จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

สงขลาคึกคัก กินเจตรงกับวันจ่ายเดือนสิบ บูญหลัง

สงขลาคึกคัก กินเจตรงกับวันจ่ายเดือนสิบ คนจีนออกมาจับจ่ายซื้อผักเพื่อกินเจเป็นวันแรก ขณะที่คนไทยเตรียมซื้อขนมทำบุญเดือนสิบที่วัดพรุ่งนี้

วานนี้ (26 ก.ย.) บรรยากาศตามตลาดต่างๆ ใน จ.สงขลา เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของชาวจีนเป็นวันแรก และยังตรงกับวันจ่ายเทศกาลสารทเดือนสิบครั้งที่สอง หรือสิบหลัง ของชาวใต้ ทำให้ทั้งชาวไทยจีนและชาวไทยพุทธออกมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก

ที่ตลาดสดหาดใหญ่ใน บรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนต่างออกมาจับจ่ายซื้อผักเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารเจในวันแรก ขณะที่แผงขายผักต่างสั่งผักมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นสองเท่า เพื่อรองรับร้านค้า ร้านอาหารที่นำไปประกอบเป็นอาหารเจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักที่ส่งมาจาก จ.ราชบุรี แต่ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดย นายสำรวย รักสมบูรณ์ พ่อค้าขายผัก เปิดเผยว่า ราคาผักที่สูงกว่าปกตินั้น เช่น ผักชี จากกิโลละ 70 เป็น100 บาท พริกชี้ฟ้าแดง จาก 90 เป็น 120 บาท ส่วนผักอื่นๆ เช่น คะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำดอกต้นหอม ปรับขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-15 บาท

เช่นเดียวกับขนมที่จะนำไปใช้ในวันสารทเดือนสิบครั้งที่สอง ประเพณีสำคัญของชาวไทยพุทธ ก็ปรับราคาขึ้นเช่นกัน เช่น ขนมต้ม จากเดิมร้อยละ 200 เป็นร้อยละ 300 บาท ส่วนขนมลา ขนมเจาะหู ขนมบ้า และขนมพอง ปรับขึ้นประมาณ 5 บาท แต่ส่วนใหญ่ประชาชนจะซื้อแบบสำเร็จรูปใส่รวมกันถุงละ 40-50 บาท เพื่อนำไปทำบุญเดือนสิบครั้งที่สอง หรือสิบหลัง ซึ่งเป็นการทำบุญใหญ่ในวันพรุ่งนี้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่จะกลับภพภูมิ หรือที่เรียกว่า การส่งเปรต

สงขลาเปิดเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่

เปิด “เส้นทางปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” แห่งใหม่ของสงขลา บริเวณป่าเทือกเขาแก้ว ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งผ่าน 4 ตำบลของหาดใหญ่ และเชื่อมโยงไปยังน้ำตกชื่อดัง 2 แห่งของจังหวัดด้วย โดยมีชมรมปั่นจักรยานจาก 4 ตำบลเข้าร่วมปั่นเปิดงาน

วานนี้ (26 ก.ย.) นายสมโภช วิเชียร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง เป็นประธานในพิธีเปิด “เส้นทางปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” แห่งใหม่ของ จ.สงขลา บริเวณป่าเทือกเขาแก้ว โดยมีชมรมปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จาก 4 ตำบล ของ อ.หาดใหญ่ ประกอบด้วย ต.ฉลุง ต.ทุ่งตำเสา ต.กำแพงเพชร และ ต.ควนลัง เข้าร่วม พร้อมกับปั่นจักรยานไปตามเส้นทางท่องเที่ยวที่คาบเกี่ยวกันทั้ง 4 ตำบล

เริ่มจาก ต.ควนลัง ผ่าน ต.ทุ่งตำเสา เข้าสู่ ต.ฉลุง และออกไปยัง ต.กำแพงเพชร ซึ่งเหมาะกับการปั่นรถจักรยานเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังน้ำตกชื่อดัง 2 แห่ง ของ จ.สงขลา คือ น้ำตกโตนงาช้าง และน้ำตกโตนปลิว ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ตลอดสองข้างทางยังได้สัมผัสกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งยังเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ดูแลผืนป่าเทือกเขาแก้ว ป่าต้นน้ำสำคัญของ อ.หาดใหญ่ ด้วย

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนตำบลสะพานไม้แก่นจัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ

เมื่อวันที่ 21-22 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจักพรรดิ์รีสอร์ท อ.สะเดา จ.สงขลา สภาองค์กรชุมชนตำบลสะพานไม้แก่น อ.จะนะ จัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ ซึ่งเป็นการจัดนอกสถานที่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา

โดยในวันแรก เป็นเนื้อหาการสร้างความเข้าใจกรอบคิดและกระบวนการ “ตำบลจัดการตนเอง” โดยมีคุณสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นวิทยากรกระบวนการ ส่วนวันที่สองเป็นการสร้างความเข้าใจกระบวนการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนการพัฒนาชุมชน และในช่วงท้ายของเวที เป็นการเสวนาเรื่องการสร้างประชาธิปไตยชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

เทศบาลสงขลาเร่งเสริมกระสอบทรายกันดินเขาน้อยสไลด์

เจ้าหน้าที่เทศบาลนครสงขลาเร่งนำกระสอบ 500 ใบบรรจุทราย ขึ้นไปทำแนวเขื่อนริมถนนขึ้นเขาน้อย ป้องกันดินสไลด์ถล่มทับบ้านเรือนประชาชน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา นายสมชาย เมฆาอภิรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้สั่งการให้คนงานฝ่ายโยธาเทศบาลนครสงขลา เร่งบรรจุทรายใส่กระสอบ 500 ใบ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากที่ในช่วงนี้ฝนทิ้งช่วง เพื่อนำขึ้นไปปิดช่องที่ถนนทรุดตัวบนเขาน้อย และได้ทำการตอกไม้เสาเข็ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย โดยนำกระสอบทรายอัดบริเวณที่ตอกไม้เสาเข็มขึ้นมาถึงพื้นถนนอย่างแน่นหนา

หลังจากนั้นก็จะใช้กระสอบทรายเรียงเป็นแนวเขื่อน 2 ชั้น ริมขอบถนนทางขึ้นเขาน้อยด้านที่มีบ้านเรือนประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่จะตกลงมา ไหลจากเขาน้อยลงไปทางบ้านเรือนประชาชนด้านล่าง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดเหตุดินสไลด์จากภาวะฝนตก และดินชุ่มน้ำ แต่จะให้น้ำฝนไหลย้อนกลับมาลงที่คูระบายน้ำ ทั้งนี้ เทศบาลนครสงขลาได้ทำการลอกคูไม่มีขยะกิ่งไม้หรือก้อนหินกีดขวางทางระบายน้ำออกหมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงเชิงเขา ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเรือนของประชาชนหลายสิบหลังคาเรือน เพื่อป้องกันเหตุดินและต้นไม้จากเขาน้อยสไลด์ลงไปทับบ้านของชาวบ้านที่อยู่ด้านล่าง

