช่แข็ง หอยกระป๋อง ปูแกะเนื้อกระป๋อง จะทำให้ชาวบ้านเร่งจับเพื่อให้ได้ปริมาณที่มาก การคราดหอยด้วยคราดซี่เล็กจะทำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำเหล่านี้สูญหายไปเร็วเพราะรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาทดแทนไม่ทัน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรชายฝั่งเนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลากระชัง ซึ่งทางยุโรปมีทุนและเทคโนโลยีที่มากกว่าเข้ามาลงทุนแข่งขันกับคนไทย ก็จะทำให้พื้นที่เพาะเลี้ยงของชาวบ้านลดลง

ผศ.ดร.จารุณี ยังกล่าวถึงเรื่องปัญหาพันธุกรรมว่า ประเทศไทยไม่ได้เน้นเรื่องการปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์น้ำ ที่มีปัจจุบันก็เพียง บริษัทใหญ่ด้านการเกษตร และหน่วยงานราชการเท่านั้น ปีหนึ่งจะมีปรับปรุงพันธุ์และจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ 1-2 ชนิด ขณะที่ทางยุโรปจะมีความสามารถมากกว่าถ้าสามารถเข้ามาดำเนินการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ เราก็จะสูญเสียสายพันธุ์สัตว์น้ำสูงมาก

นายวินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านผลิตภัณฑ์ยา ทางอียูจะขอให้ทาง อย.ขยายการคุ้มครองเกินกว่ากติกาสากล ได้แก่ เรื่องระยะเวลาคุ้มครองนานกว่า 20 ปี อ้างว่าเพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่รอการพิจารณาจาก อย. นอกจากนี้ทางอียูยังขอให้คุ้มครองข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวกับตัวยานั้นๆ ซึ่งโดยปกติการขอขึ้นทะเบียนยาจะต้องยื่นพร้อมผลการศึกษา การวิจัยทดลองว่าตัวยานั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษษย์ และเมื่อยาชนิดนั้นหมดสิทธิบัตร ผู้ผลิตยาในไทยก็สามารถผลิตได้โดยใช้ข้อมูลการศึกษานั้นเป็นฐานรองรับความปลอดภัยของยา เช่นนี้ก็จะเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตยาเพราะจะต้องไปดำเนินการวิจัยทดลองเอง ซึ่งยาตัวหนึ่งใช้เวลาในการวิจัยเป็นเวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทางอียู ต้องการให้อย.เปลี่ยนนิยามยาปลอม กล่าวคือ ถ้าในประเทศไทยมียาชนิดหนึ่งที่ยังอยู่ในการคุ้มครองสิทธิบัตร แต่ในอินเดียสามารถผลิตยาชนิดเดียวกันนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยใช้ชื่อทางการค้าเป็นอีกชื่อหนึ่ง และหากมีการนำยาที่ผลิตจากอินเดียมาขายในประเทศไทยให้ถือว่ายาชนิดนั้นเป็นยาปลอม อย.จะต้องไม่ให้การขึ้นทะเบียน “ตรงนี้จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดราคายานานขึ้น ในการเจรจาจึงควรยึดตามกติกาสากล เพราะยาเป็นเรื่องทางสาธารณสุข”เภสัชกรวินิต กล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญคือ การคุ้มครองภูมิปัญญาด้านสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย เช่นกรณีสมุนไพรเปล้าน้อย ที่ต่างชาติเอาไปวิจัยต่อยอดแล้วจดสิทธิบัตรทำประโยชน์ทางการค้า โดยไม่ได้จ่ายคืนให้แก่สังคมไทยเลย


