จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

ใครบอกว่า... ชาวใต้เฉยๆ ต่อปัญหาม็อบสารพัดสีที่กรุงเต้บ

ชาวใต้เฉยๆต่อปัญหาจริงเหรอ ?

ข่าวการทำโพลของสถาบันหนึ่งอ้างผลการสำรวจว่า คนในภาคต่างๆ มีความเครียดต่อภาวะวิกฤตทางการเมืองไม่เท่ากัน ไม่แปลกที่ผลการสำรวจออกมาเช่นนั้น แต่ที่หมอไพศาล (นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ อุปนายกพุทธสมาคม จ.ตรัง ได้เขียนไว้ในคอลัมน์ ‘พบหมอไพศาล’ หนังสือพิมพ์คนตรัง)นำมาเขียนถึงก็คือส่วนหนึ่งของผลการสำรวจที่บอกว่าคนภาคใต้เฉยๆ ต่อภาวะความตึงเครียดทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีความรู้สึกว่าเหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตของเขามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานดูเหมือนจะมากที่สุด นอกจากนี้มีการสำรวจของกระทรวงหนึ่งนำเสนอว่าประชาชนมีความเครียดเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง

หมอไพศาลให้เกียรติกับนักวิจัย ไม่ตั้งข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยเหล่านี้ ส่วนในการดำเนินชีวิตจริง จำเป็นต้องตรวจสอบที่มาที่ไปของการสำรวจทั้งการค้นหาว่าตรงกับสิ่งที่นำเสนอหรือเปล่า (ต้องยอมรับว่าสถาบันดังๆ บางครั้งก็ยกเมฆผลการสำรวจหรือผลการวิจัยเป็นเช่นกัน) เราข้ามความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยไปก่อน ลองมาอธิบายปรากฏการณ์และผลการวิจัยดูดีกว่าว่าทำไม คนใต้ที่เคยถูกยกให้ว่าเป็นผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือสูงมากตลอดมากลับเพิกเฉยต่อเหตุการณ์บ้านเมืองได้เช่นนี้ อะไรทำให้คนใต้เปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมืองไปได้ถึงเพียงนี้
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ประมงพื้นบ้านสงขลาจ่อปิดแท่นขุดเจาะนิวคอสตอลหลังประชุมเหลว

ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลากว่า 500 คน ประท้วงบริษัทน้ำมันปล่อยมลภาวะไม่รับผิดชอบ กดดันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รับผิดชอบ จ่ายเงินจำนวน 36 ล้าน ไม่ได้รับเงินก็จะปิดร่องน้ำและแท่นขุดเจาะต่อไป

หลังกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและเรืออวนลากเล็ก ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา จำนวน 500 คน ได้มาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อรอฟังผลการประชุมในการแก้ปัญหา ผลกระทบที่เกิดจากการขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง และการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวประมง โดย นายวิญญู ทองสกุล ผวจ.สงขลา ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทสัมปทานขุดเจาะน้ำมันทั้ง 4 บริษัท และตัวแทนประมงพื้นบ้าน 14 กลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ผลจากการประชุม ตัวแทนกรมมลพิษฯ เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่าง ก้อนสีดำ และสีน้ำตาล ที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาติดชายฝั่งจำนวนมาไปทำการพิสูจน์ พบว่า เป็นน้ำมันดิบที่มาจากแท่นขุดเจาะ เช่นเดียวกับก้อนสีเหลือง เป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ในการขุดเจาะ เช่นเดียวกับการตรวจสอบน้ำที่สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด และมีการปนเปื้อนจากสารที่มาจากการขุดเจาะ

นายวิญญู ทองสกุล ผวจ.สงขลา ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าวว่าในเบื้องต้น ยังสรุปไม่ได้ว่า เป็นการกระทำของบริษัทขุดเจาะอะไร แต่ชาวประมงส่วนใหญ่ เชื่อว่า เป็นการกระทำของ บริษัท นิวคอสตอล ประเทศไทย จำกัด เพราะเป็นแท่นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งที่สุด และเกิดการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท นิวคอสตอล มาดำเนินการขุดเจาะ นายวิญญู จึงขอให้ทั้ง 3 บริษัทต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยในขั้นต้น ให้บริษัท เชฟรอนประเทศไทย จำกัด และ ปตท.สผ.จ่ายบริษัทละ 4 ล้าน ส่วนนิวคาสตอลได้จ่ายเงินไว้ที่บริษัทแล้ว 28 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยรายได้ให้กับชาวประมงผู้ได้รับผลกระทบ

แต่ปรากฏว่า ข้อเสนอของ ผวจ.สงขลา ไม่สามารถตกลงกันได้ โดย บริษัท เชฟรอน และ ปตท.สผ.ได้อ้างว่า เงินกองทุนส่วนหนึ่งของบริษัทได้จ่ายให้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว ให้เป็นอำนาจของกรมเชื้อเพลิงในการจ่าย ในขณะที่ตัวแทนกรมเชื้อเพลิง ขอเวลา 7 วัน ในการที่จะให้คำตอบว่า จะสามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้หรือไม่ ทำให้การเจรจาไม่เป็นผล นายวิญญู ได้ทำการปิดประชุม โดยกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ที่ประชุมร่วมกัน เพราะบริษัททั้งหมดไม่จริงใจ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเล่นไม่ให้ความร่วมมือกับจังหวัด

หลังจากนั้น เมื่อเวลา 17.30 น.แกนนำชาวประมง จึงได้แจ้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ โดยมีชาวประมงบางส่วนได้นำเรือเข้าปิดร่องน้ำบ้างแล้ว และได้ประกาศว่า จะนำเรือจากต่างอำเภอมาปิดร่องน้ำทั้งหมดเพื่อกดดันให้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รับผิดชอบจ่ายเงินจำนวน 36 ล้านให้กับชาวประมง หากไม่ได้รับเงินก็จะปิดร่องน้ำและแท่นขุดเจาะต่อไป

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

เงินเยียวยากับสารพัดปัญหา...และทิศทางใหม่ดับไฟใต้ด้วย “เยียวยาคุณภาพ”

ย่างเข้าสู่ปีที่ 7 ไฟใต้ ภารกิจหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบก็คือการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งใช้เม็ดเงินไม่น้อย และมีปัญหาตามมาไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินซึ่งหลายๆ ครั้งกลับสร้างความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ จนต้องมีการพูดถึงเรื่อง “เยียวยาจิตใจ” และการ “เยียวยาคุณภาพ” เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ข้อมูลจากฝั่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงวันที่ 14 ก.พ.2553 เฉพาะศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดปัตตานีให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบไปทั้งสิ้น 3,561 ราย มีทั้งทุพพลภาพ บาดเจ็บ และเสียชีวิต เม็ดเงินที่ใช้ไปสูงถึง 497 ล้านบาทเศษ

แต่ “เงิน” ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวของงานเยียวยาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

เอก ณัฐทิพชาติ หรือ “ปลัดหนึ่ง” หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดปัตตานี เล่าถึงกระบวนการเยียวยาที่รัฐทุ่มเทตลอด 6 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปของงานเยียวยาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

O งานเยียวยาของรัฐยึดหลักอะไร และในระยะ 6 ปีสะท้อนให้เห็นพัฒนาการอะไรบ้าง?