ขณะนี้แม้ในพื้นที่ จ.สงขลา ฝนจะทิ้งช่วงแต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ หลังจากที่ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุดินจากเขาน้อยสไลด์ลงมาทับบ้านชาวบ้านที่อยู่ตีนเขามาแล้วถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต3 ราย โดยเฉพาะล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นายกฤษดา สู่เมือง ครูโรงเรียนวชิรานุกูล จ.สงขลา เสียชีวิตขณะนอนหลับอยู่ภาย

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ชาวสิงหนครประท้วง ปตท.สผ.จี้จ่ายชดเชยคราบน้ำมันรั่วทำปลากระชังตาย

ชาวบ้านในพื้นที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คนชุมนุมประท้วงบริษัท ปตท.สผ.เรียกร้องค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือขนถ่ายน้ำมัน ทำให้ปลาในกระชังตายและกระทบกับอาชีพประมงหลังยืดเยื้อมา 6 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2554 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านเล และบ้านหาดทรายแก้ว ใน ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คน นำโดย นายรอเฉม บิลหีม ประธานชุมชนบ้านเล ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่บริเวณด้านหน้าของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล จากเรือขนถ่ายน้ำมันที่นำน้ำมันไปส่งยังคลังน้ำมันของบริษัท ปตท.สผ. ที่ อ.สิงหนคร ส่งผลให้ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังตาย และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง ซึ่งมีชาวบ้านที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนลงชื่อขอรับเงินชดเชยกว่า 1,000 ราย รายละ15,000 บาท ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือ จึงนัดรวมตัวประท้วงเพื่อขอคำตอบที่ชัดเจน

ในเบื้องต้น ทางบริษัท ปตท.สผ. และชาวบ้าน ได้ส่งตัวแทนไปเจรจากันที่ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร โดยมีฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นคนกลางในการเจรจา ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าต้องได้รับคำตอบเรื่องเงินชดเชยภายในวันนี้ หากไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ก็จะรวมตัวนำเรือประมงปิดท่าเทียบเรือของบริษัท ปตท.สผ. ใน อ.สิงหนคร ทันที

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด มีรายงานว่าการเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติแล้ว โดยทาง บริษัท ปตท. สผ. นัดเจรจาให้คำตอบแก่ชาวบ้าน ภายใน 7 วัน สร้างความพอใจให้แก่ชาวบ้านในระดับหนึ่ง ก่อนจะสลายการชุมนุมในที่สุดในที่สุด

นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่อร่วมงานกินเจหาดใหญ่คึกคัก

ทุกภาคส่วนเตรียมจัดงานเทศกาลถือศีล กินเจ ใน อ.หาดใหญ่ อย่างยิ่งใหญ่ นำ 108 รสชาติอาหารเพื่อให้อิ่มบุญกันอย่างพอเพียง และร่วมเลี้ยงอาหารสร้างกุศลด้วย ด้านนายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา คาดปีนี้บรรยากาศคึกคักกว่าทุกปี และตรงกับวันประกาศอิสรภาพของประเทศมาเลเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวทะลักเข้าในวันหยุด 30 ก.ย. – 2 ต.ค. โดยมียอดจองห้องพักเต็มหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

เทศกาลถือศีล กินเจ เป็นประเพณีของชาวจีน ที่สืบทอดประเพณีปฏิบัติมายาวนาน ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายน-ตุลาคม ของไทย โดยเชื่อว่าประเพณีการถือศีลกินเจเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอกระทู้ จ.ภูเก็ต หลังจากนั้นก็มีการสืบทอดประเพณีการถือศีล กินเจอย่างแพร่หลาย สำหรับในภาคใต้ ประเพณีการถือศีล กิน เจ ที่มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ คือที่ จ.ภูเก็ต จ.ตรัง และที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อ่านต่อ คลิ้กที่นี่



วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล

ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล เสนอ ๕ แนวทางสำคัญ มุ่งเป็นสภาแห่งความดี

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน ได้จัด “การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔” ณ ห้องเอนกประสงค์ (๒๐๙) ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณา ๕ แนวทางสำคัญการขับเคลื่อนในปี ๒๕๕๕ โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานภาคี เข้าร่วมการประชุมประมาณ ๓๐๐ คน

นายจินดา บุญจันทร์ เลขานุการที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า ที่ประชุมระดับชาติฯ นอกจากมีมติในแนวทางการขับเคลื่อนด้านต่างๆ แล้ว ยังมีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ หลังพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ครบ ๓ ปี โดยให้คณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาพัฒนาการเมือง และขบวนองค์กรชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการทบทวน แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับด้วย ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาข้อติดขัดเกี่ยวกับประเด็นทางกฏหมายในบางประการ ที่อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

สมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง” ปี ๒๕๕๔

สรุปสาระสำคัญ..งานสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับชาติ “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง”และการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔วันที่ ๑๓-๑๔กันยายน ๒๕๕๔ ณ ห้องเอนกประสงค์(๒๐๙) ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

(คลิ้กอ่านรายละเอียดได้ที่่หัวข้อลิ้งค์ด้านล่าง)

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ป.ป.ท.เชื่อ จนท.ป่าไม้ละเลยหน้าที่ให้นายทุนรุกป่า"โตนงาช้าง"

จากกรณีที่เป็นข่าว การบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยาน ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้การบุกรุกเข้าทำลายป่า

การลงพื้นที่ตรวจสอบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบพื้นที่ป่าถูกแผ้วถางและลักลอบตัดไม้เป็นบริเวณกว้าง ขณะนี้ ป.ป.ท.ได้ข้อมูลการจับกุมผู้กระทำความผิดย้อนหลังจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สงขลา และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สงขลา หลังพบข้อพิรุธหลายอย่าง เช่น ปล่อยให้มีการตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ใกล้กับหน่วยที่รับผิดชอบ และการเข้าครอบครองที่ดิน โดยมีการปักหมุด และรังวัดในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่พรุ ป่าเทือกเขาไฟไหม้ และป่าคลองกั่ว การตรวจสอบบุกรุกพื้นที่อุทยาน และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีการขยายผลไปหลายพื้นที่ ทำให้ล่าสุดชาวบ้านกลุ่มประชาคมรักป่าต้นน้ำผาดำ ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสภาพป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพาพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งอยู่ใน อ.สะเดา และอ.หาดใหญ่ ซึ่งถูกบุกรุกเสียหายรุนแรงเช่นเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ชาวหาดใหญ่ตั้งวงหารือแนวทางรับมือน้ำท่วม

เครือข่ายองค์กรชุมชนหาดใหญ่ ร่วมกับ กองทุนสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโครงการรวมกลุ่มผู้นำพัฒนาชุมชน จัดเวที “ชุมชนหาดใหญ่กับการรับมือน้ำท่วม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 ณ ห้องกังสดาล ชั้น 3 โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนัก และเตรียมความพร้อมชุมชนในการรับมือกรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม สรุปการประชุม คลิ้กที่นี่ครับ

คนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์ถิ่นภาคใต้ สรุปบทเรียนการทำงาน

ที่ สสว.12 จ.สงขลา คนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์ถิ่น รุ่นที่ 4 (ภาคใต้) ภายใต้การสนับสนุนของ พอช. จัดเวทีสรุปบทเรียนการทำงาน ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายนที่ผ่านมา

