จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

สงขลาคึกคัก กินเจตรงกับวันจ่ายเดือนสิบ บูญหลัง

สงขลาคึกคัก กินเจตรงกับวันจ่ายเดือนสิบ คนจีนออกมาจับจ่ายซื้อผักเพื่อกินเจเป็นวันแรก ขณะที่คนไทยเตรียมซื้อขนมทำบุญเดือนสิบที่วัดพรุ่งนี้

วานนี้ (26 ก.ย.) บรรยากาศตามตลาดต่างๆ ใน จ.สงขลา เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของชาวจีนเป็นวันแรก และยังตรงกับวันจ่ายเทศกาลสารทเดือนสิบครั้งที่สอง หรือสิบหลัง ของชาวใต้ ทำให้ทั้งชาวไทยจีนและชาวไทยพุทธออกมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก

ที่ตลาดสดหาดใหญ่ใน บรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนต่างออกมาจับจ่ายซื้อผักเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารเจในวันแรก ขณะที่แผงขายผักต่างสั่งผักมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นสองเท่า เพื่อรองรับร้านค้า ร้านอาหารที่นำไปประกอบเป็นอาหารเจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักที่ส่งมาจาก จ.ราชบุรี แต่ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดย นายสำรวย รักสมบูรณ์ พ่อค้าขายผัก เปิดเผยว่า ราคาผักที่สูงกว่าปกตินั้น เช่น ผักชี จากกิโลละ 70 เป็น100 บาท พริกชี้ฟ้าแดง จาก 90 เป็น 120 บาท ส่วนผักอื่นๆ เช่น คะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำดอกต้นหอม ปรับขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-15 บาท

เช่นเดียวกับขนมที่จะนำไปใช้ในวันสารทเดือนสิบครั้งที่สอง ประเพณีสำคัญของชาวไทยพุทธ ก็ปรับราคาขึ้นเช่นกัน เช่น ขนมต้ม จากเดิมร้อยละ 200 เป็นร้อยละ 300 บาท ส่วนขนมลา ขนมเจาะหู ขนมบ้า และขนมพอง ปรับขึ้นประมาณ 5 บาท แต่ส่วนใหญ่ประชาชนจะซื้อแบบสำเร็จรูปใส่รวมกันถุงละ 40-50 บาท เพื่อนำไปทำบุญเดือนสิบครั้งที่สอง หรือสิบหลัง ซึ่งเป็นการทำบุญใหญ่ในวันพรุ่งนี้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่จะกลับภพภูมิ หรือที่เรียกว่า การส่งเปรต

สงขลาเปิดเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่

เปิด “เส้นทางปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” แห่งใหม่ของสงขลา บริเวณป่าเทือกเขาแก้ว ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งผ่าน 4 ตำบลของหาดใหญ่ และเชื่อมโยงไปยังน้ำตกชื่อดัง 2 แห่งของจังหวัดด้วย โดยมีชมรมปั่นจักรยานจาก 4 ตำบลเข้าร่วมปั่นเปิดงาน

วานนี้ (26 ก.ย.) นายสมโภช วิเชียร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง เป็นประธานในพิธีเปิด “เส้นทางปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” แห่งใหม่ของ จ.สงขลา บริเวณป่าเทือกเขาแก้ว โดยมีชมรมปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จาก 4 ตำบล ของ อ.หาดใหญ่ ประกอบด้วย ต.ฉลุง ต.ทุ่งตำเสา ต.กำแพงเพชร และ ต.ควนลัง เข้าร่วม พร้อมกับปั่นจักรยานไปตามเส้นทางท่องเที่ยวที่คาบเกี่ยวกันทั้ง 4 ตำบล

