จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านตาเย็น ตำบลตำนาน จ.พัทลุง พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง



ชุมชนบ้านตาเย็น อยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลตำนาน อ.เมือง จ.พัทลุง มีประชากร 119 ครัวเรือน เป็นสมาชิกศูนย์เรียนรู้ 63 ครัวเรือน ขนาดพื้นที่ 436 ไร่ เป็นที่นา 166 ไร่ ทำผักสวนครัว 17 ไร่ ปลูกยางพารา 14 ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง รับราชการ จากข้อมูลการทำแผนแม่บทชุมชนในปี 2549 ประชากรในหมู่บ้านมีรายรับต่อปี 3,669,841 บาทรายจ่าย5,466,873 บาท ตำบลตำนานเป็นพื้นที่ๆผลิตเส้นขนมจีน ทำยาหนม ขนมเดือนสิบ ของชาวจังหวัดพัทลุง



ก่อนจะมาเป็นศูนย์การเรียนรู้
ตำบลตำนานเหมือนพื้นที่โดยทั่วไปที่มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนสนับสนุนโครงการในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาชุมชนในระดับตำบลผ่านผู้นำชุมชน ภายใต้โครงการที่หลากหลาย เช่นสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 ที่มีเป้าหมายป้องกันและเฝ้าระวังยาเสพติด ผ่านมูลนิธิ........ชุมชนได้ดำเนินโครงการการครอบครัวอบอุ่นโดยใช้กิจกรรมการทำขนม อาหารพื้นบ้านที่เป็นประเพณีของหมู่บ้าน การปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร เป็นเครื่องมือ เชื่อมโยงผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน เด็กเยาวชนในตำบลมาทำกิจกรรมร่วมกัน ในปี 2549 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจ.พัทลุง ได้สนับสนุนการทำแผนแม่บทชุมชนตำบลตำนาน และพอช.ได้สนับสนุนเรื่องการจัดการความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ปี 2550 ชุมชนได้ประสานงานกับศูนย์คุณธรรม และยุทธศาสตร์อยู่ดีมีมีสุข จ.พัทลุง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาหลังจากการทำแผนแม่บทชุมชนตำบล และแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน


ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อชุมชนพึ่งตนเอง
คุณชุติมา เกื้อเส้ง ผู้ประสานงานศูนย์เรียนรู้บ้านตาเย็น ระบุว่าหลังจากที่ชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาช่วงเวลาหนึ่ง จึงคิดทำศูนย์เรียนรู้ในหมู่บ้าน เพราะเห็นต้นทุนภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วในชุมชนมีทั้งทุนทรัพยากร และทุนภูมิปัญญาที่มีอยู่ในตัวคน การทำงานในระยะแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพูดแล้วไม่มีคนเชื่อ จึงคิดว่าต้องหากิจกรรมที่จับต้องได้ให้คนเห็น หลักคิดสำคัญ มีอยู่ 3 อย่างคือ 1.เน้นการอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 2.ต้องเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่สมาชิกทำอยู่แล้ว 3. ต้องนำไปสู่การพึ่งตนเอง ศูนย์เรียนรู้ในปีแรกตั้งปี 2548 มีสมาชิกแรกเริ่มเพียง 7 ครัวเรือน ปัจจุบันมี 63 ครัวเรือน ภายใต้ 3 แผนงานคือ แผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ทุนทรัพยากรในชุมชน แผนพัฒนาที่เป็นกิจกรรมร่วม และการดำเนินการศูนย์เรียนรู้



ศูนย์เรียนรู้เป็นวิถีชีวิตและการทำมาหากิน
กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ ได้แก่การรณรงค์การปลูกข้าวปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้เอง ในพื้นที่ 166ไร่ สำหรับสมาชิก 33 ครัวเรือนที่ยังทำนา รวมไปถึงการทำข้าวซ้อมมือและการแปรรูปอาหาร ที่ทำจากข้าวเหนียว ข้าวเจ้า เป็นขนมต่างๆที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่นยาหนม ขนมจีบ เส้นขนมจีน ข้าวพอง ข้าวลา (ขนมทำบุญในเทศกาลเดือนสิบของคนภาคใต้)
กิจกรรมเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างแหล่งอาหารโปรตีนไว้ในบ้านได้แก่การส่งเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก ส่งเสริมการเกื้อกูลของสมาชิกในการแปรรูปอาหาร (จากปลาที่เลี้ยง)
กิจกรรมส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สมาชิกจะมีพืชสมุนไพรในครัวเรือน ส่งเสริมการแปรรูปสมุนไพร การทำน้ำมันไพร การใช้พืชสมุนไพร การอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ฯลฯ



จัดกระบวนการเรียนรู้ให้สมาชิก นักเรียน เยาวชน ผู้ศึกษาดูงาน
กิจกรรมศูนย์เรียนรู้ ส่วนใหญ่สมาชิกจะทำอยู่ที่บ้าน มีบางเรื่องที่มาทำร่วมกัน เช่นการแปรูปสมุนไพร กิจกรรมข้าวซ้อมมือในช่วงเย็นหลักเลิกงาน เมื่อสมาชิกเกิดข้อขัดข้องจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ศูนย์จะจัดให้มีวิทยากรจากภายนอก ทั้งหน่วยงานและบุคคลมาอบรมให้ความรู้ เช่นเกษตรจังหวัด พัฒนาชุมชน ฯลฯ

คุณชุติมา ให้ข้อมูลว่า การเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงปลา การทำอาหาร ทำขนมพื้นบ้าน ทำให้สมาชิกในชุมชนทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน และได้เชื่อมโยงการเรียนรู้กับโรงเรียนในพื้นที่ 2 โรงเรียน โดยโรงเรียนได้ส่งนักเรียนมาเรียนกับชุมชน ทุกวันศุกร์ ซึ่งนักเรียนได้ทั้งความรู้ติดตัวและมีความสนุกสนานกับกิจกรรมนอกห้องเรียน
ผู้ศึกษาดูงานที่สำคัญ คือคนในตำบล และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุงด้วยกันเอง ที่เดินทางมาเรียนรู้ ดูงาน ทุกๆอาทิตย์ สอดคล้องกับสถานการณ์และจังหวะที่คนในพื้นที่ตื่นตัวกับการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ทุนและภูมิปัญญาในท้องถิ่น คุณชุติมามีความเห็นว่านี่เป็นทางเลือกที่สำคัญของชุมชน ในการพึ่งตนเอง พึ่งกันเอง เป็นทางเลือกที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลคุ้มค้า หากทุกคนรู้จักคำว่าพอเพียง

หน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัดร่วมเรียนรู้
ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้น หน่วยงานในจังหวัดก็ได้ร่วมเรียนรู้กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อชุมชนมีแผนในการจัดการความรู้ของตนเอง จัดกระบวนการเรียนรู้โดยเอาผู้เรียนและชุมชนเป็นตัวตั้ง จึงได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในเวลาต่อมา ทั้งหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


การดำเนินชีวิตสร้างเศรษฐกิจพอเพียง
ศูนย์เรียนรู้บ้านตาเย็น ส่งเสริมการทำนาและเกษตรผสมผสานเน้นการพออยู่พอกิน ก่อนขายเป็นรายได้ ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อสุขภาพที่ดี ส่งเสริมการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพื่อเป็นอาหารโปรตีน ทุกกิจกรรมเพื่ออุ้มชูตัวเองไม่ไห้มีหนี้สิน และทำงานอยู่กับบ้านสร้างความอบอุ่นคนในครอบครัว

เรื่องโดย : อุดมศรี ศิริลักษณาพร




.