ที่เห็นเด่นชัดมี 5 ประการ อย่างแรกคือ “นโยบาย” เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่เลือกศาสนาหรือสถานะ จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนทั่วไปก็ได้รับการดูแล และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล นโยบายเรื่องนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน

สอง “งบประมาณ” กล่าวคือตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตั้งงบกลางสำหรับใช้เพื่องานเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ทุนการศึกษาบุตร การจ้างงานเร่งด่วน (โครงการ 4,500) โครงการส่งเสริมอาชีพรายบุคคลและกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตและครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับครัวเรือน

สาม “การพัฒนางบจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปลี่ยนเป็นงบประมาณแผ่นดิน” คือกระบวนการเยียวยาในระยะแรกที่เริ่มต้นโดยภาครัฐนั้นใช้เงินของกองสลาก และนำมาจ่ายโดยยังไม่มีหลักเกณฑ์เท่าที่ควร ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ผ่านการประเมิน ประมวลผล และอุปสรรค ตรงนี้ก็เป็นพัฒนาการขึ้นมา ที่สำคัญเงินงบประมาณแผ่นดินที่นำมาใช้แทนเงินจากกองสลากก็เป็นการปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักความคิดความเชื่อทางศาสนาของพี่น้องที่เป็นมุสลิมด้วย

ตัวอย่างของพัฒนาการก็เช่น วันนี้มีอนุกรรมการช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นหลักประกันกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ แต่ไปเกิดผลเสียหายอันไม่เจตนาต่อบุคคลอื่น หรือเจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือทรัพย์สิน ก็จะมีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือขึ้นมา
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

มหกรรมรวมพลคนกินปลาครั้งที่ 3 โดยสมาคมรักษ์ทะเลไทย

มหกรรมรวมพลคนกินปลาครั้งที่ 3 โดยสมาคมรักษ์ทะเลไทย ณ ลานหน้าหอประชุมเทศบาลเมืองหาดใหญ่ (หอนาฬิกาเก่า) ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2553

ปีนี้บรรยากาศไม่คึกคักเหมือน 2 ปี ที่ผ่านมา เพราะกระแสการเมือง ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ดึงความสนใจของประชาชนไปหมด

แต่ก็นับเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ควรสนับสนุนต่อเนื่องไปทุกๆ ปี เพราะ นอกจากจะสร้างความเข้าใจในวิถี ปัญหา ของชาวประมงพื้นบ้านให้กับคนทั่วไปแล้วยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้ "คนเมือง" มีโอกาสเข้าถึง ความสด ความสะอาด และปลอดภัย ของอาหารทะเล ที่ผ่านการทำประมงแบบยั่งยืนของชาวบ้านอีกด้วย คลิ้กดูภาพบรรยากาศที่นี่ครับ

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ระเบิดเขาคูหา บทพิสูจน์สิทธิชุมชนคนคูหาใต้

“เขาคูหา ภูผามีตำนาน”
เป็นคำพูดของลุงคิด อินทอง อายุ 64 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ที่ได้พูดในเวทีสาธารณะจัดโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 53 ณ โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบต่อการต่ออายุสัมปทานระเบิดหินภูเขาคูหา แม้จะเป็นคำพูดสั้น ๆ แต่แฝงไปด้วยความหมายอย่างยิ่ง

ลุงคิด อินทอง เป็นชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จากการระเบิดหินตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อายุสัมปทานได้หมดลงแล้ว วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพูดคุยเพื่อค้นหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าทางราชการได้ประกาศให้ภูเขาคูหาเป็นแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมเมื่อปี 2540 และเปิดให้มีการสัมปทานระเบิดหินอายุสัมปทาน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2542 - 2552 โดยมีผู้ได้สัมปทานระเบิดหิน 2 บริษัท คือบริษัทพีระพลมายนิ่ง จำกัด และนายมนู เฉยกูล ซึ่งรู้จักกันดีในนามเจ้าพ่อระเบิดหินแห่งยะลา โดยดำเนินการในนามบริษัทแคนเซี่ยมไทยอินเตอร์ โดยที่เจ้าตัวยังไม่เคยลงพื้นที่มาให้เห็นเลยตลอด 10 ปี ที่ทำการระเบิดหินที่เขาคูหา
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ธนาคารชุมชนมะนัง ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล

รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล และ ดร.สิริรัตน์ เกียรติปฐมชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันถอดบทเรียนการแก้หนี้นอกระบบโดยภาคประชาชน ที่เริ่มจาก กลุ่มออมทรัพย์ บูรณาการทุนชุมชนสู่ ธนาคารชุมชน เชื่อมต่อการทำวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนิคมพัฒนาให้มีสวัสดิการชุมชน และล่าสุดกำลังประสบผลสำเร็จกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่

ความเป็นมาในการจัดตั้งธนาคารชุมชน สืบเนื่องจากการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ในตำบลพัฒนานิคมตั้งแต่ปี 2537 ในหมู่ที่ 7 รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง และกองทุนหมู่บ้านที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ไม่ค่อยประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลความไม่เชื่อมั่นของสมาชิกที่มีต่อการดำเนินงานของกลุ่ม จึงขาดการให้ความร่วมมือ และความไม่ไว้วางใจกันเองระหว่างกรรมการบริหารกลุ่ม นอกจากนั้นระเบียบและการบริหารการเงินขององค์กรการเงินชุมชนกลุ่มต่างๆ ก็ขาดมาตรฐาน

ในปี 2544 รัฐบาลมีนโยบายให้มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จึงทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องขององค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในช่วงเวลานั้นมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นในหมู่ที่ 1, 5 และ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ที่ 5 มีการนำระบบการนำโปรแกรมบัญชีมาช่วยในการจัดทำบัญชีของกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้เกิดความคิดในการรวมกลุ่มออมทรัพย์ในตำบลเป็นเครือข่าย และมีการรวมบัญชีของแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกันให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อ่านรายละเอียด คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

เครือข่ายติดตามท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยื่นหนังสือกรมเจ้าท่า ให้เผยแพร่ข้อมูลโครงการ


วันที่ 19 เมษายน 2553 เวลา 10.00 น. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลจำนวน 15 คน ได้เข้ายื่นหนังสือขนส่งพาณิชย์นาวีจังหวัดสตูล ( กรมเจ้าท่าสตูล ) เพื่อขอทราบข้อมูลและความคืบหน้าการผลักดันโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อให้มีการกระจายข้อมูลสู่คนในพื้นที่ให้มากขึ้นเพราะที่ผ่านมาคนในพื้นที่จังหวัดสตูลไม่มีข้อมูลมากเพียงพอและไม่ทราบว่าจะมีโครงการใดบ้างที่จะลงมาในพื้นที่