จาก : souththai.org

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

จากสภาร้อยแปด...สู่สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้

คนคูหาใต้ใช้สภาฯ พัฒนาชุมชน

สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา จัดตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 แต่ก่อนหน้านั้นได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชนอย่างเป็นรูปแบบ มาตั้งแต่ปี 2548 สาเหตุที่รวมกลุ่มก็เพื่อจะได้พูดคุยว่าแต่ละหมู่บ้านกำลังทำอะไร เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปปรับปรุงใช้ในหมู่บ้านของตนเอง การรวมกลุ่มในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “สภาร้อยแปด” เพราะประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านรวมทั้งหมด 108 คน โดยตัวแทนมาจากชาวบ้านในตำบลคูหาใต้ 14 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 7 คน รวมเป็น 98 คน และมีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลอีก 10 คน รวมทั้งหมดเป็น 108 คน จึงเป็นที่มาของชื่อ “สภาร้อยแปด” สภาฯ จะประชุมทุกวันที่ 17 ของเดือน ถือเป็นข้อตกลงและรู้กันโดยที่ไม่ต้องทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ ถ้าวันที่ 17 ตรงกับวันธรรมดาจะประชุมประมาณห้าโมงเย็น แต่ถ้าตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์ จะเริ่มประชุมเร็วขึ้นคือตั้งแต่บ่ายโมง

สำหรับตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ นั้น มาจากคนหลากหลายอาชีพ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู ผู้นำศาสนา ตำรวจ ชาวบ้าน รวมไปถึงข้าราชการฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในตำบลคูหาใต้ การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนของคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะข้าราชการและชาวบ้าน ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองฝ่าย ชาวบ้านสามารถเสนอปัญหาหรือขอความช่วยเหลือโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมประชุม

ขณะเดียวกันข้าราชการ ก็จะได้ใช้เป็นเวทีนำเสนอข้อมูลในส่วนงานที่รับผิดชอบ ช่วยให้การทำงานเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายขึ้น และได้รับความร่วมมือมากขึ้น

กิจกรรมหลักๆ ของสภาฯ นอกจากการประชุมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ปัญหาในชุมชนแล้ว ยังได้ร่วมกันพัฒนาโรงเรียนในชุมชนให้มีความก้าวหน้า และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ “สภาร้อยแปด” ยังได้เลียนแบบการบริหารงานของรัฐบาล โดยแบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯใครที่รับผิดชอบกระทรวงไหน ก็จะไปหาข้อมูลหรือความคืบหน้าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น แล้วนำมาเสนอในที่ประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน

ตัวอย่างเช่น ผู้รับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการก็จะคอยติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำมาพูดคุยกันส่วนไหนที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบกับโรงเรียนในชุมชนก็หาทางออกร่วมกัน

สภาร้อยแปดดำเนินมาจนกระทั่งปี 2551 ได้มีพรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551ออกมา ทีมงานของสภาฯ จึงได้ไปจดแจ้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้

“สุดา วรรณจาโร” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เล่าความเป็นมาว่า ช่วงแรก เจ้าหน้าที่ พอช. และคุณปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ จากตำบลควนรู เข้ามาให้ความรู้เรื่อง พรบ.สภาองค์กรชุมชน

ต่อมาได้นำเรื่องนี้เข้ามาพูดคุยกันในการประชุมประจำเดือนของสภาร้อยแปด หลังจากนั้นตัวแทนแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมประชุม นำเรื่องนี้ไปเล่าและขยายต่อให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กระทั่งสุดท้ายทุกฝ่ายได้ข้อสรุปตรงกัน เห็นควรจดแจ้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหินเดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินทำกินในชุมชน

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนบ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินทำกินในชุมชน โดยมีตัวแทนสภาฯ และภาคีจากศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง มูลนิธิอันดามัน กำนันตำบลบ่อหิน รวมแล้วกว่า 40 คน

ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนบ่อหินได้จัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลเมื่อปี 2552 มีองค์จดแจ้ง 22 องค์กร จาก 5 หมู่บ้าน ในการดำเนินการที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาฯในเวทีหมู่บ้าน และได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการสับสนุนการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างดี

จากประเด็นปัญหาที่สำคัญของชุมชนคือ เรื่องที่ดินโดยมีเพียงร้อยละ 30 ที่มีเอกสารสิทธิที่ดินเป็นโฉนด ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนและกำลังถูกบุกรุกทำลายโดยนายทุนและบุคคลภายนอก ในลักษณะการเข้าทำประโยชน์เพื่อการค้า เช่นการทำนากุ้งและกิจการเกี่ยวกับปลาต่างๆ

