จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แผนพัฒนาภาคใต้ : ความทุกข์ระทมของคนเล็กคนน้อย


....ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า “ การพัฒนา” นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า การจ้างงาน และการสะพัดของเงินตรา และ ก็ไม่มีใครปฏิเสธเช่นกันว่า การพัฒนา นำมาซึ่งความย่อยยับของทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตของคนพื้นเมืองดั้งเดิม หากแต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอต่อสาธารณะชน ภาพที่ออกไปคือ ความสะดวกสบาย ศักยภาพในการผลิต อัตราการจ้างงาน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นความต้องการอย่างแท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เพราะสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ใช่ศักยภาพในการผลิต ไม่ใช่ การเข้าไปเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่การเพิ่มขึ้นของ GDP แต่เป็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม และการเปิดช่องให้กับองค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างเสรี
ทิศทางของการพัฒนา
จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสของการต่อสู้กับการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้มีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ กรณีของท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ไทย- มาเลเซีย ที่ อ. จะนะ จ. สงขลา กรณีของโรงไฟฟ้าที่ บ่อนอก และ บ้านกรูด อ.บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงแผนการสร้างเขื่อนทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางอีกหลายแห่ง ซึ่ง การพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ค่อยๆทยอย เคลื่อนเข้ามาในพื้นที่ และหากแบ่งยุคของการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุคด้วยกัน ได้แก่

ยุคแรกของการพัฒนา กลุ่มคนรุ่นแรกๆ ร่วมกันสร้างบ้านสร้างเมือง ด้วยการร่วมบริจาค ทั้งแรงงาน และกำลังทรัพย์ ช่วยกันขบคิด ช่วยกันกำหนด จัดสรรพื้นที่ ส่วนไหนเป็นที่ทำกิน พื้นที่สร้างชุมชน ส่วนไหนเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ สร้างวัด สร้างมัสยิด สร้างโรงเรียน และหรือถนนหนทาง ผู้คนในชุมชน ล้วนแต่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางทั้งสิ้น

ยุคที่สอง เป็นยุคการตื่นตากับการพัฒนา เป็นช่วงของการก่อสร้างการพัฒนาขั้นพื้นฐาน อาทิเช่นถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา การมีถนนเชื่อมต่อจาก จ.สงขลา – อ. จะนะ มีการขยายเขตสายส่งไฟฟ้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคที่ขบวนการพัฒนาเริ่มเข้ามาและส่งผลต่อความสะดวกสบาย สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับหนึ่งในการทำมาหากินของชุมชน

ยุคที่สาม ยุคการรุกรานของการพัฒนา ด้วยทรัพยากรเริ่มเสื่อมโทรม แม่น้ำถูกทำลายด้วยน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม ภายในสองปีเกษตรกรไม่สามารถทำนาได้เพราะน้ำเค็มรุกล้ำ ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงการถูกรุกราน อีกทั้งการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดทำได้เพียงแค่การชดเชยความเสียหาย ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ไม่สามารถทำมาหากินได้ การอพยพแรงงานเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้น ท่ามกลางทรัพยากรที่เสื่อมโทรม และ ฐานคิดเรื่อง “ตัวเงิน” ที่มีอิทธิพลมากกว่าฐานคิดเรื่องความสมดุลของทรัพยากร

ยุคที่สี่ยุคของการรุกสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองจากการสะสมของปัญหา หลายชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาทวงถาม หลายชุมชนรุกเข้าสู่การเรียกร้อง ความรุนแรงและการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยเกิดขึ้นทุกหัวระแหง การปะทะกันระหว่างอำนาจรัฐ และประชาชนเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงตามบริบทที่แตกต่าง ถึงที่สุด แกนนำที่ลุกขึ้นสู่ถูกเด็ดหัวไปที่ละราย สองราย ในขณะที่การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความย่อยยับของทรัพยากร ก็ยังเกิดขึ้นและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนากระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันคือ การพัฒนาก่อให้เกิดความเดือดร้อน เกิดปัญหา และผลกระทบต่อชุมชน ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็เริ่มตะหนักถึงปัญหา ขบวนกาหนุนช่วยระหว่างกันจึงเกิดขึ้น ท่ามกลางปัญหาที่เข้ามารุมเร้าทำให้องค์กรภาคประชาชนเติบโตและเข้มแข็งขึ้น หากแต่ ระหว่างทางต้องสูญเสียเลือดเนื้อของแกนนำไปหลายรายและจะสูญเสียอีกสักเท่าไหร่ ยังไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ได้

การมาเยือนของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
เมื่อทรัพยากรถูกมองในเชิงของมูลค่าโดยกลุ่มคนจากภายนอก การตีค่า และตั้งราคาก็เกิดขึ้น แผนพัฒนาภาคใต้ ก็เป็นเช่นเดียวกัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร ทั้ง ดิน น้ำ ป่า และชัยภูมิที่เหมาะสมในการคมนาคมขนส่ง แผนพัฒนาภาคใต้จึงถูกออกแบบมาเพื่อเน้นหนักไปที่กิจกรรม ๓ ด้านหลักคือ หนึ่ง ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมการประมง และการเกษตร สอง ด้านพลังงาน กิจกรรมของโรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า และปิโตรเคมี และสามด้านศูนย์กลางการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อการตักตวงทัพยากรที่เรียกว่า “ตัวเงิน” เข้ามาให้มากที่สุด โดยละเลยการมองและทบทวนในมิติของความสมดุลและอุดมสมบูรณ์ของทรัพยกร มิติด้านวิถีวัฒธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิของคนเล็กคนน้อยผู้หยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินนั้นทั้งสิ้น

ด้วยแผนพัฒนาถูกวางไว้ในทุกพื้นที่ของภาคใต้ ตามมุมมองด้านศักยภาพด้านการผลิตและทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ แทบทุกพื้นที่ของภูมิภาคนี้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า ทั้งแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย มีแผนการในการก่อสร้าง ในจังหวัดปัตตานี และ ศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล พร้อมห้องปฏิบัติการ ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยโครงการดังกล่าวที่มีแนวคิดเพื่อแก้ใขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ และลดความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในส่วนของจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่หลักในการดำเนินโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีแผนในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก สัมปทานเหมืองหินคูหาใต้ โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้าลิกไนต์-สะบ้าย้อย การสร้างเขื่อนลองภูมี ขื่อลำแซง-ลำขันการขุดลอกคลองเชื่อมอ่าวไทย-ทะเลสาบ ถนนปากบารา-สงขลา การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ รวมถึงการควบคุมและป้องกันมลพิษจากชุมชนโดยรอบขุดลอกทะเลสาบสงขลา ทั้งนี้รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมัน ๒,๐๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาไบโอดีเซล ภายใต้ความร่วมมือแผนพัฒนา เศรษฐกิจ ๓ ฝ่าย

ด้านกิจกรรมศูนย์กลางการท่องเที่ยว ด้วยโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวครบวงจร โดยใช้รูปแบบของการพัฒนากิจกรรม MICE และ Marina เพื่อรองรับการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล ในพื้นที่ จ. ภูเก็ต แผนการสร้างท่าเรือปากบารา ในพื้นที่ จ. สตูล แผนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกระแดะ และ นิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี การสร้างอ่างเก็บน้ำลาไม โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าแทน แผนการสร้างเขื่อน โครงการอ่างเก็บน้ำ ฝาย และสถานีสูบน้ำคลองกลาย โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อนท่าแซะ-รับร่อ ในพื้นที่ จ.ชุมพร แผนการสร้างเขื่อนลำแก่น สนามบินเกาะคอเขา- น้ำเค็ม ท่าเรือมารีน่า (Marina) นิคมอุตสาหกรรมท้ายเหมืองในพื้นที่ จ. พังงา แผนการสร้างอุตสาหกรรมบางสะพานในพื้นที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ และ แผนการสร้างเขตอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือกันตัง เขื่อนคลองลำซอน ในพื้นที่ จ.ตรัง