นายอับดุลรอศักดิ์ เหมหวัง ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า “เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลรวมตัวกันมาจากเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสตูลมายื่นหนังสือต่อสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีเพื่อขอข้อมูลในรายละเอียดโครงการต่าง ๆ ที่จะลงมาในพื้นที่สตูล เพราะคนในสตูลเองสับสนในเรื่องโครงการต่าง ๆ ที่ถูกผลักดันลงสู่พื้นที่สตูล แต่ไม่มีใครทราบรายละเอียดโครงการต่าง ๆ ที่แน่ชัด เพราะแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลที่เคยผลักดันโครงการนี้เองก็ยังไม่ทราบข้อมูล ไม่สามารถตอบข้อสงสัยของสมาชิกเครือข่ายฯได้ ทำให้ทางเครือข่ายฯ ต้องมาติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะสำนักงานขนส่งทางน้ำ ตามคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล”

นายธวัท กุ่ยพาณิชย์หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาสตูล ได้มารับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายว่า “โครงการได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ได้มีการขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเมื่อ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากกว่านี้ ในส่วนสำนักงานไม่มีรายละเอียดโครงการแต่ตนเองจะประสานขอข้อมูลรายลละเอียดจากกรมฯให้ภายใน 1 เดือน”

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

สุขภาพดีด้วย “ผักพื้นบ้านอาหารพื้นถิ่น”

“ผักพื้นบ้าน” เป็นผักที่ขึ้นอยู่ริมรั้วบ้านหรือตามหัวไร่ชายนา ที่ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นวัชพืชไร้ค่ากรุงรังทั้งๆ ที่ผักเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสรรพคุณทางยามากมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้แล้ว เมื่อนำมาประกอบอาหารยังเปรียบเสมือนยาหม้อใหญ่ที่มีอยู่ในครัวเรือน

ด้วยเกรงว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านหลายๆ อย่าง อาจถูกกลืนหายไปตามสภาวะเศรษฐกิจ เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชน ต.ตำนาน อ.เมือง จ.พัทลุง จึงได้จัดทำ “โครงการอาหารสุขภาพจากผักพื้นบ้านชุมชนตำบลตำนาน” เพื่อศึกษารวบรวมและฟื้นฟูองค์ความรู้จากผักพื้นบ้านและสร้างความตระหนักให้ชุมชนเห็นความสำคัญของอาหารพื้นบ้านที่ส่งผลต่อสุขภาพ

ชุติมา เกื้อเส้ง หัวหน้าโครงการและประธานเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชนฯ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ทำงานด้านแผนสุขภาวะชุมชนพบว่าชาวบ้านหลายรายป่วยเป็นโรคโดยไม่ทราบสาเหตุ ทุกคนมีแนวคิดอยากปลูกผักกินเองเพื่อป้องกันโรคภัยจากสารเคมี ที่แฝงมากับอาหารที่ซื้อจากตลาด แต่จากการพูดคุยกัน ชาวบ้านหลายคนไม่มีความรู้ว่าผักพื้นบ้านนั้นมีคุณประโยชน์ รวมถึงไม่รู้วิธีการปรุงอาหารจากผักเหล่านี้ เนื่องจากภูมิปัญญาในการประกอบอาหารท้องถิ่นถูกกลืนหายไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายฯ จึงวางแผนการทำงานจากปัญหาตรงนี้ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและหันกลับมาปลูกพืชและปรุงอาหารจากผักพื้นบ้าน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

หยุดระบบอำมาตย์....เสริมคุณค่าสภาองค์กรชุมชน

ประชุม work shop สภาองค์กรชุมชนตำบล จ.ยะลา ยกสถานการณ์บ้านเมืองขับไล่อำมาตย์ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งสภาองค์กรชุมชน พัฒนาการเมือง ประชาธิปไตยไทย

วันที่ 10 เมษายน 2553 ห้องประชุม เทพาบีช แอนด์ คันทรีคลับ อ.เทพา จ.สงขลา เครือข่ายองค์กรชุมชนจ.ยะลา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดทิศทางสภาองค์กรชุมชนตำบล จ.ยะลา เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจต่อหลักคิด และเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่ต่างๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล

นายสุวัฒน์ คงแป้น หนึ่งในผู้ผลักดันให้มี พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 กล่าวว่า ปัญหาการเมืองขณะนี้มีการกล่าวถึงคำว่า ระบบอำมาตย์ ซึ่งมีความหมายถึงการที่ผู้มีตำแหน่งสูงกว่าใช้อำนาจสั่งการต่อผู้ที่ด้อยกว่าให้ทำตาม นั่นคือการไม่เห็นคุณค่าของคนแต่ละคน เช่นในอดีตที่ผ่านมามีคำกล่าวว่า เชื่อผู้นำชาติเจริญ หรือที่ชาวบ้านพบว่า ฝ่ายราชการเอาโครงการที่กำหนดไว้แล้วเอามาให้ชาวบ้าน เช่น เลี้ยงไก่ ทำบ่อปลาดุก ซึ่งก็จะทำเหมือนๆกันทุกที่ และไม่เคยใส่ใจว่าตรงความต้องการของชาวบ้านหรือไม่ ความเป็นอำมาตย์นี้มีอยู่ในตัวทุกคนไม่เฉพาะแต่ นักการเมือง ทหาร หรือข้าราชการระดับสูง เท่านั้น
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

องค์กรชุมชนใต้นำการเมืองภาคพลเมืองแก้ปัญหาคนใต้

สพม.จับมือสภาองค์กรชุมชนฯสงขลาจัดเวทีระดมปัญหา 4 โซนพื้นที่ โยงผลกระทบจากกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาที่มาจากการเมือง ภาคประชาชนเห็นร่วมใช้การเมืองภาคพลเมืองแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553 คณะทำงานส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองภาคใต้ สภาพัฒนาการเมือง จัดเวทีส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ณ ห้องประชุมพุทธบารมี ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยมี 60 ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วภาคใต้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็น

ผลการระดมความคิดเห็นที่สำคัญได้แก่ ความเข้าใจของประชาชนต่อการเมืองภาคพลเมือง คือ การรวมกลุ่มของประชาชนอย่างเป็นอิสระ เป็นองค์กรและมีการเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อประโยชน์ของชุมชนภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยชุมชนมีสิทธิการมีส่วนร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมกำหนดกติกา ร่วมตัดสินใจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในชุมชน ได้แก่ วิถีชีวิตของคนในชุมชน วัฒนธรรมภูมิปัญญา ทรัพยากรท้องถิ่น สิทธิชุมชน นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี สร้างสังคมที่เป็นธรรม ไม่ใช่การเมืองแบบเลือกตั้งผู้แทนซึ่งมีเรื่องของการใช้อำนาจ และผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

"อย่า-หยุด-ยิ้ม" คาถาดับไฟความรุนแรง

ในที่สุดสังคมไทยก็หลีกไม่พ้นเหตุการณ์ "นองเลือด" จากความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติเรา หนำซ้ำสถานการณ์ยังส่อเค้าบานปลายกลายเป็นบาดแผลเรื้อรังที่ยากจะนำความสงบสุข สมานฉันท์กลับคืนมาได้ดังเดิม

"สยามเมืองยิ้ม" ที่ทั่วโลกเคยยกย่อง นับจากวันนี้อาจกลายเป็นเพียงอดีต...

