จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

สปกช.จัดเวทีระดมความเห็นหาแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร

สปกช.จัดเวทีระดมความเห็นหาแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคมภาคใต้ตอนล่าง

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 ที่โรงแรมเอเชี่ยน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ได้จัดให้มีการประชุมแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคมภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเป็นกรอบ แนวทางในการดำเนินงานของ สปกช. โดยมีผู้เข้าร่วมเป็น ตัวแทนเกษตรกรในภาคใต้ตอนล่าง นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานรวมทั้งภาคีต่างๆและ ตัวแทน สปกช. รวมประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการ สปกช. ได้แนะนำองค์กร โดยสรุปว่า “สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม(สปกช.) ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการสนับสนุนการดำเนินการจาก สสส.โดยมีภาคีเครือข่ายภาคเกษตร ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรกรรมยั่งยืน การรักษาความมั่นคงทางทรัพยากรและอาหาร นักวิชาการและภาคการเมือง ร่วมบูรณาการระบบการเกษตรใหม่ร่วมกันทั้งระบบ อาทิ ระบบการผลิต การตลาด การเงิน ทิศทางความร่วมมือจากต่างประเทศ การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การศึกษา กฎหมาย เป็นต้น”

โดยขณะนี้ สปกช. อยู่ระหว่างการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อตรากฎหมายรองรับสถานภาพของสปกช. ซึ่งบทบาทของ สปกช. จะมีหน้าที่ศึกษาสถานการณ์ หาแนวทางแก้ปัญหา และเสนอนโยบาย กฎหมายที่เหมาะสมต่อรัฐบาล รวมให้เป็นหน่วยงานให้ความรู้วิชาการเกษตรแก่ประชาชน ส่งเสริมการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างบทเรียน ข้อเสนอแนะ และเผยแพร่ข้อมูล นวัตกรรม การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย สุขภาวะที่ดีของผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรไทยเข้ามามีบทบาทหามาตรการแก้ไขปัญหา เพราะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบเกษตรเพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤต

ทั้งนี้ในเวทีได้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อกระบวนการขับเคลื่อน โดยให้มีการประสานภาคีทุกภาคส่วน ในการพัฒนาระบบเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตร โดยในเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะประสานงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ในการประสานงานเพื่อการขับเคลื่อนงาน

เทศบาลนครสงขลาเตรียมจัด "ถนนคนเดิน เพลินกินของหรอย ย้อนรอยบ่อยาง"


เมืองสงขลาเป็นเมืองแห่งอารยธรรม เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานและทรงคุณค่า มีร่องรอยเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรม โบราณสถานโบราณวัตถุ วิถีชีวิตชุมชน อาหารพื้นบ้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวชมเมือง และนอกจากนี้ สงขลายังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สงบ งดงาม

ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ของเมืองสงขลาในย่านเมืองเก่า ด้านสถาปัตยกรรมโบราณ และเป็นการสืบทอดวิถีชีวิตชุมชน อาหารพื้นบ้านดั้งเดิม เทศบาลนครสงขลาจึงจัด โครงการสงขลาแต่แรก "ถนนคนเดิน เพลินกินของหรอย ย้อนรอยบ่อยาง" อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสร้างสีสันการท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวจังหวัดสงขลา โดยจะมีการเปิดตัวโครงการฯ 6-11 เมษายน 2553 และมีพิธีเปิดการจัดงานอย่างเป็นทางการ 8 เมษายน 2553 จากนั้นจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ในวันศุกร์และวันเสาร์

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

ม่านหมอกความรุนแรงที่บ้านกูจิงลือปะ...ตราบาปในหัวใจที่ยากจะเลือน

“กูจิงลือปะ” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ใน ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เขตติดต่อกับ ต.เชิงคีรี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เช่นกัน มีประชากรอาศัยอยู่ 1,128 คน 194 ครัวเรือน นับถือศาสนาอิสลาม 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความที่เป็นพื้นที่ติดภูเขา ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านล้วนประกอบอาชีพทำสวนยางพารา มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เลือกทำนาและสวนผลไม้

เดิมทีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกแม้แต่น้อย กระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนร้ายจับตัวและรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล กับ ครูศินีนาฎ ถาวรสุข ครูสาวไทยพุทธ 2 คนของโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ จนสุดท้ายครูจูหลิงต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า ถือเป็นข่าวโหดร้ายและสะเทือนสังคมไทยมากที่สุดในปี 2549 นั่นแหละจึงทำให้หมู่บ้านกูจิงลือปะเป็นชื่อที่ติดปากคนทั่วไป

และแน่นอนว่าย่อมทำให้สังคมภายนอกมองคนที่หมู่บ้านแห่งนี้ในแง่ลบ

“เวลาเกิดเหตุยิงกันที่ตลาดตันหยงมัส หรือที่ตัวอำเภอระแงะ คนส่วนใหญ่มักจะพูดกันทำนองว่า คนร้ายก่อเหตุแล้วหนีเข้ามาในกูจิงลือปะ หรือไม่ก็ว่าคนร้ายมาจากกูจิงลือปะ จะมีเสียงพูดถึงบ้านกูจิงลือปะทำนองนี้แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุ” เป็นความรู้สึกของ มะดารี มาเยาะดาเซะ ผู้ใหญ่บ้านกูจิงลือปะ ที่สะท้อนถึงความน้อยใจและไม่สบายใจต่อสายตาของสังคมที่เพ่งมองยังหมู่บ้านและลูกบ้านของเขา

