จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สัมภาษณ์ "ยุทธนา ทองวัตร" มหา’ลัยแย่งที่ดินทำกิน

ปัญหาการแย่งที่ดินทำกินของชาวบ้าน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในนามของการพัฒนา ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาครัฐร่วมกับเอกชน กลายเป็นปัญหาที่ระบาดลามไปทั่ว ไม่เว้นกระทั่งสถาบันการศึกษา ก็ยังเกิดปัญหานี้กับชาวบ้าน กรณีพิพาทแย่งที่ดินระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับชาวบ้านไสกลิ้ง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และมหาวิทยาลัยทักษิณกับชาวบ้านทุ่งลานโย ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง นับเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจยิ่ง “ยุทธนา ทองวัตร” หนึ่งในแกนนำชาวบ้านไสกลิ้ง ที่ลุกขึ้นมาเป็นคู่กรณีกับมหาวิทยาลัยทักษิณ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ได้รับรู้กันทั่วหน้า ดังต่อไปนี้

....................................................

คนที่ทำมาหากินอยู่ในทุ่งสระ บ้านไสกลิ้ง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ถ้าเป็นคนแก่ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นคนเข้าไปทำกินในชั้นลูกหลานรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 แล้ว ส่วนคนแก่ที่เกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ เท่าที่ยังมีชีวิตอยู่อายุมากสุดก็ 96 ปี ตอนนี้ เป็นอัลไซเมอร์จำอะไรไม่ได้แล้ว เกิดที่นี่เลย พวกเราสืบทอดมรดกมาจากรุ่นปู่รุ่นย่า ที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน ปู่ย่าเล่าให้ฟัง เจออุปสรรคทั้งลิง ทั้งค่าง ช้างป่า เสือ เข้ามากินพืชผล ควายป่าเข้ามาขวิดคนตายไปหลายศพ แต่ปู่ย่าเราก็ต้องทำกินอยู่ในทุ่งนี้ เพราะไม่รู้จะไปทำกินที่ไหน คนหนึ่งมีที่ทำกินในทุ่งสระไม่เกิน 10 ไร่ ของผมแค่ 3 ไร่ ไม่น่าไปประท้วงเลย เสียเวลา แต่จำเป็นเพราะเราไม่มีที่ทำกินจริงๆ พวกที่จะเอาที่ดิน ก็เลือกจะเอาเฉพาะที่ทำกินของ ชาวบ้าน ของญาติพี่น้องตัวเองไม่เอาที่สาธารณประโยชน์ทั้งหมด 9,000 กว่าไร่ เป็นที่ทำกินของชาวบ้าน 1,450 ไร่ ทำกันมาจนโล่งเตียน น่าจะออกเอกสารสิทธิ์ให้ได้แล้ว แต่ไม่มีใครทำให้ อยู่ดีๆ มหาวิทยาลัยทักษิณก็เข้ามา โดยชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อน ตอนแรกเขาจะเอาหมดเลย ทั้ง 1,450 ไร่ เขาไม่เอาพื้นที่ที่เหลือ เพราะยังเป็นป่ารก เป็นป่าพรุ

ตอนแรก ชาวบ้านก็ยอม เพราะหวังว่า มีนักศึกษามาอยู่ที่นี่เศรษฐกิจจะดีขึ้น จะได้หันไปขายข้าวขายน้ำ ทำหอพัก พอเอาเข้าจริงเขาก็ย้ายไปเปิดวิทยาเขตที่อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง แต่ก็ไม่ยอมคืนที่ดินทุ่งสระให้ชาวบ้าน วันดีคืนดีมหาวิทยาลัยทักษิณก็กลับ
มาเอาที่ดินของเราไปทำวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน และทางจังหวัดพัทลุงก็ขอที่ดินตรงนี้ บางส่วนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ จะนำไปสร้างพุทธมณฑลอีก

