จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พอช.แจงผ่านทีวีไทย"โครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 5 จ.ใต้ล่าง"

ผู้จัดการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้แจงกระบวนการช่วยแก้ปัญหาที่อยู่-ที่ดินคนจนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นกระบวนการประชาคม สร้างฉันทามติ ความโปร่งใสลดความขัดแย้งในชุมชน ย้ำนี่คือโอกาสพิสูจน์ความเชื่อการบริหารงบประมาณที่ให้ชุมชนเป็นหลัก จะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 11.00 น. สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ออกอากาศรายการ ดีสลาตัน ณ แดนใต้ ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในครั้งนี้เชิญนายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้าร่วมรายการเพื่ออธิบายโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมนำเสนอกรณีพื้นที่ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

นายธีรพล อธิบายถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า รัฐบาลมอบงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งให้กับพอช.ในปีงบประมาณ 2553 จำนวน 1,228 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ 5 จังหวัด ให้แก่ประชาชนผู้มีฐานะยากจนมีรายได้น้อยกว่า 64,000 บาทต่อปี ในส่วนของที่อยู่อาศัยจะดำเนินการ 2 ลักษณะ ได้แก่ การสร้างใหม่ สนับสนุนงบประมาณ 80,000-120,000 บาท และการซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านเก่า สนับสนุนงบประมาณ 15,000-50,000 บาท ตามแต่สภาพความเป็นจริง

แนวทางการดำเนินโครงการจะเน้นการมีส่วนร่วม เริ่มจากการสำรวจรายชื่อผู้เดือดร้อน ซึ่งใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และการที่ชาวบ้านมาแจ้งเอง หลังจากได้ข้อมูลแล้วคณะทำงานระดับหมู่บ้านจะมาช่วยกันตรวจสอบ เป็นกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ ผู้นำศาสนา ผู้นำธรรมชาติ ผู้นำท้องถิ่นคือ อบต. ผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้รายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาแล้วก็จะส่งข้อมูลต่อไปยังระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พอช.เข้ามาช่วยชุมชนพัฒนาโครงการ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ โดยให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของโครงการ บริหารงบประมาณโครงการด้วยตนเอง และการให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วส่งเงินคืนกลับสู่ชุมชน เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชุมชนนำไปใช้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป

ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ ตอบคำถามเรื่องงบประมาณลงสู่ชุมชนอาจจะสร้างความขัดแย้งในชุมชน ว่า เรื่องนี้เป็นข้อกังวลของเรา เราจึงเน้นการสร้างกระบวนการภายในชุมชนในการดำเนินงาน ซึ่งโดยธรรมชาติพี่น้องในชุมชนย่อมต้องถกเถียงกันเองเพื่อหาผู้ที่เหมาะสมและเป็นฉันทานุมัติร่วมกัน ซึ่งตรงนี้มีความยากลำบาก แต่ก็คือกระบวนการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ซึ่งถ้าเอากฎเกณฑ์ต่างๆเข้าไปเทียบก็เชื่อว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน สาเหตุความขัดแย้งยังเกิดจาก การรับรู้ข้อมูลไม่ทั่วถึงกัน ซึ่งทางพอช.ก็พยายามเร่งการประชาสัมพันธ์ แต่ที่เราเป็นห่วงมากคือ ความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ตรงนี้เราพยายามที่จะมีกระบวนการตรวจสอบ สร้างการยอมรับร่วมกัน เพื่อให้เกิดเป็นฉันทามติร่วมกัน

ต่อคำถามเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ นายธีรพล กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่บริหารในระดับตำบล หมู่บ้าน ปัญหาความไม่โปร่งใสก็จะเกิดขึ้นในระดับตำบล หรือหมู่บ้าน ไม่ใช่เกิดที่ระดับไหนก็ไม่รู้เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าชาวบ้านจะสามารถตรวจสอบติดตามกันเอง เช่น เมื่อนำเงินไปให้นาย ก แล้ว คนอื่นๆที่เหลือและกำลังรอรับประโยชน์ก็ย่อมจะเฝ้าดูนาย ก ว่าจะทำอย่างไร นอกจากนี้เรายังมีระบบติดตามจากภายนอกคือ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะช่วยให้ภาคประชาชนบริหารงบประมาณได้อย่างโปร่งใส

นายธีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า พอช.เชื่อว่าหากให้โอกาสชาวบ้านขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง บริหารโครงการด้วยตนเองจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า ความเข้มแข็งของชุมชน ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตลอดจนความโปร่งใสในการบริหารโครงการ เป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และนี่คือด่านทดสอบความคิดความเชื่อที่ว่า ถ้าชุมชนเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาของตนเองจะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ เพราะนี่เป็นแนวทางที่แตกต่างกับอีกระบบหนึ่งซึ่งมีงบประมาณอีกมากมายในพื้นที่ 5 จังหวัด.
เนื้อหาข่าว จาก : http://www.souththai.org