“คนทั่วไปชอบมองบ้านกูจิงลือปะในแง่ลบมาตลอด หลังจากเกิดเหตุการณ์ทำร้ายครูจูหลิง อย่างล่าสุดมีครูถูกยิงเสียชีวิตที่ ต.กาลิซา ก็พูดกันอีกว่าคนร้ายเป็นคนกูจิงลือปะ คนร้ายมันหลบหนีมาทางบ้านกูจิงลือปะ ชาวกูจิงลือปะออกไปทำธุระในตลาดได้ยินคำพูดแบบนี้เสมอจนรู้สึกไม่สบายใจ”

ในฐานะผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่มานาน มะดารี ยืนยันว่า ไม่มีคนร้ายหลบเข้ามากบดานในกูจิงลือปะ หรือคนกูจิงลือปะไปเป็นคนร้ายแน่นอน

“หากคนร้ายเป็นคนกูจิงลือปะจริง หรือใช้เส้นทางหลังก่อเหตุหลบหนีเข้ามายังพื้นที่ เราก็ต้องรู้ ต้องเห็นตัวคนร้ายแล้ว เพราะตลอดเส้นทางมีฐานทหารและด่านตรวจของ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) เยอะไปหมด แม้แต่ที่กูจิงลือปะเองก็มี ชรบ.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนร้ายหลบหนีเข้ามา”

มะดารี บอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครูจูหลิงเมื่อกลางปี 2549 หมู่บ้านกูจิงลือปะก็ไม่เคยเกิดเหตุร้ายขึ้นมาอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพิ่งจะมาเกิดเมื่อเดือนทีแล้ว คือเหตุการณ์ใช้อาวุธสงครามยิง นางเจ๊ะแมะ หะแย กับ น.ส.บาราตี ลาบอ บุตรสาว เสียชีวิตขณะออกไปกรีดยางเท่านั้น

"เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายมาก ทำได้แม้กระทั่งผู้หญิงที่ไม่มีทางสู้” มะดารี ระบายความรู้สึก

การสังหารได้แม้กระทั่งผู้หญิง โดยที่ผู้ตายไม่เคยมีเรื่องกับใคร ยกเว้นถูกออกหมายจับในคดีครูจูหลิง ทำให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงอย่างมากในหมู่บ้าน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

เมื่ออนาคตของสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด

การพัฒนาจังหวัดสงขลาสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุด
โดย: สุรัตน์ แซ่จุ่ง


จังหวัดสงขลาถูกกำหนดการทิศทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ รูปแบบเดียวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง) จุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือน้ำลึก ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม
ซึ่งมีการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากประเทศเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น กรณีการเกิดโรค “มินามาตะ”

หลังจากการก่อเกิดของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะประมาณ ๒๕ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนักประเภทปิโตรเคมี ปัจจุบันก่อปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพให้กับคนระยอง จนกระทั่งนำไปสู่การฟ้องศาลปกครองเพื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ และการสั่งระงับโครงการที่กำลังจะลงทุนเพิ่มเติม

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมาสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ วางแผนให้จ.สงขลาเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต และมีความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายได้แก่ ไทย- มาเลเซีย - อินโดนีเซีย อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มรักษ์คลองชีร่วมฟื้นฟูลุ่มน้ำตรัง

ภาคประชาชนลุ่มน้ำตรังจัดแข่งแรลลี่เรือแคนู บวชป่าริมน้ำ สร้างสำนึกฟื้นฟูทรัพยากรชุมชน ผู้ว่าฯตรังชื่นชมพลังภาคประชาชน พิทักษ์สายน้ำตรัง

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2553 องค์กรฟื้นฟูท้องถิ่น ระบบนิเวศน์สายน้ำคลองชี ร่วมกับ อำเภอวังวิเศษ เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม”แรลลี่ แคนู ฟื้นฟูสายน้ำคลองชี” ณ ลานกีฬาเทศบาลวังวิเวษ และคลองชี หมู่ที่ 4 ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเวษ จ.ตรัง โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธานพิธีสงฆ์สืบสะตาสายน้ำ ปล่อยพันธุ์ปลา ปล่อยเรือแคนูแข่งขันแรลลี่ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการกิจกรรมการอนุรักษ์คลองชี และลุ่มน้ำตรัง

นายไมตรี กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ภาคราชการ จะไปยืนเป็นแถวหลังคอยสนับสนุน แล้วให้บทบาทองค์กรภาคประชาชนเป็นแถวหน้าในการดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรชุมชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่ ตลอดจนความร่วมมือของชุมชนอย่างแข็งขันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสายน้ำเป็นตัวอย่างที่ดีให้ชุมชนต่างๆในลุ่มน้ำตรังได้ยึดเป็นแบบอย่าง ตั้งแต่กิจกรรมสร้างจิตสำนึก จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชน การอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมส่งเสริม “และเมื่อทุกชุมชนได้ร่วมกันทำเช่นนี้แล้วก็จะรวมเป็น ภูมิใจรักษ์ พิทักษ์สายน้ำตรัง”ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังกล่าว

