จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้

โดย : punyha

โครงการสามประสานบ้าน วัด โรงเรียน สร้างครอบครัวต้นแบบ ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาเป็นฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาหลายด้าน เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องตลอดลุ่มน้ำรัตภูมี

วรัณ สุวรรณโณ ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำภูมี เคยกล่าวว่ากิจกรรมของโครงการสามประสานฯ ที่ไปเชื่อมกับองค์กรภายนอก สามารถผลักดันต่อยอดสู่เรื่องอื่น รวมทั้งแนวคิดก่อตั้งสถาบันภูมีศึกษา เพื่อรวบรวม ความรู้ในพื้นถิ่น จัดการฐานข้อมูลความรู้ของตัวเอง
“องค์ความรู้ที่ชุมชนสร้างมาเริ่มร่อยหรอลงไป เพราะว่าคนที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ กำลังจะหมดอายุไขลงไป ถ้าไม่รีบจัดความรู้ตั้งแต่วันนี้ ต่อไปเราจะขาด เพราะต้นของวิชา ไม่เหลือ ต้องตายไปพร้อมตัวคน เราจะทำในนามภาคประชาชนเพื่อเอาไปเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ให้คนรุ่นต่อไปเรียนรู้” วรัณกล่าวเอาไว้อย่างนั้นเมื่อปี 2551

25 มิถุนายน 2552 ความคิดดังกล่าวชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่งเมื่อกิจกรรมปลูกป่าชุมชนจุ้มปะ ในโครงการชาวภูมี ปลูกไทรและพันธุ์ไม้พื้นบ้าน 100,080 ต้น ถวายพ่อครั้งที่ 4 ซึ่งนายณรงค์พร ณ พัทลุง นายอำเภอรัตภูมิ มาเป็นประธาน มีการเปิดสถาบันภูมีศึกษาอย่างเป็นทางการ พร้อมกับธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้ ได้ใช้ห้องๆ หนึ่งในอาคารชั้นเดียวของโรงเรียนวัดเจริญภูผาเป็นสำนักงานถาวร

งานวันนั้นยังเป็นการเปิดตัวสภาลาวัดครั้ง 1 อันเป็นเวที ร่วมแลกเปลี่ยน ปัญหา สถานการณ์ในชุมชน ของแกนนำกลุ่มต่างๆ ในลุ่มน้ำรัตภูมี ที่กำหนดจัดครั้งต่อไปเดือนละครั้ง ถ่ายทอดทาง สถานีวิทยุรัตภูมิเรดิโอ 104.75 MHz สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาเพื่อชุมชน 101.0 MHz 92.25 MHz และwww.rattaphumcity.com อีกด้วย

เปิดสถาบันภูมีศึกษา

สถาบันภูมีศึกษาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และประกาศเริ่มภารกิจทันที

วรัณ สุวรรณโณ ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำภูมี เล่าว่าการทำงานกับภาคประชาสังคม เชื่อมกับหลายหน่วยงานระยะเวลาหนึ่ง เกิดองค์ความรู้ตลอดลุ่มน้ำรัตภูมีจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ถอดมาเป็นบทเรียน

“สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าต่อชุมชน แต่มันไม่เคยถูกจัดเก็บ ไม่มีกระบวนการจัดเก็บ”

นั่นเป็นบทสรุปร่วมกันของคณะกรรมการที่ทำงานว่าถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินการสถาบันภูมีศึกษาให้มีภารกิจจัดเก็บองค์ความรู้ ภูมิสถาปัตย์ เรื่องราวชุมชน ท้องถิ่น แบ่งเป็น2 รูปแบบ

•อนาล็อค หมายถึง สื่อที่จับต้องได้ เช่น ข้าวของเครื่องใช้ เอกสาร โบชัวร์ แฟ้ม หนังสือ หรือ ตำรับยา บทความสารคดี ลักษณะงานคล้ายพิพิธภัณฑ์ชุมชน