แทบทุกหัวระแหงของภาคใต้จะค่อยๆถูกปรับ และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุทธศาสตร์หลักที่ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ การแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรย่อมเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายพื้นที่ที่กำลังดำเนินโครงการ ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว หลายพื้นที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการและประเมินผลกระทบ และอีกหลายพื้นที่ยังเป็นเพียงร่างแผนการ อย่างไรก็ตามหากภาคประชาชนยังไม่สามารถร่วมเป็นหนึ่งเดียวได้ โครงการต่อเนื่องหลากหลายโครงการย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่จะเร็ว หรือช้า เท่านั้น

บ้านใครใครก็รัก บ้านใครใครก็หวง
แทบทุกพื้นที่ของภาคใต้ ตั้งแต่เปิดประตูบ้านที่ชุมพร ไล่ลงมาถึง นราธิวาส ล้วนแล้วแต่ถูกเปิดเพื่อรองรับการพัฒนา แทบทุกพื้นที่จะเกิดกิจกรรมเพื่อรองรับธุรกิจต่อเนื่องของแผนพัฒนาอย่างถ้วนหน้า ปรากฏการณ์ ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ การแย่งชิงทรัพยากร ทั้งที่ดิน น้ำ พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการประมง ฐานทรัพยากรด้านอาหาร ระหว่างกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมกับระบบทุน ในขณะที่ปรากฏการณ์ในปัจจุบัน การแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในหลายพื้นที่ หากแต่กฎหมายที่บัญญัติเพื่อรับใช้คนเล็กคนน้อยไม่สามารถเข้ามาช่วยจัดการได้ด้วยถูกบิดเบือนโดยผู้ถือกฎหมายเสียทั้งสิ้น

กว่า ๑๐ ปีของคนจะนะ ที่ลุกขึ้นสู้กับโครงการ ท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ จะนะ จ. สงขลา กว่า ๑๐ ปี ที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ลงมาในระดับพื้นที่ และทำร้ายชุมชนท้องถิ่น ทำลายทรัพยากรของชุมชน ท้องทะเลถูกเปิดด้วยแนวท่อขนาดใหญ่ที่ผงาดขึ้นฝั่งที่ ต. สะกอม ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ( วะกัฟ) ถูกแย่งชิง พื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านเคยใช้เลี้ยงวัวลดลง แนวท่อพาดผ่านพื้นที่ป่าสันทราย ที่เป็นแหล่งสั่งสมความหลากหลายทางชีวภาพ หลายครอบครัว ต้องขายที่ ย้ายบ้านออกไปอยู่ที่อื่น หลายครอบครัวประสบกับปัญหาฝุ่นควัน และมลภาวะทางเสียงจากการก่อสร้าง ฯลฯ หลากหลายเหล่านี้ เป็นเพียงปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า เมื่อ โรงแยกก๊าซตระหง่านขึ้นมาและดำเนินการเต็มสูบ จะเกิดอะไรขึ้น กับคนเล็กคนน้อยในชุมชนบ้าง

นี่เพียงตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากแผนพัฒนาขนาดใหญ่เท่านั้น แล้วพื้นที่อื่น ที่กำลังเร่งเครื่องแผนการพัฒนา จะเป็นอย่างไร พื้นที่ก่อสร้างท่าเรือจะกระทบกับประมงพื้นบ้าน คนเล็กคนน้อยหาเช้ากินค่ำมากมายเพียงไหน พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม กับการจัดการเรื่องมลภาวะทางน้ำ เสียง และอากาศจะกระทบกับชุมชนรอบข้างหนักหนาปานได การขุดลอกทะเลสาบ จะทำลายความสมดุลทางนิเวศวิทยาของพื้นที่สักเท่าไหร่ฯ แล้วคนหาปลาในทะเลสาบจะเป็นอย่างไร ใครจะสามารถตอบคำถามนี้ได้

สิ่งที่เราต้องการ คงไม่ใช่เพียงแค่การตอบคำถาม และแนวทางการแก้ใขกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เข้าข้างกลุ่มทุน แต่สิ่งที่เป็นความหวังคือ การยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ คืนความเป็นชุมชน คืนทรัพยากร คืนที่ดินสาธารณะ คืนความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลา คืนความหลากหลายทางชีวภาพ ให้กับผู้ใช้ประโยชน์ และหาอยู่หากินกับทรัพยากรเหล่านี้

โดย : ศิราพร แป๊ะเส็ง