สำหรับคลองชีนับเป็นหนึ่งในเจ็ดสายน้ำสาขาแม่น้ำตรังที่มีความยาว 123 กิโลเมตร ในอดีตคลองชีประสบปัญหาวิกฤตหนักถึงขั้นน้ำในลำคลองแห้ง มีการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณเขานอจู้จี้ ในเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นต้นน้ำของคลองชี ต่อมาชาวชุมชนในลุ่มน้ำคลองชีจึงได้ร่วมกันฟื้นฟู จัดทำป่าชุมชนต้นน้ำ เฝ้าระวังตรวจป่า และรักษาความสะอาดในสายน้ำ จนคลองชีกลับคืนสู่สภาพปกติ การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างจิตสำนึกต่อเนื่องในการฟื้นฟูคลองชีและอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมชุมชน โดยในการแข่งแรลลี่เรือแคนู ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการบวชป่าต้นไม้ริมน้ำคลองชี การจัดการละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมะโนราห์ รำวงย้อนยุค

โดย สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์

ชาวบ้านสีสอน ประสานมือ ลุยสายน้ำ ร่วมกันสร้างฝาย

นายพินิจ ฤทธิกาจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านสีสอน ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ นำสมาชิกของชมรมล่องแก่งถ้ำศรีเกษร ที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของชาวบ้านสีสอน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และชาวบ้านที่สนใจ ร่วมมือร่วมแรงกันในการสร้างฝาย เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพพื้นที่ตำบลเขาพระ มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งจากสายน้ำคลองรัตภูมิที่มีความสวยงาม ถ้ำศรีเกสรที่มีประวัติตำนานที่น่าสนใจ ความมหัศจรรย์ภายในถ้ำ ตลอดจนมีผลไม้รสชาติหวานอร่อยตลอดทั้งปี รวมไปถึงความพร้อมของชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจกันให้เกิดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่

การสร้างฝายน้ำล้นในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามแนวพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการกั้นและชะลอน้ำในลำคลอง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นกิ่งไม้ ก้อนหิน ทรายในคลองกั้นชะลอขังอยู่ในพื้นที่นานพอที่จะให้พื้นที่รอบๆ ได้ดูดซึมไปใช้ เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ให้เกิดความชุ่มชื้นมากพอที่จะทำให้สวนผลไม้ สวนสมุนไพรริมฝั่งเติมโตได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น และนอกจากนี้ยังเป็นการขุดลอกคลองที่มีความตื้นเขินให้ลึกขึ้นมีผลต่อการขยายพันธ์ของสัตว์น้ำ ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วฝายน้ำล้นยังสามารถใช้ทดน้ำ ให้มีระดับสูงพอที่จะดึงน้ำไปใช้ในคลองส่งน้ำได้ในฤดูแล้ง ใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ สำหรับประชาชนในพื้นที่ไว้ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ทำการเกษตรในฤดูแล้งๆ ที่สำคัญที่สุดยังเป็นการอนุรักษ์น้ำเพื่อส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวล่องแก่งได้อีกทางหนึ่ง
ประมวลภาพกิจกรรม คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผีเสื้อถิ่นใต้ขยับปีกบิน

สายลมเย็นพัดโชยมาแต่เช้าตรู่ เมฆเทาฉาบทาแต้มระบายไปเต็มผืนฟ้า เป็นสัญญาณการหวนคืนของลมใต้พร้อมความชุ่มชื่นจากห้วงน้ำใหญ่อันดามัน แสงเงินแสงทองรำไรเหนือขุนเขาตะวันออก สกุณาเริ่มบินออกจากรวงรัง ขณะเสียงไก่ขันคลอเคล้านกเขาคูแว่วไกลจากดงไม้ชายทุ่ง จังหวะชีวิตปักษ์ใต้บ้านเราตื่นรับวันใหม่อีกครา

นับแต่ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม (ไชยา) ประกาศว่า ธัมมิกสังคมนิยม เป็นทางรอดสังคมไทย ศีลธรรมของเด็กเยาวชนคือสันติภาพของโลก และการเดินตามก้นฝรั่งคือความโง่ คนใต้จำนวนไม่น้อยได้ฉุกคิดและดิ้นรนสืบค้นความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของชุมชน และพบว่าในความสุขสบายที่โลกาภิวัฒน์หยิบยื่นให้กลับแฝงเร้นไปด้วยด้านมืดเชิงทำลายไว้อย่างน่ากลัวยิ่ง

ขบวนคนใต้ผู้ไม่ยอมเป็นเหยื่อจึงพากเพียรดั้นด้นไปตามเส้นทางการพึ่งตนเองแม้ต้องผ่านความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย ชุมชนคีรีวง (ลานสกา) ชุมชนไม้เรียง (ฉวาง) ชุมชนประมงพื้นบ้านสองฝั่งทะเล อ่าวไทยและอันดามัน ชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำริมเทือกเขาบรรทัด ชุมชนคนลุ่มน้ำหลังสวน-คลองยัน อู่ตะเภา สายบุรี เทพา แม่น้ำตรัง และลุ่มทะเลสาบสงขลา ตลอดถึงลุ่มน้ำตาปีและลุ่มน้ำกระบุรี-ละอุ่น (ระนอง) ปรากฏตัวจริงเสียงจริงของผู้ไม่สยบยอมด้านมืดของโลกาภิวัฒน์ในดินแดนด้ามขวานมากมาย อาทิ พงศา ชูแนม, จินดา บุญจันทร์, ประยงค์ รณรงค์, บุญธรรม เทิดเกียรติชาติ, บู นวลศรี, ลัภย์ หนูประดิษฐ์, ชบ ยอดแก้ว, อัมพร ด้วงปาน, พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ, บรรจง นะแส, พิชญา แก้วขาว, กาจ ดิษฐาอภิชัย, สมเจตนา มุนีโมไนย ฯลฯ รวมถึงผู้จากไปก่อนกาล เช่น เชื้อ กาฬแก้ว, เปลื้อง คงแก้ว, ธีระฑัต ศรีไตรรัตน์, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, เจริญ วัดอักษร ฯลฯ และอีกมากมายทั้งที่ยังคงเคี่ยวกรำงานอยู่และล่วงลับไปแล้ว
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ท่องเที่ยวใกล้ๆ ตรัง-สตูล กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

