จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

ชุมชนคนใต้ สัมมนากำหนดแผนอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้


คณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้)และเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ จัดเวทีร่วมกำหนดแผนพัฒนาอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้ ณ ห้องประชุมแกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

นางศยามล ไกยูรวงศ์ รองประธานคณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน กำหนดแผนการพัฒนาไว้ 4 ประการสำคัญ ได้แก่ หนึ่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงชายฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สองพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันระดับโลก โดยมีเกาะภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง
สามการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และประการสุดท้าย การเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้กับเขตเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย

นางศยามล กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ประชาชนในภาคใต้เข้ามามีบทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันภายใต้ข้อมูลศักยภาพของพื้นที่ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดดุลยภาพทั้ง 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในสังคม และเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบกับพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวด 4 ว่าด้วย สมัชชาสุขภาพ มาตรา 40-45 จึงกำหนดให้มีเวทีร่วมกำหนดแผนพัฒนาอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้

การจัดเวทีครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากทุกภาคส่วนเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากแต่ละจังหวัดจะประกอบด้วย ผู้แทนชุมชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน หอการค้าจังหวัด และนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่อการกำหนดแผนพัฒนาบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็น แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในโอกาสต่อไป

สำหรับข้อสรุปจากเวที
ได้กำหนดวิสัยทัศน์ การพัฒนาในภาคใต้(Vision ) ประชาชน ชุมชนภาคใต้อยู่เย็นเป็นสุข
ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่พึงประสงค์ (เน้นการพัฒนาคน)
1. รู้จักตน ครอบครัว ชุมชน รู้อดีต ปัจจุบัน ทรัพยากรสิ่งมีค่า
2. รู้จักสิทธิหน้าที่ รัฐธรรมนูญ รู้เท่าทันสถานการณ์ประเทศ โลก รู้บทเรียนพัฒนาที่ล้มเหลว และสรุปบทเรียน
3. การศึกษาที่ต้องทำให้คนอยู่กับบ้าน ทำมาหากินในท้องถิ่น ทรัพยากร มรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญา (ปัญหาการศึกษาปัจจุบัน การศึกษาในระบบจำนวนครู อาจารย์ 750,000 คน ต่อ นักเรียน นักศึกษา 1.5 ล้านคน สอบตกทุกวิชา (ไม่ผ่าน 50 % ของคะแนน) โดยเฉพาะในภาคใต้

แนวทางและกลไกการขับเคลื่อน
1. ควรสร้างกลไกการเชื่อมโยงบุคคล ข้อมูล สภาองค์กรชุมชน กับกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระดับจังหวัด
2. ให้สภาองค์กรชุมชนตำบล สรุปแนวทางจัดการปัญหาสาธารณะและนำมาสรุปเวทีจังหวัด สอดประสานกับสมัชชาเชิงประเด็น/เชิงพื้นที่
3. เวทีประชุมกำหนดทิศทางข้อเสนอต่อนโยบายร่วมกันระดับจังหวัด (อปท. สจ. สส. สว. ภาครัฐร่วม)
4. คณะทำงานร่วมกันคัดเลือกจากองค์กรภาคีแกนสมัชชา/สภาองค์กรชุมชนเป็นตัวแทนจังหวัด
5. คณะทำงานร่วมวงกับสมัชชาภาคและที่ประชุมสภาองค์กรระดับภาค นำเสนอแผนพัฒนาภาคใต้ (ต่อพรรคการเมือง , สภาพัฒน์, รัฐบาล)
6. ให้หยุดแผนพัฒนา โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ของสภาพัฒน์ก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนข้อเสนอ 1-5