จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

2 ปี 3 เดือน สภาองค์กรชุมชน…. สังคมไทยต้องได้รับการปฎิรูปโดย “พลังชุมชน”

นับแต่มีกระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 นับได้ว่าล่วงเลยมาได้ประมาณ 2 ปี 3 เดือนแล้ว กระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดจากชุมชนฐานรากก็มีความเด่นชัดขึ้นเป็นลำดับทั้งการประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิต การจัดการที่ดินโดยชุมชน หนี้สิน หรือการจัดสวัสดิการชุมชนช่วยเหลือกันภายในชุมชน และการมีสภาองค์กรชุมชนตำบล จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดจากพลังรวมหมู่ที่ก้าวเดินทีละก้าวอย่างมั่นคง

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักวิชาการจาก สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนจึงต้องเริ่มจากพลังชุมชน และค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านเกษตร การจัดการทรัพยากร การดูแลสุขภาพ งานหัตถกรรม เด็ก สตรี ได้รับการพูดถึงมากขึ้น ประชาธิปไตยท้องถิ่น ภูมิปัญญา สิทธิชุมชน สวัสดิการชุมชน การจัดการความรู้ การศึกษาทางเลือก ต้องทำให้สิ่งเหล่านี้ชัดขึ้นเรื่อยๆและสร้างเรื่องเหล่านี้ให้เข้มแข็ง และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมโดยใช้เครื่องมือ “สภาองค์กรชุมชน” ซึ่งสิ่งที่เราทำในขณะนี้ก็จะสามารถไปส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้นชุมชนต้องสร้างพลังจากเรื่องต่างๆ ที่เป็นจุดดีของแต่ละพื้นที่ที่ได้นำเสนอจากการระดมความคิดจากการแบ่งกลุ่มย่อย แล้วผลักดันไปสู่การฟื้นฟูและพัฒนาเชื่อมโยงพลังในชุมชนเอง โดยยกระดับสภาองค์กรชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แล้วสถาบันพอช. มีหน้าที่สนับสนุน เพื่อให้เกิดการขยายให้เต็มประเทศ แล้วส่งผลต่อการสร้างนโยบายจากล่างขึ้นบนและชุมชนต้องไปช่วยดูในการร่างแผน 11 เพราะต้องมีการดูแลร่วมกันในทุกๆ ระดับ

สภาองค์กรชุมชน เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบแนวราบ แบบรวมหมู่ พลังรวมหมู่นี้เองจะเป็นกระบอกเสียงไปต่อรองกับระบบรัฐ นักการเมือง เป็นพลังที่รวมปัญญา รวมมวลชน สร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ให้ชุมชนเป็นหลัก เป็นขั้นตอนจากล่างขึ้นบนโดยเริ่มจากชุมชน สร้างสภาองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง รวมพลังหน่วยงานภาคีต่างๆ ดันขึ้นไปข้างบนและทำไปในทิศทางที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เวที “สานเสวนาเพื่อลุ่มน้ำคลองรัตภูมิ”

เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนา ลุ่มน้ำรัตภูมีร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ขอเชิญเข้าร่วมเวที “สานเสวนาเพื่อลุ่มน้ำคลองรัตภูมิ” วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ณ สำนักสงฆ์เกาะบก ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เริ่มตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น.เป็นต้นไป

ในเวทีมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิเช่น เสวนาเรื่องเล่าคนลุ่มน้ำ เสวนาพันธุกรรมและความมั่นคงทางอาหาร และการขับเคลื่อนกติกา/ธรรมนูญร่วมของคนลุ่มน้ำ ดนตรีกวีศิลป์โดยศิลปินพื้นบ้าน บูธนิทรรศการ หลากหลาย!!

ร่วมเรียนรู้และกำหนด ทางเลือกทางรอดของเราได้ในงาน

อย่าลืม! อย่าพลาด ! พบกันที่ สำนักสงฆ์เกาะบกใน วันและเวลาดังกล่าว
ดูรายละเอียด กำหนดการ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

“โรดแมพ” คนชายแดนใต้ ร่วมฟื้นไทยจากซากหักพัง

เหตุการณ์จลาจลเผาเมืองที่กรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังรัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้สังคมไทยทั้งสังคมต้องย้อนกลับมาใคร่ครวญถึงต้นตอของปัญหา และมองไปข้างหน้าร่วมกัน

ถึงเวลาที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องผสานมือเพื่อปฏิรูปประเทศไทย สร้างชาติใหม่ที่ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขความอยุติธรรม ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทั้งมวล

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายแขนงในภาคใต้ และพี่น้องประชาชนชาวรากหญ้าจากชายแดนใต้ เพื่อร่วมเสนอ “ทางออก” ที่จะเป็น “โรดแมพ” หรือ “แผนที่เดินทาง” เพื่อฟื้นประเทศไทยจากซากปรักหักพัง

ซึ่งนักรัฐศาสตร์ได้แนะเยียวยาไม่เลือกฝ่าย สร้างความมั่นคงบนความสมานฉันท์ และเร่งสร้าง"พื้นที่ปลอดภัย" ด้านผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่กรุงเทพฯ มีความคล้ายคลึงกับการเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ต้องปลดชนวนสองมาตรฐาน และสื่อต้องปรับตัว ส่วนรากหญ้า ชี้ต้องปฏิรูปจิตสำนึก อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ในวงล้อมคลื่นไล่ล่าทำลายล้าง

โดย : สายลม อันดามัน (นสพ.คนตรัง)

และแล้วประชาธิปไตยไทยในปากอสรพิษยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ก็มิอาจหลบเลี่ยงหายนะจากคมเขี้ยวและน้ำพิษแห่งความแบ่งแยกแตกขั้ว ความอวดดี มีทิฐิมานะ อัตตาบ้าระห่ำของเหล่าวรรณะผู้นำทางการเมืองการปกครอง ที่มีจิตสัญชาตญาณสัตว์คึกคะนองพองโตไปได้ ภาวะกลียุคมิคสัญญีจึงต้องบังเกิดขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร นี่คือความจริงของวันนี้

นับแต่อดีตสู่ปัจจุบันขบวนคนการเมืองผู้มีความใคร่ ใฝ่คว้าอำนาจและความทยานอยากในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ผ่านโครงสร้างระบบการเมืองการปกครอง ต่างเร่งสนองแรงขับเคลื่อนภายในของตนจากระดับปัจเจกบุคคล สู่กลุ่มเครือข่ายอย่างเป็นระบบ การรวมตัว การซ่องสุมผู้คน การจัดตั้งกองกำลัง กองทัพ การฝึกฝน การวางแผนยุทธศาสตร์ การกำหนดยุทธวิธี และท้ายสุดก็คือการเคลื่อนกองกำลังสู่การหักล้างทำลายและโค่นล้มแย่งชิงอำนาจกันเป็นคำตอบสุดท้าย

นับแต่อดีตจากมหาสงครามแห่งดินแดนรอบทะเล เมดิเตอร์เรเนียน สู่ชมพูทวีป ดินแดนภารตะผ่านสุวรรณภูมิ หงสาวดี กรุงศรีอยุธยา ไปจรดมหาอาณาจักรจีนและญี่ปุ่นทางโพ้นทะเลตะวันออก การโจมตีด้วยหินและไฟ การต่อสู้ประหัตประหาร ดำเนินไปภายใต้จิตแห่งความเคียดแค้นชิงชัง จิตแห่งความโลภและความหลงลำพอง ที่เร่งเร้าผู้คนให้เดินทางเข้าสู่กองทัพและสนามรบราฆ่าฟันด้วยความฮึกเหิม กระเหี้ยน กระหือรือเสมอมา และเมื่อช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สิน บ้านเรือนถูกบุกรุกทำลาย ไฟหายนะจะถูกจุดและกระพือโหมให้ไหม้ลาม เคลื่อนวิบัติฉิบหายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้คำประกาศแห่งความชอบธรรมและอุดมการณ์ทางการเมือง....