ท่องเที่ยวตรัง-สตูล ใกล้ๆ กับเกาะเภตรา หรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน ในคาบสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 22 เกาะ ที่สำคัญคือ เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ

ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเล ประมาณ 494.38 ตารางกิโลเมตร ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 นับเป็นอุทยานลำดับที่ 49 ของประเทศไทย มีป่าไม้ ภูเขา ทะเล สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภต. 2 ตั้งอยู่ในหมู่ที่1 บ้านหัวหิน ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล มี เนื้อที่ประมาณ 315 ไร่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 5 ก.ม. การเดินทางสะดวก และเดินทางได้ตลอดปี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 20 นาที จากท่าเทียบเรืออ่าวนุ่น
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

หลากหลายกิจกรรมกับการอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองภูมี

เมื่อคำพูด “หันหน้าเข้าคลอง” เปลี่ยนเป็น “หันหลังให้คลอง” จึงไม่แปลกอะไร ที่คนส่วนใหญ่มองคลองเป็นแค่เพียงที่ทิ้งขยะและสิ่งโสโครกเท่านั้น เพราะคนหันมาใช้ถนนเป็นเส้นทางสัญจรหลัก บ้านที่เคยอยู่ริมคลอง เคยใช้ประโยชน์จากคลอง ต่างโยกย้ายมาตั้งอยู่ริมถนนกันหมด

นายสมนึก หนูเงิน หรือพี่นึก ประธานเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมี เล่าว่า จากสำรวจพบว่า คนไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากคลองมากเท่าไหร่ พวกขยะ น้ำเสีย ก็เลยโยนทิ้งลงคลองกันหมดเลย นอกจากนี้เรายังเจอปัญหาอื่นอีกมากมาย
“ปัญหาของคลองที่เราเจอหนักๆ เลย ก็คือเรื่องของบ่อทราย บางจุดมีการดูดทรายจนตลิ่งพัง กลายเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ สายน้ำเปลี่ยนทิศ บางจุดคลองก็ตายไปแล้ว”

พี่นึกเล่าต่อว่า ส่วนปัญหาน้ำเสีย เจอหนักที่จุดกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเป็นน้ำเสียจากโรงงาน และคอกหมู ส่วนปัญหาคลองสาขาที่เจอ บางจุดมีคันกั้นน้ำ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นถนน ทำให้คลองมีสภาพแคบลง น้ำก็ไม่ค่อยใสเหมือนเมื่อก่อน
“ยังมีการใช้สารเคมีไม่ถูกวิธี ที่พบบ่อยคือทิ้งขวดหรือภาชนะใส่สารเคมีลงแหล่งน้ำ ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง”

พี่นึก บอกว่า พอเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เราจึงรวมกลุ่มกัน โดยเริ่มแรกไปทำกิจกรรมที่โซนต้นน้ำก่อน เพราะเขามีเครือข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ คือกลุ่มป๊ะหรน หมัดหลี ตอนหลังพี่น้องที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำก็มารวมกลุ่มกัน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

แถลงการณ์ “ไม่เอาความรุนแรง”

แถลงการณ์ “ไม่เอาความรุนแรง”

ตามที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะจัดมีการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14 มีนาคม 2552 โดยเริ่มระดมคนจากทั่วประเทศให้เดินทางเข้าไปชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งนั้น เครือข่าย“หยุดทำร้ายประเทศไทย – หยุดใช้ความรุนแรง” ซึ่งได้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ร่วมกับกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นมาอีกในสังคมไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรง ดังต่อไปนี้ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

รองปลัดกระทรวง พม. เน้นย้ำ พมจ.ร่วมมือกับ พอช.ลงพื้นที่เรียนรู้และสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน

เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2553) ที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน (พอช.) ได้จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อสนับสนุนงานจัดสวัสดิการชุมชนภาคใต้ โดยมีนายสุรเดช ฉายะเกษตริน รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เกียรติมาเป็นประธาน รวมทั้งนายสิน สื่อสวน ผช.ผอ.พอช. นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผจก.พอช.ภาคใต้ นายแก้ว สังข์ชู กรรมการบริหาร พอช.ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้นำชุมชนที่เป็นคณะทำงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการระดับจังหวัดในภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ พอช.รวมประมาณ 80 คน

