จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชายแดนใต้เห็นชอบ 3 ตำบลของสงขลา

อนุกรรมการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัย 5 จังหวัดชายแดนใต้ เห็นชอบ 3 ตำบล ของสงขลาดำเนินงานแก้ไขปัญหาของชุมชน

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมจะบังติกอ โรงแรมซีเอสปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในฐานะรองประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม และมี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

นอกจากการติดตามผลการดำเนินงาแล้ว ที่ประชุมยังได้มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจังหวัดปัตตานี 9 ตำบล จังหวัดยะลา 1 ตำบล จังหวัดนราธิวาส 1 ตำบล จังหวัดสตูล 1 ตำบล และจังหวัดสงขลา 2 ตำบล คือตำบลประกอบ อำเภอนาทวี ซึ่งมี 7 หมู่บ้าน ผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย 211 ครอบครัว จำนวนงบประมาณ 9,550,000 บาท และตำบลแค อำเภอจะนะ ผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย 266 ครอบครัว จำนวนงบประมาณ 9,600,000 บาท

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบอนุมัติโครงการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับตำบลเขาแดง อ.สะบ้าย้อย จำนวน 100,000 บาท

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนโซนกลางจัดเวทีหารือเรื่องแรงงานต่างด้าว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน อบต.ท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนโซนกลาง(สงขลา) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่เขต อำเภอเมือง หาดใหญ่ นาหม่อม และสะเดา มีการนัดประชุมเพื่อปรึกษาหรือเรื่องทางออกของแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีจำนวนมากในพื้นที่

โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ อาทิ
สถานการณ์แรงงานต่างด้าว
-ชุมชนต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว
- ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
- ชุมชนรู้จักกฎหมายแรงงานดีแล้วหรือไม่
- รู้จักองค์การการปกครองแล้วหรือไม่
- รู้ถึงจำนวนแรงงานที่อาศัยอยู่ในแต่ละชุมชนหรือไม่
- ฯลฯ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายจ้าง
- นายจ้างที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาไม่แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้องทราบ
- นายจ้างส่วนมากแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับจำนวนที่นำแรงงานเข้ามา
- นายจ้างไม่ให้แรงงานพกพาบัตร เพราะกลัวจะย้ายที่ทำงาน หรือต้องเสียเงินมากในในการจัดทำบัตร อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

3 ภาคี ร่วมจัดเวทีเรียนรู้การเมืองภาคพลเมือง

24 สิงหาคม ที่ สสว.12 กรรมการพัฒนาการเมืองภาคใต้ ศูนย์พัฒนาการเมืองสงขลา ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา จัดเวทีเรียนรู้การเมืองภาคพลเมืองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าฯสงขลาร่วมปาถกฐา

นายโกศล พรหมช่วย สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองจากจังหวัดพัทลุง นำเสนอกรอบคิดการเมืองภาคพลเมือง และในช่วงบ่ายเป็นการฝึกการเรียนรู้กระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ โดยมี อ.สุภาคย์ อินทองคง เป็นวิทยากร ชวนคิดทำกระบวนการ.

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คนใต้ค้านแผนพัฒนาอุตสาหกรรมทำลายวิถีใต้

ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 เครือข่ายภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เคลื่อนไหวครั้งใหญ่เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยกเลิกแผนพัฒนาภาคใต้

โดยเมื่อบ่ายวันที่ 21 เครือข่ายประชาชนภาคใต้ประมาณ 1,000 คน รวมตัวที่บริเวณหน้าวนอุทยานเขาพาง ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะจ.ชุมพร ริมถนนเพชรเกษมกิโลเมตรที่ 493-494 ได้ตั้งเต็นท์และเวทีปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด เครือข่ายที่เดินทางมาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นระดับแกนนำจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.เพชรบุรี รวม 16 จังหวัด เข่น เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายที่ดินทำกิน ที่ต้องการให้เดินหน้าโฉนดชุมชนต่อไปเครือข่ายการท่องเที่ยว เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยกว่า 100 นาย

สุนทร รักรงค์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายประชาชนภาคใต้บอกว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้ก้าวพ้นสีเสื้อไปแล้ว วันนี้มีทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงมารวมกันเพื่อกำหนดอนาคตตัวเอง ภายใต้แนวคิดที่ว่า คนใต้ขอกำหนดอนาคตตัวเอง ขอออกแบบแผนพัฒนาที่ก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน ระยะที่ผ่านมามีผลงานวิจัยเกี่ยวกับแผนพัฒนาชี้ชัดว่าพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม

โดยมีรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวปีละกว่า 1.5 แสนล้าบาท ภาคเกษตรกรรมและประมงคิดเป็นสัดส่วนถึง 35% ของรายได้ประเทศ ดังนั้นแผนพัฒนาจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน เมื่อปี 2552 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เคยสรุปว่า แผนที่ คจ.สช.กำหนดพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ไว้ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง เป็นแผนที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมและเสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน

"สำหรับกิจกรรมหลักที่กำหนดไว้ คือ มีการปราศรัยบนเวทีของแกนนำ การประกาศ 'ปฏิญญาเขาพาง'ซึ่งสาระสำคัญคือ ให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ที่อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นโรงงานถุงเหล็ก การขุดเจาะน้ำมันในทะเลเป็นต้น" สุนทร กล่าว

นอกจากนี้ ในเวลาประมาณ 08.30 น.วันที่ 22 ส.ค. 2554 มีการปิดถนนเพชรเกษมทั้ง 4 เลน เพื่อทำกิจกรรมและปิดป้ายขนาดใหญ่ขนาด 20 x 6 เมตร ที่มีข้อความให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ของเครือข่ายบนสะพานลอย บริเวณหน้าเขาพาง

สมยศ โต๊ะหลังตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล บอกว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ ต้องการต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติในภาคใต้ เช่น ให้ตรวจสอบการดำเนินงานนโยบายพัฒนาแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ท่าเทียบเรือปากบารา การถมทะเล คลังน้ำมัน และเขื่อนต่างๆ ที่จะเป็นตัวทำลายทรัพยากรธรรมชาติใน จ.สตูล รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งการเคลื่อนไหวได้เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงการทำแพลงกิงบริเวณชายหาดปากบารา จ.สตูล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการคัดค้าน

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

20 องค์กรผนึกตั้ง"สภาประชาสังคมชายแดนใต้"

20 องค์กรผนึกตั้ง"สภาประชาสังคมชายแดนใต้" ดันนโยบายปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ 20 องค์กรร่วมประชุมและแถลงข่าวการจัดตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” หรือ Dewan Masyarakat Madani Selatan Thai หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Civil Society Council of Southernmost Thailand เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี

วัตถุประสงค์ของการตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ก็คือให้เป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเรื่องการเพิ่มศักยภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน, กำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน, แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคม อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ขึ้นป้ายบนถนนสายเอเชีย หนึ่งใน “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41”

วันนี้ (20 สิงหาคม 2554) เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา กว่า 30 คน ได้รวมตัวกันขึ้นป้ายบนสะพานลอยถนนสายหาดใหญ่-ปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 คนใต้กำหนดอนาคตตนเอง” เพื่อรณรงค์และบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลาและภาคใต้

นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา กล่าวว่าถ้าหากเราไม่ทำอะไรในขณะนี้ เราจะเสียบ้านเมืองไป ปฏิบัติการในครั้งนี้ได้มีการร่วมกันในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เป็นการรวมพลังของคนภาคใต้ การออกมาในครั้งเป็นการปกป้องบ้านเกิด เป็นการเผยแพร่ข้อมูลและให้การเรียนรู้เรื่องสิ่งที่จะเกิดขึ้นบ้านเรา

นางสุไรดะห์ ยังกล่าวต่ออีกว่าสิ่งที่ทำนี้มิใช่ประโยชน์ส่วนตัวแต่เป็นการทำเพื่ออัลลอฮฺ (พระเจ้า ) เพื่อปกป้องสมบัติและทรัพยากรของอัลลอฮฺ (พระเจ้า ) เราต้องตระหนักถึงบุญคุณของอัลลอฮฺ (พระเจ้า ) ที่ได้สร้างธรรมชาติมาให้เรา ใครมาทำลายเราต้องปกป้องรักษา สิบกว่าปีที่ผ่านมากับการต่อสู้เรื่องแผนพัฒนาภาคใต้เป็นการต่อสู้ด้วยน้ำตา แต่เราก็ยังจะทำเพื่อบ้านเกิดและลูกหลานของเรา...