ขณะที่ความตึงเครียดของขั้วความขัดแย้งกำลังทวีความรุนแรงสู่จุดระเบิด ผู้กำลังรอเที่ยวบินไปสนามบินดอนเมือง ต่างพากันเฉยเมยต่อคำเรียกร้องการยืนตรงเคารพธงชาติ ณ เวลาแปดนาฬิกา สื่อทีวีช่องต่างๆ กำลังสนุกเพลิดเพลินกับสุดยอดละครชิงรักหักสวาท สลับกับเกมโชว์มหาสนุกอย่างไร้สำนึกต่อสถานการณ์วิกฤตล่มสลายของชาติเยี่ยงไร นักวิชาการ นักกิจกรรม พากันทยอยออกมาเสนอความคิดความเห็นกันสับสน อลหม่าน แต่สงสัยว่าคนช่วยคิดจะช่วยทำด้วยหรือไม่ หรือเพียงดีแต่แหลงเท่านั้น

เสียดาย สังคมไทยวันนี้ จิตเมตตา และจิตศาสนา ไม่มีพื้นที่สำหรับการขับเคลื่อนร่วมสร้างสันติสุขภาวะเสียแล้ว การพลัดหลงสู่กระแสธารของคลื่นรุนแรงไล่ล่าทำลายล้างจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงๆ

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คนสตูลไม่ปลื้มการถมทะเลเขตอุทยานหมู่เกาะเภตรา

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้มีเวทีเสวนาเรื่อง ถมทะเลอุทยานเภตราสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราสู่นิคมอุตสาหกรรม โดย สภาพัฒนาการเมือง ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสตูล ร่วมเป็นเจ้าภาพ วิทยากรรับเชิญ มี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจารย์อาภา หวังเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต นายบุญเอก แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน และมีตัวแทนภาครัฐประกอบด้วย ผู้แทนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ผู้แทนกรมเจ้าท่าจังหวัดสตูล เป็นวิทยากรร่วมเสวนาเพื่อให้สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองและบุคคลที่สนใจกว่า 100 คนได้รับทราบข้อมูล ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการเท่าทันสถานการณ์แก่ตัวแทนองค์กรชุมชน-ประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสตูล

วิทยากรผู้ร่วมอภิปรายได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมอย่างน่าสนใจ เริ่มจากอาจารย์อาภาฯ ม.รังสิต มองว่าการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราถ้าเกิดขึ้นจริงมันจะส่งผลกระทบต่อคนสตูลอย่างรุนแรง โดยยกตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้เห็นว่ามีผู้ได้รับผลกระทบเกิดโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และอีกหลายโรคที่ตามมาอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และถ้าคนสตูลยอมรับโครงการนี้เท่ากับยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง นายบุญส่งฯ กล่าวว่าการถมทะเลตัวเองไม่เห็นด้วยเพราะเป็นโครงการที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ในเรื่องข้อมูลข่าวสารและข้อมูลเชิงลึก จึงยากต่อการตัดสินใจในโครงการนี้
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จังหวะก้าวสู่ ชุมชนเข้มแข็ง สังคมน่าอยู่

18 พ.ค. 2553 สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง จัดการประชุมร่วมกับแกนนำชุมชนในพื้นที่นำร่อง ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์เทศบาลนครตรัง เวลา 08.30–16.30 น. เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการหมู่บ้านแบบบูรณาการ (ศบม.)

19 พ.ค. 2553 นายชัยพร จันทร์หอม แจ้งว่าสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.) กำหนดประชุมร่วมคณะทำงานระดับภาคและจังหวัด เพื่อการเตรียมดำเนินงานโครงการ สสส. เปิดรับทั่วไปและการจัดงานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ จังหวัดกระบี่ เดือนสิงหาคม ศกนี้ เวลา 09.00–16.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 9 โรงแรมโกลเด้นคราวน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

23-25 พ.ค. 2553 คุณสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่ พอช.ภาคใต้ แจ้งว่าจะมีการสัมมนาผู้ที่ได้รับการสนับสนุนโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถชุมชน(ประชาสังคม) ที่ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 18 จังหวัดสงขลา

25–26 พ.ค. 2553 คุณศยามล (นก) ไกยูรวงศ์ กพจ.ภาคประชาสังคม แจ้งว่าจังหวัดตรังกำหนดปรับแผนพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ ปี 2555-2556 ภายใต้วิสัยทัศน์ “สวรรค์แห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมืองแห่งการเรียนรู้ พัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยจัดให้มีเวทีแปลงแผนสู่ปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม นี้ สำหรับประเด็นเด็ก เยาวชน ครอบครัว กำหนดจัดเวที 25 พ.ค. ณ ห้องประชุมหอสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง (เวลา9.00-15.00 น) ประเด็นการศึกษากำหนดจัดเวที 26 พ.ค. ณ โรงเรียนวัดไทรงาม ต.นาตาล่วง อ.เมือง จ.ตรัง เวลา (13.00–16.30 น.)

27 พ.ค. 2553 คุณสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่ พอช.ภาคใต้ ในฐานะกลุ่มศึกษาวิถีชาวนาภาคใต้ แจ้งว่าจะมีการประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดงานสมัชชาวิชาการชาวนาจังหวัดพัทลุง ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง 10.00 น.เป็นต้นไป

28-30 พ.ค. 2553 คุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.สตูล แจ้งว่าภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น และเอกชน ร่วมกันจัดงาน “รวมพลังสมัชชาสร้างสุข สานฝันปันใจให้เด็กเยาวชน ครอบครัว จังหวัดสตูล ครั้งที่ 1 ณ สนามเทศบาลตำบลกำแพง อ.ละงู จ.สตูล

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

“นักวิชาการ~คนสามจังหวัด จชต.” กระตุกรัฐดูบทเรียนชายแดนใต้ หยุดใช้กำลังที่กรุงเทพฯ

ความรุนแรงและความสูญเสียจากเหตุจลาจลและการก่อวินาศกรรมถี่ยิบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ทำให้หลายฝ่ายเหลียวมองพื้นที่ขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรงมานานกว่าครึ่งทศวรรษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยเฉพาะบทเรียนของการจัดการปัญหาที่มีรากฐานจากเรื่องความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และความอยุติธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังเลือกใช้วิธีการ “ปราบปราม” คล้ายคลึงกับที่ปฏิบัติมาอย่างเนิ่นนานที่ชายแดนใต้

คำถามคือเป็นวิธีการที่ถูกต้องแน่หรือ?

