จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

งานชิงเปรต ที่ห่างหายไปกับกาลเวลา

โดย : คนใจบกบก

เดือนสิบมาถึงอีกปีแล้วนะ....ช่างมีความสุขเสียเหลือเกิน...ปีนี้จะมีใครกลับมาบ้านนะ ?

เป็นความรู้สึกที่ผมว่าชาวใต้ทุกคน คงมีไม่ต่างจากผมสักเท่าไหร่ ที่สำคัญผมและใครอีกหลายคนอยากให้มีวันทำบุญเดือนสิบเดือนละครั้งน่าจะดี...ว่ากันไปครับ...ผมอุ๊แว้มาลืมตาดูโลกก็สามสิบขวบย่างสามสิบเอ็ดหมาดๆ ก็มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับงานชิงเปรตของคนใต้บ้านเรา ฟังแล้วน่าใจหายครับ

วันชิงเปรต เป็นกตัญญูของคนไต้เรา...คล้ายวันเช็งเม้งของคนจีน เพราะมีโอกาสได้รำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของเราที่มีบุญคุณ สำหรับคนใต้เราแล้วสำคัญยิ่งกว่าวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่เสียด้วยซ้ำไป

ทุกครั้งที่จะถึงวันชิงเปรต ทำบุญเดือนสิบ พวกเราจะมีกิจกรรมอยู่อย่างหนึ่งคือ การทิ่ม(ตำ)แป้งข้าวเหนียว เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการทำขนมเจาะหู ขนมสะบ้า ไม่ต้องไปซื้อหาแป้งถุงแบบปัจจุบัน ช่างเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยพ่อแม่ลูกจะนำเอาข้าวเหนียวที่แช่ไว้แล้ว มาตำด้วยครกหินของเพื่อนบ้านข้างเคียง ตำกันไปท่ามกลางแสงจันทร์ (ช่วงนั้นจะใกล้ 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ) ไม่ต้องใช้แสงไฟมาให้ยุ่งยากครับ...สลับกับตำหรือช่วยกันระหว่างครอบครัว แบ่งหน้าที่กันครับ แม่จะคอยแร่งเอาเฉพาะแป้งที่ละเอียดดีจริงๆ ... บรรยากาศแบบนั้นหายากเต็มทีครับ...ส่งผลให้ขนมเดือนสิบสมัยก่อนจะอร่อยเสียเหลือเกิน...นุ่มปาก หมึกแดงไม่มีโอกาสได้กิน

ตอนเย็นก่อนถึงวันทำบุญเดือนสิบ ลูกหลานจะนำเอาขนมเดือนสิบไปเยี่ยมเยือนและมอบแก่ผู้สูงอายุที่เคารพ ผู้หลักผู้ใหญ่จะอวยพรให้อายุมั่นขวัญยืน ...จำได้ดีครับว่า...หากมีผลไม้เช่น ลองกอง องุ่น ส้ม จะเป็นผลไม้ที่ผู้สูงอายุชื่นชอบมากครับ แต่ที่เห็นว่าเป็นที่ถูกใจคือ ลูกหลานของผู้สูงอายุที่ได้รับมอบผลไม้นั่นเอง จะได้กินของอร่อยที่หมายตามมานาน เพราะในสมัยก่อนผลไม้ประเภทนี้นะจะหากินยาก นานๆจะได้กินกับเขาสักที เดี๋ยวนี้พัฒนาไปก้าวไกลเสียเหลือเกินบางบ้านนำกระเช้าของขวัญไปมอบให้ มีอาหารเสริมซุปไก่สกัด รังนกสกัดมาแทนที่ผลไม้อันมีคุณค่า

สำหรับที่บ้านก่อนถึงวันชิงเปรตนั้น ญาติที่อยู่ห่างไกลจะกลับมาบ้าน จะได้มานั่งทานข้าวร่วมกัน พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบกัน นอนใกล้ๆกันพูดคุยกันยันสว่าง แต่สมัยปัจจุบันนั้น วงเหล้าเข้ามาแทนที่ส่วนใหญ่มักมีการตั้งวงกันเกือบทุกบ้านเลยก็ว่าได้...แต่ละครอบครัวจะตื่นมาตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อหุงหาอาหารแกงคั่วไก่หน่อไม้(แกงขาประจำของงานเดือนสิบ)

ตอนเช้าของวันที่รอคอย พวกเราจะไปวัดเพื่อร่วมชิงเปรต ในอดีตนับว่าเป็นวันสำคัญในไม่กี่วันในรอบปี ที่พวกเราจะพยายามหาเสื้อผ้าที่ใหม่หรือเป็นเสื้อลูกเกย(เสื้อตัวเก่ง)จัดเตรียมไว้พิเศษสำหรับวันนี้เฉพาะ ซักและรีดอย่างดีครับ ออกจากบ้านแต่เช้าด้วยการเดินไปด้วยกันพร้อมกับปิ่นโตสำหรับถวายพระและขนมสำหรับตั้งร้านเปรตปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้ในปัจจุบันนั้นคือ ทุกบ้านจะนำรถยนต์ราคาแพงมาอวดกัน กลายเป็นงานมอเตอร์โชว์ที่ไบเทคบางนาขนาดย่อมๆก็ว่าได้ นี่ไม่มองที่คนที่ไปวัดนะ เพราะแต่ละคนมักจะใส่เฟอร์นิเจอร์ไปอย่างเมเหนี่ยวเลยละ ...ทองหยอง สร้อยคอ กำไร แหวนเพชรวงเบ่อเร่อ ...กลายเป็นงานแสดงอัญญมณีราคาแพง ฟังแล้วเสียว...ไม่ใช่อะไรหรอกครับกลัวจะถูกฉกชิงวิ่งราวจากโจรผู้ร้าย...ความพอดีขาดหายไปจากคนปัจจุบัน

นี่ไม่นับเวลาพระสวดมนตร์หรือแสดงธรรม ที่พบว่าคนที่ไปวัดคุยกันเสียงดังยิ่งกว่าเสียงพระสงฆ์องคเจ้าเสียอีกบรรยากาศเลยขาดความขลังลงทันตาเมื่อเทียบกับอดีต เมื่อก่อนยังจำได้ว่าคนไปวัดจะนั่งสวดมนตร์และฟังธรรมอย่างตั้งใจ...เงียบกริบ..ก่อเกิดสมาธิ...มีโอกาสนั่งเงียบๆทบทวนตนเองและตั้งจิตปวารนาตนที่จะประพฤติตนตามหลักธรรม

ลานเปรตจะมี 2 ที่ คือ นอกวัดสำหรับเปรตบาปหนาไม่สามารถเข้ามาในวัดรับส่วนบุญได้ และลานเปรตในวัด สำหรับเปรตที่พอมีบุญกุศลอยู่บ้าง สามารถเข้ามารับส่วนบุญในวัดได้ ถึงเวลาชิงเปรตสนุกครับ เพราะจะมีผู้ใหญ่จะนำเอาไม้มาตีมือเด็กที่พยายามจะหยิบของบนลานเปรตก่อนพระสงฆ์จะฉันภัตตาหาร เด็กก็จะกลัวครับไม่กล้าแม้แต่จะเอื้อมไปหยิบของที่หมายปอง เมื่อก่อนของวางบนลานเปรตจะไม่มีเหลือครับ...เพราะคนที่ไปวัดจะนำเอาอาหารที่เหลือจากลานเปรตกลับไปบ้าน นำไปให้ลูกหลานกินกันทั่วหน้าจะได้เจริญรุ่งเรือง ค้าขายร่ำรวย นำขนมต้มไปติดกับต้นไม้จะทำ ให้ต้นไม้ออกลูกดกดี แต่ในขณะนี้นั้นพบว่า ของบนลานเปรตถูกทิ้งเหลือไว้เป็นขยะ คนไปวัดมิได้ใยดีนำกลับไปทำประโยชน์อีกแล้ว...เป็นโจทย์ที่ยังขาดการจัดการที่ดีพอ ...สำหรับให้เราคงครุ่นคิดกันต่อ

เทศกาลชิงเปรตก็ผ่านไปอีกปีแล้วนะ...ปีหน้าถึงได้เจอกันอีก ...ในใจหนึ่งก็ตั้งตารอคอยการมาถึงอีกครั้งของเทศกาลชิงเปรต แต่อีกใจก็ใจหายว่าความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมจะทำลายประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ให้พังทลายลง... จนไม่มีให้ลูกของเราได้ศึกษา หรือมีก็จะกลับกลายเป็นรูปแบบที่ขาดแก่นสารของประเพณี...ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาพูดคุยให้จริงจังและช่วยกันจัดการกับประเพณีทีดีๆแบบนี้ให้คงมีมนตร์ขลัง...

