จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เสนอรัฐบาล 6 ข้อ แก้ปัญหาที่ดินคนจน


เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ร่วมกับ พอช.ภาคใต้ จัดงาน สมัชชาการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ เสนอ 6 ข้อแก้ปัญหาที่ดิน ต่อรมต.สาทิตย์ ตั้งกก. ที่มีชุมชนเข้าร่วมในระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัด แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ จัดงานสมัชชาการจัดการที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินภาคใต้ โดยเชิญ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดงาน พร้อมรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเน้นการเคลื่อนผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนในพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัด พื้นที่สวนปาล์มใน จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิที่มีบทบาทแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน เครือข่ายองค์กรชุมชนคนจนเมืองภาคใต้ ได้ร่วมกันดำเนินการการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้

ด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ 46 เมือง 109 โครงการ ครอบคลุม 251 ชุมชน 12,253 ครัวเรือน คณะกรรมการเมืองมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชัดเจนมีเพียง 14 เมือง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมทั้งเมืองเริ่มนำร่องที่เมืองสงขลา ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินรัฐ (การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ กรมพานิชย์นาวี) โครงการส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งบ้านมั่นคงเมือง และบ้านมั่นคงชนบท

ด้านการแก้ไขปัญหาที่ดิน นับตั้งแต่การแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเน้นการใช้ข้อมูล แผนที่ และคณะทำงานร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ถือเป็นชุดประสบการณ์ที่กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ จากนั้นได้เริ่มการแก้ไขปัญหาที่ดินภายใต้ ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ภาคประชาชน หรือ ศตจ.ปชช.ตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ขณะนี้มีพื้นที่ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินครบทั้ง 14 จังหวัด 60 อำเภอ 113 ตำบล 426 หมู่บ้าน

พื้นที่ที่มีการจัดทำข้อมูลแก้ไขปัญหาที่ดินและทำงานร่วมกับ อบต. เช่น ตำบลขอนหาด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมทั้งส่งผลให้อบต.หลายแห่งตื่นตัวในการจัดทำข้อมูลแผนที่ระดับตำบล นอกจากนั้นได้มีหลายพื้นที่ได้พัฒนาเอกสารรับรองสิทธิการครอบครองที่ดินที่เริ่มจาก “โฉนดช้างดำ” บ้านสระพัง การรับรองสิทธิ์ที่ดินและการปลูกต้นไม้ในเขตป่า ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ และล่าสุดได้มีการทำเอกสารรับรองสิทธิ์ โดยสภาองค์กรชุมชนที่ ต.ท่าตะโก จ.ชุมพร

ในช่วงปลายปี 2550 ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินในบริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเริ่มพื้นที่นำร่องที่อำเภอบาเจาะ ที่ได้มีการจัดทำข้อมูล แผนที่ทำมือ แผนที่ในระบบ GIS นำเสนอคณะอนุกรรมการที่ดิน ศจพ.และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจนได้มติ ครม. รองรับการแก้ไขปัญหา แต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้เกิดการหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง จากพื้นที่นำร่องอ.บาเจาะได้ขยายให้ครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอ 25 ตำบล โดยมีคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีที่ ผอ.ศอ.บต. เป็นประธาน

นายประยงค์ หนูบุญคง ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคใต้ กล่าวว่า เครือข่ายที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคใต้ มีข้อเสนอต่อนโยบายรัฐบาลสนับสนุนดังนี้

หนึ่ง ให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงแต่ละอำเภอ เพื่อให้นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระดับท้องถิ่น(อำเภอ/เมือง) ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกลุ่มผู้เดือดร้อน ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในสัดส่วนที่เท่ากัน


สอง ให้นายกรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาชนผู้เดือดร้อนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะทำงานทั้งหมด โดยให้ผู้แทนของภาคประชาชนเป็นเลขานุการร่วม


สาม ให้มีการปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎกระทรวง หรือระเบียบคำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ระเบียบว่าด้วยการเช่าที่ดินและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ


สี่ ออกกฎหมาย ที่ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องสิทธิในที่ดินร่วมกัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย


ห้า เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อสรุปในจังหวัดร่วมกับหน่วยงาน แต่ยังติดขัดข้อกฎหมายบางประการ เช่น กรณีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดีทับที่ดิน ของชุมชน กรณีทุ่งลานโย อ.ป่าพะยอม กรณีพื้นที่ชุมพล อ.ศรีนครินทร์ กรณีพื้นที่ ตำบลลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง พื้นที่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ต.ทุ่งมะพร้าว ต.ลำแก่น ต.ท้ายเหมือง จ.พังงา ต.ฉลุง ต.คูหาใต้ ต.เขาพระ จ.สงขลา ต.ตะเสะ ต.เขาไม้แก้ว ต.บ่อหิน ต.เกาะลิบง ต.ปะเลียน จ.ตรัง ต.ขอนหาด ต.ทางพูน จ.นครศรีธรรมราช ต.ตะโก จ.ชุมพร ต.เขานิเวศน์ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง กรณีขอเช่าที่ดินรถไฟ สายสงขลา-หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เทศบาลเมืองท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีขอเช่าที่ดินราชพัสดุเทศบาลเมืองท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีที่ดินสาธารณะประโยชน์พื้นที่รังนกออก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พื้นที่แหลมขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา


และประการสุดท้าย สนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นแกนหลัก สนับสนุนพื้นที่นำร่องกรณีโฉนดชุมชน หรือสิทธิถือครองร่วมกันของชุมชน และกองทุนที่ดินระดับพื้นที่