จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปลูกป่าสันทรายสทิงพระประโยชน์มากกว่าใช้สอย


บนผืนดินทรายริมชายทะเลตำบลวัดจันทร์ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา “ระนอง ซุ้นสุวรรณ” ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านตำบลวัดจันทร์ขอใช้พื้นที่สาธารณะทุ่งเลี้ยงสัตว์20 ไร่ ทำโครงการปลูกป่าและอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น

“ปลูกต้นไม้ในดินทราย ไม่ง่ายเหมือนตามควน” น้าแก้วของเด็กๆ หรือระนอง กล่าว กลางไอดินร้อนก่อนการประชุมกลุ่มผู้ร่วมโครงการ ณ อาคารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร ประจำตำบลวัดจันทร์ จะเริ่มต้น
ยามเที่ยงที่ลมนิ่งอ้าว น้ำทะเลสีฟ้าเข้ม มองไกลออกไปต้องหยีตาด้วยระยับแดด ริมชายคารอบอาคารโล่งแห่งนี้จึงดูสดชื่นกว่าใต้เพิงใบมะพร้าวและตาข่ายบังแสง กล้าไม้เขียวสดในถุงเพาะชำสีดำวางรายรอบ กระถินเทพา ยาร่วง(มะม่วงหิมพานต์) หูกวาง สบู่ดำ สน ขี้เหล็ก หางนกยูง มะขาม มันสำปะหลัง กับสมุนไพรอีกหลายชนิด

“กิจกรรมเราเน้นทำเรื่องปลูกต้นไม้เป็นหลัก เสริมเรื่องศึกษาสมุนไพรในชุมชน การสำรวจสมุนไพรเบื้องต้นถือว่าเป็นการต่อยอดที่เราทำมาก่อน พอสำรวจแล้ว เราจัดวันปลูกต้นไม้ มีโรงเรียน นักเรียน ชาวบ้านมาร่วม” ระนองเล่า



วิถีเกษตรกรแห่งชุมชนวัดจันทร์นั้นพลิกผันมาตลอดเคยเจอวิกฤติน้ำท่วมพื้นที่นาเมื่อปี 2540 น้ำท่วมขังหมักหมมอยู่ราว 6-7 ปี ทำนาไม่ได้ผล สาเหตุที่น้ำท่วม ระนองสาวปัญหาต้นตอให้ฟังว่าตั้งแต่ปี 2518 มีโครงการเงินผัน เกิดการทำถนนขนานใหญ่ แต่ถนนไม่มีทางระบายน้ำ น้ำจึงเริ่มท่วมขัง เมื่อทำนาไม่ได้ ชาวบ้านหัน มาทำไร่นาสวนผสมและบ่อปลา อีกทางหนึ่งดิ้นรนทำแผนหาทางระบายน้ำ รอจนปี 2545 เอาแผนเข้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทำทางระบายน้ำได้ปี 2547 จึงกลับมาทำนาได้อีก

ปี 2548 น้ำท่วมใหญ่ ข้าวนาลึกได้กิน ปี 2550-51 ฝนตกมากขึ้น


คำว่าฝนตกมากขึ้น กลายเป็นปัญหาใหม่สำหรับคนทำนาเพราะฝนตกถี่ผิดธรรมชาติ ต่างจากฤดูกาลสมัยก่อน มองเผินๆดูว่าฝนตกดีกว่าเดิม แต่ไม่เหมาะกับคนทำนา อย่างปกติเดือน 5-6-7 น้ำแห้งดินแห้ง ทำให้ดินในนาสุก พอฝนตก จะไถดี แต่ทุกวันนี้พบว่าฝนตกมากจนดินแฉะตลอดปี

“อีกอย่างทำนาเดี๋ยวนี้ทุกคนหวังจ้างรถไถต้นทุนสูง ถ้าทำแบบเก่าใช้ควายไถ ก็น่าจะทำได้ คันนาก็หมดไปสมัยก่อนมีคันนาวิดออกเปิดน้ำเข้าทำเป็นล็อค แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีคันนา ถ้าจะทำ ต้องรวมกัน 4-5 แปลง จึงจะสามารถทำได้ นี่คือสถานการณ์”

