จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปลูกข้าวพื้นบ้าน อีกวิถีรอดของชาวนา ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุงพบว่า จ.พัทลุง มีพื้นที่ทำนา 289,241 ไร่ เกษตรกร 40,221 ราย ผลผลิตข้าว 130,737 ตันต่อปี มีรายได้เข้าจังหวัดกว่าปีละ 900 ล้านบาทโดยอำเภอที่ปลูกข้าวมาก 5 อันดับ ได้แก่ อ.เมือง ควนขนุน เขาชัยสน ปากพะยูน และป่าบอน จากการสำรวจพบว่าปริมาณพื้นที่ทำนาข้าว ลดลงกลายเป็นนาร้าง สวนยางพารา และสวนปาล์ม กว่าปีละ 10,000 ไร่ เพราะเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน "อุทัย หนูวาด" ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) พัทลุง กล่าวว่า ตัวเลขการชำระหนี้ ธ.ก.ส.ของชาวนาพัทลุง ในรอบปี 2550 สูงถึงร้อยละ 98.03 แต่ก็ไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานชี้ได้ว่า ชาวนาพัทลุงมีรายได้ดี เพราะชาวนามีต้นทุนในการผลิตข้าวต่อไร่สูง แม้ในช่วงที่ข้าวมีราคาดี ราคาปุ๋ยและค่าจ้างแรงงานก็สูงตาม นอกจากนี้ ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวไว้รอทำราคาได้ เพราะไม่มีโรงตากข้าวและยุ้งฉาง "จากการสำรวจสมาชิก ของ ธ.ก.ส.พัทลุง ที่ทำนา พบว่า ชาวนามีพื้นที่ทำนาเฉลี่ยคนละ 5 ไร่ 4 งาน และต้องใช้ทุนในการทำนาไร่ละประมาณ 1,600 บาท ถึง 2,000 บาท ทางเดียว ที่ชาวนาจะมีกำไรมากขึ้นจากการทำนา คือการพึ่งพาแรงงานภายในครอบครัว ผลิตปุ๋ยใช้เอง และใช้พันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตต่อไร่สูง ไม่ควรต่ำกว่าไร่ละ 800 กิโลกรัม"
จากข้อมูลการทำนาที่เป็นไปตามระบบทุนนิยม ดูเหมือนว่า อนาคตของชาวนาช่างมืดมน ไม่มีที่สิ้นสุด!!!


เมื่อวันก่อนที่ห้องประชุมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จัดวงเสวนา สรุปบทเรียน การอนุรักษ์และพัฒนาข้าวพื้นบ้าน ในวิถีชาวนาภาคใต้ เพื่อนำไปสู่ทางเลือกทางรอด ในภาวะเศรษฐกิจที่ต้องใช้ทุนมากขึ้นในการทำนา"สำเริง แซ่ตัน" นักวิชาการเกษตร 8 ว.ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กล่าวว่า เราต้องหาคำตอบว่า อาชีพชาวนาควรเป็นอาชีพที่จะละทิ้งหรือไม่ ปัจจุบัน ลูกหลานชาวนาเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ด้วยเงินที่มาจากการทำนา แต่ในท้องนากำลังจะร้างคน ซึ่งหากเราสามารถหาทางออกให้กับชาวนาได้ ด้วยวิทยาการใหม่ ที่แม้จะยุ่งยาก แต่ทำให้ชาวนาอยู่รอด ชาวนาก็จะไม่ทิ้งนา ด้าน "สวาท จันทมาศ" ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การปลูกข้าวพื้นบ้าน ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในท้องถิ่น ใช้ต้นทุนน้อย และปลูกไว้เพื่อบริโภค อาจเป็นหนึ่งในหลายทางรอดของชาวนา ที่อยู่ในภาวะปลูกข้าวขาย แล้วต้องไปซื้อข้าวที่แพงกว่ามาบริโภค ซึ่งทางหนึ่งที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องศึกษาเรื่องของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาในการคัดเลือก เก็บพันธุ์ และขยายพันธุ์ "เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ได้ลงศึกษา รวบรวมข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา ครอบคลุม 3 จังหวัด คือพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อศึกษาเทคนิคการปลูกข้าวพื้นบ้าน และการวางแผนพัฒนางานพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านสำหรับอนาคต ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ยังพบปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มี 11 สายพันธุ์ โดย 3 ลำดับแรก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือข้าวสังหยด เมล็ดข้าวซึ่งมีสีชมพู ถึงชมพูเข้ม เป็นที่นิยมรับประทานในกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ลำดับถัดมาคือข้าวเล็บนก และข้าวเฉี้ยงพัทลุง เป็นที่นิยมรับประทานกันทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้""เทคนิคที่เกษตรกรใช้ในการคัดพันธุ์ โดยมากคือการเก็บข้าวด้วยแกะหรือเคียว (เครื่องมือเกี่ยวข้าว) เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้าวปน หรือหากใช้รถนวด ก็จะเก็บจากกลางนา และแยกกระสอบไว้ ไม่ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากที่อื่น จากนั้น ก็ใช้เทคนิคการปลูกโดยภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการผลิตปุ๋ยเอง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคอก หรือใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น และใช้สมุนไพรในท้องถิ่นฉีดไร่ศัตรูพืชในนาข้าว ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญาของชาวนา ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและปลอดภัยต่อสุขภาพของชาวนาด้วย"

"นาถพงศ์ พัฒนพันธุ์ชัย" จากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการตั้งคำถามกับเกษตรกร ว่าทำไมจึงปลูกรักษาข้าวพื้นบ้านไว้ ปรากฏว่า เกษตรกรร้อยละ 47.06 ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ให้เหตุผลว่า "ปลูกไว้เพื่อการกินในครอบครัวเหลือจึงขาย" ส่วนอีกร้อยละ 29.41 บอกว่า "ข้าวพื้นบ้านมีความเหมาะสมกับสภาพนิเวศ" "การทำนาปลูกข้าวพื้นบ้าน เป็นวิถีที่สืบทอดกันมา ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ข้าวแต่ละเม็ดเป็นเส้นชีวิต ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย การผลิตไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก ชาวนาสามารถเลือกได้ว่า จะใช้พันธุ์ไหน ที่สำคัญ การปลูกเป็นไปเพื่อวิถีการบริโภคของชุมชน ช่วยลดรายจ่าย เพราะปลูกง่าย ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ก็ได้ผลผลิต ทนทานต่อโรคและแมลง รสชาติก็ถูกปากด้วย การทำนาแบบธรรมชาตินั้น จะได้ผลผลิตมากหรือน้อย ก็ไม่เป็นไร เพราะต้นทุนน้อยกว่า ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าเหลือนำไปกินหรือแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ในเพื่อนได้ แต่ก่อนรายได้จะอยู่ในชุมชน จ้างแรงงานกันเอง แต่ตอนนี้ คนภายนอกมาเอาผลประโยชน์จากชุมชน ส่วนคนในชุมชนกลับต้องออกไปหารายได้นอกชุมชนแทน"นาถพงศ์ระบุว่า จากข้อมูลที่สำรวจพบ พบว่าค่าเฉลี่ยอายุของชาวนาในปัจจุบัน ประมาณ 55 ปี ถึง 72 ปี ส่วนผู้ที่อายุต่ำกว่านั้น จะหันไปทำอาชีพอื่น


ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าในอนาคต หากชาวนาเหล่านี้ ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำนาแล้ว จะเหลือผู้สืบทอดการทำนาซักกี่คน ??!!


.