วิกฤตการณ์การเมืองเที่ยวนี้ปะทุแทรกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สังคมไทยยังอยู่ในสภาพหลงทางอยู่ในเขาวงกต กระบวนการคลี่คลายปัญหายังคล้ายพายเรืออยู่ในอ่าง ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก มานานเกือบ 7 ปีแล้ว

ประวัติศาสตร์บาดแผลเที่ยวนี้จึงยิ่งทำให้ทุกปัญหาในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาภาคใต้แก้ยากมากขึ้นไปอีกเป็นทับทวี

ถึงนาทีนี้คงไม่มีอะไรดีกว่าการดึงสติให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว และพิจารณาปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา หยุดใช้ "อวิชชา" และ "อคติ" แล้วจึง "ตั้งสติ" ให้สมกับการเป็น "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสฟังคำบรรยายอันมีค่าจาก พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในห้องเรียนหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "หลักสูตร 4 ส."

สารัตถะที่ได้รับจาก พระมหาหรรษา คือคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่จะดับไฟความขัดแย้งและความรุนแรงในบ้านเมืองของเรา ซึ่งขอนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกัน ณ ที่นี้
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เปิดเวทีถกปัญหาเหมืองหินเขาคูหา

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 เวลา 9.00 น. ที่โรงเรียนมัธยมสิริวรรณวรี 2 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆจัดเวทีปรึกษาหารือกันของประชาชน ประเด็นเหมืองหินเขาคูหาสืบเนื่องจากการคัดค้านกรณีการต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินเขาคูหา ของบริษัทบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด และบริษัท แคลเซียมไทย จำกัด

โดยมีชาวบ้านตำบลคูหาใต้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการเหมืองหินและผู้สนใจ รวมทั้งเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดสงขลา ตัวแทนหน่วยงานทั้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ อุตสาหกรรมจังหวัด พลังงานจังหวัด สาธารณสุข นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณ มอ.หาดใหญ่ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน


ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อาศัยอำนาจตามความใน พรบ.สภาองค์กรชุมชน มาตรา 21(6) ซึ่งได้ให้มีภารกิจ ในการจัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการดังกล่าวต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายปาฎิหาริย์ บุญรัตน์ ผู้นำสภาองค์กรชุมชนฯ ระบุว่า การทำเหมืองหินเขาคูหาได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนมายาวนานกว่า 20 ปีจนมีการประท้วงเกิดขึ้นเป็นระยะตั้งแต่สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย สภาพจิตใจ สังคม และจิตวิญญานส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและการเกษตรมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง

นางสุดา วรรณจาโร ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เผยว่า “โดยส่วนตัวไม่อยากเห็นคนในตำบลทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมทั้งไม่อยากให้เขาควนรูหายไป ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ทำอย่างไรถึงจะพบกันครึ่งทางได้ ที่ผ่านมาสภาฯ คูหาใต้ ได้เปิดเวทีหารือกันขึ้นหลายครั้ง นับถึงเวทีนี้คิดว่าชาวบ้านได้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น ได้รับรู้ถึงข้อมูลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญก็คือ ภาคีทุกภาคส่วนเริ่มเห็นคุณค่าของการพูดคุยปรึกษาหารือ และเริ่มยอมรับบทบาทสภาองค์กรชุมชนตำบลมากขึ้น”

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวทางการหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาพูดคุยกัน และรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน โดยใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เป็นเวทีในการพูดคุย แลกเปลี่ยน สร้างความเข้าใจ และร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งจะนัดประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกลับไปทำข้อมูลของแต่ละฝ่าย และกลับมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน รายงาน

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

สุขสันต์วันสงกรานต์

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข

ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น "Water Festival" เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการซ่อมสร้างบ้านสร้างคนพัฒนาชุมชน


คณะทำงานระดับตำบลสงขลา 18 แห่งใน 5 อำเภอ ร่วมเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการที่ดี ชาวจะนะเผยแม้ว่าชาวบ้านจะบริหารจัดการผิดพลาด แต่ก็เป็นโครงการที่ข้อมูลถูกต้อง คนจนในชุมชนได้รับความช่วยเหลือ ตรงความต้องการของชาวบ้าน สร้างความร่วมมือกับฝ่ายอำเภอในการพัฒนาชุมชน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ห้องประชุมวิทยาลัยอาชีวะสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นหลัก จ.สงขลา จัดเวทีสร้างความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณไทยเข้มแข็ง ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก โดยมีผู้แทนชุมชนระดับตำบลเข้าร่วมจจำนวน 153 คน จาก 18 ตำบล ใน 5 อำเภอ
วัตถุประสงค์ในการจัดเวทีครั้งนี้ เพื่อเป็นการทำคามเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง การจัดการเอกสารทางการเงิน การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การจัดการด้านหลักฐานทางการเงิน ตลอดจนการทำความเข้าใจหลักการดำเนินงานของโครงการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย

นางมณี หลำโส๊ะ หมู่ที่ 4 บ้านปากบาง ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า สำหรับชาวบ้านโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ให้ชาวบ้านได้บริหารจัดการเอง ซึ่งหลายพื้นที่มีปัญหาในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการนี้ไม่เหมือนกับโครงการอื่นที่ฝ่ายราชการมาทำให้ชาวบ้าน แต่ก็สร้างปัญหาให้ชาวบ้าน เช่น ฝ่ายราชการเอาเป็ด ไก่ มาให้เราที่เป็นชาวประมง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน หรือหลายโครงการต้องการให้คนจนในหมู่บ้าน แต่คนที่ได้รับสิ่งของจริงกลับเป็นคนมีฐานะในชุมชน นั่นคือราชการทำข้อมูลผิดพลาด
แม้ว่าโครงการนี้จะสร้างปัญหา สร้างความยุ่งยากให้ชาวบ้าน แต่ก็มีประโยชน์มากกว่า เพราะเราชาวบ้านทำข้อมูลเอง และสามารถตรวจสอบข้อมูลด้วย เพราะเราจะรู้ว่าใครเป็นใครในชุมชน แล้วทำให้ชาวบ้านได้รู้ปัญหาของชุมชน ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาของชุมชน เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ
“ที่สำคัญของการของพอช.จะช่วยดึงให้ฝ่ายราชการมาร่วมกับชาวบ้านด้วย เช่น ให้ปลัดอำเภอมาร่วมเป็นกรรมการตรวจงาน ซึ่งต่อไปก็จะพัฒนาเป็นภาคีความร่วมมือในการทำงานพัฒนาชุมชนเรื่องอื่นต่อไป”นางมณี กล่าว.

จาก http://www.souththai.org

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

คณะทำงานที่อยู่อาศัยจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่ กรณีร้องขอความช่วยเหลือสร้างที่อยู่อาศัย

เมื่อวันอังคาร ที่ 6 เมษายน 2553 คณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จังหวัดนราธิวาส โดย นายมะรอฟี ลอตันหยง,นายธีรวัฒน์ มะกูซง และ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียน ครัวเรือน นางมาซีเต๊าะ ตาเล๊ะ ตามหนังสือขอความช่วยเหลือสร้างที่อยู่อาศัย ผ่านศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนราธิวาส พบว่านางมาซีเต๊าะ ตาเละ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 255 หมู่ที่ 10 บ้านคีรี ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีสมาชิกครอบครัว 7 คน สามีเป็นผู้พิการทางสายตาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จึงเป็นเหตุให้นางมาซีเต๊าะ ทำหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัวเพียงผู้เดียว ครัวเรือนมีฐานะยากจน สภาพบ้านวัสดุไม่คงทน คับแคบและทรุดโทรม ครัวเรือนนี้อยู่ในพื้นที่เป้าหมายหมู่บ้านยากจน (บัญชีหมู่บ้านพัฒนาเร่งด่วน 696) คณะทำงานฯ ระดับตำบล กำลังดำเนินการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับตำบล เสนอคณะกรรมการฯ จังหวัดนราธิวาส และคณะอนุกรรมการฯ โครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยฯ ในรอบการประชุมเดือนพฤษภาคม 53 ต่อไป.

