จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ใช้เงินอย่างไร ให้ชุมชนเข้มแข็ง ?

คำถามสำคัญของหน่วยงานด้านการพัฒนาทั่วโลกตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันคือ จะใช้เงินสนับสนุนชุมชนอย่างไรให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งตนเองและแก้ปัญหาของตนเองได้.....ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิธีการแรกๆที่กันคือการแจกเงิน เป็นการสงเคราะห์ชุมชน ซึ่งพบว่าไม่ได้ผลอะไรเพราะเงินสดนั้นจะหมดไปในเร็ววัน แล้วคนก็กลับมาจนเหมือนเดิม เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนอย่างยิ่งยวด เมื่อได้ข้อสรุปอย่างนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนตามแนวทางว่า “อย่าให้ปลา แต่สอนให้เขาตกปลา” เลยมีแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาชุมชน(community development:CDD) กลายมาเป็นโครงการพัฒนาต่างๆที่ฝึกฝนให้ชุมชนพัฒนาอาชีพ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง(ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล) หน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศนั้นจึงพัฒนาความคิดไปอีกแขนงหนึ่งว่า บทบาทสำคัญของหน่วยงานสนับสนุน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนคือ การเพิ่มศักยภาพของชุมชน (capacity building) ซึ่งจะออกมาในรูปของการฝึกอบรม พัฒนาบุคคลากรทางด้านต่างๆ แต่ก็มีคำถามว่าหน่วยงานภายนอกที่พยายามไปอบรมชาวบ้านนั้นมีความรู้ความสามารถจริงละหรือ? ไปสอนให้ชาวบ้านทำงานหลุดพ้นจากความยากจนนั้น เคยยากจนหรือเปล่า? สอนชาวบ้านบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ แต่ถามว่าตนเองเคยจัดตั้งและบริหารกลุ่มออมทรัพย์หรือเปล่า ? สอนชาวบ้านทำเรื่องเกษตรยั่งยืน ตนเองเคยทำเกษตรยั่งยืนบ้างไหม? เพราะแนวคิดทั้งหลายทั้งปวงที่จะไปช่วยชาวบ้านนั้น แม้ตั้งใจดี มีฉันทะ แต่ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ต้องให้หน่วยงานภายนอกไปช่วยจัดการ ชาวบ้านจึงจะอยู่รอด ความเชื่อแบบนี้ได้รับการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาว่า “ผิด” เพราะถ้า “ถูก”ปัญหาความยากจน ปัญหาของเมืองของชนบทควรจะได้รับการแก้ไขหมดสิ้นไปแล้วหลังจากเรามีแผนพัฒนาประเทศมา๑๐ฉบับกว่า๕๐ปี

จึงมีแนวคิดใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนาที่สรุปว่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าคนที่มาทำงาน “พัฒนา”กลับไม่ใช่ชาวบ้าน แต่คือหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านเป็นเพียง “มีส่วนรวม”ในการแก้ปัญหาของตนเองเท่านั้น สรุปสุดท้าย ชาวบ้านก็จนเหมือนเดิม เห็นควรว่าจะต้องพัฒนาแบบชุมชนเป็นแกนกลาง เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา(Community Driven Development: CDD)

แนวคิดนี้คล้ายจะเป็นการสรุปรวบยอดความผิดพลาดของการพัฒนาตั้งแต่สมัยแจกของเรื่อยมา แต่พอถึงภาคปฏิบัติกลับพบว่าแม้ว่าจะมีการยอมรับแนวคิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่การปฏิบัติกลับต้องสังคายนากันยกใหญ่และจุดที่น่าจะต้องสังคายนาน่าจะเป็นวิธีการใช้เงินหรือการให้เงินอุดหนุนแก่ชุมชน

วิธีการให้เงินอุดหนุนชุมชนในระยะแรกของการพัฒนาคือการแจกเงินดังกล่าวแล้ว เมื่อพบว่าแจกเงินรายบุคคลล้มเหลวก็หันไปแจกเงินให้องค์กรชุมชน แต่การแจกเงินให้องค์กรชุมชนก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะประสบความสำเร็จ(ประสบความสำเร็จในการแจก แต่ล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ชุมชนที่ทำๆกันมาคือ หน่วยงานเป็นคนถือเงิน ให้ชุมชนทำงานตามโครงการที่หน่วยงานกำหนด เบิกจ่ายเงินตามนั้น ชุมชนไม่มีโอกาสแตะต้องเงิน เพราะมีความเชื่ออยู่ลึกๆว่าชุมชนคนจนต้องโกงแน่(หน่วยงานต่างๆไม่เคยโกง-น้อยๆ) การที่ไม่ให้โอกาสชุมชนในการจับต้องเงิน(ซึ่งเป็นภาษีของเขาทุกบาททุกสตางค์)นี่แหละที่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การใช้เงินเพื่อการพัฒนาไม่ค่อยบังเกิดผล เพราะชาวบ้านก็เป็นเพียงคนที่มาร่วมทำงานให้เสร็จตามโครงการของหน่วยงานเท่านั้น

