จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

10 ปี พอช. : 10 ปี พลังองค์กรชุมชนท้องถิ่น จัดการตนเอง

กรุงเทพฯ/ เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนจัดงาน “10 ปี พลังองค์กรชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินของสถาบันฯโดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จากผู้นำชุมชนในแต่ละภาค ตัวแทนงานพัฒนาเชิงประเด็นต่างๆ และหน่วยงานภาคี รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ที่มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานซึ่งภายในงานเริ่มจากการประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ และอิสลาม ต่อด้วยการปาฐกถาพิเศษ “10 ปี พลังองค์กรชุมชน ปฏิรูปสังคมจากฐานราก”โดยอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม การเสวนา “10 ปี พอช. เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย” โดยผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อจากนั้นเปิดเวทีกลุ่มย่อย“วางแผนปฏิบัติการ การปฏิรูป พอช.” รวมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยน “คุณค่า ความหมาย กับสิ่งที่เป็นอยู่: สร้างพลังสู่อนาคต” โดยศิษย์เก่า กับศิษย์ปัจจุบัน ผู้นำขบวนองค์กรชุมชน นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ “การสร้างองค์กรแห่งอนาคต” โดยคุณบุญฤทธิ์ มหามนตรี และการจัดแสดงนิทรรศการ ที่เป็นพัฒนาการขององค์กร ผลการดำเนินงาน รวมทั้งเวทีวัฒนธรรม การแสดง ตลาดนัดสินค้าชุมชน ฯลฯ
อ่านรายละเอียด คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน อาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้



การประกาศเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดี เมื่อ 2542 ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอ 25ตำบลในจ.นราธิวาส จ.ยะลา 1 อำเภอ และปัตตานี 1 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่213,125 ไร่ ทับที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 96,216 ไร่ผู้เดือดร้อนประมาณ 7,000 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบเดือดร้อนเรื่องที่ทำกินมาโดยตลอด ไม่สามารถเปลี่ยนต้นยางพารา ที่เป็นอาชีพหลักได้ ผู้ได้รับผลกระทบได้พยายามจัดทำข้อมูลร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และสถาบันการศึกษาเพื่อยืนยันการทำกินก่อนประกาศอุทยานมาตั้งแต่ปีที่ ประกาศ เพื่อเสนอครม.ให้เร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด จนชาวบ้านหลายคนเริ่มท้อกับการรอคอยที่ไม่เห็นจุดหมายปลายทาง

นายอาหามะ ลีเฮ็ง คณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กล่าวว่า การแจกโฉนดในครั้งนี้เป็นผลจากการที่ภาคประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโดยร่วมกับภาครัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ทำความเข้าใจต่อชาวบ้านถึงขั้นตอนกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จัดทำข้อมูล แผนที่ทำมือ แผนที่จีไอเอส และเดินสำรวจกันแนวเขตป่าอุทยาน แบ่งเขตพื้นที่เขตป่ากับนอกเขตป่า ทำให้พนักงานที่ดินรังวัดที่ดินที่อยู่นอกเขตป่าอุทยานเพื่อออกโฉนดได้ หรือแม้จะไม่ได้ออกโฉนด ก็ทำให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา เข้ามาช่วยเหลือให้เงินทุนแก่ชาวบ้านเพื่อลงทุนทำสวนยางได้อีกทางหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รมต.สาทิตย์ ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยฯภาคใต้ ชื่นชมขบวนชุมชนรวมตัวจัดการตนเอง

งานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2553 การจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่น ภาคใต้ วันที่ 15 –16 ตุลาคม 2553 ณ ห้องประชุมเจ้าไหม วิทยาลัยเทคนิคตรัง อ.เมือง จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 750 คน จากขบวนองค์กรชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ ในงานวันนี้ (16 ต.ค) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีปิด และรับมอบข้อเสนอต่อนโยบายการขับเคลื่อนงานที่ดินที่อยู่อาศัยโดยขบวนองค์กรชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ 2554

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมและประทับใจขบวนองค์กรชุมชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันจัดการปัญหาด้วยความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง และเห็นด้วยกับขบวนองค์กรชุมชนท้องถิ่นที่มีแนวทางในทำงานร่วมกันกับรัฐ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยรัฐบาลชุดนี้ถือว่าเป็นภาระกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข บนฐานของการฟังเสียงประชาชน และการมีส่วนร่วมของขบวนชุมชน