หลักการรวบรวมองค์ความรู้ส่วนนี้ ไม่ได้เก็บฐานความรู้อย่างดอกเตอร์ทำวิทยานิพนธ์ แต่มุ่งเก็บจากบุคคลเจ้าของความรู้นั้นๆ ให้แหล่งความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดโดยตรง โดยไม่มีการแปลงสาร

“ยกตัวอย่างมีหมอสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำประมาณ 15 ราย เราส่งกระดาษแผ่นเปล่าไปให้ เขาอยากเขียนอะไรให้เขียนออกมา ถ่ายทอดมา เท่าที่เราติดต่อไปเขายินดีอยู่แล้ว”

เป็นความตั้งใจของกระบวนการรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อที่จะเอาไปใช้งานได้จริงๆ วรัณให้ลองนึกภาพคนที่เดินเข้ามาสถาบันในอนาคต เขาเหล่านั้นสามารถเปิดหนังสือเรื่องตาพ่วง (พ่วง พรหมเพชร หมอรักษาโรคพิษสุนัขบ้าด้วยสมุนไพร ชาวรัตภูมิ ) ซึ่งจะพบกับหลักสูตรเกี่ยวกับรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ที่ใช้งานได้จริง

“เอกสารที่จะวางอยู่ในที่สถาบันเน้นเรื่องเฉพาะถิ่น เช่นหนังสือตาเจ้าเล็ก ตาพ่วงหมาบ้า ยายฉิม กล้วยแขก ป้าอ้อนขนมจีน คลองภูมี เป็นต้น”

ถึงขณะนี้วรัณพบว่ามีข้อมูลดิบจำนวนมาก เพียงแต่ไม่ได้จัดหมวดหมู่ สำหรับการใช้งาน ขั้นต่อไปเขาจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขา ตลอดสายน้ำคลองภูมี มาช่วยกันสังเคราะห์ข้อมูล และใช้สภาลานวัดลานชุมชนช่วยในการพัฒนา จัดการความรู้เหล่านี้ให้เหมาะกับชุมชน

•สื่อดิจิตอลจะเกิดจากการเอาส่วนอนาล็อคทั้งหมดซึ่งเป็นฐานข้อมูล มาแปลงเก็บไว้ในเวบไซค์ www.rattaphumcity.com/phumee ซึ่งเปิดดำเนินการ มีข้อมูลบางส่วนเผยแพร่ออกไปแล้ว เช่นนิทานพื้นบ้าน และข้อมูล ต่างๆ

“ที่สำนักงานสถาบันภูมีศึกษาเองเราต้องการให้ชาวบ้านเข้ามาใช้สื่อที่เป็นอนาล็อคได้ง่าย ยกตัวอย่างว่าเช่นจะดูไซดอ ก็เข้ามาหยิบจับเอง แต่เรายังจัดให้มีข้อมูลดิจิตอลอยู่ด้วยเป็นห้องโสตสำหรับฟัง เสียงซีดีหรือเปิดข้อมูลดิจิตอล” วรัณเล่าและว่า การบริหารสถาบันภูมีศึกษาใช้รูปแบบคณะทำงาน แบ่งภาระงานหน้าที่ ตามความถนัดเรื่องของของแต่ละคน

“สมมติว่าผมถนัดเรื่องโนรา ผมอาจเป็นแกนนำรวบรวมเรื่องโนรา อีกคนถนัดเรื่องพลังงานทดแทน ก็จะเป็นแกน ไปเชื่อมโยงในพื้นที่ เรื่องพลังงานมา เป็นหมวดหมู่ในเรื่องต่างๆ”

คณะทำงานดังกล่าวเบื้องต้นสืบต่อมาจากโครงการสามประสาน ฯ บ้าน วัด โรงเรียน สร้างครอบครัวต้นแบบยังขยายผลงานอื่นอีก เช่นธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้