จากคอลัมต์ : งานเขียนคน คนเขียนงาน http://songkhlahealth.org

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จัดทำแผนงานเชิงรุก


เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2552 ณ อาคารประชุม ตลาดสีเขียว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นสำนักงานของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ มีการประชุมกรรมการเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ โดยเป็นการประชุมติดตามผลการดำเนินงานของเครือข่ายพื้นที่ การพิจารณากรอบแผนการดำเนินงานของเครือข่าย และการเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมพ่อครัวใหญ่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค ในช่วงปลายปีนี้

ในที่ประชุมมีการสรุปผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ และสรุปผลการจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายอื่นโดยเฉพาะการเข้าร่วมจัดงานมหกรรมสมุนไพรระดับชาติ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับประเด็นหารือที่สำคัญ คือการยกร่างแผนงานเชิงรุก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานโดยใช้พื้นที่เชิงนิเวศเป็นตัวตั้ง และใช้ยุทธศาสตร์นำ โดยเฉพาะกรณีแผนงานของกลุ่มพื้นที่เทือกเขาภูเก็ต (ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ) ซึ่งมีพื้นที่เครือข่ายอยู่ใน 16 ลุ่มน้ำย่อย รวมทั้งแผนการยกระดับงานพื้นที่รูปธรรมและการรุกเชิงนโยบาย เช่น การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร โดยการให้ความรู้กับเกษตรกรและเตรียมเสนอร่าง พรบ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การติดตาม พรบ. สภาเกษตรกรฯ เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงความสมบูรณ์ของแผนงาน

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือเรื่องของการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพ่อครัวใหญ่ (แกนนำ) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค ในระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2552 ที่ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมราว 100 คน

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

ผู้แทนสำนักงบประมาณ และตัวแทนกระทรวง พม.ลงพื้นที่ดูงานสวัสดิการชุมชนสงขลา

นายวีระ มานะตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มกระทรวงการพัฒนาสังคม สำนักงบประมาณ และคณะ รวมทั้งผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อดูงานการจัดสวัสดิการสังคม ก่อนหนุนงบประมาณส่งเสริมตามนโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์

เมื่อวันศุกร์ ที่ 18 กันยายน 2552 ที่สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา นายวรเสรฐฎ์ ชูแก้ว ผู้ช่วยผู้จัดการ นายสามารถ สุขบรรจง เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานพื้นที่ พอช.สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ และคณะกรรมการสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา ร่วมต้อนรับตัวแทนสำนักงบประมาณ และตัวแทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ์ ซึ่งลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการจัดสวัสดิการชุมชนโดยภาคประชาชน ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้การจัดสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ และได้อนุมัติงบประมาณสบทบกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้ว 727.3 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อกำหนดระเบียบวิธีการสนับสนุนงบประมาณ จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อดูรูปแบบการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยเลือกพื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่กรณีศึกษา

นายวรเสรฐฎ์ ชูแก้ว ได้นำเสนอภาพรวม พัฒนาการและการดำเนินงานการจัดสวัสดิการชุมชนในภาคใต้ นายอุดม แก้วประดิษฐ์ นายกสมาคมฯ และนายโมกขศักดิ์ ยอดแก้ว เลขานุการสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของเครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละบาทเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนจังหวัดสงขลา และมีการเปิดให้มีการอภิปรายซักถามแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

ช่วงบ่าย ได้เดินทางลงพื้นที่รูปธรรมเพื่อดูงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

นายวีระ มานะตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มกระทรวงการพัฒนาสังคม สำนักงบประมาณ กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจแทนชาวสงขลา ที่มีสวัสดิการที่จัดการกันเองเพื่อพึ่งตนเอง และมีประสิทธิภาพ ตนและคณะที่มาวันนี้เพื่อศึกษาดูงาน รูปแบบของการจัดสวัสดิการของชาวบ้าน ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนด รูปแบบวิธีการในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป.

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

ปัญหาเดิมยังไม่แก้...กฟผ.คิดจะสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่สอง ที่จะนะอีก !!??

สร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ส่อเค้ามีปัญหา

จากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางการไฟฟ้าฝ่าผลิต(กฟผ.)และโรงไฟฟ้าจะนะ ได้โหมการประชาสัมพันธ์ถึงความภาคภูมิใจว่าโรงไฟฟ้าจะนะเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่มากที่สุดเพราะไม่มีกระแสคัดค้านในพื้นที่ แต่ในวันนี้การดำเนินโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าที่สองคงไม่ง่ายนัก หลังจากเริ่มดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นมาหลายครั้งเริ่มมีกระแสไม่ยอมรับจากชุมชนมากขึ้น เช่น ที่บ้านป่าชิงพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า เนื่องจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าจะนะที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับชุมชนทั้งเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ปรากฎการณ์คัดค้านมากขึ้นในเวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ โรงที่สอง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาตามกำหนดการจะจัดขึ้นที่ลานประดู่บ้านควนมีด ต้องเลื่อนไปใช้ห้องประชุมโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา จัดตั้งแต่เวลา 13.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๐๐คน โดยมีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)จำนวนมากเข้าร่วมเวที และมีตัวแทนทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและเป็นหนึ่งในทีมศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และอาจารย์สนั่น เพ็งเหมือน อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะซึ่งเป็นทีมศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าร่วมในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น



อ่านรายละเอียดของข่าว คลิ้กที่นี่ครับ

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

ชุมชนคนใต้ สัมมนากำหนดแผนอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้


คณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้)และเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ จัดเวทีร่วมกำหนดแผนพัฒนาอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้ ณ ห้องประชุมแกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

นางศยามล ไกยูรวงศ์ รองประธานคณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน กำหนดแผนการพัฒนาไว้ 4 ประการสำคัญ ได้แก่ หนึ่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงชายฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สองพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันระดับโลก โดยมีเกาะภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง
สามการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และประการสุดท้าย การเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้กับเขตเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย

นางศยามล กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ประชาชนในภาคใต้เข้ามามีบทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันภายใต้ข้อมูลศักยภาพของพื้นที่ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดดุลยภาพทั้ง 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในสังคม และเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบกับพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวด 4 ว่าด้วย สมัชชาสุขภาพ มาตรา 40-45 จึงกำหนดให้มีเวทีร่วมกำหนดแผนพัฒนาอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้

การจัดเวทีครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากทุกภาคส่วนเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากแต่ละจังหวัดจะประกอบด้วย ผู้แทนชุมชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน หอการค้าจังหวัด และนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่อการกำหนดแผนพัฒนาบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็น แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในโอกาสต่อไป

สำหรับข้อสรุปจากเวที
ได้กำหนดวิสัยทัศน์ การพัฒนาในภาคใต้(Vision ) ประชาชน ชุมชนภาคใต้อยู่เย็นเป็นสุข
ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่พึงประสงค์ (เน้นการพัฒนาคน)
1. รู้จักตน ครอบครัว ชุมชน รู้อดีต ปัจจุบัน ทรัพยากรสิ่งมีค่า
2. รู้จักสิทธิหน้าที่ รัฐธรรมนูญ รู้เท่าทันสถานการณ์ประเทศ โลก รู้บทเรียนพัฒนาที่ล้มเหลว และสรุปบทเรียน
3. การศึกษาที่ต้องทำให้คนอยู่กับบ้าน ทำมาหากินในท้องถิ่น ทรัพยากร มรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญา (ปัญหาการศึกษาปัจจุบัน การศึกษาในระบบจำนวนครู อาจารย์ 750,000 คน ต่อ นักเรียน นักศึกษา 1.5 ล้านคน สอบตกทุกวิชา (ไม่ผ่าน 50 % ของคะแนน) โดยเฉพาะในภาคใต้

แนวทางและกลไกการขับเคลื่อน
1. ควรสร้างกลไกการเชื่อมโยงบุคคล ข้อมูล สภาองค์กรชุมชน กับกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระดับจังหวัด
2. ให้สภาองค์กรชุมชนตำบล สรุปแนวทางจัดการปัญหาสาธารณะและนำมาสรุปเวทีจังหวัด สอดประสานกับสมัชชาเชิงประเด็น/เชิงพื้นที่
3. เวทีประชุมกำหนดทิศทางข้อเสนอต่อนโยบายร่วมกันระดับจังหวัด (อปท. สจ. สส. สว. ภาครัฐร่วม)
4. คณะทำงานร่วมกันคัดเลือกจากองค์กรภาคีแกนสมัชชา/สภาองค์กรชุมชนเป็นตัวแทนจังหวัด
5. คณะทำงานร่วมวงกับสมัชชาภาคและที่ประชุมสภาองค์กรระดับภาค นำเสนอแผนพัฒนาภาคใต้ (ต่อพรรคการเมือง , สภาพัฒน์, รัฐบาล)
6. ให้หยุดแผนพัฒนา โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ของสภาพัฒน์ก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนข้อเสนอ 1-5

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

เครือข่ายทรัพยากรเมืองคอน จัดประชุมพิจารณ์แผนฯ

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 มีการประชุมเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรของจังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ตำบลนาเรียง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเป้าหมายเพื่อพิจารณาแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรของเครือข่ายองค์กรชุมชน และจัดทำแผนปฏิบัติการของพื้นที่
โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรทั้งระบบ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประมวลมาจากแผนงานของพื้นที่ โดยเปิดให้มีการซักถามแลกเปลี่ยน เพิ่มเติม และแก้ไขเนื้อหาในร่างแผนฯ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย การพัฒนาและเชื่อมโยงองค์กรชุมชน , การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและองค์ความรู้ , การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร , การป้องกันรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน , การส่งเสริมพลังงานทั้งเลือก และการเชื่อมโยงชุมชนและการประสานภาคี

ทั้งนี้ในที่ประชุมยังมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทน อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