นับเป็นรุ่นที่ 4 ของ พอช.ในการจัดทำโครงการคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์ถิ่น เพื่อสนับสนุน คนรุ่นใหม่ให้กลับมาทำงานรับใช้ชุมชนบ้านเกิด โดยสนับสนุนการพัฒนาทักษะในการทำงานชุมชน และการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับรุ่นนี้มีทั้งหมด 20 คน ซึ่งดำเนินงานย่างเข้าสู่เดือนที่ 8

ประเด็นสำคัญที่ ผู้เข้าร่วมโครงการสะท้อน อาทิ ความคาดหวังที่ต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และองค์กรชุมชนพี่เลี้ยง การรับผิดชอบงานในพื้นที่ที่มากเกินไป รวมทั้งยังขาดทิศทางที่จะช่วยนำพาชุมชน

โดยเวทีครั้งนี้เน้นการปรับความคาดหวังร่วม การสรุปบทเรียน การเติมพลังใจ และทำแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

พอช.ภาคใต้ จัดประชุมเพื่อวางกรอบการติดตาม หนุนเสริมชุมชน

พอช.ภาคใต้ จัดประชุมเพื่อวางกรอบการติดตาม หนุนเสริมชุมชน

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ จัดการประชุมคณะอนุกรรมการเสริมสร้างขีดความสามารถชุมชน เพื่อวางกรอบและจัดทำแผนการติดตาม หนุนเสริม และการประเมินผล โครงการตำบลจัดการตนเอง 505 ตำบลของภาคใต้

ทั้งนี้ พอช.ได้สนับสนุนสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถชุมชน ในการจัดการตนเองของพื้นที่ตำบล จำนวน 505 ตำบล ซึ่งอยู่หว่างการดำเนินการในระยะที่ 1 และเพื่อให้การดำเนินงานของพื้นที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าประสงค์ จึงได้จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการหนุนเสริมพื้นที่ โดยที่ประชุมมีข้อสรุปให้เน้นการประเมินและหนุนช่วยกันของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละจังหวัด โดยมีทีมๆละ 3-5 คน ลงพื้นที่ 10-15 ตำบล โดยมีกรอบการประเมินกลาง เพื่อให้เห็นสภาพการดำเนินงาน จุดเด่น รวมทั้งข้อจำกัดของพื้นที่ ก่อนที่จะประมวลเพื่อจัดทีมหนุนเสริมพื้นที่ในระยะต่อไป


ชี้ท่าเรือน้ำลึกไม่คุ้ม-เปลืองค่าขุดลอก-ซ้ำเติมสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมราชมังคลาพาวิล เลี่ยนบีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ร่วมกับไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ส์จำกัด และบริษัทซีคอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จัดประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการขนส่งทางน้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน

นายประพัตร์ กรังพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน บริษัท ไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เทศบาลนครสงขลาเป็นผู้เสนอให้กรมเจ้าท่า ศึกษาความเหมาะสมเพื่อสำรวจออกแบบการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจการการขนส่งทางน้ำ กิจการประมง และการท่องเที่ยว ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม

นายเชิดวงค์ แสงศุภวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์และท่าเรือบริษัท ซีคอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเสนอว่า จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในพื้นที่พบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาท่าเทียบเรือ 3 แห่ง คือ บริเวณท่าเรือสะพานไม้ บริเวณท่าเรือเก่าถนนนครนอก และบริเวณชุมชนแหล่งพระราม ในเขตเทศบาลนครสงขลา อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ม็อบชาวบ้านนาทับสลายตัว หลังรัฐและโรงไฟฟ้ารับข้อเสนอ

หลังจากที่เคลื่อนพลปิดถนนยื่นข้อเสนอต่อโรงไฟฟ้า มาตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้(วันที่ 7 กันยายน 2554) ชาวบ้านตำบลนาทับ และตำบลใกล้เคียง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 500 คน ชุมนุมประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าจะนะ โดยกางเต็นท์ปิดทางหลวง 43 (หาดใหญ่ – ปัตตานี) บริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าจะนะ ฝั่งทางไปปัตตานี ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ทำให้รถที่สัญจรไปมาติดขัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) ประมาณ 100 นาย คอยรักษาความปลอดภัย

เวลาประมาณ 14.30 น. ที่ห้องประชุมอาคารโรงอาหารของโรงไฟฟ้าจะนะ นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเจรจากับชาวบ้านประมาณ 30 คน นำโดยนายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว นายพีรดิศ เหร็มแอ และนายอมร เบ็ญหมาด โดยมี นายวิวัฒน์ ศิริเกียรติกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ นายวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต ปลัดอาวุโส อำเภอจะนะ ร่วมเจรจา

การเจรจาใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง บรรยากาศเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด กระทั่งเวลา 17.30 น.จึงตกลงกันได้ โดยตัวแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ตัวแทนส่วนราชการ และตัวแทนชาวบ้าน ได้บันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบคลองนาทับ ประกอบด้วย อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

“ป๋าเปรม” ย้ำคนสงขลารักษาภาษาถิ่นเสริมเสน่ห์ และพัฒนาเศรษฐกิจ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานเปิดโครงการเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ7 รอบ 84 สงขลา ย้ำให้คนสงขลารักและใช้ภาษาถิ่นสร้างเสน่ห์นอกเหนือจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 7 กัยยายน 2554 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ ครบ60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ ซึ่ง จ.สงขลา ร่วมกับมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติและ14 ภาคีการบริหารจัดการร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ7 รอบ 84 สงขลา

พล.อ.เปรม ได้เป็นเกียรติได้พิธีลงนามข้อตกลง 14 ภาคีองค์กรการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาจ.สงขลา และมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายเรารักสงขลาได้แก่ น.ส.จงดี ขุนราช การแข่งขันตอบปัญหาเรารักสงขลา ได้แก่ นายอิทธิกร ทองแกมแก้ว โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 และการประกวดเรียงความเรารักสงขลา ได้แก่ นายไพศาล รัตนะ

รวมทั้งมอบโล่เชิดชูเกียรติคนดีศรีสงขลา 6 ประเภท คือ เยาวชนดีเด่น ได้แก่ น.ส.สุภาพร เพชรรัตน์ เกษตรกรดีเด่นได้แก่ นายศิลป์ชัย กลับกลาย นักธุรกิจดีเด่นได้แก่ นายลิขิต กฤษเจิรญ ข้าราชการดีเด่นได้แก่ นายสุรเชษฐ์ ศรีกระจ่าง รองอธิบดีอัยการภาค9 และองค์กรดีเด่น ได้แก่ ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ และครอบครัวดีเด่น ได้แก่ นายชิต ขวัญคำ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

สพม.จัดเวทีพัฒนากลไลภาคประชาสังคมเพื่อการเมืองภาคพลเมือง

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ที่มหาวัทยาลัยราชภัฎสงขลา สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีพัฒนากลไลภาคประชาสังคมเพื่อการเมืองภาคพลเมืองระดับจังหวัด โดยมีเครือข่ายชุมชน ภาควิชาการ ตัวแทนท้องถิ่น ฯลฯ เข้าร่วม

ในช่วงเช้ามีการเสวนา ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อ.บรรจง ทองสร้าง รองอธิบดี ม.ราชภัฎ , นายสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้าม , อ.เฉลิมศักดิ์ บุญนำ ม.หาดใหญ่ , อ.อรัญ จิตตเสโน ,นายประพาส บัวแก้ว สพม.สงขลา และ อ.จรูญ หยูทอง นักวิชาการ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่อยู่ที่การวิเคราะห์สถานการณ์สังคม การเมือง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น

สำหรับช่วงบ่าย เป็นการระดมความคิดเห็นของเครือข่ายต่างๆว่าด้วยการขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมือง อาทิ เครือข่ายลุ่มน้ำคลองรัตภูมี สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดิน เป็นต้น และในช่วงท้ายมีการหารือกลไกการประสานงาน.

