จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

จากสภาร้อยแปด...สู่สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้

คนคูหาใต้ใช้สภาฯ พัฒนาชุมชน

สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา จัดตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 แต่ก่อนหน้านั้นได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชนอย่างเป็นรูปแบบ มาตั้งแต่ปี 2548 สาเหตุที่รวมกลุ่มก็เพื่อจะได้พูดคุยว่าแต่ละหมู่บ้านกำลังทำอะไร เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปปรับปรุงใช้ในหมู่บ้านของตนเอง การรวมกลุ่มในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “สภาร้อยแปด” เพราะประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านรวมทั้งหมด 108 คน โดยตัวแทนมาจากชาวบ้านในตำบลคูหาใต้ 14 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 7 คน รวมเป็น 98 คน และมีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลอีก 10 คน รวมทั้งหมดเป็น 108 คน จึงเป็นที่มาของชื่อ “สภาร้อยแปด” สภาฯ จะประชุมทุกวันที่ 17 ของเดือน ถือเป็นข้อตกลงและรู้กันโดยที่ไม่ต้องทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ ถ้าวันที่ 17 ตรงกับวันธรรมดาจะประชุมประมาณห้าโมงเย็น แต่ถ้าตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์ จะเริ่มประชุมเร็วขึ้นคือตั้งแต่บ่ายโมง

สำหรับตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ นั้น มาจากคนหลากหลายอาชีพ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู ผู้นำศาสนา ตำรวจ ชาวบ้าน รวมไปถึงข้าราชการฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในตำบลคูหาใต้ การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนของคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะข้าราชการและชาวบ้าน ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองฝ่าย ชาวบ้านสามารถเสนอปัญหาหรือขอความช่วยเหลือโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมประชุม

ขณะเดียวกันข้าราชการ ก็จะได้ใช้เป็นเวทีนำเสนอข้อมูลในส่วนงานที่รับผิดชอบ ช่วยให้การทำงานเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายขึ้น และได้รับความร่วมมือมากขึ้น

กิจกรรมหลักๆ ของสภาฯ นอกจากการประชุมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ปัญหาในชุมชนแล้ว ยังได้ร่วมกันพัฒนาโรงเรียนในชุมชนให้มีความก้าวหน้า และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ “สภาร้อยแปด” ยังได้เลียนแบบการบริหารงานของรัฐบาล โดยแบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯใครที่รับผิดชอบกระทรวงไหน ก็จะไปหาข้อมูลหรือความคืบหน้าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น แล้วนำมาเสนอในที่ประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน

ตัวอย่างเช่น ผู้รับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการก็จะคอยติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำมาพูดคุยกันส่วนไหนที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบกับโรงเรียนในชุมชนก็หาทางออกร่วมกัน

สภาร้อยแปดดำเนินมาจนกระทั่งปี 2551 ได้มีพรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551ออกมา ทีมงานของสภาฯ จึงได้ไปจดแจ้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้

“สุดา วรรณจาโร” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ เล่าความเป็นมาว่า ช่วงแรก เจ้าหน้าที่ พอช. และคุณปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ จากตำบลควนรู เข้ามาให้ความรู้เรื่อง พรบ.สภาองค์กรชุมชน

ต่อมาได้นำเรื่องนี้เข้ามาพูดคุยกันในการประชุมประจำเดือนของสภาร้อยแปด หลังจากนั้นตัวแทนแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมประชุม นำเรื่องนี้ไปเล่าและขยายต่อให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กระทั่งสุดท้ายทุกฝ่ายได้ข้อสรุปตรงกัน เห็นควรจดแจ้งเป็นสภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ อ่านต่อ คลิ้กที่นี่