นายชินวัฒน์ สุวรรณเลิศ ตัวแทนคณะทำงานยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวเน้นย้ำว่า “แผนฯ นี้เป็นแผนการดำเนินงานร่วมกันของพี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชน จ.นครศรีธรรมราช กิจกรรมหลายอย่างพี่น้องสามารถดำเนินการได้เลย โดยแจ้งปฏิทินงานพื้นที่มาที่ทีมประสานกลางของจังหวัด เพื่อจะได้ลงไปหนุนช่วย ส่วนบางแผนงานหรือบางกิจกรรมเราต้องทำร่วมกับภาคีหน่วยงาน ซึ่งเราจะเอาแผนฯ นี้ไปนำเสนอด้วยเพื่อบูรณาการและทำงานร่วมกัน งบประมาณจาก พอช.จะเป็นงบสนับสนุนในการขับเคลื่อนงาน ส่วนงบกิจกรรมในพื้นที่เราต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งประเมินดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเท่าที่คุยกันเค้าก็ให้ความสนใจที่สนับสนุนอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ตัวแทนไปปรับปรุงแผนฯให้สมบูรณ์ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการแผนฯต่อไป

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

งานสมัชชาสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ กำหนดจัดการประชุมสมัชชาสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้ เพื่อสรุปบทเรียน ระดมความคิดเห็น สร้างการเมืองภาคพลเมือง และเสนอแนวทางพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน

คณะอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้ กำหนดจัดเวทีประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ หรือการประชุมสมัชชาสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ ณ โรงแรมวัฒนาปาร์ค อ.เมือง จ.ตรัง ในระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน นี้

นายวิวัฒน์ หนูมาก ประธานคณะอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 มาตรา 21 กำหนดให้สภาองค์กรชุมชนระดับตำบลรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเสนอต่อองค์การปกครองระดับตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น หากเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า ส่งผลกระทบมากกว่าระดับตำบล มาตรา 27 กำหนดให้จัดให้มีการประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลเพื่อนำเสนอปัญหา ข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด หรือหน่วยงานราชการระดับจังหวัด
นอกจากนี้ในมาตรา 32 ยังกำหนดให้จัดประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล เพื่อรวบรวมปัญหาของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลโดยตรง

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ภาคใต้ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือสภาพัฒน์ ได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเล พัฒนาอุตสหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี พลังงาน พัฒนาชายฝั่งอ่าวไทยเพื่อการขุดเจาะปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นคณะอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคใต้ จึงจัดให้มีเวทีสรุปบทเรียนผลกระทบด้านการพัฒนา และระดมความคิดเห็นของพี่น้องเพื่อเสนอต่อที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้ปรับแก้แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมภาคใต้ไปสู่ความยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่น.

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

"คนเอาถ่าน" สู้วิกฤติพลังงานแบบพอเพียง

ชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ ขานรับพลังงานทดแทน ด้วยการปรับใช้นวัตกรรมเตาเผาถ่าน อันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

ชิงโค - ประโยชน์ครบวงจรชาวสวนมะม่วง

ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลานับเป็นแหล่งผลิตมะม่วงพิมเสนมัน โดยเฉพาะที่หมู่ 10 บ้านวัดเลียบ แหล่งกำเนิดของต้นมะม่วงพิมเสนมันต้นแรก ก่อนจะขยายพันธ์ไปทั่วภายหลัง
สมจิตร์ นิลวงศ์ และวันเพ็ญ นิลวงศ์ ผู้วิจัยเรื่อง มะม่วงพิมเสนเบา หรือมะม่วงพิมเสนมัน เล่าว่าการทำสวนมะม่วงเป็นวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของครอบครัวและชุมชนชาวบ้านชิงโคมานานหลายทวรรษ มะม่วงชนิดนี้ทำให้ออกผลนอกฤดูกาลได้ประมาณ 3 รอบ มีผลดกแต่ละช่อ 5-20 ผล

เมื่อมะม่วงให้ผลและเก็บเกี่ยวผลเสร็จ ชาวสวนต้องตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อกระตุ้นให้มะม่วงแตกใบใหม่

ปัญหาแมลงศัตรูพืชเป็นปัญหาหลัก ระหว่างแตกยอดใบอ่อน มีแมลงหรือหนอนผีเสื้อกลางคืนมากัดกินทำลายยอดใบอ่อน การกำจัดสิวเรียนซึ่งเป็นศัตรูอย่างหนึ่งทำโดยตัดกิ่งมะม่วงทิ้ง

"ปัญหาคือชาวสวนยังใช้สารเคมีอยู่มาก เมื่อเราหันมาเผาถ่านจะได้ถ่าน ได้น้ำส้มควันไม้มาแก้ปัญหาศัตรูพืช ระหว่างเผาถ่านจะได้ควันรมกิ่งมะม่วงทำให้แตกดอกดี ส่วนไม้มะม่วงที่ใช้เผาถ่านมาจากการตัดแต่งกิ่งนั่นแหละ"

สมจิตร์เล่าถึงประโยชน์ของการเผาถ่าน สำหรับชาวสวนมะม่วง นับว่าครบถ้วนเลยทีเดียว

เตาเผาถ่านที่เขากำลังใช้ดัดแปลงจากถังน้ำมัน 200 ลิตร วางไม้ที่จะเผาบนตะแกรงส่วนล่าง ใต้ตะแกรงเหล็กติดพื้นมีช่องว่าง เปิดช่องเป็นเตาสำหรับก่อเชื้อไฟเผาส่งความร้อนเข้าถัง ข้างถังมีระบบระบายควันและท่อหล่อเย็นสำหรับเก็บน้ำส้มควันไม้ การเผามีขั้นตอนผู้ผลิตได้แนะนำการใช้งานไว้ให้

เรืองวิทย์ ศรีสุวรรณ เครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา แห่งชิงโคกล่าวเสริมว่าปกติถ้าจะให้ต้นมะม่วงได้ผลดี ต้องบำรุง ซึ่งทั่วไปมีการเร่งฮอร์โมนเพื่อการออกดอก แต่เมื่อเผาถ่านใต้โคนมะม่วงจะเกิดควันส่งผลให้มะม่วงแตกดอกโดยไม่ต้องเร่ง ควันยังช่วยไล่แมลง โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อที่มักจะวางไข่กลางคืน

ที่บ้านวัดเลียบประชาชนปลูกต้นมะม่วงถึง 98 % คนที่ไม่ปลูกเป็นอาชีพยังมี ปลูกเอาไว้กินเองอย่างน้อย 2-3 ต้น ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงพิมเสนมัน

เพราะต่างปลูกมะม่วงกันทุกครัวเรือนนี่เอง สมจิตร์เล่าว่าเมื่อเขาเผาถ่านในรูปแบบใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา เป็นเตาแบบได้ถ่าน และน้ำส้มควันไม้ สามารถเคลื่อนย้ายเตาเผาไปวางตรงไหนก็ได้ คนในหมู่ 10 ต่างตื่นเต้นมาดู

"เขาชอบถ่านที่ได้จะงาม คือเผาอะไรจะออกมาอย่างนั้นเพียงแต่กลายเป็นถ่าน"

สมจิตร์เล่าว่าชาวสวนต้องตัดกิ่งมะม่วงอยู่แล้ว มีศัตรูพืชที่ชาวบ้านเรียกว่าสิวเรียนลักษณะหนอนเจาะ เมื่อเป็นสิวเรียนต้องตัดกิ่งลงมา เพื่อให้แตกใหม่ หรือเมื่อมะม่วงออกลูกเต็มที่ แล้วเกิดอาการที่เรียกว่าไส้แตก จะริดกิ่งให้แตกใหม่เหมือนกัน กิ่งมะม่วงที่ตัดลงมามักปล่อยเป็นขยะ ไม่รู้จะเอามาทำอะไร พอโซนคาบสมุทรสทิงพระมาทำเรื่องพลังงาน เลยสนใจเรื่องนี้

"หมายความว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากไม้เหล่านี้ ขยะก็จะหายไป การเผาถ่านยังกระตุ้นต่อมดอกเมื่อข่าวนี้แพร่สะพัด ทำให้ชาวบ้านอยากทำ แต่ต้นทุนค่อนข้างแพง เตาต้นแบบที่ซื้อมาจากพัทลุง ราคา 2,500 บาท อายุการใช้งาน100 ครั้ง"

การใช้งานในเตาเผาถ่านแบบนี้ สามารถเผาถ่านแต่ละครั้งจะได้ถ่าน 15-20 กิโลกรัม ต้องคอยสังเกตไฟหน้าเตาไม่ให้มอดและรองน้ำส้มควันไม้ ในระยะ 8 ชั่วโมงจึง เหมาะกับคนที่ทำงานอยู่บริเวณนั้น

ชาวบ้านที่มาเห็นอุปกรณ์เผาถ่านดังกล่าว ส่วนมากอยากเอา อยากใช้กับต้นมะม่วงวางแผนว่าจะทำเอง ในราคา800 บาท

วิถีของชาวบ้านแถบนี้แต่เดิมนิยมเผาถ่านหลุมขุดหลุมดิน ใส่ไม้ที่ต้องการเผา จุดไฟแล้วก็ถมแกลบวิธีดังกล่าว ไม่ต้องเฝ้าดูหลายชั่วโมง แต่ไม่ได้น้ำส้มควันไม้

"แบบนี้ไม่ต้องใช้แกลบ แยงไฟอย่างเดียว มีคำแนะนำ 12 ข้อ ดูซับซ้อน แต่ผมสรุปได้ 2-3 ข้อ คือเผาไล่ความชื้น 2 ชั่วโมง เผาไฟใต้ตะแกรง 4 ชั่วโมง แล้วดูควัน ถ้าควันหมด ก็ปิด"