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายประชาชนสงขลายื่นหนังสือถึงนายกผ่านผู้ว่าฯ สงขลา

วันนี้ (19 สิงหาคม 2554) เวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ได้เข้าพบนายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการดำเนินนโยบายการพัฒนาแลนบริดจ์ การขนส่งพาณิชย์-ท่อน้ำมันและการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี จ.สงขลา และในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา กล่าวว่า เรามาเพื่อบอกเจตนารมณ์ว่าคนสงขลา คนจะนะไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาภาคใต้ เพราะพื้นที่ของเราที่เคยอุดมสมบูรณ์ มีการทำเกษตร ประมง ทำนา ทำสวน ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าจะนะและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญเสียอาชีพ ปลาในทะเลลดน้อยลง เกิดน้ำเสีย ปริมาณน้ำยางลดลง และทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป และจะมีสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล หรือแลนบริดจ์ รถไฟรางคู่ ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อยากจะฝากท่านรองผู้ว่าฯไปถึงนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะออกนโยบาย และประกาศว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการที่มีผลต่อชาวบ้านและหยุดการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

ด้านนายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่าทางจังหวัดจะรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและขอรับเรื่องเอาไว้

ภาพ/ข่าวโดย: โยเย

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนเมืองบ้านพรุ เปิดเวทีประชุมครั้งแรก

หลังจากที่เปิดเวทีเรียนรู้เรื่องสภาองค์กรชุมชนไปหลายรอบ มีคณะทำงานสร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ สำรวจและจดแจ้งองค์กรชุมชน ตามแบบจดแจ้งของสภาองค์กรชุมชนแล้ว

วันที่ 18 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุมชั้น 5 เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา องค์กรชุมชนในพื้นที่เมืองบ้านพรุ จำนวน 30 กว่าองค์กร ที่ผ่านการจดแจ้งกับนายทะเบียนท้องที่ นัดประชุมกันเพื่อลงมติจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชน โดยมีภาคีเข้าร่วมสังเกตุการณ์และให้ข้อคิดเห็น อาทิ คุณสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่ พอช. , คุณบรรเจต นะแส ประธานขบวนชุมชนโซนเมืองสงขลา , คุณศิริพล สัจจาพันธ์ ที่ปรึกษาขบวนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิในที่ประชุมระดับจังหวัด , คุณชนม์ศศิณา อินตา เลขาขบวนชุมชนโซนเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองบ้านพรุ


ที่ประชุมลงความเห็นให้จัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนเมืองบ้านพรุ โดยสรรหากรรมการ ประกอบด้วย
ประธานที่ประชุม นายชัยวัฒน์ แก้วสุวรรณ
รองประธานคนที่ 1 นายบุญชอบ ปลื้มใจ
รองประธานคนที่ 2 นายสุพัตร์ ปลื้มใจ
เลขานุการ นางสาวมณี แซ่โง้ว
เหรัญญิก นางกาญจนา ปะทะโม
ประชาสัมพันธ์ นางประจวง ไขเสน
คณะทำงานติดตาม นางมาณี แก้วสนิท / นายอิน สุวรรโณ / นายนิตย์ บุญวรรณโณ / นายผล อินทนิล

นายชัยวัฒน์ แก้วสุวรรณ ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนเมืองบ้านพรุ กล่าวภายหลังการได้รับการคัดเลือกว่า "ดีใจ และยินดีที่พี่น้องให้เกียรติ เป็นประธาน ซึ่งถือว่าเป็นหัวหอกในการนำการพัฒนาภาคประชาชน การทำงานชุมชนในเขตเมืองนับว่าเป็นงานที่ยาก ยอมรับว่าจะต้องมีภาระยุ่งมากขึ้น แต่ก็เต็มใจที่จะทำ จะเน้นบทบาทภาคประชาชน ความร่วมไม้ร่วมมือ แม้จะมีงบประมาณเพียงน้อยนิด แต่ก็จะดำเนินงานด้วยความโปร่งใส จากนี้ไปก็จะนัดประชุมเพื่อวางกระบวนการทำแผนการพัฒนา ที่นำไปสู่การจัดการตนเองของเมืองบ้านพรุ "

