จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทบทวนบทเรียน สร้าง Road map พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้

โดย สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์

สัมมนาร่วมเจ้าหน้าที่พอช.ใต้ แกนนำชุมชน 5 จังหวัดใต้ สร้างความเข้าใจการสนับสนุนภาคประชาชน และผลการดำเนินงานของภาคประชาชนมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณรัฐบาล เกิดข้อตกลงร่วมสร้างปฏิทินการทำงานนำสู่การติดตามผลที่เข้มงวด

เมื่อวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2553 สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ จัดประชุมสัมนาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ณ โตนหินลาดล่องแก่ง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง

การสัมนาครั้งนี้เกิดบทสรุปสำคัญได้แก่ การทำความเข้าใจต่อทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนโดยองค์กรชุมชนของ พอช. โดยคณะอนุกรรมการ พอช.ภาคใต้ กำหนดให้เครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัดแต่ละจังหวัด เชื่อมประสานความร่วมมือกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม(เอ็นจีโอ นักพัฒนาเอกชน) นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่พอช.ในอัตรากำลัง 1 คนต่อ 1 จังหวัด ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคีความร่วมมือต่างๆ และเจ้าหน้าที่พอช.สนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนผ่านขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัดตามยุทธศาสตร์ของพอช. ได้แก่ การส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล การส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน องค์กรการเงินชุมชน การจัดการทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งตามโครงการบ้านมั่นคง โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 5 จังหวัดชายแดนใต้ การส่งเสริมศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ตลอดจนการบริหารจัดการที่ดีของขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชน

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนจะสัมพันธ์กับการประเมินผลการดำเนินงานพอช. ซึ่งจะมีผลไปถึงการที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาชน

สาระสำคัญในส่วนของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ กรณีที่เป็นปัญหาร่วมกันคือ การบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ การทำงานไม่เป็นทีม การให้ความสำคัญกับระบบการบริหารจัดการของขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับจังหวัด

ส่วนกรณีรายจังหวัด ได้แก่ กรณีสงขลา การนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการดำเนินงานจริง มีแผนงาน แต่ขาดแผนปฏิบัติการ กรณีนราธิวาส ต้องมีแกนนำที่ต้องการสร้างขบวนจังหวัดอย่างจริงจัง สตูล ขาดการจัดประชุมเวทีกลางอย่างต่อเนื่อง การใช้งบบริหารแบ่งตามโซนต้องมีเรื่องระบบการติดตามการใช้งบประมาณ ปัตตานี ระบบการประชุมโซนพื้นที่ยังไม่เป็นจริง แต่มีระบบประชุมกลางที่เข้มข้น ยะลา ประเด็นปัญหาแกนนำรุ่นเก่า ควรมีการเปิดเวทีเพื่อหารือข้อแก้ไขแนวทางการทำงานร่วมกัน
ผลการสัมนาได้แก่ ข้อตกลงร่วมกันในการจัดให้แต่ละจังหวัดมีโครงสร้างการทำงานของระบบจังหวัดที่ประกอบด้วย คณะทำงานในพื้นที่ (ระบบทีม การหนุนช่วย อัตรากำลัง การแบ่งพื้นที่ทำงาน การพัฒนาทีมอาสา) คณะยุทธศาสตร์ (บทบาทตัดสินใจเชิงการบริหารจัดการ การทำงานระบบทีม) กองเลขาขบวน(มีหัวหน้ากองเลขาชัดเจน กำหนดขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจน)
ด้านระบบการบริหารในระดับจังหวัด จะต้องมีระบบการประชุมของคณะทำงานประเด็นต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดข้อมูล และการจัดการระบบข้อมูล ด้านการดำเนินงาน กำหนดแผนจังหวะก้าว หรือ Road map การปฏิบัติการ ที่มีรายละเอียดเป็นปฏิทินการทำงาน เพื่อที่จะนำไปสู่การติดตามประเมินผลที่เข้มงวด


จากเวป : http://www.souththai.org