จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สัมภาษณ์พิเศษ "พี่ทิพย์" ผอ.พอช.

จาก หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2552
สัมภาษณ์พิเศษ

ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์

ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

“สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน”


“ในโอกาสที่ พอช.จะย่างเข้าสู่ปีที่ 10 เราจะเน้นในการใช้ยุทธศาสตร์พื้นที่เป็นตัวตั้งและจะเน้นในเรื่องการพัฒนาเชิงคุณภาพมากขึ้น ยกระดับให้เกิดการทำงานที่เป็นเชิงคุณภาพ ทำให้องค์กรชุมชนมีอิสระ สามารถวางแผนตัวเองได้”

การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าองค์กรชุมชน ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน นอกจากจะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนในการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์การชุมชน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) บอกว่า พอช.เกิดขึ้นจากการรวมกองทุน 2 กองทุนเข้าด้วยกัน คือสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง และกองทุนพัฒนาชนบท ภายใต้ พรบ.องค์การมหาชน ตั้งแต่ปี 2543 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543

“หน้าที่หลักๆ คือการสนับสนุน สร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน มีภาระกิจทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สนับสนุนความช่วยเหลือต่อองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชนเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการ บนหลักการที่สมาชิกชุมชนต้องมีส่วนร่วมสำคัญ เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและประชาสังคม การส่งเสริมของ พอช.สนับสนุนในทุกๆ เรื่องทีชุมชนรวมตัวกันแล้วมีวัตถุประสงค์ เรื่องที่ 2.สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยใช้ตัวเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา 3.สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชน ตลอดจนประสานความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้แก่องค์กรชุมชนอีกที และเรื่องทที่ 4. ส่งเสริม สนับสนุน สร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ โดยการหนุนให้เกิดเครือข่ายไล่มาตั้งแต่ระดับชุมชน ถึงระดับประเทศ”

ผอ.พอช. บอกว่า มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่พอช.ทำอยู่ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน โดยขณะนี้ในเรื่องของที่อยู่อาศัยก็จะเป็นเรื่องของบ้านมั่นคงที่เป็นการแก้ปัญหา และพัฒนาความมั่นคงของที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก และผู้มีรายได้น้อยในเมือง โดยมีเป้าหมายว่าว่าจะทำอย่างไรให้เขามีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งเราเรียกกันโดยย่อๆ ว่า “โครงการบ้านมั่นคง” โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ทำโครงการนำร่อง 10 โครงการ ต่อมาในปี 2547 ตอนที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้มีรายได้น้อยในเมือง ก็ได้เสนอต่อรัฐบาลและได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการมา โดยครม.มีมติอนุมัติให้ทำ 200,218 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี

“โครงการนี้จะมีจุดเน้นคือให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเป็นหลักในการทำงาน เป็นทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของตัวเอง โดยความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพยายามให้แก้ปัญหาในแต่ละเมืองอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละเมืองจะหนุนให้เขาเกิดคณะทำงานเมือง”

นางทิพย์รัตน์ บอกว่า ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง แต่ละเมืองจะมีการสำรวจข้อมูลของตัวอง ดูว่ามีกี่ชุมชน ชุมชนนั้นอยู่ในที่ดินของใคร และต้องมีการวางแผนว่าใน 1 ปี 2 ปี 3 ปี จะมีการแก้ปัญหาชุมชนอย่างไร จะต้องมีรายการที่เริ่มดูว่าจะคุยกับเจ้าของที่ดินอย่างไร จะขอเช่า หรือจะขอซื้อ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวในการพัฒนาโครงการ

โดยในเบื้องต้นจะมีการทำความเข้าใจว่าโครงการบ้านมั่นคงมีวัตถุประสงค์อย่างไร หลังจากนั้นแต่ละเมืองเขาจะขับเคลื่อนของเขาเองได้ โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ พอช.ลงไป แต่จะเป็นการทำงานในระดับเมืองของแต่ละเมืองเองได้ ส่วนรัฐบาลสนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยบางส่วน แต่หากชาวบ้านจะต้องการสร้างบ้านใหม่ หรือซื้อที่ดินใหม่ก็จะต้องรับภาระ โดยใช้เงินจากกองทุนให้สินเชื่อ ซึ่งตอนนี้ พอช.ทำอยู่ 260 เมือง ทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่า 1,400 ชุมชน 86,000 กว่าครัวเรือน ถ้าคิดเป็นคนก็มากกว่า 400,000 คน แล้วที่ได้รับการแก้ปัญหาภายใต้โครงการนี้ โดยมีงบประมาณที่สนับสนุนจากรัฐประมาณ 3,000 กว่าล้าน ที่ลงไปในเรื่องระบบสาธารณูปโภคทั่วประเทศ สำหรับ พอช.สนับสนุนเงินกองทุนเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน และสร้างที่อยู่อาศัยแล้วกว่า 2,900 ล้านบาท

ในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมไปถึง สงขลาและสตูล ผอ.พอช.บอกว่า ส่วนนี้จะเป็นโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้โดยเป็นโครงการซ่อมแซมและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะให้กับครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเดิมทีเสนอไปที่รัฐบาลจะทำใน 120 ตำบล ซึ่งรวมการแก้ไขปัญหาที่ดินใน 20 พื้นที่ แต่ขณะนี้รัฐบาลอยากให้เราให้ความสำคัญกับ 696 หมู่บ้านที่ยากจนก่อน

นางทิพย์รัตน์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ก็จะมีการทำเรื่องสภาองค์กรชุมชน เนื่องจากว่า พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ออกเมื่อเดือนมกราคม 2551 และให้ พอช.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุน สภาองค์กรชุมชนระดับตำบล คือจะทำอย่างไรให้องค์กรชุมชนระดับตำบลมีการรวมตัวกัน มีเวที เกิดเป็นสภา ที่จะสามารถมาพูดคุยปัญหา วางแผนแก้ปัญหาตัวเองและบูรณาการแผนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือว่ามีส่วนที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญโครงการต่างๆ หรือแผนของอปท.ในพื้นที่ หรือจะทำอย่างไรให้สภาองค์กรชุมชน หนุนเสริมองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืนขึ้น พึ่งตนเองได้ เราก็มีหน้าที่สนับสนุนการจดแจ้ง การจัด ตั้งสภา รวมทั้งการจัดเวทีประชุม ระดับจังหวัด ระดับชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่ พอช.ทำ

ส่วนยุทธศาสตร์ข้างหน้าของ พอช. นางทิพย์รัตน์ บอกว่า ยุทธศาสตร์ของพอช.ข้างหน้าที่สำคัญคือ การพัฒนาโดยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยที่ตำบลจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่จะทำอย่างไรให้ระดับตำบลสามารถวางแผนตัวเองได้ มีแผนการพัฒนาของตัวเอง ที่เกิดการมีส่วนร่วมทั้งของชาวบ้านและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูการจัดการที่ดิน การจัดการทรัพยากร แก้ปัญหาต่างๆ ของคนในชุมชน ในระดับตำบลแล้วยกขึ้นมาระดับจังหวัด เกิดการบูรณาการแผนกับจังหวัด นี่คือทิศทางข้างหน้าที่ พอช.ให้ความสำคัญ

“ปัจจุบันเรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรชุมชนระดับล่าง เรื่องความไม่มั่นคงของที่ดิน อันนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่เราจะให้การสนับสนุน ในการสร้างความเข้มแข็ง ในเรื่องการจัดการที่ดิน ทำอย่างไรให้องค์กรชุมชนในพื้นที่สามารถจัดการเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ทุนของตัวเอง โดยการบูรณาการทุนของตัวเอง และเกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้”

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า ในโอกาสที่ พอช.จะย่างเข้าสู่ปีที่ 10 เราจะเน้นในการใช้ยุทธศาสตร์พื้นที่เป็นตัวตั้ง และจะเน้นในเรื่องการพัฒนาเชิงคุณภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราได้ทำงานในเชิงปริมาณมามากแล้ว ต่อไปก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะยกระดับ ให้เกิดการทำงานที่เป็นเชิงคุณภาพ ทำให้องค์กรชุมชนมีอิสระ สามารถวางแผนตัวเองได้ และต่อไปข้างหน้าเขาก็จะเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ ได้ สามารถที่จะเชื่อมโยงโดยตรง โน้มน้าวแผนงานของหน่วยงานอื่น ปรับมาสู่แผนของชุมชน

เรื่องของสวัสดิการชุมชน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ พอช.สนับสนุนชุมชนให้ทำเรื่องสวัสดิกการของตัวเอง โดยมีการออมทรัพย์เพื่อจัดสวัสดิการดูแลคนในชุมชน ในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญ และได้ให้การสนับสนุน อย่างเช่น 3,100 ตำบลที่ทำสวัสดิการชุมชนมาแล้ว รัฐบาลก็จะสมทบให้ รวมทั้งจะมีการขยาย เรื่องของสวัสดิการชุมชนไปอีก 2,000 ตำบล ก็เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ระบบสวัสดิการชุมชน มีการจัดการที่ดี และสามารถดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตายได้ในพื้นที่ของตัวเอง

“พอช.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน โดยชุมชนเป็นตัวหลักในการทำงาน ในการพัฒนา ถ้าเป็นคำจำกัดความ พอช.คงเป็นเพื่อนกับองค์กรชุมชน” นางทิพย์รัตน์ กล่าว