ทั้งนี้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐบาลจะเร่งผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ซึ่งกำลังยกร่างกฏหมาย เป็น พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการจัดการที่ดินของชุมชนโดยชุมชน และผลักดันเรื่องธนาคารที่ดิน โดยเสนอให้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน เพื่อเป็นตัวกลางของรัฐในการดูแลเรื่องที่ดิน และเครื่องมือตัวที่ 3 คือ เร่งออกกฏหมายภาษีที่ดิน ในส่วนนโยบายบ้านมั่นคงนั้น ใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 52-54 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มต้องเดินหน้าต่อ โดยจะผลักดันให้เป็นกฏกระทรวงภายในปีนี้ นายสาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

12 ภาคีร่วม MOU เพื่อร่วมขับเคลื่อนวาระพลเมือง สู่ "สงขลาพอเพียง"

เวทีสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ระดมสมองปฏิรูปประเทศไทยในภูมิภาค
เวทีรวมพลคนรักสุขภาพภาคใต้ “10 ปี พัฒนาวิชชา สมัชชาสุขภาพ” และสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว โดยร่วมแลกเปลี่ยนร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ใน 9 วาระ พร้อมมีการหยิบยกประเด็นสาธารณะในพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ใน 14 จังหวัด ด้านเลขาฯ สช.ชี้การปฏิรูปประเทศไทยไม่ไกลเกินจริง เพราะได้เกิดขึ้นแล้วในระดับพื้นที่จากเวทีนี้ ส่วนสงขลามีพิธีลงนาม MOU ใน 12 ภาคีหลักขับเคลื่อนวาระพลเมืองสู่สงขลาพอเพียง ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม มีการเปิดงานตลาดนัดสุขภาพ และพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนวาระพลเมือง "สงขลาพอเพียง" ระหว่าง 12 ภาคี ประกอบด้วย 1.จังหวัดสงขลา 2.องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 3.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา 4.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา (สปสช.สงขลา) 5.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)6.สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.)7.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)8.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 9.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 10.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)11.มูลนิธิชุมชนสงขลา (มชส.) และ 12.เครือข่ายองค์กรภาคพลเมืองจังหวัดสงขลา

โดยวันที่ 12 ต.ค.2553 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคีพัฒนา จัดเวทีวิชาการสมัชชาสุขภาพภาคใต้ “10 ปี พัฒนาวิชชา สมัชชาสุขภาพ” และสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบ “ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3” ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2553 โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง อธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางผู้แทนเครือข่ายสมัชชาจาก 14 จังหวัดภาคใต้กว่า 300 คนเข้าร่วม

โดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 11 ตุลาคม มีการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ที่มีแนวคิดและมุ่งไปสู่ “สงขลาพอเพียง” โดยมีการรับรองมติ 15 วาระ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ขับเคลื่อนสังคมสู่..สงขลาพอเพียง

งานรวมพลคนรักษ์สุขภาพจังหวัีดสงขลา ในวันที่ 11-17 ตุลาคม 2553 ณ หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มอ.หาดใหญ่ ..ผลักดันวาระพลเมือง : สงขลาพอเพียง มีทั้งหมด 5 ยุึทธศาสตร์ 15 วาระหลัก

โดยในวันที่ 11 ตุลาคม 2553 เป็นงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา และต่อด้่วย สมัชชาสุขภาพภาคใต้ ในวันที่ 12 ตุลาคม จากนั้นเป็นงานมหกรรมคนรักสุขภาพสงขลา ซึ่งในวันที่ 13 ตุลาคม จะมีการลงนาม MOU ภาคี 11 องค์กร ประกอบด้วย สช/สสจ./สปสช./สสส./สจรส./พอช./สนง.จังหวัด/อบจ./กศน./มูลนิธิชุมชนสงขลา เพื่อร่วมเคลื่อนสังคมสู่สงขลาพอเพียง โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2553


วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กำหนดการ งานวันที่อยู่อาศัยโลก (ภาคใต้)


สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน จัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งในปี 2553 ตรงกับวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2553 โดยสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อหลักว่า “Better City Better Life” หรือ เมืองที่ดีกว่าเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

พอช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน จัดให้มีกิจกรรมในทุกภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 6 - 21 ตุลาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ในการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ชุมชนและท้องถิ่นเป็นหลัก และจะนำเสนอผลการสัมมนาต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ตุลาคม 2553

สำหรับภาคใต้ได้กำหนดให้มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก การจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่นภาคใต้ ในระหว่างวันที่ 15 - 16 ตุลาคม 2553 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคตรัง อ.เมือง จ.ตรัง กำหนดการงานวันที่อยู่อาศัยโลก (ภาคใต้) คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วิถีชีวิต"ปากบารา" ฤ จะต้องสังเวยให้ท่าเรือน้ำลึก???