ขณะนี้หลายหน่วยงานพัฒนา รวมทั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เริ่มทดลองทำงานในรูปแบบว่า สนับสนุนเงินโดยตรงไปที่องค์กรชุมชน ให้องค์กรชุมชนมีอิสรภาพในการตัดสินใจทำงานพัฒนา แก้ปัญหาของเขาเองและที่สำคัญคือ เขาต้องจัดการการเงินของเขาเอง โดยการตั้งกติกาให้มีการทำงานอย่างโปร่งใส สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เงินที่ว่านั้นไม่ใช่แค่สองสามหมื่น แต่อาจจะหมายถึงสองสามล้านหรือมากกว่านั้น

การกระทำเช่นนั้นได้เราต้องมีความเชื่อพื้นฐานอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ต้องเชื่อว่าเจ้าของปัญหาต้องแก้ปัญหาของเขาเอง คนอื่นๆภายนอกอย่าไปจัดแจงชาวบ้านจนเกินควร คนที่แก้ปัญหาความยากจนได้ดีที่สุดคือคนที่เคยจนและผ่านจุดนั้นมาได้ บอกเล่าคนอื่นได้ คนที่เป็นวิทยากรกลุ่มออมทรัพย์ได้ดีที่สุดคือคนที่บริหารกลุ่มออมทรัพย์มาหลายสิบปี ไม่ใช่นักพัฒนา ฯลฯ

ประการที่สอง ต้องมีความเชื่อว่าวิธีการพัฒนาองค์กรชุมชนที่แท้จริงคือให้เขาทดลองทำ ไม่ใช่เฝ้าแต่พร่ำสอนศีลธรรมให้องค์กรชุมชน ว่าอย่าโกง ต้องโปร่งใส ฯลฯ วิธีทำให้องค์กรชุมชนบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาไปสู่ความไม่โกงคือการให้องค์กรชุมชนนั้นบริหารจัดการเงิน(หลวง)ด้วยตัวของเขาเอง ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ยังต้องขนเงินไปนั่งนับให้ชาวบ้าน ทำบัญชีให้ชาวบ้าน ประสบการณ์เราบอกว่า องค์กรชุมชนจะไม่มีวันเข้มแข็ง คนที่เข้มแข็งขึ้นไปเรื่อยๆคือ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานนั้นๆเอง เพราะเงินและอำนาจอยู่ที่เจ้าหน้าที่ การโอนเงินตรงไปที่องค์กรชุมชนหมายความว่า องค์กรชุมชนนั้นมีอำนาจ(มีเงิน)ของเขาเองและต้องพัฒนาความรับผิดชอบขึ้นอย่างสูงในทันที


นั่นหมายความว่า บทบาทของหน่วยงาน ของนักพัฒนาต่างๆจะหายไปใช่ไหม? ไม่ใช่ บทบาทของหน่วยงาน ของนักพัฒนา ของพี่เลี้ยง มีอย่างอย่างล้นเหลือคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนด้วยวิธีการต่างๆ

งานพัฒนาที่เราทำกันมาหลายสิบปีนั้น หลายหน่วยงานเห็นด้วยและทำตามแนวเรื่องชุมชนเข้มแข็ง ทำทุกวิถีทาง ยกเว้นเรื่องเดียวคือการโอนเงินไปให้องค์กรชุมชนจัดการเงิน บอกได้ว่าถ้าไม่ยอมทำตรงนี้ องค์กรชุมชนจะไม่มีวันเข้มแข็ง คนไม่สามารถว่ายน้ำได้ด้วยการอ่านหนังสือและฟังการบรรยาย แต่ต้องลงไปว่ายน้ำ การจัดการเงิน(สาธารณะ)ด้วยตนเองคือการลงว่ายน้ำขององค์กรชุมชน ซึ่งพี่เลี้ยงปฏิเสธที่จะให้องค์กรชุมชนทำมายาวนานเกินไปแล้วเงินงบประมาณนั้นถูกจัดการด้วยรัฐบาลกลาง ต่อมาเป็นรัฐบาลท้องถิ่น และเราพบว่าไม่ต่างกันในเรื่องการคอรัปชั่น การให้องค์กรชุมชนจัดการเงินงบประมาณด้วยตนเองคือปริมณฑลใหม่ของการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน...

..ถ้าเราเชื่อว่ารากฐานการพัฒนาประเทศคือการมีชุมชนที่เข้มแข็ง


โดย : อัมพร แก้วหนู

.