สถาบันจะทำหน้าที่ทางการศึกษา ให้กับนักเรียน ไม่เฉพาะในโรงเรียนวัดเจริญภูผา ซึ่งเป็นที่ตั้ง แต่โรงเรียนทุกแห่งสามารถร้องขอมา“ โรงเรียนไหนอาจบอกว่าอยากเรียนรู้เรื่องการสานกรงไก่ แจ้งมาที่นี่เรา สามารถประสานจัดหลักสูตรให้เด็ก ที่นี่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมร้อย คำว่าชุมชนนั้นกว้าง เพราะเกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำคลองภูมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

สถาบันมีหน้าที่เป็นตัวเชื่อม ประสานองค์ความรู้ที่อยู่ในชุมชน ประสานคณะทำงาน ที่เป็นบุคคล ประสานเทคโนโลยี เครื่องมือ จัดกระบวนการ นำไปสู่การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ วรัณมองเป้าหมายสถาบันภูมีจะทำหน้าที่เป็นสถาบันองค์กรความรู้ลักษณะ “อาศรม”ที่ บูรณาการกับหน่วยงานอื่นอันเกี่ยวข้อง ไม่ว่า กศน. โรงเรียนรัฐ เอกชน โดยใช้รูปแบบสภาร่วมกันในการดึงความรู้ที่อยู่ในสถาบันให้เข้าหลักสูตรท้องถิ่น

ประภาส ชุมแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเจริญภูผา ในฐานะเจ้าของสถานที่จัดตั้งสถาบันภูมีศึกษา มองว่าผลประโยชน์ส่วนหนึ่งจะเกิดกับเด็กนักเรียน

“เราวางแผนให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องต่างๆ สอดคล้องกับระดับชั้น เช่น ป.1-3 รู้อะไร แค่ไหน ป. 4-6 รู้อะไร เริ่มจากเช็คว่าสื่อในสถาบันมีอะไรบ้าง เด็กระดับไหนควรจะต้องมาเรียนรู้ ตรงนี้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการหยิบยกภูมิปัญญา หรือของดีที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์กับชุมชน โดยไม่ต้องไปไหนไกล”

ประภาสเล่าว่า เท่าที่ผ่านมาหลักสูตรท้องถิ่นบ้านเรายังไม่ชัดเจน เหตุเพราะยังไม่เข้าใจกระบวนการจัดทำ หรืออาจมีแง่มุมปัจเจกมากเกินไป

“บางแห่งทำแล้วไม่เป็นที่ยอมรับทั่วไป อาจเพราะไม่เป็นสากล แต่สถาบันภูมีศึกษา เป็นการรวมผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เวลาเราพูดเรื่องอะไรจะมีคนหลากหลาย รู้เรื่องเดียวกัน อีกทั้งเน้นองค์ความรู้อันเป็นสุดยอด ล้ำค่าของท้องถิ่น ที่ยังไม่รู้ มองข้าม หรือไม่เห็นความสำคัญ หลักสูตรที่ออกมาจะเป็นแบบกลางๆ ที่ทุกโรงสามารถนำไปถ่ายทอด”ประภาสเชื่อว่าสถาบันน่าจะทำให้ได้เด็กเรียนรู้ สิ่งที่นำมาใช้เป็นประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันเสียที

ธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้

ใกล้สถาบันภูมีศึกษามีการเปิดธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้ ซึ่งเป็นกิจกรรมเชื่อมร้อยคนในลุ่มน้ำภูมี ให้เห็นกระบวนการการทำงานของภาคประชาชนต่อการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ให้คนเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้ตามแนวคิดของคณะทำงานเรื่องนี้ว่า “รักเดินตามรอยพ่อ รักดิน รักน้ำ รักป่า รักชุมชน ให้ทุกคนมีความสุขร่มเย็น”