"ปีหน้าพวกเราจะมาวาดภาพปลาน้อยใหญ่ เรือประมงจับปลากลางทะเลที่หน้าอ่าวปากบารานี้" นี่คือคำสัญญาบนหาดปากบาราของเด็กน้อยลูกหลานชาวประมงบ้านปากบารา อ.ปากบารา จ.สตูล ที่ให้ไว้กับปิยะดา เก็นแก ครูสอนศาสนา และเป็นอาสาสมัครชาวบ้านเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล แต่คำสัญญาของเด็กๆ และอ่าวปากบาราที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นเช่นไรในอนาคต ยังมีตัวแปรสำคัญจากพื้นที่บริเวณหน้าอ่าวปากบารา ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกบนพื้นที่ 293 ไร่ ของกระทรวงคมนาคม และจะมีส่วนต่อเนื่องจากโครงการท่าเรือน้ำลึกอีก หากเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 3 ระยะแล้ว จะมีการถมทะเลกินเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่

จากปี 2551 มาจนถึงปัจจุบัน เครือข่ายพี่น้องจากสตูลขับเคลื่อนงานและกิจกรรมอนุรักษ์ในพื้นที่ จัดเวทีก็หลายครั้ง เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอปากบาราและอำเภอใกล้เคียง เพราะ จ.สตูลเป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา, ถนนสายสตูล-เปอร์ลิสที่จะเป็นอุโมงค์เพื่อการขนส่งสินค้า, ท่อและคลังขนส่งน้ำมัน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบมีข้อมูลพอที่จะตัดสินใจเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธโครงการตามสิทธิในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะล่าสุดวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา แกนนำอนุรักษ์พร้อมกับพี่น้องปากบาราเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง มีการยื่นหนังสือร้องคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จำนวน 4,734 ไร่ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแนบรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เกือบ 3,000 รายชื่อ

"ขณะนี้การเพิกถอนอยู่ในขั้นตอนให้ความเห็นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ก่อนเสนอให้ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ พิจารณาอนุมัติอนุญาต ซึ่งกระทรวงคมนาคมขอใช้พื้นที่กว่า 4,700 ไร่ เพื่อทำโครงการ ข้อกังวลของชาวบ้านคือ คณะกรรมการอาจได้ข้อมูลไม่ตรงไปตรงมา ทราบว่าวาระจะเข้าคณะกรรมการเดือนตุลาคมนี้" สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเป็นนักพัฒนาเอกชนดีเด่นภาคใต้ ปี 2552 พูดในเวทีเสวนาสร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย "ยัดเยียดอุตสาหกรรมใหญ่ให้สตูล มลพิษอันดามัน" ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโดยฝ่ายพัฒนาสังคม และสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต หลังจากไปยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพย์ฯ ในรุ่งเช้าของวันเดียวกัน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

สมัชชาคนใต้ประกาศเจตนารมณ์ "ร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง"


สมัชชาคนใต้ "ทกประเทศไทย" (ปฎิรูปประเทศไทย) เมื่อวันที่ 1-2 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ร่วมประกาศเจตนารมณ์คนใต้ คลิ้กอ่านรายละเอียด ที่นี่

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เครือข่ายประชาชนฯ สตูลจัดเวทีปราศัย + ฟรีคอนเสิร์ต รักษ์เภตรา ตะรุเตา


ศิลปินนักอนุรักษ์ธรรมชาติและลูกหลานชาวสตูล เดินทางกลับบ้านเกิด ร่วมเวที “รักษา เภตรา ตะรุเตา ทะเลบ้านเรา เพื่อลูกหลาน” เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยที่ชาวบ้านต่างไม่เห็นด้วยที่จะแลกทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ พัฒนาในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเภตรา ซึ่งมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้าน ชี้ เป็นการละเมิดสิทธิของชุมชนโดยไม่เปิดให้มีส่วนร่วม และไม่ฟังเสียงคัดค้าน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ปกป้องบ้านเกิดจนถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดฟรีคอนเสิร์ตและปราศรัย “รักษา เภตรา ตะรุเตา ทะเลบ้านเรา เพื่อลูกหลาน” ณ ลาน 18 ล้าน ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดชมวิวทางทะเลที่สวยงาม สามารถมองเห็นเกาะ แต่ในอนาคตหากมีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น จะบดบังทัศนียภาพหมดสิ้น เพื่อให้ความรู้ถึงโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งได้แยกย่อยเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจใต้ โดยจะเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเภตราจำนวน 4,700 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา

กิจกรรมในครั้งนี้ใช้ดนตรีเป็นสื่อในการบอกเล่าและสะท้อนความรู้สึก สลับกับการปราศรัย ซึ่งมีศิลปินที่เป็นลูกหลานชาวสตูลมาร่วม พร้อมกับศิลปินส่วนกลางที่มีจุดยืนในการปกป้องทรัพยากรให้เป็นสมบัติของคนในชาติ แทนการทำลายล้างเพื่อสร้างอุตสาหกรรม อาทิ ซูซู, คาราวาน, จ๊อบ ทูดู, พจนารถ พจนาพิทักษ์, แสง ธรรมดา, กัวลาบารา, อารัญ เหมรา, อัน ธวัชชัย, เอสเปรสโส เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านทรัพยากร และการอนุรักษ์ พร้อมทั้งตั้งโต๊ะรับลงรายชื่อคัดค้านการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเภตรา เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ

สำหรับการเสวนานั้น ระบุว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ได้ส่งรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและพิจารณาผ่านแล้ว เหลือเพียงการขออนุญาตเพิกถอนแนวเขต ถามว่าคนสตูลจะเอาอย่างไร เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีท่าเรือแล้วไม่มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตามที่มีการบอกกับชาวบ้าน และในโครงการนี้ชาวบ้านก็ไม่ได้มีส่วนร่วม นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ให้ความเห็นใดๆ

ขณะที่ตัวแทนชาวสตูล ชี้ว่า การถมทะเลกว่า 4,000 ไร่ ในทะเลของอุทยานแห่งชาติเภตรา เป็นการลิดรอนสิทธิทำกินของประชาชน ซึ่งมีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แม้จะอ้างว่า สร้างความเจริญ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าตั้งอยู่บนความทุกข์ยาก แร้นแค้น และคราบน้ำตาของประชาชนหรือไม่ จากการพูดคุยในกลุ่มชาวบ้านนั้นบอกว่าพอใจกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ มีที่อยู่ ที่ทำกิน และหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ขัดสน

นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเซ้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้นักลงทุนมาสร้างโรงแรมก็นับว่าร้ายแรงแล้ว แต่สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารานี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง แต่ก็มีความหน้าด้านที่จะดันโครงการนี้เกิดขึ้นมาให้ได้ จึงอยากจะให้กำลังใจชาวสตูล เพื่อร่วมกันปกป้องดินแดนที่เป็นบ้านเกิด และขอบคุณทุกคนที่สละเวลามารวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อย

จากนั้น เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้ประกาศเจตนารมณ์คนสตูล เพื่อรักษาอุทยานแห่งชาติเภตรา ตะรุเตา และทะเลไว้ให้ลูกหลาน โดยมีใจความสำคัญว่า นับแต่โบราณกาลมา สตูลเป็นผืนแผ่นดินที่สมบูรณ์พูนสุข สตูลเป็นที่ที่บรรพบุรุษของเราบุกเบิกสร้างบ้านสร้างเมือง สตูลเป็นแผ่นดินที่คนรู้การงาน-ไม่อดตาย

สตูลเป็นดินแดนมุสลิมชายแดนที่แสนสงบ สตูลยังเป็นโลกที่รวมเอาทุกเลือดเนื้อเชื้อชาติ ทั้ง จีน พุทธ มุสลิม และคนพื้นเมืองเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมเกลียวเหนียวแน่น เป็นลูกสตูลเดียวกันในเมืองเล็กๆ สวยงาม ในดินแดนใต้สุดของสยามประเทศฝั่งอันดามัน ถึงปัจจุบันนับได้ว่าทะเลสตูลยังเป็นทะเลที่บริสุทธิ์ที่สุด แห่งสุดท้ายของประเทศนี้ พี่น้องชาวสตูลและพี่น้องร่วมประเทศที่รักทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เอง สตูลจึงเป็นสถานที่เกิด และที่ฝังสังขารของพวกเราทั้งหลายทั้งปวงในบั้นปลายของชีวิต

