จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นิยายชีวิตของคนพัทลุง เมื่อมหาวิทยาลัยฯไม่รู้จักพอ..

นิยายชีวิตของคนพัทลุง เมื่อมหาวิทยาลัยฯไม่รู้จักพอ

ถึงแม้มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง จะเปิดเรียนแล้วหลายปี แต่ปัญหามหาวิทยาลัยฯ รุกที่ดินทำกินของชาวบ้านก็ยังไม่จบ สถานการณ์ล่าสุด ยังคงมีผู้อาศัยทำกินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เคยเข้ามารังวัดเตรียมจะออกเอกสาร สปก. 4 – 01 ให้แล้วเมื่อตอนต้นปี 2537

ทว่า ช่วงปลายปี 2537 มหาวิทยาลัยทักษิณ ก็เข้ามาประกาศอาณาเขตของมหาวิทยาลัยฯ ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโยตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม เลยไปทับเอาที่ดินของชาวบ้าน 27 ราย รวมเนื้อที่ 300 ไร่ ที่กำลังจะได้ สปก. 4 – 01 ไปด้วย

ลุงเยื้อน ทองหนูนุ้ย เล่าให้ฟังว่า ที่ดินผืนนี้ เดิมอยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติป่าเกาะเต่าคลองเรียน ที่ทางกรมป่าไม้เพิกถอนสภาพป่า สงวนแห่งชาติ มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำมาปฏิรูปให้ชาวบ้านทำกิน ปัญหาเกิดขึ้น เพราะทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งต้องการพื้นที่ 3,500 ไร่ ยึดถนนศรีไสวด้านหลังของมหาวิทยาลัยฯ เป็นแนวเขต ส่งผลให้ครอบคลุมไปทับที่ดินในเขต สปก. ไป 300 ไร่

ขณะที่ที่ดินในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ซึ่งก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จะเข้ามายึด มีชาวบ้านทำกินอยู่ก่อนแล้ว จนบัดนี้ยังคงมีชาวบ้านบางส่วนเข้าไปทำประโยชน์อยู่ ทว่า เกือบทั้งหมดยอมถอย หลังจากต่อสู้ยืดเยื้อ กระทั่งมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายอยู่ระยะหนึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณยินยอมจ่ายค่าผลอาสิน เฉพาะที่เป็นไม้ยืนต้น พร้อมกับสร้างหมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนาบนที่ดินที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ยึดมาจากชาวบ้านให้อยู่อาศัย ผู้ที่ได้รับสิทธินี้ จะต้องมีบ้านเลขที่ อยู่ในที่ดินที่ทางมหาวิทยาลัยทักษิณยึดมา โดยจัดสรรที่ดินให้หลังละ 2 ไร่

มีผู้อยู่ในเกณฑ์จะได้รับจัดสรรที่ดินประมาณ 90 ครอบครัว เป็นครอบครัว ที่อยู่อาศัยในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย 60 กว่าครอบครัว และชาวบ้านในที่ดิน สปก. อีก 27 ครอบครัว

ขณะที่ชาวบ้านในเขต สปก. ไม่ยอมรับเงื่อนไขของทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ก็ยอมจำนนปัญหาใหม่ ก็คือ ที่ดิน “หมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา” ส่วนใหญ่ติดอยู่ในที่ดิน สปก. ที่ชาวบ้านกำลังยืนยันสิทธิ์นี้อยู่ ส่งผลให้หมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา ในส่วนที่ติดในเขต สปก. มีชาวบ้าน เพียงรายเดียว ที่ถูกไล่มาจากที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย ยินยอมใช้สิทธิรับเอาที่ดิน 2 ไร่ นำไปขายต่อให้กับบุคคลภายนอกแล้ว

นั่นหมายถึงว่า ปัญหาใหม่กำลังจะเกิดตามมา เมื่อถึงคราวที่เจ้าของเดิม นำที่ดินแปลงนี้ ไปออกเอกสาร สปก. 4 – 01 หลังจากกระทรวงมหาดไทย
ออกหนังสือสำคัญที่หลวง ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งลานโย โดยแยกที่ดิน สปก. ออกจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ

ด้วยความสับสนวุ่นวายดังกล่าว จึงมีผู้ใช้สิทธิ์รับที่ดิน 2 ไร่ ในพื้นที่ หมู่บ้านทุ่งลานโยพัฒนา เฉพาะในฟากที่อยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ทุ่งลานโยเดิมประมาณ 30 ราย เท่านั้น ขณะที่อีก 30 กว่าราย ไม่กล้าใช้สิทธิ์รับที่ดิน 2 ไร่ ในฝั่งที่ทับซ้อนกับที่ดิน สปก.

มิพักพูดถึงผู้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ สปก. 27 ราย ที่ไม่ใช้สิทธิ์นี้อยู่แล้ว ล่าสุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยุติการก่อสร้างใด ๆ ทั้งในพื้นที่ตำบลพนางตุง และตำบลบ้านพร้าว จนกว่าจะขอใช้พื้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ

ให้มหาวิทยาลัยฯ ก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ในตำบลพนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่ก่อสร้างไปแล้ว โดยให้เทศบาลตำบลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสระต่อไป และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตำบลบ้านพร้าวให้กับราษฎร ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน พร้อมทั้งชดเชยค่าเสียสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ตามระยะเวลาที่ไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จริง ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

พร้อมกับให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบระเบียบและแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยทักษิณมีสถานะเป็นทบวงการเมือง ตามมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ เพื่อกำหนดขั้นตอนที่ถูกต้องในการขอใช้ประโยชน์จากที่ดินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

ชะตากรรมของชาวบ้านทั้ง 2 พื้นที่ ยังคงต้องรอดูผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
.
จาก : ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ http://www.oknation.net/blog/STCC