จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชุมชนเข้มแข็ง..ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ



ผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจที่สามารถแก้ปัญหาได้ของผู้มารับบริการและผู้มาเยือนจนกระทั่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศตำบลพัฒนาดีเด่น การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยประจำปี ตลอดจนชนะเลิศการจัดการเลือกตั้งองค์กรบริหารส่วนตำบลเรียบร้อยที่สุด และรางวัลอื่นๆ อีก ทั้งในด้านปัจเจิกบุคคล และโดยชุมชน ย่อมเป็นสิ่งการันตีคุณภาพของท้องถิ่นตำบลควนรูได้เป็นอย่างดี

........................................................................................................

ตำบลควนรู อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่ประมาณ 24,394 ไร่ หรือ 44.13 ตารางกิโลเมตร ยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลควรรู เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2539 ปัจจุบันมีหมู่บ้านทั้งหมด 9 หมู่ ประชากรจำนวน 6,265 คน ครัวเรือนทั้งหมด 1,654 ครัวเรือน อาชีพหลักคือ การทำนา ทำสวนยาง รองลงมาคือ เลี้ยงสัตว์ ที่ค่อนข้างนิยมคือ การเลี้ยงวัวชน และเลี้ยงไก่ เป็ด แพะ และเลี้ยงปลา การปลูกพืชผัก รูปแบบเกษตรผสมผสาน ประชากรมีรายได้ (จากการสอบถาม) ประมาณกว่า 24,000 บาท/คน/ปี ซึ่งสังเกตว่าแค่ผ่านเกณฑ์รายได้ขีดความยากจนของ จปฐ. คือ 23,000 บาท/คน/ปีเท่านั้น (เป็นตำบลที่ยากจนที่สุดมาก่อนในจังหวัดสงขลา)

องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากอดีตเข้าสู่ยุคต่อยุค จนถึงปัจจุบันมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล คือ นายถั่น จุลนวล นายศักดิ์ชัย พลูผล กำนันดีเด่น ปี 2550 และบุคคลที่สำคัญในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนคือ คุณอัครชัย ทศกูล (อดีตผู้นำนักศึกษายุคเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) เป็นประธานแผนแม่บทชุมชนตำบลควรรูและเป็นประธานเครือข่ายแผนแม่บท ชุมชนจังหวัดสงขลา

องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู ผ่านร้อนผ่านหนาว ล้มลุก ล้มเหลว ขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝ่ายกันมาแล้วมากมายในอดีตเช่น การเลือกตั้งในทุกๆ ระดับ แข่งขันและต่อสู้กันอย่างรุนแรงไม่แพ้ในที่อื่นๆ แม้กระทั่งในเครือญาติกัน เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2544 เริ่มวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายหลายด้าน เกิดประสบการณ์ที่สั่งสมหลายอย่าง ว่าที่ผ่านมาล้วนแล้วแพ้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายชนะ และฝ่ายที่แพ้ มีการจุดประกายวิพากษ์บนเวทีต่างๆ จนเกิดเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญ คือ การมีผู้นำที่ดี มีลักษณะผู้นำที่ดี มีการคัดสรรผู้นำในแต่ละระดับโดยผ่านกระบวนการจากวงต่างๆ ทั้งวงคุยธรรมดา และบนเวทีแบบมีส่วนร่วม เช่นจาก พระสงฆ์ ครู ผู้นำชุมชน ชาวบ้านที่สำนึกสาธารณะรักถิ่นฐาน สร้างโอกาสให้ทุกๆ คน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีให้ครบ คือ บ้าน วัด โรงเรียน และส่วนราชการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู พัฒนาตามรูปแบบการปกครองในระบบประชาธิปไตยโดยแท้จริง โดยมีการจัดตั้งองค์กรคือ “สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบลควนรู” ซึ่งประกอบด้วยการคัดสรรผู้นำมาจากชุมชนของทุกคน หมู่บ้านละ 5 คน รวมเป็น 45 คน จัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน มอบหมายภารกิจแต่ละคณะฯ โดยการศึกษาดูงานของผู้นำชุมชนตำบลควนรู และกลุ่มองค์กรต่างๆ ได้ออกไปศึกษาเรียนรู้ยังนอกพื้นที่ของตนเองทั้งภายนอกและภายในมาอย่างมากมาย เก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยตรงจากหมู่บ้านและตำบลต้นแบบอย่างตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราชมาอย่างโชกโชน จนปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู มีองค์กรที่สำคัญดังนี้ องค์กรทางการเงิน มีกลุ่มออมทรัพย์ 13 กลุ่ม เงินทุนหมุนเวียนกว่า 120 ล้านบาท ปัจจุบันเป็น “สถาบันการเงินชุมชนตำบลควนรู” องค์กรทางการศึกษา องค์กรสตรี อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อ.สม.) องค์กรศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม องค์กรผู้นำ องค์กรเยาวชน องค์กรสื่อ องค์กรเกษตรอินทรีย์ องค์กรแม่บ้าน และองค์กรอาชีพ

ปัจจุบันยกระดับและพัฒนาไปเป็น “สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบลควนรู” ทำหน้าที่เป็น แกนนำหลักของชุมชนมีการบริหารจัดระบบโครงสร้างการบริหารสภาฯ และมีคณะกรรมการปฏิบัติภารกิจร่วมกันทุกๆ ด้าน และประชุมทุกวันที่ 20 ของเดือน สรุปบทเรียน ถอดบทเรียน ทบทวน กำหนดทิศทาง และแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาครบทุกด้านเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชุมชนตำบลควนรู เช่น ยุทธศาสตร์หลัก
1. ด้านการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้อย่างครบวงจร
2. ยุทธศาสตร์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
3. ยุทธศาสตร์พัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
4. ยุทธศาสตร์ตำบลควนรูน่าอยู่ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
5. ยุทธศาสตร์เชิดชูภูมิปัญญา ส่งเสริมศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม
6. ยุทธศาสตร์พัฒนากิจกรรมสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ
7. ยุทธศาสตร์การกีฬา นันทนาการ และส่งเสริมสุขภาพอนามัย
8. ยุทธศาสตร์น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางมี (พื้นฐาน)
9.ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นอย่างมีส่วนร่วม

ในปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการอยู่กว่า 17 โครงการ เช่นโครงการคนดีศรีควนรู โครงการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน (ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดคลื่นหนึ่งของจังหวัดสงขลาและใกล้เคียงคือคลื่น 101.00 MHz มีนักจัดรายการวิทยุมากถึง 76 คน) โครงการพิพิธภัณฑ์ตำบล โครงการองค์การบริหารส่วนตำบลสัญจร เป็นต้น ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของตำบล เช่นข้าวซ้อมมือ จักรสาน เย็บผ้า ดอกไม้จันทน์ น้ำพริกสมุนไพร ขนมไทย กลุ่มเลี้ยงโคขุน เลี้ยงจระเข้ ขนมปั้นสิบ ผลิตภัณฑ์จากกาบมะพร้าว โดยได้รับงบประมาณจากการทำแผนชุมชน โครงการขอรับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู และส่วนราชการภายนอกอื่นๆ ด้วย

นายสมนึก หนูเงิน ผู้ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรูคนแรก ได้พูดบอกเล่าถึงแง่มุมความคิดของชุมชนในการปรับเปลี่ยนให้กลไกการพัฒนาชุมชนทั้ง 3 ส่วนให้สอดคล้องกับแนวทางของชุมชนว่า

“เรามองว่าสภาองค์กรชุมชนจะเป็นตัวเชื่อมกลไกทั้งหมดที่มีเข้าด้วยกัน” กล่าวคือ ในการดำเนินการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนนั้นมีการแบ่งประเภทกลุ่มที่มีในท้องถิ่นเป็น 2 ระดับ คือกลุ่มที่มีสมาชิกอยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ และกลุ่มที่มีสมาชิกกระจายอยู่มากกว่า 1 หมู่บ้านขึ้นไป หรือเรียกว่าเครือข่าย

นายสมนึก กล่าวต่อไปว่า “คณะกรรมการหมู่บ้านเราก็จัดให้เป็นกลุ่มระดับหมู่บ้าน ส่วนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนระดับตำบล ก็จัดให้เป็นระดับเครือข่าย และทั้งหมดก็มาลงตัวอยู่ที่สภาองค์กรชุมชนแห่งนี้”

คำถามสำคัญประการหนึ่งคือ อะไรเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ชาวตำบลควนรูประสบความสำเร็จเช่นนี้ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู ตอบว่า ที่นี่เรามีเครือข่ายผู้นำ ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่ สมาชิกอบต. หรือผู้ที่มีตำแหน่งทางการทั้งหลายรวมกันเป็นเครือข่ายระดับตำบลและมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน และเรามีสื่อของเราเอง คือ วิทยุชุมชน เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลความรู้ต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวตำบลควนรูจะมี”ปัจจัย”ที่เอื้อต่อการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน แต่ถ้าหากขาด”แรงผลักดัน”นั่นคือประโยชน์ที่ชุมชนได้รับดังคำกล่าวของนายสมนึก ที่ว่า “ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับจากสภาองค์กรชุมชนคือ การมีเวทีที่เป็นทางการพูดคุยปัญหาในชุมชน ระดมความคิดเห็น วิธีการแก้ไขปัญหา จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิบัติ เกิดกิจกรรมการพัฒนา จนเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป”

การก่อเกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู แล้วร้อยเรียงคณะกรรมการหมู่บ้าน ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน ซึ่งแต่ละสิ่งล้วนมีกฎหมายกำกับแตกต่างกันไป จึงนับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวตำบลควนรูอย่างแท้จริง ขณะที่ในมุมมองของภาครัฐโดยนายชูศักดิ์ สบานแย้ม ปลัดอำเภอรัตภูมิ ให้ความเห็นไว้ว่า ที่ผ่านมาคนในตำบลควนรูมีความเข้มแข็ง มีปราชญ์ชาวบ้าน คิดและกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าเรื่องปัญหายาเสพติด การรักษาความปลอดภัยของชุมชน หรือการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีกิจกรรม โครงการจากราชการมาลงในพื้นที่ชาวชุมชนก็ไม่รับไปดำเนินการทันที แต่จะกลับไปทำประชาคมก่อน

ผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจที่สามารถแก้ปัญหาได้ของผู้มารับบริการและผู้มาเยือนจนกระทั่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศตำบลพัฒนาดีเด่น ประจำปี 2546 และปีก่อนเช่น การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยประจำปี 2540 ปี 2541 ตลอดจนชนะเลิศการจัดการเลือกตั้งองค์กรบริหารส่วนตำบลเรียบร้อยที่สุด เมื่อปี 2547 และรางวัลอื่นๆ อีก ทั้งในด้านปัจเจิกบุคคล และโดยชุมชน

ท่านนายกถั่น จุลนวล และแกนนำที่สำคัญของตำบล ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญว่า “…พัฒนาคนให้คิดเป็น ทำเป็น บนความตัดสินใจร่วมกัน ตามระบบประชาธิปไตย สู่ความยั่งยืนด้วยปรัชญากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน.......”

ตำบลควนรู เมื่อวานนี้จึงไม่เหมือนในวันนี้ “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”




.