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะหันกลับมามองปัญหาภาคใต้ และเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดหรือสร้างบาดแผลในระยะยาว

"เรื่องของการใช้กำลังทหารมันดีในระยะสั้น สามารถคุมเหตุการณ์ได้เร็ว แต่จะสร้างบาดแผลไปอีกนาน และเป็นแผลกลัดหนองเหมือนภาคใต้ที่รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที ขณะนี้ที่กรุงเทพฯยังเปรียบเสมือนเป็นแผลสดอยู่ ทำอย่างไรที่จะให้เกิดความสมานมันท์ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแผลเรื้อรังเหมือนที่สามจังหวัด หากรัฐบาลเลือกแนวทางใช้ความรุนแรง จะเกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และยากที่จะเยียวยาให้กลับคืนเหมือนเดิม"

ดวงยิหวา บอกว่า ขณะนี้หลายคน หลายฝ่ายมองอนาคตของประเทศไทยแตกต่างกัน ทั้งสถานการณ์ภาคใต้และกรุงเทพฯ แต่ก็แบ่งได้เป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ 1.ควรประนีประนอมและเปิดการเจรจากัน กับ 2.ใช้กองกำลังจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

“คำถามก็คือหากใช้กองกำลังปราบปรามแล้วจบ ทำไมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่จบ ทั้งๆ ที่ผ่านมา 6-7 ปีแล้ว ขณะนี้กรุงเทพฯกำลังตามมา และร้ายแรงไม่ต่างสามจังหวัดเลย พูดถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐ สามจังหวัดอาจจะมีประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ขณะที่กลุ่ม นปช.มีประเด็นเรื่องอำมาตย์ ไพร่ สองมาตรฐาน ความยากจน ประเด็นเหล่านี้จบได้ด้วยการใช้ความรุนแรงหรือ ตอนนี้ทางออกของประเทศมืดมิดมาก แต่ความหวังเพียงอย่างเดียวคือทั้งสองฝ่ายต้องหันมาคุยกัน ไม่ใช่ตั้งแง่กัน ได้คืบจะเอาศอก”

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกรุงเทพฯขณะนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย ถ้ารัฐบาลให้พื้นที่ทางความคิด และจริงใจที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ก็มีโอกาสที่สถานการณ์จะจบลงได้ด้วยดี

ดวงยิหวา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุรุนแรงในลักษณะการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา น่าแปลกใจที่หลายๆ เหตุการณ์คล้ายคลึงกับภาคใต้ ทั้งในแง่อาวุธที่ใช้และวิธีการ เช่น การยิงอาร์พีจีถล่มคลังน้ำมันที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ขณะที่ระเบิดคาร์บอมบ์ใกล้กับโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี เมื่อเดือนที่แล้วก็เจอหัวจรวดอาร์พีจีในรถ แต่บังเอิญไม่ระเบิด หรือคาร์บอมบ์ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งใช้ถังดับเพลิงและถังแก๊ส ล่าสุดก็ไปพบการวางระเบิดลักษณะเดียวกันนี้ที่รามอินทรา (ซอยรามอินทรา 34 กรุงเทพฯ) ด้วย

“ดูแล้วมันอดสงสัยไม่ได้ แต่เราไม่มีหลักฐานอะไรแน่ชัด ก็ไม่อยากพูดไปก่อน แต่อยากบอกว่าหลายฝ่ายก็สังเกตกันอยู่ว่าทำไมลักษณะการก่อเหตุมันคล้ายกันเหลือเกิน”

นายนิมุ มะกาเจ นักวิชาการด้านศาสนา และอดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯขณะนี้ รัฐบาลต้องเข้มแข็ง ต้องยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย การจะแก้ปัญหาลักษณะนี้ได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และภาคประชาชน แต่ปัญหาคือรัฐบาลกำลังโดดเดี่ยวหรือไม่ และมีอำนาจสั่งการที่แท้จริงหรือเปล่า

“เหตุการณ์วุ่นวายในกรุงเทพฯ มีทั้งระเบิด ยิง เผา เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดมาหมดแล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนี้น่าจะทำให้สังคมไทยเข้าใจคนสามจังหวัดมากขึ้นว่าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักขนาดไหน”

ส่วนทางออกของประเทศนั้น นายนิมุ กล่าวว่า ยังมองไม่ออกเลย แต่หลักๆ ก็มีอยู่ 2 แนวทาง คือจบเร็วแต่มีความสูญเสียมาก กับจบช้าแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่สูญเสียน้อย ซึ่งเป็นวาระที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่เฉพาะรัฐบาล

ขณะที่ นายนิมะนาเซ สามะอาลี นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯกับภาคใต้เป็นคนละอย่างกัน กรุงเทพฯคือประเด็นความอยุติธรรม การใช้สองมาตรฐาน ส่วนปัญหาสามจังหวัดเป็นเรื่องของการแบ่งแยก ทางออกตอนนี้รัฐบาลต้องเปิดการการเจรจา เพราะการเจรจาคือการยุติปัญหาที่ดีที่สุด

ส่วนรูปแบบการก่อวินาศกรรมหรือการประกอบระเบิดในกรุงเทพฯหลายๆ เหตุการณ์คล้ายคลึงกับในภาคใต้นั้น นายกสมาคมยุวมุสลิมฯ มองว่า ก็อาจจะมีบ้าง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันทำ เพราะไม่มีหลักฐาน

นายทะนง ไหมเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำพยา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวเช่นกันว่า แม้ปัญหาที่กรุงเทพฯกับภาคใต้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่สามารถนำบทเรียนจากภาคใต้ไปเป็นแบบอย่างได้ ปัญหาที่หนักที่สุดในขณะนี้คือการกระทำแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่างยิ่ง

และท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐนั่นเองว่าจะเลือกแนวทางใด !?


จาก : โต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิสรา

อาศิส พิทักษ์คุมพล ปธ.อิสลามสงขลาได้รับการคัดเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18

อาศิส พิทักษ์คุมพล ปธ.อิสลามสงขลาได้รับการคัดเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18

ประวัติของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อปี พ.ศ.2490 ที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จบการศึกษาสายศาสนาจากสถาบันปอเนาะใน อ.จะนะ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี แม้ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายูแต่ที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้มาหลายกรรมวาระ นอกจากการสนิทแนบแน่นกับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อยก็มีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นซึ่งนายอาศิสต้องเข้าไปรับผิดชอบในฐานะผู้นำศาสนาประจำจังหวัด และการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงคือการดำรงตำแหน่งสำคัญในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ร่ายแถลงการณ์กรณีเกิดความขัดแย้งภายในองค์กร

เครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ร่ายแถลงการณ์กรณีเกิดความขัดแย้งภายในองค์กร หลังจากเกิดความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ ยอมรับว่าจากปัญหาภายในทำให้อำนาจการต่อรองกับภาครัฐลดลง แต่มั่นใจว่าองค์กรยังมีความแข็งแกร่งที่จะเรียกร้องสิทธิให้เกษตรกรได้เช่นเดิม

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ที่ทำการเครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ถ.โคกขัน ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง นายอานนท์ ศรีเพ็ญ ประธานเครือข่ายรักเทือกเขาบรรทัด ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสตูล พร้อมสมาชิกประมาณ 50 คน ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จากรณีเกิดความขัดแย้งขององค์กรเครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ที่มีสมาชิกขององค์กรเครือข่ายบางกลุ่ม ได้แยกตัวออกจากเครือข่ายฯ เพื่อไปตั้งองค์กรใหม่ ภายใต้ชื่อว่า องค์กรเครือข่ายปฏิรูปรักเทือกเขาบรรทัด หลังจากมีการอ้างว่าไม่สามารถอยู่ร่วมอุดมการณ์กันได้ เนื่องจากอุดมการณ์การทำงานและทิศทางการแก้ปัญหาเพื่อเกษตรกรไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้อีกต่อไป หลังจากที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อเกษตรกรมากว่า 10 ปี