กลับมาคราวนี้ ไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากิน เขาขู่ว่าถ้าใครเข้าไปถือว่าบุกรุก จะแจ้งความดำเนินคดีพวกเราคัดค้านไม่เอาวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ไม่เอาพุทธมณฑลเพราะไม่มีนักศึกษามาเรียนประจำ มีแต่อาคาร ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินทำกินไม่มีรายได้จะหันไปทำอาชีพใหม่ ก็ไม่มีนักศึกษารองรับ มันผิดวัตถุประสงค์เดิม ที่มหาวิทยาลัยทักษิณเคยขอที่ดินไปใช้ปี 2550 เขานัดชาวบ้านประชุมหลายครั้ง ทุกครั้งพูดแต่จะเอาที่ดินชาวบ้าน ไม่ได้ถามชาวบ้านว่า จะอยู่กันอย่างไร จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ถูกยึดที่ดินทำกินอย่างไร

มีอยู่ครั้งหนึ่งนายอำเภอควนขนุนมาด้วย ชาวบ้านก็ไปกันเยอะมีมติว่า ให้ถอยกันคนละก้าวเราก็ยอม หลังจากนั้นทางจังหวัดพัทลุงก็ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาพิจารณา เราก็ขอให้เขากันที่ดินให้สัก 300 ไร่ พอได้ทำนา ปลูกผัก หาปลา เลี้ยงวัว เขาก็ให้เอาตามแนวเส้นที่เขาวัดไว้ก่อนแล้ว บอกว่าขาดเกินไม่กี่ไร่ ชาวบ้านเลยบอกว่าต้องไปวัดที่ก่อน พอวัดจริงๆ ชาวบ้านได้แค่ 210 ไร่ มหาวิทยาลัยทักษิณได้ไป 635 ไร่ ชาวบ้านก็ไม่ยอม เลยกลับไปคัดค้านกันที่สำนักงานวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ที่ทุ่งสระ ชาวบ้านเริ่มประท้วงมาตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันที่ดินที่เขาใช้จริงไม่กี่ไร่หรอก เขามาขุดเป็นหลุมเป็นบ่อ อ้างว่าปรับภูมิทัศน์เสียเต็มพื้นที่

ตอนที่เขาจะแบ่งที่ดินให้ชาวบ้าน 210 ไร่ มหาวิทยาลัยทักษิณบอกว่า ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ที่เพิ่ม จะขอเพิ่มเติมอีก ถ้าเป็นแบบนี้ วันดีคืนดีเขามาเอาที่ดินอีก ชาวบ้านจะทำอย่างไรตอนนี้พื้นที่ที่จะแบ่งให้ชาวบ้าน 210 ไร่ เขากำลังล่าลายเซ็น นำไปสร้างพุทธมณฑลอีก ก่อนหน้านี้ วางแผนกันถึงขั้นจะทำพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพ เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างพุทธมณฑล พอชาวบ้านคัดค้านเรื่องเงียบไปพักใหญ่ ตอนนี้ทำท่าจะกลับมาอีกแล้ว บางคนไม่มีที่ทำกินอื่นเลย บางคนมีที่ดินอื่นก็พออยู่ได้ เราจะปล่อยเลยตามเลยได้อย่างไร ก็ต้องช่วยกัน เพราะทำมาหากินด้วยกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไปขอความช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ เขาก็บอกว่า ชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณะ ไปขอความช่วยเหลือจากที่ไหน ก็ไม่มีหน่วยงานไหนช่วย ชาวบ้านไปแจ้งความมหาวิทยาลัยทักษิณ บุกรุกที่ทำกินชาวบ้านเพราะเข้ามาก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่สถานีตำรวจภูธรทะเลน้อยไม่ยอมรับแจ้งความพวกเราไม่รู้จะพึ่งใคร เลยไปยื่นหนังสือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทางองค์การบริหารส่วนตำบลพนางตุงเอง ไม่กล้าแสดงออกชัดเจน แต่ดูท่าทีแล้ว โน้มเอียงไปทางมหาวิทยาลัยทักษิณ