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด

วันก่อน เรามีนัดกับเกษตรตำบลกาเยาะมาตี และแกนนำของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เพื่อให้พาทีมวิจัยไปดูพื้นที่และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการน้ำทั้งแบบรัฐและแบบชาวบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแรกแล้ว พวกเราก็ไปดูเส้นทางทรัพยากรอื่นๆ ทั้งน้ำ ป่า ดิน ทุ่งนา สวน ไร่ กันต่อ

แม้ในใจทุกคนจะเข้าใจถึงสถานการณ์ความไม่สงบ และรู้ว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ตลอดเวลาพวกเราจึงระทึกกับเส้นทางสายเปลี่ยวที่แวดล้อมด้วยป่าไม้ สวนผลไม้ สวนยางพารา ห่างๆถึงจะพบชาวสวนสักกลุ่มหนึ่ง บ้างกำลังขนขี้ยางขึ้นรถ บ้างก็พบคนกำลังขนไม้ยาง ขนมะพร้าว จับปลา เล่นน้ำ ขณะที่เส้นทางที่เราผ่านไปนั้นก็แสนจะทรุดโทรม บ้างถูกสายน้ำที่ไหลมากัดเซาะถนนจนขาด บางเส้นทางก็พอที่จะผ่านไปได้ แต่พวกเราก็ไปด้วยวิญญาณของเด็กผู้อยากรู้อยากเห็น เราเพียงแต่อยากรู้ว่าเส้นทางที่กำลังผ่านขึ้นไปบนเทือกเขาบูโดนี้จะสามารถผ่านไปสู่อำเภอกะพ้อได้หรือไม่
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

สตูล แตกตื่นหนีตาย ดินไหวอินโดสะเทือนไทย

ประชาชนสตูลแตกตื่น หลังเกิดแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ที่อินโดนีเซีย สะเทือนที่ไทย ประกาศเตือน 6 จังหวัดฝั่งอันดามันให้เฝ้าระวัง ขณะที่นักท่องเที่ยว ชาวบ้านหนีตายออกจากพื้นที่...

เมื่อเช้าวันที่ 7 เม.ย. ที่ จ.สตูล นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าฯ สตูล ได้มีวิทยุด่วน แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สตูล สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สตูล ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน สื่อมวลชน ได้ทราบข่าวและเฝ้าระวัง เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวในทะเลดังกล่าว คาดว่ามีโอกาสเกิดสึนามิสูง ให้อพยพไปที่ปลอดภัยและติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชาชนที่อาศัยบริเวณตามหมู่บ้านชายฝั่งทะเล และตามเกาะต่างๆ ได้ทราบข่าว ต่างก็เตรียมตัวอพยพและบางรายมีการอพยพไปในที่ปลอดภัยทั้งที่สัญญาณเตือนภัย ยังไม่มีการเปิดเตือนภัยแต่อย่างได โดยที่บริเวณ ม.1,ม.2,ม.3 ต.ตันหยงโป อ.เมืองสตูล ชาวบ้านได้เก็บสัมภาระและสิ่งของจำเป็นประจำตัว เพื่อรอพร้อมที่จะอพยพหากสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นมา ในขณะที่บริเวณชายฝั่งทะเล ท่าเรือตำมะลัง ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะนำเรือออกนอกชายฝั่งหากมีการเตือนภัย เนื่องจากว่าหากเกิดสึนามิคลื่นจะซัดเข้ามาบริเวณชายฝั่งดังนั้นเรือที่จอด ตามชายฝั่งต้องแล่นออกไปข้างนอก

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวพักผ่อนที่เกาะหลีเป๊ะ อ.เมืองสตูล ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สตูล และมีนักท่องเที่ยวค้างอยู่บนเกาะประมาณ 4,000 คน แต่หลังจากที่นายกิจชัย หอพิสุทธิสาร ผญบ.ม.7 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล ได้รับแจ้งให้เฝ้าระวัง สึนามิ จึงได้แจ้งให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่พักตามรีสอร์ทต่างๆเฝ้าระวัง แต่นักท่องเที่ยว แตกตื่นได้ขนสิ่งของหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัย พอหลังจากเลิกเตือนภัยแล้ว นักท่องเที่ยวก็กลับสู่ที่พักและเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ ตามปกติ.

วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

สมัชชาสภาองค์กรชุมชนหนุนรัฐบาลเจรจา"นปช."

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จัดสมัชชาร่วมเสวนาหาทางออกวิกฤติการเมือง เรียกร้องทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมสนับสนุนเปิดเวทีเจรจา

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายจินดา บุญจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เปิดเผยว่า วันนี้ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ได้จัดงานสมัชชาสภาองค์กรชุมชน และจัดเสวนาในหัวข้อ วิกฤติการเมืองไทย อะไรคือทางออก พร้อมข้อเสนอทางออกวิกฤติการเมืองไทย ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง นายพรมมา สุวรรณศรี ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการการสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนรวมถึงผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 76 จังหวัดเข้าร่วมกว่า 150 คน

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม นายจินดา ได้ออกแถลงการณ์ สมัชชาองค์กรสภาชุมชน ประชาธิปไตยชุมชน..หนทางฝ่าวิกฤตทางการเมือง โดยมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ทางการเมืองเฉพาะหน้า คือ การชุมนุมของทุกฝ่ายต้องหยุดการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง ทั้งอาวุธ การข่มขู่ การกระตุ้นยั่วยุ เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรง ใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเสมอกัน

พร้อมกันนั้น สนับสนุนให้เกิดเวทีการเจรจา โดยมีตัวแทนเข้ามาร่วมทั้งภาคชุมชน นักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้เสนอการแก้ปัญหาระยะยาว คือ ต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาจากล่างสู่บน เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงไม่ยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้กับกลุ่ม นปช. เนื่องจากมีการย้ายฐานการชุมนุม แต่ส่งข้อเสนอไปยังรัฐบาล โดยจะทำเป็นหนังสือส่งไป

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

ดีเกร์ฮูลู เสียงเพลงเพื่อสันติภาพ

ความสามัคคี”ถูกหยิบยกมาเป็นหัว ข้อในการทำสารคดีเชิงข่าว ผ่านการแสดงพื้นบ้านทางภาคใต้ ในเรื่อง “ดีเกร์ฮูลู เสียงเพลงเพื่อสันติภาพ”