วิถีเดิมทำนาเสร็จแล้วก็ปลูกพืชผักข้างบ้าน เมื่อปี 2547 โหระพา กะเพรายังสามารถผลิตออกจากที่นี่เป็นตัน ปลูกกันทุกบ้าน เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกง่าย ไม่ต้องใช้ยา ฆ่าแมลง เพราะกลิ่นไล่แมลงในตัว แต่พอปลูกมากโหระพา กะเพรา พากันตาย เพราะปลูกซ้ำซากเกิดเชื้อรา เปลี่ยนมาปลูก ถั่วลิสง มะเขือ ยาสูบ ดีปลี มันหลา(มันเทศ)ตามฤดูกาลที่เหมาะของพืชแต่ละชนิด


“แต่ก่อนผมยังเล็กที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องแตงโม ในไร่แตงจะปลูกมันเทศเอาไว้ด้วย พอเก็บแตง มันเทศจะถอนได้”



การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายฉากหลายตอน ทุกปัญหาล้วนเป็นบทเรียนชีวิตจริง การที่ชาวบ้านได้คิด ได้คุยกับเครือข่ายต่างๆ หรือกระทั่งเครือข่ายเกษตรทางเลือก ในที่สุดจึงเห็นว่าพวกเขาไม่น่าปลูกเฉพาะผักล้มลุกอายุสั้น มีแนวคิดสู่การปลูกพืชพื้นบ้านยืนต้นที่กินยอดได้แทน
“นี่คือเท่ากับคิดเรื่องปลูกป่าเป็นตัวตั้งแล้ว มาเน้นไม้กินยอด มะขาม ยาร่วง ขี้เหล็ก” ระนองเชื่อมโยงมาถึงโครงการปลูกป่าและอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น กับต้นกล้าไม้จำนวนมาก เตรียมไว้ดังที่เห็น

“เราเพาะกล้าไม้เอาไว้ที่นี่ แต่ไม่ใช่เอามาปลูกที่นี่อย่างเดียวสมาชิกที่มาประชุมใครยังไม่มีก็ติดไม้ติดมือกลับไปปลูกที่บ้าน แลกเปลี่ยนกัน”

พื้นที่ 20 ไร่นำร่องโครงการใช้ทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะรอบอาคารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร ประจำตำบลวัดจันทร์ ณ ใต้ไอแดดร้อนแรงแห่งนี้ และทุกแห่งในตำบลวัดจันทร์ มีส่วนจะปลูกต้นไม้ได้ทุกตารางนิ้ว เพียงแต่ทุกคนยินดีช่วยกันปลูก


“ตอนรัฐบาลส่งเสริมปลูกไม้ใช้หนี้นั่นเองที่พวกเราคิดได้ว่าที่สาธารณะของชุมชนยังว่างอยู่ คิดแผนตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2546 พบว่ามีที่สาธารณะ 100 ไร่อยู่ แต่ไม่มีป่า หย่อมพันธุ์พืชมีอยู่ใน 100 ไร่ นี่แต่ไม่กระจาย เราทำการสำรวจ 2 ระลอก ทั้งเรื่องพันธุกรรมและสำรวจสมุนไพร”
ถึงตอนนั้นผู้เข้าร่วมประชุมราว 15 คน ช่วยกันให้ข้อมูลพืชท้องถิ่น


**ยาร่วง**

“แต่ก่อนทำรายได้ง่ายๆให้เด็กได้ โดยการเก็บเม็ดขาย สมัยนั้นไม่เน้นขายยอด แต่ขายหัวโม่ง (เม็ด) ส่วนเต้าก็ร้อยไปพวงไปขายแถวท่าหิน”

“เต้ามันนี่คั่วปลาช่อนแห้งอร่อย หรือแกงส้มโหม่งอ่อนต้มเค็ม”