สมจิตร์บอกว่าการรองน้ำส้มควันไม้ทำได้เมื่อเผาถ่านไปครบ 2 ชั่วโมง การเผาถ่านในเตาแบบนี้ครั้งหนึ่งได้น้ำส้มควันไม้ 2 ขวดลิโพ (ปริมาตรของขวดยาชูกำลังทั่วไป) แต่เรืองวิทย์บอกว่าเคยเผาถ่านจากไม้ไผ่สดจะได้ได้น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร จึงสรุปว่าอยู่ที่ชนิดขนาดของไม้ และความชื้น อย่างไรก็ตามคุณภาพน้ำส้มควันไม้ที่ได้ย่อมต่างกัน

"น้ำส้มควันไม้ที่รองมาได้มี 3 ชั้น ยางไม้อยู่ล่างชั้นกลางน้ำส้มควันไม้ ที่ต้องการชั้นบนเป็นน้ำที่ใช้คือชั้นกลาง ก่อนใช้จึงต้องเอามาตั้งให้ตกตะกอน 6 เดือนก่อนจะรินมาใช้ ที่แพงเพราะทำยากนี่เอง แต่ใช้ประโยชน์มากหลายสิ่ง เช่น มดปลวก รักษาบาดแผล " เรืองวิทย์ ซึ่งใช้เตาเผาถ่านในลักษณะเดียวกันที่บ้านกล่าวและว่า

ถ่านที่ได้ให้ความร้อนดี เคยนำไปใช้ในงานบวชถือเป็นการประหยัด โดยเฉพาะหากใช้กับเตาประหยัดที่เรียกว่าซุปเปอร์อังโล่จะยิ่งประหยัดอีกหลายเท่าตัว เพราะจะให้ความร้อนจนถ่านมอดหมดเกลี้ยง อย่างไรก็ตามการใช้ถ่าน คนยุคสมัยใจร้อนอาจไม่ชอบ เพราะถ่านจะร้อนช้าไม่ได้ดังใจ

เรืองวิทย์เห็นว่าเตาเผาถ่านแบบถัง 200 ลิตร ตอบคำถามให้ชาวสวนมะม่วงที่ชิงโคได้ สมัยก่อนตัดกิ่งมะม่วงลงมามักเผาทิ้ง จะนำไปเผาถ่านแบบหลุมไม่ค่อยได้ผลเพราะไม้มะม่วงจะไหม้หมด แต่แบบนี้ได้ถ่านดี นอกจากลดรายจ่ายครัวเรือนซึ่งบ้านที่ใช้ถ่านไม่ต้องซื้อแก๊ส จุดสำคัญคือประโยชน์กับสวนมะม่วง

"ถ้าใช้น้ำส้มควันไม้แทนสารเคมี เราจะได้เรื่องสุขภาพ ถึงแม้จะไม่ใช้น้ำส้มควันไม้ได้ 100% แต่คิดว่าจะค่อยลดสารเคมีลง ไปเรื่อยๆ ในกระบวนการ ในแง่ลดต้นทุนเมื่อเกิดความขัดเจนทั้งหมู่บ้านคงหันมาใช้กัน เพราะปลูกมะม่วงและผักสวนครัว วัตถุดิบในการเผาก็มีอยู่แล้ว"

สมจิตร์ ,วันเพ็ญ และเรืองวิทย์ยอมรับว่ากว่ามาทำเรื่องนี้ได้พวกเขาเห็นปัญหาชาวสวนมะม่วง ได้เรียกร้อง ค้นคว้า ดูงานหลายที่ ก่อนพบคำตอบเตาเผาผ่าน ที่มีประโยชน์ครบวงจรแบบนี้

"เตานี้สะดวกอีกอย่างในการเคลื่อนย้าย น้ำหนักเบายกเอาไปเผาตรงไหนก็ได้ แต่ก่อนไม้มาหาเตาแต่แบบนี้เตาไปหาไม้ เอาไปที่มีกิ่งไม้ เก็บสะดวก เผาได้ทุกฤดู สถานที่ ฝนตกก็เผาในที่ร่มได้"วันเพ็ญกล่าว และว่าตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลอง เมื่อพบปัญหาอะไรจะได้บอกต่อไป ส่วนใครอยากเรียนรู้ก็ชวนมาดู

วัดจันทร์ - น้ำส้มควันไม้เพื่อผักปลอดสารพิษ

ระนอง ซุ้นสุวรรณ ผู้นำกลุ่มปลูกป่าสันทรายตำบลวัดจันทร์ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เล่าถึงที่มาการหันมาทำเตาเผาถ่านว่าการเริ่มจากปลูกต้นไม้

"พอเห็นภาพว่าปลูกต้นไม้กับสวนป่าต้องใช้ประโยชน์จากการตัดแต่งกิ่ง เราคุยเรื่องการลดต้นทุน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนำมาสู่การคิดเผาถ่าน จากเวทีคาบสมุทรสทิงพระ และเครือข่ายเกษตรของเราเอง แต่ที่แน่ๆ เราต้องการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้"

ระนองบอกว่าการเผาถ่านมาจากการพูดคุยเรื่องเกษตรยั่งยืน การประหยัดต้นทุน ที่ต้องเตรียมตัวเรื่องการพลังงานทดแทน เชื่อมโยงกับกลุ่มปลูกป่าประกอบกับดูงานหลายๆที่ ในการทำเตาเผาถ่านมาก่อน

ครั้งหนึ่งตัวเขาเองเคยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเตาถ่านที่ใช้ในครัวเรือนมาอีกด้วย

วัตถุดิบสำคัญของชาววัดจันทร์คือต้นสนชายทะเลจำนวนราว 1,000 ต้นเนื้อที่ 119 ไร่ ระยะทางริมชายทะเลยาว 2 กิโลเมตร

"ต้นสนเราต้องเอาเลื่อยขึ้นไปตัดแต่งกิ่ง ปล่อยไว้สูงมากเกินไปไม่ดีอาจหักโค่นอันตราย"

เตาเผาถ่านแบบระนอง ที่วัดจันทร์ ผลิตเองโดยใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร มาวางนอนลงบนกองทราย ปล่อยถังโผล่จากดินราวครึ่ง ปากถังด้านหนึ่งเจาะเป็นหน้าเตาช่องสำหรับจุดไฟเผาถ่าน กว้าง 20 x 20 เซนติเมตร จากเตาต่อท่อซิเมนต์ระบายควัน นำไม้ไผ่ ที่แทงทะลุปล้องมารับควันเพื่อรองรับน้ำส้มควันไม้อีกทอดหนึ่ง

"มาทำแบบง่ายๆ เรียนรู้กันเอง"ระนองเล่า

ต้นทุนซื้อถังขนาด200ลิตรราคา 250 จ้างช่าง 50 บาทเพื่อตัดรูปแบบที่ต้องการ ใช้ท่อซิเมนต์ขนาด 6 นิ้วราคา 200 กว่าบาท มาเป็นช่องระบายควันท่อแบบนี้ตัด 2 ท่อน ไม้ไผ่หามาเอง สรุปรวมต้นทุนไม่เกิน 1,000 บาทต่อชุด

"การวางถังต้องฝังให้ลาดเอียงเล็กน้อยไปด้านหลัง ตรงข้ามกับช่องหน้าเตาที่จะเผาให้ความร้อนเพื่อรีดน้ำ น้ำส้มควันไม้ขึ้นมากับควันไฟจากท่อระบายควัน ผ่านเข้าท่อไม้ไผ่แทงทะลุปล้องขนาด 3 เมตรที่พาดบนท่อซิเมนต์" บนลำไม้ไผ่ มีการบากใส่ช้อนสำหรับเป็นรางให้น้ำส้มไหลลงสู่ภาชนะที่รองรับ

นอกจากเตา 200 ลิตร ระนองยังทำเตาใหญ่จากแผ่นเหล็กเก่า ๆ ขนาด กว้าง 1.20เมตร ใหญ่กว่าถัง 200 ลิตร 10 เท่า แต่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการ เพราะเป็นแบบที่ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืนในการเผาแต่ละครั้ง และกำลังมีปัญหารอยต่อของเตารั่ว กรณีฝังลงในดินทรายชายทะเลแห่งนี้

"เตา 200 ลิตรได้ถ่านประมาณ 15-20 กิโลขึ้นอยู่กับหลายอย่างทั้งการเตรียมไม้ ตอนเผาก็มีส่วนประกอบเรื่องลม ถ้าลมแรงเกิน ทำให้ถ่านมอด เร็วเตาแบบผมนี้ ผมออกแบบให้ลมเข้ากับทางระบายออกต้องสัมพันธ์"

ขั้นตอนการเผาถ่านหลังเอาไม้ที่จะเผาลงเตาแล้ว ใช้เชื้อเผาไม้ฟืนเล็กๆ ตั้งหน้าเตาเริ่มก่อไฟในช่องเตาไล่อากาศ ซึ่งพบว่าไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อไฟมาก แต่ให้มีไฟติดอยู่เรื่อยๆ รอพอควันขึ้นตามช่องระบายควันดีแล้วให้ใช้อิฐ วางปิดหน้าเตาราว 3 ใน 4

"ถ้าเปิดหน้าเตามากลมพัดเข้าแรงอาจไหม้ถ่าน เราต้องสังเกตการณ์ติดของไฟ ถ้าลมส่งไม่ดีดับได้ต้องใส่เชื้อใหม่ ถ้าลมส่งดีติดพอควันดำไม่มีปัญหาแล้ว จังหวะเริ่มสุก ควันจะขาว ใสบาง จะมีน้ำยางไม้ออกมา"