ขบวนองค์กรชุมชนสงขลา จับมือ พอช.ปฏิรูปข้อมูลชุมชน

พอช.ภาคใต้ จับมือขบวนองค์กรชุมชนปฏิรูประบบข้อมูลชุมชน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่โรงแรมลำปำรีสอร์ท จังหวัดพัทลุง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้(พอช.) จัดประชุมร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน เพื่อหารือแนวทางการยกระดับ การจัดระบบข้อมูลชุมชนเพื่อใช้ในงานพัฒนา โดยมีคุณสมชาติ ภาระสุวรรณ คุณพรรณทิพย์ เพชรมาก ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. คุณธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการ พอช.ภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและส่วนสนับสนุน ของพอช.ภาคใต้ ร่วมหารือกับผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน
ทั้งนี้เพื่อยกระดับงานข้อมูลของชุมชนให้สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการพัฒนาชุมชน การกำหนดยุทธศาสตร์ รวมทั้งใช้ในระบบการรายผลต่อสาธารณะ โดยมีประเด็นสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนา ประกอบด้วย
1.ข้อมูลเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์สำคัญของภาคชุมชนในจังหวัด
2.ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนชุมชนจังหวัด ได้แก่ ชื่่อที่อยู่บุคคล พื้นที่ปฏิบัติการ งานพัฒนาเชิงประเด็น โครงการ ฯลฯ
3.ข้อมูลที่พื้นที่ปฏิบัติการตำบลได้ทำและพร้อมจะเชื่อมโยงเป็นข้อมูล/นำไปสู่การพัฒนาระดับจังหวัด เช่นแผนชุมชน ที่ดิน แผนที่ สวัสดิการฯลฯ
โดยในปีนี้จะเริ่มนำร่อง 3 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนนี้.

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนสงขลา เข้าร่วมเวทีสังเคราะห์ข้อเสนอของสภาฯภาคใต้

อนุกรรมกรรมการประสานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ จับมือ พอช.จัดเวทีสมัชชาสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้ เพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอนโยบาย

เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2554 ที่ลำปำรีสอร์ท จ.พัทลุง อนุกรรมกรรมการประสานสภาองค์กรชุมชนภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีสมัชชาสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ เพื่อประมวล และสังเคราะห์ข้อเสนอนโยบายของสภาองค์กรชุมชนตำบลในภาคใต้ ต่อที่ประชุมระดับชาติซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน นี้ นอกจากนี้ยังได้มีการปรึกษาหารือต่อการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชน รวมทั้งการปฏิรูปสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อให้เป็นองค์กรของพี่น้องประชาชนและตอบสนองการพัฒนาของชุมชนได้ตามเจตนารมณ์แห่งการออกพระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์กรแห่งนี้

สำหรับข้อเสนอนโยบายของสภาองค์กรชุมชนในภาคใต้มีประเด็นที่สำคัญ 10 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ความมั่นคงทางอาหาร
2. พื้นที่ปกครองพิเศษจังหวัดภูเก็ต
3. การจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ
4. การสร้างความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้
5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. การจัดการน้ำ
7. การจัดการชายฝั่ง
8. การจัดการท่องเที่ยวชุมชน
9. สวัสดิการชุมชน
10.แผนพัฒนาภาคใต้

พอช.ภาคใต้ สร้างนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านประชาสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ (พอช.) จัดเวทีปฐมนิเทศนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ ณ สวนสายน้ำ ตำบลพะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

สืบเนื่องสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ มีโครงการในการพัฒนาและยกระดับคนทำงานพัฒนาชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 14 คน ที่ผ่านการคัดเลือกซึ่งมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานสนับสนุนกระบวนการพัฒนาของชุมชนกระจายกันอยู่ในหลายหลากจังหวัดในภาคใต้ โดยโครงการมีระยะเวลา 1 ปี มีการพัฒนากระบวนการคิด เทคนิค ความรู้และเครื่องมือการทำงานในชุมชน การสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรม และการสนับสนุนค่าตอบแทน

สำหรับคณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย คุณปวัน พรหมพิทักษ์ ,คุณณรงค์ คงมาก , คุณศยามล ไกยูรวงศ์, คุณพิชยา แก้วขาว ,คุณเอกชัย อิสระทะ, คุณยุรี แก้วชูช่วง , คุณสามารถ สุขบรรจง และคณะทำงานบัณฑิตอาสา สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้เข้าร่วมโครงการ 14 คน ประกอบด้วย นางสาวเสาวนีย์ สุทธิชล จ.ระนอง / นางสาวสุภาพร อินทรัตน์ จ.ชุมพร /นางสาวกิริยาภา นราวีรวุฒิ จ.ชุมพร /นางสาวกรรณิการ์ แพแก้ว จ.สุราษฎร์ธานี / นายอรรถกร เรืองฤทธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี /นางชาตรี มูลสาร จ.พังงา /นายถาวร ศร่างเศร้า จ.กระบี่ /นายพร้อมศักดิ์ จิตจำ จ.กระบี่ / นางสาวสากีเราะห์ มูซอ จ.พัทลุง / นางสาวสุภาวดี แสนรี จ.สงขลา / นางสาวสุไรยา สามอ จ.สตูล /นางสาวแวกอรีเจาะห์ กามาลี จ.ปัตตานี / นายสมาน กาแลซา จ.ปัตตานี / นางสาวมาเรีย ละแมะ จ.นราธิวาส