อย่างไรก็ดีที่ประชุมต่างเห็นพ้องตรงกันว่า ประเด็นเร่งด่วนที่สำคัญและต้องเร่งแก้ปัญหาคือ สิทธิในที่ดินของคนในชุมชน ดังนั้นจึงได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังนี้ คือ 1) การรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาความเดือดร้อนของคนในทุกหมู่บ้าน 2) การจัดเวทีพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชนและจดแจ้งกลุ่มให้ครบทุกหมู่บ้าน และ3) การนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำและวางแผนผังที่ดินและการใช้ประโยชน์ในชุมชน ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเสร็จตามนี้แล้วจะทำการเปิดเวทีประชาคมตำบลในการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและออกข้อบัญญัติของชุมชนในการควบคุมและจัดการที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริงต่อไป

ทั้งนี้ในที่ประชุมเห็นว่าการเกิดขึ้นของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหินเป็นทางออกที่สำคัญในการบูรณาการความร่วมจากทุกฝ่ายของชุมชน ในขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันให้กับองค์กรชุมชนว่ามีกฏหมายรองรับและมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองอย่างแท้จริงได

จาก www. southsapa.com

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

พอช.-ทีวีไทยและขบวนชุมชน ลงนามร่วมจัดทำสารคดีสั้น

พอช.จับมือทีวีไทยและขบวนชุมชนทำสารคดี ประชาธิปไตยชุมชน พลังองค์กรชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
จาก :www.codi.or.th
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และนายเจษฎา มิ่งสมร ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ ในการผลิตสารคดีสั้นชุด "ประชาธิปไตยชุมชนพลังองค์กรชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง" ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยก่อนการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ได้มีการเสวนา "ทีวีไทย พอช.และขบวนชุมชนกับการสื่อสารสาธารณะเพื่อปฏิรูปประเทศไทย" โดยมีผู้นำชุมชนกรรมการปฏิรูปชุดเครือข่ายองค์กรชุมชนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่พอช.และทีวีไทย เข้าร่วมเสวนากว่า 40 คน

นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. หรือทีวีไทย กล่าวว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวและข้อเท็จจริงของสังคมที่ผ่านมาสื่อมวลชนยังไม่ได้ทำหน้าที่สื่อเพื่อสะท้อนความจริงของสังคมเท่าที่ควรจะเป็นคนที่สื่อมวลชนให้ความสนใจก็เป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง ความร่วมมือในการทำสารคดีสั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสื่อสารเรื่องราวการจัดการตนเองของชุมชนให้สังคมได้รับทราบ ในเรื่องที่เป็นความหวัง เป็นแบบอย่างที่ดี และการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสิ่งที่สังคมไทยขาดมากๆคือแรงบันดาลใจสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ให้คนได้รู้จักพลังของคนเล็กๆรู้จักชุมชน

นายเทพชัย กล่าวต่อว่า ตนอยากเห็นการสร้างรายการหรือละครที่เป็นเรื่องของชุมชน สะท้อนคุณค่าของชุมชนผ่านละคร ซึ่งจุดแข็งของสื่อสาธารณะคือการสื่อสารเพื่อสะท้อนภาพของสังคมการสร้างการมีร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย และการสร้างวัฒนธรรมในการรับสื่อใหม่

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่าเราคาดหวังว่าสิ่งที่ประชาชนได้ลงมือทำแทนการร้องขอจะถูกสื่อสารออกไปจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการสื่อสารต้องสร้างสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้คนส่วนใหญ่อยู่ได้การความร่วมมือของสามฝ่ายในวันนี้เป็นการเสียบปลั๊กเพื่อเพิ่มพลังให้แก่กันโดยชุมชนและพอช.เป็นภาคปฏิบัติการ ส่วนส.ส.ท.เป็นฝ่ายสื่อสาร

