จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ขนก๊าซเหลวทางบกไม่ต้องทำ EIA จริงหรือ…???

ในที่สุด จรูญฤทธิ์ ขำปัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรานส์ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TTM ก็ออกมาชี้แจงกรณีขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ NGL ทางรถยนต์ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย –มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปยังคลังน้ำมันบริษัท อากิ แบม ออยส์ จำกัด ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อส่งไปยังมาเลเซียว่า ไม่ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะมีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พระราชบัญญัติจราจร เป็นต้น

“เราแค่แจ้งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรือสผ.ทราบเท่านั้นก็พอ”

เดิมทีที่มีการทำ EIA ขนส่งทางเรือ เพราะคาดว่าปริมาณก๊าซ NGL มีมากพอ แต่เอาเข้าจริงปริมาณก๊าซ NGL มีน้อย จึงเปลี่ยนเส้นทางขนส่ง NGL จากทางเรือมาเป็นทางรถยนต์วันละ 11 เที่ยวแทน แต่ยังคงแผนการขนส่งทางเรือเอาไว้ เพราะในอนาคตอาจจำเป็นต้องใช้

คำชี้แจงของคนโต TTM ไม่แตกต่างไปจากถ้อยอรรถาธิบายของ ฉัตรชัย รัตนไชย นักวิชาการคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าทีมศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย
– มาเลเซียที่ว่า การเปลี่ยนเส้นทางขนส่งก๊าซ NGL จากทางเรือมาเป็นทางบก ไม่จำเป็นต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

ด้วยเหตุผลที่ว่า ประกาศกฎกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปี 2535 ปรับปรุงแก้ไขปี 2539 เรื่องการกำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ครอบคลุมถึงการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางรถยนต์
ขณะที่การขนส่งปิโตรเลียมทางรถยนต์มีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นต้น ที่ควบคุมทั้งในเรื่องความปลอดภัยในการขนส่ง การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถบรรทุก รวมทั้งข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เดิมการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ครอบคลุมถึงการขนส่งทางเรือ ครอบคลุมเพียงแค่ท่อส่งก๊าซ ที่นำก๊าซ NGL ไปลงเรือ และระบบเชื่อมต่อระหว่างเรือกับท่อส่งก๊าซในระหว่างการขนถ่าย

ถึงกระนั้น จากการตรวจสอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการขนส่งก๊าซ NGL ทางเรือของ TTM ของ “ฅนปากใต้” กลับพบว่า รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องท่อส่งก๊าซไปลงเรือ และระบบเชื่อมต่อระหว่างเรือกับท่อส่งก๊าซเท่านั้น

ด้วยเพราะใน EIA ยังกล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศสำหรับการป้องกันมลภาวะทางทะเลจากเรือ (1973) และพิธีสาร(1978) รวมทั้งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนํ้าไทย พ.ศ. 2456 ที่ห้ามมิให้มีการเททิ้ง หรือทำด้วยประการใดๆ ให้สิ่งของ สิ่งปฏิกูล นํ้ามัน หรือเคมีภัณฑ์ใดๆ ลงในแหล่งนํ้า รวมถึงทะเลในน่านนํ้าไทย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาก๊าซรั่วลงทะเล ชนิดละเอียดยิบ

คำถามก็คือว่า เมื่อการขนส่งทางเรือต้องทำ EIA แล้วทำไมการขนส่งก๊าซเหลวทางบก จึงไม่ต้องทำ EIA

แน่ใจหรือว่า การขนส่งทางบกไม่ก่อมลพิษ หรือไม่เกิดการรั่วไหลระหว่างทาง

รู้ได้อย่างไรว่า การขนส่งทางเรือก่อมลพิษ และก๊าซอาจจะรั่วไหลลงทะเล จนต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ



จาก : ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ http://www.oknation.net/blog/STCC