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

"4 ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็กต่างชาติ " พร้อมจัดหนักภาคใต้ !

โรงเหล็กต้นน้ำในยุคอุตสาหกรรมหนักมุ่งลงใต้

4 ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็กต่างชาติ สนใจลงทุนในภาคใต้ บริษัทยักษ์ญี่ปุ่นเตรียมเข้าปัตตานี ผุดโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ตรวจ 4 พื้นที่ศึกษาเหมาะสมตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนัก

อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมหนักที่มีเป้าหมายที่จะลงปักหลักในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนด้านอุตสาหกรรมเหล็กจากต่างประเทศ 4 กลุ่ม ที่แสดงความสนใจจะมาลงทุน

นั่นคือ บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่นฯ และบริษัท เจเอฟอี สตีล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น
บริษัท บาวสตีล จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัทอาร์เซลอร์ มิตตาล สัญชาติอินเดีย

การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จะต้องก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000–10,000 ไร่ และต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 200 เมตร รองรับเรือขนาด 20,000–200,000 DWT ที่จะนำเข้าและขนถ่ายสินแร่เหล็ก และวัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ในการถลุงเหล็ก เช่น ถ่านหิน เพื่อนำมาผลิตถ่านโค้กใช้ในกระบวนการถลุงเหล็ก

โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ต้องการน้ำใช้ในอุตสาหกรรมมากถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 30–50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งยังต้องการระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภค และระบบกำจัดของเสียอีกสารพัด อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

คนเขาคูหาฟ้องเหมืองหิน ให้ขึ้นป้ายขอโทษทั่วเมือง

เมื่อคนตัวเล็กเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่ศาลจังหวัดสงขลา ศาลได้นัดคู่พิพาทในคดีหมายเลขดำที่ 664/2554 ระหว่างบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกชัย อิสระทะ และพวกรวม 9 คน ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ นายครื้น บุญรัตน์ นายสุทธิวงศ์ รักเงิน นายบรรจง ทองเอื่อย นายประเวศ จันทะสระ นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ นายนิพนธ์ ปราบฤทธิ์ และนางสาวอรปรียา บุญรัตน์ ฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ เรียกค่าเสียหาย 64,740,485 บาท

ศาลพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยนานประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทนายของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด จึงขอเวลา 20 วัน เพื่อเตรียมคำให้การ ศาลจึงมีกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก เป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2554

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่ศาลจังหวัดสงขลา นายเอกชัย อิสระทะ และชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาประมาณ 15 คน ได้เข้าให้ปากคำต่อศาลในคดีนี้ พร้อมกับยื่นฟ้องแย้งว่า จากการทำหนังสือชะลอการต่ออายุประทานบัตร เป็นสิทธิหน้าที่ของพลเมืองในการดูแลทรัพยากรของชาติ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาเสียเวลา จึงขอให้ศาลสั่งให้บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในชั้นศาลให้กับชาวบ้านทั้ง 9 คน คนละ 9,999 บาท รวมเป็นเงิน 89,991 บาท อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ขบวนชุมชนสงขลา จับมือ พอช.สัมมนาพัฒนาระบบการสื่อสาร

ขบวนองค์กรชุมชนสงขลา จับมือ พอช.จัดเวทีสัมมนาพัฒนาระบบการสื่อสารเพื่องานพัฒน

เมื่อวัน 2 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุม สสว.12 อ.เมือง จ.สงขลา ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายชุมชนเมือง เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายแก้ไขปัญหาอยู่อาศัยชนบท เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดิน เครือองค์กรการเงินชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ที่ปรึกษาขบวนองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้าร่วมการสัมมนา

สำหรับการสัมมนาในช่วงเช้า หลังจากการระดมเป้าหมายของเวทีแล้ว มีการประมวลภาพรวมการดำเนินงานของทุกเครือข่ายองค์กร การถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการสื่อสาร โดยคุณกิติภพ พานิชภักดิ์ อดีตผู้ควบคุมการผลิตสื่อในเครือเนชั่น เป็นวิทยากร

ช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น เรื่อง เป้าหมาย เนื้อหา และวิธีการในการสื่อสารทั้ง 3 ระดับ คือ การสื่อสารภายในองค์กรชุมชน การสื่อสารระหว่างขบวนองค์กรชุมชน และการสื่อสารสู่สาธารณะ

สำหรับต้นทุนช่องทางการสื่อสารของขบวนชุมชนที่มีในปัจจุบัน อาทิ สถานีวิทยุ (หลัก) สวท.สงขลา 90.5 MHz รายการปักษ์ใต้บ้านเรา 18.00-19.00 น. (อังคาร - สวัสดิการชุมชน)(พุธ-สภาองค์กรชุมชน) สถานีวิทยุชุมชน FM.101.0 MHz / FM.95.5 MHz (รัตภูมิ)/ FM.101.5 MHz (ท่าข้าม และ ปริก) / FM.98.25 MHz (บางเหรียง) สถานีโทรทัศน์ สทท.11 สงขลา รายการพิราบคาบข่าว 08.00 09.00 น. จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา เวปไซต์ / เวปบล็อก http://sapasongkhla.blogspot.com เมล์กรุ๊ป psongkhla@hotmail.com ชุมชนออนไลน์ Facebook เป็นต้น

สำหรับแผนงานที่ต้องทำหลังจากนี้ คือการหารือภายในเครือข่ายของแต่ละขบวน การพัฒนาทีมจังหวัด (สร้างเครือข่ายการสื่อสาร) สร้างเนื้อหาการสื่อสารที่สามารถสร้างความเข้าใจกับภาคี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่วัดผลได้ โดยต้องคิดให้ไกลกว่าเฉพาะเรื่องสื่อ นอกจากนี้ต้องพัฒนาการบริหารเนื้อหา / ประเด็น / ข้อมูล เพื่อการสื่อสาร รวมทั้งสร้างการสื่อสารสถานการณ์พื้นที่จัดการตนเอง

ประชุมคณะประสานสภาองค์กรชุมชนสงขลาประจำเดือนกันยายน 54

คณะประสานสภาองค์กรชุมชนสงขลาประชุมประจำเดือนสัญจร เมื่อวัน 1 กันยายน 2554 ที่มหาลัยชีวิต ตำบลเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีนายบรรเจต นะแส ตัวแทนขบวนชุมชนโซนเมือง เป็นประธานการประชุม สำหรับเนื้อหาการประชุมมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน การปรึกษาหารือแนวทางการสนับสนุนงานการดำเนินโครงการตำบลจัดการตนเอง การติดตามประเมินผล รวมทั้งการหยิบยกประเด็นภัยพิบัติให้เป็นวาระร่วมกันของเครือข่ายชุมชน