นับแต่อดีตมา เลือดเนื้อชาวสตูล ยอมเสียสละเรือกสวนไร่นาบนเกาะตะรุเตา ละทิ้งวัวควายสัตว์เลี้ยงไว้ที่นั่น ยินยอมแตกกระสานซ่านเซ็น บ้างก็ขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ บ้างก็ต้องแยกจากครอบครัวไปเสี่ยงโชคในดินแดนที่ห่างไกล เพื่อให้ผู้คนร่วมชาติได้ใช้ตะรุเตา ได้ร่วมกันทะนุถนอม ได้ร่วมกันชื่นชมหมู่เกาะที่มีแหล่งหินมหัศจรรย์ที่สุดของภูมิภาคนี้

ชาวสตูลเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆโดยไม่มีข้อแม้ เราถ่อมตนพอที่จะยอมรับการชี้นิ้วบงการจากคนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักเราอย่างจริงจัง เราอดทนนั่งดูพวกเขาแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมไปจากเรา และนำส่วนเหลือๆ มาค่อยๆ พัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร การท่องเที่ยว และการประมง ขึ้นมาด้วยลำแข้งเราเอง พี่น้องชาวสตูลและพี่น้องร่วมประเทศที่รักทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เอง สตูลจึงได้ชื่อว่า “สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”

พี่น้องทั้งหลาย ในวันนี้พวกเขากลับบอกเราว่า เขาจะถอนสภาพอุทยานเพื่อสร้างท่าเรือยักษ์ขนสินค้าของนักลงทุนธุรกิจ เขาบอกเราว่าเขาจะถมทะเลให้เป็นภูเขา แล้วเขาจะขุดภูเขาไปถมทะเล พวกเขายังบอกว่าสตูลจะเจริญ พวกเขาอ้างคำหรูว่า “การพัฒนา” พวกเขาคิดเอาเองว่าคนสตูลไม่ฉลาดเท่าพวกเขา

พี่น้องทั้งหลาย ในวันนี้เช่นกัน เราจะบอกพวกเขาว่า พวกเขาจะไม่ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ลูกสตูลนิ่งเฉย และเสียสละมามากเกินพอแล้ว พวกเราในนามของประชาชนคนสตูลและคนภาคใต้ จักปกป้องพื้นที่ที่สวยงามที่สุดนี้ไว้ให้ลูกหลาน และของเรา ของชาติ ของแผ่นดินเท่านั้น

ประมวลภาพบรรยากาศ คลิ้กที่นี่

เมื่อกลุ่มผู้เลี้ยงหอยเผชิญหน้าประมงชายฝั่ง...ปมแย่งชิงทรัพยากรปะทุที่ชายแดนใต้

ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจนนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ปะทุขึ้นหลายครั้งแล้วในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ดูเหมือนภาครัฐจะยังนิ่งนอนใจ เพราะทุ่มความสำคัญไปที่สถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัญหานี้ส่อเค้าบานปลาย ดังเช่นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกลุ่มประมงชายฝั่ง กับกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง ถึงขั้นรวมพลไปแสดงพลังที่หน้าโรงพักเมืองปัตตานีกันเลยทีเดียว

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งส่วนหนึ่งมีอาชีพ "ลากหอยแครง" รอบอ่าวปัตตานี จากหลายตำบล หมู่บ้านริมอ่าวในเขต อ.เมืองปัตตานี จำนวนกว่าครึ่งร้อย ได้ไปชุมนุมกันที่หน้า สภ.เมืองปัตตานี เพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน 6 คนซึ่งถูกออกหมายเรียกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งก็คือ "หอยแครง" ในอ่าวปัตตานีนั่นเอง

เรื่องของเรื่องเกิดจากมีกลุ่มบุคคลซึ่งถูกระบุว่าเป็นนายทุนผู้เลี้ยงหอยแครง เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีกับ นายอามะ ปะจูมะ นายแวอูเซ็ง สะนิ นายอาลี มามะ นายสมาน โต๊ะเร็ง นายเจะมือดา แวหามะ และนายกอเดร์ สาแม ฐานลักหอยแครง เมื่อหมายเรียกถูกส่งถึงตัวผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ทั้ง 6 คนและชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งไม่พอใจ จึงพากันไปชุมนุมที่หน้าโรงพัก และให้ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 6 คนเข้าแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อตำรวจ พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี บรรยากาศดำเนินไปอย่างตึงเครียด อ่านต่อ คลิ้กที่นี่