จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ผู้ว่าเมืองคอน ลั่นฆ้องชัย! เปิดตัวโครงการความร่วมมือฯ

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชลั่นฆ้องชัย ส่งสัญญาณเดินเครื่องตามแผนความร่วมมือแก้จน ระยะที่ 2 หลังเฟส 1 ประสบผลสำเร็จ ชูพัฒนาแผนแม่บทชุมชน และระบบฐานข้อมูลชุมชน 60 ตำบลนำร่อง เป็นเครื่องมือหลักในการบูรณาการงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาในจังหวัด จัดเวทีเปิดตัวโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของภาคีการพัฒนา ณ ห้องประชุมใหญ่ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552


นายภานุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในโอกาสการเปิดงานว่า “หลังจากที่ท่านวิชม ทองสงค์ ได้ขึ้นเริ่มต้นงานพัฒนาเมืองนครศรีธรรมราชไว้อย่างดี ผลการทำงานโครงการความร่วมฯ ระยะที่ 1 ได้สร้างฐานงานพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมไว้อย่างมั่นคง หากมีขบวนการจัดการที่ดีต่อไป ทุกอย่างก็จะดำเนินไปตามทิศทางของงานที่วางแผนไว้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าภูมิใจคือ ความรัก ความรวมใจ ความสามัคคีของพี่น้อง การรวมเป็นหนึ่งเดียวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก วันนี้งานตรงนี้ก้าวหน้าไปมาก ซึ่งนับเป็นความโชคดีของชาวนครศรีฯ เป็นพลังที่เห็นได้อย่างชัดเจน และยืนยันว่า ตนจะสานงานต่อไป ให้เกิดการบูรณาการงานพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างมีประสิทธิภาพ”

จากนั้นมีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง โดยมีนายคณพัฒน์ ทองคำ เป็นตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่เป้าหมาย นายทวี วิริยฑูรย์ ผู้แทนจากภาคประชาสังคม นายณรงค์ คงมาก จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)สำนักงานภาคใต้ และนายประยงค์ หนูบุญคง ประธานคณะทำงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้ข้อตกลง
๑.)ยึดหลักการการทำงานเชิงบูรณาการ การมีส่วนร่วม การเป็นหุ้นส่วน การเสริมหนุนซึ่งกันและกัน
๒.)สนับสนุนให้ใช้ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ สถานที่ ฯลฯ ตามความเหมาะสมเพื่อการทำงานร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง
๓.)จัดให้มีกลไกเพื่อการพัฒนาสู่ตำบลเข้มแข็ง ที่มีผู้แทนจากทุกหมู่บ้านประกอบเป็นองค์คณะ มีระบบการบริหารจัดการที่ต่อเนื่อง สามารถสาน เชื่อมโยง ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และองค์กรภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาตำบล
๔.)มีการถักทอ เชื่อมโยงกิจกรรมของกลุ่ม องค์กร เครือข่าย และภาคีสนับสนุน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในตำบล
๕.)มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เป็นปัจจุบัน และเชื่อถือได้ ในระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล เพื่อใช้สนับสนุนกระบวนการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาและสร้างการเรียนรู้ในทุกระดับ
๖. พัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น และการเมืองภาคพลเมือง

หลังจากลงนามในบันทึกความเข้าใจในการทำงานร่วมกันแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชลั่นฆ้องชัย เป็นสัญญาณเริ่มต้นการดำเนินงานตามแผนงานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนการพัฒนาสังคมและสุขภาวะ จ.นครศรีธรรมราช ระยะที่ 2

ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับการเสนอให้เป็นจังหวัดนำร่องเพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อสนับสนุนให้มีการนำแผนแม่บทชุมชนระดับต่าง ๆ และประเด็นยุทศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ บนฐานข้อมูล / ความรู้ 2) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศตำบล ให้มีขีดความสามารถในการสนับสนุนงานพัฒนาระดับพื้นที่ และ 3) เพื่อพัฒนากลไกความร่วมมือ ให้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น และขยายวงกว้างขึ้น ภายใต้วิธีการดำเนินงานที่สำคัญคือ การสร้างรูปธรรมจากแผนแม่บทชุมชน การยกระดับแผนแม่บทระดับตำบลขึ้นสู่แผนจังหวัด การพัฒนาระบบสารสนเทศตำบลและยกระดับสู่ระบบสารสนเทศจังหวัด และการจัดการความรู้

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา "นานาทัศนะว่าด้วยการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม"
โดยนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงการทำงานของโครงการความร่วมมือฯ ว่า “การเคลื่อนงานของโครงการมีคณะตัวแทนของพื้นที่ทั้ง 60 ตำบลที่ขับเคลื่อนงาน ร่วมกับภาคีการพัฒนา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นระยะที่ 2 ซึ่งระยะที่ 1 คือการเริ่มต้นวางรากฐาน และระยะที่ 2 คือ การรับนโยบายจากผู้ว่าฯที่ได้มอบนโยบายไว้ ถ้าดำเนินการจริง ๆ จัง ๆ ส่งผลสะเทือนทั่วทั้งประเทศ ท้องถิ่นก็ได้รับประโยชน์ ..... ส่วนราชการก็ชื่นใจว่าเป็นการลงไปพัฒนา การเอางบประมาณไปหนุนเสริมก็มีผลงานเป็นที่ปรากฏ