ทั้งนี้เครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้ทำข้อเสนอระดับนโยบายให้นายกฯประกาศเรื่อง สวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่สามารถจัดตั้งและพัฒนาคุณภาพสวัสดิการชุมชนอย่างทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน สนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งและสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการที่มีการจัดตั้งแล้ว โดยให้มีกลไกการประสานเชื่อมโยงของชุมชน ท้องถิ่นและภาครัฐใน
การจัดระบบสวัสดิการชุมชน โดยรัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ทั้งงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ผ่านการพิสูจน์ถึงความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้หลักสมทบ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล องค์กรสวัสดิการชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันชีวิต ส่งเสริมการออม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยเบื้องต้นรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนงบประมาณกว่า 727.3 ล้านบาท ให้กับกองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งแล้ว 3,156 ตำบล และจะให้เกิดกองทุนฯ ครอบคลุมทั่วประเทศอีก 2 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงได้เน้นย้ำให้ทาง พมจ.ที่รับผิดชอบงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการ พยายามที่จะเรียนรู้เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนงานของชุมชนได้โดยร่วมมือกับ พอช.ในการลงไปเรียนรู้งานกับพื้นที่

ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการการจัดสวัสดิการชุมชน การเสวนาบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน การระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพขบวนสวัสดิการชุมชน. ดาวน์โหลดเอกสารการประชุมได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

ขบวนชุมชนนราฯ สนองพ่อเมือง ช่วยเหลือแก้ไขที่อยู่อาศัยผู้พิการ

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 53 ที่ผ่านมา คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลกะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส พร้อมคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชน จ.นราธิวาส ได้รับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจากนายอับดุลเลาะ สือแลแม บ้านเลขที่ 38 หมู่ 3 บ้านกาแนะ ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส หลังจากที่ได้ร้องขอความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย ผ่านนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

จากการลงพื้นที่พบว่า นายอับดุลเลาะ สือแลแม เป็นผู้พิการทั้งแขนและขา เป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่มี 12 คน ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 60,000 บาทต่อปี

นายมะรอฟี ลอตันหยง คณะทำงานจังหวัดกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับการประสานงานกับสำนักงานภาคใต้ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลกะลุวอ พบว่านายอับุดุลเลาะ สือแลแม อยู่ในฐานข้อมูลสำรวจผู้เดือดร้อนและอยู่ในบัญชีผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของตำบลกะลุวอ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการเพื่อเสนอขอรับการอนุมัติงบประมาณในเดือนนี้และหลังจากที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนทางคณะทำงานตำบลจะเร่งรีบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

ม.อ.หาดใหญ่ลุยโครงการ "ปะการังเทียม" หวังลดวิกฤติกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้

ม.อ. เดินหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง ภายใต้โครงการ “สมาร์ทโปรเจค เฟส 3” หลังผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการและการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่าปะการังเทียมที่ออกแบบสามารถช่วยลดพลังงานคลื่นได้สูงสุดถึง 88% เผยเตรียมทดลองเชิงประจักษ์กับสภาพการใช้งานจริงในทะเล เดือน เม.ย. นี้ ก่อนติดตามผลต่อเนื่องอีก 1 ปี เพื่อประเมินผลด้านวิศวกรรม ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม หวังช่วยลดวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในทั้ง 23 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล โดยในบางพื้นที่มีการกัดเซาะวิกฤติถึง 20 เมตรต่อปี นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งมาตรการแก้ปัญหาที่ผ่านมามักเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ที่ยังไม่มีการจัดโซนนิ่งและแผนแม่บทระยะยาว ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่ ทั้งวิธีใช้โครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้างไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

“ม.อ. หวังที่จะแก้ปัญหาให้ชุมชนในท้องถิ่นภาคใต้ จึงได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยทางทะเลขึ้นมาเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ โดยแนวความคิดของการวิจัย ได้จากการสังเกตหาดทรายที่มีแนวปะการังอยู่ตามธรรมชาติ พบว่าพื้นที่เหล่านี้ประสบปัญหาน้อยมาก เนื่องจากแนวปะการังจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติที่สามารถชะลอความแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี จึงได้นำหลักการ “แนวปะการังเทียมกันคลื่น” มาเป็นทางเลือกในการแก้ใขปัญหาแบบบูรณาการ ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และไม่บดบังภูมิทัศน์การท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ สมาร์ท โปรเจค” ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)วิทยาเขตหาดใหญ่ หัวหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง กล่าว.
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

เปิดมุมมอง “การเมืองภาคพลเมือง” ผ่านทัศนะเลขา ฯ สพม.

หลายคนส่ายหน้าเมื่อพูดถึง “การเมือง” หลายคนนิยามเป็นความเบื่อหน่าย ขัดแย้ง ทุจริตคอร์รัปชั่น สภาพเช่นนี้สั่งสมลุกลามในสังคมไทยมานาน ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ

มีโอกาสได้สัมภาษณ์ เธียรชัย ณ นคร เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ในฐานะองค์กรซึ่งถือกำเนิดตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ช่วยนิยามคำว่า “การเมืองภาคพลเมือง”
เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการเมือง ตั้งแต่การสะท้อนประเด็นปัญหา กำหนดนโยบายพัฒนาสู่การปฏิบัติ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรการเมืองหรือ นักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

แล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร
ผมมองว่าประชาชนที่มีความคิดจะเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องการเมืองมีไม่มาก คงเป็นเฉพาะบางกลุ่มที่ตื่นตัว ซึ่งต้องดูด้วยว่าเป็นการเมืองในเรื่องใด ด้านใดเป็นการเฉพาะหรือไม่ แต่ความตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะทั่วไปที่มีความรู้สึกว่าตัวเองต้องการมีส่วนร่วม ยังน้อยอยู่มาก
แต่มีข้อแตกต่างระหว่างการเมืองระดับท้องถิ่นกับการเมืองระดับประเทศอยู่บ้าง คือความสนใจในการเมืองท้องถิ่นของคนระดับรากหญ้ามีมากกว่า
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

