จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแถบทะเลอันดามัน 90%

พบสถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรง ในแถบทะเลอันดามันซึ่งมีประการังฟอกขาวแล้ว 90% เนื่องจากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น และจะส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง และการท่องเที่ยวในอนาคต

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผอ.ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยในช่วงนี้ เกิดจากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น เพราะหากอุณหภูมิผิวน้ำสูงขึ้นประมาณ 30.01 องศาซี จะกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ โดยพบว่าตั้งแต่อาทิตย์ที่ 3 ของเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิเริ่มแตะ 31 องศาซี และขณะนี้จากการสำรวจพบว่า ปะการังในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวแล้ว 90% ของปะการังทั้งหมด บริเวณที่เกิดรุนแรงคือ แถบเกาะภูเก็ต ส่วนปะการังในแถบอ่าวไทย เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวแล้ว 60%

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าค่อนข้างรุนแรง โดยไทยเคยเกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อปี 2543, 2538, 2541 ซึ่งมีความรุนแรง และเกิดขึ้นอีกเมื่อปี 2546, 2548 และ 2550 แต่ไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่ทำให้ปะการังฟื้นคืนสภาพได้ในปัจจุบัน แม้จะผ่านช่วงเวลามานานแล้วก็ตาม

สำหรับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนี้ เกิดจากความร้อนของอุณหภูมิของน้ำทำให้สาหร่าย Zooxanthellac ที่อาศัยอยู่กับปะการังถูกขับออกจากเนื้อเยื่อปะการัง จึงเหลือแต่แคลเซียมของปะการังให้เห็นเป็นสีขาว หากเกิดปรากฏการณ์นี้นานจะทำให้ปะการังตายในที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะปะการังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมดุลในทะเล

ผอ.ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แนวทางที่จะแก้ปัญหานี้คือ การรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลให้บริสุทธิ์ โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวให้ปล่อยของเสียลงสู่ทะเลน้อยที่สุด และการดำน้ำดูปะการังซึ่งมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นละอองในทะเลต้องทำด้วยความระมัดระวังมากที่สุด แต่ยังไม่ถึงกับประกาศห้ามการดำน้ำดูปะการัง เพราะจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวได้ ส่วนที่ดำเนินการในช่วงนี้คือ การสำรวจและรายงานความเสียหายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และคาดหวังว่าจะเข้าใกล้ฤดูมรสุม จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น.