จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

คนใต้ห่วงใยต่อสัญญาการค้าเสรีไทย-อียู

คนใต้ยันการค้าเสรีต้องไม่ละเมิดสิทธิชุมชนในการปกป้องพันธุกรรม ฐานทรัพยากรชีวิต สร้างความมั่นคงด้านอาหาร เตือนภัยทำลายทรัพยากรชายฝั่งเหตุส่งออกอาหารทะเล เจรจาเปิดเสรีค้ายากติกาสากลเรื่องสิทธิบัตร จัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมเตรียมรับวิจัยต่อยอดจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช-สัตว์

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ณ โรงแรมวังมโนราห์ อ.เมือง จ.พัทลุง เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีประชาชนในพื้นที่จ.พัทลุง และใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนประมาณ 200 คน โดยมีดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดำเนินการจัดเสวนา

นายกำราบ พานทอง ตัวแทนภาคประชาสังคมจ.สงขลา แสดงความเห็นว่า ภาคใต้อยู่ในเขตภูมินิเวศป่าเขตร้อน จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อีกทั้งมีพื้นที่ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ด้วยความหลากหลายทางชีวิภาพเหล่านี้ทำให้ภาคใต้เป็นแหล่งอาหาร และสมุนไพรยา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้นับเป็นทรัพยากรฐานชีวิต การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หากมีการเปิดให้ต่างชาติเข้าถึงพันธุกรรมพืช พันธุกรรมสัตว์เหล่านี้ และนำไปพัฒนาแล้วจดสิทธิบัตร แล้วจะกระทบต่อสิทธิชาวบ้าน นั่นคือ เราจะปกป้องฐานชีวิตเราอย่างไร แล้วเราเตรียมตัวป้องกันเรื่องนี้อย่างไร ฐานข้อมูลในการสำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มีแล้วหรือ ในขณะที่พวกเรามีสิทธิชุมชนในการปกป้องพันธุกรรมตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

นายกำราบ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เรายังมีข้อเป็นห่วงถึงการเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้มีแผนพัฒนา Southern Seaboard ซึ่งนักลงทุนจากยุโรปเค้ามีความพร้อมที่จะมาลงทุนและก็เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน ตลอดจนการเข้ามาลงทุนด้านธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม สปา ซึ่งกระทบต่อคนไทยจำนวนมาก

นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดการค้าเสรีอาจจะนำชาวบ้านเข้าสู่สงครามแย่งชิงทรัพยากร ซึ่ง ณ วันนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่ประสบปัญหานี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบมักจะถูกบอกให้ต้องเสียสละ เราจะปกป้องทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ทะเล ของชาวบ้านอย่างไรเมื่อมีการเปิดเสรี นอกจากนี้คำถามสำคัญที่เราต้องร่วมกันตอบว่า ขณะนี้ภาคใต้เรามีความมั่นคงด้านอาหารแล้วหรือไม่ สวนปาล์ม สวนยางจำนวนมากที่เป็นของชาวต่างชาติกำลังรุกไล่พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แล้วการเปิดการค้าเสรีกับอียูจะทำให้ชาวบ้านในภาคใต้เกิดความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้นหรือไม่

ผศ.ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ นักวิชาการด้านประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ กล่าวถึงประเด็นด้านการประมงว่า สินค้าประมงของไทยที่สำคัญคือ อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคคอเรลกระป๋อง ซึ่งเหล่านี้จะได้จากเรือประมงขนาดใหญ่ หรือนำเข้ามาแปรรูป และสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งคือ กุ้งแช่แข็ง หอยกระป๋อง ปูแกะเนื้อกระป๋อง ซึ่งกลุ่มนี้ชาวบ้านจะเกี่ยวข้องมาก และเป็นทรัพยากรชายฝั่งทะเล หากมีการเปิดเสรีการค้า สิ่งที่ควรระวังคือ การทำลายทรัพยากรชายฝั่ง ป่าชายเลน เมื่อตลาดอียูมีความต้องการกุ้งแช่แข็ง หอยกระป๋อง ปูแกะเนื้อกระป๋อง จะทำให้ชาวบ้านเร่งจับเพื่อให้ได้ปริมาณที่มาก การคราดหอยด้วยคราดซี่เล็กจะทำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำเหล่านี้สูญหายไปเร็วเพราะรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาทดแทนไม่ทัน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรชายฝั่งเนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลากระชัง ซึ่งทางยุโรปมีทุนและเทคโนโลยีที่มากกว่าเข้ามาลงทุนแข่งขันกับคนไทย ก็จะทำให้พื้นที่เพาะเลี้ยงของชาวบ้านลดลง

ผศ.ดร.จารุณี ยังกล่าวถึงเรื่องปัญหาพันธุกรรมว่า ประเทศไทยไม่ได้เน้นเรื่องการปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์น้ำ ที่มีปัจจุบันก็เพียง บริษัทใหญ่ด้านการเกษตร และหน่วยงานราชการเท่านั้น ปีหนึ่งจะมีปรับปรุงพันธุ์และจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ 1-2 ชนิด ขณะที่ทางยุโรปจะมีความสามารถมากกว่าถ้าสามารถเข้ามาดำเนินการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ เราก็จะสูญเสียสายพันธุ์สัตว์น้ำสูงมาก

นายวินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านผลิตภัณฑ์ยา ทางอียูจะขอให้ทาง อย.ขยายการคุ้มครองเกินกว่ากติกาสากล ได้แก่ เรื่องระยะเวลาคุ้มครองนานกว่า 20 ปี อ้างว่าเพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่รอการพิจารณาจาก อย. นอกจากนี้ทางอียูยังขอให้คุ้มครองข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวกับตัวยานั้นๆ ซึ่งโดยปกติการขอขึ้นทะเบียนยาจะต้องยื่นพร้อมผลการศึกษา การวิจัยทดลองว่าตัวยานั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษษย์ และเมื่อยาชนิดนั้นหมดสิทธิบัตร ผู้ผลิตยาในไทยก็สามารถผลิตได้โดยใช้ข้อมูลการศึกษานั้นเป็นฐานรองรับความปลอดภัยของยา เช่นนี้ก็จะเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตยาเพราะจะต้องไปดำเนินการวิจัยทดลองเอง ซึ่งยาตัวหนึ่งใช้เวลาในการวิจัยเป็นเวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทางอียู ต้องการให้อย.เปลี่ยนนิยามยาปลอม กล่าวคือ ถ้าในประเทศไทยมียาชนิดหนึ่งที่ยังอยู่ในการคุ้มครองสิทธิบัตร แต่ในอินเดียสามารถผลิตยาชนิดเดียวกันนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยใช้ชื่อทางการค้าเป็นอีกชื่อหนึ่ง และหากมีการนำยาที่ผลิตจากอินเดียมาขายในประเทศไทยให้ถือว่ายาชนิดนั้นเป็นยาปลอม อย.จะต้องไม่ให้การขึ้นทะเบียน “ตรงนี้จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดราคายานานขึ้น ในการเจรจาจึงควรยึดตามกติกาสากล เพราะยาเป็นเรื่องทางสาธารณสุข”เภสัชกรวินิต กล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญคือ การคุ้มครองภูมิปัญญาด้านสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย เช่นกรณีสมุนไพรเปล้าน้อย ที่ต่างชาติเอาไปวิจัยต่อยอดแล้วจดสิทธิบัตรทำประโยชน์ทางการค้า โดยไม่ได้จ่ายคืนให้แก่สังคมไทยเลย


จาก : souththai.org