น้อง ๆ ทีม “สมาร์ทสเตทลีย์” นิสิตจากภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เจ้าของสารคดีเรื่อง “แสงเทียนที่ปลายด้ามขวาน” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเสียสละของคุณครูโรงเรียนบาโหย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่แม้จะต้องทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายแต่ก็ยัง มุ่งมั่น อดทนที่จะสอนหนังสือให้กับเด็กนักเรียน ด้วยความรักและเอาใจใส่ ทำให้คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ “สิงห์สร้างสรรค์คนทีวีปี 4” ซึ่งจัดโดยบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท สาระดี จำกัด กลับมาอีกครั้งกับสารคดี “ดีเกร์ฮูลู เสียงเพลงเพื่อสันติภาพ” ที่ต้องการจุดประกายเรื่องความสามัคคีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ตั้ม-นายกีรติ โชติรัตน์, โบ๊ต-นายเชี่ยววิทย์ พัฒนสุขพันธุ์, ตี๊-นายอภิชนม์ เพชรนุ่น, บิว-นางสาวนัฐฐา พิทักษ์พลานนท์ และ เปิ้ล-นางสาวหทัยรัตน์ เสนีย์ สมาชิกทีมสมาร์ทสเตทลีย์ บอก ว่า ที่หยิบเรื่องความสามัคคีมาทำเพราะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งเนื้อหาเพลงที่แสดงใน ดีเกร์ฮูลูที่แสดงอยู่ในปัจจุบันก็จะสอดแทรกเรื่อง อนุรักษ์ธรรมชาติ สำนักรักษ์บ้านเกิด และความสามัคคีเป็นหลัก นอกเหนือจากการให้ความบันเทิง

ทีมสมาร์ทสเตทลีย์ได้ใช้เวลานับเดือนในการลงพื้นที่หาข้อมูล ถ่ายภาพ และสัมภาษณ์ ในจังหวัดปัตตานี และภูเก็ต ซึ่งดีเกร์ฮูลูไปเปิดการแสดง ก่อนจะนำมาลำดับภาพและตัดต่อเป็นเรื่องราว โดยน้อง ๆ ยอมรับว่า รางวัลจาก การชนะการประกวดโดยได้เข้าฝึกงานในบริษัท สาระดี จำกัด เป็นเวลา 2 เดือน และได้เดินทางไปดูงานที่สถานีโทรทัศน์เคบีเอส ประเทศเกาหลีใต้ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้การทำงานกับมืออาชีพ แม้จะมีความกดดันบ้าง แต่สิ่งที่น้อง ๆ ตั้งใจก็คือ ทำผลงานที่ออกมาไม่เพียงแค่จะต้องมีเนื้อหาที่ดีเท่านั้น แต่จะต้องเป็นประโยชน์กับสังคมด้วย

สารคดี “ดีเกร์ฮูลู เสียงเพลงเพื่อสันติ ภาพ” ต้องการเน้นให้ผู้ชมได้มีสำนึกถึงความสามัคคีโดยรวม ก่อนจะขมวดปมว่า ขนาดกลุ่มการแสดงดีเกร์ฮูลูซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียงเล็ก ๆ ยังมีความรัก สามัคคี และต้องการขยายวงความสามัคคีออกไปให้มากที่สุด แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศหลงลืมเรื่องนี้ไปหรือเปล่า..?

ค้นหาความสามัคคีกับผลงานสารคดี “ดีเกร์ฮูลู เสียงเพลงเพื่อสันติภาพ” ของน้อง ๆ ได้ในรายการเรื่องจริงผ่านจอ ทางช่อง 7 คืน วันพฤหัสบดีที่ 8 เม.ย.นี้.

มันนิ(ซาไก) ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง


จากถนนหลวงสายสตูล-ตรัง ผ่านเขาติง ร่องเขาแบ่งแผ่นดิน จ.สตูล และ จ.ตรัง บริเวณ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เราเดินทางโดยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ไปตามถนนลูกรังอันขรุขระและคดเคี้ยว ผ่านชุมชนบ้านเขาน้ำเต้า ซึ่งจะเห็น “ เขาน้ำเต้า” สูงตระหง่าน สู่ผืนฟ้า เป็นที่หมายและสัญลักษณ์อันโดดเด่นของหมู่บ้าน

จากบ้านเขาน้ำเต้า เราเดินทางสู่หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านหินจอก ซึ่งที่นั่นเป็นที่สิ้นสุดทางรถยนต์ เราต้องเดินทางขึ้นสู่ภูเขาประมาณ 2 กิโลเมตรสู่ชุมชนของมันนิ กลุ่มพ่อแก่โส๊ะ ที่ “ห้วยแทงแม่ “

ระหว่างเส้นทางเดินเท้าอันร่มรื่นผ่านสวนยางพารา เดินขึ้นควนสูงเข้าสู่ผืนป่าในเขตเทือกเขาบรรทัด บนที่สูงป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ถูกแผ้วถางโดยชาวบ้านและปลูกสวนยางพาราบุกขึ้นมาทุกๆวัน

บนยอดควน “ ห้วยแทงแม่ “ มีลำธารไหลริน ใสกระจ่างตา เป็นแนวแบ่งอาณาเขตของมันนิ(ซาไก)กลุ่มนี้จากชุมชนข้างล่าง บนที่ราบในร่องเขาแห่งนี้ มีไม้ใหญ่ปกคลุม เป็นที่ตั้งของกระท่อม จำนวน 9 หลัง มีสมาชิกของพวกเขาอาศัยอยู่จำนวน 26 คน

ผืนแผ่นดินโดยรอบ พวกเขาได้ปลูกยางพารา ไม้ผล เช่นมะละกอ เงาะ ทุเรียน พืชผักต่างๆ ไว้เป็นอาหาร มันนิ(ซาไก)กลุ่มนี้ ได้ปรับเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิตเพื่อการอยู่รอด จากการหาหัวมัน ล่าสัตว์จากป่า มาเป็นเริ่มรู้จักเพาะปลูก และรับจ้างแรงงาน บ้านเรือน จากการตั้งทับเร่ร่อน ก็มาสร้างกระท่อมที่ค่อนข้างถาวร

พ่อแก่โส๊ะ มันนิ(ซาไก) ชรา ผู้นำกลุ่มมันนิแห่งห้วยแทงแม่ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง อายุมากแล้ว ประมาณ 75 – 80 ปี แต่ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากมันนิจะไม่มีการบันทึกและนับอายุ วันเดือนปีเกิด พ่อแก่โส๊ะ เล่าว่า

“ เดิมกูเคยอยู่ที่ อ.ละงู ขณะที่ยังเป็นป่า ในสมัยนั้นแทบจะไม่มีบ้านเรือนผู้คน เคยมีบรรพบุรุษเป็นอิสลาม ชื่อ โต๊ะบาหลี เมื่อก่อนพวกกูเคยเป็นอิสลาม แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว คนอื่นกินหมูแล้ว แต่กูยังไม่กิน กูเดินทางจากละงู มาทางในป่า ผ่านเขาติงลัดเลาะมาตามไหล่เขา ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดทางถนนเจาะทะลุเขาติง เดินทางมาตั้งชุมชนมันนิที่ ห้วยแทงแม่ แห่งนี้ นั้นในละแวกตำบล อำเภอที่นี่ ยังไม่มีบ้านเรือนผู้คน ยังคงเป็นป่าแก่ล้วนๆ บ้านเรือนมีแถบชายทะเล เนื่องจากเดินทางทางบกยังไม่ได้ ใช้ทางเรือ สัตว์ป่าตอนนั้นชุกชุมมาก ทั้งช้างและเสือ พวกกูเคยถูกเสือกัดตายไป 1 คน อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