เอ็นจีโอ สายพันธุ์ใหม่ 2010

โดย : ชาญณรงค์ วงค์วิชัย

หลายครั้งผมเคยถามตัวเองว่าผมคืออะไร ผมคือนักพัฒนา ผมคือภาคประชาสังคม หรือผมก็คือเอ็นจีโอนั่นแหละ เอาเป็นว่าผมก็คงเป็นได้ทุกอย่างที่ผมอยากจะเป็นและก็คงเป็นทุกอย่างที่ผมสามารถทำงานได้เพื่อ... ที่ผมตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ยอมรับว่าต้องใช้ความกล้าหาญหลายครั้ง แต่ก็ยอมรับต้องถึงเวลาออกมาพูดคุยกันสักที เพราะช่องว่างระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องเริ่มขยับไกลออกจากกันไปทุกที ความคิดความเชื่อกลวิธีก็ต่างกันไปตามลำดับของกาลเวลา แต่ต้องบอกและต้องเน้นย้ำตรงกัน

"สิ่งนั้นไม่ใช่นำมาซึ่งความแตกแยก เพราะเขาหรือเราไม่ได้เชื่อแบบนั้นติดแบบนั้นและตีความผิดไปหมด ไม่ใช่พวกเราเหล่านี้เป็นต้น"

แล้วคำถามต่อมาเอ็นจีโอคืออะไร อะไรเรียกว่าสายพันธุ์เก่า หรือ อะไรที่เรียกว่าสายพันธุ์ใหม่ ผมเอาที่เขาเล่ามาแล้วกันแล้วมาเล่าต่อ

สายพันธุ์เก่า บางคนนิยามว่า เป็นพี่น้องที่เข้าถึงประชาชนทั้งความคิดการแต่งตัว เป็นพี่น้องที่เข้าไปร่วมเคลื่อนขบวน ทั้งประเด็นเย็นหรือร้อนๆ

สายพันธุ์ใหม่ บางคนเล่าว่าแบบใหม่นี่เล่าสื่อเก่ง เคลื่อนไว เล่นนโยบายและเป็นแบบกึ่งวิชาการ คือ พื้นที่บ้างวิชาการบ้าง
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

ชาวบ้านบ้านนาปรัง อ.นาทวี ค้านโครงการอ่างเก็บน้ำ กระทบชุมชน

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัดฝุ่นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง จ.สงขลา ชาวบ้านบ้านจี้สำนักงานชลประทานที่ 16 เลิกสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง ทั้งที่ชาวบ้านคัดค้านมานาน และเคยสั่งระงับโครงการไปแล้วตั้งแต่ปี 49

4 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 10.00 น. ตัวชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 ต.คลองกวาง อ.นาทวี จ.สงขลา กว่า 70 คนเดินทางมายังสำนักงานชลประทานที่ 16 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยถือป้าย “ชาวนาปรังไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำ” “โปรดช่วยกันรักษาอุทยานเขาน้ำค้าง” เพื่อร้องเรียนกรณีที่บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด ได้ลงพื้นที่สำรวจและออกแบบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนาปรัง จ.สงขลา และมีลงพื้นที่ในลักษณะข่มขู่ชาวบ้านให้รับค่าชดเชย ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิเสธไม่ยินยอมให้สำรวจและแจ้งว่าโครงการดังกล่าวมีชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการและมีการปฏิเสธไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 ทางบริษัทได้ปฏิเสธว่าไม่มีการยกเลิกโครงการและท้าทายชาวบ้านว่าหากระงับจริงให้เอาเอกสารมายืนยัน
วันนี้ทางกลุ่มจึงเดินทางมาขอความชัดเจนกับทางกรมชลประทานและมายืนยันว่าชาวบ้านไม่ต้องการโครงการ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มพิทักษ์แม่น้ำตาปี-พุมดวง คัดค้านโครงการชลประทานไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม

วันที่ 2 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา กลุ่มพิทักษ์แม่น้ำตาปี-พุมดวง ได้รวมตัวกันประมาณ 500-600 คน เพื่อชี้แจงเหตุผลสำคัญที่ต้องคัดค้านโครงการชลประทานตาปี-พุมดวง ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเป็นเวทีเปิด เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนหน่วยงานชลประทาน ผู้นำชุมชน ตัวแทนผู้ใหญ่บ้าน อบต.ทุกฝ่ายเข้าร่วม แต่ทางจังหวัดได้เรียกประชุมผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด่วน ซึ่งเป็นเครื่องมือหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามกับกลุ่มฯคัดค้านในพื้นที่ ทำให้วันที่ ๒ มีนาคม ที่ผ่านมาเป็นเพียงเวทีปราศรัยของกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

โดยบรรยากาศในเวทีมีแกนนำขึ้นสลับกันปราศรัย อย่างนายวิโรจน์ ทองเกษม ซึ่งเป็นแกนนำในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ กล่าวว่าการต่อสู้ดังกล่าวเป็นการพิทักษ์สิทธิในความเป็นชุมชนเอาไว้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างทั่วถึง ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ถึงความต้องการที่แท้จริง ไม่ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และที่สำคัญไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

โรงไฟฟ้ามาหา (สะบ้าย้อย) นะเธอ !!

