จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

“นักวิชาการ~คนสามจังหวัด จชต.” กระตุกรัฐดูบทเรียนชายแดนใต้ หยุดใช้กำลังที่กรุงเทพฯ

ความรุนแรงและความสูญเสียจากเหตุจลาจลและการก่อวินาศกรรมถี่ยิบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ทำให้หลายฝ่ายเหลียวมองพื้นที่ขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรงมานานกว่าครึ่งทศวรรษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยเฉพาะบทเรียนของการจัดการปัญหาที่มีรากฐานจากเรื่องความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และความอยุติธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังเลือกใช้วิธีการ “ปราบปราม” คล้ายคลึงกับที่ปฏิบัติมาอย่างเนิ่นนานที่ชายแดนใต้

คำถามคือเป็นวิธีการที่ถูกต้องแน่หรือ?

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะหันกลับมามองปัญหาภาคใต้ และเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดหรือสร้างบาดแผลในระยะยาว

"เรื่องของการใช้กำลังทหารมันดีในระยะสั้น สามารถคุมเหตุการณ์ได้เร็ว แต่จะสร้างบาดแผลไปอีกนาน และเป็นแผลกลัดหนองเหมือนภาคใต้ที่รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที ขณะนี้ที่กรุงเทพฯยังเปรียบเสมือนเป็นแผลสดอยู่ ทำอย่างไรที่จะให้เกิดความสมานมันท์ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแผลเรื้อรังเหมือนที่สามจังหวัด หากรัฐบาลเลือกแนวทางใช้ความรุนแรง จะเกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และยากที่จะเยียวยาให้กลับคืนเหมือนเดิม"

ดวงยิหวา บอกว่า ขณะนี้หลายคน หลายฝ่ายมองอนาคตของประเทศไทยแตกต่างกัน ทั้งสถานการณ์ภาคใต้และกรุงเทพฯ แต่ก็แบ่งได้เป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ 1.ควรประนีประนอมและเปิดการเจรจากัน กับ 2.ใช้กองกำลังจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

“คำถามก็คือหากใช้กองกำลังปราบปรามแล้วจบ ทำไมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่จบ ทั้งๆ ที่ผ่านมา 6-7 ปีแล้ว ขณะนี้กรุงเทพฯกำลังตามมา และร้ายแรงไม่ต่างสามจังหวัดเลย พูดถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐ สามจังหวัดอาจจะมีประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ขณะที่กลุ่ม นปช.มีประเด็นเรื่องอำมาตย์ ไพร่ สองมาตรฐาน ความยากจน ประเด็นเหล่านี้จบได้ด้วยการใช้ความรุนแรงหรือ ตอนนี้ทางออกของประเทศมืดมิดมาก แต่ความหวังเพียงอย่างเดียวคือทั้งสองฝ่ายต้องหันมาคุยกัน ไม่ใช่ตั้งแง่กัน ได้คืบจะเอาศอก”

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกรุงเทพฯขณะนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย ถ้ารัฐบาลให้พื้นที่ทางความคิด และจริงใจที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ก็มีโอกาสที่สถานการณ์จะจบลงได้ด้วยดี

ดวงยิหวา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุรุนแรงในลักษณะการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา น่าแปลกใจที่หลายๆ เหตุการณ์คล้ายคลึงกับภาคใต้ ทั้งในแง่อาวุธที่ใช้และวิธีการ เช่น การยิงอาร์พีจีถล่มคลังน้ำมันที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ขณะที่ระเบิดคาร์บอมบ์ใกล้กับโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี เมื่อเดือนที่แล้วก็เจอหัวจรวดอาร์พีจีในรถ แต่บังเอิญไม่ระเบิด หรือคาร์บอมบ์ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งใช้ถังดับเพลิงและถังแก๊ส ล่าสุดก็ไปพบการวางระเบิดลักษณะเดียวกันนี้ที่รามอินทรา (ซอยรามอินทรา 34 กรุงเทพฯ) ด้วย

“ดูแล้วมันอดสงสัยไม่ได้ แต่เราไม่มีหลักฐานอะไรแน่ชัด ก็ไม่อยากพูดไปก่อน แต่อยากบอกว่าหลายฝ่ายก็สังเกตกันอยู่ว่าทำไมลักษณะการก่อเหตุมันคล้ายกันเหลือเกิน”

นายนิมุ มะกาเจ นักวิชาการด้านศาสนา และอดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯขณะนี้ รัฐบาลต้องเข้มแข็ง ต้องยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย การจะแก้ปัญหาลักษณะนี้ได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และภาคประชาชน แต่ปัญหาคือรัฐบาลกำลังโดดเดี่ยวหรือไม่ และมีอำนาจสั่งการที่แท้จริงหรือเปล่า

“เหตุการณ์วุ่นวายในกรุงเทพฯ มีทั้งระเบิด ยิง เผา เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดมาหมดแล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนี้น่าจะทำให้สังคมไทยเข้าใจคนสามจังหวัดมากขึ้นว่าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักขนาดไหน”

ส่วนทางออกของประเทศนั้น นายนิมุ กล่าวว่า ยังมองไม่ออกเลย แต่หลักๆ ก็มีอยู่ 2 แนวทาง คือจบเร็วแต่มีความสูญเสียมาก กับจบช้าแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่สูญเสียน้อย ซึ่งเป็นวาระที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่เฉพาะรัฐบาล

ขณะที่ นายนิมะนาเซ สามะอาลี นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯกับภาคใต้เป็นคนละอย่างกัน กรุงเทพฯคือประเด็นความอยุติธรรม การใช้สองมาตรฐาน ส่วนปัญหาสามจังหวัดเป็นเรื่องของการแบ่งแยก ทางออกตอนนี้รัฐบาลต้องเปิดการการเจรจา เพราะการเจรจาคือการยุติปัญหาที่ดีที่สุด

ส่วนรูปแบบการก่อวินาศกรรมหรือการประกอบระเบิดในกรุงเทพฯหลายๆ เหตุการณ์คล้ายคลึงกับในภาคใต้นั้น นายกสมาคมยุวมุสลิมฯ มองว่า ก็อาจจะมีบ้าง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันทำ เพราะไม่มีหลักฐาน

นายทะนง ไหมเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำพยา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวเช่นกันว่า แม้ปัญหาที่กรุงเทพฯกับภาคใต้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่สามารถนำบทเรียนจากภาคใต้ไปเป็นแบบอย่างได้ ปัญหาที่หนักที่สุดในขณะนี้คือการกระทำแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่างยิ่ง

และท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐนั่นเองว่าจะเลือกแนวทางใด !?


จาก : โต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิสรา