จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

งานชิงเปรต ที่ห่างหายไปกับกาลเวลา

โดย : คนใจบกบก

เดือนสิบมาถึงอีกปีแล้วนะ....ช่างมีความสุขเสียเหลือเกิน...ปีนี้จะมีใครกลับมาบ้านนะ ?

เป็นความรู้สึกที่ผมว่าชาวใต้ทุกคน คงมีไม่ต่างจากผมสักเท่าไหร่ ที่สำคัญผมและใครอีกหลายคนอยากให้มีวันทำบุญเดือนสิบเดือนละครั้งน่าจะดี...ว่ากันไปครับ...ผมอุ๊แว้มาลืมตาดูโลกก็สามสิบขวบย่างสามสิบเอ็ดหมาดๆ ก็มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับงานชิงเปรตของคนใต้บ้านเรา ฟังแล้วน่าใจหายครับ

วันชิงเปรต เป็นกตัญญูของคนไต้เรา...คล้ายวันเช็งเม้งของคนจีน เพราะมีโอกาสได้รำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของเราที่มีบุญคุณ สำหรับคนใต้เราแล้วสำคัญยิ่งกว่าวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่เสียด้วยซ้ำไป

ทุกครั้งที่จะถึงวันชิงเปรต ทำบุญเดือนสิบ พวกเราจะมีกิจกรรมอยู่อย่างหนึ่งคือ การทิ่ม(ตำ)แป้งข้าวเหนียว เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการทำขนมเจาะหู ขนมสะบ้า ไม่ต้องไปซื้อหาแป้งถุงแบบปัจจุบัน ช่างเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยพ่อแม่ลูกจะนำเอาข้าวเหนียวที่แช่ไว้แล้ว มาตำด้วยครกหินของเพื่อนบ้านข้างเคียง ตำกันไปท่ามกลางแสงจันทร์ (ช่วงนั้นจะใกล้ 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ) ไม่ต้องใช้แสงไฟมาให้ยุ่งยากครับ...สลับกับตำหรือช่วยกันระหว่างครอบครัว แบ่งหน้าที่กันครับ แม่จะคอยแร่งเอาเฉพาะแป้งที่ละเอียดดีจริงๆ ... บรรยากาศแบบนั้นหายากเต็มทีครับ...ส่งผลให้ขนมเดือนสิบสมัยก่อนจะอร่อยเสียเหลือเกิน...นุ่มปาก หมึกแดงไม่มีโอกาสได้กิน

ตอนเย็นก่อนถึงวันทำบุญเดือนสิบ ลูกหลานจะนำเอาขนมเดือนสิบไปเยี่ยมเยือนและมอบแก่ผู้สูงอายุที่เคารพ ผู้หลักผู้ใหญ่จะอวยพรให้อายุมั่นขวัญยืน ...จำได้ดีครับว่า...หากมีผลไม้เช่น ลองกอง องุ่น ส้ม จะเป็นผลไม้ที่ผู้สูงอายุชื่นชอบมากครับ แต่ที่เห็นว่าเป็นที่ถูกใจคือ ลูกหลานของผู้สูงอายุที่ได้รับมอบผลไม้นั่นเอง จะได้กินของอร่อยที่หมายตามมานาน เพราะในสมัยก่อนผลไม้ประเภทนี้นะจะหากินยาก นานๆจะได้กินกับเขาสักที เดี๋ยวนี้พัฒนาไปก้าวไกลเสียเหลือเกินบางบ้านนำกระเช้าของขวัญไปมอบให้ มีอาหารเสริมซุปไก่สกัด รังนกสกัดมาแทนที่ผลไม้อันมีคุณค่า

สำหรับที่บ้านก่อนถึงวันชิงเปรตนั้น ญาติที่อยู่ห่างไกลจะกลับมาบ้าน จะได้มานั่งทานข้าวร่วมกัน พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบกัน นอนใกล้ๆกันพูดคุยกันยันสว่าง แต่สมัยปัจจุบันนั้น วงเหล้าเข้ามาแทนที่ส่วนใหญ่มักมีการตั้งวงกันเกือบทุกบ้านเลยก็ว่าได้...แต่ละครอบครัวจะตื่นมาตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อหุงหาอาหารแกงคั่วไก่หน่อไม้(แกงขาประจำของงานเดือนสิบ)

ตอนเช้าของวันที่รอคอย พวกเราจะไปวัดเพื่อร่วมชิงเปรต ในอดีตนับว่าเป็นวันสำคัญในไม่กี่วันในรอบปี ที่พวกเราจะพยายามหาเสื้อผ้าที่ใหม่หรือเป็นเสื้อลูกเกย(เสื้อตัวเก่ง)จัดเตรียมไว้พิเศษสำหรับวันนี้เฉพาะ ซักและรีดอย่างดีครับ ออกจากบ้านแต่เช้าด้วยการเดินไปด้วยกันพร้อมกับปิ่นโตสำหรับถวายพระและขนมสำหรับตั้งร้านเปรตปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้ในปัจจุบันนั้นคือ ทุกบ้านจะนำรถยนต์ราคาแพงมาอวดกัน กลายเป็นงานมอเตอร์โชว์ที่ไบเทคบางนาขนาดย่อมๆก็ว่าได้ นี่ไม่มองที่คนที่ไปวัดนะ เพราะแต่ละคนมักจะใส่เฟอร์นิเจอร์ไปอย่างเมเหนี่ยวเลยละ ...ทองหยอง สร้อยคอ กำไร แหวนเพชรวงเบ่อเร่อ ...กลายเป็นงานแสดงอัญญมณีราคาแพง ฟังแล้วเสียว...ไม่ใช่อะไรหรอกครับกลัวจะถูกฉกชิงวิ่งราวจากโจรผู้ร้าย...ความพอดีขาดหายไปจากคนปัจจุบัน

นี่ไม่นับเวลาพระสวดมนตร์หรือแสดงธรรม ที่พบว่าคนที่ไปวัดคุยกันเสียงดังยิ่งกว่าเสียงพระสงฆ์องคเจ้าเสียอีกบรรยากาศเลยขาดความขลังลงทันตาเมื่อเทียบกับอดีต เมื่อก่อนยังจำได้ว่าคนไปวัดจะนั่งสวดมนตร์และฟังธรรมอย่างตั้งใจ...เงียบกริบ..ก่อเกิดสมาธิ...มีโอกาสนั่งเงียบๆทบทวนตนเองและตั้งจิตปวารนาตนที่จะประพฤติตนตามหลักธรรม

ลานเปรตจะมี 2 ที่ คือ นอกวัดสำหรับเปรตบาปหนาไม่สามารถเข้ามาในวัดรับส่วนบุญได้ และลานเปรตในวัด สำหรับเปรตที่พอมีบุญกุศลอยู่บ้าง สามารถเข้ามารับส่วนบุญในวัดได้ ถึงเวลาชิงเปรตสนุกครับ เพราะจะมีผู้ใหญ่จะนำเอาไม้มาตีมือเด็กที่พยายามจะหยิบของบนลานเปรตก่อนพระสงฆ์จะฉันภัตตาหาร เด็กก็จะกลัวครับไม่กล้าแม้แต่จะเอื้อมไปหยิบของที่หมายปอง เมื่อก่อนของวางบนลานเปรตจะไม่มีเหลือครับ...เพราะคนที่ไปวัดจะนำเอาอาหารที่เหลือจากลานเปรตกลับไปบ้าน นำไปให้ลูกหลานกินกันทั่วหน้าจะได้เจริญรุ่งเรือง ค้าขายร่ำรวย นำขนมต้มไปติดกับต้นไม้จะทำ ให้ต้นไม้ออกลูกดกดี แต่ในขณะนี้นั้นพบว่า ของบนลานเปรตถูกทิ้งเหลือไว้เป็นขยะ คนไปวัดมิได้ใยดีนำกลับไปทำประโยชน์อีกแล้ว...เป็นโจทย์ที่ยังขาดการจัดการที่ดีพอ ...สำหรับให้เราคงครุ่นคิดกันต่อ

เทศกาลชิงเปรตก็ผ่านไปอีกปีแล้วนะ...ปีหน้าถึงได้เจอกันอีก ...ในใจหนึ่งก็ตั้งตารอคอยการมาถึงอีกครั้งของเทศกาลชิงเปรต แต่อีกใจก็ใจหายว่าความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมจะทำลายประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ให้พังทลายลง... จนไม่มีให้ลูกของเราได้ศึกษา หรือมีก็จะกลับกลายเป็นรูปแบบที่ขาดแก่นสารของประเพณี...ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาพูดคุยให้จริงจังและช่วยกันจัดการกับประเพณีทีดีๆแบบนี้ให้คงมีมนตร์ขลัง...

จากคอลัมต์ : งานเขียนคน คนเขียนงาน http://songkhlahealth.org