ทั้งนี้ นายอานนท์ ศรีเพ็ญ ประธานเครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ เกิดขึ้นท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ที่มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และเกษตรกรรายย่อย ได้มีการริดรอนสิทธิของเกษตรกร และจากอดีตถึงปัจจุบัน เครือข่ายรักเทือกเขาบรรทัด ได้มีการพัฒนาและขยายองค์กรขยายบทบาทมีความสำคัญทางสังคมอย่างต่อเนื่อง มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ประชาชนไม่ถูกเอาเปรียบทางกฎหมาย มีบทเรียนที่ได้ต่อสู้จนประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จมากมาย ทำให้องค์กรเครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดมีประสบการณ์การต่อสู้เรียกร้องสิทธิมากขึ้น

แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อสมาชิกเครือข่ายฯบางกลุ่ม ไม่สามารถอยู่ร่วมอุดมการณ์ ทางองค์กรซึ่งมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะต่อสู่เพื่อประชาชนที่ถูกเอาเปรียบจากภาครัฐและหน่วยงานราชการต่อไป ซึ่งสมาชิกของเครือข่ายฯปัจจุบันมีจำนวน 14 องค์กร จากทั้งหมดก่อนหน้านี้ 18 องค์กร จะดำเนินกิจกรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชน เกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนต่อไป แม้ว่าขณะนี้สมาชิกบางคน เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อองค์กรลดลง แต่จากการที่ได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม จะประสบความสำเร็จมากกว่าการทำงานแบบความคิดของคนเพียงบางคนขององค์กร นอกจากนั้นนายอานนท์ ยังได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการที่ได้นำองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ปิดล้อมศาลากลางตรัง เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน และเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน ที่นำเจ้าหน้าที่ทำลายทรัพย์สินของเกษตรกร ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในอดีตหลอกรับข้อเสนอไปเพียงวันๆ ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา แต่ถือว่าเป็นประสบการณ์จริงของเครือข่ายฯ

ขอบคุณเนื้อหาข่าว : ถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม นสพ.คนตรัง

เปิดข้อมูล ‘โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ’

โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ เป็นโครงการหนึ่งที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตของประเทศไทย พ.ศ.2551–2564 (PDP 2007:ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามการเจริญเติบโตทางด้าน เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และเพื่อเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในเดือนกรกฎาคม 2557แม้ว่าในปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะลดลงก็ตาม แต่ในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 5–6 โดยในปี 2551ที่ผ่านมา แหล่งผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านแหล่งผลิตและราคาเชื้อเพลิง ทำให้ต้องรับพลังงานไฟฟ้ามาจากภาคกลาง ผ่านสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลาง –ภาคใต้ และซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียมาเสริมในระบบ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าขนอมเครื่องที่ 1จะหมดอายุการใช้งาน และถูกปลดออกจากระบบในปี 2554หากไม่มีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี หลังจากปี 2556 เป็นต้นไป อาจเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้น โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ จึงเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความมั่นคงต่อระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

สัตว์น้ำลอยเกลื่อน ...... คลองแห

สัตว์น้ำทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ในลำคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลอยตายเป็นจำนวนมาก สภาพน้ำเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านคาดว่าฝนตกหนักมีการปล่อยน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียลงคลองแห

มีรายงานว่าตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. สัตว์น้ำทุกชนิดทั้งกุ้งหอยปูปลาในคลองแห ที่ไหลผ่านพื้นที่ ตำบลคลองแห ยาวไปถึงตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลอยตายเกลื่อนผิวน้ำตลอดทั้งสายโดย ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งสภาพน้ำมีสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนพากันไปเก็บขึ้นมาเพื่อนำไป บริโภค แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อยากเห็นคนไทยรักกัน

คลิ้กที่รูปเพื่อดูวีดีโอ / อย่าลืม คลิ้กปิดเสียงวิทยุมุมขวาด้านล่างก่อนนะครับ..

.

ผลการวิจัยแนะใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือทำงานพัฒนา


ผลการวิจัยงานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ ชี้ภาคประชาชนยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ อุดมการณ์สภาองค์กรชุมชน การตั้งสภาองค์กรชุมชนเพื่อหวังรับงบประมาณจากพอช. แต่ไม่ได้แก้ปัญหาสาธารณะที่เกิดในพื้นที่ เสนอทางแก้จัดความสัมพันธ์ใหม่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสภาองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาเชิงประเด็น พร้อมแนะชาวบ้านทำข้อมูลเชิงภาพดีกว่าทำเป็นเอกสาร โดยให้มีนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน เข้าเสริมศักยภาพสภาองค์กรชุมชน

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ณ ห้องประชุมสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดพัทลุง คณะอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ ในโอกาสนี้คณะนักวิจัยกระบวนการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน นำโดยผู้ช่วยศาสตร์จารย์ สอรัฐ มากบุญ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยายาเขตสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอผลการศึกษา

อาจารย์สอรัฐ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า 2 ปีที่มีการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชน พบว่าในแต่ละพื้นที่สมาชิกสภาองค์กรชุมชนยังมีความเข้าใจเชิงเนื้อหา อุดมการณ์ของงานสภาองค์กรชุมชนยังมีน้อย แกนนำที่ขับเคลื่อนก็จะรู้ในส่วนที่เป็นพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 นำสู่ปรากฎการณ์ที่เห็นคือ ข้อเสนอเชิงนโยบายไม่ได้มาจากพื้นที่ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากท้องถิ่น อบต. ความพร้อมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนในการดำเนินงานก็มีไม่มาก กระบวนการจัดการการประชุมก็ติดขัด
ปรากฎการณ์เหล่านี้เชื่อมโยงกับการที่ คณะทำงานประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน หรือที่เรียกว่า กลไกจังหวัด ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. สนับสนุนนั้น ไปขับเคลื่อนการจัดตั้ง ขยายพื้นที่สภาองค์กรชุมชน ทำให้งานสภาองค์กรชุมชน กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นงานพัฒนาพื้นที่และเพื่อให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. ผลคือสภาองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นก็เป็นเวทีสำหรับขับเคลื่อนปฏิบัติการงานเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ เพราะตั้งจากพื้นฐานการปฏิบัติการของประเด็นงานพัฒนา ซึ่งลักษณะเช่นนี้คือ การที่คนนอกพื้นที่เข้าไปทำงาน แต่งานสภาองค์กรชุมชนที่แท้ควรเป็นงานของคนในพื้นที่

“หลายพื้นที่จึงเกิดคำถามว่า ตั้งสภาไปทำไม”อาจารย์สอรัฐกล่าว

อาจารย์สอรัฐกล่าวต่อไปว่า เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน คือ การคาดหวังผลลัพธ์ให้เกิด องค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างได้รับการยอมรับ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากร อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นได้