เริ่มจาก ต.ควนลัง ผ่าน ต.ทุ่งตำเสา เข้าสู่ ต.ฉลุง และออกไปยัง ต.กำแพงเพชร ซึ่งเหมาะกับการปั่นรถจักรยานเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังน้ำตกชื่อดัง 2 แห่ง ของ จ.สงขลา คือ น้ำตกโตนงาช้าง และน้ำตกโตนปลิว ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ตลอดสองข้างทางยังได้สัมผัสกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งยังเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ดูแลผืนป่าเทือกเขาแก้ว ป่าต้นน้ำสำคัญของ อ.หาดใหญ่ ด้วย

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนตำบลสะพานไม้แก่นจัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ

เมื่อวันที่ 21-22 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจักพรรดิ์รีสอร์ท อ.สะเดา จ.สงขลา สภาองค์กรชุมชนตำบลสะพานไม้แก่น อ.จะนะ จัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ ซึ่งเป็นการจัดนอกสถานที่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา

โดยในวันแรก เป็นเนื้อหาการสร้างความเข้าใจกรอบคิดและกระบวนการ “ตำบลจัดการตนเอง” โดยมีคุณสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นวิทยากรกระบวนการ ส่วนวันที่สองเป็นการสร้างความเข้าใจกระบวนการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนการพัฒนาชุมชน และในช่วงท้ายของเวที เป็นการเสวนาเรื่องการสร้างประชาธิปไตยชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

เทศบาลสงขลาเร่งเสริมกระสอบทรายกันดินเขาน้อยสไลด์

เจ้าหน้าที่เทศบาลนครสงขลาเร่งนำกระสอบ 500 ใบบรรจุทราย ขึ้นไปทำแนวเขื่อนริมถนนขึ้นเขาน้อย ป้องกันดินสไลด์ถล่มทับบ้านเรือนประชาชน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา นายสมชาย เมฆาอภิรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้สั่งการให้คนงานฝ่ายโยธาเทศบาลนครสงขลา เร่งบรรจุทรายใส่กระสอบ 500 ใบ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากที่ในช่วงนี้ฝนทิ้งช่วง เพื่อนำขึ้นไปปิดช่องที่ถนนทรุดตัวบนเขาน้อย และได้ทำการตอกไม้เสาเข็ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย โดยนำกระสอบทรายอัดบริเวณที่ตอกไม้เสาเข็มขึ้นมาถึงพื้นถนนอย่างแน่นหนา

หลังจากนั้นก็จะใช้กระสอบทรายเรียงเป็นแนวเขื่อน 2 ชั้น ริมขอบถนนทางขึ้นเขาน้อยด้านที่มีบ้านเรือนประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่จะตกลงมา ไหลจากเขาน้อยลงไปทางบ้านเรือนประชาชนด้านล่าง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดเหตุดินสไลด์จากภาวะฝนตก และดินชุ่มน้ำ แต่จะให้น้ำฝนไหลย้อนกลับมาลงที่คูระบายน้ำ ทั้งนี้ เทศบาลนครสงขลาได้ทำการลอกคูไม่มีขยะกิ่งไม้หรือก้อนหินกีดขวางทางระบายน้ำออกหมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงเชิงเขา ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเรือนของประชาชนหลายสิบหลังคาเรือน เพื่อป้องกันเหตุดินและต้นไม้จากเขาน้อยสไลด์ลงไปทับบ้านของชาวบ้านที่อยู่ด้านล่าง

ขณะนี้แม้ในพื้นที่ จ.สงขลา ฝนจะทิ้งช่วงแต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ หลังจากที่ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุดินจากเขาน้อยสไลด์ลงมาทับบ้านชาวบ้านที่อยู่ตีนเขามาแล้วถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต3 ราย โดยเฉพาะล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นายกฤษดา สู่เมือง ครูโรงเรียนวชิรานุกูล จ.สงขลา เสียชีวิตขณะนอนหลับอยู่ภาย

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ชาวสิงหนครประท้วง ปตท.สผ.จี้จ่ายชดเชยคราบน้ำมันรั่วทำปลากระชังตาย

