จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผลการวิจัยแนะใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือทำงานพัฒนา


ผลการวิจัยงานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ ชี้ภาคประชาชนยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ อุดมการณ์สภาองค์กรชุมชน การตั้งสภาองค์กรชุมชนเพื่อหวังรับงบประมาณจากพอช. แต่ไม่ได้แก้ปัญหาสาธารณะที่เกิดในพื้นที่ เสนอทางแก้จัดความสัมพันธ์ใหม่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสภาองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาเชิงประเด็น พร้อมแนะชาวบ้านทำข้อมูลเชิงภาพดีกว่าทำเป็นเอกสาร โดยให้มีนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน เข้าเสริมศักยภาพสภาองค์กรชุมชน

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ณ ห้องประชุมสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดพัทลุง คณะอนุกรรมการประสานงานสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าสภาองค์กรชุมชนภาคใต้ ในโอกาสนี้คณะนักวิจัยกระบวนการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน นำโดยผู้ช่วยศาสตร์จารย์ สอรัฐ มากบุญ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยายาเขตสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอผลการศึกษา

อาจารย์สอรัฐ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า 2 ปีที่มีการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชน พบว่าในแต่ละพื้นที่สมาชิกสภาองค์กรชุมชนยังมีความเข้าใจเชิงเนื้อหา อุดมการณ์ของงานสภาองค์กรชุมชนยังมีน้อย แกนนำที่ขับเคลื่อนก็จะรู้ในส่วนที่เป็นพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 นำสู่ปรากฎการณ์ที่เห็นคือ ข้อเสนอเชิงนโยบายไม่ได้มาจากพื้นที่ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากท้องถิ่น อบต. ความพร้อมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนในการดำเนินงานก็มีไม่มาก กระบวนการจัดการการประชุมก็ติดขัด
ปรากฎการณ์เหล่านี้เชื่อมโยงกับการที่ คณะทำงานประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน หรือที่เรียกว่า กลไกจังหวัด ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. สนับสนุนนั้น ไปขับเคลื่อนการจัดตั้ง ขยายพื้นที่สภาองค์กรชุมชน ทำให้งานสภาองค์กรชุมชน กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นงานพัฒนาพื้นที่และเพื่อให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. ผลคือสภาองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นก็เป็นเวทีสำหรับขับเคลื่อนปฏิบัติการงานเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ เพราะตั้งจากพื้นฐานการปฏิบัติการของประเด็นงานพัฒนา ซึ่งลักษณะเช่นนี้คือ การที่คนนอกพื้นที่เข้าไปทำงาน แต่งานสภาองค์กรชุมชนที่แท้ควรเป็นงานของคนในพื้นที่

“หลายพื้นที่จึงเกิดคำถามว่า ตั้งสภาไปทำไม”อาจารย์สอรัฐกล่าว

อาจารย์สอรัฐกล่าวต่อไปว่า เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน คือ การคาดหวังผลลัพธ์ให้เกิด องค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างได้รับการยอมรับ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากร อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นได้

“นั่นคือประชาธิปไตยที่กินได้ และกันไม่ให้เพื่อนมากินของเรา” อาจารย์สอรัฐกล่าว

สำหรับข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการวิจัย อาจารย์สอรัฐ กล่าวว่า เราควรทำให้งานสภาองค์กรชุมชนเป็นยุทธศาตร์การพัฒนา ไม่ใช่เป็นประเด็นงานพัฒนา ดังนั้นจึงควรจัดความสัมพันธ์กันใหม่ระหว่างงานสภาองค์กรชุมชน กับประเด็นงานพัฒนาต่างๆที่ลงไปสู่พื้นที่
และควรคิดว่าสภาองค์กรชุมชนเป็น เครื่องมือในการทำงานพัฒนา บทบาทของสภาองค์กรชุมชนควรเป็นหนุนเสริมให้เกิดการพูดคุยเรื่องที่เป็นสาธารณะของพื้นที่ เช่นที่ ตำบลพรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ที่สามารถเชื่อมโยงกับอบต.และนำเรื่องปัญหาการชลประทานมาพูดคุยในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล

ข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งคือ การนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดการพูดคุย เช่นที่ตำบลพรุพี มีการถ่ายภาพวิดีโอให้เห็นสภาพปัญหาภัยแล้ง พื้นที่ต้นน้ำ ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ปรากฎว่าเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่เห็นผลในการแก้ไขปัญหา ซึ่งน่าจะดีกว่าการนำเสนอข้อมูลในเชิงเอกสารซึ่งพี่น้องชาวบ้านมีข้อจำกัดในด้านนี้ อย่างไรก็ตามการมีการสนับสนุนจากภายนอก เช่น นักวิชาการไปทำงานวิจัยในพื้นที่ หรือนักพัฒนาเอกชนที่มีความรู้ในการวิเคราะห์ปัญหา เข้าไปหนุนเสริมการทำงานของสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ได้