“นั่นคือประชาธิปไตยที่กินได้ และกันไม่ให้เพื่อนมากินของเรา” อาจารย์สอรัฐกล่าว

สำหรับข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการวิจัย อาจารย์สอรัฐ กล่าวว่า เราควรทำให้งานสภาองค์กรชุมชนเป็นยุทธศาตร์การพัฒนา ไม่ใช่เป็นประเด็นงานพัฒนา ดังนั้นจึงควรจัดความสัมพันธ์กันใหม่ระหว่างงานสภาองค์กรชุมชน กับประเด็นงานพัฒนาต่างๆที่ลงไปสู่พื้นที่
และควรคิดว่าสภาองค์กรชุมชนเป็น เครื่องมือในการทำงานพัฒนา บทบาทของสภาองค์กรชุมชนควรเป็นหนุนเสริมให้เกิดการพูดคุยเรื่องที่เป็นสาธารณะของพื้นที่ เช่นที่ ตำบลพรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ที่สามารถเชื่อมโยงกับอบต.และนำเรื่องปัญหาการชลประทานมาพูดคุยในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล

ข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งคือ การนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดการพูดคุย เช่นที่ตำบลพรุพี มีการถ่ายภาพวิดีโอให้เห็นสภาพปัญหาภัยแล้ง พื้นที่ต้นน้ำ ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ปรากฎว่าเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่เห็นผลในการแก้ไขปัญหา ซึ่งน่าจะดีกว่าการนำเสนอข้อมูลในเชิงเอกสารซึ่งพี่น้องชาวบ้านมีข้อจำกัดในด้านนี้ อย่างไรก็ตามการมีการสนับสนุนจากภายนอก เช่น นักวิชาการไปทำงานวิจัยในพื้นที่ หรือนักพัฒนาเอกชนที่มีความรู้ในการวิเคราะห์ปัญหา เข้าไปหนุนเสริมการทำงานของสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ได้

‘เขาไม่ได้มองสตูลเป็นเมืองท่องเที่ยว’

ในท่ามกลางกระแสการผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจสตูล – สงขลา เชื่อมสองฝั่งทะเล อันดามัน – อ่าวไทย ผ่านสารพัดเมกะโปรเจ็กต์มูลค่ารวมกันแล้วนับแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่ ท่อและคลังน้ำมันเขตอุตสาหกรรมแสนกว่าไร่ อันเป็นทิศทางที่จะนำจังหวัดสตูลไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมชนิดเต็มรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งบนบกและในทะเล ของจังหวัดสตูล กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการกระจายรายให้กับคนในพื้นที่ค่อนข้างทั่วถึง อนุสรณ์ หมัดตาหมีน 1 ใน 7 ผู้ประกอบการสอนดำน้ำบนเกาะหลีเป๊ะ เพชรเม็ดงามกลางทะเลสตูล บอกเล่าให้เห็นภาพรวมการเติบโตการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลวันนี้ ดังต่อไปนี้

นักท่องเที่ยวรู้จักเกาะหลีเป๊ะตั้งแต่เมื่อไหร่ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เริ่มแรกคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเกาะหลีเป๊ะ คนที่มาท่องเที่ยวที่นี่ช่วงแรกๆ เป็นพวกแบ็กแพ็กต่างชาติ ส่วนใหญ่มาแบบเดี่ยวๆ หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามา ผมก็เข้ามาช่วงนั้น พวกเรามากับเรือไม้ ตอนนั้นยังไม่มีเรือเฟอร์รี่ ยังไม่มีเรือสปีดโบ๊ท นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงเทศกาล นักท่องเที่ยวที่นิยมมาที่นี่จริงๆ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว สภาพการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีสถานบันเทิงมากขึ้น ลักษณะความเป็นธรรมชาติลดลง พวกนักท่องเที่ยวยุคแรกๆ ที่ชอบความเป็นธรรมชาติของที่นี่ก็กลับมาเที่ยวน้อยลง ก่อนนั้นเกาะหลีเป๊ะยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ตอนนี้อะไรก็เข้ามามากขึ้น เกาะค่อยๆ เสื่อมโทรมลง นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมๆ ก็จะหาที่เที่ยวใหม่ๆ ตอนนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมุ่งไปที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ที่นั่นน้ำไม่ใสเหมือนเกาะหลีเป๊ะ หาดทรายออกสีแดงๆ แต่เทียบกับเกาะหลีเป๊ะแล้ว ค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก เพราะอยู่ใกล้ฝั่ง ตอนนี้ที่เกาะพยามสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ค่อยมี พวกรถ พวกไฟฟ้าก็ยังไม่มี
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกษตรกร 16 อำเภอ สงขลา รวมตัวเรียกเงินชดเชย

แกนนำเกษตรกรทั้ง16 อำเภอสงขลา มีมติรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมและภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมโรงพิมพ์ริมบราเดอร์ ใกล้วัดหงส์ประดิษฐาราม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายนายสุรศักดิ์ มณี ในฐานะแกนนำเกษตรกรในจ.สงขลา ร่วมประชุมกับตัวแทนเกษตรกรทั้ง 16 อำเภอของจ.สงขลา สรุปปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในจ.สงขลา จากภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว และภาวะภัยแล้งตั้งแต่ต้นปีนี้ เนื่องจากจนถึงขณะนี้เกษตรกรยังไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหายแม้ส่วนราชการจะมีการสำรวจความเสียหายไปแล้ว


พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบางเร่งรัดนำความเดือดร้อนของเกษตรกรในจ.สงขลา เข้าอนุมัติงบประมาณใน ครม. เพื่อนำมาแจกจ่ายเป็นค่าชดเชยความเสียหายพืชผลทางการเกษตรที่เกิดจากน้ำท่วมและภัยแล้งให้กับเกษตกร เพื่อที่จะนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพการเกษตรต่อไป


โดยมาตรการแรกที่จะเคลื่อนไหวเริ่มจากในวันที่ 14 พ.ค.จะเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กับ นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจ.สงขลา เพื่อผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี โดยขีดเส้นตายต้องได้รับคำตอบภายใน15 วัน หากยังไม่มีความคืบหน้า เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมดจะไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจ.สงขลาทันที

‘พระโค’ กินหญ้า น้ำ ผลาหาร บริบูรณ์

คำพยากรณ์งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีนี้ "พระยาแรก" นาเสี่ยงหยิบผ้า 6 คืบ พยากรณ์ น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี "พระโค" กินหญ้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 เวลา 07.30 น. ที่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ มายังพลับพลาที่ประทับ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2553 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เฝ้ารับเสด็จ

สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณุทนาถ โคตรพรหม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุนีลา รู้สุกิจกุล นักวิชาการปฏิรูปที่ดินปฏิบัติการ สำนักบริหารกองทุน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนเทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวสรชนก วงศ์พรม นายช่างโยธาชำนาญงาน ฝ่ายโยธา ส่วนวิศวกรรมประมง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กรมประมง และนางสาวเดือนเพ็ญ ใจคง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กองแผนงานและวิชาการ กรมวิชาการเกษตร คู่เคียง จำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโค แรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคใส พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเทิด และพระโคทูน

จากนั้น เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและไถ จากนั้นจะมีการไถดะ โดยรี 3 รอบ โดยขวาง 3 รอบ หว่านธัญพืช ลั่นฆ้องชัย จากนั้นจะไถกลบอีก 3 รอบ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปที่โรงพิธีพราหมณ์ จากนั้นพระโคจะเสี่ยงของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยง ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า และจะมีการทำนายถวายคำพยากรณ์

น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอพระราชทานพระราชวโรกาส กราบบังคมทูล ผลการเสี่ยงทายของพระยาแรกนา เนื่องในงาน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2553 โหรหลวงได้ให้คำพยากรณ์ว่า พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้าสำหรับนุ่ง ได้ผ้าลาย 6 คืบ ไปประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ การเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง ปีนี้พระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี

จาก : ไทยรัฐ

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแถบทะเลอันดามัน 90%

พบสถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรง ในแถบทะเลอันดามันซึ่งมีประการังฟอกขาวแล้ว 90% เนื่องจากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น และจะส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง และการท่องเที่ยวในอนาคต

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผอ.ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยในช่วงนี้ เกิดจากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น เพราะหากอุณหภูมิผิวน้ำสูงขึ้นประมาณ 30.01 องศาซี จะกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ โดยพบว่าตั้งแต่อาทิตย์ที่ 3 ของเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิเริ่มแตะ 31 องศาซี และขณะนี้จากการสำรวจพบว่า ปะการังในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวแล้ว 90% ของปะการังทั้งหมด บริเวณที่เกิดรุนแรงคือ แถบเกาะภูเก็ต ส่วนปะการังในแถบอ่าวไทย เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวแล้ว 60%

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าค่อนข้างรุนแรง โดยไทยเคยเกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อปี 2543, 2538, 2541 ซึ่งมีความรุนแรง และเกิดขึ้นอีกเมื่อปี 2546, 2548 และ 2550 แต่ไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่ทำให้ปะการังฟื้นคืนสภาพได้ในปัจจุบัน แม้จะผ่านช่วงเวลามานานแล้วก็ตาม

สำหรับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนี้ เกิดจากความร้อนของอุณหภูมิของน้ำทำให้สาหร่าย Zooxanthellac ที่อาศัยอยู่กับปะการังถูกขับออกจากเนื้อเยื่อปะการัง จึงเหลือแต่แคลเซียมของปะการังให้เห็นเป็นสีขาว หากเกิดปรากฏการณ์นี้นานจะทำให้ปะการังตายในที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะปะการังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมดุลในทะเล

ผอ.ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แนวทางที่จะแก้ปัญหานี้คือ การรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลให้บริสุทธิ์ โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวให้ปล่อยของเสียลงสู่ทะเลน้อยที่สุด และการดำน้ำดูปะการังซึ่งมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นละอองในทะเลต้องทำด้วยความระมัดระวังมากที่สุด แต่ยังไม่ถึงกับประกาศห้ามการดำน้ำดูปะการัง เพราะจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวได้ ส่วนที่ดำเนินการในช่วงนี้คือ การสำรวจและรายงานความเสียหายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และคาดหวังว่าจะเข้าใกล้ฤดูมรสุม จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น.

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฮือฮา“ปลาบึก”โผล่ปัตตานี กับเรื่องราวดีๆ ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ หากใครได้มีโอกาสผ่านไปแถวสะพานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ย่านจะบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี อาจจะสงสัยว่ากำลังมีมหกรรมหรือตลาดนัดกลางคืนที่เรียกกันว่า “ไนท์บาซาร์” กันอยู่หรือเปล่า ทำไมผู้คนถึงเบียดเสียดเยียดยัดกันมากมายถึงขนาดนั้น

เมื่อได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้าง จึงต้องเดินทางไปพิสูจน์ แล้วก็พบความจริงที่น่าตื่นใจกว่า “ไนท์บาซาร์” หลายเท่า เพราะสิ่งที่เจอคือชาวบ้านทั้งไทยพุทธ มุสลิม ต่างอุ้มลูกจูงหลานชักชวนกันไปดู “ปลาบึกยักษ์” ที่มักจะโผล่จากแม่น้ำปัตตานีขึ้นมาอวดโฉมกันให้เห็นตัวเป็นๆ บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ นั่นเอง

และเจ้าปลาบึกยักษ์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีแค่ตัวสองตัว แต่มากันเป็นฝูงระดับ 8-10 ตัวกันเลยทีเดียว!

ที่ไหนมีฝูงชน ที่นั่นเป็นต้องมีพ่อค้าแม่ขาย เป็นสัจธรรมแบบไทยๆ ที่เห็นกันทุกภาคไม่เว้นแม้ชายแดนใต้ เมื่อปลาบึกยักษ์ปรากฏกาย และมีชาวบ้านแห่กันมาดูปลาวันละหลายร้อยชีวิต บรรดารถเข็นขายของ ทั้งของกินของเล่น ก็เข็นมาจอดบริการกันแทบจะเต็มสะพาน ปลุกเศรษฐกิจรากหญ้าปัตตานีให้ฟื้นขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบได้อย่างน่าอัศจรรย์

แถมช่วงเวลาชมปลาบึกยักษ์ยังค่อนข้างยาวนาน ตั้งแต่เย็นย่ำค่ำมืดเรื่อยไปจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน บางคนมานั่งเฝ้าหลายชั่วโมงกว่าจะได้เห็นปลาตัวโตสมใจ แต่บางคนเหมือนมีสัญญาใจกับปลา แวะมาแป๊บเดียวปลาก็มาดำผุดดำว่ายให้ได้เห็นแบบไม่ต้องรอ
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทบทวนบทเรียน สร้าง Road map พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้

โดย สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์

สัมมนาร่วมเจ้าหน้าที่พอช.ใต้ แกนนำชุมชน 5 จังหวัดใต้ สร้างความเข้าใจการสนับสนุนภาคประชาชน และผลการดำเนินงานของภาคประชาชนมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณรัฐบาล เกิดข้อตกลงร่วมสร้างปฏิทินการทำงานนำสู่การติดตามผลที่เข้มงวด

เมื่อวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2553 สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ จัดประชุมสัมนาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ณ โตนหินลาดล่องแก่ง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง

การสัมนาครั้งนี้เกิดบทสรุปสำคัญได้แก่ การทำความเข้าใจต่อทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนโดยองค์กรชุมชนของ พอช. โดยคณะอนุกรรมการ พอช.ภาคใต้ กำหนดให้เครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัดแต่ละจังหวัด เชื่อมประสานความร่วมมือกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม(เอ็นจีโอ นักพัฒนาเอกชน) นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่พอช.ในอัตรากำลัง 1 คนต่อ 1 จังหวัด ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคีความร่วมมือต่างๆ และเจ้าหน้าที่พอช.สนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนผ่านขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัดตามยุทธศาสตร์ของพอช. ได้แก่ การส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล การส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน องค์กรการเงินชุมชน การจัดการทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งตามโครงการบ้านมั่นคง โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 5 จังหวัดชายแดนใต้ การส่งเสริมศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ตลอดจนการบริหารจัดการที่ดีของขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชน

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนจะสัมพันธ์กับการประเมินผลการดำเนินงานพอช. ซึ่งจะมีผลไปถึงการที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาชน

สาระสำคัญในส่วนของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ กรณีที่เป็นปัญหาร่วมกันคือ การบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ การทำงานไม่เป็นทีม การให้ความสำคัญกับระบบการบริหารจัดการของขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัด

ส่วนกรณีรายจังหวัด ได้แก่ กรณีสงขลา การนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการดำเนินงานจริง มีแผนงาน แต่ขาดแผนปฏิบัติการ กรณีนราธิวาส ต้องมีแกนนำที่ต้องการสร้างขบวนจังหวัดอย่างจริงจัง สตูล ขาดการจัดประชุมเวทีกลางอย่างต่อเนื่อง การใช้งบบริหารแบ่งตามโซนต้องมีเรื่องระบบการติดตามการใช้งบประมาณ ปัตตานี ระบบการประชุมโซนพื้นที่ยังไม่เป็นจริง แต่มีระบบประชุมกลางที่เข้มข้น ยะลา ประเด็นปัญหาแกนนำรุ่นเก่า ควรมีการเปิดเวทีเพื่อหารือข้อแก้ไขแนวทางการทำงานร่วมกัน
ผลการสัมนาได้แก่ ข้อตกลงร่วมกันในการจัดให้แต่ละจังหวัดมีโครงสร้างการทำงานของระบบจังหวัดที่ประกอบด้วย คณะทำงานในพื้นที่ (ระบบทีม การหนุนช่วย อัตรากำลัง การแบ่งพื้นที่ทำงาน การพัฒนาทีมอาสา) คณะยุทธศาสตร์ (บทบาทตัดสินใจเชิงการบริหารจัดการ การทำงานระบบทีม) กองเลขาขบวน(มีหัวหน้ากองเลขาชัดเจน กำหนดขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจน)
ด้านระบบการบริหารในระดับจังหวัด จะต้องมีระบบการประชุมของคณะทำงานประเด็นต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดข้อมูล และการจัดการระบบข้อมูล ด้านการดำเนินงาน กำหนดแผนจังหวะก้าว หรือ Road map การปฏิบัติการ ที่มีรายละเอียดเป็นปฏิทินการทำงาน เพื่อที่จะนำไปสู่การติดตามประเมินผลที่เข้มงวด


จากเวป : http://www.souththai.org

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เปิดแคนดิเดท \"จุฬาราชมนตรี\" คนใหม่

การจากไปของ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 24 มี.ค.2553 ทำให้กระแสสังคมเริ่มให้ความสนใจกับการสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่ โดย นายสวาสดิ์ ได้รับการเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรี หลังจาก นายประเสริฐ มะหะหมัด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2540 จึงนับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

จากยุคกรุงศรีฯถึงรัตนโกสินทร์

จุฬาราชมนตรี เปรียบเสมือนประมุขมุสลิมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา โดยจุฬาราชมนตรีคนแรกแต่งตั้งในสมัยพระเจ้าทรงธรรม คือ เชค อะหมัด เป็นพ่อค้าวานิชชาวเปอร์เชีย นิกายชีอะห์ และนับเป็นปฐมแห่งจุฬาราชมนตรี และเป็นต้นตระกูล "บุนนาค"

หากย้อนอดีตกลับไปจะพบว่า จุฬาราชมนตรีตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา กระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่มาจากนิกายชีอะห์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมุสลิมสายสุหนี่ ในยุคของ นายแช่ม พรหมยงค์ สมัยรัชกาลที่ 8

การคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนใหม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างคึกคัก การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ค.2553 นี้ โดยจะให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจาก 38 จังหวัด 740 คน เป็นผู้เสนอชื่อและลงคะแนน
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ภาคประชาชนนราธิวาสโชว์ผลงาน

เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนราธิวาส ร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานกาชาดประจำจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. - 7 พ.ค.2553 ณ บริเวณสวนสาธารณะเทศบาลเมืองนราธิวาส


เนื้อหานิทรรศการแสดงถึงกระบวนการดำเนินงาน และผลสำเร็จด้านการพัฒนาชุมชน ทั้งด้านการส่งเสริมการจัดทำกองทุนสวัสดิการชุมชน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินรอบอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภายใต้งบประมาณไทยเข้มแข็ง และการพัฒนาภาคประชาชนด้วยสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลโดยมีภาคประชาชนในนาม”ขบวนจังหวัดนราธิวาส” เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

จากเวป : http://www.souththai.org

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หรือ ‘โรดแม็ป’ จะเป็นเหมือนลูกวัวที่ถูกโยนลงบ่อจระเข้

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง

ปีที่ 5 ฉบับที่ 103 วันที่ 1-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


รู้สึกว่า การที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะให้มีโรดแม็ปเพื่อการปรองดองแห่งชาติ บางทีก็คล้ายๆ กับการจับลูกวัวโยนลงไปสู่บ่อจระเข้...

ใกล้จะสองเดือนเต็มทีแล้วสำหรับการออกมาชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่ม ‘คนเสื้อแดง’ ใหม่ๆ ก็ต้องยอมรับกันว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยในการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตน หรือกลุ่มตนต้องการ อย่างที่ผมเคยเปรียบเทียบหลายๆ ครั้งว่า การใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักการดังกล่าวก็เหมือนกับการที่เรายืนขึ้นแล้วโบกมือ แกว่งแขน แกว่งไปเถอะ ตราบที่ยังไม่ละเมิดไปทิ่มตาหรือเสยจมูกของผู้อื่น

ปรากฏการณ์ต่อมาต่างหากที่ทำให้คนติดตามเหตุบ้านการเมืองจำนวนมากมายเกิดความรู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง และการยึดพื้นที่คมนาคม พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ จนชาวบ้านชาวช่องเขาเกิดความรำคาญ เบื่อหน่าย กระทั่งเอือมระอาถึงที่สุด จนต้องรวมกลุ่มกันแสดงความไม่เห็นด้วยในนามเสื้อหลากสีสัน บางครั้งนำไปสู่การปะทะกันเองในหมู่คนไทย ถึงขนาดต้องสูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต ไปจำนวนไม่น้อย และหลายคนเริ่มหวาดหวั่นกับสัญญาณที่อาจจะก่อเกิดเป็นสงครามกลางเมือง

เรื่องราวลื่นไหลไปกับวันเวลาที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะตกเป็นฝ่ายตั้งรับมาตลอด ทั้งๆ ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการคลี่คลายสถานการณ์ ท่ามกลางการเรียกร้องของคนหมู่มากให้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเสียที ขณะเดียวกันบางส่วนของผู้ชุมนุมได้เริ่มแปลงกายกลายเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ไปแล้วในสายตาของคนรัฐบาลด้วยการออกระรานโน่น นี่ นั่น ไม่หยุดหย่อน จนความชอบธรรมในการชุมนุมที่มีน้อยนิดมาแต่ต้นเพราะเป็นการเรียกร้องเพื่อสิทธิของคนไม่มาก กลับตีลังกามาติดลบลึกสุดๆ หลังจาก ‘คนเสื้อแดง’ จำนวนหนึ่งบุกเข้าไปทำบ้าบอคอแตกในโรงพยาบาลจุฬาฯ

สถานการณ์ต่อจากนั้น เรียกได้ว่าเกิดอาการห่อเหี่ยวเรียวปลายเหลือเกินแล้วสำหรับคนกลุ่มนี้ เมื่อขาดการยอมรับจากสังคมในวงที่นับวันจะยิ่งกว้างขึ้น ภายในกลุ่มเองก็เกิดความระส่ำระสาย คล้ายๆ จะหาทางลงไม่เจอ ความคาดหวังจากผู้คนเจ้าของประเทศก็ยิ่งเร่งรัฐบาลให้เริ่ม ‘ปฏิบัติการทางกฎหมาย’ ให้ได้เห็นกันเร็วๆ เสียที

ผิดคาด... เมื่อจู่ๆ นายกรัฐมนตรีออกทีวีมาป่าวประกาศถึงโรดแม็ป หรือแผนปรองดองแห่งชาติขึ้นมาถึง 5 องค์ประกอบ ที่สำคัญ จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ วันที่ 14 พฤศจิกายน ท่ามกลางความชื่นชมยินดีในเบื้องต้น ทั้งฟากฝ่ายประชาชนโดยทั่วไป ที่เห็นว่าน่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะคลี่คลายความร้อนแรงของกองไฟลงได้ และแม้แต่ผู้ชุมนุมเองที่ดีใจจนออกหน้าออกตาว่ารัฐบาลยื่นบันไดทองมาให้เดินลง แต่ก็ยังสงวนท่าที ยังไม่ยุติการชุมนุม...