“ที่หมดไปเพราะมีแมง จำพวกแมงไชม่วง มาไช(เจาะ)ตามต้น ต้นตาย”


“ผมว่า ..เป็นโรคระบาด ที่นี่มีแมลงที่ทำลายยาร่วง รุ่นผมยังเด็กทุกบ้าน สายรั้วจะมีต้นยาร่วง ไม่มีโรค แต่ตอนหลังเกิดโรคดูแลยาก ที่นี่คงเป็นกรณีของมัน

ม่วงเบา ที่ว่าทนยังเป็นหนอน”


**มะม่วงเบา **

“ตอนผมเป็นคณะกรรมการเกษตรกรทำนาวัดจันทร์ นายอำเภอมาเปิดตลาดนัด ท่านถามว่าทำไมที่นี่ไม่ปลูกม่วงอื่นบ้าง คำตอบคือ น่าจะไม่ขึ้น แต่หลังปี 2521 มีมะม่วงอื่น มาติดตา ทาบกิ่งปลูกบ้าง แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีมะม่วงอื่นนอกจากมะม่วงเบา”ระนองว่าตั้งข้อสังเกตมะม่วงเบาเป็นพืชประจำพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระหรือไม่


“ที่ร่อยหรอลง ผมว่าเกิดจากเทคโนโลยีที่สามารถติดตาทาบกิ่ง เอาพืชอื่นมาติด ถึงม่วงเบาไม่ได้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาทำให้เปลี่ยนแปลง เพราะมีศัตรูตลอด แต่ดูแลได้”

ระนองเล่าว่า พืชที่นำมาปลูกในพื้นที่ โครงการปลูกป่าและอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น น่าจะเริ่มต้นจากไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงาก่อน เน้นไม้ในถิ่น จำพวก ต้นเมา หูกวาง หว้า ในระยะแรกจำเป็นต้องดูแลอย่างดี เพราะดินทรายแห้งแล้ง และการเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะวัวที่ชาวบ้านปล่อยหากิน อาจกินต้นอ่อนเสียก่อนโต


“เราจะปลูกต้นหว้าซึ่งเป็นทั้งอาหารคน อาหารนก นี่ไปหาต้นหว้ามาจากสิงหนคร ได้มา 20 กว่าต้น ส่วนไม้ในถิ่นที่มี คือต้นหว้า กำชำ ข่อย น็อน”



น็อน - เป็นพืชสมุนไพรลูกน็อนแก้ฝีคำร้อย โดยกินลูกเท่าจำนวนอายุผู้ป่วย กินสด ๆ รสขมปนฝาด ในอดีตชาวนายังเอาไม้น็อนมาทำหัวไถ เพราะเนื้อแข็ง ทนทาน

ข่อย - ชายบ้านที่นี่ ใช้เป็นยาในวัวที่กำลังตั้งท้อง เป็นยาบำรุงตอนคลอดให้รกออก หรือถ้ารกวัวติด เจ้าของจะให้วัวกินใบข่อย
ขี้เหล็ก - ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในวัว

หวาด - ใช้ยอดคั้นเอาน้ำมาเป็นยาถ่ายพยาธิในคน

เหม็ดชุน / ลาม /ตาเป็ดตาไก่ - ใช้กินยอด

โท๊ะ – ใช้ไม้ทำหัตถกรรมเช่น ด้ามหวัก (จวัก)

“เท่าที่สำรวจในบริเวณนี้มีพืช 200 ชนิด” เมื่อระนองลงไปสำรวจพันธ์ไม้ เขากลับมาเล่าให้เด็กๆที่มาร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ในภายหลังฟังว่าพันธุ์ไม้ ประจำถิ่นเหล่านี้ ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง


เข็ดหมูน(บอระเพ็ด) – ยาสำหรับเด็กเกิดใหม่< ผักเป็ด /ใบมะขาม – แก้ไข้& เป็นหวัด ยอดเรียนเทศ – แก้ปวดท้อง< เคราแดง –แก้ไอ< แฝกหอม - ใช้ทำแป้งลูกอ่อน ทำยาพื้นบ้าน หงเทศ(สบู่ดำ) / ขี้ไก่ (สาบเสือ) - ห้ามเลือดกรณี มีดบาด แผลสด โดยหงเทศให้หักก้านใบหรือยอด เอายางมาจุ่มแผล สไหรับ ใบขี้ไก่ (สาบเสือ) ขยี้แล้วโปะแผล “เอาของเฉพาะหน้าให้เด็กเห็น คุยกันได้เกือบ 20 ชนิด เป็นสมุนไพรเบื้องต้น พอคุยเสร็จ ไปเก็บภาพมาบ้างส่วนหนึ่งก็ลองเอามาปลูก” ระนองเล่า พื้นที่เป้าหมายนี้ อาจจะปลูกสมุนไพร แต่ข้อกังวลว่าพืชบางชนิดดูแลยากด้วยสภาพดินทราย แต่มีความหวังว่าเป็นไปได้ “แถวใกล้กันแห่งหนึ่งมีป่ามาก ตอนเด็กผมมาตัดไม้ทำฟืนกันได้ มีไม้เสม็ด โทะ ยาง เฟิร์น กล้วยไม้ พอชาวบ้านหันไปใช้แก๊สแทนฟืน เกิดเป็นป่ามีใบไม้ทับถม พืชหลายอย่างกลับมาขึ้น แค่มีต้นไม้มาบ้างอย่าทำลาย ดินก็สมบูรณ์แล้ว” ความเปลี่ยนแปลงดินทรายชายทะเล มาเป็นป่าต้องพึ่งวัฏจักรดังกล่าว แต่เดิมบริเวณน้ำขังริมทะเลชาวบ้านเรียกว่า “วะ” มักอยู่ห่างจากบ้าน เป็นพื้นที่ป่า ที่เล่นน้ำของเด็ก ดงไม้ไผ่ จะอยู่แถวคอนา คืออยู่ระหว่างนากับบ้านเรียกว่าชายนาเมื่อไปไถนาจะแวะ แทงหน่อไม้มาแกง ระนองเล่าว่าพื้นดินในย่านคาบสมุทรสทิงพระ วิวัฒนาการมาจากชายหาด เริ่มจาก ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระลงมาคือสันทราย ข้างล่างไม่มีดินเหนียวหรืออยู่ลึกลงไป “คนแก่บอกว่าถ้ายืนชายเลไม่เห็นเกาะหนูเกาะแมว หมายความว่าน้ำเค็ม น้ำในดินจะใช้ไม่ได้ ถ้าเห็นเกาะหนูเกาะแมวน้ำจืด” นั่นเป็นวิธีดูสภาพดินง่ายๆ แบบคนโบราณ ดินไม่เค็ม เพราะน้ำบนบกชะล้างน้ำทะเลลงไป แต่ระนองพบว่าหน้าน้ำเมื่อคลื่นสาดขึ้นใบไม้เหี่ยวหมด แดง เหลือง พืชที่ทนได้แน่มีต้นสนกับมะพร้าวที่ชอบไอทะเลเท่านั้น หลังการสำรวจพันธุ์พืช กิจกรรมต่อมาที่ทำแล้วคือเพาะขยายพันธุ์ “เป็นเพียงเบื้องต้นที่คุยกันเราจะตั้งเป็นศูนย์เพาะถาวร ต้องเพาะเรื่อยๆ ปลูกเรื่อย ๆต่อไป” หลังเพาะต้นกล้าไม้ ระนองหันมาเพาะ “กล้าคน” ชวนเด็กและครูมาปลูกต้นไม้ในพื้นที่นำร่อง 2 ครั้ง ในกิจกรรมมีการพูดให้เด็กฟังว่าต้นไม้มีความสำคัญอย่างไร แล้วให้เด็กเป็นเจ้าของต้นไม้ที่เขาปลูก เด็กรู้ว่าต้นไหนเป็นของใครแล้วมาดูแลด้วย พบว่าจากเด็กที่มาร่วม 100 กว่าคน จะมี 10 กว่าคนใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือหยุดเสาร์อาทิตย์มาดูต้นไม้ ระนองชวนเด็กพวกนี้มาเพาะต้นไม้ต่อ “ ไม่ได้หวังอะไรมากแค่มาร่วม พอเพาะเป็น ปลูกเป็น รู้จักหวง พวกเราก็อายุมาก เด็กจะต่อยอดได้... ผมเคยไปคุยในโรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ เพราะเป็นประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนมีพื้นที่ 52 ไร่ น่าใช้ประโยชน์แต่คุยแล้ว ผู้บริหารไม่ขยับ เลยมาปลูกเองดีกว่า ปลูกให้เขาดูจนครูเริ่มมาขอต้นไม้ที่เพาะไปปลูกในโรงเรียน” กำราบ พานทอง จากเครือข่ายเกษตรทางเลือก นำเสนอเรื่องพืชที่จะปลูกในโครงการปลูกป่าและอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น โดยมองกว้างออกไปถึงการสร้างป่าสันทรายชายหาด อันสามารถมีประโยชน์รับมือวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี ข้อมูลทางวิชาการว่า อีก 5 ปี น้ำจะท่วมขึ้นมาสูงจากเดิมมาก คลื่นสูง 5 เมตร และมาไกลถึง 100 เมตร “ทางภาคกลาง ใช้ไม้ไผ่กันลม เป็นไปได้หรือไม่ จะใช้พืชตระกูลไผ่มาปลูกที่นี่ เชื่อว่าปลูกได้ แต่อยู่ที่วิธีปลูก” กำราบ ว่าถ้ามีป่าไผ่ นอกจากแนวกั้นคลื่นลม จะเป็นพืชเศรษฐกิจ กำราบนำเสนอว่า ในป่าสันทรายชายหาดแห่งนี้ น่าจะมีพืชที่ประกอบด้วย -ประเภท เครื่องนุ่งห่ม จักสาน -ไม้ใช้สอย -ไม้ประเภทยาสมุนไพร -พืชใช้ทำอาหาร - ไม้ประเภทน้ำมัน -ไม้พื้นบ้าน “เนื่องจากที่สาธารณประโยชน์แห่งนี้ เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ของมหาดไทย น่าจะมีความร่วมมือกับ อบต. ในระยะยาว เช่นทำเป็นอุทยานพันธ์ไม้พื้นบ้าน ขอกันพื้นที่ ใช้ประโยชน์เฉพาะกิจการนี้ หรือค่อยขยาย เอาส่วนนำร่องไปเชื่อมต่อโครงการสำคัญของประเทศ ประกาศเป็นเขตอุทยานชุมชน” ทวีป บัณฑิโต สมาชิกของกลุ่ม กล่าวว่าเป้าหมายโครงการนี้คือ ทำอย่างไรให้มีต้นไม้ทุกชนิดของท้องถิ่นกลับมาเหมือนเดิม แล้วเอาแนวคิดเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อความยั่งยืน “เอาเด็กมาศึกษาไม่พอต้องเข้าระบบการศึกษา ครูต้องสอนด้วยต้องเล่นไปด้วยกัน ให้โรงเรียนต้องมีหลักสูตร ต่อไปถึงระดับมหาวิทยาลัย ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากแปลงเพาะชำเล็ก ๆนี่ ให้เด็กเรียนรู้ การปลูกต้นไม้ตรงนี้ ทำให้ เด็กรักท้องถิ่น รักบ้าน เขาจะได้รู้รากเหง้าประวัติศาสตร์เขาอยู่ตรงไหน ต้องมีอุดมการณ์ตรงนี้ อย่างวัฒนธรรมไม้ไผ่ที่หายไปเพราะลูกหลานไปเรียนในเมืองไม่ยอมกลับมา และไม่รู้ทำอย่างไร เมื่อเขาถูกอบรมมา อีกแบบ ไปเรียนเทคโนโลยี ไม่สนใจเรื่องแบบนี้” ระนอง กล่าวเสริมถึงไม้ไผ่ ที่เปิดประเด็นมาจากกำราบ พานทอง โดยกล่าวว่าปัญหาไอน้ำเค็ม จะสร้างปัญหากับพืชตระกูลไผ่หรือไม่เพราะเท่าที่สังเกต พอคลื่นขึ้น ใบไม้ แดง แตก เหี่ยว แต่ไม้ไผ่น่าสนใจ ที่ผ่านมาไม้ไผ่ใช้ประโยชน์มากสำหรับคนคาบสมุทรสทิงพระ เช่นเดียวกับตาลโตนด ไม้ต่างถิ่นที่มาเป็นไม้ประจำถิ่นนี้ไปเสียแล้ว จังหวะเกิดความคิดดีๆจากหลายคน ว่าด้วยประโยชน์ไม้ไผ่ -หน่อไม้&ทำแกงคั่วเดือน -ลำไผ่ ทำเหนียวหลาม -พะอง ขึ้นตาล -สานเป็นแผงตากยา(ใบยาสูบ) -ทำตับจาก -กระบอกใส่น้ำตาลโตนด -ทำรังไก่ -ตอไผ่ ทำด้ามพร้า และส่วนประกอบในพิธีทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง -ทำหนำ (กระท่อม) -สะพาน -คานหาบ -สานกระด้ง / กระเชอ -หามศพไปป่าช้า สรุปแล้ว สรรพคุณไม้ไผ่มีมาก แต่วิถีโบราณหายไป “ยอมรับว่าไม้ไผ่ เป็นพืชเศรษฐกิจ อย่างหนึ่ง ราคาแพงไม้ไผ่รากลึก ถ้าผ่านดินบริเวณนี้ลงไปได้ จะรอดดินชั้นข้างล่างดินไม่แห้ง ไม่เค็ม ผมไปเชียงใหม่ เขามี ป่าไผ่ชุมชนที่ช่วยกันปลูก แล้วปันไปใช้ โดยตัดเป็นแถว มีกติการ่วมกัน ไม้ไผ่ 20-30 ไร่ ระนองมองว่าพืชหลายชนิดมีความเป็นไปได้ในการปลูก ผักกินยอด- เน้นไม้ยืนต้น อายุยืน แต่มีผล เช่น ยาร่วง ขาม ขี้เหล็ก เป็นพืชที่หาพันธุ์มาเพาะได้ง่าย ยางแดง – ปลูกเป็นไม้ใช้สอย ใบเล็ก โตช้า คนอดีตใช้น้ำมันยางมาทาถังน้ำ เขาเตรียมเพาะเอาไว้หลายต้น มะขาม - เป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกง่ายราคาดี เครื่องเทศ เครื่องหอม - เขาทดลองปลูกในที่ดินส่วนตัวบ้างแล้ว ฝนแสนห่า -พืชสมุนไพรสามารถส่งร้านขายยาจีนได้ หมุรย - ชาวบ้านปลูกกันทุกบ้านอยู่แล้ว เตยเล (ลำเจียก, ลังค่าย) - ปลูกริมสายน้ำ ใช้เป็นอาหาร ใบทำเครื่องจักสาน ส่วนไม้มาทำบ้านได้ เป็นพืชที่ควรฟื้นกลับมา “ใน 100 ไร่นี่มีลังค่ายหลายจุดแต่ก่อนทับชายเลหมายถึงที่รวมของชาวประมงมาสร้างบ้านหาปลา จอดเรือรับจ้างแต่ละทับมีลังค่าย กันแดด เป็นร่มนอนเล่น”
ระนองกล่าวว่าใน 20 ไร่ที่ดำเนินการปลูกไปแล้ว ไม่มีปัญหา อาจขอขยายต่อไปอีก ข้อจำกัดคือยังไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีพอจากหน่วยงานราชการ
จาก :http://songkhlahealth.org/networkinfo
.