นายสน รูปสูง ภาคองค์กรชุมชน แสดงความคิดเห็นว่า การเปลี่ยนประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการปฏิรูปของคนจากทุกภาคส่วนถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันสร้างบ้านการปฏิรูปจึงต้องมองไปที่คนทั้งประเทศอย่ามองไปที่ชนบทอย่างเดียวเพราะคนที่สร้างปัญหามากที่สุดคือคนที่นั่งอยู่ในกรุงเทพฯและการปฏิรูปคือการยินยอมพร้อมใจที่แตกต่างจากการปฏิวัติที่จะมีการบังคับเกิดขึ้นตนเห็นว่าในโลกปัจจุบันไม่มีใครบังคับใครกันได้ง่ายโดยสื่อจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ต้องมองภาพรวมทั้งหมดแล้วนำเสนอทำหน้าที่เคลื่อนย้ายปัญญานำตัวปัญญาไปสู่การเปลี่ยนแปลงสร้างขบวนการที่ก่อให้เกิดปัญญาเพื่อให้เกิดภาวะการณ์เคลื่อนตัวของสังคมอย่างขนานใหญ่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนายสนกล่าว

นายเทพชัย หย่อง ได้สรุปในช่วงสุดท้ายว่า อย่าปล่อยให้แก๊งต้มตุ๋น มาเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เช่นรอระบบเลือกตั้งแล้วเชื่อว่าจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เช่นทัศนคติ ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนในเรื่องใกล้ตัวหรือเรื่องง่ายก่อนก็อย่าไปคาดหวังการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่
ชมภาพบรรยากาศ..คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

การศึกษาทางเลือกในสังคมไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อ 27 สิงหาคม 2553 มีการประชุมเวทีขับเคลื่อนการจัดการศึกษาทางเลือกในส่วนของภาคใต้ ณ ห้องประชุม โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อให้การจัดการศึกษาทางเลือกที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากสังคม อีกทั้งสามารถจัดให้มีพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาทางเลือกโดยเฉพาะ หรือจัดให้มีสภาการศึกษาของการจัดการศึกษาทางเลือก เพื่อทำหน้าที่ดูแลภารกิจด้านการบริหารจัดการการศึกษาทางเลือกโดยตรง


การประชุมสัมมนาครั้งนี้มีตัวแทนองค์กรต่างๆ มากมายเช่น ศูนย์พลเมืองเด็ก ชุมชนท่าสะท้อน โรงเรียนวัดท่าสะท้อน โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์สงขลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาการศึกษาทางเลือก สมาคมดับบ้านดับเมือง คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์สงขลา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผศ. ดร.วุฒิศักดิ์ พิศสุวรรณ อาจารย์ชากิรีน สุมาลี อาจารย์รอสดี แมงกะจิและอาจารย์มิชอาล หมันหลี ได้มาประชุมในนามของเครื่อข่ายโครงการปฏิรูปหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (Crp- Project) เพื่อนำเสนอสภาพการจัดการศึกษาในชุมชนมุสลิมโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการประชุมสัมมนาครั้งนี้พอจะสรุปสาระสำคัญดังนี้

การศึกษาทางเลือก ...ทางเลือกใหม่ของการศึกษาไทย

ผศ.ประสาท มีแต้ม ได้บรรยายถึง เหตุผลถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาทางเลือก ความไม่สมบูรณ์ของการศึกษากระแสหลักโดยสะท้อนภาพการก่อสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม

ผศ.ประสาท อธิบายว่า ถ้าผลิตผลของระบบการศึกษาที่มีการจัดการกันอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศสามารถสัมผัสได้ชัดเจนเหมือนผลิตผลของการก่อสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ชาวโลกเราคงจะได้เห็นภาพเหล่านี้ปรากฏอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง การก่อสร้างเชิงวัตถุย่อมต้องมีการวางแผน การออกแบบ และการบริหารจัดการฉันท์ใด การศึกษาก็ย่อมต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ความผิดพลาดของระบบการศึกษากระแสหลักอยู่ตรงไหน เราเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก ที่สำคัญมันยังเป็นสิ่งที่สามารถเห็นต่างกันได้อีก

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนหนึ่งซึ่งได้แก่ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนรวมทั้ง พ่อ แม่ และผู้ปกครอง ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความผิดพลาดเหล่านั้น จนกระทั่งถึงขั้นสิ้นหวังกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

มันมาแล้ว‘ทางด่วนหมื่นล้าน’ รับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดา

โทลเวย์ หรือทางด่วนหาดใหญ่–สะเดา เป็น 1 ใน 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือIndonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle: IMT–GT ที่ ADB หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย พร้อมให้การสนับสนุน



ความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้มองเห็นการพัฒนาเป็นรูปธรรม มาจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 ของ IMT–GT ระหว่างวันที่ 3–5 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

เมื่อ ADB นำเสนอผลการทบทวนกลางรอบของแผนที่นำทาง หรือโรดแมป IMT–GT ปี 2007–2011 ให้ที่ประชุมพิจารณาจาก 37 โครงการ กลั่นลงมาเป็น 12 โครงการ ในที่สุดก็เหลือ 10 โครงการ

ในจำนวน 10 โครงการ แบ่งเป็นโครงการของไทย 2 โครงการคือ โครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ หรือโทลเวย์หาดใหญ่–สะเดา จังหวัดสงขลา มีวงเงินที่ ADB พร้อมสนับสนุนให้เงินกู้สูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดภูเก็ต ท่าเรือนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และท่าเรือตำมะลัง จังหวัดสตูลขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี IMT–GT กล่าวว่า โทลเวย์จากสะเดามาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่พูดกันมานานแล้ว นับเป็นโครงการที่เป็นความต้องการร่วมกันของทั้งสามประเทศคือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงถูกนำมาบรรจุไว้ในโครงการที่มีความเป็นไปได้สูง

สำหรับโครงการนี้ ไทยจะจัดงบประมาณดำเนินการเอง ตอนนี้กรมทางหลวงอยู่ในระหว่างทบทวนเรื่องการศึกษาออกแบบ คิดว่าทุกอย่างจะชัดเจน ตั้งงบประมาณสนับสนุนก้อนแรกได้ภายในปีงบประมาณ 2555

“โทลเวย์เส้นนี้ มีความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ใช้เงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท น่าจะเป็นโทลเวย์ที่แพงที่สุดในประเทศไทย” เป็นถ้อยยืนยันจากนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

โทลเวย์หาดใหญ่–สะเดา เป็นทางด่วนที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดา ที่จะเกิดตามมาในอนาคต
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

มนูญ จันทสุวรรณ ชายพิการข้างเขาคูหาใต้

ภาพ นายมนูญ จันทสุวรรณ ชายพิการ กับพี่สาวนางประดวง จันทสุวรรณ
นายมนูญ จันทสุวรรณ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 9 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งห่างจากเหมืองหินเขาคูหาเพียงประมาณ 150 เมตร และห่างจากโรงโม่หินของบริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัด ประมาณ 500 เมตร

ที่สำคัญตลอด 30 กว่าปีมานี้ นายมนูญ ไม่ได้ขยับไปไหนได้ด้วยตัวเองเลย เพราะเขาคือผู้พิการขาลีบ ทุกครั้งในยามมีเสียงระเบิดดังกึกก้องและเศษหินจากการระเบิดหินขนาดต่างๆ ที่ปลิวมาหล่นบนหลังคาบ้าน จึงสร้างความหวาดผวาได้ทุกครั้ง แม้จะมีเสียงเตือนก่อนประมาณ 2 นาที เพื่อคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเหมืองหินได้หาที่หลบก็ตาม

แม้ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่ามีคนได้รับอุบัติเหตุถูกก้อนหินหล่นใส่ก็ตาม แต่แรงสั่นสะเทือนก็สร้างความเสียหายให้กับบ้านที่อยู่ใกล้พอสมควร ถึงแม้ขณะนี้ไม่มีการระเบิดหินแล้ว เพราะทั้งบริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัด และบริษัทแคลเซียมไทยอินเตอร์จำกัด เจ้าของโรงโม่หินเขาคูหา ยังอยู่ระหว่างรอการต่ออายุประทานบัตร

นายมนูญ จันทสุวรรณ อาศัยอยู่รวมกัน 4 คน รวมถึงว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จัน-ทสุวรรณ แกนนำเครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา ซึ่งเป็นลูกสาว โดยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่แยกเลขที่บ้านและพักกันคนละส่วน