มหาวิทยาลัยทักษิณบอกว่า จะจ่ายผลอาสินให้กับผู้ปลูกต้นไม้ แบบนี้คนทำไร่ทำนาปลูกข้าวก็ไม่ได้อะไรเลย ตอนแรกเขาบอกว่า คนที่ทำมาหากินตรงนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณจะรับเข้าทำงานทุกคน ถ้ามีการสอบเข้าจะพิจารณาชาวบ้านที่นี่เป็นอันดับแรก เอาเข้าจริง คนที่เอาเข้าไปทำงาน ก็มีแต่ลูกหลานของเขา เขาพูดเลยว่า คนจากบ้านไสกลิ้ง ไม่ต้องไปสมัคร เพราะยังไงเขาก็ไม่เอาคนที่คัดค้านไปทำงานด้วย

ในการประชุมร่วมแต่ละครั้ง คนที่ได้รับเชิญส่วนใหญ่ 90 – 95% เป็นคนของเขา เชิญพวกผมไป 3 คน ถามความเห็นที่ประชุม ที่ประชุมก็เห็นด้วยกับเขา เราแค่ 3 คน จะมีน้ำหนักอะไร การเข้ามาดูแลชุมชนของมหาวิทยาลัยทักษิณก็มีอยู่บ้าง แต่ดูแลเฉพาะบางกลุ่ม กลุ่มไหนได้รับจะรู้กันเฉพาะกลุ่มนั้นๆ กลุ่มอื่นไม่รู้เรื่อง

สรุปคือ ชุมชนไม่มีส่วนร่วมอะไร วันนี้ไม่ใช่ศัตรูก็เหมือนศัตรู เพราะเขาคิดสวนทางกับชาวบ้านการล่าลายเซ็นสร้างพุทธมณฑล ควรจะมาที่บ้านไสกลิ้งก่อน เพราะเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเขาบอกว่าถ้าคนในตำบลพนางตุงคัดค้าน เขาจะยอม แต่คนส่วนใหญ่ในพนางตุงไม่ได้เดือดร้อน คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ คนในหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เพราะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนี้ ส่วนอีก 11 หมู่บ้าน ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย

ผมเห็นว่าบางมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด แต่ก็สอนให้นักศึกษาจบออกมามีคุณภาพได้ ทำไมมหาวิทยาลัยทักษิณ ถึงต้องการที่เยอะขนาดนี้ มันหมายความอย่างไร ที่อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง พื้นที่ 3,000ไร่ ยังสร้างไม่เต็มพื้นที่ ทางมหาวิทยาลัยทักษิณยังไปเอาที่ สปก.ของชาวบ้านไปอีกหลายร้อยไร่ ดูตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เขาสร้างโรงแรมหารายได้ต่อไปถ้ามหาวิทยาลัยทักษิณจะเอาที่ดินชาวบ้านไปทำธุรกิจบ้างก็ทำได้ แถวนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทะเลน้อยด้วย

ตามแผนเขาจะสร้างเป็นอาศรมทั้งหมด 6 อาศรม ในเนื้อที่ 600 กว่าไร่ อาศรมละร้อยกว่าไร่ แล้วแผนแม่บทมันปรับเปลี่ยนตลอด แต่พอมาวันนี้ ชาวบ้านขอให้ปรับ จะได้เอาที่มาคืนให้ชาวบ้านทำมาหากินบ้าง เขาบอกว่าไม่สามารถปรับได้อีกแล้ว คนที่เดือดร้อนประมาณ 150 ครัวเรือน นับรวมลูกเล็กเด็กแดง เพราะเมื่อพ่อแม่เดือดร้อน ก็ส่งผลกระทบต่อลูก พอพ่อแม่เข้าไปทำมา หากินในที่ที่เคยทำกินไม่ได้ มีเด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน คนที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำนา ปลูกผัก พอไม่มีที่ให้ปลูกผัก ก็ไม่มีรายได้ วัยรุ่นคนหนุ่มสาวก็ทยอยออกไปอยู่ข้างนอก คนที่ยังอยู่ในหมู่บ้าน ก็ไปทำงานโรงงานที่สงขลา มีรถรับส่งทุกวัน ในหมู่บ้านมีแต่คนแก่ๆ คนที่พอทำงานได้ ก็ออกไปรับจ้างกรีดยางที่อื่น เราสู้แค่รักษาที่ดินทำกินเท่านั้นไม่ได้คิดจะเอาเอกสารสิทธิ์ !!

ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ http://www.oknation.net/blog/STCC/2009/06/19/entry-2