ระยะเวลาการเผาถ่านด้วยเตาลักษณะนี้ นับตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลาราว 8-10 ชั่วโมงหลังครบ 8 ชั่วโมงต้องปิดหมด ทุกทางระบาย รุ่งเช้าอีกวันจึงเอาถ่านมาใช้ได้

ระนองบอกว่า ต้องดูแลมากเป็นพิเศษใน 2 ชั่วโมงแรก น้ำส้มควันไม้ จะได้ในตอนช่วงควันดำเริ่มขาวประมาณชั่วโมงที่ 4 ข้อสังเกตเกี่ยวกับน้ำส้มควันไม้ ถ้าเกิดควันดำ แสดงว่าไม้ยังเปียกมากจะออกน้ำส้มควันไม้มากก็จริง แต่ต้องทิ้งไว้ให้ตกตะกอนนานจึงนำมาใช้ เพราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากเกินไป ช่วงได้ผลดีมีคุณภาพคือหลังจากเริ่มเผา 4 ชั่วโมงขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการสังเกตอย่างชำนาญ

"การรองน้ำส้มควันไม้จากเตา 200 ลิตรขึ้นอยู่ที่เราเตรียมไม้ แห้งเกินได้น้อย หากไม้สดไฟติดช้าและได้น้ำส้มควันไม้แบบไม่เข้มข้น ดีที่สุดคือไม้หมาดๆ ซึ่งอยู่ที่ขนาดอีกถ้าไม้เล็ก ตัดแล้วผึ่งไว้ 1-2 วัน แต่ถ้าไม้ขนาดหน้าแข้งอาจทิ้งไว้สัก 10 วัน"

หลังจากได้น้ำส้มควันไม้มาแล้ว จะบรรจุขวดวางทิ้งไว้ 1-2 เดือนให้ตกตะกอน เพื่อแยกส่วนน้ำส้มควันไม้มาใช้การใช้งานนำมาผสมน้ำ อัตราส่วน 1 ต่อ 200

"ทั่วไป ใช้ขนาดครึ่งขวดลิโพต่อน้ำ 10 ลิตร แต่การใช้ต้องคำนึงถึงพืชว่าแข็งแรงหรือไม่ประเภทใบอ่อน ๆอาจไม่ไหวต้องปรับไปตามชนิดของพืชที่จะนำไปใช้และเครื่องมือด้วยอย่างใครมีเครื่องฉีดพ่นจะใช้ได้พื้นที่มากกว่า"

ชาววัดจันทร์ต้องการน้ำส้มควันไม้มากกว่าถ่าน เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ปลูกผักปลอดสารพิษ การเผาถ่านได้น้ำส้มควันไม้มาใช้ในการ ไล่แมลง

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านกำจัดศัตรูพืช แบบไล่แมลงแต่ไม่ได้ฆ่าแมลง โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ จากพืชรสขม กลิ่นเหม็น พอได้น้ำส้มควันไม้ใช้ทั้งสองส่วน เพราะเห็นว่าน้ำหมักอย่างเดียวไม่ได้ผลแล้ว แมลงมีการดื้อกลิ่น กลิ่นน้ำส้มควันไม้ทำให้แมลงกลัวและหนี แต่ระยะหนึ่งอาจดื้อกลิ่นอีก จำเป็นต้องใช้สลับกันไป

นอกจากใช้ไล่แมลงในพืชน้ำส้มควันไม้สามารถใช้ไล่ยุงโดยชุบสำลี หรือใส่จานวางไว้บริเวณที่คนนั่ง ยุงจะกลัวกลิ่น นอกจากนั้นใช้แก้แผลเชื้อรา

"ที่นี่ไม่ใช้เคมีอยู่แล้ว น้ำส้มควันไม้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสมดุลให้นก สัตว์อะไรอยู่ได้ มูลค่าต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่ไม่ใช้สารเคมีมากกว่านั้น

"พอทำแล้วมีคนสนใจ ที่จริงมีอยู่ 2-3 เตาที่วัดจันทร์ แต่ที่ได้ผลคือที่จุดสาธิต ที่ทำการของกลุ่มปลูกป่าชายหาด ที่นี่สมาชิกมาทำได้ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ทุกคนเป็นเจ้าของ ใครมาเผาก็ได้ อย่างมีเวลาว่าง รวมกัน 4-5 คน ตัดแต่งกิ่งไม้มาเผา หรือเผาระหว่างประชุมกลุ่ม"

กลุ่มคนที่มาทำร่วมกันประจำมี 4 คนที่เอาไปใช้ และส่วนหนึ่งมีรายได้จากการขายถ่านด้วย แต่ขายให้เฉพาะในกลุ่มปลูกป่าชายหาดเท่านั้น เงินปันผลส่วนหนึ่งกันไว้สำหรับกิจกรรมของเด็ก ที่มาปลูกป่า ส่วนมาซื้ออาหารว่างเลี้ยงเด็กทุกวันเสาร์

ระนองบอกว่าในชุมชนวัดจันทร์คนใช้ถ่านยังน้อย คนที่ใช้มากที่สุดเป็นคนอาชีพทำกับข้าวขาย คนพวกนี้จะเห็นชัดว่าสิ้นเปลืองแก๊สเป็นอย่างไร สามารถเปรียบเทียบได้ว่า ในงานที่ทำเท่ากัน ใช้ ถ่าน 10 บาทแต่ถ้าใช้แก๊สจะตกอยู่ที่ 15 บาท

จากการเผาถ่านที่จุดสาธิตมาตลอดหนึ่งปี เดือนละ 1-2 ครั้ง ระนองสรุปว่าเตา 200 ลิตรเหมาะสุดแล้ว เพราะ ใช้เวลาวันเดียว อย่างไรก็ตามในเวลาดังกล่าวต้องหางานอื่นมาทำ รดต้นไม้ ปลูกต้นไม้ สำหรับคนทั่วไปการเผาถ่านแบบนี้ต้องสอดคล้องกับงาน เช่นว่ามีสวนก็ต้องมีการทำในสวน อยู่บริเวณที่ดูแลได้ หรือทำข้างบ้าน

ปัญหาการใช้งานเตาแบบระนอง คือหลังจากใช้งานแล้วจะเกิดเขม่า ขี้เถ้า ผสมยางไม้ อุดตัน เกาะท่อ ส่วนที่จะขึ้นมาจากถัง อุดทางระบายควัน ทำให้การเผาไหม้ไม่ดี ถ่านไม่สุกต้องทำความสะอาดหลังผ่านการใช้งานแต่ละครั้ง

ผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากการเผาถ่านคือ ขี้เถ้า สามารถนำมาเป็นปุ๋ย โดยพืชที่ได้ผลดีจากปุ๋ยแบบนี้คือ ตะไคร้

ระนอง กล่าวว่า พอมาปลูกป่าต้องใช้ประโยชน์จากป่า คิดว่าจะใช้เตาเผาถ่านกระตุ้นให้คนปลูกป่าได้เหมือนกัน เพราะป่าจะเกิดขึ้นได้ ต้องบอกว่าเตาเผาถ่านที่เราจะใช้กันจริงในชุมชน ไม้ที่มี ไม่พอ ต้องช่วยกันปลูกเพิ่ม เพื่อสามารถตัดแต่งกิ่งมาเผาถ่าน ไม่ใช่ปลูกแล้วตัดมาเผาถ่าน แต่ตัดแต่งกิ่งมาเผาถ่าน จะเห็นค่าขอการปลูกป่ามากขึ้น ต้องเพิ่มปริมาณการปลูก แต่ถ้าทุกคนเผาถ่านไม้ไม่พอ และทำลายป่าด้วยซ้ำ

หลักสำคัญอยู่ที่การนำไม้มาเผาถ่านต้องมาจากการตัดแต่งกิ่ง ไม่ใช่โค่นไม้มาเผาถ่าน "เราบอกว่าการปลูกป่า ต้องปลูกทุกครัวเรือน ต้องปลูกใช้สอยอย่างน้อย 10 ต้น ต้องมีในครัวเรือ ตามหัวไร่ ปลายนา หัวสวน หาที่ให้ต้นไม้อยู่"

ทุกวันนี้ระนองกำลังทำธนาคารต้นไม้วัดจันทร์ มีสมาชิกที่ปลูกแล้ว 35 ครัวเรือน บนหลักการข้างต้น คือเผาถ่านโดยไม่ทำลายป่า เมื่อมีป่าชุมชน100 ไร่ก็น่าจะพอ ใช้สำหรับชุมชนแห่งนี้

กระแสสินธุ์ - กระแสถ่านสู้พิษเศรษฐกิจ

พวงวรรณ ศรีสุวรรณ บ้านอยู่หน้าโรงพยาบาลกระแสสินธุ์ ผู้ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และรับเป็นจุดสาธิตเผาถ่านแบบถัง 200 ลิตร แห่งอำเภอกระแสสินธุ์ เล่าว่า ไม่เคยเผาถ่านมาก่อน การมาทำเรื่องนี้ทำให้ตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะเตาเผาถ่านสำเร็จรูป 200ลิตร ต้องมีเทคนิคในการคัดขนาดของไม้ก่อนเรียงลงถัง และการจัดระเบียบของไม้ อาศัยการทดลองทำหลายครั้ง

"คาดหวังว่าจะทุ่นรายจ่ายได้ถ่านมาแทนแก๊สก็ได้ใช้จริง พอดีซื้อเตาประหยัดพลังงานมาใช้ประกอบด้วย ได้ไฟดี ไม่เปลืองถ่าน ใช้หม้อได้หลายขนาดประหยัดไปได้มาก"