วรัณเล่าว่าเคลื่อนเรื่องนี้โดยให้วัดเจริญภูผาเป็นศูนย์กลาง ตาเจ้าเล็กเป็นตัวเชื่อม

“ตาเจ้าเล็ก” หรือพระอธิการเล็ก ลมฺภโก ที่วรัญเล่า อดีตเจ้าอาวาสวัดเจริญภูผา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา และความภูมิใจของชาวบ้าน มีชื่อเสียงเลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์ และการรักษาโรคแผนโบราณ ตลอดจนปฏิบัติศีลจารวัตรดีงาม เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ซึ่งท่านมรณภาพเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2525 มีอิทธิพลต่อคนที่นี่อย่างสูง

“ธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้ เป็นแหล่งรวบรวม อนุบาล เพาะ ขยายพันธุ์ และเป็น สถานเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้”วรัณเล่า รูปแบบทั่วไปธนาคารจัดให้มีการฝากถอนต้นไม้สัปดาห์ละครั้ง

“คนสมัครสมาชิกจะเอาต้นอะไรมาก็ได้มาเปิดบัญชี ใช้ระบบแต้มสำหรับต้นไม้ที่มาฝาก เช่น ต้นไม้ยืนต้น 20 แต้ม พืชสวนครัวต้นละ 5 แต้ม ใครฝากพืชสวนครัวแต่ถอนตะเคียนทองไป เกินบัญชีไปกี่แต้ม ก็ต้องเอาไม้สวนครัวมาทยอยสมทบให้ครบ”

อย่างไรก็ตามคนไม่ได้ฝากต้นไม้ หรือเป็นสมาชิกอยู่ในพื้นที่ สามารถมาขอต้นไม้ไปปลูกได้ เพียงแต่กำหนดว่าไม้ประเภทไหนจะถอนไปใช้ได้ ไม้มีค่า เพาะขยายพันธุ์ยาก อาจตั้งราคาคะแนนไว้สูง ใครอยากได้ก็ต้องหาไม้อื่นมาแลก ใครเบิกเกินติดลบ แต่ส่งคืนภายหลังได้เพราะ ไม่ได้มุ่งเน้น เชิงพาณิชย์ การติดตามประเมินผล เป็นเชิงเยี่ยม ให้กำลังใจคนปลูกต้นไม้แต่ไม่ได้ไปจับผิด

ธนาคารต้นไม้เชื่อมกับสถานีวิทยุในเครือข่าย เพื่อประชาสัมพันธ์ว่าในแต่ละวัน ธนาคารมีต้นไม้ อะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามา เบิกหรือขาดต้นอะไรที่ต้องการให้คนมาฝาก

“ไม้ประจำถิ่นรัตภูมิ อันเป็นเอกลักษณ์ ชาวบ้านเรียกว่า ยีรู เป็นปาล์มอย่างหนึ่ง ขึ้นบนเขาหินปูน สมัยก่อนมักเอาไปทำระแนงบ้าน หรือมุงหลังคา สำหรับวันนี้เปิดทำการธนาคารวันแรกได้ต้นไม้บริจาคมาแล้ว 5,000 ต้น แต่ธนาคารต้นไม้มีภารกิจเพาะขยายพันธ์ด้วย เด็กนักเรียนจะเป็นบุคลากรในการมีส่วนดูแล บวกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก เช่นปุ๋ยเชื่อมกับ กศน.ที่มาส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพ การเพาะชำก็เอาไปบวกกับ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ และเครือข่าย หมู่บ้านสีเขียว อนาคตเราคิดว่าจะใช้ที่นี่ เป็นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้”

ประเวศ จันทะสระ ครูโรงเรียนเจริญภูผา เห็นว่าการพัฒนาลุ่มน้ำภูมีโดยเอาป่าไปไว้ริมคลอง

