จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หวั่น“ไมโครไฟแนนซ์”ทำองค์กรการเงินชุมชนพัง

นักวิชาการ-ครูชบหวั่น“ไมโครไฟแนนซ์”ทำองค์กรการเงินชุมชนพัง สะกิดธปท.ทวนเหตุชาวบ้านไม่ถึงแหล่งเงิน


กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีแนวคิดสนับสนุนการทำธุรกิจบริการทางการเงินระดับฐานราก(ไมโครไฟแนนซ์) แก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายเล็ก เกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น ภายหลังธปท.พบว่ายังมีประชาชนบางกลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อจนต้องพึ่งบริการทางการเงินกับเงินกู้นอกระบบ

นางปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่9กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า หากจะบริการทางการเงินในระดับฐานราก ธปท.ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวนี้มีกระบวนการทางการเงินอย่างไร และเมื่อดำเนินการไปแล้วจะเป็นการแข่งขันและทำลายองค์กรการเงินชุมชนซึ่งจัดเป็นไมโครฯเดิมที่มีอยู่ในชุมชนหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ต้องเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ประชาชนในระดับฐานรากบางส่วนยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะไม่มีเงินเพียงพอหรืออยู่ที่การบริหารจัดการเพื่อไม่ให้นโยบายที่ริเริ่มนั้นซ้ำซ้อนและทำลายวินัยการเงินของชุมชน หลังจากที่ผ่านมาเคยมีการลงแหล่งเงินเพื่อให้คนในฐานรากเข้าถึงมาบ้างแล้ว อาทิ กองทุนหมู่บ้าน ที่ขณะนี้ยังเป็นข้อถกเถียงว่าแม้ครอบคลุมแก่ประชาชน และส่งผลต่อองค์กรทางการเงินที่มีอยู่เดิมหรือไม่
“ทราบว่ากระทรวงการคลังเคยทำแผนแม่บทการเงินในระดับฐานราก ขณะนี้ไม่รู้หายไปไหน ในเบื้องต้นหากธปท.ดำเนินการโดยไม่เข้าใจ หวังเพียงสร้างแหล่งเงินใหม่คงไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดนี้ หากแต่ตั้งข้อสังเกตว่าธปท.ต้องรู้ว่ากระบวนการเข้าถึงแหล่งเงินของชาวบ้านก่อนว่าเขามีข้อจำกัดอย่างไรถึงต้องสร้างระบบใหม่ได้ และเมื่อทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อเครือข่ายสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือไม่ อย่างไรก็ตามต้องไม่ใช่ลักษณะการนำธนาคารต่างประเทศเข้ามาแข่งขันอย่างเสรีแน่นอนเพราะอยู่คนละหลักคิดกับเรื่องไมโครไฟแนนซ์”นางปัทมาวดีกล่าว


นางจุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ธปท. ต้องศึกษาให้พบว่า ช่องว่างที่ทำให้คนระดับฐานรากเข้าไม่ถึงแหล่งเงินจนต้องพึ่งเงินนอกระบบอย่างที่อ้างนั้นอยู่ตรงส่วนใด และมีเครือข่ายการเงินใดในปัจจุบันที่เข้าถึงส่วนนี้เพื่ออุดช่องว่างได้บ้าง อย่าลืมว่าหลักของไมโครไฟแนนซ์มิใช่อยู่ที่การจัดหาแหล่งเงินแต่คือการสร้างกระบวนการบริหารจัดการเงินในระดับฐานรากด้วย อีกประเด็นหนึ่งคือนอกจากเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับชุมชนแล้วต้องมีแนวทางที่จะส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างการเงินในระดับล่างไปสู่ระดับกลางและบนด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมสภาพคล่องแก่เศรษฐกิจฐานรากต่อไป

ด้านนายชบ ยอดแก้ว ปราชญ์ชาวบ้านด้านเศรษฐกิจชุมชน กล่าวว่า ไม่ขัดข้องหากเกิดขึ้นจริง การสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการทางการเงินมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องดูรายละเอียดก่อนว่าธปท.จะวางแนวทางอย่างไร แต่ต้องพึงระวังว่าแนวทางเช่นนี้เสี่ยงต่อการให้ชาวบ้านเพิ่มหนี้มากตามไปด้วย ทำให้วินัยทางการเงินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความจนเสียไป ขอเสนอว่าควรจะสนับสนุนกลุ่มการเงินชุมชนที่มีอยู่แล้วให้ดีก่อนสนับสนุนแนวทางอื่น

ทั้งนี้ข่าวแจ้งว่า แนวทางดังกล่าวอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนนโยบายสถาบันการเงินของธปท.โดยแนวทางดังกล่าวจะบรรจุในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่2ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณหน้าแทนฉบับเดิมที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้


ที่มา : โต๊ะข่าวชุมชน www.isranews.org/community/