พวงวรรณเล่าว่า หลังเผาถ่านไม่ได้ใช้แก๊สอีกเลย จากปกติใช้แก๊สถังละ 2-3เดือน สำหรับครอบครัวอยู่กันสองคนสามีภรรยา ลูกๆไปเรียนหนังสือ

"ชอบใช้ถ่านเพราะได้บรรยากาศอีกแบบ ยกวางตรงไหนก็ได้ การปรุงอาหารไม่มีปัญหาเหมือนแก๊สเพราะร้อนไม่มาก ไม่ต้องเฝ้าเหมือนเตาแก๊สในครัว ทำกับข้าววางไว้บนเตาแล้วไปทำอย่างอื่นไปพลาง เช่นรดน้ำต้นไม้ ยิ่งการปรุงอาหารไม่รีบอย่าง ต้ม ตุ๋ม กระดูกหมู ยิ่งดี นอกจากนั้นการปรุงอาหารด้วยถ่านจะได้กลิ่นหอม"

เตาเผาถ่านแบบถัง 200 ลิตร พวงวรรณได้ถ่านครั้งละ 1กระสอบปุ๋ย ซึ่งราคาขายในท้องตลาด100 บาท 1กระสอบ ใช้ได้นาน 15-20 วัน เผาถ่านเตาหนึ่งได้น้ำส้มควันไม้ราว 1 ลิตร ใช้ผสมน้ำ ใส่กระบอกฉีดไล่แมลง และรดมด ที่ตอมไต่เข้าบ้าน แต่แมลงไม่ได้ตายให้เห็นปุ๊บปั้บเหมือนใช้สารเคมี

วัสดุที่เผา ใช้เศษไม้ พวงวรรณว่าถ้าต้องการน้ำส้มควันไม้ ต้องเอาไม้สด ส่วนมาหาเศษไม้ที่เขาไม่เอาแล้ว เจ้าของอาจมองว่าปล่อยไว้รก หรือตัด กิ่งไม้ตามป่ารกร้าง อย่างไม้กระถินณรงค์ ม่าว เสม็ด หลายชนิดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ปัญหาเตาแบบนี้อยู่ที่การเผาเพราะต้องเฝ้ามากกว่าครึ่งวัน ทิ้งไม่ได้ ต้องเวียนดู ไฟ อยู่เรื่อย ชาวบ้านมาดูเตาที่บ้านพวงวรรณในฐานะเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงมักมีความเห็นว่า ราคาแพงการเผายุ่งยาก ต้องขยันหาวัตถุดิบ เห็นว่าภูมิปัญญาชาวบ้านแบบเดิมดีกว่าอีกอย่างคนแถวนี้ต้องการถ่านเพียงอย่างเดียว

คนแถวกระแสสินธุ์แต่เดิมมามักเผาถ่านแบบขุดหลุมใส่แกลบ ทำกันเกือบทุกบ้าน วิถีแบบนี้หายไปบ้าง แต่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองพวงวรรณบอกว่าคนจำนวนมากหันหลับมาใช้ถ่านแทนแก๊ส

"เขาจะใช้ลูกโหนด เผาทั้งลูก ขนข้างนอกจะกรอบออกเอง เมื่อสุกหรือคนมีเวลาจะขูดขนออก เก็บใส่กระสอบไว้ใช้ ถ่านลูกโหนด ไฟจะแรงดี"

ละแวกบ้านพวงวรรณ หาลูกตาลโตนดค่อนข้างยาก คนที่ต้องการเผาถ่านจึงไปหาไม้จากป่าเสม็ดในพรุมาใช้ มีคนเผาถ่านขายเป็นอาชีพ ทุกวันนี้ป่าหลายแห่งในพื้นที่กำลังปรับที่เพื่อปลูกปาล์ม ต้องขุดป่ารกร้าง ไม้ที่ขุดขึ้นมาเอามาเผาทิ้งเป็นขยะเป็นวัตถุดิบอีกอย่างน่าจับตา

ผลผลิตจากการเผาถ่าน นอกจากน้ำส้มควันไม้ ยังมีขี้เถ้า พวงวรรณนำไปเทใส่โคนไม้ไผ่เร่งให้ออกหน่อเร็ว

"ปัญหาของเตาอย่างเดียวสำหรับฉัน ถ้าไม่อยู่บ้านทำไม่ได้ ต้องเฝ้าเหมือนเคี่ยวตาลเลย(หัวเราะ)ต้องเข้าหน้าเตา เดินเวียน อยู่อย่างนั้น เดินหลายรอบกวาดขยะ เข้าบ้าน ซักผ้า แต่ละครั้งต้องทุ้งไฟทีหนึ่ง วันนั้นไม่ได้นั่งได้นอน ออกกำลังกายตลอด"

หากเป็นเตาถ่านแบบหลุมที่ทำกันมา ไม่ต้องเฝ้าดู แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือแกลบที่นำมาใช้ หายาก และต้องซื้อ

"แกลบหายาก เป็นของมีราคา แต่ก่อนแกลบมาก ไปเอาที่โรงสีได้เลย ทุกวันนี้ จะใส่สอบขาย 3-5 บาท แต่ถ้าเราเอาข้าวไปสีกับเขาอาจไม่ต้องจ่าย สรุปว่าเตาแบบเดิมขัดสนเรื่องแกลบ"

อัษฎา บุษบงค์ เครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา เล่าว่าการประชุมโซนคาบสมุทร มองความสำคัญเรื่องการลดรายจ่ายในช่วงน้ำมันขึ้นมาก ว่าทำอย่างไรซึ่งแนวคิดการลงทุนแก๊สชีวภาพ ต้นทุน 5,000-6,000 บาท ค่อนข้างสูงเมื่อเห็นว่าในหมู่ 3ตำบลเชิงแส มีการเผาถ่านเป็นอาชีพอยู่แล้ว 5-6 เจ้า เมื่อตนเองเห็นเตาที่เผาถ่านได้น้ำส้มควันไม้ด้วย สนใจเลยเสนอโครงการ

"น้ำส้มควันไม้เป็นผลพลอยได้ ลดรายจ่าย ที่จะไปซื้อสารเคมีมากำจัดศัตรูพืช"

คนที่นี่ใช้ถ่านมาก เพราะคนใช้แก๊สต้องมีรถมอเตอร์ไซค์ไปบรรทุกกลับมาบ้านเอง จากความยุ่งยากดังกล่าวคนแก่ที่อยู่บ้านเลยช่วยลูกหลานโดยการใช้เวลาว่างเผาถ่านเพื่อหุงข้าวให้ลูกหลานที่ไปทำงานโรงงานกลับมาตอนเย็น นอกจากใช้เองเหลือ ใส่กระสอบไว้ คนที่อยากใช้จะตามไปซื้อถึงบ้าน

ถนนสายเผาถ่านอยู่ข้างป่าเสม็ด ใช้เปิดมหกรรมพลังงานทดแทนเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมาในงานรวมพลคนรักสุขภาพ ซึ่งเป็นการเปิดตัวเตาเผาถ่านแบบได้น้ำส้มควันไม้ด้วย

"ชาวบ้านเขาทดลองอยู่ ยังไม่รู้ว่าสรรพคุณน้ำส้มควันไม้เป็นอย่างไร ฉีดครั้งเดียวไม่ได้ผลเท่าสารเคมี เขายังติดตรงนั้น เราจะบอกว่าค่อยเป็นค่อยไป ถ้าได้ผลเร็วเกินคาด อย่างสารเคมี น่าจะไม่ดีกับคนด้วย เรื่องนี้ ต้องรอพิสูจน์ ให้ชาวบ้านรู้จริง และบอกต่อกันไปเรื่อย"

อัษฎาเล่าว่าเมื่อตนเองหันมาเผาถ่าน ไม่ต้องใช้แก๊สอีกเลย

"ถ่าน 100 บาทได้เดือน แต่แก๊สต้องจ่าย300บาท นั่นเห็นว่าลดลงแล้ว ถ้าทุกบ้านลดเดือนละ 200 บาท ถือว่าไปถูกทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนบ้านคุณพวงวรรณนี้ เลี้ยง กบ เป็ด หมู ปลา"

เขามองว่าถึงที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงต้องพูดภาพรวมทั้งระบบ แค่หันมาใช้ถ่านอย่างเดียวอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง

ม่วงงาม - ภูมิปัญญาเตาฝังดินจากบรรพบุรุษ

รัญจวน แก้วจินดา ประธานกลุ่มกลุ่มเกษตรอินทรีย์ม่วงงามอำเภอสิงหนคร ผู้ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เล่าว่าได้รับการสนับสนุนให้เครื่องทำถ่านอัดแท่ง

"ยังงงๆ เพราะชาวบ้านที่นี่เผาถ่านได้คุณภาพดี ไม่แตกผง ไม่จำเป็นมาเสียเวลาอัดแท่ง เครื่องอักแท่งจึงน่าจะเหมาะกับถ่านผงจากเปลือกผลไม้ เอามาใช้โดยตรงไม่ได้"

ชาวม่วงงามเผาถ่านแบบหลุมใช้แกลบมานาน แต่รัญจวนมีวิธีพิเศษไม่เหมือนใคร เทคนิคจากรุ่นพ่อซึ่งเป็นชาวชุมพร