VDO : ภาพรวมสงขลาพอเพียง โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนสงขลาพอเพียง บรรยายในเวทีการประชุมสร้างความเข้าใจ "สงขลาพอเพียง" กับเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสงขลา


วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเชิญร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 "เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้"

เชิญร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้ วันที่ 12 - 14 กันยายน 2554 ณ หอประชุมเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเชิญทุกท่านร่วมเวทีปลุกพลังบวก Ignite Hatyai++

"ปลุกพลังบวก ชาวใต้ เพื่อปักษ์ใต้บ้านเรา" กับงาน Ignite Hatyai++ (จ.สงขลา)

ขอเชิญทุกท่านร่วมรับ ร่วมสร้าง ร่วมส่งต่อพลังบวก กับเวทีปลุกพลังบวก Ignite Hatyai++

ใน วันอาทิตย์ ที่ 21 สิงหาคม 2554 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

"งานนี้ แหลงดัง ฟังชัด พลาดไม่ได้นะคะ" ... ติดตามเหล่า Igniters ที่จะมาร่วมสร้างพลังบวก
สำรองที่นั่ง คลิ้กที่นี่ค่ะ


วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชาวสงขลาแห่ไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองเนื่องในวันสารทจีน

วันสารทจีนใน จ.สงขลาคึกคัก ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากนำเครื่องเซ่นไหว้มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสงขลา ก่อนจะกลับไปไหว้บรรพบุรุษต่อที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในเทศกาลวันสารทจีน

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถ.นางงาม อ.เมือง จ.สงขลา ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดสงขลาได้นำเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้และดอกไม้ธูปเทียน มากราบไหว้พระและเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวสงขลาเคารพนับถือสืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในวันสารทจีน ก่อนจะกลับไปทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

สำหรับวันสารทจีน ตรงกับ 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน ในปี 2554 นี้ ตรงกับวันที่ 14 ส.ค. ถือว่าเป็นการไหว้เจ้ากลางปี ซึ่งชาวจีนถือว่าเดือน 7 ตามปฏิทินจีนเป็นเดือนสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้ เทศกาลสารทจีนแบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ช่วง คือ ไหว้เจ้าในช่วงเช้า ไหว้บรรพบุรุษ ตั้งโต๊ะไหว้นอกบ้านในช่วงสาย และไหว้วิญญาณพเนจร ผีไม่มีญาติ หรือไหว้ “หอเฮียตี๋ “จะต้องไหว้นอกบ้านในช่วงบ่าย

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชาวสงขลาร่วมทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลเเด่พระราชินี


เมื่อเช้าวันที่ 12 ส.ค. 2554 ที่บริเวณสี่แยกพระพุทธศรีสงขลานครินทร์ถนนราชดำเนินตัดถนนปละท่า อ.เมือง จ.สงขลา นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหา มหาราชินี ที่ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งในวันนี้

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร พ่อค้า ประชาชน นำอาหารหวานคาว ข้าวสารอาหารแห้ง มาร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรอย่างคับคั่ง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพระองค์ท่าน โดยมีพระสงฆ์ จำนวน 112 รูป เดินรับบิณฑบาตจากประชาชนในช่วงเช้า

งานน่าเดิน...เวทีน่าเข้าร่วม สัปดาห์นี้ที่สงขลา

เริ่มแล้ว ! งานเกษตรภาคใต้ 12-21 สิงหาคม ที่ มอ.หาดใหญ่



--------------------------------------------------------------------------

งาน ม.อ. วิชาการ 2554 PSU OPEN WEEK 2011 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2554

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หน่วยงานสังกัด พม. ในสงขลา จัดเวทีบูรณาการแผน นำร่อง 3 ตำบล