อีกด้านหนึ่ง ผู้คนเกิดความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงกับการออกมาประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเท่ากับรัฐบาลยอมจำนนต่อแรงกดดันของผู้ชุมนุม หรือแม้แต่ของ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในความหมายที่มีการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธนานา ยิ่งในรายละเอียดของประกาศข้อสุดท้าย ที่หลายความเห็นบอกว่าสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การนิรโทษกรรม เพื่อนักการเมืองบางกลุ่ม

มาถึง 3-4 วันภายหลังการประกาศว่าจะมีแผนการปรองดอง ดูเหมือนจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ เพิ่มขึ้น หลายคนที่เห็นด้วย มากมายที่คัดค้านว่าไม่เข้าท่าเลยเพราะสุดท้ายนายกฯกลับกลายเป็นคนเปิดโอกาสให้นักมวยที่กำลังจะถูกน็อกได้ฟื้นมาชกต่อในยกหก หลายพวกที่กะจะโหนรถเมล์สายปรองดองเพื่อให้ได้สิทธิทางการเมืองคืนมา ซึ่งเริ่มปรากฏการเรียกร้อง ต่อรองโหยหวนให้เห็นแล้ว

แล้วผิดไหม... ถ้าจะบอกว่า กลุ่มหลังนี้ต่างหากที่เหมือนฝูงจระเข้ที่รอจะโถมงับลูกวัวตัวที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจโยนไปให้...

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สัมมนาพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองภาคใต้

เมื่อวันที่ 27-28 เมษายน 2553 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง จัดสัมมนาการสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองภาคใต้ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จ.สงขลา มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ จาก 16 เครือข่ายเมือง 13 เครือข่ายจังหวัด รวม 210 คนโดยมีนายคม เรืองกูล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ

วัตถุประสงค์ในการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ เกิดการเชื่อมโยงหนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน หนุนเสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชน บริหารจัดการตนเองได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และเชื่อมโยงการจัดระดับความสัมพันธ์ การจัดเครือข่ายระดับพื้นที่ เครือข่ายระดับจังหวัด
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตั้ง ศูนย์บริหารเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินบูโดฯ เป็น ศอ.บต. ส่วนหน้า

ผอ.ศอ.บต. นำคณะข้าราชการระดับสูงจังหวัดนราธิวาส ร่วมเปิดอาคารเครือข่ายที่ดินชุมชน พร้อมยืนยันเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินอุทยานบูโด เพื่อนำความสงบสุขสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ “ปอจิ”ปราชญ์ชาวบ้านให้แง่คิด การพัฒนาแบบบูรณาการ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด ร่วมกับอำเภอบาเจาะ จัดพิธิเปิดอาคารศูนย์บริหารเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด และที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านมาแฮ ณ บ้านมาแฮ หมู่ที่ 11 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดยมีผู้แทนชุมชนจาก 25 ตำบล 9 อำเภอ ใน 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีเข้าร่วมกว่า 200 คน


ในโอกาสนี้มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมได้แก่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายธนาคม จงจิระ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรนราธิวาส และพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)
นายภาณุ กล่าวว่า ตนอาสาเข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ศอ.บต. เพราะเริ่มรับราชการในพื้นที่นี้ ซึ่งตนมีเป้าหมายในการทำงานคือ อยากให้บรรยากาศในพื้นที่กลับไปเหมือนก่อนปี 2547 ที่พี่น้องอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ไปมาหาสู่กันอย่างสบายใจ ผู้คนจากภายนอกก็สามารถเดินทางมาเยี่ยม หรือมาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆโดยไม่ต้องหวาดกลัว อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

อนุกรรมการไทยเข้มแข็ง 5 จังหวัด ตั้งทีมประเมินผลการทำงานภาคประชาชน

ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาบ้านและที่ดิน 5 จังหวัดชายแดนใต้ อนุมัติงบประมาณรวม 130,007,167 บาท ครอบคลุม 129 หมู่บ้าน 3,788 ครัวเรือน พร้อมอนุมัติการจัดทำการประเมินผลการแก้ปัญหาบ้านและที่ดินโดยภาคประชาชนเพื่อสร้างการเรียนรู้ เชิญทุกฝ่ายระดมสมองประชาสัมพันธ์การทำงานขององค์กรชุมชน


เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ห้องประชุมโรงแรมสิงห์โกลด์เด้น เพลส อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะอนุกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก จัดประชุมพิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ผู้แทนองค์กรชุมชนนำเสนอ


นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ในฐานะประธานอนุกรรมการ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งการปรับปรุงที่อยู่เดิม และสร้างใหม่ไปแล้วรวม 467,856,762 บาท 15,295 ครัวเรือน ซึ่งคณะทำงานแต่ละตำบลได้เบิกงบประมาณไปใช้ดำเนินการซ่อมแซม ต่อเติม และสร้างบ้านใหม่เสร็จแล้วจำนวน 229 หลังคาเรือน และอีก 709 หลังคาเรือนอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ถนนสายอารยธรรม

เมื่อวันเสาร์ปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เรามีโอกาสขับรถผ่านถนน
สายสิงหนคร - สะทิ้งพระ มาครับ

หากใครเคยมีโอกาสผ่านไปบนถนนสายนี้มาบ้างคงจะรับทราบกันว่า
ถนนสายนี้ทอดยาวอยู่บนผืนแผ่นดินที่ถูกขนาบข้างด้วยทะเลสองทะเล

ด้านนอกมีทะเลอ่าวไทยโอบกอดทอดยาวไปสุดลูกหูลูกตา

ขณะที่ลึกเข้าไปด้านใน มีทะเลสาบสงขลาคอยประคบประหงม

ในอดีตแผ่นดินแถบนี้พุทธศาสนาเคยรุ่งเรื่องเป็นอย่างมาก

เพราะฉนั้นไม่แปลกอะไรที่ตลอดสองฟากฝั่งของถนนที่พาดผ่านแผ่นดินแถบนี้ จึงมีวัดวาอารามปลูกสร้างอยู่มากมายกายกองสองรายทาง

อย่างคร่าวๆ ก็น่าจะร่วม 40 - 50 วัด

โดยเฉพาะในเขต อ.สะทิ้งพระ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเมืองเก่าพัทลุง (ก่อนจะมาอยู่ในเขตการปกครองของสงขลาในปัจจุบัน) นั้น มีวัดเก่าแก่ สร้างชิดติดกัน จนเราทึ่งในศรัทธาที่คนสมัยก่อนมีต่อพุทธศาสนา

วัด - วัด - วัด - วัด - วัด - วัด - วัด - วัด - วัด - วัด - วัด...
อย่าแปลกใจถ้าบังเอิญขับรถผ่านถนนสายอำเภอนี้ แล้วความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น ทุกๆ ไม่กี่ร้อยเมตรที่รถเคลื่อนผ่าน..... อ่านต่อ คลิ้กที่นี่