เริ่มจากขุดหลุมดิน ขนาดใดก็ได้ตามความต้องการ ส่วนมากเท่าหลุมถ่านแบบใช้แกลบ แต่วิธีการขั้นตอนเผาต่างไปตั้งแต่การวางไม้ที่ต้องการเผาถ่านในหลุม ต้องมีลักษณะของการวางไม้หมอนเอาไว้ล่างสุด เรียงไม้แบบขัดกันปล่อยให้มีช่องว่างตามขนาดของหลุม พอเต็มแล้วจุดไฟจากข้างล่าง หลังจากนั้นเอาเศษหญ้า เศษใบไม้ทับลงบนกองฟืน รอจนไฟลุกจนทั่วตลอดกองไม้ แล้วเอาไม้ไผ่ที่แทงทะลุปล้องแล้วเสียบลงไปจนถึงก้นหลุมแล้วเอาดินกลบหลุมทั้งหมด

"ไฟไม่ดับ เพราะมีท่อไม้ไผ่ช่วยให้อากาศอยู่ ถ้ากลัวไฟดับอาจใช้ขยะเติมลงไปก่อนใช้ดินกลบให้มากหน่อย ดูที่ปลายท่อไม่ไผ่ถ้าควันขาวมุ่นแสดงไม้ดิบอยู่ แต่ถ้าควันเริ่ม เขียวจนจางหาย ขนดเหยียบลงบนเตาได้แล้ว คือถ่านมันสุก"รัญจวนเล่า

ถ่านสุกแล้วยังไม่ต้องการนำถ่านมาใช้ตอนนั้นให้ดึงท่อไม้ไผ่ออก เอาดินถมทุกส่วนให้มิด ฝังไว้ 3 วัน ไฟจะดับสนิท หรือถ้าต้องการใช้เลย คือคีบมาจุ่มน้ำให้ไฟดับแบบวิธีเตาหลุมทั่วไป

การเผาถ่านหลุมแบบชาวบ้าน ไม่สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ แบบที่รัญจวนทำยังเอาน้ำส้มควันไม้ไม่ได้ขณะนี้ แต่เป็นเรื่องท้าทายที่รัญจวนหาคำตอบอยู่ แม้จะมีท่อไม้ไผ่ส่งควันออกจากหลุมคล้ายกับกลุ่มวัดจันทร์ แต่วิธีนี้ไม่ได้รับควันโดยตรงจากการเผาไหม้ของไม้

ชาวบ้านที่ม่วงงามสนใจเรื่องนี้เพราะเมื่อป้าจวนเผาถ่านมักมีคนมาดูด้วยความสนใจ แต่ส่วนใหญ่ยังทำแบบรัญจวนไม่เป็น ยังนิยมแบบหลุมใช้แกลบ

"ป้าก็พยายามแนะนำอยู่ นะ"เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้รัญจวนชวนชาวบ้านที่ทำนาอินทรีย์รวมกัน 12 ครัวเรือน มาเผาถ่านใช้กัน

"ถ้าพูดสมัยก่อน ชาวบ้านส่วนมากง่ายๆ หยิบไม้มาดุ้นเท่าไหนก็ใส่ได้ เป็นฟืนอยากก่อไฟ ก็หยิบไม้ฟืนมาก่อไฟ ก็ได้แล้วง่าย"

ทุกวันนี้รัญจวนไม่ใช้แก๊ส หันมาใช้ถ่านกับไม้ฟืน การหุงข้าวใช้หม้อไฟฟ้า ถ้าอยู่ในสวนใช้ฟืนหุงกับกระทะได้ข้าวดังกลิ่นหอม เป็นที่ถูกใจของลูก

"ลูกเคยทำงานโรงแรมห้าดาวชวนเขากลับมา เขาก็ยินดีที่ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง คนเล็กกลับมา 5 ปีประดิษฐ์เครื่องไถนาใช้เองได้แบบไม่ต้องเดิน อีกคนเพิ่งกลับมาเมษายน ที่ผ่านมา เขาบอกว่าที่พัทยากล้วยหวีละ 30 บาทที่นี่แทบไม่ต้องซื้อ"

รัญจวนสอนลูกก่อไฟ ตอนแรกทำไม่ได้ แต่ตอนหลังทำได้ ปรุงอาหารสุก

"วัตถุดิบเชื้อเพลิง ป้าปลูกไม้ใช้สอยไว้มากหลายขนาด การตัดแต่งกิ่งไม้เมื่อก่อนเผาทิ้งอย่างไม้ม่วง ท้อน ตอนหลังมาใช้ทำเชื้อเพลิง ลูกโหนดที่เรียกลูกโหนดว่อ(สุก) เอามาเผาถ่าน"

ถ่านจากกะลาลูกตาลโตนด ของป้าจวนได้รับความสนใจมากจนร้านไก่ย่าง ริมชายทะเล ม่วงงามเป็นลูกค้าประจำ มารับซื้อถ่านสัปดาห์ละ 15 กิโลกรัม

"เขาบอกว่าถ่านอื่นไม่เอาเพราะร้อนไม่จัด ถ่านลูกโหนด ร้อนจัดสม่ำเสมอ ไม่เป็นขี้เถ้า" รัญจวนเล่าว่าคนสนใจเรื่องแบบนี้ต้องใจรัก ตั้งใจทำ จึงจะทำได้ การได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากแผนสุขภาพจังหวัด แม้เงินไม่มาก แต่กระตุ้นให้คนมีจิตสำนึกตระหนักว่าใบตาลสักใบก็มีประโยชน์ เอามาทำเชื้อเพลิงหุงข้าวสุก

ทุกวันนี้ กลุ่มคนใช้ถ่านในตำบลม่วงงาม ที่ชัดเจนจึงเป็นคือกลุ่มเกษตรอินทรีย์ม่วงงาม การเผาแบบเดิมแม้ไม่ได้น้ำส้มควันไม้แต่จะได้แกลบดำนำไปผสมกับขี้วัว รำ คลุกเคล้า ราดน้ำหมักกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีเหมาะกับรองก้นหลุมในการปลูกแตงโม

" บ้านหนังอารี บ้านป้ายอม บ้านป้านี บ้านป้าเชื่อง น้องดี น้องน้อย และหลายคน รวม 12 ครัวเรือน ในหมู่8 ตำบลม่วงงาม ที่ทำเรื่องนี้ เพราะเราคิดให้ฟังว่า เศรษฐกิจแบบนี้เศษสิ่งเหลือใช้มีมาก ในโซนนี้ ฤดูคลื่นไม้มากถูกซัดมาติดชายฝั่ง ไม่รู้จะเอาไปไหน เราอามาทำประโยชน์ เราเก็บมาทำให้ ชาวบ้านดู เขาว่าดีเหมือนกัน"

รัญจวนเล่าว่า มีคนถามว่าถ้าใช้พลังงานทดแทนกัน จะเอาไม้มาจากไหน เธอว่าในชุมชนไม่ลำบาก เพราะต้นโตนดมีประโยชน์ในการนำมาใช้หมด ไม่ว่าทางโหนด(ส่วนใบทั้งหมด) ลูกโหนด งวงโหนดระยะหลังเศรษฐกิจไม่ดี คนเริ่มมองวัตถุดิบในชุมชน อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แนวโน้ม การใช้ถ่านและฟืนของชาวบ้านมีมากขึ้นแม้ว่าอาจไม่สอดคล้องกับคนปัจจุบันเพราะทำให้บ้านเรือนติดเขม่าดำ บ้านปัจจุบันก็ไม่มีครัวแบบ "แม่ไฟ" แบบคนอดีต คนที่ใช้ถ่านและฟืนมักย้ายเตาที่ใช้ถ่านและฟืนจึงมาปรุงอาหารนอกครัว

"คนจะหันมาทางนี้ เพราะสู้เศรษฐกิจไม่ไหว ยกตัวอย่างป้ายอมแกปลูกข้าวโพด ต้องต้มข้าวโพดขาย ครั้งละ 3 กระทะ ซึ่งแก๊สไปเลย หนึ่งถัง แต่ป้าจวนต้มลูกกระจับใช้ไม้ฟืน ไม่ต้องเสีย ที่บ้านคนเยอะหากใช้แก๊สจะมากกว่าถังต่อเดือน คิดว่าต้องเสียมากกว่า 500 บาท ถือว่าประหยัดไปได้ส่วนนี้ อย่างไรก็ตามต้องมองภาพรวมเรื่องวิถีเศรษฐกิจพอเพียงทุกด้าน การประหยัดพลังหรือหันมาเผาถ่านอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ

"อย่างคนในชุมชน แต่ก่อนคิดข้าวพื้นบ้านปลูกทำไม แข็งไม่อร่อย ไปหาเงินตรงอื่น มาซื้อข้าวดีกว่า จนมีอยู่วันหนึ่ง น้องแหม่มบอกว่าครอบครัว 6 คน ซื้อข้าวสารมา 100 บาทได้นิดเดียว ไม่พอ ลำบาก จึงบอกว่า ให้คิดใหม่ทำนาสัก 1 ไร่ ทำเหมือนเลี้ยงลูก ทำนา 1 ไร่ ทำให้ดีได้ 120 ถัง ถ้าทำดี เขาว่าทำข้าวอะไรบอกว่า ข้าวพื้นบ้านไม่มีศัตรู พืช ตนหลังมาคิดมาหานาให้ มีคนทำ 3 หมู่บ้าน รณรงค์คนมาทำนา ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พอได้ข้าวแล้ว ก็ว่าดีได้ข้าวแล้วมีเงิน อยู่ 500 ไม่ต้องเครียดว่าต้องไปซื้อข้าวสาร200 กว่าบาท เหลือ 200 กว่าบาทเป็นค่ากับข่าว ถ้าไม่ซื้อข้าวสาร ก็ได้เงินเหลือเอาไว้ซื้อกับ หากประหยัดจะอยู่ได้ 5 วัน"