“ถ้าเอาคนมีที่ดินริมคลองช่วยปลูกเขาจะมีส่วนร่วมได้ ธนาคารต้นไม้ทำให้เขาก็ได้มีส่วนร่วมดูแลโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ขัดแย้งอะไรเพราะปลูกในดินเอง ธนาคารเข้าไปเชื่อมโยง ดูแล คนไม่มีส่วนร่วมมาก่อน เราพยายามดึงเข้ากิจกรรม 3 ประสานฯ ก่อน พอสนิท เข้าใจ ก็ง่ายขึ้น”

ประเวศเล่าว่า บนเขาจุ้มปะ มีแผนปลูกสวนสุมนไพร บริเวณรอบเขาจะมีที่ดินสาธารณะ และส่วนมีเจ้าของที่อาณาเขตชนเขาพยายามเจรจาขอที่ดินระยะ 4 เมตรทำป่าชุมชน เป็นป่ากันชน

“เราคุยกันว่าได้ช่วยดูแลป่าร่วมกัน เราสนใจไม้พื้นบ้าน อย่างสะตอ เนียง ชะมวง หัวครก ขี้เหล็ก หฺมฺรุย และพืชอิงธรรมชาติเพื่อ เป็นอาหารของนก สัตว์ป่า เช่น ต้นไทร กระท้อนพื้นเมือง ตะขรบ มะขามป้อม รอบเขาจุ้มปะ ต่อไป จะเป็นป่าชุมชน มีไม้พื้นบ้าน ไม้ยืนต้น ในวัดปลูกป่าสมุนไพร ตามตำรายาตาเจ้าเล็ก”

เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นระยะหนึ่ง เขาจุ้มปะพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่เชื่อมกับพื้นที่อื่นในตำบลคูหาใต้ ทุกอย่างเชื่อมร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน โดยผลักเข้าสู่แผนของ องค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ .

จักรยานสูบน้ำ ออกกำลังกายได้ประหยัดพลังงาน

ในงานเปิดตัวสถาบันภูมีศึกษา และธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้ เมื่อ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวจักรยานเพื่อสุขภาพลดโลกร้อน โดยการนำจักรยานเก่ามาดัดแปลงติดตั้งร่วมกับเครื่องสูบน้ำ เมื่อออกแรงปั่นสามารถสูบน้ำมาใช้รดน้ำต้นไม้สำหรับธนาคารชุมชนคนรักษ์ต้นไม้และช่วยส่งน้ำไปโรงปุ๋ยชีวภาพใกล้กันด้วย

วิฑูร ช่วยแท่น ครูวัดเจริญภูผา ครูผู้สอนกลุ่มสาระการงานอาชีพ ผู้รับผิดชอบจัดทำจักรยานเล่าว่า เดิมตนเองสอนอยู่โรงเรียนวัดปากจ่า อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มีเพื่อนครูคนหนึ่งที่สอนช่างเชื่อม ได้ทำจักรยาน แบบนี้เป็นนวัตกรรมโดยใช้วัสดุเหลือใช้แล้วมาประดิษฐ์ สามารถสูบน้ำขึ้นแท้งค์ระดับสูง 3-4 เมตร และต่อท่อไปยังต้นไม้ ตอนเช้าให้เด็กนักเรียนปั่นจักรยานเอาน้ำขึ้นแท้งค์ เพื่อปล่อยลงมารดน้ำผัก เมื่อเห็นความสำเร็จดังกล่าวจึงให้เพื่อนคนดังกล่าวมาเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำ

“ผมย้ายมาที่นี่ พี่ๆเขาถามว่าใครทำตัวนี้เป็นบ้างเลยประสานกับเขา ให้มาช่วยทำให้ เพราะผมเองไม่ถนัดเรื่องช่าง”