แรงหนุน พอช. เชื่อมเครือข่ายภาค ‘ประชาสังคม’

ภายใต้แนวทางของการทำงาน เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้ 'ภาคประชาสังคม' ได้เข้าไปมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านวิถีชีวิต การพัฒนาชุมชน สิทธิมนุษยชน การก่อเกิดสันติภาพ ฯลฯ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา แทบทุกปริมณฑลของประเทศไทย เกิดภาคีเครือข่ายคนทำงานมากมายหลายหลากกลุ่ม

แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คงเป็นเช่นเดียวกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐ คือ มักจะมีปัญหาเรื่องการเชื่อมประสานเครือข่ายให้เกิดการทำงานที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง

ภาพหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นปีที่ ๗ แล้ว และภาครัฐได้ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อลงไปแก้ไขคลี่คลายปัญหาร่วมกัน ในอีกด้านหนึ่งก็มีนักเคลื่อนไหวด้านสังคม องค์กรภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม ประสานความร่วมมือลงไปให้ความช่วยเหลืออยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ประมวลภาพงานสมัชชา กป.อพช.ใต้ ประจำปี 2553

26-28 มีนาคม 2553 ณ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง(น้ำตกกรุงชิง) อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช
โดย : ทีมศูนย์สื่อสังคมภาคใต้













ก่อนอื่น ขออนุญาตชวนทุกท่านกลับไปรู้จักกับ กป.อพช.ใต้ อย่างคร่าวๆ โดยคลิ้กที่นี่

**********************************
สำหรับปีนี้ทางคณะกรรมการ กป.อพช.ใต้ ย้ายไปจัดงานไกลถึงอุทยานแห่งชาติเขาหลวง(น้ำตกกรุงชิง) มีนักพัฒนาเอกชนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ทั่วภาคใต้เข้าร่วมเกือบ 100 ชีวิต(ส่วนมากเป็นหน้าใหม่) งานจัดขึ้น 3 วัน 2 คืน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายตลอดงาน มีเนื้อหาสาระและความสนุกสนาน เกิดขึ้นครบครัน ใครบางคนถึงกับเปรยว่า “งาน กป. ปีนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่น่าประทับใจ” ไม่อยากพูดพร่ำทำเพลงให้ยืดยาว ชวนดูภาพกันดีกว่า ซึ่งภาพอาจจะไม่ค่อยเห็นบรรยากาศเท่าไหร่นะครับ เพราะ "ตากล้องฟอร์มดี" ผู้เป็นเจ้าของกล้องของเรา ถ่ายรูปไม่ได้ความเอาเสียเลย อิอิ (ด่าผ่านสื่อนะเนี่ย)
ดูประมวลภาพ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน ออกแถลงการณ์จี้รัฐแก้ไขปัญหา

แถลงการณ์

เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน


ตามที่ รัฐบาลมีการเจรจาหาทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ กับ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. และมีข้อเสนอให้ยุบสภา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ตามระบอบประชาธิปไตย นั้น

เครือข่ายชุมชน ฯ เห็นว่าทุกฝ่ายยังไม่ได้มีการหยิบยกปัญหาของชาวบ้านคนจน และชุมชน ขึ้นมาถกเถียงเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขอย่างแท้จริง การเจรจาเป็นไปในแนวทางเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองส่วนบนเท่านั้น ซึ่งได้แก้ปัญหาในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง จึงเป็นการตอกย้ำว่าเป็นการเมืองที่ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาคนจนอย่างแท้จริง คนจนเหล่านั้นมีทั้งในกลุ่มเสื้อแดง เสื้อเหลือง และกลุ่มที่ไม่สังกัดสีใดๆ และผ่านมา กลุ่มคนจนต่างๆ ได้พยายามเสนอ / ผลักดันการแก้ปัญหากับทุกๆรัฐบาล มาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ในรัฐบาลนี้ก็เช่นกัน เครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ จากทั่วประเทศได้ผลักดันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา และรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการ/ กลไกในการแก้ปัญหาแล้ว อาทิเช่น คณะกรรมการ ๔ ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด คณะกรรมการแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อนุกรรมการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ อนุกรรมการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสัมปทานแร่ทองคำ ฯลฯ

ซึ่งหากมีการยุบสภาการแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนต่างๆ ต้องหยุดชะงักไปด้วย ดังนั้นรัฐบาล และทุกฝ่าย ควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาคนจน / คนชายขอบ โดยมีการวางแนวทางแก้ปัญหาของชุมชน อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ก่อนการยุบสภา จึงมีข้อเสนอ ดังนี้ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

เครือข่ายประชาชนสตูล จี้ “ผู้ว่าฯ-รัฐฯ” แจง 5 โปรเจกต์พลิกเมืองเป็นอุตสาหกรรม

เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นำชาวบ้านเข้าพบผู้ว่าฯ พร้อมยื่นหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี หลังต้องการคำชี้แจงโปรเจกต์ 5 ใหญ่ พลิกเมืองสตูลสู่อุตสาหกรรม หวั่นกระทบวิถีชีวิตประชาชน แนะต้องชี้แจงเพื่อให้ชาวสตูลตัดสินใจเอง

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสมบูรณ์ คำแหง คณะประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล นำตัวแทนชาวบ้านทั้ง 7 อำเภอ จำนวน 50 คน เข้าพบนายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการ จ.สตูล เพื่อนำหนังสือยื่นผ่านจังหวัดถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรื่องให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พร้อมขอคำชี้แจงจากทางจังหวัดเกี่ยวกับโปรเจกต์ใหญ่ 5 โครงการที่นำมาพัฒนา จ.สตูล เช่น โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก, โครงการสร้างทางรถไฟรางคู่ในระบบขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน, โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พร้อมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโครงการเจาะอุโมงค์ข้ามชายแดน จ.สตูล-มาเลเซีย

นายสุเมธ ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้รับผิดชอบในโครงการ ทั้ง 5 โครงการออกมาอธิบายชี้แจงต่อ คณะประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล พร้อมประชาชนในห้องประชุมใหญ่ โต๊ะพญาวัง ศาลากลาง จ.สตูล ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยเฉพาะโครงการขุดเจาะอุโมงค์ระหว่าง จ.สตูล กับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย นั้นเป็นโปรเจกต์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลผลักดันให้เกิดขึ้นเอง ขณะโครงการที่เหลือเป็นโครงการที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งมีความคืบหน้า

นายสมบูรณ์ คำแหง คณะประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวว่า สาเหตุ การมาในครั้งนี้เพราะต้องการทราบข้อเท็จจริงของโครงการทั้งหมดว่าเป็นอย่าง ไร และถ้าโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นวิถีชีวิตของคนชาวสตูลต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่ นอน