ชาวบ้านในพื้นที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คนชุมนุมประท้วงบริษัท ปตท.สผ.เรียกร้องค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือขนถ่ายน้ำมัน ทำให้ปลาในกระชังตายและกระทบกับอาชีพประมงหลังยืดเยื้อมา 6 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2554 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านเล และบ้านหาดทรายแก้ว ใน ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คน นำโดย นายรอเฉม บิลหีม ประธานชุมชนบ้านเล ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่บริเวณด้านหน้าของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล จากเรือขนถ่ายน้ำมันที่นำน้ำมันไปส่งยังคลังน้ำมันของบริษัท ปตท.สผ. ที่ อ.สิงหนคร ส่งผลให้ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังตาย และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง ซึ่งมีชาวบ้านที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนลงชื่อขอรับเงินชดเชยกว่า 1,000 ราย รายละ15,000 บาท ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือ จึงนัดรวมตัวประท้วงเพื่อขอคำตอบที่ชัดเจน

ในเบื้องต้น ทางบริษัท ปตท.สผ. และชาวบ้าน ได้ส่งตัวแทนไปเจรจากันที่ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร โดยมีฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นคนกลางในการเจรจา ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าต้องได้รับคำตอบเรื่องเงินชดเชยภายในวันนี้ หากไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ก็จะรวมตัวนำเรือประมงปิดท่าเทียบเรือของบริษัท ปตท.สผ. ใน อ.สิงหนคร ทันที

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด มีรายงานว่าการเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติแล้ว โดยทาง บริษัท ปตท. สผ. นัดเจรจาให้คำตอบแก่ชาวบ้าน ภายใน 7 วัน สร้างความพอใจให้แก่ชาวบ้านในระดับหนึ่ง ก่อนจะสลายการชุมนุมในที่สุดในที่สุด

นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่อร่วมงานกินเจหาดใหญ่คึกคัก

ทุกภาคส่วนเตรียมจัดงานเทศกาลถือศีล กินเจ ใน อ.หาดใหญ่ อย่างยิ่งใหญ่ นำ 108 รสชาติอาหารเพื่อให้อิ่มบุญกันอย่างพอเพียง และร่วมเลี้ยงอาหารสร้างกุศลด้วย ด้านนายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา คาดปีนี้บรรยากาศคึกคักกว่าทุกปี และตรงกับวันประกาศอิสรภาพของประเทศมาเลเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวทะลักเข้าในวันหยุด 30 ก.ย. – 2 ต.ค. โดยมียอดจองห้องพักเต็มหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

เทศกาลถือศีล กินเจ เป็นประเพณีของชาวจีน ที่สืบทอดประเพณีปฏิบัติมายาวนาน ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายน-ตุลาคม ของไทย โดยเชื่อว่าประเพณีการถือศีลกินเจเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอกระทู้ จ.ภูเก็ต หลังจากนั้นก็มีการสืบทอดประเพณีการถือศีล กินเจอย่างแพร่หลาย สำหรับในภาคใต้ ประเพณีการถือศีล กิน เจ ที่มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ คือที่ จ.ภูเก็ต จ.ตรัง และที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อ่านต่อ คลิ้กที่นี่



วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล

ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล เสนอ ๕ แนวทางสำคัญ มุ่งเป็นสภาแห่งความดี

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน ได้จัด “การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔” ณ ห้องเอนกประสงค์ (๒๐๙) ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณา ๕ แนวทางสำคัญการขับเคลื่อนในปี ๒๕๕๕ โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานภาคี เข้าร่วมการประชุมประมาณ ๓๐๐ คน

นายจินดา บุญจันทร์ เลขานุการที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า ที่ประชุมระดับชาติฯ นอกจากมีมติในแนวทางการขับเคลื่อนด้านต่างๆ แล้ว ยังมีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ หลังพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ครบ ๓ ปี โดยให้คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาพัฒนาการเมือง และขบวนองค์กรชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการทบทวน แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับด้วย ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาข้อติดขัดเกี่ยวกับประเด็นทางกฏหมายในบางประการ ที่อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง อ่านต่อ