รำแดง - ยกถ่านลูกโหนดขึ้นชั้น OTOP

อุดม ทักขระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รำแดง อ.สิงหนคร

เล่าว่าเมื่อ 29 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาได้จัดโครงการ เปิดบ้านน่าอยู่สู่ตำบลสุขภาวะครั้งที่ 1

"กิจกรรมในวันนั้นมีคนร่วมราว 280 คน เราได้เปิดตัวชุดเตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้ (ถัง 200 ลิตร แบบเดียวกับชิงโค) เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากที่สุด ส่วนมากตื่นเต้นที่เห็นการเก็บน้ำส้มควันไม้ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ ไม่รู้จักมาก่อน เมื่อรู้ว่าจะมีประโยชน์อย่างไร เช่น ฆ่าแมลง ก็สนใจกันมาก เป็นที่ตื่นเต้นกันว่าเป็นของใหม่ เพราะการเผาถ่านหลุมที่ทำกันมาจะไม่มีส่วนนี้"

อุดมเล่าว่าหลังได้รับการสนับสนุนเตาเผาถ่าน 2 ชุด จากแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ได้มอบให้กับชาวบ้านนำไปใช้งานและสาธิต สำรวจและเลือกจากบ้านที่มีคนใช้ถ่านอยู่ก่อนแล้ว ทาง อบต.ยังได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มอีก 1 ชุดเพื่อดำเนินการ

"คนสนใจมาก เพราะเป็นแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตรงกับวิถีของคนรำแดง"

วัสดุในท้องถิ่นที่สามารถเอามาเผาถ่านสำคัญคือกะลาของลูกตาลโตนดสุก ซึ่งแต่เดิมชาวบ้าน บางส่วนได้ส่งขายให้พ่อค้าจากเพชรบุรี ราคาจำหน่ายเมล็ดละ 12 สตางค์ เท่านั้น แต่ถ้านำมาเผาถ่านจะมีมูลค่าเป็นเมล็ดละ50 สตางค์นับเป็นการเพิ่มค่าของวัสดุในท้องถิ่น

อุดมเล่าว่าถ่านจากกะลาลูกตาลโตนดให้ไฟแรงกว่าอย่างอื่น

จึงมีความคิดผลักดันผ่านนโยบายของ อบต. ส่งเสริมเป็นถ่านอัดแท่ง เป็นสินค้า OTOP อีกอย่างหนึ่งของตำบล นอกจากน้ำส้มสายชูหมักจากตาลโตนดจากนำแดง ซึ่งเป็นสินค้า ระดับ 5 ดาวของจังหวัดสงขลา ไปแล้วอย่างหนึ่ง

"มีถ่านอัดแท่งอีกสักอย่าง อาจเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำส้มสายชูจะทำให้ท้องถิ่นได้รับความสนใจมากขึ้น"อุดมกล่าว และว่าการส่งเสริมเรื่องนี้ผลเบื้องต้นที่สุดคือสามารถลดค่าใช้จ่าย ซึ่งกำลังตามจะมีการลงไปเก็บข้อมูลโดยละเอียด ว่าสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เป็นจำนวนเท่าไร

นอกจากลูกตาลโตนด แล้วในท้องถิ่นมีเศษไม้หาได้ทั่วไปมากเพียงพอ จะมาเผาถ่าน และ อบต. ยังมีการรณรงค์การปลูกไม้โตเร็ว สามารถนำมาเผาถ่าน และมีไม้ใช้สอยเพื่อการนี้มากพอ

การขับเคลื่อนผ่านนโยบาย อบต.รำแดง อุดมเล่าวางเป้าหมายให้มีการใช้เตาถ่าน สำหรับผู้ที่เผาถ่านแบบหลุมอยู่แล้วให้มีเตาเผาถ่านแบบเก็บน้ำส้มควันไม้ แพร่หลายโดยเฉพาะครัวเรือนที่ต้องการจริงๆ

จากการสำรวจในตำบลรำแดง พบว่า มีชาวบ้าน 45 ราย ที่ต้องการใช้ ซึ่งการให้ได้เตาเผาน้ำส้มควันไม้ ในอนาคตชาวบ้านต้องร่วมสมทบงบประมาณ กับ อบต. ด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายจะลดลงเพราะจะส่งเสริมให้ช่างในท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นมาเองคาดว่าต้นทุนต่อเตาไม่เกิน 2,000 บาท เป็นการส่งเสริม ช่างท้องถิ่นมีรายได้ และเป็นความยั่งยืน เช่นเดียวกับเครื่องอัดแท่งถ่าน ก็จะหาต้นแบบมาเพื่อให้ช่างพัฒนาต่อ

"เรา มีความคิดว่าถ้าช่างทำได้แล้ว จะผลิตขายในโซนคาบสมุทรอีกด้วย เพราะแถบนี้ยังไม่มีแหล่งผลิต"

อุดมเล่าว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ตั้งข้อบัญญัติเอาไว้ใน อบต.แล้ว แต่ยังไม่ลงรายละเอียด การเผาถ่านเป็นส่วนหนึ่ง ในโครงการรำแดงน่าอยู่ มีหลายเรื่องประกอบ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ นับเป็นนโยบายบริหาร

ประเด็นพลังงานทดแทน ก่อนหน้านี้ ได้มีการทำแก๊สชีวภาพ จากขี้วัว ซึ่งดำเนินการจนใช้ได้แล้ว 8 ชุด ทุกอย่าง จะอยู่ในวิถีเศรษฐกิจพอเพียง การที่อุดมได้เข้าเสนอ เวทีพลังงานชุมชนภาคใต้ ซึ่ง พอช.กับภาคีจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยทักษิณไม่นานมานี้ หลายฝ่ายต่างยอมรับว่าตำบลรำแดงสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงมีหลายหน่วยงานพร้อมเข้ามาช่วยบูรณาการ ต่อไป อบต.รำแดง จะมีแผนเรื่องพลังงานทดแทนโดยเฉพาะอีกด้วย



ขอขอบคุณเนื้อหาจากเวป "สงขลาสร้างสุข" http:// songkhlahealth.org/
เขียนโดย : punyha

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552

"คุณหญิงสุพัตรา" คาดปี 2555 ผุดกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ 5 พันแห่ง


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดสัมมนาเรื่อง “สวัสดิการสังคมเพื่อความมั่นคงของชุมชน” ณ ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน

คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตย์ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “นโยบายรัฐในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน” หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลมีความพร้อมที่จะสร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนกว่า 40 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการองภาครัฐและภาคเอกชน

โดยคุณหญิงสุพัตรา กล่าวว่า รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนโครงการสวัสดิการชุมชน และพร้อมจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 โดยได้จับงบประมาณจำนวน 727 ล้านบาท เพื่อสมทบและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนที่ตั้งแล้วกฃ 3,100 ตำบล และจะส่งเสริมให้มีการขยายผลจัดตั้งอีกในจำนวน 2,000 ตำบล ก็จะครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้พื้นที่จัดตั้งทีหลังจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการสวัสดิการกำหนด ซึ่งมีองค์ประกอบของชุมชนและหน่วยงานร่วมอยู่ด้วยในคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว

"จริงๆ งานด้านสวัสดิการชุมชน ชาวบ้านเขาทำกันอยู่แล้ว และเยอะมาก อย่างเรื่องออมทรัพย์ เขาทำกันมานานเพราะไม่ต้องไปกู้ธนาคาร หลายๆ แห่งยังทำเป็นสวัสดิการด้วย ใครไปโรงพยาบาลก็เบิกได้ บางแห่งเบิกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางแห่งเบิกได้น้อยหน่อยถ้าองค์กรยังไม่เข้มแข็ง" คุณหญิงอธิบายจุดเริ่มต้นของงานสวัสดิการชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้แพร่กระจายตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ระยะหลังที่นิยมกันมากคือการออมวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท ซึ่งหลายชุมชนมีเงินกองทุนพอกพูนหลายล้านบาท สามารถแบ่งเบาภาระของสมาชิกได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล ได้เข้าร่วมโดยจ่ายเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง


ขณะที่นายสิน สื่อสวน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อธิบายเพิ่มเติมภายหลังว่า พอช. มีหน้าที่เป็นตัวเชื่อม ระหว่างรัฐและประชาชนท่านั้น เนื่องจากผู้ที่ทำงานประจำทั้งภาครัฐและเอกชน จะมีสวัสดิการรองรับอยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่มี “สวัสดิการชุมชนไม่ได้เริ่มมาจากรัฐ เราจะต้องสร้างและดำเนินการด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความมั่นคง ถ้ามีความมั่นคงเรื่องอื่นก็เบาใจได้ เจ็บป่วยก็มีเงินไว้รักษาตัวไม่ต้องมารอเงินจากรัฐอีกต่อไป” รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนอธิบาย

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

ดาวน์โหลดเอกสารการสัมมนาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 ที่ สสว.12 จ.สงขลา มีการสัมมนาตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการสัมมนาร่วมกันระหว่างคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัด และตัวเเทนคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน (ไทยเข้มแข็ง) ในพื้นที่เป้าหมายปี 2553 จำนวน 19 ตำบล ๆละ 5 คน รวมผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่าร้อยคน

ดาวน์โหลดเอกสารสรุปผลการสัมมนา คลิ้กที่นี่ครับ

ดาวน์โหลดเอกสารโครงการฯ..คลิ้กที่นี่ครับ