ครูวิฑูรเล่าว่าวัสดุที่ต้องเตรียมคือเครื่องปั้มน้ำ ส่วนสำคัญที่ใช้คือตัวปั๊มน้ำ สำหรับมอเตอร์ ไม่จำเป็นเพราะหลักการทำงานของจักรยานสูบน้ำจะใช้แรงคน ผ่านวงล้อของจักรยานต่อสายพาน เข้ากับเครื่องปั๊มเพื่อทำงานแทน เชื่อมโครงเหล็กยึดระบบเพื่อให้ทำงานด้วยกันได้ อุปกรณ์ทั้งหมดมีต้นทุนราว 2,000-3,000 บาท อยู่ที่ว่าจะหาวัสดุอะไรมาใช้ได้ ของเก่าหรือใหม่ ถ้าได้ของเก่ามาประกอบยิ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปอีก

ขั้นตอนการทำใช้เวลาไม่มาก แต่อาจอาศัยช่างเชื่อมมาช่วยระหว่างการประกอบโครงเหล็ก เป็นฐานยึดและวางให้แน่นหนามั่นคง

“ขอบล้อจักรยานถ้าใช้ขนาด 26 นิ้วจะทุ่นแรงได้เยอะ ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ถ้าเล็กจะออกแรงเหนื่อยหน่อย”

จากระบบดังกล่าวสามารถมีแรงส่งน้ำได้สูงจากพื้น 10 เมตร ส่วนที่ต่อลงไปสูงน้ำจากบ่อข้างล่างลึก 20 เมตร เป็นมาตรฐานปั๊มสูบน้ำทั่วไป เพียงแต่ถีบด้วยแรงเท้า

“ เราอาจประยุกต์ไปใช้ได้สบายอย่างใช้ในสวน นอกจากประหยัดค่าไฟฟ้า ได้ออกกำลังกาย แถมยังไม่มีใครขโมยเพราะเป็นของเก่า ไม่มีราคามาก” ครูวิฑูรเล่า และเห็นว่ามีประโยชน์เพราะคิดจะปั่นตอนไหนก็ได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

“ที่โรงเรียนตัวนี้เราจะใช้สูบขึ้นแท้งค์ แล้วปล่อยลงมาเพื่อรดน้ำผัก เพราะเด็กนักเรียนกำลังจะทำแปลงผัก สามารถต่อไปแปลงผักเด็ก เราจะทำอีกตัวหนึ่งคู่กัน หมายความว่าเมื่อมารดผักคือมาถีบรถคุยกันสองคน ทั้งออกกำลังกายและรดผักไปด้วย คนอื่นมาช่วยพรวนดินก็ทำไป เราอาจต่อเป็นสปริงเกอร์ได้เลยก็ได้ผมกำลังวางท่อสำหรับรดน้ำต้นไม้ แบบไม่ต้องเดินรด” เมื่อทำโครงการนี้ครูวิฑูรเล่าว่าเด็กสนใจมาก มามุงดู และลองถีบตั้งแต่ติดตั้งวันแรก สำหรับชาวบ้านทั่วไปสนใจและมองว่า น่าจะนำไปทำใช้เองตามบ้านเรือน และสวน ซึ่งหลายคนมองว่าทำได้ง่าย โดยเฉพาะช่างเชื่อมสามารถทำเองได้เลย ไม่มีอะไรซับซ้อน

สำหรับปัญหาการใช้งานแทบไม่มี เพราะไม่ใช้มอเตอร์ น่าว่าจะใช้ได้นาน ครูวิฑูรย์เห็นว่าน่าจะส่งเสริม เพราะว่าประหยัดต้นทุนต่อ ชาวบ้านนำไปใช้ได้เลย สำหรับจักรยานสูบน้ำ ยังสามารถออกแบบสำหรับการออกลังกายส่วนอื่น เช่น แขน ขา โดยดัดแปลงตามเครื่องออกกำลังกายแบบต่างๆ อีกต่างหาก.


ขอบคุณเนื้อหาจาก: เวปสงขลาสร้างสุข http:// songkhlahealth.org/paper/1432