สำหรับรายละเอียดสรุปผลการประชุม รอกองเลขาสรุปสักระยะ แล้วจะมีให้ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชายแดนใต้เห็นชอบ 3 ตำบลของสงขลา

อนุกรรมการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัย 5 จังหวัดชายแดนใต้ เห็นชอบ 3 ตำบล ของสงขลาดำเนินงานแก้ไขปัญหาของชุมชน

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมจะบังติกอ โรงแรมซีเอสปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมืองและชนบทโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในฐานะรองประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม และมี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

นอกจากการติดตามผลการดำเนินงาแล้ว ที่ประชุมยังได้มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจังหวัดปัตตานี 9 ตำบล จังหวัดยะลา 1 ตำบล จังหวัดนราธิวาส 1 ตำบล จังหวัดสตูล 1 ตำบล และจังหวัดสงขลา 2 ตำบล คือตำบลประกอบ อำเภอนาทวี ซึ่งมี 7 หมู่บ้าน ผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย 211 ครอบครัว จำนวนงบประมาณ 9,550,000 บาท และตำบลแค อำเภอจะนะ ผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย 266 ครอบครัว จำนวนงบประมาณ 9,600,000 บาท

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบอนุมัติโครงการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับตำบลเขาแดง อ.สะบ้าย้อย จำนวน 100,000 บาท

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนโซนกลางจัดเวทีหารือเรื่องแรงงานต่างด้าว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน อบต.ท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนโซนกลาง(สงขลา) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่เขต อำเภอเมือง หาดใหญ่ นาหม่อม และสะเดา มีการนัดประชุมเพื่อปรึกษาหรือเรื่องทางออกของแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีจำนวนมากในพื้นที่

โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ อาทิ
สถานการณ์แรงงานต่างด้าว
-ชุมชนต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว
- ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
- ชุมชนรู้จักกฎหมายแรงงานดีแล้วหรือไม่
- รู้จักองค์การการปกครองแล้วหรือไม่
- รู้ถึงจำนวนแรงงานที่อาศัยอยู่ในแต่ละชุมชนหรือไม่
- ฯลฯ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายจ้าง
- นายจ้างที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาไม่แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้องทราบ
- นายจ้างส่วนมากแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับจำนวนที่นำแรงงานเข้ามา
- นายจ้างไม่ให้แรงงานพกพาบัตร เพราะกลัวจะย้ายที่ทำงาน หรือต้องเสียเงินมากในในการจัดทำบัตร อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

3 ภาคี ร่วมจัดเวทีเรียนรู้การเมืองภาคพลเมือง

24 สิงหาคม ที่ สสว.12 กรรมการพัฒนาการเมืองภาคใต้ ศูนย์พัฒนาการเมืองสงขลา ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา จัดเวทีเรียนรู้การเมืองภาคพลเมืองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าฯสงขลาร่วมปาถกฐา

นายโกศล พรหมช่วย สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองจากจังหวัดพัทลุง นำเสนอกรอบคิดการเมืองภาคพลเมือง และในช่วงบ่ายเป็นการฝึกการเรียนรู้กระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ โดยมี อ.สุภาคย์ อินทองคง เป็นวิทยากร ชวนคิดทำกระบวนการ.

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คนใต้ค้านแผนพัฒนาอุตสาหกรรมทำลายวิถีใต้

ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 เครือข่ายภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เคลื่อนไหวครั้งใหญ่เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยกเลิกแผนพัฒนาภาคใต้

โดยเมื่อบ่ายวันที่ 21 เครือข่ายประชาชนภาคใต้ประมาณ 1,000 คน รวมตัวที่บริเวณหน้าวนอุทยานเขาพาง ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะจ.ชุมพร ริมถนนเพชรเกษมกิโลเมตรที่ 493-494 ได้ตั้งเต็นท์และเวทีปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด เครือข่ายที่เดินทางมาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นระดับแกนนำจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.เพชรบุรี รวม 16 จังหวัด เข่น เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายที่ดินทำกิน ที่ต้องการให้เดินหน้าโฉนดชุมชนต่อไปเครือข่ายการท่องเที่ยว เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยกว่า 100 นาย

สุนทร รักรงค์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายประชาชนภาคใต้บอกว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้ก้าวพ้นสีเสื้อไปแล้ว วันนี้มีทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงมารวมกันเพื่อกำหนดอนาคตตัวเอง ภายใต้แนวคิดที่ว่า คนใต้ขอกำหนดอนาคตตัวเอง ขอออกแบบแผนพัฒนาที่ก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน ระยะที่ผ่านมามีผลงานวิจัยเกี่ยวกับแผนพัฒนาชี้ชัดว่าพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม

โดยมีรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวปีละกว่า 1.5 แสนล้าบาท ภาคเกษตรกรรมและประมงคิดเป็นสัดส่วนถึง 35% ของรายได้ประเทศ ดังนั้นแผนพัฒนาจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน เมื่อปี 2552 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เคยสรุปว่า แผนที่ คจ.สช.กำหนดพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ไว้ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง เป็นแผนที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมและเสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน

"สำหรับกิจกรรมหลักที่กำหนดไว้ คือ มีการปราศรัยบนเวทีของแกนนำ การประกาศ 'ปฏิญญาเขาพาง'ซึ่งสาระสำคัญคือ ให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ที่อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นโรงงานถุงเหล็ก การขุดเจาะน้ำมันในทะเลเป็นต้น" สุนทร กล่าว

นอกจากนี้ ในเวลาประมาณ 08.30 น.วันที่ 22 ส.ค. 2554 มีการปิดถนนเพชรเกษมทั้ง 4 เลน เพื่อทำกิจกรรมและปิดป้ายขนาดใหญ่ขนาด 20 x 6 เมตร ที่มีข้อความให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ของเครือข่ายบนสะพานลอย บริเวณหน้าเขาพาง

สมยศ โต๊ะหลังตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล บอกว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ ต้องการต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติในภาคใต้ เช่น ให้ตรวจสอบการดำเนินงานนโยบายพัฒนาแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ท่าเทียบเรือปากบารา การถมทะเล คลังน้ำมัน และเขื่อนต่างๆ ที่จะเป็นตัวทำลายทรัพยากรธรรมชาติใน จ.สตูล รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งการเคลื่อนไหวได้เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงการทำแพลงกิงบริเวณชายหาดปากบารา จ.สตูล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการคัดค้าน

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

20 องค์กรผนึกตั้ง"สภาประชาสังคมชายแดนใต้"

20 องค์กรผนึกตั้ง"สภาประชาสังคมชายแดนใต้" ดันนโยบายปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ 20 องค์กรร่วมประชุมและแถลงข่าวการจัดตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” หรือ Dewan Masyarakat Madani Selatan Thai หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Civil Society Council of Southernmost Thailand เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี

วัตถุประสงค์ของการตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ก็คือให้เป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเรื่องการเพิ่มศักยภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน, กำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน, แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคม อ่านต่อ คลิ้กที่นี่

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ขึ้นป้ายบนถนนสายเอเชีย หนึ่งใน “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41”

วันนี้ (20 สิงหาคม 2554) เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา กว่า 30 คน ได้รวมตัวกันขึ้นป้ายบนสะพานลอยถนนสายหาดใหญ่-ปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 คนใต้กำหนดอนาคตตนเอง” เพื่อรณรงค์และบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลาและภาคใต้

นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา กล่าวว่าถ้าหากเราไม่ทำอะไรในขณะนี้ เราจะเสียบ้านเมืองไป ปฏิบัติการในครั้งนี้ได้มีการร่วมกันในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เป็นการรวมพลังของคนภาคใต้ การออกมาในครั้งเป็นการปกป้องบ้านเกิด เป็นการเผยแพร่ข้อมูลและให้การเรียนรู้เรื่องสิ่งที่จะเกิดขึ้นบ้านเรา

นางสุไรดะห์ ยังกล่าวต่ออีกว่าสิ่งที่ทำนี้มิใช่ประโยชน์ส่วนตัวแต่เป็นการทำเพื่ออัลลอฮฺ (พระเจ้า ) เพื่อปกป้องสมบัติและทรัพยากรของอัลลอฮฺ (พระเจ้า ) เราต้องตระหนักถึงบุญคุณของอัลลอฮฺ (พระเจ้า ) ที่ได้สร้างธรรมชาติมาให้เรา ใครมาทำลายเราต้องปกป้องรักษา สิบกว่าปีที่ผ่านมากับการต่อสู้เรื่องแผนพัฒนาภาคใต้เป็นการต่อสู้ด้วยน้ำตา แต่เราก็ยังจะทำเพื่อบ้านเกิดและลูกหลานของเรา...

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายประชาชนสงขลายื่นหนังสือถึงนายกผ่านผู้ว่าฯ สงขลา

วันนี้ (19 สิงหาคม 2554) เวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ได้เข้าพบนายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการดำเนินนโยบายการพัฒนาแลนบริดจ์ การขนส่งพาณิชย์-ท่อน้ำมันและการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี จ.สงขลา และในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา กล่าวว่า เรามาเพื่อบอกเจตนารมณ์ว่าคนสงขลา คนจะนะไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาภาคใต้ เพราะพื้นที่ของเราที่เคยอุดมสมบูรณ์ มีการทำเกษตร ประมง ทำนา ทำสวน ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าจะนะและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญเสียอาชีพ ปลาในทะเลลดน้อยลง เกิดน้ำเสีย ปริมาณน้ำยางลดลง และทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป และจะมีสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล หรือแลนบริดจ์ รถไฟรางคู่ ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อยากจะฝากท่านรองผู้ว่าฯไปถึงนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะออกนโยบาย และประกาศว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการที่มีผลต่อชาวบ้านและหยุดการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

ด้านนายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่าทางจังหวัดจะรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและขอรับเรื่องเอาไว้

ภาพ/ข่าวโดย: โยเย

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนเมืองบ้านพรุ เปิดเวทีประชุมครั้งแรก

หลังจากที่เปิดเวทีเรียนรู้เรื่องสภาองค์กรชุมชนไปหลายรอบ มีคณะทำงานสร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ สำรวจและจดแจ้งองค์กรชุมชน ตามแบบจดแจ้งของสภาองค์กรชุมชนแล้ว

วันที่ 18 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุมชั้น 5 เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา องค์กรชุมชนในพื้นที่เมืองบ้านพรุ จำนวน 30 กว่าองค์กร ที่ผ่านการจดแจ้งกับนายทะเบียนท้องที่ นัดประชุมกันเพื่อลงมติจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชน โดยมีภาคีเข้าร่วมสังเกตุการณ์และให้ข้อคิดเห็น อาทิ คุณสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่ พอช. , คุณบรรเจต นะแส ประธานขบวนชุมชนโซนเมืองสงขลา , คุณศิริพล สัจจาพันธ์ ที่ปรึกษาขบวนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิในที่ประชุมระดับจังหวัด , คุณชนม์ศศิณา อินตา เลขาขบวนชุมชนโซนเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองบ้านพรุ


ที่ประชุมลงความเห็นให้จัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนเมืองบ้านพรุ โดยสรรหากรรมการ ประกอบด้วย
ประธานที่ประชุม นายชัยวัฒน์ แก้วสุวรรณ
รองประธานคนที่ 1 นายบุญชอบ ปลื้มใจ
รองประธานคนที่ 2 นายสุพัตร์ ปลื้มใจ
เลขานุการ นางสาวมณี แซ่โง้ว
เหรัญญิก นางกาญจนา ปะทะโม
ประชาสัมพันธ์ นางประจวง ไขเสน
คณะทำงานติดตาม นางมาณี แก้วสนิท / นายอิน สุวรรโณ / นายนิตย์ บุญวรรณโณ / นายผล อินทนิล

นายชัยวัฒน์ แก้วสุวรรณ ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนเมืองบ้านพรุ กล่าวภายหลังการได้รับการคัดเลือกว่า "ดีใจ และยินดีที่พี่น้องให้เกียรติ เป็นประธาน ซึ่งถือว่าเป็นหัวหอกในการนำการพัฒนาภาคประชาชน การทำงานชุมชนในเขตเมืองนับว่าเป็นงานที่ยาก ยอมรับว่าจะต้องมีภาระยุ่งมากขึ้น แต่ก็เต็มใจที่จะทำ จะเน้นบทบาทภาคประชาชน ความร่วมไม้ร่วมมือ แม้จะมีงบประมาณเพียงน้อยนิด แต่ก็จะดำเนินงานด้วยความโปร่งใส จากนี้ไปก็จะนัดประชุมเพื่อวางกระบวนการทำแผนการพัฒนา ที่นำไปสู่การจัดการตนเองของเมืองบ้านพรุ "

ขบวนองค์กรชุมชนสงขลา จับมือ พอช.ปฏิรูปข้อมูลชุมชน

พอช.ภาคใต้ จับมือขบวนองค์กรชุมชนปฏิรูประบบข้อมูลชุมชน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่โรงแรมลำปำรีสอร์ท จังหวัดพัทลุง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้(พอช.) จัดประชุมร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน เพื่อหารือแนวทางการยกระดับ การจัดระบบข้อมูลชุมชนเพื่อใช้ในงานพัฒนา โดยมีคุณสมชาติ ภาระสุวรรณ คุณพรรณทิพย์ เพชรมาก ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. คุณธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการ พอช.ภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและส่วนสนับสนุน ของพอช.ภาคใต้ ร่วมหารือกับผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน
ทั้งนี้เพื่อยกระดับงานข้อมูลของชุมชนให้สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการพัฒนาชุมชน การกำหนดยุทธศาสตร์ รวมทั้งใช้ในระบบการรายผลต่อสาธารณะ โดยมีประเด็นสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนา ประกอบด้วย
1.ข้อมูลเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์สำคัญของภาคชุมชนในจังหวัด
2.ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนชุมชนจังหวัด ได้แก่ ชื่่อที่อยู่บุคคล พื้นที่ปฏิบัติการ งานพัฒนาเชิงประเด็น โครงการ ฯลฯ
3.ข้อมูลที่พื้นที่ปฏิบัติการตำบลได้ทำและพร้อมจะเชื่อมโยงเป็นข้อมูล/นำไปสู่การพัฒนาระดับจังหวัด เช่นแผนชุมชน ที่ดิน แผนที่ สวัสดิการฯลฯ
โดยในปีนี้จะเริ่มนำร่อง 3 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนนี้.