นายวิชม กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นแบ่งเป็นขั้นดังนี้ เริ่มจากขั้นแรก หัวใจสำคัญคือ ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น ครอบครัวต้องอบอุ่น ขยันขันแข็งตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนควรเข้มแข็งตามแนวทางชุมชนเกษตรอินทรีย์ ส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องทำงานมีประสิทธิภาพ โดยมีภาคีการพัฒนา ภาควิชาการ หน่วยงานต่างๆ เข้ามาหนุนเสริมเพื่อทำให้เกิดระบบฐานรากที่แข็งแกร่ง
ระดับที่ 2 คือ แนวคิดเรื่องนคร เมืองมงคล คนทำดี นั่นคือการมีสัมมาอาชีพ ระดับที่ 3 คือการประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ สร้างตำบลแห่งความพอเพียง ระดับที่ 4 คือ อบจ.เข้ามาเติมงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น ขั้นที่ 5 การพัฒนาเป็นเครือข่ายเพื่อสังคม เช่น ทนายความเพื่อสังคม ต่อมาขั้นที่ 6 ภาคเอกชนก็จะเกิดความคิดคืนกำไรให้สังคมมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า CSR ขั้นที่7 คือ มหาวิทยาลัยประจำจังหวัด ทำงานวิจัยที่ช่วยหนุนเสริมท้องถิ่น และเมื่อหลายๆฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือชุมชนแล้ว
ขั้นที่ 9 คือ คุณอำนวยระดับตำบล คุณเอื้ออำเภอ ซึ่งต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านต่างๆในการทำกิจกรรม เพื่อร่วมกันมุ่งไปสู่การทำให้เกิดการจัดการความรู้ มีระบบข้อมูล มีระบบบสารสนเทศ และสุดท้ายเกิดเวทีพัฒนาระดับนโยบายจังหวัดนี่คือทั้งหมดของความร่วมมือ

ด้านนายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)สำนักปฏิบัติการภาคใต้ กล่าวถึงความร่วมมือในการทำงานพัฒนาว่า “ความร่วมมือ โดยคำพูด ตนก็ถือว่าเป็นความดีอยู่ในตัวแล้ว แต่ในบริบทงานจริงๆที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ความร่วมมือก็อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เวลาที่มีไม่ตรงกัน นโยบายของแต่ละภาคส่วนที่อาจไม่เหมือนกัน รวมทั้งผลประโยชน์ที่อาจขัดแย้งกัน ก็อาจจะเป็นอุปสรรค....ถ้าไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ได้ ความร่วมมืออาจเกิดยาก เช่นกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรึกษาหารือกัน อยากย้ำว่า ขอให้พวกเรามีความเชื่อมั่นในพลังของความร่วมมือ สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น แน่นอน...

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม หรือในชุมชนวันนี้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมากกว่าที่ใครคนหนึ่งจะทำเพียงคนเดียวได้ ในงานพัฒนาสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ายิ่งพัฒนายิ่งเกิดปัญหา วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ในชุมชนแย่ลง ถ้าเรามองย้อนกลับไปดูที่ชุมชนของเราก็จะพบเช่นนั้น

เราได้บทเรียนการทำงานพัฒนาคือ คือการทำงานเพียงคนเดียว หรือฝ่ายเดียว โดยเฉพาะราชการนำไปสู่ผลกระทบมากมาย ดังนั้นวันนี้ถ้าเราจะแก้ปัญหาชุมชนโดยลำพังคงไม่ดี เพราะปัญหาทุกวันนี้ซับซ้อน
วิธีการที่สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆคือ ชุมชนทำงานเริ่มต้นจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง แล้วจะนำไปสู่ความคิดต่อไปว่าเรื่องนี้จะต้องทำงานร่วมกับใคร ที่สุดก็จะนำไปสู่ความคิดว่าจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆได้อย่างไร พวกเราจะมีทักษะเฉพาะด้าน แต่ถ้าเรามองภาพรวมแล้วสร้างความร่วมมือที่จะให้ทักษะต่างๆได้มาร่วมงานกัน ก็จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความเจริญ เกิดการพัฒนาที่ดี เช่น พอช. เชื่อมล่าง ประสานบน เชื่อมภาคประชาชนฐานล่าง และเราก็มองดูที่นโยบายรัฐบาลเพื่อที่จะประสานนโยบาย หรือนำนโยบายมาสนับสนุนภาคชุมชน โดยเราพอช.ที่เป็นองค์การมหาชน มีความยืดหยุ่นในการจัดการงบประมาณก็พร้อมจะมาหนุนเสริม อีกทั้งขณะนี้มีกฎหมายสภาองค์กรชุมชน ที่จะช่วยเสริมการประสานงานในท้องถิ่น ซึ่งสามารถนำมาเป็นเครื่องมือให้กับพี่น้องประชาชนได้"

ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานโครงการความร่วมมือฯในระยะที่ 2 เป็นความท้าทายต่อคณะขับเคลื่อนงาน ทุกภาคส่วนที่เป็นภาคีพัฒนา ถืออีกมิติหนึ่งของการบูรณาการ ท่ามกลางความสลับซับซ้อนที่มีมาก พวกเราคงจะเดินไปดุ่ย ๆ ไม่ได้ การคิด การทำ การพูดคุย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานที่เรามีทีมงานขับเคลื่อนให้คำมั่นสัญญาว่าจะยืนหยัดเพื่อร่วมกันทำงานต่อไป โดยนำเทคนิควิธีการใหม่ ๆ มาปรับใช้ร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
....................................

ซาบีอา ยุทธกาศ : รายงาน
.........................................