ในท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังปรากฏความพยายามของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่จะเข้าไปทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ

ศักดิ์ฐานันท์ เปี่ยมใจจิ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.) ทุ่งพอ จากหมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งพอ มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ ในหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอที่เขาเกิดและเติบโตอย่างไร ในอันที่ต้องเผชิญกับสองสถานการณ์ใหญ่ที่ท้าทาย

ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายของชาวบ้านตำบลทุ่งพอที่เป็นแหล่งถ่านหิน ลิกไนต์ เพราะขณะนี้นอกจากเรื่องวุ่นๆ จากสถานการณ์ความไม่สงบแล้ว ยังมีเรื่องถ่านหินลิกไนต์เข้ามาอีก ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านไม่เห็นด้วยชัดเจน เพราะกลัวเรื่องของผลกระทบเพราะที่ผ่านมามีแต่พูดเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวมจะดีขึ้น อันนู้นก็ดี อันดีก็ดี แต่ไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องที่ไม่ดีหรือเรื่องตรงกันข้ามเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลทั้ง 2 ด้าน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

เครือข่ายเยาวชนประมงพื้นบ้านภาคใต้ค้านตั้งนิคมฯ ที่นครศรีธรรมราช

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 มีนาคม 2553 กลุ่มเครือข่ายเยาวชนประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจาก 14 จังหวัดภาคใต้ กว่า 300 คน ร่วมเดินรณรงค์ไปตามถนนราชดำเนิน เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จนถึงหอนาฬิกาหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราชและแผนพัฒนาภาคใต้ พร้อมออกแถลงการณ์ระบุว่าแผนพัฒนาดังกล่าวมุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากเกินไป เช่น สร้างเขื่อน โรงงานไฟฟ้าชีมวล โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะจะกระทบต่อชุมชนฝั่งทะเลและการประกอบอาชีพ จึงอยากให้การพัฒนาของรัฐเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและเคารพหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นกลุ่มเครือข่ายฯ ปิดป้ายรณรงค์ไว้ที่หอนาฬิกาก่อนจะแยกย้ายกลับ

เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำรัตภูมี คัดค้านโครงการแลนบริดจ์สตูล-สงขลา

เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมี ไม่เห็นด้วยกับโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนบริดจ์สตูล-สงขลา

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้จัดเวทีนำเสนอผลการคัดเลือกเส้นทางรถไฟฯ โดย สนข.ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีการประสานงานต่อไปยังชุมชนใกล้เคียง แต่ทว่าทุกครั้งที่จัดกิจกรรมย่อยลักษณะนี้ก็ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์การบริหารส่วนตำบลแต่อย่างใด วันที่ 25 กพ.ที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกัน เครือข่ายฯได้ทราบความเคลื่อนไหวของ สนข.ที่จะจัดเวทีจึงรวมตัวกันบางส่วนเพื่อเข้าร่วมและเสนอแนะความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวฯ ซึงประเด็นหลักๆคือ กระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่ชุมชนโดยทั่วไปแทบไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ชาวบ้านมีความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไป

โครงการดังกล่าวมีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการศึกษาครอบคลุมเขตการปกครองของจังหวัดสงขลา และสตูล รวม 12 อำเภอ 42 ตำบล
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

อีกหนึ่งอุดมการณ์ สานความตั้งใจฟื้นฟูวิถีชาวนาไทยแห่งลุ่มน้ำคลองภูมี

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมี ได้มีกิจกรรมเก็บข้าวเพื่ออนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของคนในชุมชน โดยรวมตัวกัน ณ บ้านนายจรินทร์ ธรรมวาโย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจที่จะสืบสานวิถีเดิมๆไว้ “บ้านหูแร่”ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนแถบนี้ในอดีต ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่สวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่ แต่ชาวบ้านบางครอบครัวก็ยังนิยมทำนากันอยู่ ส่วนใหญ่จะทำไว้กินเอง ต้นทุนการทำนาต่ำเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีใดๆ กินข้าวได้อย่างสบายอุรา

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สถานการณ์การทำนาในหลายพื้นที่ในลุ่มน้ำคลองภูมีเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น อาจเกิดจากสภาวะข้าวยากหมากแพง ต้นทุนการผลิตสูง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มีมาก จะเห็นได้ว่าหลายๆกลุ่มเริ่มตื่นตัวที่จะปลูกข้าวไว้กิน ผืนนาผืนน้อยเริ่มมีความหมายมากขึ้น รอยยิ้มของผู้คนเริ่มกลับมา ... แม้นี่คือรอยยิ้มหนึ่งตรงมุมเล็กๆของสังคม แต่ก็เป็นรอยยิ้มที่สุขใจ เราเชื่อว่าความสุขเริ่มจากตรงนี้คือที่ใจ “ทำนาได้อะไรมากกว่าที่คิด” อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายให้อำนาจนายกเล็กบริหารที่ดินหวงห้าม

รมต.สาทิตย์ เปิดโครงการบ้านมั่นคงไทยเข้มแข็งกันตัง จ.ตรัง พร้อมแจงแนวทางรัฐบาลแก้ปัญหาที่ดินเป็นระบบนำที่ดินหวงห้ามทุกประเภทมาจัดสรรเพื่อคนจน ใช้แนวทางธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน พร้อมเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเปิดโครงการบ้านมั่นคงไทยเข้มแข็งกันตัง ต.กันตังใต้ อ.กันตัง จ.ตรัง ด้วยการทำพิธีเปิดศาลาที่ทำการสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกันตัง จำกัด และลงเสาเอกบ้าน โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายปลื้ม ดวงสุวรรณ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายอำเภอกันตัง นายกเทศบาลเมืองกันตัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกันตังใต้ นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)และคณะประชาชนในนาม สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 500 คน มาร่วมในพิธีเปิด
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