ดังนั้น จึงไม่อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น แต่ต้องการรับทราบว่างานทั้งหมดทำไปถึงไหนแล้ว โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลใดบ้าง ก็ให้ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ และให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินว่าคนสตูลเอาหรือไม่เอาเพื่อสิทธิของ ชาวสตูล

โดยเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงนายกรัฐมนตรี นั้น ใจความสำคัญระบุให้คณะรัฐมนตรีออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบโครงการเหล่านี้ว่าถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะโครงการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการ จ.สตูล กล่าวว่า ในขณะนี้ทราบเพียงโครงการเจาะอุโมงค์ข้ามชายแดนเชื่อมต่อจังหวัดสตูล กับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียเท่านั้นซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอยู่ ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา , โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน , โครงการวางท่อขนถ่ายน้ำมันระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออก พร้อมฐานที่ตั้งคลังน้ำมันเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ (อ่าวละงู) และโครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลนั้น ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆ ซึ่งถ้าทางเครือข่ายฯอยากทราบรายละเอียดและข้อมูลต่างๆก็ให้สอบถามกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนหนึ่งก็อยู่ในที่ประชุมในครั้งนี้ด้วย

จากนั้นทางตัวแทนเครือข่ายฯได้กล่าวว่าจะติดตามข้อมูลและผลการดำเนินการในโครงการต่างๆต่อไป และเมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอแล้วทางเครือข่ายฯจะได้มีการจัดเวทีให้ความรู้แก่ประชาชนในจังหวัดสตูลให้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเท่าเทียมกัน ในโอกาสนี้จึงก็ถือโอกาสเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะพ่อเมืองได้ร่วมชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบร่วมกันด้วย ซึ่งทางผู้ว่าฯก็ได้ตกลงจะไปร่วมอย่างแน่นอนถ้าหากมีเวทีดังกล่าวขึ้น

จากนั้นทางตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ก็ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และจดหมายเปิดผนึกขอให้ทบทวนการะบวนการจัดทำโครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกันต่อผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งได้หนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีโดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย ความคืบหน้ากรณีนี้จะเป็นอย่างไรทางศูนย์สื่อสังคมภาคใต้จะได้นำเสนอต่อไป.
คณะประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
ช่องทางติดต่อข่าวสาร(E-mail)ของเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล สามารถติดต่อได้ที่ satunwatch@hotmail.com สมบูรณ์ คำแหง 084-2144648 , สมยศ โต๊ะหลัง 080-5209881 , กำราบ พานทอง 086-6961225

คำตอบสุดท้ายจากอันดามัน

โดย : บินหลาดง

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วในแวดวงคนเคลื่อนไหวสร้างสรรค์สังคม ที่มีหลักคิดปรัชญาพัฒนาสังคมแนวทางการพัฒนายั่งยืนชุมชนเข้มแข็ง พื้นที่จังหวัดฝั่งอันดามัน นับแต่จังหวัดสตูล ตรัง ไล่เรียงไปถึงระนอง ได้สนทนาวิพากษ์วิจารณ์โดยระบบโฟนอิน เหลียวหลังแลหน้าแผนพัฒนาชาติฉบับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นับแต่ปี 2504 ถึงปัจจุบันและอีก 20 ปี ข้างหน้า เหลียวหลังแลหน้าพัฒนาการประชาธิปไตยรวมศูนย์อำนาจรัตนโกสินทร์ในรอบ 77 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริยาธิราช มาสู่ประชาธิปไตยแนวรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการเหลียวซ้ายแลขวาเบิ่งตาแลโลกกวัดแกว่ง เคว้งคว้าง ตามแรงกระแทกของคลื่นโลกาภิวัตน์ และคลื่นความร้อน คลื่นสนามแม่เหล็กแห่งดวงดาว ดาราจักรต่างๆ รอบด้าน 360 องศาแล้ว เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า วาระวิกฤตสิ้นโลกดั่งภาพยนตร์ 2012 มีโอกาสเป็นไปได้ และก่อนถึงวันนั้นวิกฤตสังคม วิกฤตชาติ วิกฤตการทำมาหากิน วิกฤตโลกร้อน ภัยแล้งขาดแคลนน้ำ อาหาร การแพร่ระบาดของโรคก็จะยิ่งหนักหน่วงทวีคูณ ความทุกข์ยากเดือดร้อนกลียุคจะถูกยกระดับสู่ขั้นสูงสุดอย่างแน่นอน

ที่ประชุมสุดยอดสภากาแฟทางอากาศอันดามันจึงมีมติเอกฉันท์ว่าเลิกตั้งความหวังหลักคิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสังคมนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาและจีนคอมมิวนิสต์เป็นหัวโจก เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าในปี 2006 (พ.ศ. 2549) ประเทศไทยปล่อยความคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 0.76% ของปริมาณรวมทั่วโลก แต่สหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งปล่อยพอๆ กัน รวมแล้วสูงถึง 40% ของทั้งหมด ซึ่งหากบ้าระห่ำไม่กลับตัวกลับใจสู่สังคมเศรษฐกิจพอเพียง ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มจาก 380 ส่วนในล้านส่วนปี 2005 ขึ้นไปถึง 700-1,000 ส่วนในล้านส่วนในปี 2100 หรืออีก 90 ปีข้างหน้า อันจะทำให้อุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส

ปัจจุบันแค่เพิ่ม 0.6 องศาเซลเซียส ก็ร้อนตับแลบ จนม็อบ นปช.คนเสื้อแดงก็หน้ามืดอ่อนระทวยแทบละลายจะแย่อยู่แล้ว ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์บอกว่า และในปี 2100 ที่ว่า ภาวะโลกร้อนดังกล่าวจะทำให้พลเมืองโลกเหลือเพียง 1 ใน 7 ของปัจจุบันเพราะการตายจากการขาดน้ำและอาหาร ประมาณว่าคนไทยเวลานั้นถ้ามี 140 ล้านคนก็อาจจะเหลืออยู่เพียง 20 ล้านคนเท่านั้น

ท้ายที่สุดเพื่อเป็นการประกาศอิสรภาพจากพันธกรณีทางสังคมกับบรรดาสัตว์การเมือง กระแสวิบัติแห่งชาติพันธุ์มนุษย์และความพินาศของโลก จึงขอเรียกร้องว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมรณรงค์เผาตำรารัฐศาสตร์ ลัทธิการเมือง ลัทธิเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งหลายให้สิ้นซากเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อเปิดทางให้ปัญญาที่แท้ของมวลหมู่มนุษย์ได้เข้าแทนที่เหล่าทฤษฎีความรู้แห้งกรังพังผุ ที่กำลังเป็นเชื้อเพลิงสุมไฟเผาไหม้ชุมชนวอดวายป่นปี้รุ่มร้อนให้พบความชุ่มเย็นงอกงามเสียที และสำหรับทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดอันดามัน นับแต่นี้เป็นต้นไป อุดมการณ์สังคมสันติภาพ ไม่เอาความรุนแรง (Non-Violence) ยึดมั่นในหลักธรรมศาสนา และการประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจสีเขียว (Global Green New Deal) ที่เป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นคำตอบสุดท้าย... ฟันธง! เหวง..