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องไพลิน โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นัดจัดเวทีบูรณาการแผนงานของหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย พมจ.สงขลา,สถานสงเคราะห์เด็กบ้านสงขลา , บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา , ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพสตรีภาคใต้ , สสว.12 สงขลา , ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 56 , สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ(ชาย) , ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ , สำนักงานเคหะชุมชนหาดใหญ่ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

โดยดำเนินโครงการนำร่องใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ , ต.นาทับ อ.จะนะ และ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง โดยแผนงานมีตั้งแต่การพัฒนาอาชีพ การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือและพัฒนาผู้พิการ การพัฒนาเด็ก เยาวชน การสร้างภูมิคุ้มกันวัยรุ่นจากยาเสพติด การสร้างเสริมสุขภาพแม่และเด็ก การฟื้นฟู วิถีวัฒนธรรม การทำแผนพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบล

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมในแผนด้านการป้องกันโรคติดต่อ , กศน.ทั้ง 3 ตำบล ในแผนร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกันในอนาคต ก่อนจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆในปีต่อไป

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

“กรมเจ้าท่า” เผยวิธีแก้ชายหาดพัง ต้องสร้างเขื่อนยื่นในทะเล ขณะที่ชุมชนห่วงสร้างปัญหามากกว่าเดิม

กรมเจ้าท่าจ้าง 2 บริษัทที่ปรึกษาศึกษาแนวทางการสร้างเขื่อนป้องกันชายหาดที่ อ.สิงหนคร ถูกกัดเซาะเสียหายยับเยิน โดยมีแนวทางเลือกในการนำทรายจากแหล่งอื่นมาเติมชายหาด และการใช้โครงสร้างก่อสร้างในทะเล ด้านผู้เข้าร่วมห่วงวิธีการล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชาวประมง เพราะแม้แก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ แต่กลับสร้างปัญหาในพื้นที่อื่นหนักขึ้น

วานนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 (บริเวณหาดทรายแก้ว) ซึ่งได้ว่าจ้าง บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และ บริษัท เอส ที เส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา โครงการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณ ต.ชิงโค และหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยมีคณะกรรมการกรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนเข้าร่วม

นายวรรณชัย บุตรทอง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีแนวชายฝั่งยาวติดด้านอ่าวไทยทางตอนใต้ของประเทศ ภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าได้สร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทางเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา อ.เมือง แล้วเสร็จประมาณปี 2531 ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศเหนือของชายหาด ด้านทิศเหนือ อ.สิงหนคร และทวีอย่างรุนแรงใน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ตั้งแต่สำนักสงฆ์ธรรมสถานหาดแก้ว ม.1 ต.หัวเขา ซึ่งคาดการณ์ว่า มีพื้นที่หายไปจากการถูกคลื่นกัดเซาะแล้วเกือบ 50 ไร่ อ่านต่อ


วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครหาดใหญ่ตั้งคณะจัดทำแผนพัฒนาภาคประชาชน

7 สิงหาคม 2554 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อ.หาดใหญ่ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครหาดใหญ่จัดประชุม ครั้งที่ 4/2554 โดยมีวาระสำคัญคือการคัดเลือกคณะกรรมการดำเนินงาน จำนวน 9 คน เพื่อสร้างกระบวนการทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ภาคประชาชน โดยประสานกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีมติให้มีคณะทำงานประสานกับทางเทศบาลนครหาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนจันทร์วิโรจน์ กรณีการลอกคูระบายน้ำ รวมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอ

ประชุมเลขาสภาฯโซนเมือง


7 สิงหาคม 2554 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อ.หาดใหญ่ มีการประชุมเลขานุการของสภาองค์กรชุมชนโซนเมือง ซึ่งประกอบด้วยสภาองค์กรชุมชนในเขตพื้นที่ อ.เมือง อ.หาดใหญ่ อ.นาหม่อม และ อ.สะเดา เพื่อหารือแนวทางการสนับสนุนงานของสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ และทำความเข้าใจร่วมเรื่องระบบฐานข้อมูลชุมชน

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายที่ดินสงขลา และสภาฯนาหมอศรี มอบเงินสมทบทุนสู้คดีเขาคูหา

