จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

มนูญ จันทสุวรรณ ชายพิการข้างเขาคูหาใต้

ภาพ นายมนูญ จันทสุวรรณ ชายพิการ กับพี่สาวนางประดวง จันทสุวรรณ
นายมนูญ จันทสุวรรณ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 9 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งห่างจากเหมืองหินเขาคูหาเพียงประมาณ 150 เมตร และห่างจากโรงโม่หินของบริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัด ประมาณ 500 เมตร

ที่สำคัญตลอด 30 กว่าปีมานี้ นายมนูญ ไม่ได้ขยับไปไหนได้ด้วยตัวเองเลย เพราะเขาคือผู้พิการขาลีบ ทุกครั้งในยามมีเสียงระเบิดดังกึกก้องและเศษหินจากการระเบิดหินขนาดต่างๆ ที่ปลิวมาหล่นบนหลังคาบ้าน จึงสร้างความหวาดผวาได้ทุกครั้ง แม้จะมีเสียงเตือนก่อนประมาณ 2 นาที เพื่อคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเหมืองหินได้หาที่หลบก็ตาม

แม้ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่ามีคนได้รับอุบัติเหตุถูกก้อนหินหล่นใส่ก็ตาม แต่แรงสั่นสะเทือนก็สร้างความเสียหายให้กับบ้านที่อยู่ใกล้พอสมควร ถึงแม้ขณะนี้ไม่มีการระเบิดหินแล้ว เพราะทั้งบริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัด และบริษัทแคลเซียมไทยอินเตอร์จำกัด เจ้าของโรงโม่หินเขาคูหา ยังอยู่ระหว่างรอการต่ออายุประทานบัตร

นายมนูญ จันทสุวรรณ อาศัยอยู่รวมกัน 4 คน รวมถึงว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จัน-ทสุวรรณ แกนนำเครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา ซึ่งเป็นลูกสาว โดยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่แยกเลขที่บ้านและพักกันคนละส่วน

ภายในบ้านที่มีแต่ร่องรอยการซ่อมแซม ทั้งหลังคาและฝาผนัง แม้บางส่วนไม่สามารถปิดทับรอยแตกร้าวและฝ้าเพดานทะลุที่มีอยู่ทั่วได้




ทะลุ – รอยฝ้าเพดานภายในบ้านของนายมนูญ จันทสุวรรณ ที่ทะลุเนื่องจากน้ำฝนไหลหยดลงมาตามรอยแตกของกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งถูกก้อนหินที่กระเด็นมาตกใส่จากการระเบิดหินในเหมืองหินเขาคูหา


นายมนูญ พิการขาลีบ มาตั้งแต่อายุ 25 ปี ไม่มีแรงยืน เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุบ้านหล่นทับ ขณะช่วยหามบ้านเพื่อนบ้านต้องนอนอยู่กับที่มานานถึง 30 กว่าปี อาจขยับได้บ้าง แต่ต้องมีผู้ช่วยดูแลอยู่ตลอดเวลา

“ผมอาศัยอยู่ที่นี่มานานหลายปีไม่เคยได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน แต่ช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างมากส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและทางใจ เงินที่ช่วยเหลือที่ได้มาจากบริษัทฯก็ไม่สามารถซื้อใจชาวบ้านในเรื่องสุขภาพได้” นายมนูญ กล่าว

สิ่งที่นายมนูญได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากบริษัทฯ คือการตรวจสุขภาพ ค่าซ่อมบ้านเป็นครั้งคราวแล้วแต่โอกาสและความเสียหายที่เกิดขึ้น สิ่งที่นายมนูญน้อยใจอยู่ในขณะนี้ก็คือ ก่อนหน้านี้ นายณรงค์พร ณ พัทลุง นายอำเภอรัตภูมิ พร้อมทั้งกำนันตำบลคูหาใต้และคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมที่บ้านหลังนี้พบว่า มีชายพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อาศัยอยู่ด้วย จึงรับปากจะให้ความช่วยเหลือ หาวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน

“นายอำเภอเสนอให้ย้ายออกไปอาศัยที่อื่น โดยจะให้เช่าบ้านแล้วจะประสานกับทางบริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัดรับผิดชอบจ่ายค่าเช่าให้ ผมย้ายไปอยู่บ้านเช่าได้ 6 เดือน ไม่มีใครมาจ่ายค่าเช่าให้เลยครับ ต้องจ่ายเองเดือนละ 2,000 บาท สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ตามเดิม”นายมนูญ กล่าว

นางประดวง จันทสุวรรณ พี่สาวที่ต้องมาคอยดูแลนายมนูญอยู่ตลอด แม้ไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่ก็พลอยได้รับผลกระทบด้วย เพราะอยู่ไม่ไกลจากเหมืองหินแห่งนี้เช่นกัน เธอเล่าว่า ผลกระทบจากการระเบิดหินมีมานานแล้ว แต่เริ่มชัดเจนประมาณปี 2549 เพราะพื้นที่ระเบิดหินเริ่มขยับไปถึงยอดเขาและเข้ามาใกล้บ้านชาวบ้านมากขึ้น

ใกล้เหมือง – บ้านพักของนายมนูญ จันทสุวรรณที่มีอยู่ใกล้เหมืองหินเขาคูหาประมาณ 150 เมตร ซึ่งมีแต่รอยแตกร้าวจากแรกสั่นสะเทือนจากการระเบิดหิน


“ตอนเขาระเบิดหิน รู้สึกเหมือนกับบ้านถูกยกตัวขึ้นแล้วปล่อยลงมา จากนั้นก็เกิดรอยร้าวตามตัวบ้าน ส่วนหลังคาบ้านก็แตกรั่วเพราะมีก้อนหินกระเด็นมาตกใส่ ช่วง 2 นาทีก่อนการระเบิดหินในตอนเย็นของทุกวัน เป็นช่วงเวลาทำใจกับหาที่หลบก้อนหินเท่านั้น เพราะเวลาแค่นั้น จัดการอย่างอื่นไม่ทันอยู่แล้ว พอวันรุ่งขึ้นก็เตรียมปัดกวาดฝุ่นผงที่ลอยมาตกภายในบ้าน พร้อมกับไอจามเป็นบางครั้ง"