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนสงขลา เข้าร่วมเวทีสังเคราะห์ข้อเสนอของสภาฯภาคใต้

อนุกรรมกรรมการประสานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ จับมือ พอช.จัดเวทีสมัชชาสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้ เพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอนโยบาย

เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2554 ที่ลำปำรีสอร์ท จ.พัทลุง อนุกรรมกรรมการประสานสภาองค์กรชุมชนภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีสมัชชาสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ เพื่อประมวล และสังเคราะห์ข้อเสนอนโยบายของสภาองค์กรชุมชนตำบลในภาคใต้ ต่อที่ประชุมระดับชาติซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน นี้ นอกจากนี้ยังได้มีการปรึกษาหารือต่อการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชน รวมทั้งการปฏิรูปสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อให้เป็นองค์กรของพี่น้องประชาชนและตอบสนองการพัฒนาของชุมชนได้ตามเจตนารมณ์แห่งการออกพระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์กรแห่งนี้

สำหรับข้อเสนอนโยบายของสภาองค์กรชุมชนในภาคใต้มีประเด็นที่สำคัญ 10 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ความมั่นคงทางอาหาร
2. พื้นที่ปกครองพิเศษจังหวัดภูเก็ต
3. การจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ
4. การสร้างความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้
5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. การจัดการน้ำ
7. การจัดการชายฝั่ง
8. การจัดการท่องเที่ยวชุมชน
9. สวัสดิการชุมชน
10.แผนพัฒนาภาคใต้

พอช.ภาคใต้ สร้างนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านประชาสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ (พอช.) จัดเวทีปฐมนิเทศนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ ณ สวนสายน้ำ ตำบลพะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

สืบเนื่องสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ มีโครงการในการพัฒนาและยกระดับคนทำงานพัฒนาชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 14 คน ที่ผ่านการคัดเลือกซึ่งมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานสนับสนุนกระบวนการพัฒนาของชุมชนกระจายกันอยู่ในหลายหลากจังหวัดในภาคใต้ โดยโครงการมีระยะเวลา 1 ปี มีการพัฒนากระบวนการคิด เทคนิค ความรู้และเครื่องมือการทำงานในชุมชน การสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรม และการสนับสนุนค่าตอบแทน

สำหรับคณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย คุณปวัน พรหมพิทักษ์ ,คุณณรงค์ คงมาก , คุณศยามล ไกยูรวงศ์, คุณพิชยา แก้วขาว ,คุณเอกชัย อิสระทะ, คุณยุรี แก้วชูช่วง , คุณสามารถ สุขบรรจง และคณะทำงานบัณฑิตอาสา สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้เข้าร่วมโครงการ 14 คน ประกอบด้วย นางสาวเสาวนีย์ สุทธิชล จ.ระนอง / นางสาวสุภาพร อินทรัตน์ จ.ชุมพร /นางสาวกิริยาภา นราวีรวุฒิ จ.ชุมพร /นางสาวกรรณิการ์ แพแก้ว จ.สุราษฎร์ธานี / นายอรรถกร เรืองฤทธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี /นางชาตรี มูลสาร จ.พังงา /นายถาวร ศร่างเศร้า จ.กระบี่ /นายพร้อมศักดิ์ จิตจำ จ.กระบี่ / นางสาวสากีเราะห์ มูซอ จ.พัทลุง / นางสาวสุภาวดี แสนรี จ.สงขลา / นางสาวสุไรยา สามอ จ.สตูล /นางสาวแวกอรีเจาะห์ กามาลี จ.ปัตตานี / นายสมาน กาแลซา จ.ปัตตานี / นางสาวมาเรีย ละแมะ จ.นราธิวาส

VDO : ภาพรวมสงขลาพอเพียง โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนสงขลาพอเพียง บรรยายในเวทีการประชุมสร้างความเข้าใจ "สงขลาพอเพียง" กับเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสงขลา


วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเชิญร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 "เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้"

เชิญร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้ วันที่ 12 - 14 กันยายน 2554 ณ หอประชุมเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเชิญทุกท่านร่วมเวทีปลุกพลังบวก Ignite Hatyai++

"ปลุกพลังบวก ชาวใต้ เพื่อปักษ์ใต้บ้านเรา" กับงาน Ignite Hatyai++ (จ.สงขลา)

ขอเชิญทุกท่านร่วมรับ ร่วมสร้าง ร่วมส่งต่อพลังบวก กับเวทีปลุกพลังบวก Ignite Hatyai++

ใน วันอาทิตย์ ที่ 21 สิงหาคม 2554 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

"งานนี้ แหลงดัง ฟังชัด พลาดไม่ได้นะคะ" ... ติดตามเหล่า Igniters ที่จะมาร่วมสร้างพลังบวก
สำรองที่นั่ง คลิ้กที่นี่ค่ะ


วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชาวสงขลาแห่ไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองเนื่องในวันสารทจีน

วันสารทจีนใน จ.สงขลาคึกคัก ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากนำเครื่องเซ่นไหว้มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสงขลา ก่อนจะกลับไปไหว้บรรพบุรุษต่อที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในเทศกาลวันสารทจีน

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถ.นางงาม อ.เมือง จ.สงขลา ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดสงขลาได้นำเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้และดอกไม้ธูปเทียน มากราบไหว้พระและเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวสงขลาเคารพนับถือสืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในวันสารทจีน ก่อนจะกลับไปทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

สำหรับวันสารทจีน ตรงกับ 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน ในปี 2554 นี้ ตรงกับวันที่ 14 ส.ค. ถือว่าเป็นการไหว้เจ้ากลางปี ซึ่งชาวจีนถือว่าเดือน 7 ตามปฏิทินจีนเป็นเดือนสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้ เทศกาลสารทจีนแบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ช่วง คือ ไหว้เจ้าในช่วงเช้า ไหว้บรรพบุรุษ ตั้งโต๊ะไหว้นอกบ้านในช่วงสาย และไหว้วิญญาณพเนจร ผีไม่มีญาติ หรือไหว้ “หอเฮียตี๋ “จะต้องไหว้นอกบ้านในช่วงบ่าย

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชาวสงขลาร่วมทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลเเด่พระราชินี


เมื่อเช้าวันที่ 12 ส.ค. 2554 ที่บริเวณสี่แยกพระพุทธศรีสงขลานครินทร์ถนนราชดำเนินตัดถนนปละท่า อ.เมือง จ.สงขลา นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหา มหาราชินี ที่ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งในวันนี้