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่สถานีบริการวิชาการชุมชนจะนะ (ศูนย์อาหาร มอ.) อ.จะนะ เครือข่ายชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินจังหวัดสงขลานัดประชุมประจำเดือนสิงหาคม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน และติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกำหนดแผนงานร่วมกัน โดยมีแผนงานที่สำคัญ คือการกำหนดวันลงพื้นที่เพื่อประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในตำบลเขาแดง อ.สะบ้าย้อย ตำบลวังใหญ่ อ.เทพา และตำบลคลองกวาง อ.นาทวี นอกจากนี้ยังมีแผนการอบรมการทำแผนที่ผังแปลงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (GIS) ของตำบลเขาพระ อ.รัตภูมิ และตำบลบาโหย อ.สะบ้าย้อย ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

โดยในวันนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกกรณีที่แกนนำชุมชนตำบลคูหาใต้ ในนามเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาถูกบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นขอต่อสัมปทานบัตรระเบิดภูเขาคูหา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแกนนำ 9 คน จำนวนเงิน 64,740,485 บาท โดยศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานโจทก์นักแรกในวันที่ 29 สิงหาคม 2554 นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้มีการสบทบทุนเพื่อช่วยเหลือด้านคดีของพี่น้องคูหาใต้ โดยมอบผ่านนายบรรจง ทองเอื่อย 1 ใน 9 แกนนำที่ถูกฟ้อง นอกจากนี้ ทางตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลนาหมอศรี อ.นาทวี ก็ได้มอบเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่งด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขบวนชุมชนสงขลาพัฒนาศักยภาพกองเลขาเพื่อสนับสนุนงานชุมชน

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องฝึกอบรมโรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด ตำบลคลองเปี๊ยะ อ.จะนะ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลา จัดการสัมมนากองเลขาของเครือข่ายชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมในงานพัฒนาภาคชุมชน และพัฒนาเทคนิคระบบงานสนับสนุนชุมชน อาทิ ระบบเอกสาร การเตรียมการประชุม ระบบการสื่อสาร เป็นต้น โดยมี เกศินี คิ้วนาง สามารถ สุขบรรจง จาก พอช. และ ศิริพล สัจจาพันธ์ ที่ปรึกษาขบวนชุมชนสงขลา ร่วมเป็นวิทยากร

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เด็กๆ ลายหอยเสียบ ทวงคืนที่ดินว่ะกัฟ

เด็กๆลูกหลานคนลานหอยเสียบ อ.จะนะ จ.สงขลา จัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชน และขอทวงคืนที่ดินว่ะกัฟ ซึ่งเป็นที่ดินทางศาสนาอิสล​าม ที่ ปตท.ยึดไปก่อสร้างโครงการท่​อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มา​เลเชีย (จาก Face book ของพี่หวอด ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้)


ชาวบ้าน "เขาคูหา" ยินดีกับคำพิพากษาศาลแขวง ทีให้บริษัทระเบิดหินชดใช้ค่าเสียหาย

ชาวเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้เฮ!! เมื่อศาลแขวงสงขลาได้อ่านคำพิพากษาระบุชัด ให้ “บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด” ที่ประกอบการระเบิดหินในพื้นที่และสร้างผลกระทบต่อชุมชนมานานต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงสงขลาได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 588/2553 ระหว่างฝ่ายโจทก์ ประกอบด้วย นางเรณู แสงสุวรรณ ที่ 1, นางวรรณี พรหมคง ที่ 2, นางเอื้ออารีย์ มีบุญ ที่ 3 และนางราตรี มณีรัตน์ ที่ 4 ส่วนฝ่ายจำเลย ได้แก่ บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด โดยศาลอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า

การประกอบกิจการของบริษัทจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ แม้จำเลยจะอ้างว่าตนเองได้ประกอบกิจการภายใต้การอนุญาตและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการประกอบกิจการระเบิดหินในลักษณะใดที่ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งจำเลยเองได้เคยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่มาก่อนแล้วที่จะมีการฟ้องคดี ย่อมแสดงว่า การประกอบกิจการของจำเลยส่งผลกระทบต่อโจทก์ทั้งสี่ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่า ตนได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบ ส่วนโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยได้เคยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มาก่อน จึงต้องฟังว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศาลชี้ “กรมเจ้าท่า” สร้างเขื่อนกันทราย-คลื่นสงขลาผิด กฏหมาย สั่งให้ทำ EIA ใหม่ภายใน 60 วัน

