จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สภาองค์กรชุมชนฯ สงขลาจัดประชุมระดับจังหวัด


ที่ประชุมระดับจังหวัดสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาจัดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 1/2552 สรุปผลการดำเนินงานในรอบปี และนำเสนอแผนการพัฒนาต่อจังหวัด

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา สภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสงขลาจัดการประชุมระดับจังหวัดสมัยสามัญครั้งที่ 1/2552 โดยมีนายเมธี ณ นคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานการประชุม โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้วจำนวน 36 ตำบล และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งที่ปรึกษาเข้าร่วม ประมาณ 90 คน

นายประพาส บัวแก้ว ในฐานะตัวแทนที่ประชุมระดับจังหวัด ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจัดตั้งในปี 2551 จำนวน 18 ตำบล ว่า มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเกือบทุกสภาฯ มีการพัฒนาศักยภาพสภาองค์กรชุมชนตำบล การจัดทำแผนและบูรณาการแผนกับภาคีในระดับพื้นที่และมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี นอกจากนี้ในปี 2552 มีการขยายพื้นที่จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเพิ่มเติมอีก 18 ตำบล รวมเป็น 36 ตำบล โดยก่อนหน้านี้มีการประชุมเครือข่ายทั้ง36 ตำบล เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันในระดับจังหวัดแล้ว

ด้านนายเมธี ณ นคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าว ในการเปิดการประชุมว่า “ตนให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดสงขลามาโดยตลอด เพราะได้ยินชื่อเสียงตั้งแต่ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งที่นี่ และปัจจุบันตนเองก็ได้รับมอบหมายภารกิจด้านชุมชนจากผู้ว่าราชการจังหวัด จึงทำให้ใกล้ชิดกับพี่น้องชุมชนมากขึ้น จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง โดยดูได้จากเครือข่ายชุมชนที่ทำกิจกรรมลดรายจ่ายวันละบาทเพื่อจัดสวัสดิการชุมชน ซึ่งเหลืออีกไม่ถึงสิบตำบลก็จะครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว อีกอย่างหนึ่งตนเป็นประธานกรรมการรับรององค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชน ซึ่งเห็นได้ว่ามีองค์กรชุมชนจำนวนมากที่มาขอจดแจ้งรับรององค์กร และต้องให้เครดิตกับ พอช.ด้วย ที่ช่วยกันทำงานเพื่อพี่น้องชุมชน จนเรามีวันนี้
สภาองค์กรชุมชนตำบล คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพี่น้องขบวนชุมชนสงขลา แต่ใหม่ตรงที่มี พรบ.ซึ่งเป็นกฎหมายมารองรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะจะได้มาช่วยคิด ช่วยกันทำงาน คนที่รู้ปัญหาในชุมชนมากที่สุดก็ต้องเป็นคนในชุมชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็มีวิธีคิดแบบราชการ”


หลังจากนั้นนายระนอง ซุ้นสุวรรณ เป็นตัวแทนนำเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา
1. การเชื่อมโยงองค์กรชุมชนและการประสานภาคี
2. สร้างความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน
3. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
4. การรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน
6. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้
และข้อเสนอเชิงนโยบาย 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้รัฐแก้ปัญหาพื้นที่เกษตร(นา) ถูกรุกด้วยพืชพลังงานและทุนข้ามชาติ 2. ให้เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติด 3. แก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบ 4. แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมและ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการตื้นเขินของทะเลสาบ 6.ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกระดับ 7.ให้เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว

นอกจากนี้ได้ขอให้ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดได้เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือนของจังหวัดด้วย ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้รับปากที่จะรับไปดำเนินการ

จากนั้นเป็นการพิจารณาเรื่องกติกาการประชุมในระดับจังหวัด ซึ่ง อ.ปาฎิหารญ์ บุญรัตน์และคณะได้ไปยกร่าง โดยที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีการลงมติ และนัดให้นำไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีการนัดหมายให้มีการสัมมนาเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลาทั้งหมด เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2552 ที่ สสว.12 จ.สงขลา