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร พ่อค้า ประชาชน นำอาหารหวานคาว ข้าวสารอาหารแห้ง มาร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรอย่างคับคั่ง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพระองค์ท่าน โดยมีพระสงฆ์ จำนวน 112 รูป เดินรับบิณฑบาตจากประชาชนในช่วงเช้า

งานน่าเดิน...เวทีน่าเข้าร่วม สัปดาห์นี้ที่สงขลา

เริ่มแล้ว ! งานเกษตรภาคใต้ 12-21 สิงหาคม ที่ มอ.หาดใหญ่



--------------------------------------------------------------------------

งาน ม.อ. วิชาการ 2554 PSU OPEN WEEK 2011 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2554

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หน่วยงานสังกัด พม. ในสงขลา จัดเวทีบูรณาการแผน นำร่อง 3 ตำบล

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องไพลิน โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นัดจัดเวทีบูรณาการแผนงานของหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย พมจ.สงขลา,สถานสงเคราะห์เด็กบ้านสงขลา , บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา , ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพสตรีภาคใต้ , สสว.12 สงขลา , ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 56 , สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ(ชาย) , ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ , สำนักงานเคหะชุมชนหาดใหญ่ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

โดยดำเนินโครงการนำร่องใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ , ต.นาทับ อ.จะนะ และ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง โดยแผนงานมีตั้งแต่การพัฒนาอาชีพ การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือและพัฒนาผู้พิการ การพัฒนาเด็ก เยาวชน การสร้างภูมิคุ้มกันวัยรุ่นจากยาเสพติด การสร้างเสริมสุขภาพแม่และเด็ก การฟื้นฟู วิถีวัฒนธรรม การทำแผนพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบล

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมในแผนด้านการป้องกันโรคติดต่อ , กศน.ทั้ง 3 ตำบล ในแผนร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกันในอนาคต ก่อนจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆในปีต่อไป

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

“กรมเจ้าท่า” เผยวิธีแก้ชายหาดพัง ต้องสร้างเขื่อนยื่นในทะเล ขณะที่ชุมชนห่วงสร้างปัญหามากกว่าเดิม

กรมเจ้าท่าจ้าง 2 บริษัทที่ปรึกษาศึกษาแนวทางการสร้างเขื่อนป้องกันชายหาดที่ อ.สิงหนคร ถูกกัดเซาะเสียหายยับเยิน โดยมีแนวทางเลือกในการนำทรายจากแหล่งอื่นมาเติมชายหาด และการใช้โครงสร้างก่อสร้างในทะเล ด้านผู้เข้าร่วมห่วงวิธีการล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชาวประมง เพราะแม้แก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ แต่กลับสร้างปัญหาในพื้นที่อื่นหนักขึ้น

วานนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 (บริเวณหาดทรายแก้ว) ซึ่งได้ว่าจ้าง บริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และ บริษัท เอส ที เส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา โครงการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณ ต.ชิงโค และหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยมีคณะกรรมการกรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนเข้าร่วม

นายวรรณชัย บุตรทอง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีแนวชายฝั่งยาวติดด้านอ่าวไทยทางตอนใต้ของประเทศ ภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าได้สร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทางเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา อ.เมือง แล้วเสร็จประมาณปี 2531 ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศเหนือของชายหาด ด้านทิศเหนือ อ.สิงหนคร และทวีอย่างรุนแรงใน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ตั้งแต่สำนักสงฆ์ธรรมสถานหาดแก้ว ม.1 ต.หัวเขา ซึ่งคาดการณ์ว่า มีพื้นที่หายไปจากการถูกคลื่นกัดเซาะแล้วเกือบ 50 ไร่ อ่านต่อ


วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครหาดใหญ่ตั้งคณะจัดทำแผนพัฒนาภาคประชาชน

7 สิงหาคม 2554 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อ.หาดใหญ่ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครหาดใหญ่จัดประชุม ครั้งที่ 4/2554 โดยมีวาระสำคัญคือการคัดเลือกคณะกรรมการดำเนินงาน จำนวน 9 คน เพื่อสร้างกระบวนการทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ภาคประชาชน โดยประสานกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีมติให้มีคณะทำงานประสานกับทางเทศบาลนครหาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนจันทร์วิโรจน์ กรณีการลอกคูระบายน้ำ รวมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอ

ประชุมเลขาสภาฯโซนเมือง


7 สิงหาคม 2554 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อ.หาดใหญ่ มีการประชุมเลขานุการของสภาองค์กรชุมชนโซนเมือง ซึ่งประกอบด้วยสภาองค์กรชุมชนในเขตพื้นที่ อ.เมือง อ.หาดใหญ่ อ.นาหม่อม และ อ.สะเดา เพื่อหารือแนวทางการสนับสนุนงานของสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ และทำความเข้าใจร่วมเรื่องระบบฐานข้อมูลชุมชน

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายที่ดินสงขลา และสภาฯนาหมอศรี มอบเงินสมทบทุนสู้คดีเขาคูหา

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่สถานีบริการวิชาการชุมชนจะนะ (ศูนย์อาหาร มอ.) อ.จะนะ เครือข่ายชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินจังหวัดสงขลานัดประชุมประจำเดือนสิงหาคม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน และติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกำหนดแผนงานร่วมกัน โดยมีแผนงานที่สำคัญ คือการกำหนดวันลงพื้นที่เพื่อประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในตำบลเขาแดง อ.สะบ้าย้อย ตำบลวังใหญ่ อ.เทพา และตำบลคลองกวาง อ.นาทวี นอกจากนี้ยังมีแผนการอบรมการทำแผนที่ผังแปลงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (GIS) ของตำบลเขาพระ อ.รัตภูมิ และตำบลบาโหย อ.สะบ้าย้อย ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

โดยในวันนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกกรณีที่แกนนำชุมชนตำบลคูหาใต้ ในนามเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาถูกบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นขอต่อสัมปทานบัตรระเบิดภูเขาคูหา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแกนนำ 9 คน จำนวนเงิน 64,740,485 บาท โดยศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานโจทก์นักแรกในวันที่ 29 สิงหาคม 2554 นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้มีการสบทบทุนเพื่อช่วยเหลือด้านคดีของพี่น้องคูหาใต้ โดยมอบผ่านนายบรรจง ทองเอื่อย 1 ใน 9 แกนนำที่ถูกฟ้อง นอกจากนี้ ทางตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลนาหมอศรี อ.นาทวี ก็ได้มอบเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่งด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขบวนชุมชนสงขลาพัฒนาศักยภาพกองเลขาเพื่อสนับสนุนงานชุมชน

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องฝึกอบรมโรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด ตำบลคลองเปี๊ยะ อ.จะนะ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลา จัดการสัมมนากองเลขาของเครือข่ายชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมในงานพัฒนาภาคชุมชน และพัฒนาเทคนิคระบบงานสนับสนุนชุมชน อาทิ ระบบเอกสาร การเตรียมการประชุม ระบบการสื่อสาร เป็นต้น โดยมี เกศินี คิ้วนาง สามารถ สุขบรรจง จาก พอช. และ ศิริพล สัจจาพันธ์ ที่ปรึกษาขบวนชุมชนสงขลา ร่วมเป็นวิทยากร