ศาลปกครองสงขลาพิพากษาคดีชาวบ้านสะกอม และเจ้าของรีสอร์ต ฟ้องกรมเจ้าท่า 2 คดี จากผลกระทบในการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น แล้วทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะ ทรัพย์สินเสียหาย และชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งบนบก-ทะเลได้ดังเดิม ชี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนและวิธีการ สั่งกรมเจ้าท่าทำ EIA ภายใน 60 วัน และหากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ฟ้องแล้วให้แก้ไขภายใน 30 วัน ด้านชาวบ้านเตรียมอุทธรณ์ ขอผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นและให้ศาลประเมินความเสียหายแก่ชาวบ้าน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 กรกฏาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 15-16/2551 ท่ามกลางการรับผู้ฟ้อง ชาวบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา นักวิชาการ ในขณะที่กรมเจ้าท่านั้นมิได้ส่งตัวแทนมาในวันนี้

สืบเนื่องจากในปี 2540-2541 กรมเจ้าท่า หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีในชื่อเดิมได้ทำการก่อสร้างเขื่อนกั้นทรายปากคลองสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา และสร้างเขื่อนกันคลื่นจำนวน 6 ตัว เพื่อมิให้ตะกอนทับถมบริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอม และไม่ต้องขุดลอกคลองทุกปี แต่กลับเป็นการรุกล้ำชายฝั่งทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งของบ้านบ่อโชนกว่า 80 เมตรเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร และยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดการกัดเซาะลง อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

ภาคีความร่วมมือพัฒนาศักยภาพชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ ลงพื้นที่ท่าหิน

เมื่อบ่ายวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ณ ที่ทำการสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าหิน ภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพชุมชนคาบสมุทรสทิงพระนำร่องสู่ชุมชนจัดการตนเอง นำโดยนายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนหน่วยงาน อาทิ พมจ.สงขลา พอช.ภาคใต้ หน่วยงานราชการในพื้นที่อำเภอสทิงพระ รวมทั้งคณะทำงานจากเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยมีชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ แกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าหินและแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบล ในอำเภอสทิงพระเข้าร่วมแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานจังหวัดสงขลา นำโดยรองผู้ว่าฯสุรพล พนัสอำพล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำโครงการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพชุมชนคาบสมุทรสทิงพระนำร่องสู่ชุมชนจัดการตนเอง ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 25 ตำบล ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร สทิงพระ ระโนด และกระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ๆอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้นำ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชน การจัดทำแผนพัฒนาตำบลอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งระดับครัวเรือน และชุมชน การขยายผลกิจกรรมต่างๆ อาทิ พลังงานชุมชน ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งการถอดบทเรียน และชุดความรู้ โดยในช่วงที่ผ่านมา คณะทำงานชุดต่างๆ ได้ลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้านและตำบล เพื่อจัดกระบวนการพัฒนา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคส่วนต่างๆในพื้นที่

การลงในพื้นที่อย่างเต็มคณะในครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพัฒนาของภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากคณะทำงานฯ ฝ่ายองค์กรชุมชน ส่วนราชการ รวมทั้งการนำเสนอข้อเสนอของชุมชน ต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา

ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเวที คณะทำงานฯ ด้านการพัฒนาผู้นำ ได้มีการประชุมยกร่างหลักสูตรการพัฒนาผู้นำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย กรรมการหมู่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรชุมชน ทั้ง 25 ตำบลในสี่อำเภอของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งในรุ่นแรกจะเป็นผู้นำใน 6 ตำบลของอำเภอสิงหนคร สำหรับเนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วย บทบาทของกรรมการหมู่บ้าน การจัดการตนเองโดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก กระบวนการทำแผนชุมชน และเทคนิคการจัดการประชุมแบบมีส่วนร่วม โดยกำหนดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านนาปาบ ต.คูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะทำงาน ได้พักค้างแรมในชุมชนท่าหิน โดยเช้าวันรุ่งขึ้นทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะทำงานได้ออกเยี่ยมพี่น้องชุมชนท่าหิน และนอกจากนี้ทางผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิได้นำพันธุ์ต้นเคี่ยม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตน้ำตาลโตนด ซึ่งเป็นอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งของชาวท่าหิน มามอบให้กับผู้แทนชุมชนท่าหินด้วย

หนังสือสงขลาสตูลก้าวสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก


หนังสือสงขลาสตูลก้าวสู่จังหวัดอุตสาหกรรมหนัก

ข้อมูลที่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ ฤาหายนะจะมาเยือนเหมือนมาบตาพุด..