ภายในบ้านที่มีแต่ร่องรอยการซ่อมแซม ทั้งหลังคาและฝาผนัง แม้บางส่วนไม่สามารถปิดทับรอยแตกร้าวและฝ้าเพดานทะลุที่มีอยู่ทั่วได้




ทะลุ – รอยฝ้าเพดานภายในบ้านของนายมนูญ จันทสุวรรณ ที่ทะลุเนื่องจากน้ำฝนไหลหยดลงมาตามรอยแตกของกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งถูกก้อนหินที่กระเด็นมาตกใส่จากการระเบิดหินในเหมืองหินเขาคูหา


นายมนูญ พิการขาลีบ มาตั้งแต่อายุ 25 ปี ไม่มีแรงยืน เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุบ้านหล่นทับ ขณะช่วยหามบ้านเพื่อนบ้านต้องนอนอยู่กับที่มานานถึง 30 กว่าปี อาจขยับได้บ้าง แต่ต้องมีผู้ช่วยดูแลอยู่ตลอดเวลา

“ผมอาศัยอยู่ที่นี่มานานหลายปีไม่เคยได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน แต่ช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างมากส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและทางใจ เงินที่ช่วยเหลือที่ได้มาจากบริษัทฯก็ไม่สามารถซื้อใจชาวบ้านในเรื่องสุขภาพได้” นายมนูญ กล่าว

สิ่งที่นายมนูญได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากบริษัทฯ คือการตรวจสุขภาพ ค่าซ่อมบ้านเป็นครั้งคราวแล้วแต่โอกาสและความเสียหายที่เกิดขึ้น สิ่งที่นายมนูญน้อยใจอยู่ในขณะนี้ก็คือ ก่อนหน้านี้ นายณรงค์พร ณ พัทลุง นายอำเภอรัตภูมิ พร้อมทั้งกำนันตำบลคูหาใต้และคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมที่บ้านหลังนี้พบว่า มีชายพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อาศัยอยู่ด้วย จึงรับปากจะให้ความช่วยเหลือ หาวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน

“นายอำเภอเสนอให้ย้ายออกไปอาศัยที่อื่น โดยจะให้เช่าบ้านแล้วจะประสานกับทางบริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัดรับผิดชอบจ่ายค่าเช่าให้ ผมย้ายไปอยู่บ้านเช่าได้ 6 เดือน ไม่มีใครมาจ่ายค่าเช่าให้เลยครับ ต้องจ่ายเองเดือนละ 2,000 บาท สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ตามเดิม”นายมนูญ กล่าว

นางประดวง จันทสุวรรณ พี่สาวที่ต้องมาคอยดูแลนายมนูญอยู่ตลอด แม้ไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่ก็พลอยได้รับผลกระทบด้วย เพราะอยู่ไม่ไกลจากเหมืองหินแห่งนี้เช่นกัน เธอเล่าว่า ผลกระทบจากการระเบิดหินมีมานานแล้ว แต่เริ่มชัดเจนประมาณปี 2549 เพราะพื้นที่ระเบิดหินเริ่มขยับไปถึงยอดเขาและเข้ามาใกล้บ้านชาวบ้านมากขึ้น

ใกล้เหมือง – บ้านพักของนายมนูญ จันทสุวรรณที่มีอยู่ใกล้เหมืองหินเขาคูหาประมาณ 150 เมตร ซึ่งมีแต่รอยแตกร้าวจากแรกสั่นสะเทือนจากการระเบิดหิน


“ตอนเขาระเบิดหิน รู้สึกเหมือนกับบ้านถูกยกตัวขึ้นแล้วปล่อยลงมา จากนั้นก็เกิดรอยร้าวตามตัวบ้าน ส่วนหลังคาบ้านก็แตกรั่วเพราะมีก้อนหินกระเด็นมาตกใส่ ช่วง 2 นาทีก่อนการระเบิดหินในตอนเย็นของทุกวัน เป็นช่วงเวลาทำใจกับหาที่หลบก้อนหินเท่านั้น เพราะเวลาแค่นั้น จัดการอย่างอื่นไม่ทันอยู่แล้ว พอวันรุ่งขึ้นก็เตรียมปัดกวาดฝุ่นผงที่ลอยมาตกภายในบ้าน พร้อมกับไอจามเป็นบางครั้ง"