คนสามจังหวัดวอนการเมืองสงบเสียที หลังจบคดียึดทรัพย์ "ทักษิณ"

หลังสิ้นเสียงอ่านคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ซึ่งศาลสั่งให้เงินจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปราว 60% หรือ 47,000 ล้านบาทเศษ จาก 76,000 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดินนั้น มีสุ้มเสียงแสดงความคิดเห็นทั้งจากบรรดานักกฎหมาย นักวิชาการ และนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ตลอดจนมวลชนของกลุ่มสีเสื้อต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่พื้นที่สำหรับความเห็นของชาวบ้านแท้ๆ กลับยังมีไม่มากนัก

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อค้นหาว่าชาวบ้านจริงๆ คิดกันอย่างไร และมองสถานการณ์การเมืองไทย ตลอดจนสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับจากนี้ไปอย่างไร

นายทนง ไหมเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา มองว่า บ้านเมืองไทยขณะนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีแล้ว ส่วนปัญหาที่มีอยู่บ้างส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องส่วนตัว จึงอยากให้นักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยประเด็นส่วนตัวหรือประโยชน์ส่วนตัว คิดทบทวนให้ดี

"ทุกครั้งที่เปิดโทรทัศน์ก็มีแต่เรื่องการเมือง ทำให้ทุกคนเบื่อ ไม่อยากเปิดโทรทัศน์ดู โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมามีแต่คดียึดทรัพย์ของอดีตนายกฯ ทำให้รู้สึกเบื่อการเมืองไทยมาก” อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

440 ปีแห่งศรัทธา...130 ปี มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

"งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว" งานประจำปีของชาวจังหวัดปัตตานีซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ในช่วงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม สำหรับปีนี้ผู้คนจากทั้งในและนอกพื้นที่ได้สัมผัสกับรูปแบบงานสุดอลังการ...“440 ปีแห่งศรัทธา 130 ปีมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวท่องเที่ยวปัตตานี เทิดไท้สดุดีมหาราชา” 8 วัน 8 คืน 8 มหัศจรรย์แห่งศรัทธา ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.- 3 มี.ค.2553

นายธีรเทพ ศรียะพันธ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ผสมผสานจนเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น นอกจากนี้ จังหวัดปัตตานียังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย มีเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตชุมชนที่สวยงามน่าสัมผัส เหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของการพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานีอย่างต่อเนื่องหลากหลาย


จังหวัดปัตตานีได้ร่วมกับเทศบาลเมืองปัตตานี มูลนิธิเทพปูชนียสถาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “440 ปี แห่งศรัทธา 130 ปี มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวท่องเที่ยวปัตตานี เทิดไท้สดุดีมหาราชา” และเทศกาลสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยมีการจุดประทัดจำนวน 1 ล้านนัด เพื่อเฉลิมฉลองเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปีนี้ครบรอบ 130 ปี โดยมีพิธีเปิดในช่วงบ่ายวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และเช้าตรู่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีพิธีแห่พระลงน้ำที่บริเวณเชิงสะพานเดชานุชิต และทำพิธีลุยไฟที่บริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดพิธีลุยน้ำ-ลุยไฟทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยด้วย หลายๆ ท่านคงได้รับชมไปแล้ว
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

สื่อพื้นบ้านกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมสู่การการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ปัจจุบัน การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญไม่น้อยในระบบเศรษฐกิจไทย และนอกจากกระแสหลัก การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-ดื่มด่ำกับวิถีท้องถิ่นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม ชุมชนต้นแบบเหล่านี้ทำอย่างไรที่สามารถดึงทุนทางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวได้

นายธัญญะ พูลสวัสดิ์ ผู้ศึกษาบทบาทสื่อพื้นบ้านกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยชูหนังตะลุงในพื้นที่ 4 จังหวัด พัทลุง ตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งโดดเด่นในการนำวัฒนธรรมพื้นบ้านมาเป็นตัวชูโรงต่อยอดการพัฒนาในมิติต่างๆ เริ่มต้นจากการนิยามหนังตะลุงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ พวกเขาต่อยอดไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ธัญญะ เล่าว่า หนังตะลุงมีอิทธิพลและเกี่ยวโยงกับชีวิตของชาวบ้านในฐานะศิลปะพื้นบ้านมายาวนานนับ 100 ปี โดยเฉพาะที่ จ.พัทลุง มีการแสดงและรวมกลุ่มทำหนังตะลุงอย่างแพร่หลาย “นายหนังตะลุง” มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำทางความคิด ที่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อถือ และศรัทธา หากมีงานที่ต้องขับเคลื่อนโดยขบวนการชุมชน ชาวบ้านมักจะยกให้นายหนังตะลุงเป็นพลังสำคัญ “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือสิ่งแวดล้อม กระทบถึงวัฒนธรรมพื้นบ้าน บทบาทที่เคยเด่นชัดค่อยๆ ลดเลือนและถูกแทนที่ด้วยอำนาจทุนที่มารูปแบบต่างๆ ทำให้ความนิยมและศรัทธาในหนังตะลุงลดน้อยลงไป ” อ่านต่อ คลิ้กที่นี่