จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ขบวนองค์กรชุมชนกับการพัฒนาประเทศในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดงานสมัชชาองค์กรชุมชนระดับชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ “พลังชุมชน เข้มแข็ง เปลี่ยนแปลงสังคมไทย” ณ ห้องประชุมวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งคณะประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ.)ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมจัดประชุม โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงาน สถาบันวิชาการ ประมาณ ๙๐๐ คน เข้าร่วมงาน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน คือ การทำงานเคียงคู่กับภาคประชาชน นโยบายที่ประกาศจึงสอดคล้องกับแนวทางที่ประชาชนเรียกร้อง ทั้งเรื่องสวัสดิการ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน สื่อ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยรัฐบาลเป็นผู้หนุนเสริมภาคประชาชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จึงมีการตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติด้วย

รัฐบาลพยายามแปลงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนแนวทางการทำงานร่วมกับประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคประชาชนขึ้นเพื่อรับเรื่องของประชาชน ซึ่งจะมีการประชุมเรื่องมาตรา 67 กรณีมาบตาพุด ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน เรื่องแผนชุมชนที่เราเคยคิดมานานแล้ว ก็จะนำมาพิจารณาเพื่อนำงบประมาณจากผู้ว่าซีอีโอมาสนับสนุนด้วย

“ผมยอมรับว่า ภาคชุมชนได้ก้าวหน้าไปมากกว่าภาครัฐ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องปรับในหลายเรื่องเพื่อทำงานร่วมกัน ถ้ารัฐบาลนี้มีอันเป็นไป รัฐบาลที่เข้ามาจะเปลี่ยนแนวทางนี้ไปหรือไม่ รัฐบาลชุดนี้ก็คิดเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน เพื่อให้เรื่องต่าง ๆ ของชุมชนไห้อยู่ถาวร เช่น เรื่องบ้านมั่นคง โฉนดชุมชน สภาองค์กรชุมชน สื่อชุมชน เป็นต้น และอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องนำไปคิด” นายสาทิตย์ กล่าว

หลังจากพิธีเปิดได้มีการเสวนา “ขบวนองค์กรชุมชน กับการพัฒนาประเทศในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นายนาวิน สินธุสอาด จากสำนักบริหารปกครองท้องที่ กระทรวงมหาดไทย ,นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ,นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สำนักสุขภาพแห่งชาติ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการ พอช. และอาจารย์ประภาส ปิ่นตกแต่ง นักวิชาการจากจุฬาวงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ กล่าวว่า สุขภาพในมิติการพัฒนาไม่ใช่เพียงแต่ความเจ็บป่วย และยาเพียงเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราต้องพูดถึงสุขภาวะ ที่มีเรื่องของสุขภาพรวมอยู่ในโครงสร้างของชุมชน คือรากฐานสำคัญทางสังคม การพัฒนาประเทศต้องทำให้เกิดความสมดุลของอำนาจ จึงได้เสนอ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ๔ ยุทธศาสตร์ คือ

หนึ่ง ยุทธศาสตร์ชุมชน ที่ให้องค์กรชุมชน เครือข่าย และการมีส่วนร่วม เช่น การพัฒนานโยบายสาธารณะเป็นฐาน
สอง ยุทธศาสตร์ปัญญา ใช้ความรู้เป็นฐาน (ความรู้ใหม่/ภูมิปัญญาท้องถิ่น) และการจัดการความรู้
สาม ยุทธศาสตร์วัฒนธรรม คือ จุดแข็งของขบวนองค์กรชุมชนที่เกิดจากความภาคภูมิใจของคนในชุมชน อันมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาชุมชน และจิตวิญญาณชุมชน
สี่ ยุทธศาสตร์การสื่อสารทางสังคม ที่เน้นพื้นที่ทางสังคม และการสื่อสารให้ทั่วถึง เป็นกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง ทั่วถึงิดจากความภาคภูมิใจของคนในชุมชนื่อมโยงแนวทางการดำเนินงานร่วมกัเกาะเกี่ยวกันให้เหนี่ยวแน่น

นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน กล่าวว่า เป้าหมายของเรา คือ ทำให้ข้างล่างเข้มแข็ง และขยายเรื่องที่ดีออกไป เชื่อมโยงเพื่อน ๆ ที่มีอยู่มาทำงานด้วยกัน ใช้ประเด็นต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ เป็นตัวบอกทิศทางการพัฒนาได้ เราจะสร้างโอกาสนี้อย่างไร เพื่อให้คนอื่นมาร่วมกับเราให้ได้ โดยได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และการให้สถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกัน ใช้สภาองค์กรุชมชน เป็นเรื่องที่ทุกคนนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน พูดคุยกันเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราไม่สามารถทิ้งเรือได้ แต่เราต้องคุยกัน ต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาคุยกัน สุดท้ายอยู่ที่เราจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงาน ถ้าเราเข้มแข็งจริง ๆ หน่วยงานเขาก็รับฟังเอง

ในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย ห้องเรียนรู้ออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ ขบวนองค์กรชุมชนกับระบบเศรษฐกิจ ,ขบวนองค์กรชุมชนกับวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม/การศึกษา , ขบวนองค์กรชุมชนกับการเมืองภาคพลเมือง, ขบวนองค์กรชุมชนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, ขบวนองค์กรชุมชนกับสื่อสร้างสรรค์ และขบวนองค์กรชุมชนกับภาคีสนับสนุน

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก :
http://www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=2777&Itemid=2