จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาวหัวไทร ผนึกกำลังต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

กลุ่มประชาชนชาวอำเภอหัวไทรกว่า 200 คน ได้ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน นักตรวจสอบทางสังคมหลายส่วนร่วมกันตั้งเวทีสาธารณะที่บริเวณลานปั๊มน้ำมันบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมกันต่อต้านโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กำลังริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (ถ่านหิน) ในพื้นที่เป้าหมาย จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเลือกในพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา เป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (ถ่านหิน) ขนาด 700 เมกกะวัตถ์

โดยความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพบว่าได้มีการแบ่งคณะเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ออกเป็น 3 ทีมคือทีม อ.ท่าศาลา อ.หัวไทร และทีมงานประชาสัมพันธ์ ได้กระจายกันลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ก่อสร้าง โดยที่ประชาชนและนักตรวจสอบเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว แกนนำกลุ่มศึกษาผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ เปิดเผยว่า ตรวจสอบและติดตามข้อมูลที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังไม่มีการแจ้งกับประชาชนนั้นพบว่า พื้นที่นครศรีธรรมราช ที่ถูกการไฟฟ้าเลือกนั้นมีอยู่ 2 พื้นที่คือ 1.อำเภอท่าศาลา โดยมีตำบลเป้าหมายคือ ต.กลาย ต.ท่าขึ้น ต.สระแก้ว และ 2.อำเภอหัวไทร มีตำบลเป้าหมายคือ ตำบลเกาะเพชร และตำบลหน้าสตน สาเหตุที่มีการเลือกเอาพื้นที่ชายฝั่งเช่นนี้เนื่องจากต้องมีพื้นที่สำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่านหินจากต่างประเทศนั่นเอง

“ พบข้อมูลว่ามีการติดต่อถ่านหินจากต่างประเทศเช่นถ่านหินประเภทบิทูบินัส จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปริมาณการใช้ต่อโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้นสูงถึง 4 พันตันต่อวัน คนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ลงพื้นที่แบบเงียบๆเข้าหาแกนนำชาวบ้าน จัดตั้ง แจกเครื่องอุปโภคบริโภค ไปขอใช้เวทีประชาชนของ อบต.บ้าง เทศบาล ประชาสัมพันธ์ถึงโครงการโรงไฟฟ้า กิจกรรมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยมีทีมโฆษกเข้าปฏิบัติการด้วยซึ่งประชาชนหลายส่วนเห็นว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นในสภาพการณ์เช่นนี้ ”

แกนนำกลุ่มศึกษาผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ประชาชนชาวอำเภอหัวไทร ในพื้นที่นี้ได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนังขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว และได้ประสานงานในการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนอย่างเต็มที่ถึงเรื่องของมลพิษจากถ่านหิน ด้วยการเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้มาให้ข้อมูล และถ่านหินนั้นได้ชื่อว่าเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุดในโลก ทั้งยังมีผู้ที่มีประสบการณ์ผลกระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง และจาก อ.จะนะ สงขลา มาร่วมให้ความร่วมรู้ความเข้าใจอีกด้วย

“ ที่สำคัญนั้นจากข้อมูลของกำลังไฟฟ้าสำรองในภาคใต้นั้นเราเชื่อว่ามีเพียงพอ แต่โครงการโรงไฟฟ้าเช่นนี้ที่กำลังลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เราเชื่อว่าเตรียมไว้เพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาร์เทิร์นซีบอร์ดนั่นเอง ซึ่งต่างมีความเห็นสอดคล้องว่าพื้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกวงเป็นพื้นที่โครงการนั้นจะต้องเป็นพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเท่านั้น ” (จากสำนักข่าวเนชั่น)